รถติดก็สุขได้ง่ายจัง


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 22 พฤษภาคม 2548


"เปิดเทอมวันแรกกรุงเทพฯ สุดโกลาหล สะพานต่างระดับรัชวิภา ห้าแยกลาดพร้าว และสะพานตากสินการจราจรติดขัดหนัก" พาดหัวข่าวออนไลน์ตัวใหญ่ของสำนักข่าวแห่งหนึ่งเมื่อวันจันทร์

สถานการณ์รถติดหนึบบนท้องถนน กับข่าวพาดหัวหลายฉบับชวนให้ตั้งคำถามกับคอลัมน์นี้ ซึ่งมีสองเวอร์ชั่น คือ Happiness@Home และ Happiness@Work มีคอลัมนิสต์หมุนเวียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเชื้อเชิญความสุขเข้ามาในพื้นที่ชีวิตของเราทั้งที่บ้านและที่ทำงาน แต่ เอ ... แล้วสิ่งที่อยู่ระหว่าง home กับ work ล่ะ? เช่น ทำอย่างไรดีถ้าต้องติดอยู่ในรถระหว่างเดินทาง เราจะมี Happiness@Somewhere-between-Home-and-Work ได้อย่างไร?

สัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นแบบฝึกหัดซ้อมมือสำหรับชาวกรุงเทพฯ ที่ต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์ที่จะยากขึ้นไปอีกเมื่อเดือนมิถุนายนมาถึงและมหาวิทยาลัยเปิดเรียน คนกรุงเทพฯ และชาวเมืองใหญ่อีกหลายแห่ง มีเหตุอันจำเป็นต้องพัฒนาคุณลักษณะพิเศษในการจัดการตัวเองขณะติดอยู่ในสภาพจราจรจลาจล

เมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์รถติด เราควรทำอย่างไร? ...เคยมีผู้เสนอเทคนิคพื้นฐานต่างๆ เอาไว้มากมาย ทั้งเขียนและพูดบรรยายไว้ในหลายที่ โดยเฉพาะ อาจารย์หมอประเวศ วะสี และหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ตัวอย่างเช่น


  • หาวิธีให้ใจไปจดจ่อกับสิ่งอื่น (จะได้ไม่คิดเรื่องรถ) เช่น ฟังข่าว ฟังเพลง ฟังธรรมะ (แต่หลวงพี่ตั้งข้อสังเกตว่า เทปธรรมะสำหรับบางคน อาจทำให้จิตยิ่งฟุ้งซ่านขึ้นไปใหญ่ เช่นนี้ก็ควรรู้จักเลือกวิธีที่ใช้ได้กับตนเอง)
  • แผ่เมตตาให้กับตัวเอง ... ใช่ครับ ควรแผ่เมตตาให้กับตัวเอง ถ้าเรารัก เป็นห่วง สงสารตัวเอง เราก็จะไม่รำคาญฉุนเฉียว แม้รถจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเข้าใกล้ศูนย์ เพราะทำให้ไม่สบายทางใจ ไม่สบายทั้งกาย ข้อมูลงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า หากเราอารมณ์เสียภูมิคุ้มกันโรคบางตัวในร่างกายของเราจะลดลงนานถึง 6 ชั่วโมง ดีไม่ดีโรคกระเพาะ โรคความดัน จะถามหาอีกด้วย
  • ปล่อยวางกับปัญหา ในสถานการณ์ที่ทำอะไรไม่ได้ เพราะใช่ว่าการหงุดหงิดแล้ว จะทำให้รถแล่นได้ฉิวรึก็ไม่ อันที่จริงแบบฝึกหัดนี้หากทำได้จนคล่องแคล่วมีความชำนาญ ก็สามารถนำไปประยุกต์กับการเผชิญกับปัญหาที่ยุ่งและยากกว่าปัญหารถติดมากนัก (แม้กระทั่งความตายของตัวเองและคนที่เรารัก)


นอกจากสามวิธีนี้แล้ว ผมยังได้เจออีกทางเลือกหนึ่งจากการไปร่วมงานรีทรีท "ภาวนา ... สามัญวิถีแห่งความเบิกบาน : สร้างความรักฉันพี่น้อง ร่วมกันเดินทางดั่งสายน้ำเดียวกัน" จัดโดย หมู่บ้านพลัม กลุ่มสังฆะแห่งสติ กลุ่มวงล้อ เสมสิกขาลัย เครือข่ายพุทธิกา และกลุ่มจิตวิวัฒน์ ในงานเป็นการปฏิบัติภาวนาที่งดงามและเรียบง่ายตามสไตล์เซนของท่านติช นัท ฮันห์ แห่งหมู่บ้านพลัม ฝรั่งเศส ซึ่งมีภิกษุณีนิรามิสา (เป็นภิกษุณีคนไทยคนแรกและคนเดียวที่นั่น) และภิกษุณีติดตาม 2 รูป เป็นวิทยากร

