ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 23 กันยายน 2550


ท่านจะลืมความทุกข์ยากของท่าน
ท่านจะจดจำมันได้เหมือนน้ำที่ได้ไหลผ่านพ้นไป

- โยบ 11:16


ผมดูข่าวเครื่องบินลื่นไถลจากทางวิ่ง เห็นภาพไฟไหม้ ผู้คนบาดเจ็บและเสียชีวิตมากมายด้วยความรู้สึกพิเศษ คำว่า “เกินบรรยาย” ดูจะตรงกับสิ่งที่ผุดขึ้นในใจไม่น้อย อาจเป็นเพราะผมหวนนึกถึงประสบการณ์เมื่อคราวที่ผมต้องบินกลับมาเมืองไทย เนื่องด้วยพี่สาวเป็นหนึ่งในผู้โดยสารเครื่องบินตกที่สุราษฎร์ธานีเมื่อหลายปีมาแล้วนั้น เหตุการณ์มันดูเร็วไปหมด ทั้งครอบครัวเราต้องช่วยกันคิดตัดสินใจและดูแลเรื่องกฎหมาย พิธีฌาปนกิจ และอื่นๆ อีกทั้งงานบวชของตัวผมเองด้วย

แม้ว่าเทียบกันกับเหตุการณ์เมื่อเก้าปีก่อนซึ่งผมแทบไม่เห็นภาพข่าวอะไรในเวลานั้นเลย แต่ข่าวอุบัติเหตุที่ภูเก็ตคราวนี้มีรายงานออกรายการโทรทัศน์กันทุกๆ ช่อง ทุกๆ ชั่วโมง พาดข่าวทุกๆ หัวหนังสือพิมพ์ มันฉุดดึงและเชิญชวนให้ผมกลับมาสำรวจความรู้สึกตนเองอีกครั้ง เหมือนได้กลับมาที่เดิม ที่ไม่ใช่ที่เดิม

แล้วก็คงไม่ใช่สำหรับผมคนเดียวแน่นอน ยังมีคุณแม่ คุณอา พี่สาว พี่ชาย ...

อาจารย์คนหนึ่งที่อเมริกาซึ่งผมเคารพได้บอกผมว่า “มันเป็นเรื่องที่ทำใจลำบาก สำหรับพ่อแม่ที่ต้องไปงานศพของลูก” ก็คงจะจริง เพราะดูเหมือนโลกของคุณแม่มืดมนไปอย่างมาก หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์ไปใหม่ๆ หลายต่อหลายครั้งที่คุณแม่ยืนนิ่งไปแล้วก็น้ำตาซึม

ยิ่งเมื่อคราวที่คุณพ่อเสียด้วยแล้ว ผม “นึก” ไม่ออกว่าการสูญเสียคนที่เคยอยู่ใกล้ชิดด้วยกันร่วมครึ่งศตวรรษนั้นมันหนักหนาสาหัสประการใด ช่วงนั้นคุณแม่ดูหงอยเหงาเศร้าซึม ไม่อยากฟังแม้บทสวดมนต์ที่เคยเปิดให้คุณพ่อในช่วงสุดท้าย โลกของคุณแม่ดูขาดๆ หายๆ อะไรไป

แต่หลังจากนั้นผ่านไประยะหนึ่ง เมื่อได้ผ่านช่วงเวลาแห่งการ “ไว้ทุกข์” ที่ไม่ใช่แค่พิธีกรรมข้างนอก แต่เป็นการวิถีอันศักดิ์สิทธิ์ภายใน คุณแม่เริ่มมีกิจกรรมใหม่ๆ ที่สามารถทำคนเดียวได้ เช่น ปลูกต้นไม้ ไปเข้าค่ายอบรมสมาธิสมถะวิปัสสนาสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอานาปานสติที่สวนโมกขพลาราม หรือยุบพองที่ยุวพุทธิกสมาคม คุณแม่ก็ดูสดใสขึ้นทีละนิดๆ แถมช่วงหลังยังติดตามลูกๆ ไปงานเสวนาและเวิร์กชอปต่างๆ บางครั้งก็ไปเองคนเดียว แม้ว่าแม่จะไม่เคยเรียนเขียนอ่านหนังสือมาเลยก็ตาม

เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ พวกเราลูกๆ ช่วยกันคะยั้นคะยอให้คุณแม่ไปฟิตเนส ต้องใช้เทคนิคต่างๆ ไม่น้อยครับ เราเลือกสถานที่ออกกำลังกายซึ่งมีสระว่ายน้ำในร่ม เพราะท่านคงวิ่งบนเทรดมิลล์หรือปั่นจักรยานไม่ไหวแน่ ช่วงแรกเราก็ไปว่ายด้วยกัน ท่านก็จะกลัวๆ กล้าๆ เพราะว่ายน้ำไม่เป็น กลัวจมบ้าง กลัวน้ำเข้าปากบ้าง

เดี๋ยวนี้หรือครับ ไปเองแล้วครับ ไปทุกวันเลย วันไหนไม่มีใครไปส่งก็ขึ้นรถแท็กซี่ไปเองได้ ว่ายได้ทั้งเดินหน้า ถอยหลัง สนุกสนานเอิ๊กอ๊ากใหญ่ ตอนนี้เธอเลยมีก๊วนเกิร์ลลี่แก๊งรุ่นใหญ่ในสระด้วย คุยกันกระหนุงกระหนิงเป็นที่ครื้นเครงน่ารัก

โลกของคุณแม่ที่เดิมมีแต่เรื่องการสูญเสีย การขาดหายไปพร่องไป ก็ค่อยเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนไปตามสามัญธรรมดาของธรรมชาติ ทุกวันนี้คุณแม่สวดมนต์วันละเกือบร้อยจบ ออกกำลังกายวันละเกือบชั่วโมง เจริญทั้งสติ เจริญทั้งอาหาร หลับก็สบาย แถมครอบครัวเรายังสามารถพูดคุยกันเรื่องความเจ็บป่วยและความตายได้อย่างปรกติธรรมดาอีกด้วย

ผมเชื่อว่าความทุกข์อันยิ่งใหญ่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ภูเก็ตนั้นเป็นความรู้สึกจริงๆ ผมขอร่วมแสดงความเสียใจด้วย และเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้ก้าวเดินต่อ เพราะ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเรา ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่เพียงใด ล้วนแล้วแต่จะผ่านพ้นไป

คุณหมออภิชัย มงคล แห่งกรมสุขภาพจิต บอกว่าจากการวิจัยเอกสารพบว่าจิตใจของมนุษย์จะเผชิญความเสียใจร้ายแรงในระยะสั้นๆ หนึ่งถึงสองอาทิตย์ก็ปรับจิตใจได้

ดูเหมือนเข้ากันได้กับเรื่องของอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งท่านเคยไปเยี่ยมคุณหมอคนหนึ่งผู้ประสบอุบัติเหตุหนัก สมาชิกครอบครัวเสียชีวิตในเหตุการณ์เดียวกันหลายคน คุณหมอนอนจมอยู่ในความทุกข์ทางกายและทางใจ อาจารย์ท่านกล่าวว่า “ไม่เคยมีใครเสียใจจนตาย” (ยกเว้นจากอาการอื่นๆ ข้างเคียง) คำพูดนี้ช่วยทำให้คุณหมอท่านนั้นได้สติ และกลับมามีชีวิตใหม่ มีอนาคตอันแจ่มใส อยู่ในความเป็นปัจจุบันอันอุดมไปด้วยความโอบอุ้มและการเยียวยา

มากมายหลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นในชีวิตของเรา แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็ยากจะยอมรับและเผชิญได้ บางคนทุ่มเทเวลาให้กับงาน บางคนละทิ้งสิ่งแวดล้อมเดิมๆ หลีกเลี่ยงไม่มองไม่พูดถึงสิ่งที่จะทำให้ย้อนคิดถึงเหตุการณ์นั้น อาจเพราะความรู้สึกโศกเศร้ามันรุนแรงและหนักหน่วงเกินกว่าจะดำเนินชีวิตไปตามปรกติประจำวันเช่นเคยได้

