ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๔

"น้ำที่มาที่ดอนเมืองเป็นแค่ทัพหน้า ทัพหลวงกำลังตามมา"

"ด่านเมืองเอกแตกแล้ว ชาวบ้านอพยพถอยร่นเข้ามาเรื่อยๆ"

"เปิดทางให้เขาลำเลียงทัพผ่านดีกว่า กั้นไว้ก็โดนล้อม คนในเมืองจะอดตายกันเอา"


เสียงผู้ประกาศข่าวดังมาเนื้อหาฟังคุ้นหู พอๆ กับที่เดินผ่านแผงหนังสือแล้วพาดหัวข่าวดูคุ้นตา ชวนให้นึกสงสัยว่าตอนที่น้ำท่วมปีก่อนๆ หน้า บรรดาสื่อเขารายงานข่าวน้ำท่วมด้วยภาษาแบบไหน แต่ว่าปีนี้ดูท่าภาษาทางทหารจะเป็นที่นิยม ใช้กันติดปากทั้งสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดีย ไม่แน่ใจว่าสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ทางการเมือง หรือว่าภาพยนตร์ซีรีส์พระนเรศวรมหาราชหรือทงอี

ชุดคำเหล่านี้ที่สื่อเลือกใช้ และเรารับมาใช้ต่อด้วยความไม่เท่าทัน จัดเงื่อนไขความสัมพันธ์ให้เราโดยที่เราและสื่อไม่รู้ตัว เป็นความสัมพันธ์แบบไม่อยากจะญาติดีกันแล้ว เพราะฝ่ายหนึ่งจ้องจะบุกเข้ามาทำลาย แถมชนะมาเรื่อย อีกคร่าชีวิตผู้คนมาตามรายทาง เหมือนกับจัดให้หมู่มนุษย์ต่อสู้กับมหันตภัยความชั่วร้ายระดับพระกาฬ

น่าชื่นชมความพยายามของหลายกลุ่มสร้างสัญลักษณ์และคำขึ้นมาเป็นตัวเลือก เช่น วาฬ หรือ น้องน้ำ ที่อยากกลับบ้าน (ทะเล) ทำให้ทีท่าผ่อนคลายลงไม่น้อย ไม่ใช่ตั้งท่าจะเอาชนะอยู่ท่าเดียว

ภาษาที่เราใช้นั้น สร้างโลกที่เราอาศัย ทั้งในแง่โลกในความคิดและโลกในทางวัตถุด้วย ว่าเราจะอยู่ด้วยกันระหว่างคนกับคน ระหว่างคนกับธรรมชาติอย่างไร

ถ้าเราใช้แค่ชุดคำแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ดี-เลว ถูก-ผิด เราย่อมยากที่จะยอมรับให้อีกฝ่ายเข้ามาอยู่ในเมืองของเรา มาอยู่ในสังคมของเรา ไม่ว่าจะเป็นน้ำหรือมนุษย์ก็ตาม

การศึกษาของเราตั้งอยู่บนฐานความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ ที่แยกตัวผู้สังเกตของจากสิ่งที่สังเกต แยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราใช้ชุดคำของการแบ่งแยกฝ่าย โดยเฉพาะการแบ่งเป็นฝ่ายมนุษย์และฝ่ายธรรมชาติ โลกของเราจึงเป็นส่วนๆ เสี้ยวๆ มีเขามีเราหลายฝ่าย เราจึงต้องเหนื่อยกับการปกป้องความเป็นเรา ไม่ว่า “เรา” ในบริบทนั้นจะหมายถึงตัวของเราเอง ครอบครัว บริษัท นิคมอุตสาหรรม ชุมชน จังหวัด ภาค ประเทศ พรรคการเมือง ไปจนถึงนามธรรมเช่นอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย

หากไม่เรียนรู้ที่จะขยายโลกในความคิดความเข้าใจ เราจะอยู่ยากขึ้น เพราะโลกและธรรมชาติในความเป็นจริงนั้นซับซ้อนกว่าที่โลกอันคับแคบของเราจะรองรับ ยิ่งโลกในความคิดกับโลกตามความจริงห่างกันเท่าไหร่ความทุกข์ในใจและในสังคมของเรายิ่งมากขึ้นเท่านั้น

โดยวิธีที่จะขยับขยายโลกของเรา ไม่จำเป็นต้องทิ้งโลกตามแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ทิ้งไปเสียทั้งหมด แต่ต้องขยายไปสองทาง ทางหนึ่งลงล่าง เพื่อยึดโยงเข้ากับราก เข้ากับฐานทางวัฒนธรรมของเรา การเรียนรู้ต้องไปเรียนจากของจริงจากชีวิตจริง อีกทางหนึ่งขึ้นบน เพื่อเข้าถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพื่อเข้าถึงสัจธรรมของโลกและธรรมชาติ

เมื่อนั้นพลังอันสร้างสรรค์ของวิทยาศาสตร์ก็จะถูกปลดปล่อยได้มากขึ้น เมื่อเราใช้ภาษาและตั้งคำถามที่เหมาะสม เช่นว่า แล้วประเทศไทยจะร่วมกันอย่างสงบสุขอย่างไร ในโลกที่สภาพภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรงทำให้มีน้ำมากในฤดูน้ำหลากและน้ำน้อยในฤดูแล้ง

หากเราและสังคมได้สะท้อนตนเอง ได้มองพฤติกรรมที่ผ่านมาด้วยใจเป็นกลาง ไม่เข้าข้างตนเอง เมื่อนั้น ใจของเราที่เคยแต่อยากเอาชนะ อาจจะอยากขอขมาต่อสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตเราขึ้นมาเอง

แล้วเราจะใช้ภาษาที่สื่อถึงใจที่อ่อนโยนต่อชีวิต อ่อนน้อมต่อธรรมชาติด้วยเช่นกัน














โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2554

ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง วันที่คนทั้งประเทศน่าจะรู้สึกว่าภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นมาถึงบ้านเราแล้ว ไม่เพียงแต่มาเคาะประตูหน้าบ้าน แต่ลุยเข้ามาในบ้าน ล้นทะลักเข้าไปในห้องครัว ห้องนอน เอ่อขึ้นไปยังชั้นสอง บ้างก็ไปจนมิดหลังคา

หลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นในทั่วทุกภาคของประเทศ แต่กรุงเทพฯ ก็ดูเหมือนจะรอดหวุดหวิดมาเกือบทุกครั้งไป จนคนเมืองหลวงอาจจะวางใจ พูดปลอบใจตนเอง หรือปลอบใจกันและกันว่า "โอ๊ย กรุงเทพฯ น่ะสำคัญนะ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและทุกเรื่อง ถ้าท่วมจะเสียหายหนัก เขาไม่ปล่อยให้ท่วมง่ายๆ หรอก"

ซึ่งที่กล่าวมาก็ถูกต้องทั้งหมด ไม่มีส่วนใดผิด กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของประเทศที่รวมศูนย์แบบไทย ถ้าภัยพิบัติไม่ว่าจะทางธรรมชาติหรือทางไหนส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ย่อมเสียหายมาก และก็จริงอีกที่ "เขา" (ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าหมายถึง ใคร รัฐบาล หรือองค์กรใด) ต้องพยายามป้องกันกรุงเทพฯ อย่างเต็มที่ ไม่ปล่อยให้น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง น้ำท่วมก็ท่วมนิดเดียว ชั่วครู่ชั่วยามโดยมากก็เป็นชั่วโมงเท่านั้น

ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ สถานการณ์กรุงเทพฯ ยังไม่รุนแรงเท่าใดนัก เพราะเป็นช่วงที่น้ำทะเลยังไม่ขึ้นสูงสุด และมวลน้ำปริมาณมหาศาลจากตอนบนของประเทศก็ยังลงมาไม่ถึง แต่กระนั้นก็มีหลายเขตหลายชุมชนแล้วที่น้ำท่วม ส่วนเมื่อบทความนี้ตีพิมพ์ก็จะเป็นช่วงที่สถานการณ์คับขันและยากลำบากที่สุด

ผู้เขียนและชาวจิตวิวัฒน์ทุกคนขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนที่อยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันนี้ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่จังหวัดไหน

ได้แต่หวังว่าคงจะปลอดภัยทั้งสุขภาพ สุขภาพใจ และทรัพย์สิน ไม่เสียหายกันมากนัก

เพราะว่าเราคงจะต้องประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้อีกเกือบทุกปีแน่นอน

โดยเฉพาะจากข้อมูลสภาพภูมิอากาศโลกในปัจจุบัน มีแนวโน้มเป็นไปในทางที่แย่เอามากๆ แค่เรื่องอุณหภูมิอย่างเดียว สถิติ ๑๐ อันดับของปีที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงที่สุด ได้แก่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๑, ๒๕๔๔, ๒๕๔๕, ๒๕๔๖, ๒๕๔๗, ๒๕๔๘, ๒๕๔๙, ๒๕๕๐, ๒๕๕๒, ๒๕๕๓ ล้วนอยู่ในช่วง ๑๓ ปีที่ผ่านมา โดยปีที่โลกร้อนที่สุดตั้งแต่เคยถูกจดบันทึกคือ ปี ๒๕๕๓ นี้เอง

อุณหภูมิของโลกร้อนกว่าค่าเฉลี่ยของศตวรรษที่ ๒๐ มาต่อเนื่องเป็นปีที่ ๓๔ แล้ว

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับนายอัล กอร์ ได้ออกรายงานประเมินสถานการณ์สภาพภูมิอากาศโลก ในปี ๒๕๕๐ ประมาณการว่าน้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วโลกเหนือนั้นจะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ โดยอาจจะละลายหมดในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. ๒๐๕๐-๒๑๐๐ แต่ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างมากและรวดเร็วหลังจากรายงานออกมา นักวิทยาศาสตร์ประมาณการกันใหม่แล้วว่า ขั้วโลกเหนืออาจจะไม่มีน้ำแข็งปกคลุมเลยภายในไม่ถึงห้าปีข้างหน้านี้

ไม่เพียงแต่อุณหภูมิที่สูงขึ้น พายุฝนฟ้าคะนองนั้นมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น ตัวชี้วัดหนึ่งคือข้อมูลปริมาณน้ำฝนทั่วโลกพบว่าปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมาเป็นปีที่ "เปียก" หรือมีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดตั้งแต่เคยมีการจดบันทึกกันมา ปีที่แล้วกราฟแสดงปริมาณที่มากสุดโต่งอยู่แถวเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก อเมริกากลาง ออสเตรเลีย โดยไทยเรารอดมาได้ แต่กราฟของปีนี้ต้องมีเอเชียอาคเนย์และประเทศไทยแน่นอน

ฝนที่เคยตกปรกติ ปริมาณกำลังดีแถวอาณาจักรลาดั๊ก (Ladakh) ทางตอนเหนือสุดของอินเดีย ที่ทำให้เจริญเป็นอารยธรรมที่งดงาม ก็เกิดปรากฏการณ์คลาวเบิร์สท (Cloudburst) คือ ฝนตกหนักอย่างกะทันหันปานฟ้ารั่ว ลองจินตนาการว่าธรรมดาฝนนั้นตกลงมาเหมือนเทวดารดน้ำจากฝักบัวครับ แต่ที่เกิดขึ้นคือเทวดาเทน้ำจากขันหรือกะละมังครับ ผลคือน้ำท่วมอย่างหนักและรวดเร็ว โคลนถล่มสูงเป็นเมตร ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนเสียหาย ผู้คนล้มตาย เป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการตั้งถิ่นฐานกันมา

ฟังดูก็เหมือนหลายๆ เมืองที่เราได้ยินข่าวทั่วไป ไม่น่าตื่นเต้นตกใจอะไรใช่ไหมครับ แต่ถ้าเราทราบว่าเมืองที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือเมืองเละห์ Leh (บ้างอาจจะว่าเข้าใจตั้งชื่อเป็นลาง) ซึ่งอยู่สูง ๓,๕๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล!