งานรีทรีทครั้งนี้มีบรรยากาศสดใส เบาสบาย ด้วยกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการเดินวิถีแห่งสติ ชมธรรมชาติ ผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ (Total Relaxation) และกิจกรรมเด่นของหมู่บ้านพลัม คือ การร้องเพลง!

และการร้องเพลงนี่เองคือ ทางเลือกที่ว่า ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้เผชิญชะตากรรมรถติดร่วมกันได้ดีนักแลครับ โดยเฉพาะเพลงที่ชื่อว่า 'เป็นสุขในปัจจุบัน' (Happiness Is Here and Now) เพลงร้องง่าย ติดหู ร้องสองสามรอบก็จำทำนองได้

เป็นสุขในปัจจุบัน Happiness Is Here and Now

เราเป็นสุขในปัจจุบัน Happiness is here and now
เราได้ปล่อยวางความกังวล I have dropped my worries
ไม่ไปที่ไหน Nowhere to go
ไม่มีงานใด Nothing to do
เราจึงไม่ต้องรีบเร่ง No longer in a hurry

เราเป็นสุขในปัจจุบัน Happiness is here and now
เราได้ปล่อยวางความกังวล I have dropped my worries
ต้องไปที่ไหน Somewhere to go
จะมีงานใด Something to do
เราก็ไม่ต้องรีบเร่ง But not in a hurry


เนื้อเพลงว่า ความสุขอยู่ที่นี่และตรงนี้เลย ไม่ต้องแบกอะไรไว้ ถ้าไม่ไปไหน ไม่ทำอะไรก็ไม่ต้องรีบ หรือถ้าต้องไปที่ไหน ต้องทำอะไร ก็ไม่ต้องรีบเหมียนกัลล์ เป็นการฝึกสติที่ผสมผสานเทคนิควิธีทางศิลปะดนตรี สุนทรียภาพมาเป็นอุบาย ทำให้ทั้งง่ายและสนุกได้มากทีเดียว

เดี๋ยวนี้ผมเลยมีของเล่นไว้ส่งเสริมความสุขของตนเองและคนรอบข้างเพิ่มขึ้นอีกอย่าง ตอนไหนที่รู้สึกว่าสติสตังไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว ก็ได้อาศัยเพลงช่วยกล่อมให้ช้าลง และรู้ตัวมากขึ้น

หากเจอกับสถานการณ์รถติด ลองเลือกสักวิธีที่เหมาะกับตัวคุณดูบ้างสิครับ ได้ผล-ไม่ได้ผลเขียนมาเล่าให้ฟังกันบ้างครับ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2548


"ได้ฝึกการลดละความเป็นตัวตนของตนเองค่อนข้างมาก ได้ฝึกวิธีที่จะทำตามคำพูดของคุณหมอประเวศ คือทำตัวตนให้เล็กลง ทำจิตใจให้ใหญ่ขึ้น"
สุมน อมรวิวัฒน์


กลุ่มจิตวิวัฒน์ เป็นการรวมตัวกันของคนที่สนใจ นักคิด นักปฏิบัติ เรื่องจิตวิวัฒน์ การเกิดจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) หรือการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ (Spiritual Revolution) โดยการศึกษาค้นคว้าจากแหล่งต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการปฏิบัติจริงของตนเองด้วย บนฐานความเชื่อที่ว่าร่างกายของมนุษย์นั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ในขณะที่จิตมนุษย์สามารถพัฒนาไปได้อีกมาก ทางออกของปัญหาที่รุนแรง ยุ่งยากและซับซ้อนต่างๆ ในโลกล้วนไม่สามารถแก้ได้ด้วยวิธีทางเทคนิคเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการมีจิตใหญ่เป็นพื้นฐาน

จิตเล็ก คือความรู้สึกอันคับแคบ อึดอัดอยู่กับการเห็นโลกอย่างเป็นส่วนเสี้ยวและความเป็นตัวกูของกู ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นธรรมชาติ ในขณะที่จิตใหญ่ หรือจิตสำนึกใหม่ เป็นความรู้สึกนึกคิดที่มีอิสระ มีความสุข มีความรักในเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ เนื่องจากก้าวข้ามความจำกัดของตัวเองด้วยเพราะเห็นความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของธรรมชาติ

มีหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมากทั้งทางวิทยาศาสตร์และศาสนา ว่ามนุษย์นั้นมีศักยภาพในการก้าวข้ามจากจิตเล็กไปสู่จิตใหญ่ โลกเริ่มสะสมความรู้และประสบการณ์ในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมากขึ้น เพียงแต่ว่ามนุษยชาติจะเปลี่ยนผ่านได้ทันท่วงทีหรือไม่? นี้เป็นโจทย์สำคัญของจิตวิวัฒน์
----------------------------------------------

อีกสองเดือนกลุ่มจิตวิวัฒน์จะมีอายุครบสองขวบปีแล้ว ในการประชุมเดือนนี้จึงถือโอกาสระลึกย้อนกลับไป ประมวลประสบการณ์ ถอดบทเรียน และมองไปข้างหน้า ผู้เขียนขอยกตัวอย่างข้อคิดเห็นของสมาชิกบางท่านมาเล่าสู่กันฟัง

สิ่งที่สมาชิกทั้งหมดรู้สึกร่วมกันคือ จิตวิวัฒน์เน้นเรื่อง การเรียนรู้ภายใน (Contemplative Learning) สิ่งที่แลกเปลี่ยนในที่ประชุมทำให้เห็นความกว้างใหญ่ไพศาลของความรู้ในโลก และความรู้อันจำกัดของตน สมาชิกหลายท่านเป็นผู้ใหญ่ที่สังคมให้ความเคารพนับถือในวิชาความรู้ (และการปฏิบัติตน) มีทั้งที่เป็นพระ ปราชญ์ราชบัณฑิต และอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่ท่านเหล่านี้พูดเป็นเสียงเดียวกันคือ การได้มาเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ การแพทย์ มนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปะความงามอย่างมากมายนั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตนเองโดยพื้นฐานและอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะความอ่อนน้อมถ่อมตน ลดละอัตตา และความมีเมตตาต่อผู้อื่น

ท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ เล่าว่าท่านได้เรียนรู้ที่จะ "ละเว้นซึ่งความยึดมั่นถือมั่นในหลักการ จากที่ตลอดชีวิตเป็นคนยึดมั่นอย่างมากในหลักของความถูก-ผิด มีบางอย่างที่ผิดไม่ได้ แต่ ๑ ปีกว่ามานี้มีความผ่อนคลาย คือเห็นว่าไม่ควรยึดติดในหลักทฤษฎี หลักการของโลกและชีวิตมากเกินไป" อีกทั้งยังได้ "ฝึกการลดละความเป็นตัวตนของตนเองค่อนข้างมาก ได้ฝึกวิธีที่จะทำตามคำพูดของคุณหมอประเวศ คือทำตัวตนให้เล็กลง ทำจิตใจให้ใหญ่ขึ้น ได้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตบั้นปลาย"

ท่านมีประโยคเด็ด คือ "เดี๋ยวนี้ดีจัง เวลามีคนมาขัดใจ ก็ได้มีโอกาสขัดใจตัวเอง" แล้วอรรถาธิบายเพิ่มเติมว่าเวลามีคนมาขัดใจ ก็ได้เจริญสติรู้ตัวว่ากำลังจะเกิดความคับข้องใจ เลยได้โอกาส "ขัด"ความขุ่นข้องหมองใจออกไป

ท่านอาจารย์เอกวิทย์ ณ ถลาง เสริมว่า "มาที่นี่แล้วรู้อะไรมากขึ้นเยอะ ยิ่งรู้ก็ยิ่งรู้สึกว่ารู้น้อยขึ้นทุกที เพราะสิ่งที่ไม่รู้มันมาก ทำให้ตัวตนเล็กลงๆ ว่าที่เราไม่รู้มันมหาศาลเหลือเกิน ทำให้ตัวเองไม่สำคัญเท่าไหร่ เป็นผงธุลีเล็กๆ ในจักรวาล ตรงนี้เองทำให้มีเมตตาจิตขึ้น เตือนสติให้ดีกว่าเดิม"