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องร้ายนั้นเกิดขึ้นไปแล้ว และเกิดขึ้นจริงๆ เช่นเดียวกันกับความรู้สึกเสียใจซึมเศร้าซึ่งเกิดขึ้นในใจเรา ผมคิดว่าเราควรพร้อมยอมรับและเผชิญกับมันตรงๆ ไม่มีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง พยายามลืม หรือหาเรื่องอื่นเข้ามาเติมถมลงไปในความคิดให้ไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับความเศร้า เพราะการได้อยู่ในอารมณ์ได้ปลดปล่อยความรู้สึกสูญเสีย เป็นขั้นตอนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากอดีตไปสู่อนาคต

ในฐานะคนรอบข้าง เราก็ไม่ควรบังคับหรือเร่งให้ใครเลิกโศกเศร้าเสียใจ ด้วยว่าแต่ละคนต่างมีหนทางและการเดินทางเป็นของตนเอง หากจะช้าหรือเร็วก็ขึ้นกับคนผู้นั้นเอง คนรอบข้างจึงควรได้ช่วยดูแลเขาในระยะเวลาแห่งความเศร้าให้ข้ามผ่านพ้นสภาวะนั้นไปได้ด้วยดี ประคับประคองสุขภาพกาย เกื้อหนุนการดำเนินชีวิตแต่ละวันให้ลุล่วงไปได้โดยไม่ทำร้ายตัวเอง

วัฒนธรรมของมนุษย์เรามีพิธีกรรมต่างๆ ช่วยเยียวยาและพาเราผ่านสถานการณ์สูญเสียไปได้ แม้ปัจจุบันโลกหมุนไวไปสู่สังคมสมัยใหม่ แต่ก็มีความรู้ว่าด้วยการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย การรักษาเยียวยาจิตใจของญาติ โดยกลุ่มคนต่างๆ ร่วมกันทำงาน ทั้งพระ บุคลากรสุขภาพ กระบวนกร นักฝึกอบรม ร่วมกันเป็นกลุ่ม เป็นเครือข่าย ดังเช่น งานของเครือข่ายพุทธิกา เป็นต้น ใจความสำคัญของความรู้เรื่องนี้ก็เป็นเช่นกันกับพิธีกรรมคือการได้เข้าใจความรู้สึกของตนและถือเอาความโศกเศร้านี้เป็นสะพานข้ามผ่านไปสู่วันใหม่

อดีตที่เจ็บปวดจึงไม่ควรถูกกลบฝังไปด้วยการละเลยความรู้สึก แต่เราต้องเผชิญกับความทุกข์ในใจ ยอมให้ได้สัมผัสกับความรู้สึกของตัวเอง จนกระทั่งยอมรับและพร้อมสำหรับการพบวันใหม่ ให้เป็นช่วงเวลาที่ได้ปลดปล่อยตัวเองออกจากอดีตอย่างเข้าใจปัจจุบันไปสู่อนาคตต่อไป


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 16 กันยายน 2550


เมื่อเร็วๆ นี้ ผมเพิ่งได้ไปเยี่ยมผู้ต้องหาซึ่งถูกฝากขังในเรือนจำครับ แปลกใจเหมือนกันที่ครั้งนี้เป็นครั้งแรก เพราะดูเหมือนคนใกล้ชิดที่คุ้นเคยทั้งหลายดูจะมีแนวโน้มได้แวะเวียนเข้าไปหลายคน แต่ก็มักเป็นด้วยเหตุผลจากการทำเรื่องดีๆ ทั้งนั้นนะครับ

เธอและเขาเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นคนจำพวกที่มีความกล้าเหนือมนุษย์ปรกติทั่วไป กล้ายืนหยัดแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อความดีงามของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิในฐานทรัพยากรหรือสิทธิของชนกลุ่มน้อย ชนชายขอบต่างๆ

สาเหตุที่ทำให้ผมได้ไปเรือนจำนั้นเป็นเพราะรุ่นพี่ที่สนิทสนมนับถือชอบพอกันมาก เขาได้เข้าไปนอนอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครอยู่นานเกือบสัปดาห์