ไม่อยากจะนึกก็ต้องนึกถึงหนังเรื่อง 2012 ไม่น้อย

นี่ถ้าเมืองที่สูงถึง ๓.๕ กิโลเมตร ยังน้ำท่วมคนตายได้ขนาดนี้ กรุงเทพฯ ที่อยู่ที่ระดับ ๐ เมตร (และกลางเดือนตุลาคม น้ำทะเลจะขึ้นสูงสุดประมาณ ๒.๕ เมตร) คงไม่ต้องสงสัย

หรือตัวอย่าง เดือนมีนาคมปีนี้ที่เมืองไทย มีสามฤดู วันหนึ่งร้อนจัด อีกวันต้องได้ค้นเสื้อกันหนาวมาใส่ ในขณะที่ภาคใต้ก็เกิดพายุน้ำท่วมรุนแรง นี่ก็เกิดจากน้ำในมหาสมุทรอินเดียพื้นที่หนึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าปรกติเพียงเล็กน้อย ทำให้ลมที่พัดต้านมวลอากาศเย็นจากจีนไม่สามารถทานกำลังได้

ประเทศไทยที่ได้สภาพภูมิอากาศรับอิทธิพลของปรากฏการณ์ เอลนีโญ/ลานีญา-ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ (El Niño/La niña-Southern Oscillation หรือ ENSO) ทำให้เรามีสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง โดยปรกติแล้วเกิดประมาณทุก ๕ ปี แต่ข้อมูลล่าสุดที่ได้จาก ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) วงจรนี้ไม่ปรกติแล้ว และคาดว่าจะเกิดเฉลี่ยทุก ๑๑ เดือน

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการผันแปรผิดปรกติของปรากฏการณ์ ENSO นี้เท่ากับว่าสภาพภูมิอากาศโลกได้เลยจุดพลิกผัน (tipping point) แล้ว

อันที่จริงเราอาจจะไม่ต้องอาศัยข้อมูลมากมายเท่านี้ก็ได้ ตัวอย่างจาก ดร.วังการี มาไท นักชีววิทยาสตรีสาวชาวเคนยา ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี ๒๕๔๗ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกน่ะหรือ ฉันรู้แน่นอนว่ามันกำลังเกิดขึ้น ฉันแค่เดินออกไปนอกบ้าน ฉันก็รู้แล้ว"
ในปาฐกถารางวัลโนเบลของเธอที่กรุงออสโล เธอได้กล่าวว่า "เรากำลังจะเผชิญกันความท้าทายที่เรียกให้เราต้องเปลี่ยนวิธีการคิด เพื่อที่มนุษยชาติจะหยุดทำร้ายระบบที่เอื้อให้เรามีชีวิต เราต้องช่วยเหลือเยียวยาโลก และในกระบวนเดียวกันนี้เอง ช่วยเยียวยาตัวเราเองด้วย ซึ่งก็คือการโอบอุ้มสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ในความหลากหลาย ความงาม และความอัศจรรย์ใจ มันจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราเห็นความจำเป็นที่เราจะต้องฟื้นความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเดียวกับสรรพชีวิต"

ด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันรุนแรงและส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลกเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ ณ ขณะนี้ในประเทศไทยของเราก็ได้เกิดการเรียกร้องผลักดันให้การรับมือภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ เช่น จาก คุณปรเมศวร์ มินศิริ thaiflood.com และ ดร. สมิทธ ธรรมสโรช มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ก็ให้สัมภาษณ์ข่าวว่า "ถึงเวลาแล้วที่เราต้องรวมตัวกันเป็นวาระแห่งชาติ แก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนขณะนี้ให้ผ่านวิกฤตไปได้"

เรื่องวิกฤตนี้ กลุ่มจิตวิวัฒน์ได้พูดคุยและสื่อสารให้เห็นความสำคัญมาร่วมเกือบสิบปี และหากรวมที่สมาชิกของกลุ่มหลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ อาจารย์ประสาน ต่างใจ และอาจารย์ประเวศ วะสี ได้เขียนเตือนไว้ก็สิบกว่าปีแล้ว ว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับสิ่งที่ ดร.เจมส์ เลิฟล็อค ผู้คิดค้นทฤษฎีกายา (ที่ว่าโลกมีคุณสมบัติเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่สามารถมีสุขภาวะที่ดีหรือป่วยได้ อันเป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ) ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน ไว้เมื่อปี ๒๕๕๑ ว่าหายนะภัยของโลกนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่มุมมองของบุคคลเหล่านี้ต่อวิกฤตสภาพอากาศนั้นมีมากไปกว่าการป้องกันและกู้ภัยด้วยเทคโนโลยีและการจัดการ นั่นคือ โอกาสที่เราจะได้ตระหนักว่าเราจะอยู่กันอย่างไรในวิกฤตนี้ เพราะหากต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมเรายังพอมี เราอาจเกิดสติและเห็นว่าทุกหายนภัย ทุกวิกฤต มาพร้อมกับโอกาสที่ดีได้เสมอ เป็นการเรียนรู้ที่หาได้ยากในสภาวะปรกติ

ภาวะพายุผิดฤดูกาล และน้ำท่วมน้ำหลากมากผิดวิสัย ไม่ได้เป็นเพียงโอกาสจะได้หาทางแก้ไขป้องกันด้วยการสร้างฝาย คันกั้นน้ำ หรือระบบอุโมงค์ระบายน้ำ แต่นี่ยังเป็นโอกาสอย่างมาก ที่สังคมไทยจะเรียนรู้ร่วมกันว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นเพียงอาการ แท้จริงแล้วมีต้นเหตุ คือ วิกฤตทางด้านจิตวิญญาณ ดังเช่นที่ท่านทะไลลามะบอกว่า เรากำลังเป็นโรคพร่องทางจิตวิญญาณ (Spiritual deficiency syndrome)

ท่ามกลางภาวะของความเศร้าและทุกข์ทรมานกับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ หลายคนสิ้นหวังหมดกำลังใจในการใช้ชีวิต หลายพื้นที่ลงไม้ลงมือวิวาททำร้ายร่างกายกันเพราะเห็นว่าถูกเอาเปรียบที่ชุมชนของตนต้องเป็นฝ่ายรับน้ำแทน คนจำนวนไม่น้อยก็ก่นด่าเพ่งโทษอีกฝ่าย และจำนวนมากมายเร่งรุดไปซื้อกักตุนข้าวของสินค้าอุปโภคบริโภคจนขาดแคลน ไม่เพียงพอแม้แต่จะแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัย ปรากฏการณ์เหล่านี้เองที่กำลังบอกเราว่าลำพังเพียงความรู้ทางเทคโนโลยีและการจัดการ ไม่สามารถดูแลปัญหาวิกฤตการณ์ในจิตใจชาวไทยได้

หลังจากที่การแก้ไขภัยพิบัติเร่งด่วนเฉพาะหน้าเริ่มคลี่คลายลง การผลักดันวาระแห่งชาติก็คงจะสูงยิ่ง การขับเคลื่อนประเทศไทยให้ออกจากวิกฤตนี้จำต้องมีวาระแห่งชาติที่มีพลังเพียงพอ ลำพังวาระเรื่องการรับมือภัยพิบัตินั้นสำคัญมาก แต่อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะเป้าหมายที่แท้จริงนั้นยิ่งใหญ่กว่าการหาหนทางอยู่รอด

หรืออาจใช้ชื่อ "วาระแห่งชาติว่าด้วยการรับมือภัยพิบัติ" นี้ก็ได้ แต่สาระภายใน สังคมไทยต้องการพื้นที่สำหรับความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติการ (platform) ที่ใหญ่กว่าเรื่องทางเทคนิคและเรื่องความอยู่รอด เป็นวาระที่ตระหนักรู้ว่าภัยพิบัตินั้นมีทั้งวิกฤตธรรมชาตินอกกาย และวิกฤตในใจที่บดบังให้เราไม่เห็นสายสัมพันธ์ที่เรามีต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพชีวิตบนโลกใบเดียวกัน

ภัยพิบัติอาจทำให้เราเห็นว่าต้องต่อสู้เพื่อเอาตัวให้รอด แต่ความรู้จากทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน บอกว่า สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดคือสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุด (Survival of the fittest) ดังนั้น การที่เราจะอยู่รอด ไม่ใช่เพราะเหตุผลตื้นเขินว่าเราแข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุด ไม่ใช่เพราะเรารวยหรือมีเทคโนโลยีที่ดีที่สุด เราจึงต่อสู้เอาชนะได้ แต่รอดได้เป็นเพราะว่าเราเหมาะสมที่สุด

สิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุดไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เหลือรอดโดยลำพัง แต่คือสิ่งมีชีวิตที่เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ทั้งกับสปีชีส์เดียวกัน และกับสปีชีส์อื่นๆ ในโลกใบนี้