ท่านอาจารย์จุมพล พูลภัทรชีวิน ประเมินว่าสิ่งที่ได้คือ ปัญญาและความสุข "เป็นความสุขที่เกิดขึ้นภายใน ถ้าจะขยายความให้มากขึ้นคือ เราได้ความรู้ ได้ความจริง ได้ซึมซับความงาม ความคิดแต่ละคน ได้ความดีมากขึ้น"

ส่วนท่านอาจารย์ประสาน ต่างใจ เน้นย้ำถึงทั้งความสำคัญและความเร่งด่วนของการทำให้ทุกคนสนใจเรื่องจิตสำนึกใหม่ เพราะเป็นเรื่องความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งหมด "ผมพยายามจะแข่งกับจักรวาล เท่าที่ทราบมาเผ่าพันธุ์มนุษย์กำลังจะสิ้นสุดเร็วๆนี้ เพราะว่าเราทำลายตัวเอง ... ยังติดบ่วงอยู่ บ่วงวิทยาศาสตร์ บ่วงเทคโนโลยี บ่วงกายภาพ ทำให้เราไปไหนไม่ได้ ... อย่างน้อยเราก็ฝากจิตใจ ฝากความปรารถนาที่จะสร้างชุมชน เพื่อจะเอาชุมชนให้รอด ผมว่าจักรวาลเขาหมดหวังกับเราแล้ว ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลง ... ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์กันไปเลย เราต้องเอาจริงเอาจังกับมัน ให้คนตื่นและเปลี่ยนแปลงให้ได้ ไม่ใช่แค่ change แต่เป็น transformation ... ถ้าตัวเองเปลี่ยนแปลง ใกล้ๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงด้วย"

หลวงพี่ไพศาล วิสาโล แห่งวัดป่าสุคะโต เห็นว่า จิตวิวัฒน์ "เป็นประโยชน์ในการนำความคิดใหม่ๆ มาให้ และมีการนำเสนอภาษาหรืออุปมาอุปไมยใหม่ๆ ซึ่งบางทีมันมีพลัง เรื่องความคิดใหม่ๆ ถึงแม้ว่ายาก แต่ถ้าใช้ภาษาที่ดีก็สามารถสื่อได้ตรง"

ส่วนเรื่องที่ควรปรับปรุงหลวงพี่แนะนำว่า วิธีการเข้าสู่จิตวิวัฒน์ของกลุ่ม จะเน้นอยู่ที่วิทยาศาสตร์กับศาสนา ขาดทางด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ซึ่งมีความรู้หลายอย่างให้ศึกษา ความรู้สังคมวิทยา มานุษยวิทยาชุดปัจจุบันที่แยกส่วนนั้นบั่นทอนศรัทธาในมนุษย์ ที่ผ่านมาด้านวิทยาศาสตร์ก็มี "วิทยาศาสตร์ใหม่" เข้ามาเสริม แต่ด้านอื่นยังไม่ค่อยเห็น ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ควรได้ส่งเสริมกัน อีกทั้งกลุ่มนักคิด นักปฏิบัติที่เชิญมามักเป็นกลุ่มที่มีความคิดเห็นเหมือนกัน เป็นการมายืนยันความเชื่อเดิม น่าจะมีส่วนที่มาท้าทายความคิดของกลุ่มบ้าง ทำให้พลังในการไปเผชิญความท้าทายน้อยลง อาจทำให้ความคิดไม่แตกแขนง

คุณเดวิด สปิลเลน ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มจิตวิวัฒน์มีลักษณะเป็นองค์กรจัดการตนเอง (Self-organizing) แต่ละคนรู้จักบทบาทของตน ไม่มีใครสั่งว่าใครต้องทำอะไร ทุกคนเรียนรู้ที่จะต่อยอดการฝึกจิตของกันและกัน มีความมั่นใจ ไว้วางใจให้กับชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าบางทีไม่ทราบว่ามีเรื่องอะไรนำเสนอบ้าง ก็ไม่เป็นไร (คุณเดวิดได้บริจาคหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับจิตสำนึกใหม่จำนวนหลายร้อยเล่มเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ หลายเล่มเป็นหนังสือหายาก ทางกลุ่มจิตวิวัฒน์จะได้นำไปทำสรุปย่อความเป็นภาษาไทย จัดระบบ และให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปที่ห้องสมุดแสงอรุณ ถ.สาธร โดยจะแจ้งรายละเอียดในโอกาสต่อไป)