ด้วยความที่เป็นครั้งแรก ผมจึงเกิดอาการงงๆ ว่าเขาต้องทำอย่างไรบ้าง ทำอะไรก่อนหลัง จะต้องลงชื่อในบัตรแจ้งเยี่ยมญาติหรือไม่ ต้องรอตรงไหน ซื้อกับข้าว อาหาร ขนม เป็นของฝากอย่างไร ดีที่กระบวนการไม่ยากเย็น จึงใช้เวลาไม่นานในการจัดหาข้าวเหนียว หมูเค็ม ปลาสลิด กุนเชียง เงาะ ลองกอง มะม่วงและอื่นๆ เป็นเสบียงสำหรับวันเสาร์-อาทิตย์ที่ห้ามเยี่ยม

แม้จะอยู่เยี่ยมได้ไม่นาน แต่ก็รับรู้ถึงความขัดแย้ง ความคับข้องของบรรยากาศ มันช่างเป็นสภาพการณ์และพื้นที่ซึ่งตึงเครียดมาก อาจจะเป็นสถานที่อันมีความเขม็งเกร็ง ขัดแย้งกันมากที่สุดแห่งหนึ่งของมนุษยชาติ ขัดแย้งระหว่างความเชื่อในเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิภายในมนุษย์แต่ละคนกับรูปธรรมของการกระทำที่เราได้พบเห็น ขัดแย้งระหว่างหน้าที่ของระบบที่มีเพื่อจำกัดเสรีภาพกับจิตวิญญาณและเจตจำนงอิสระของมนุษย์ หรือขัดแย้งระหว่างความรู้สึกของผู้ได้รับความเสียหายกับความรักความผูกพันของครอบครัวของผู้ต้องหา

การไปเยือนสถานที่อย่างนี้ยังทำให้ผมหวนนึกถึงรุ่นน้องอีกคนหนึ่ง เธอมีความสามารถในการคลี่คลายความขัดแย้งโดยเฉพาะความขัดแย้งในใจของผู้คน เธอเป็นนักจิตบำบัดผู้สนใจทำงานช่วยเหลือนักโทษประหาร โครงการวิจัยระดับปริญญาเอกที่เธอเคยเสนอคือการเข้าไปช่วยให้คนเหล่านี้ได้สงบจิตสบายใจในช่วงท้ายของชีวิต

ขณะที่อาจารย์บางคนในคณะกลับวิจารณ์งานนี้ว่าไม่น่าทำ เพราะท่านเห็นว่ามันเสียเวลา อีกไม่นานคนเหล่านี้ก็จะไปแล้ว สู้เอาเวลามาช่วยคนที่จะยังอยู่ อย่างงานจิตวิทยาในเด็กยังจะดีกว่า

ผมทึ่งและประทับใจในความมุ่งมั่นและจิตใจของเธอ เพราะเธอไม่ขอทำงานวิจัยที่ไม่ได้เป็นผลงานอันมาจากความคิดและความพยายามของเธอเอง แม้ว่าจะเป็นงานขั้นสุดท้ายที่จะได้สำเร็จการศึกษาก็ตาม สุดท้ายเธอก็เลือกลาออกจากคณะ เพื่อแสดงจุดยืนทางความคิดและวิชาการของตัวเอง

ส่วนรุ่นพี่คนที่ผมไปเยี่ยม เขาก็ต้องเข้าไปอยู่ในสถานที่อย่างเรือนจำเหมือนกัน สาเหตุนั้นก็มีที่มาจากการมีจุดยืนอีกเช่นกัน เพราะในช่วงที่สถานการณ์บรรยากาศทางการเมืองของประเทศไทยยังอยู่ใต้กฎอัยการศึก เขาก็ได้เลือกที่จะแสดงจุดยืนทางการเมืองของเขา

“เสรีภาพของคนเรานั้นมี ๒ อย่าง คือ เสรีภาพทางความคิด และเสรีภาพทางกาย การที่ผมอยู่ในนี้แม้จะถูกจำกัดเสรีภาพทางกาย แต่ไม่ได้ถูกจำกัดเสรีภาพทางความคิด และก็เป็นการเลือกด้วยตนเอง ผมได้เลือกแล้ว จากนี้ก็เป็นหน้าที่ของแต่ละคนข้างนอก ที่จะต้องเลือกว่าจะใช้สิทธิและเสรีภาพของตนเองอย่างไร”