องค์ความรู้ทางจิตวิวัฒน์ที่ได้สั่งสมมาหลายปี ชี้ให้เห็นว่า เราจะอยู่ร่วมกันได้ เมื่อเราเรียนรู้ที่จะอ่อนโยนต่อชีวิต อ่อนน้อมต่อธรรมชาติ เข้าถึงความสุขอันประณีต ชุดความรู้เรื่องการรู้จักตนเอง การรู้จักให้อภัย การรู้จักพอ รู้จักที่จะช้าลง ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของการอยู่รอดและการอยู่ร่วมของเรา

นี่อาจจะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในชั่วชีวิตของเรา ที่เราจะละทิ้งอัตตาและความคับแคบของใจ โอกาสการก้าวข้ามความแบ่งแยกทางสี ทางความคิด ทางชาติพันธุ์ ไปสู่การปลูกเพาะความรักความเมตตาและเอื้ออารีต่อกัน สู่การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของทุกคนและทุกชีวิต

ดังเช่นที่ ดร.วังการี มาไท ได้กล่าวไว้ว่า "ในช่วงประวัติศาสตร์ของมนุษย์ มีเวลาที่มนุษยชาติถูกเรียกร้องให้ยกระดับจิตสำนึกใหม่ ไปสู่คุณธรรมที่สูงขึ้น เวลาที่พวกเราต้องขับไล่ความกลัวและมอบความหวังให้กันและกัน เวลานั้นก็คือตอนนี้"

ดังนี้ สิ่งที่เราควรชูเป็นวาระชาติ คือ วาระของการอยู่ร่วมกัน

อยู่เป็น อยู่เย็น



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๔

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา กลุ่มจิตตปัญญาวิถี มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยไมอามี ร่วมกันจัดโครงการอบรมครูและเจ้าหน้าที่การศึกษาชาวอเมริกัน ในหัวข้อพุทธศาสนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ พวกเขาร่วมยี่สิบชีวิตเดินทางมาเมืองไทยเพื่อเรียนรู้ว่าพุทธศาสนานั้นเกี่ยวข้องและช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร พวกเราใช้เวลา 10 วัน เรียนรู้กันที่เขาใหญ่ และวัดป่าสุคะโต-วัดป่ามหาวัน จ.ชัยภูมิ ร่วมกับพระไพศาล วิสาโล

มีการจัดกิจกรรมให้ได้เดินป่า ศึกษาธรรมชาติ รวมถึงให้มีประสบการณ์ดำนา ปลูกป่ากันด้วย หากใครเคยลองทำมาแล้วจะรู้ว่าทั้งสองกิจกรรมนี้ไม่ได้ง่ายนัก ดำนาต้องก้มๆ เงยๆ หลังขดหลังแข็ง เดินถอยหลังลุยโคลนในนา ส่วนปลูกป่าทำแนวกันไฟนั้นต้องเดินป่ายปีนที่สูงๆ ต่ำๆ ลุกๆ นั่งๆ ขุดดินปลูกกล้าไม้พื้นเมือง แถมต้องทำกลางวันแสกๆ วันที่ไม่มีฝนก็แดดเปรี้ยง ผิวไหม้ ตัวดำ หนังลอกกันเป็นเรื่องปรกติ แต่ผู้เข้าร่วมกลับชื่นชมกันใหญ่ ชื่นชอบอย่างยิ่ง ออกปากว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว

วันเกือบสุดท้าย มีกิจกรรมให้ออกไปอยู่คนเดียวในธรรมชาติสัก 2-3 ชั่วโมง เท่านั้นล่ะครับ เหมือนกับป่าแตก ถามกันให้แซ่ด ว่าต้องทำด้วยหรือ ทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร เอาไอพ็อดไปฟัง เอาหนังสือไปอ่าน เอากล้องไปถ่ายรูปแก้เหงา แก้เซ็งได้ไหม (คำตอบคือไม่ได้)

หลายคนเกิดความกลัวขึ้นมาจับใจ โดยมากจะกลัวงู กลัวยุง กลัวความมืด (ส่วนคนไทยที่ไปด้วย แน่นอนว่า ... กลัวผี) แต่ที่น่าสนใจ คือ กลัวอยู่กับตัวเองไม่ได้

แม้จะบอกว่าถึงมองไม่เห็นกัน แต่ก็ไม่ได้ไกลนัก แค่ลับตา เดินสองสามนาทีก็ถึง แถมแดดก็ไม่มี จะนั่ง จะเดิน หรือจะนอนก็ยังได้ ขอแค่ให้ได้อยู่กับตัวเอง แต่ก็ดูเหมือนยังไม่ค่อยวางใจ ต้องได้ให้ความมั่นใจและให้เครื่องมือช่วยกันชุดใหญ่ เช่น เจริญสติ ดูจิต เป็นต้น

แต่หลังจากเสร็จกิจกรรมต่างดีใจและภูมิใจกับความสำเร็จของตนเอง ที่ได้ลองอยู่ลองเผชิญกับสิ่งที่อยู่ด้วยยาก โดยเฉพาะสำหรับคนทั่วไปที่ไม่เคยฝึก นั่นคือ ตัวเราเอง

ทั้งๆ ที่ตัวเรานั้นเป็นมิตรแท้ที่สำคัญที่สุดของเราเอง เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความจริงอันสูงสุด แต่มนุษย์ทั่วไปกลับอึดอัดคับข้องใจเวลาต้องอยู่คนเดียวและไม่ได้ทำอะไร

เมื่อเราอยู่คนเดียว เรามักอยู่เงียบๆ เฉยๆ ไม่เป็น เราจึงต้องหาทางออกด้วยการทำตัวให้ไม่ว่าง ทำตาให้ไม่ว่าง ต้องดูหนัง อ่านหนังสือ ทำหูให้ไม่ว่าง ต้องฟังข่าว ฟังเพลง ทำมือให้ไม่ว่าง ต้องเขียน ต้องเล่น ทำปากให้ไม่ว่าง ต้องคุย ต้องกิน ทำเท้าให้ไม่ว่าง ต้องไปเที่ยว ไปเดินเล่น

คนทั่วไปจึงมีชีวิตที่อยู่ยาก คนมักไม่พอใจกับสิ่งที่ตัวเองเป็น สิ่งที่ตัวเองมี ที่ๆ ตัวเองอยู่ ของที่มีสักพักก็เริ่มไม่พอใจ ต้องออกไปหาสิ่งใหม่มาเพิ่ม ที่ๆ อยู่สักพักก็เริ่มเบื่อ ต้องดั้นด้นเดินทางไปดูที่ใหม่ สิ่งใหม่

แต่หากเราได้ลองอยู่กับตัวเองให้เป็น ก็จะพบว่าไม่ยากเกิน ที่จะพบว่าความสุขที่แท้จริงนั้นเกิดจากภายใน ชาวฝรั่งไม่เคยฝึกไม่เคยทำอะไรทำนองนี้มาก่อนเขายังอยู่ได้เลย

ดีใจกับครูชาวอเมริกันที่อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาอบรมเรื่องพุทธศาสนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ เขาไม่เพียงได้เห็นว่าวัดช่วยให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติภายนอกอย่างยั่งยืนได้อย่างไร เขายังได้เห็นด้วยตนเองอีกด้วยว่าธรรมะช่วยให้ตัวเราอยู่ร่วมกับธรรมชาติภายในอย่างสุขสงบได้อย่างไรด้วยเช่นกัน



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔

วสันตฤดูเป็นฤดูสำคัญของพืช ต้นไม้ได้น้ำเพียงพอที่จะทำอะไรหลายๆ อย่าง

พืชที่โตแล้ว มีคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศอยู่ตลอด ไม่ต้องไปแย่งดิน แย่งแสงแดดกับใคร แต่ต้องมีน้ำจึงจะสามารถสังเคราะห์แสงได้ ถ้าไม่มีน้ำก็ไม่สามารถสร้างอาหารคือน้ำตาล อีกทั้งไม่สามารถผลิตออกซิเจนที่ทำสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกมากใช้หายใจได้

ฤดูฝนจึงเป็นช่วงที่ต้นไม้เร่งรีบเติบโต สร้างใบไว้ผลิตอาหาร อาหารที่ผลิตได้ก็ใช้เพื่อเจริญเติบโตนี่แหละ

อาหารส่วนที่เหลือจะถูกเก็บเป็นทุนในการอยู่รอด เพราะเมื่อปลายฤดูฝนมาถึง กว่าจะได้น้ำมากๆ อีก ก็อาจจะเป็น ๗-๘ เดือนข้างหน้า ต้นไม้จะผ่านฤดูหนาวและฤดูร้อนอันยาวนานไปได้หรือไม่ ส่วนหนึ่งก็ขึ้นกับในฤดูฝนนั้นต้นไม้เป็นอย่างไร

ถ้าต้นไม้ต้องการฝน จิตใจของคนล่ะต้องการอะไร?

คำถามนี้ผุดขึ้นมาระหว่างนั่งชื่นชมสายฝนที่โปรยปรายลงมาในวันแรกๆ ของพรรษา

ใจของเรา บางครั้งก็ต้องเผชิญเรื่องราวยากๆ ในชีวิต อาจเป็นเรื่องการเรียนการสอบ การทำงานการประเมิน กิจวัตรประจำวันที่ดูเหมือนต้องเร่งไม้เร่งมือขึ้นทุกวัน แต่ยิ่งเร่งดูเหมือนยิ่งทำไม่ทัน อาจเป็นเรื่องครอบครัว ความบาดหมางไม่เข้าใจกันระหว่างคนที่เรารัก หรือบางทีก็กับตัวเราเอง หรืออาจเป็นเรื่องสุขภาพ การเจ็บป่วยหรือล้มหายตายจากของคนใกล้ชิด บางเหตุการณ์แค่ไม่กี่วัน แต่บางเหตุการณ์ก็ต่อเนื่องยาวนานหลายเดือนหรือหลายปี

เราจะผ่านช่วงเวลายากๆ เหล่านั้นได้ โดยไม่ใช่แค่อยู่รอดอย่างเดียว แต่ยังคงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อยู่ด้วยได้หรือไม่ ส่วนหนึ่งก็ขึ้นกับว่าในช่วงก่อนสถานการณ์ยากๆ เหล่านั้นเราทำอะไร อาศัยต้นทุนที่เราเคยฝึก เคยหัด มาช่วงก่อนหน้านี้เท่านั้น ที่จะทำให้เรายังดูแลกาย ดูแลใจ ไม่ให้คิด พูด หรือทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควรลงไป

เมื่ออยู่ในสถานการณ์ยากๆ เราจะมาเริ่มต้นฝึกเรียนรู้ที่จะมีสติ เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของเราได้ลำบาก เราจึงควรหมั่นที่จะเท่าทันความคิดความรู้สึกตนเองเสมอๆ เมื่อมีโอกาส

หากต้นไม้ต้องการความชุ่มชื่นจากฝน ใจของคนก็ต้องการความชุ่มชื่นจากความสงบภายใน

ยามที่ฝนมา ต้นไม้ถือโอกาสได้เจริญเติบโต สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ตนเอง ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อยามเข้าพรรษา ผู้คนควรได้ใช้โอกาสนี้เจริญเติบโตทางสติปัญญา ทางจิตวิญญาณ สร้างเสริมความมั่นคงภายใน

ผู้อยู่ในเพศบรรพชิตก็รวมตัวกันอยู่ในวัดในสถานปฏิบัติธรรม ตั้งใจฝึกฝนทั้งด้วยตนเองและกับครูบาอาจารย์ พวกเราส่วนใหญ่ที่เป็นฆราวาสใช่ว่าจะไม่สามารถรวมตัวกันฝึกฝนได้

ในโลกของเครือข่ายทางสังคม เช่น เฟซบุ๊ก ก็มีกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนกันและกัน อย่างเช่น กลุ่ม (page) “เพื่อนภาวนา” ก็จัดกิจกรรม “เข้าพรรษาภาวนาด้วยกัน” เชิญชวนให้เพื่อนๆ มากด Like แล้วตั้งปณิธานเข้าพรรษาว่าจะทำอะไรดีๆ กันบ้าง

มีเพื่อนจำนวนไม่น้อยที่ให้คำมั่นสัญญากันว่าจะภาวนาทุกวันตลอดพรรษานี้ หลังจากได้อ่านได้ฟังกันมาทั้งชีวิต จะขอเรียนรู้เติบโตไปด้วยกัน ผ่านการลงมือทำด้วยตนเอง

หลายคนเคยลองทำเองคนเดียว แล้วก็ทำๆ หยุดๆ ลงเอยหยุดมากกว่าทำ คือหยุดไปเลย มาพรรษานี้ตั้งใจร่วมกัน เชื่อว่าพลังของกลุ่มจะนำช่วยนำพาไปให้ตลอดรอดฝั่ง

วสันตฤดูพรรษานี้จึงมีอะไรน่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย ต้นไม้ก็เติบโตไปพร้อมๆ กับมนุษย์ ที่ต่างเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์และอาศัยซึ่งกันและกัน

โอกาสของต้นไม้คือหน้าฝน โอกาสของคนก็คือเข้าพรรษา

รับ = ให้



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔

พี่สาวที่รักของผมเธอเป็นจักษุแพทย์ บ่อยครั้งเธอจะมีของติดไม้ติดมือกลับมาบ้าน เป็นของฝากจากคนไข้ซึ่งเอามาให้เวลามาพบคุณหมอที่โรงพยาบาล ยิ่งถ้าเป็นหน้าเทศกาลด้วยแล้ว อย่างปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์นี่ ของฝากยิ่งมาก ผมจึงมักได้อานิสงส์ของกินของใช้ดีๆ จากเธอเสมอๆ

ผู้ที่มาโรงพยาบาล บ้างก็ด้วยวัยที่สูงขึ้น บ้างก็ติดเชื้อ หรือประสบอุบัติเหตุ ส่วนมากดีใจไม่น้อยที่ได้กลับบ้าน อีกทั้งยังมีสุขภาพสายตาที่ดีขึ้น

เธอมักเล่าให้ฟังเสมอๆ ว่า มีหลายครั้งที่เธอช่วยเหลือด้วยวิธีการยิงเลเซอร์ ผ่าตัด หรือจ่ายยา แต่ก็อีกไม่น้อย ที่เขาเหล่านั้นต้องหมั่นดูแลสุขภาพด้วยตนเอง เธอว่าหมอก็ได้แค่ช่วยบอกเท่านั้น

ผมเข้าใจปรากฏการณ์ข้างต้นดีขึ้นมาก เมื่อผมได้รับกล้วยน้ำว้ามาหวีหนึ่ง ในการอบรม “จิตตปัญญาศึกษากับการพัฒนาบุคลากร เพื่อการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ซึ่งครั้งนี้เป็นรุ่นที่ ๒ ที่ผมจัดกระบวนการให้กับคณะผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่สายสนับสนุน ที่รวมทั้งแม่บ้าน แม่ครัว ช่างเทคนิค พนักงานขับรถ ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ (วพบ. กรุงเทพ) ปรากฏว่า กล้วยน้ำว้าหวีนี้เป็นของเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ซึ่งเข้าร่วมอบรมในรุ่นก่อนหน้าเป็นคนฝากมาให้ เธอคงทราบมาว่าผมดูแลสุขภาพด้วยการทานกล้วยน้ำว้าที่มีฤทธิ์เย็น เพื่อปรับสมดุลของร่างกายทุกวัน

ของฝากเป็นกล้วยน้ำว้าที่ทั้งหน้าตาสวยทั้งมีขนาดใหญ่ เป็นเครื่องหมายของน้ำจิตน้ำใจที่เธอมอบให้ ผมประทับใจในไมตรีจิตนี้มาก

อีกทั้งกล้วยนี้ไม่ได้มาเปล่าๆ มีจดหมายน้อยแนบติดมาเสียด้วย มีใจความว่า

“พี่ส้มขอขอบคุณมากที่ได้ร่วมทำกิจกรรม ซึ่งเมื่อกลับมาแล้วได้ผลดีมาก เดี๋ยวนี้เวลาพี่ส้มกลับจากต่างจังหวัดจะรับของจากแม่ทุกครั้ง ซึ่งแม่ก็มีสีหน้าที่มีความสุขมาก จากทุกครั้งที่เคยปฏิเสธ ถ้าไม่ได้ร่วมกิจกรรมก็จะไม่รู้ถึงความรู้สึกของแม่ ขอขอบคุณในสิ่งดีๆ ที่อาจารย์เอเชียให้กับพี่ส้มค่ะ”

ผมอ่านแล้วขนลุก น้ำตาไหล รู้สึกดีใจที่ในโลกกลมๆ ใบนี้ อย่างน้อยก็ได้มีแม่ลูกคู่หนึ่งที่มีความสุขมากขึ้นอีกมาก

จากเดิมที่อาจจะทุกข์ เพราะไม่ทราบว่าจะดูแลกันอย่างไร แม้ทั้งคู่จะรักกันมากๆ ก็ตาม

ย้อนหลังกลับไปในการอบรมรุ่นที่ ๒ ผมแนะนำกระบวนการเพื่อการรู้จักเข้าใจตนเองไปหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการสื่อสารด้วยหัวใจ ซึ่งเผยให้เรารู้ว่าเบื้องหน้าของการพูดจาที่ไม่เข้าหู หรือดูเหมือนเขาจะไม่ยอมเปิดโอกาสให้เราพูดบ้างนั้น มีเบื้องหลังเป็นความต้องการซึ่งเรามนุษย์ทุกคนนั้นมีร่วมกัน เป็นความต้องการพื้นฐานของการดำรงชีวิต และเป็นความต้องการที่สร้างสรรค์เติมเต็มความหมายของการใช้ชีวิต

กรณีของเธอกับคุณแม่นั้น เธอเล่าว่าทุกครั้งที่กลับไปเยี่ยมบ้านและจะจากมา แม่มักจะถามแกมบังคับกลายๆ ว่าจะเอาอะไรกลับไปทานบ้างไหม ส่วนเธอนั้นแสนลำบากใจและรำคาญใจ ต้องปฏิเสธทันควันทุกที เพราะของที่แม่จะให้ มันช่างไม่ถูกปากไปเสียทุกอย่าง ผมชี้เธอให้เห็นว่า นี่ไง ไม่สำคัญหรอกว่าของนั้นอร่อยไหม แต่เบื้องหน้าที่แม่ถามว่าจะเอาอะไรบ้าง มีเบื้องหลังคือการต้องการแสดงความรักและปรารถนาจะได้รับความรักจากลูก เป็นความต้องการพื้นฐานที่เธอก็มี และต้องการจากแม่เช่นเดียวกัน

คนที่รับหิ้วกล้วยมาให้ ยังเล่าความตามที่เธอฝากมาว่า วันที่จะกลับจากบ้านมาครั้งนี้ แม่ก็เอ่ยถามอีกครั้ง แต่ฉับพลันที่เธอจะบอกปัด เธอกลับนึกถึงเรื่องสื่อสารด้วยหัวใจในการอบรม ทันใดเธอมองไปที่แม่และเอ่ยว่า “เอาสิแม่” วินาทีนั้นเธอได้เห็นสายตาของแม่ที่เปลี่ยนไป เป็นแววตาที่ที่ปลื้มปิติดีใจ แม่รีบกระวีกระวาดจัดขนมผลไม้ใส่ถาดพร้อมอธิบายไปทีละอย่างว่ามีอะไรเป็นอะไรบ้าง ทั้งฟักแฟงแตงมะเขือ เธอที่ขึ้นรถเมล์มาทำงานขนของเหล่านี้มาด้วยแม้ลำบากแต่ก็อิ่มเอมด้วยความภูมิใจในแม่ของตน

“รู้อย่างนี้นะ จะทำแบบนี้ไปซะตั้งนานแล้ว นี่ถ้าไม่ได้ไปอบรมก็คงไม่ได้มีความสุขอย่างนี้” เธอฝากบอกมา และผมเชื่อว่าเธอได้เปิดประตูให้ความรักของเธอและแม่พรั่งพรูถึงกันแล้ว

เธอมีศักยภาพใหม่ในการใส่ใจและเข้าใจคนในครอบครัว ไปพ้นขีดจำกัดเดิมๆ เรียนรู้ที่จะดูแลคนที่เธอรักและคนที่รักเธอมากที่สุดในชีวิต สามารถดูแลแม่ในวาระของแม่ ไม่ใช่วาระของตน

มีดวงตาคู่ใหม่ จากหัวใจที่เปิดกว้าง

ผมเองเข้าใจแล้วว่าทำไมพี่สาวของผมจึงมีของกลับมาบ้านบ่อยๆ :-)



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔

นักศึกษารุ่นน้องคนหนึ่ง ทำไอโฟนรุ่นใหม่ล่าสุดหายไประหว่างจัดโครงการอบรมและเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ทางชีววิทยา สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ที่หาดเจ้าหลาว จ.จันทบุรี

ทีแรกเขาตัดใจแล้ว คิดว่าคงต้องแทงสาบสูญ หาไม่เจอแน่ ไปถามร้านอาหารที่คาดว่าลืมทิ้งไว้ พนักงานทุกคนก็บอกไม่มีใครเห็น เรียกว่าถอดใจแล้ว ถึงขนาดออกจากที่พัก เริ่มเดินทางกลับกันแล้ว

แต่พวกเราก็เพียรพยายามโทรศัพท์เข้าเครื่อง ตีรถกลับไปอีก แล้วช่วยกันหา และใช้แอพพลิเคชัน Find iPhone ในโทรศัพท์อีกเครื่องให้ระบุตำแหน่งโดยใช้ดาวเทียม จนกระทั่งหาเจอในที่สุด

หลังจากทีมค้นหาไอโฟนร่วมกันแสดงความยินดีแก่กันและกันไม่นาน รุ่นน้องคนนี้ก็เอ่ยถามว่า “อาจารย์ครับ ทำอย่างไรเราจึงจะมีสติตลอดเวลา ไม่หลงลืมล่ะครับ ผมพยายามนั่งสมาธิมานานแล้ว แต่ก็ไม่เห็นไปไหนเลยครับ?”