คุณศุภชัย พงศ์ภคเธียร เห็นว่าจิตวิวัฒน์ "เป็นคลังสมองจริงๆ ขณะเดียวกันที่ประชุมนี้ก็ได้ผู้เชี่ยวชาญจากศาสตร์ต่างๆ เห็นบูรณาการต่างๆ เห็นธรรมะที่อยู่ในวิถีชีวิตของอาจารย์ทั้งหลาย ออกมาในรูปของการปฏิบัติ ที่ทำให้เราแน่ใจว่าปฏิบัติได้ไม่ใช่อยู่แต่ในตำราหรือคัมภีร์ ผมคิดว่าการประชุมแบบนี้ถ้ามีการขยายขึ้นในอนาคตก็จะเป็นแสงสว่างในชุมชนนั้นๆ "

ภาพรวมของกลุ่มจิตวิวัฒน์ อาจสรุปได้ดังคำของท่านอาจารย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่สะท้อนว่า การประชุมจิตวิวัฒน์แตกต่างไปจากการประชุมอื่นซึ่งท่านได้เคยเข้าร่วม และล้วนเป็นการประชุมทำงานที่มีความเครียดและแรงกดดัน ขณะที่จิตวิวัฒน์เป็นการประชุมที่มีบรรยากาศผ่อนคลาย ปราศจากความเครียด ผู้เข้าร่วมประชุมล้วนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อันเป็นการเรียนรู้เพื่อสุขภาวะอย่างแท้จริง
----------------------------------------------

กลุ่มจิตวิวัฒน์ ทำงานด้านความรู้ การใช้สติและปัญญา ยินดีที่จะส่งเสริมและร่วมมือกับผู้สนใจเรื่องจิตสำนึกใหม่กลุ่มอื่นๆ เพื่อช่วยกันสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาจิต นำไปสู่สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual Health) ของสังคมและโลก

ใจใสปิ๊ง เพราะถูกขัดใจ


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2548


คราวที่แล้วผมเขียนเล่าเรื่องปัญญาจากท่านผู้ใหญ่ที่ผมเคารพรักอย่างยิ่ง คือ ท่านอาจารย์ระพี สาคริก กับการเข้าถึงความสุขง่ายๆ ด้วยการเห็นความจริงว่าเรื่องราวต่างๆ นานารอบตัวเราที่ดูเหมือนยุ่งเป็นยุงตีกัน แท้จริงทำให้ง่ายได้ด้วยการมองเห็นว่ามันอาจแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ เรื่องของเรา และ เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของเรา

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อดูลงไปให้ดีก็จะเห็นว่าเรื่องส่วนใหญ่ที่เราเที่ยวไปแบกกันเอาไว้เป็นเรื่องประเภท "เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของเรา"

บ่ายวันนี้ผมก็ได้ทั้งชื่นชมกับปัญญาชุดเดียวกันนี้ แต่จากอาจารย์ผู้ใหญ่อีกท่านที่ผมเคารพรักเหมือนแม่ คือ ท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์

ในที่ประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์* วันนี้มีการทบทวนตนเองของกลุ่มหลังจากได้พบกันมาปีเศษ อาจารย์สุมนกล่าวได้อย่างน่าสนใจว่าการที่ได้มาร่วมประชุมทำให้รู้สึกว่าตนเองนั้นตัวเล็กลง รู้สึกว่าสิ่งที่ยังไม่รู้นั้นมีอีกมากนัก ได้เรียนรู้ที่จะลดละอัตตาลง บรรดาทฤษฎีต่างๆ ประดามีที่เคยยึดถือว่ามีถูก-มีผิดชัดเจนก็เห็นความไม่เที่ยง (ของความจริงเชิงสมมติ/สมมติบัญญัติ) มากขึ้น

ประโยคเด็ดของอาจารย์คือ "เดี๋ยวนี้ดีจัง เวลามีคนมาขัดใจ ก็ได้มีโอกาสขัดใจตัวเอง" คนฟังออกจะงงๆ กับการเล่นคำของอาจารย์ ท่านอธิบายเพิ่มเติมว่า ก็เวลามีคนมาขัดใจเรา เราก็ได้ฝึกการมีสติรู้ตัว เมื่อรู้ตัวก็มีโอกาสขัดใจตัวเอง คือ ขัดความขุ่นข้องหมองมัวออกไปจากจิตใจ (ว๊าว! เสียงจากที่ประชุมอุทานเบาๆ)

ผมทั้งทึ่ง ทั้งซึ้งกับความงามของราชบัณฑิตท่านนี้ งามทั้งภายนอก งามทั้งภายใน เป็นความงามที่แผ่ความอบอุ่น ความร่มเย็นสบายๆ ออกมา