พี่เขาผู้ซึ่งทำงานอาสาสมัครมาต่อเนื่องยาวนาน ยังกล่าวเสริมอีกด้วยว่า “นี่เป็นงานอาสาสมัครที่ท้าทายที่สุด มากกว่าทุกๆ ครั้ง” หลังจากหยุดคิดพักหนึ่ง “บางคนอาจไม่เรียกว่าเป็นงานอาสาสมัครนะ แต่ผมขอเรียกว่าผมอาสาตัวเองเข้ามาตรงนี้ละกัน”

ผมตั้งคำถามกับตนเองว่า คนเหล่านี้เขาเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่างนั้น เขาเลือกในฐานะอะไร? อะไรเป็นเกณฑ์คุณค่าและบรรทัดฐานในการตัดสินใจของเขา ไม่ว่าจะในกรณีรุ่นน้องที่แสดงจุดยืนทางวิชาการ หรือในกรณีรุ่นพี่ที่แสดงจุดยืนทางการเมือง

คำถามนี้ทำให้ผมนึกถึงท่านทะไลลามะ ผู้เป็นประมุขทางศาสนาและเป็นผู้ปกครองทิเบต ดินแดนหลังคาโลกที่ผู้คนล้วนศรัทธาในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศจีน ทิเบตจึงถูกรัฐบาลจีนส่งกำลังทหารเข้ายึดครอง ผนวกรวมดินแดนแห่งนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ

จุดเปลี่ยนนี้เองที่ทำให้ท่านซึ่งยังเยาว์วัยในเวลานั้น ต้องหลีกลี้ภัยออกมายังเมืองธรรมศาลา ในประเทศอินเดีย นับจากนั้นเป็นต้นมา ท่านได้เผยแพร่คำสอนมากมายให้แก่โลก ขณะเดียวกันก็เป็นสัญลักษณ์และตัวแทนการเรียกร้องสันติภาพและความสงบสุขให้กลับคืนสู่ทิเบต

ต่อคำถามว่าด้วยการเลือกในฐานะอะไรนี้ ท่านเคยกล่าวไว้ว่า การตัดสินใจกระทำการสิ่งใดๆ ท่านจะพิจารณาตามฐานะที่ท่านเป็น เพราะในเวลาเดียวกันที่ท่านเป็นคนทิเบต ท่านยังคงมีสถานภาพฐานะเป็นลามะหรือพระด้วย และแน่นอนที่สุดคือ ท่านเป็นมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ

ท่านกล่าวว่าในฐานะประชาชนคนทิเบต ท่านย่อมต้องมีความคิด และการกระทำที่สอดคล้องเหมาะสม สามารถแสดงจุดยืนเกี่ยวกับประชาชนและประเทศทิเบต

แต่การแสดงออกของท่านก็ไม่ใช่ว่าจะไร้ขอบเขต ไม่มีขีดจำกัด เพราะหากต้องสูญเสียเลือดเนื้อชีวิตผู้คนเพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งเสรีภาพในการปกครองตนเองของทิเบตแล้ว ท่านก็ไม่คิดกระทำ เพราะในฐานะที่เป็นพระ ท่านก็มีวินัยสงฆ์กำกับ การแสดงออกอะไรที่ไม่เหมาะสม ท่านก็พึงละเว้นงดเว้นเสีย

ท่านทะไลลามะยังไปไกลกว่านั้นด้วยการบอกว่า สิ่งที่ท่านเป็นยิ่งกว่าสิ่งใดๆ นั่นคือ ท่านมีฐานะเป็นมนุษย์ หากมีสิ่งไหนเรื่องราวใดต้องตัดสินใจ แล้วเป็นทางเลือกซึ่งขัดกับพื้นฐานของความเป็นมนุษย์เสียแล้ว ท่านก็จะไม่กระทำ

ผมนึกย้อนกลับไปถึงรุ่นพี่รุ่นน้องทั้งสองคนนั้นอีกครั้งว่า เขาเห็นตัวเองเป็นอะไรในตอนที่เขาเลือก?