ผมนึกดีใจกับเขาว่านี่ดีจัง คงได้มากกว่าไอโฟนกลับมากระมัง

หลังจากนั้น คำถามพรั่งพรูมาจากรุ่นน้องคนนี้ เป็นบทสนทนาอย่างยาว

เราแลกเปลี่ยนความเข้าใจในเรื่องสติ สมาธิ และปัญญา

คุยกันว่าสติเป็นสิ่งที่เราสั่งให้เกิด บังคับให้มี ได้ไหม ถ้าไม่ได้ แล้วจะสร้างเงื่อนไขปัจจัยที่เอื้อให้เขาเกิดได้อย่างไร ที่ครูบาอาจารย์ว่าการจำอารมณ์ได้อย่างแม่นยำเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสตินั้นหมายความว่าอย่างไร อารมณ์เหล่านี้นี่หมายถึงอารมณ์ความรู้สึกใช่ไหม มีอะไรบ้าง ทำอย่างไรจึงจะจำได้แม่น ทำไมจำได้ เห็นแล้วแต่ก็ยังไม่หายจากความรู้สึก เช่น โมโห โศกเศร้า เหงา เซ็งเป็ด (แต่ไม่ยักเห็นคนถามว่าจะหายจากความรู้สึกดีๆ เช่น มัน ขำ สนุก ตื่นเต้น ได้อย่างไร)

เราแตะประเด็นว่าความคาดหวังในผลจากการปฏิบัติเป็นเรื่องธรรมดาพบเห็นได้ทั่วไปในหมู่นักปฏิบัติอย่างไร แล้วเราจะดูแลสิ่งนี้ ใช้เขาเป็นเครื่องเรียนรู้ลงไปในปัจจุบันอย่างไร การรู้ลงไปตรงๆ ในปัจจุบันหมายถึงอะไร

เขาว่าตัวเขาก็อ่านหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติมาบ้าง ทั้งของครูบาอาจารย์สายต่างๆ ก็พอเข้าหัวอยู่บ้าง แต่ทำไมดูเหมือนยังไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าใดนัก เลยได้คุยเรื่องความรู้ผ่านการอ่านและความรู้ผ่านการลงมือทำ

รวมไปถึงว่ามีสถานที่แห่งไหนที่น่าจะได้ไปเรียนรู้ ฝึกหัดทักษะเบื้องต้น เพื่อจะนำมาฝึกฝนต่อด้วยตนเองในชีวิตประจำวัน

บทสนทนายังดำเนินผ่านเรื่องราวอื่นๆ อีกมาก

นี่ก็เป็นเหตุการณ์ที่พบได้ทั่วไป บ่งบอกออกมาชัดเจนว่าผู้คนมักไม่ค่อยได้สนใจ ตั้งใจจะเรียนรู้นัก จนกระทั่งเกิดปัญหาขึ้นมาในระบบ เกิดความทุกข์เข้ามาในชีวิต

ก็คงจะจริง คนมีทุกข์จึงอยากเรียนวิธีพ้นทุกข์

ทุกข์ที่มาเยือนในแง่นี้ก็เสมือนหน้าต่างของโอกาสที่แง้มเปิดออก

แต่ในโลกไซเบอร์อย่างปัจจุบัน หน้าต่างของโอกาส หน้าต่างของความสนใจนี้มักปิดลงอย่างรวดเร็ว เพราะโลกหมุนเร็วขึ้น ภารกิจทางโลก (ดูเหมือน) จะมากขึ้น แถมต้องทำให้เสร็จลุล่วงภายในระยะเวลาที่สั้นลง คนทุกข์มักพากันใส่ใจกับการแก้ไขสถานการณ์ทางโลก คิดว่าหากดูแลปัจจัยอื่นๆ ภายนอกให้ดีแล้ว ความทุกข์ภายในคงไม่เกิด

หรือไม่ก็พากันไปค้นหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ทางโลก หลบไปเที่ยวบ้าง หาอะไรอร่อยทานบ้าง พอให้ลืมจากความทุกข์เดิม

ดังนั้นจะว่าไปเจ้าเครื่องไอโฟนที่ (เกือบ) หายก็นับว่าเป็นประโยชน์ไม่น้อย หากมันได้นำมาซึ่งข้อเตือนใจถึงความพร้อมของตนเองในการที่จะดูแลไม่เพียงแต่ทรัพย์สินภายนอกไม่ให้ตกหล่นสูญหาย แต่รวมถึงความพร้อมที่จะสร้างและดูแลอริยทรัพย์ภายใน ที่ไม่มีผู้ใดแย่งชิง ไม่สูญหายไปด้วยภัยอันตรายต่างๆ อีกทั้งยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้อย่างกว้างขวางได้อีกด้วย



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ หนังสือพิมพ์มติชน
ฉบับประจำวันที่ 11 มิถุนายน 2554

ไม่ว่าเราจะเป็นหญิง เป็นชาย หรือเพศที่สามสี่ห้า

ไม่ว่าเราจะกาเบอร์ไหน เสื้อสีอะไร

ไม่ว่าเราจะชอบเรยาหรือไม่ก็ตาม

มนุษย์ทุกคนมีความกรุณาเป็นพื้นฐาน

ข้างต้นเป็นคำโปรยในแผ่นประชาสัมพันธ์ของโครงการสร้างสรรค์สังคม “รินน้ำใจให้กัน” อ่านดูสี่บรรทัดข้างต้นแล้วเห็นชัดเจนถึงชุดความเชื่อของกลุ่มผู้อยู่เบื้องหลังไม่น้อย ว่ามีใจเปิดกว้าง ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ความคิดความเชื่ออย่างมาก มองข้ามเรื่องการเมืองแบบแบ่งสีแบ่งฝ่าย และเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีความดีงามเป็นพื้นฐาน

คนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้นี่แหละที่ชาวจิตวิวัฒน์พูดถึงอย่างสม่ำเสมอ โดยเชื่อว่าจะเป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่งในการกอบกู้อารยธรรมของมนุษยชาติ ที่กำลังเผชิญกับการท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ อาจจะครั้งสำคัญที่สุดตั้งแต่เราถือกำเนิดมาเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหรือสปีชีส์ใหม่ ที่เรียกว่า Homo sapiens เมื่อสองแสนปีมาแล้ว

วิกฤตที่อยู่เบื้องหน้าอาจจะนำมาซึ่งการสูญพันธุ์ หรือวิวัฒนาการที่จำเป็นเพื่อให้เราสามารถอยู่รอดได้ คือ เปลี่ยนจากยุคของการให้คุณค่ากับวัตถุไปสู่ยุคของการให้คุณค่ากับเรื่องของจิตใจ จิตวิญญาณ เป็นวิวัฒนาการของจิตไปสู่จิตวิญญาณ หรือตามที่ ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ เรียกว่าเป็น “ยุคแห่งจิตวิญญาณ” เป็นการเปลี่ยนผ่านของกระบวนทัศน์ใหม่ทางสังคม

การเปลี่ยนผ่านของกระบวนทัศน์ใหม่นี้ได้มีงานวิจัยและงานเขียนไว้จำนวนไม่น้อย อาทิ รายงาน Mankind at Turning Point และ The First Global Revolution โดยคลับแห่งโรม (Club of Rome) หนังสือ The Great Turning: From Empire to Earth Community โดย เดวิด กอร์เต็น (David Korten) รายงาน Shift Report และหนังสือ Global Shift: How a New Worldview Is Transforming Humanity โดยสถาบันโนเอติกซายน์ (Institute of Noetic Sciences) รวมถึงงานเขียน ยุทธศาสตร์รัตนโกสินทร์ โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี และ สู่มิติที่ห้า โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ

การเปลี่ยนผ่านนี้ เป็นกระบวนการที่ต้องการผู้ช่วยจำนวนไม่น้อย อาจจะหลายร้อยล้านคนทีเดียว ทั้งสำหรับการทำหน้าที่ดูแลการจากไปของกระบวนทัศน์เก่าที่ไม่สามารถอธิบายหรือแก้ไขโจทย์ที่ซับซ้อนเช่นในปัจจุบัน และการเตรียมทำคลอดกระบวนทัศน์ใหม่

แล้วคนจำนวนมากมายเช่นนี้จะมีลักษณะร่วมกันอย่างไร

พอล เอช เรย์ (Paul H. Ray) นักสังคมวิทยา และ เชอร์รี่ รูธ แอนเดอร์สัน (Sherry Ruth Anderson) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ทำการสำรวจวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าชาวตะวันตกสามารถแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มประเพณีนิยม (Traditionals) กลุ่มทันสมัย (Moderns) และกลุ่มสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม (Cultural Creatives) กลุ่มสุดท้ายนี้เป็นคนที่ไปพ้นจากกระบวนทัศน์มาตรฐานเดิม คือ พ้นจากความเชื่อสองขั้ว เช่น ประเพณีนิยม-ทันสมัย หรือ อนุรักษ์นิยม-หัวก้าวหน้า