ขณะที่นั่งฟังด้วยความอิ่มเอิบอยู่นั้น เทียบเคียงความรู้สึกเหมือนกับอยู่ใกล้ๆใครไม่มีผิด รู้สึกเหมือนกับได้อยู่ใกล้ๆ ท่านอาจารย์ระพีนั่นเอง ทั้งคู่เหมือนกับข้าวที่ออกรวงเต็มแล้วน้อมลง ถ่อมตัว ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภายใน (contemplative learning) อย่างชัดเจน ทำให้นึกถึงว่าสิ่งที่สองท่านนี้เชื่อและปฏิบัติก็เหมือนกัน พิสูจน์ได้ว่าปราชญ์ของแผ่นดินนั้นเจริญปัญญาไปในทิศทางเดียวกัน เรื่อง"เวลามีใครโกรธขัดใจยิ่งดีเลย ได้โอกาส 'ขัด' ใจของเรา คือขัดเอาความขุ่นข้องหมองใจออกไป" ก็คือเรื่องเดียวกันกับการที่คนอื่นมาทำให้ (หรือพยายามทำให้) เราเซ็ง แล้วเรามีสติรู้ตัว และมีปัญญารู้ทันว่ามีส่วนที่เป็นเรื่องของเราและไม่ใช่เรื่องของเรา
การที่เขาทำไม่ดีกับเรานั้นเป็นเรื่องของเขา เป็นปัญหาของเขา เรื่องของเราที่แท้จริงแล้ว คือการดูแลจิตใจตนเอง! หน้าที่ของเราแท้จริงคือการดูแลตนเองให้ดี! [ผมถึงบางอ้อทางสติและปัญญาอีกครั้ง!]

น่าเสียดายที่คนในสังคมส่วนใหญ่มักโทษ หรือโบ้ยปัญหาให้คนอื่นทั้งสิ้น วันไหนตื่นสายก็โทษคนที่บ้านว่าไม่ยอมปลุก คือถ้ามันลงตื่นสายไปแล้ว เซ็งหรือเกือบเซ็งไปแล้ว ก็น่าจะได้หยุดสักหน่อย พอให้มีสติแล้วคิดได้ว่า เขาลืมปลุกเราก็เรื่องของเขา เราอาจพยายามหาวิธีช่วยให้เขาไม่ลืมอีก แต่เรื่องสำคัญอยู่ที่เราจะจัดการกับความเซ็งหรือเกือบเซ็งตอนนั้นอย่างไรต่างหาก

ฝากใครทำงานอะไร แล้วเขาลืมทำให้เหมือนกันไม่มีผิด ใช่ล่ะ ... ถึงแม้เราจะมีอำนาจ "สั่ง" (หรือวาน) ให้ใครทำอะไรแล้วเขาลืมทำ เช่น วานแม่ให้ช่วยโทรศัพท์ สั่งแฟนให้ซื้อของ สั่งลูกให้ทำการบ้าน สั่งคนใช้รดน้ำต้นไม้ ถึงเวลาคนเหล่านั้นลืมทำ (ไม่ว่าจะลืมจริงหรือตั้งใจลืมก็ตาม!) ไม่มีประโยชน์ที่เราจะเสีย"ใจ" ใสๆของเราให้กับความโกรธหรือความเซ็ง อย่างไรซะมันก็เกิดขึ้นไปแล้ว สู้เอาสมองที่เคลียร์ๆคิดหาวิธีป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกดีกว่า

เวลาใครทำอะไรที่เขาไม่ควรทำ หรือไม่ได้ทำอะไรที่เขาควรทำนั้น พอเรากำลังจะก้าวเข้าสู่บรรยากาศมาคุ ที่สมองส่วนควบคุมความโกรธและเศร้า ที่เรียกว่า อะมิกดาลา (Amygdala) จะทำงานแล้ว ถ้ารู้จักเตือนตนเอง มีสติและมองให้เห็นว่าใครทำหรือไม่ทำอะไรนั้นเป็นเรื่องของเขา เรื่องของเราเรื่องหลักคือ การดูแลจิตใจ (หรือ "ขัด" ความขุ่นข้องหมองมัวออกจากจิตใจ) รับรองว่าโลกนี้จะสดใสขึ้นอีกเยอะ

วันๆ ไม่ต้องคอยกลุ้มนั่นกลุ้มนี่ เที่ยวปะ-ฉะ-ดะ กับเขาไปเรื่อย :-)