ส่วนผมก็ได้เลือกแล้วเช่นกัน ผมเลือกที่จะไปเยี่ยมรุ่นพี่คนนี้ที่เรือนจำ ผมคิดว่า ความคิดเห็น ความเชื่อ หรือจุดยืนทางการเมือง หรือจุดยืนทางอาชีพ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะไม่ใช่จุดยืนหลักที่ผมใช้ในการตัดสินใจไปในกรณีนี้ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 2 กันยายน 2550


ระหว่างการประเมินสองแบบที่คุณมาการ์เร็ต วีตเลย์ เธอได้อธิบายเอาไว้นี้ “การประเมินด้วยมาตรฐาน” ดูจะเป็นรูปแบบที่พวกเราคุ้นเคยกันดี จริงไหมครับ? เพราะตั้งแต่เล็กจนโตเราคงได้มีประสบการณ์เคยทำข้อสอบแบบปรนัยให้เลือกข้อใดข้อหนึ่ง หรือยากขึ้นไปอีกนิดก็เป็นข้อสอบอัตนัยที่ตั้งคำถามมาให้เราเขียนตอบอธิบาย

ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับข้อสอบแบบปรนัยหรืออัตนัย สุดท้ายเราต้องเลือกคำตอบ หรือเขียนคำตอบ ให้ตรงตามเฉลยที่ตั้งไว้แต่ต้นแล้วให้มากที่สุด (อยู่ดี) และแน่นอนว่าข้อสอบนี้ต้องเกิดจากการคิดการออกแบบและตั้งคำถามโดยครูอาจารย์ และท่านผู้รู้เหล่านี้แหละจะนำคำตอบของเราไปเทียบกับคำเฉลยเพื่อ “ประเมิน” ว่าเรามีความรู้แค่ไหน มีความสามารถเพียงไร

วิธีสอบคุ้นๆ กันดีแบบนี้แหละครับ “การประเมินด้วยมาตรฐาน”

สำหรับแบบที่สองชื่อว่า “การประเมินที่มีชีวิตด้วยวงจรป้อนกลับ” นั้น คุณมาการ์เร็ต วีตเลย์ ไม่ได้ตั้งชื่อนี้ขึ้นมาลอยๆ ครับ มันมีส่วนต่างกันตรงที่เธอเห็นว่าการประเมินแบบนี้มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อในเรื่องการเจริญเติบโต ความสามารถในการปรับตัว และการมีพัฒนาการของของชีวิต

เอ ... แล้วการสอบแบบแรกไม่มีชีวิตหรืออย่างไร? ความหมายไม่ได้ตรงไปตรงมาว่าคนออกข้อสอบและคนทำข้อสอบไม่มีชีวิตไม่มีหัวจิตหัวใจ แต่กระบวนทัศน์ที่เป็นพื้นฐานสำหรับการวัดประเมินด้วยมาตรฐานนั้นมีที่มาจากวิทยาศาสตร์กลไก เราจึงให้ความเชื่อมั่นกับสิ่งที่วัดค่าได้แน่นอน ควบคุมจัดการได้ มีเป้าหมายที่ชัดเจน และต้องการให้กระบวนการดำเนินไปตามที่คาดการณ์

ฉะนั้น คำถามปรนัยในแบบแรกจึงต้องมีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียว และคนตอบห้ามทะลึ่งเขียนคำตอบเป็นอย่างอื่นนอกเหนือไปจากทางเลือก ก. ข. ค. ง. 4 ข้อนี้ที่จัดให้ หรือบางวิชาในบางคณะ อาทิ คณะแพทยศาสตร์ ก็อาจมีตัวเลือกที่วิจิตรพิสดารมากขึ้นไปอีก เช่น ก., ข., ค., ถูกทั้ง ก. และ ข., ถูกทั้ง ก. และ ค., ถูกทั้ง ข. และ ค., ถูกทั้ง ก. ข. และ ค., หรือ ผิดทั้งหมด

ถึงจะเปิดอิสระเพิ่มขึ้นเป็นอัตนัย แต่เมื่อเป็นการประเมินด้วยมาตรฐาน คนตอบก็ต้องพยายามเขียนไปตามลำดับและให้คำตอบตรงกันกับคำเฉลยที่มีไว้ล่วงหน้าแล้ว