ผลสำรวจเมื่อปีค.ศ.๑๙๙๙ พบว่าในสหรัฐอเมริกา มีประชากรกลุ่มประเพณีนิยม อยู่ประมาณ ร้อยละ ๒๔.๕ กลุ่มทันสมัยประมาณร้อยละ ๔๘ และกลุ่มสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมประมาณร้อยละ ๒๖ หรือห้าสิบล้านคน (ในขณะที่ยุโรปมีประมาณ ๘๐-๙๐ ล้านคน) (The Cultural Creatives: How 50 Million People Are Changing the World) และจากผลสำรวจเมื่อปีค.ศ.๒๐๐๘ ประชากรกลุ่มนี้ในอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๓๔ หรือประมาณแปดสิบล้านคนแล้ว

กลุ่มสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมคือ กลุ่มที่เรย์และแอนเดอร์สันให้ความสนใจอย่างยิ่ง กลุ่มนี้มักมีคุณลักษณะ เช่น รักธรรมชาติ ใส่ใจ ให้คุณค่ากับการอนุรักษ์ เป็นกังวลกับการทำลายธรรมชาติที่เกิดขึ้น ตระหนัก ใส่ใจกับประเด็นในระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การเพิ่มประชากรมากเกินไป และต้องการให้มีการแก้ไข เช่น ลดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ยินดีที่จะจ่ายภาษีมากขึ้นหรือจ่ายมากขึ้นสำหรับสินค้าหากว่าเงินนั้นใช้ในการบำรุงสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญมากกับการพัฒนาและดูแลความสัมพันธ์ ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้อื่น และช่วยให้ได้พัฒนาคุณสมบัติที่แต่ละคนมี มีจิตอาสาช่วยเหลือในประเด็นที่ดี

ในด้านการเมือง กลุ่มนี้ไม่พอใจกับการเมืองแบ่งแยก แบ่งสี แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซ้ายขวา แต่ไม่ต้องการเป็นฝ่ายตรงกลางที่ไม่ชัดเจน ไม่มีจุดยืน

เป็นพวกที่ให้ความสนใจมากกับการพัฒนาด้านจิตวิทยาและจิตวิญญาณ เห็นว่าเรื่องจิตวิญญาณเป็นส่วนสำคัญของชีวิต ต้องการความเสมอภาคในงาน ระหว่างหญิงชาย และการมีผู้นำที่เป็นสตรีในภาคธุรกิจและการเมือง ห่วงใยเรื่องความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ต้องการให้ภาคการเมืองและรัฐบาลลงทุนเพิ่มเติมในด้านการศึกษา โครงการชุมชน และเพื่อสนับสนุนอนาคตที่มีความยั่งยืนด้านนิเวศ เป็นห่วงวิธีการที่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไร รวมถึงการทำลายธรรมชาติและแสวงหาประโยชน์จากประเทศที่จนกว่า สามารถดูแลเรื่องการเงินและค่าใช้จ่ายได้ ไม่ชอบค่านิยมสังคมทันสมัยที่เน้นความสำเร็จ การหาเงิน และการจับจ่ายบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย แต่ชอบผู้คน สถานที่ที่แตกต่าง ชอบมีประสบการณ์และเรียนรู้จากวัฒนธรรมอื่น

พวกเขามักมองโลกอนาคตในแง่ดี และต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์วิถีดำเนินชีวิตที่ใหม่และดีขึ้น

คุณค่าหลักที่กลุ่มนี้ยึดถือ คือ การเสียสละเพื่อผู้อื่น การตื่นรู้และตระหนักในตนเอง การพัฒนาด้านจิตวิญญาณ และการร่วมลงมือปฏิบัติการในภาคสังคม

ชาวจิตวิวัฒน์เชื่อว่ากลุ่มสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมที่มีคุณสมบัติเหล่านี้คือคนที่จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านของกระบวนทัศน์ใหม่เป็นไปได้ และเป็นไปได้เร็วขึ้น

และเราอาจเห็นตัวอย่างจากหมู่เพื่อนที่ให้เกียรติมาเยี่ยมเยียนกลุ่มจิตวิวัฒน์ ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา พวกเขาได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านกระบวนทัศน์ใหม่ในชีวิตจริงที่มีรูปธรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ประมวล เพ็งจันทร์ เตือนใจ ดีเทศน์ โจน จันได รสนา โตสิตระกูล ภิกษุณีนิรามิสาจากหมู่บ้านพลัม พะตีจอนิและพฤ โอ่โดเชา ชาวปกาเกอะญอ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ประภาภัทร นิยม ยุค ศรีอาริยะ เดชา ศิริภัทร วัลลภา แวน วิลเลี่ยนส์วาร์ด วรภัทร์ ภู่เจริญ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ นารี เจริญผลพิริยะ สุมาลี นิมมานิตย์ พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง กรรณจริยา สุขรุ่ง กรินทร์ กลิ่นขจร กลุ่มหรี่เสียงกรุงเทพ มุทิตา พานิช สิวินีย์ สวัสดิ์อารี วนิสา สุรพิพิธ ชลลดา ทองทวี มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ ศุภลักษณ์ ทัดศรี กัญญา ลิขนสุทธิ์ เป็นต้น

โครงการ “รินน้ำใจให้กัน” ในตอนต้นของบทความก็เป็นอีกหนึ่งความพยายามในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมในกระบวนทัศน์ใหม่ของ กัญญา ลิขนสุทธิ์ และเพื่อนๆ กลุ่ม “เพื่อนภาวนา” ซึ่งเป็นกลุ่มของหนุ่มสาวต่างศาสนา และไม่มีศาสนา (แต่สนใจด้านจิตวิญญาณ) ที่ชักชวนกันภาวนาทุกวัน (บ้างก็เรียกเจริญสติ นั่งสมาธิ สมถะวิปัสสนา เดินจงกรม) โดยเชื่อว่าการภาวนาเป็นรากฐานของการเกิดความมีสติ ระลึกรู้ ซึ่งเป็นปัจจัยของการใช้ชีวิตและตัดสินใจอย่างมีปัญญา พวกเขาเชื่อว่าการภาวนาเป็นการแสดงออกอย่างสันติ สร้างสรรค์ ช่วยให้เรามีเวลาที่ช้าลง ตระหนักว่าเราจะนำพาตนและทุกๆ คน (ไม่เว้นแม้คนที่เราไม่เห็นด้วย) ไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ด้วยความรัก ความเข้าใจได้อย่างไร หัวใจคือการเข้าไปสร้างและสัมผัสสันติภาพภายในใจตนเองก่อน เป็นสันติภาพภายในที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา

โครงการนี้เชิญชวนให้ผู้คนในสังคมมาทอดสะพานความกรุณาด้วยการรินน้ำใจให้กัน ไม่ว่าจะเป็นการให้คนในครอบครัว ครูบาอาจารย์ เพื่อน เพื่อนร่วมงาน คนที่เราเพิ่งรู้จัก คนแปลกหน้า คนที่เราไม่ชอบไม่เห็นด้วย คนที่เรามีอคติ และให้ตัวเองด้วย

เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ นี้ ขอให้เราแต่ละคนได้หาโอกาสรินน้ำใจกันอย่างน้อยคนละสามครั้ง ในแต่ละสัปดาห์โดยมีรูปธรรม คือ ให้สิ่งของ ให้คำขอบคุณหรือกำลังใจ ให้คำชื่นชม และให้อภัย ตามลำดับ และเมื่อรินน้ำใจเสร็จแล้ว ทางกลุ่มเชิญมาแบ่งปันเรื่องราวกันที่ facebook : เพื่อนภาวนา

หากเราได้กลับไปลองอ่านคำโปรยสี่บรรทัดก็จะเห็นว่าสอดคล้องกับคำอธิบายของกลุ่มสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมอย่างยิ่ง

และภารกิจช่วยเปลี่ยนผ่านของกระบวนทัศน์ใหม่ก็อาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการ “รินน้ำใจให้กัน” เช่นนี้เอง

ภาวนากับเพื่อน



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๔

เคยตั้งใจจะภาวนาทุกวันไหมครับ

แล้วทำได้ตามตั้งใจไหมเอ่ย

ถ้าทำได้ ก็ขอแสดงความยินดีและอนุโมทนาด้วยใจจริงนะครับ

แต่ถ้าไม่ได้ แล้วมีคำตอบให้ตนเองไหมครับ ว่าทำไมจึงทำไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง

ผมคาดว่าสาเหตุของคนจำนวนไม่น้อย คือ ตั้งใจไว้คนเดียว แล้วก็ทำคนเดียว

เมื่อมีงานยุ่งหน่อย เลิกดึกหน่อย งานเลี้ยงค่ำหน่อย หรือมีบางอย่างที่เราบอกตนเองว่านี่ก็สำคัญนะ แล้วเราก็ยกเว้นการภาวนาที่ตั้งใจไว้สักวัน บางครั้งก็หลายวัน นานวันเข้าก็ fail และหยุดไปเอง

ผู้รู้จำนวนไม่น้อยได้เคยเอ่ยถึงความสำคัญของเพื่อนร่วมการปฏิบัติไว้อย่างมาก บ้างถึงกับเทียบว่าการมีเพื่อนที่ดีนั้นเท่ากับทั้งหมดของการครองชีวิตอันประเสริฐเลยทีเดียว

หากใครคิดจะภาวนาทุกวัน ขอแนะนำให้รู้จักกับกลุ่ม “เพื่อนภาวนา” ครับ

เพื่อนภาวนาเป็นกลุ่มของเพื่อนๆ ต่างศาสนา และไม่มีศาสนา ที่ชักชวนกันภาวนาทุกวัน (บ้างก็เรียกหรือเข้าใจว่า เจริญสติ นั่งสมาธิ สมถะวิปัสสนา หรือเดินจงกรมก็ได้)

โดยเชื่อว่าการภาวนาเป็นรากฐานของการเกิดความมีสติ ระลึกรู้ ซึ่งเป็นฐาน เป็นปัจจัยของการใช้ชีวิตและตัดสินใจอย่างมีปัญญามากขึ้น ในสถานการณ์ยากๆ ทางการเมือง ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับฝ่ายใด หรือไม่เห็นด้วยกับฝ่ายใดก็ตาม รวมถึงในสถานการณ์ยากๆ ทางสภาพแวดล้อม ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อม ไม่ว่าเราจะเชื่อว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตหรือไม่ก็ตาม

ภาวนาเป็นการแสดงออกอย่าง active สันติ สร้างสรรค์ ช่วยให้เรามีเวลาที่ช้าลง มีสติ ตระหนักว่าเราจะนำพาตนและทุกๆ คน (ไม่เว้นแม้คนที่เราไม่เห็นด้วย) ไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ด้วยความรัก ความเข้าใจได้อย่างไร การช่วยให้เรามีทีท่าที่เหมาะสมว่าจะอยู่กับความทุกข์หรือปัญหาได้อย่างไร มีอะไรบ้างที่เราควรทำ/ไม่ควรทำ มีอะไรบ้างที่เราต้องทำ/ต้องไม่ทำ

หัวใจของการภาวนา คือ การเข้าไปสร้างและสัมผัสสันติภาพภายในใจตนเองก่อน เป็นสันติภาพภายในที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา

กลุ่มเพื่อนภาวนานัดมาปฏิบัติร่วมกันทุกวัน ตั้งแต่คราวชาวเสื้อแดงชุมนุมที่ราชประสงค์เมื่อปี ๒๕๕๓ โดยในช่วงเหตุการณ์นั้นก็ใช้สถานที่ของสวนเบญจสิริและบ้านเซเวียร์ และหลังจากนั้นก็อาศัยสถานที่ส่วนตัว ตามอัธยาศัย แต่ก็นัดแนะ ช่วยเหลือ สนับสนุนกันในการเดินทางที่มีของล่อ กับดัก และหลุมพรางของโลภะ โทสะ โมหะต่างๆ

ย่างเข้าสู่เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ นี้ เข้าใกล้เทศกาลยุบสภา หาเสียง และเลือกตั้ง ผู้คนอาจจะอยู่ในสภาวะตึงเครียด อีกทั้งยังมีข่าวเกี่ยวกับภัยพิบัติมาอย่างไม่หยุดหย่อน กลุ่มเพื่อนภาวนาได้จัดโครงการรณรงค์ “Med for a Month” Med นี้ที่มาจากคำว่า Meditation นั่นเอง เรารณรงค์เพื่อชักชวนเพื่อนๆ ในเครือข่าย และเพื่อนใหม่ ทุกเพศ ทุกวัย มาพร้อมใจภาวนาร่วมกันอีกทุกวัน โดยจะภาวนาที่ไหนก็ได้ซึ่งเป็นสถานที่สงบและเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติของตัวเราเอง

เพื่อนๆ ได้เริ่มภาวนากันอย่างง่ายๆ สบายๆ ไม่คาดหวัง กันตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม และตั้งใจไว้ว่าจะทำต่อเนื่องกันอย่างน้อยสี่สัปดาห์ มีประเด็นร่วมกันใคร่ครวญในแต่ละสัปดาห์ ดังนี้

สัปดาห์ที่ ๑ ภาวนาวันละ ๑๕ นาที สัปดาห์แห่งความรัก - เมตตา

สัปดาห์ที่ ๒ ภาวนาวันละ ๒๐ นาที สัปดาห์แห่งความปรารถนาดี - กรุณา

สัปดาห์ที่ ๓ ภาวนาวันละ ๒๕ นาที สัปดาห์แห่งความยินดี - มุทิตา

สัปดาห์ที่ ๔ ภาวนาวันละ ๓๐ นาที สัปดาห์แห่งความไว้วางใจ – อุเบกขา

(แต่หากทำไม่ได้ทุกวัน หรือไม่ตามเวลาข้างต้นก็ไม่เป็นไรนะครับ หัวใจคือได้เป็นเพื่อนร่วมเดินทางกัน ได้ลอง ได้ลงมือด้วยกันครับ)

และหลังจากที่แต่ละคนได้ภาวนาในแต่ละวัน ขอเชิญชวนเข้ามารายงานตัวและแลกเปลี่ยนกันได้ที่เฟซบุ๊ก facebook หน้า “เพื่อนภาวนา” หรือ twitter ที่ “@siambhavana”

เป็นการเชื่อมโยงชุมชนในโลกจริงกับชุมชนออนไลน์เข้าด้วยกัน เชื่อมร้อยทุกหัวใจและความตั้งใจงามด้วยการเข้ามาเล่าสู่กันฟัง ถึงประสบการณ์ ซักถาม ตอบข้อสงสัย ตลอดจนเป็นกำลังใจให้กับการเดินทางซึ่งกันและกัน และที่สำคัญที่สุด ก็คือ เป็นเพื่อนกัน

เพื่อนๆ หลายคนบอกว่าตนผัดผ่อนมานาน ทำๆ เลิกๆ มาได้ลงมือจริงจัง ก็งานนี้แหละ

มาเป็นภาวนาเป็นเพื่อนกันนะครับ :-)



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๔

“สวัสดีค่ะ บริษัททรู ยินดีให้บริการค่ะ”

“สวัสดีครับ ไม่ทราบว่าผมพูดสายอยู่กับคุณอะไรครับ?”

ผมเริ่มบทสนทนาเพื่อขอติดตั้งโทรศัพท์พื้นฐานและอินเตอร์เนทกับพนักงานคอลเซนเตอร์ของบริษัท ด้วยการถามชื่อของพนักงาน

การติดต่อทางโทรศัพท์กับพนักงานบริการลูกค้าเป็นเรื่องที่หลายคนอิดหนาระอาใจ

ผมเองตอนอยู่ต่างประเทศก็มีประสบการณ์ทำนองนี้ไม่น้อย เพราะการติดตั้ง เปลี่ยนแปลง ยกเลิกบริการสาธารณูปโภคและอื่นๆ ก็ล้วนทำผ่านทางโทรศัพท์ เรียกว่าเน็ทแรง ประปาไหล ไฟฟ้าติด โดยแทบไม่ต้องเจอหน้าคนเป็นๆ เลย ก็เลยมีประสบการณ์แย่ๆ และยากๆ ทางโทรศัพท์อยู่บ้าง

เมื่อปรึกษาเพื่อนๆ เจ้าของประเทศ เขาก็มักจะโทษปลายสายว่านี่แหละเป็นเพราะ outsource จ้างแรงงานภายนอก จนเป็นที่รู้กันว่าถ้าอยากจะได้รับบริการที่ดี (กว่า) ก็ให้ถามชื่อเสียงเรียงนามของพนักงานไว้เลยตั้งแต่เริ่มต้นคุย มีเรื่องอะไรก็จะติดตาม อ้างอิงกันได้ถูก “พวกเนี้ยไม่รู้เรื่องอะไร หากเราจะเอาอะไรต้องทำเป็นโมโห พูดเสียงดังๆ โวยวายๆ เรียกร้องให้มากเข้าไว้ ถึงจะได้”

ผมได้ลองพูดจาทางโทรศัพท์แบบคนท้องถิ่นดู ปรากฏว่าได้ผลจริงๆ ติดต่ออะไรดูเหมือนจะสำเร็จ พนักงานทำตามให้ได้เสมอๆ

เมื่อมาลองใช้ที่ไทยก็ได้ผลคล้ายกัน เพียงแต่ผลไม่ได้เกิดในบริการที่อยากได้เท่านั้น ยังเกิดกับตัวเองด้วย

ผลที่สังเกตเห็นคือวางสายโทรศัพท์แล้วใจมักจะเต้นแรง เลือดขึ้นหน้า เหมือนไปรบทัพจับศึกกับใครมา บางครั้งต้องรออยู่เป็นสิบนาทีกว่าจะกลับมารู้สึกเป็นปรกติ หลายครั้งก็มีความรู้สึกผิดปนงงๆ สงสัยมาด้วย ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ได้คุ้มกับที่เสียไปหรือไม่ ตั้งคำถามกับตนเองว่าเพื่อบริการที่ได้เพิ่มขึ้นมานิดหนึ่ง (ใช่ว่าจะดีกว่าเสมอไป) เราถึงกับยอมเสียจิตวิญญาณเชียวหรือ

ระยะหลังก็เลยเลิกขึ้นเสียงกับปลายสาย ยอมใช้เวลามากกว่านิดหน่อย พยายามฟังและสื่อสารให้มากขึ้น เอาเท่าที่ได้ นิดๆ หน่อยๆ ก็ปล่อยไป หากรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบมากก็เปลี่ยนบริษัทแทน แต่ก็ยังมีความคุ้นเคยเดิมๆ เรื่องการถามชื่อพนักงานติดมาอยู่

รอบนี้ปลายสายบอกว่าชื่อคุณสุจินต์

ผมใช้เวลาอยู่ในสายกับคุณสุจินต์ประมาณสิบกว่านาทีเพราะมีเรื่องสอบถามเรื่องโปรโมชั่น บริการเสริม นัดหมายติดตั้ง และอื่นๆ อยู่มาก บางครั้งที่เธอให้ถือสายรอ เพื่อไปถามแผนกอื่นขอข้อมูลมาให้ เมื่อเห็นว่าอาจจะต้องรอนานเธอก็ขอเบอร์ติดต่อและบอกว่าจะติดต่อกลับ ผมให้เบอร์ไปแต่ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะเคยมีพนักงานที่ว่าจะติดต่อกลับ แต่รอแล้วรออีกก็ไม่โทรมา ต้องโทรไปเริ่มดำเนินการใหม่หมด

แต่คุณสุจินต์เธอรักษาคำพูด โทรกลับมา สามารถตอบคำถามและช่วยจัดการต่างๆ ตามที่ผมต้องการได้หมด แถมบางอย่างเธอก็ช่วยเหลือให้เพิ่มเติม มากกว่าที่มักจะได้รับจากพนักงาน คอลเซนเตอร์ธรรมดาทั่วไป

เป็นการติดต่อทางโทรศัพท์ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่ง ถึงขนาดเมื่อผมเล่าให้คนที่บ้านฟังยังออกปากชมว่าบริการเยี่ยม

ผมรู้สึกดีที่ได้รับบริการที่ดี แต่ที่สำคัญกว่าคือได้มีความสัมพันธ์ที่ดี กับมนุษย์อีกคนหนึ่งที่อีกปลายของสายโทรศัพท์ ดีใจที่ได้ถามชื่อและเรียกชื่อเธอทุกครั้งที่มีโอกาส

พนักงานเขาให้เกียรติเรียกชื่อเราได้ เราก็น่าจะสามารถให้เกียรติและเรียกชื่อเขาได้เช่นกัน ให้ความรู้สึกดีกว่าที่ได้สนทนาติดต่อกับคนจริงๆ มากกว่า ได้ติดต่อกับพนักงานหมายเลขนั้นหมายเลขนี้