ไม่ใช่ไม่ดีหรอกครับ แต่ไม่ได้เหมาะกับทุกเรื่อง ถ้าเป็นการวัดคุณลักษณะของสิ่งของสถานที่ล่ะก็ใช่เลย หาความสูง ชั่งน้ำหนัก วัดอุณหภูมิ หรือจะวัดความรู้ในเชิงความจำอย่างสูตรคูณ ชื่อบุคคลสำคัญ การคำนวณทางคณิตศาสตร์ อย่างนี้คือสอบแบบการประเมินด้วยมาตรฐาน

ย้อนไปดูการประเมินที่มีชีวิตด้วยวงจรป้อนกลับกันอีกทีว่าเป็นอย่างไร ผมเคยเล่าไว้แล้วว่าการวัดประเมินแบบนี้ให้ความสำคัญกับบริบทเรื่องราว เพราะความมีชีวิตของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน แทนที่จะกำหนดใช้มาตรฐาน การสอบแบบนี้ก็จะเปิดช่องไว้สำหรับการรับรู้ ชื่นชม ให้คุณค่ากับนวัตกรรมใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ ความฝันจินตนาการ สิ่งที่ทำให้เราร้อง “ว้าว” ด้วยความทึ่ง ความประหลาดใจว่า “อืมม์ ... เนอะ ... คิดได้ไงเนี่ย!”

สิ่งเหล่านี้ถ้าใช้การประเมินด้วยมาตรฐานจะมองไม่เห็นเลยครับ เพราะเชื่อว่าการทำซ้ำและการคาดการณ์ได้เป็นเรื่องสำคัญและมีคุณค่า อะไรที่อยู่นอกเหนือคำเฉลย (ของครู) หรือมาตรฐานที่ตั้งไว้ (ในตำรา) อาจถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งผิดพลาด หรือเป็นตัวก่อกวนในระบบไปเสียอีก

ตัวอย่างชัดๆ เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานเสวนา “Creativity: Key to Success” จัดโดยนิตยสาร Modern Mom วิทยากรทุกท่านเห็นพ้องต้องกันว่า การไม่เปิดให้เด็กแสดงความเห็นนอกกรอบ ต้องเป็นไปตามหนังสือตำรา หรือตามคำบอกเล่าของครู ดังที่พบมากในการศึกษาบ้านเรานั้น ล้วนไม่เอื้ออำนวยต่อการแสดงความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก

การประเมินที่มีชีวิตฯ จึงเป็นอีกกระบวนทัศน์สำหรับการสอบที่ให้ความสนใจต่อการเจริญเติบโต สร้างสรรค์และปรับตัว ดังนั้น การตั้งคำถามจึงมีลักษณะเปิดกว้างพร้อมจะรับข้อมูลคำตอบจากทุกๆ ด้าน การให้ความหมายต่อเรื่องใดๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะวิวัฒนาการก้าวไป เพราะถ้ากำหนดให้หยุดนิ่งหรือแน่นอนตายตัวเมื่อไหร่ นั่นแหละครับจึงเป็นลักษณะของเครื่องจักรกลไก เป็นระบบที่เราต้องการความแน่นอน มีการทำงานแบบเดิมซ้ำๆ ไม่ต้องเติบโตและไม่ปรับตัว

ประการสำคัญอีกอย่างที่ลืมไม่ได้คือ การปรับตัวของชีวิตนั้นเป็นพัฒนาการ และชีวิตจะวิวัฒนาการร่วมไปกับสิ่งแวดล้อม การสอบในมุมมองนี้จึงเป็นส่วนสำคัญสำหรับการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงพัฒนาตัวเอง ภายในบริบทสังคมและสิ่งแวดล้อมของผู้เรียน

เด็กๆ ในป่าชุมชนจึงไม่จำเป็นต้องท่องชื่อสามัญทางวิทยาศาสตร์ของแมลงไว้เพื่อตอบข้อสอบ แต่ควรจะได้รู้จักชื่อท้องถิ่นและนิสัยของแมลงนานาชนิดที่เกี่ยวข้องอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของเขา

ที่สำคัญ คือ การเข้าใจถึงลักษณะที่แท้จริงของกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ ว่ามนุษย์แต่ละคนนั้นมีความแตกต่างหลากหลายกันทั้งตามธรรมชาติ และตามสังคม วัฒนธรรมประเพณี สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงประสบการณ์ในอดีตแต่ละช่วง ทำให้แต่ละคนมีวิถี จริต จังหวะ และอัตราการเรียนรู้แตกต่างกันไป การเรียนรู้และการสอบประเมินที่เหมาเอาว่าผู้เรียนแต่ละคนเหมือนกัน เมื่อถึงเวลาหนึ่งๆ ต้องผ่านตามเกณฑ์หนึ่งๆ จึงเป็นสิ่งที่น่าขบขันและน่าเศร้าในคราเดียวกัน

ฐานคิดที่อาจนำไปสู่การพัฒนาการวัดประเมิน การสอบที่เหมาะสมกับมนุษย์มากขึ้น ก็คือ การเปิดพื้นที่ให้มี “การประเมินเหตุ” ควบคู่ไปกับ “การประเมินผล” เพราะบางครั้งเราอาจไม่รู้ว่ากระบวนการเรียนรู้ที่เราอยากให้เกิดในผู้เรียนนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด จะไปบังคับให้เกิดก่อนที่เราจะวัดก็ไม่ได้ แต่สิ่งที่เรารู้จากหลักปัจจยการ ที่ว่าสิ่งๆ หนึ่งเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีเหตุอันเป็นปัจจัยให้เกิดผลนั้น ผลที่ดีก็ย่อมมาจากการมีเหตุที่ดี ดังนั้น เราก็อาจจะวัดว่าการเรียนรู้ตามที่เราอยากเห็นนั้น มันมีเหตุมีปัจจัยที่เอื้อให้เกิดขึ้นหรือไม่ สักกี่มากน้อย หรือเรียกอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการประเมินปัจจัยนำเข้า (Input) และกระบวนการ (Process) ควบคู่ไปกับการตรวจดูผลลัพธ์ (Output) ผลปลายทาง (Outcome) หรือผลกระทบ (Impact)

สำหรับการเรียนรู้แล้ว การสอบซึ่งน่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุดไม่ใช่การเลือกใช้การประเมินด้วยมาตรฐาน หรือใช้การประเมินที่มีชีวิตด้วยวงจรป้อนกลับ อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ควรจะได้ใคร่ครวญ “ใส่หัวใจ” ลงไปในกระบวนการสอบ เพื่อจะได้เป็นกระบวนการที่มีความสุขมากกว่าความเครียด

แนวโน้มช่วงสามสิบปีผ่านมาก็พบว่าเป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ การสอบวัดตามเกณฑ์ลดน้อยลง คุณบราวน์และคณะทำงานสำรวจพบว่าการสอบข้อเขียนและสอบประเมินโดยผู้สอนมีน้อยลง แต่มีการใช้วิธีทำงานในวิชาเรียนและประเมินการเรียนรู้โดยตัวผู้เรียนมากขึ้น ชัดมากๆ คือเดิมใช้การสอบแบบวัดผลลัพธ์ หรือดูปลายทางเป็นสำคัญว่าจำได้มากน้อยแค่ไหน กลายมาเป็นการประเมินกระบวนการมากขึ้น

ผลการสำรวจของเขาคงไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้เราเท่าไหร่กระมังครับ เพราะพวกเราในแวดวงการศึกษาก็พอจะได้ยินได้เห็นและรับรู้การเปลี่ยนแปลงในวงการศึกษาทั้งต่างประเทศ และวงการศึกษาทางเลือกของไทยเรามิใช่น้อยเลย หากแต่ว่าเรายังไม่กล้าจะเปลี่ยนแปลง หรือยังไม่สามารถออกไปพ้นจากกรอบวิธีการเดิมๆ ที่ถูกกำหนดมาว่าต้องเป็นไปในแนวทางนี้เท่านั้น

ใส่หัวใจให้การสอบแล้วเราอาจจะพบคำตอบว่า การสอบไม่ใช่กระบวนการเพื่อการวัดประเมินให้รู้ผลเท่านั้น ดังที่ดอกเตอร์ Daniel L. Stufflebeam นักวิชาการผู้เป็นเสมือนเจ้าพ่อแห่งวงการวัดประเมิน เคยบอกไว้ว่า “เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของการประเมินไม่ใช่เพื่อพิสูจน์ แต่คือเพื่อพัฒนา -- to improve, not to prove.” นั่นเองครับผม :-)