ตลอดเวลาการสนทนา น้ำเสียงเธอแจ่มใส พูดจาไพเราะ ฟังดูยินดีให้บริการมาก

น่าภูมิใจแทนบริษัทที่มีพนักงานที่ทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีเหมือนเป็นมูลค่าเพิ่ม

ผมไม่ทราบว่าบริษัทดูแลพนักงานอย่างไร แต่มองโลกในแง่ดีว่าบริษัทนี้ก็คงจะดูแลพนักงานดีในระดับหนึ่ง จึงทำให้เธอมีความสุขและพร้อมจะแบ่งปันบริการที่ดีให้ลูกค้า

ลูกค้าเองหากเรียกขานชื่อในฐานะที่เธอเป็นเพื่อนมนุษย์ เป็นคนผู้มีเลือดเนื้อหัวใจ เมื่อให้เกียรติแก่ผู้ให้บริการ เธอก็คงให้เกียรติและยินดีช่วยเหลือลูกค้าในฐานะเพื่อนมนุษย์เช่นกัน ไม่ใช่บริการไป ในใจก็เกรงกลัวไป

โลกนี้คงจะน่าอยู่ขึ้นมาก หากเราส่งเสริมให้คนดูแลกันและกัน สนับสนุนบริษัทองค์กรห้างร้านต่างๆ ดูแลพนักงานให้ดี มีความสุขกายสบายใจ ดูแลและปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติในความเป็นมนุษย์ ส่งต่อและรับมอบความเอาใจใส่กัน เพราะเราได้รับการดูแลอย่างดี เราจึงมอบการดูแลที่ดีนี้ให้เช่นเดียวกัน

มีครูคือมีราก



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๔

ขณะเดินลงจากศาลาวัดป่าบ้านตาด ด้านล่างมีรูปพ่อแม่ครูจารย์ หลวงตามหาบัว พร้อมคำพูดของท่าน “ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา เราจะไม่กลับมาเกิดอีกตลอดอนันตกาล” ใจที่รู้สึกอาลัย กลับรู้สึกฮึกเหิมขึ้นมาทันที ผมรู้ในใจทันทีว่านี่แหละคือที่สุด (peak) ของการเดินทางมาอุดรธานีในช่วงเวลาแค่ ๒๔ ชั่วโมงเที่ยวนี้

การได้ไปกราบลาพ่อแม่ครูจารย์ เป็นกิจหนึ่งในชีวิตที่ผมทำแล้วรู้สึกชื่นใจ สบายใจ ทำให้ใจมีพลัง เป็นกิจที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับชีวิต

กิจที่ทำนี้มีคุณค่า เพราะเกี่ยวเนื่องด้วยครูบาอาจารย์ของเรา

กิจที่ทำนี้มีความหมาย เพราะมันชี้ว่าเราเป็นคนมีครู

การมีครูบาอาจารย์เป็นส่วนสำคัญในการเติบใหญ่ของเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูบาอาจารย์ทางด้านจิตวิญญาณนั้นมีคุณค่ามีความหมายต่อชีวิตมาก เพราะว่าท่านไม่ได้ทำให้เรามีแค่เพียงความรู้เท่านั้น

หากเฉพาะส่วนของความรู้ ผมนึกถึงคำกล่าวอันโด่งดังของชาวตะวันตกที่ว่า “ยืนอยู่บนบ่าของยักษ์” (Stand on the shoulders of giants) หากใครเคยไปยังเกาะอังกฤษอาจจะได้เห็นข้อความนี้เขียนอยู่บนเหรียญสองปอนด์สเตอร์ริงด้วย คำกล่าวนี้ถูกทำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายโดยเซอร์ไอแซค นิวตัน ผู้ค้นพบทฤษฎีแรงโน้มถ่วงและวางพื้นฐานของกลศาสตร์คลาสสิก มีหมายความว่าคนรุ่นหลังสามารถพัฒนาความรู้เพิ่มเติมได้มากขึ้นได้ก็เพราะมีความเข้าใจในงานและผลงานวิจัยอันเป็นผลงานที่มีมาก่อนหน้าจากนักคิดนักค้นคว้าในอดีต

แต่สำหรับครูบาอาจารย์นั้น ท่านไม่ใช่เพียงแค่ทำให้เรามีความรู้ ท่านยังเป็นแนวทางคำตอบให้เราด้วย บางครั้งเราเจอสถานการณ์รุนแรง ยากๆ ในชีวิต เมื่ออยู่ในวังวนของเหตุการณ์ อาจงงเป็นไก่ตาแตก นึกไม่ออก ไปไม่เป็น การมีครูบาอาจารย์คือโอกาสที่ได้ไปปรึกษา หรือถึงแม้ท่านไม่อยู่แล้ว ท่านก็ยังเป็นแรงบันดาลใจ เป็นช่องทางที่เราเข้าไปค้นหาคำตอบในตัวเรา เพียงแค่เรานึกว่า หากเป็นท่านล่ะ ท่านจะทำอย่างไร การนึกถึงครูบาอาจารย์ในสถานการณ์ยากลำบาก ทั้งทำให้เราสงบลง ให้เวลากับการใคร่ครวญพิจารณา และเป็นโอกาสทบทวนคำสอน และตัวอย่างการใช้ชีวิตของท่านซึ่งเราเคารพ

การระลึกได้ว่าเราเป็นคนมีครู ทำให้เราดำเนินชีวิตอย่างมีรากฐานที่เราเชื่อมั่นศรัทธา ไม่ว่าในช่วงเวลาสถานการณ์ใดที่เราได้เผชิญ ย่อมมีพลังโน้มนำให้เราละอายและเกรงกลัวต่อการกระทำที่ไม่ดีมากขึ้น

ความกตัญญูระลึกถึงบุญคุณของท่าน ก็อาจเป็นพลังที่มาช่วยชีวิตของเราได้ทันท่วงทีก็เป็นได้ เป็นพลังช่วยจรรโลงจิตใจและบ่มเพาะกุศลในจิต ไม่ให้ชีวิตเราตกไปสู่ที่ต่ำ

ความเป็นคนมีครู เป็นผู้ตระหนักในการมีรากของตนนั้น ทำให้เราเป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้เราไม่หลงอหังการ์ ว่าไม่ใช่เราเก่งคิดเอง เหมือนอย่างที่ฝรั่งหรือเด็กสมัยใหม่ที่มั่นใจในตัวเองจัด จนมักคิดว่าฉันเก่ง ฉันคิดได้เอง หลงไปว่าการคิดวิเคราะห์และข้อสรุปของตนนั้นเป็นที่สุด

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้เล่าเรื่องความหมายของการมีครูบาอาจารย์ที่เราเคารพนับถือให้กับบรรดาลูกศิษย์และรุ่นน้องฟัง ใช้เวลาค่อยๆ อธิบายให้เขาเห็นว่าสายการปฏิบัติที่เขาได้มีประสบการณ์นั้น มีที่มาที่ไป เปรียบเหมือนคนที่อยู่ปลายน้ำได้ใช้น้ำที่สะอาดชื่นใจ เพราะมีตาน้ำบริสุทธิ์ใสให้กำเนิดเป็นต้นธารอยู่บนเขา

ถ้านับจากพ่อแม่ครูจารย์แล้ว พวกเขาอาจจะนับเป็นศิษย์รุ่นที่สี่แล้ว ในขณะที่ถัดขึ้นไปจากท่านก็มีพระอาจารย์มั่น และสามารถย้อนกลับไปถึงสองพันกว่าปี หรือมากกว่านั้นเสียด้วยซ้ำ

คนมีครูก็คล้ายดั่งต้นไม้มีราก ต้นไม้ที่มั่นคงสูงใหญ่ขึ้นไปเหนือพื้นดินเท่าใด ก็ยิ่งต้องมีส่วนที่หยั่งรากลงลึกมากขึ้นเท่านั้น

รักจี๊ดๆ



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

มีวิธีการอะไรบ้างที่เราทำเพื่อให้เราได้รับความรัก?

มีรูปแบบการกระทำไหนบ้างที่เราใช้แสดงออกถึงความรัก?

ในบรรยากาศวันวาเลนไทน์แบบนี้ วิธีการพื้นฐานที่ทุกคนเข้าใจร่วมกัน ไม่ค่อยมีใครเข้าใจผิดก็เช่น ติดสติกเกอร์สีแดงรูปหัวใจให้กัน ซื้อดอกกุหลาบสีแดงมาให้ ซื้อชอกโกแลตมาฝาก ดอกกุหลาบยิ่งใหญ่ ชอกโกแลตกล่องยิ่งโต แปลว่ายิ่งรักมาก

แต่ว่าในชีวิตประจำวันและแต่ละวันนั้น เราต่างคนล้วนมีวิธีการหรือการแสดงออกอันแตกต่างหลากหลายกันมาก ขณะที่น้อยคนนักจะสามารถเข้าใจในสิ่งที่เราทำให้แก่เขา ว่านี่แหละรัก

คนจำนวนมากจึงโกรธกัน โมโหกัน เกลียดกัน ก็เพราะไม่เข้าใจในวิธีการในการกระทำแสดงออกเนื่องจากต้องการมอบความรัก หรือต้องการร้องขอความรักจากอีกฝ่ายหนึ่ง

นักศึกษาหญิงคนหนึ่ง จิตใจอ่อนโยน เธออ่อนไหวต่อความรู้สึกของผู้คน พยายามจะดูแลคนใกล้ชิดทุกคน แต่คนที่เธอมักจะทำให้เขาเซ็งได้บ่อยๆ คืออาจารย์ผู้สอนนี่เอง เพราะเธอแทบไม่ยอมตอบ ไม่ยอมพูดอะไรในชั้นเรียนเลย ไม่ว่าไม้อ่อนหรือว่าไม้แข็ง เรียกก็แล้ว ชวนก็แล้ว ขู่ก็แล้ว

แต่ใครจะรู้ว่าที่เธอเงียบ ไม่ตอบคำถาม นั่นเป็นการกระทำสื่อว่าเธอต้องการได้รับความรัก ไม่ใช่ว่าเธอไม่พยายาม เธอพยายามมาก แต่เมื่อไม่รู้คำตอบจริงๆ และก็อยากจะเอาใจอาจารย์ แต่ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร ตอบผิดไปก็เกรงว่าจะไม่เป็นที่รัก เลยทำเฉย นิ่งไว้ดีกว่า

เราทุกคนต้องการความรักจากคนอื่น แต่เรากลับอยากให้คนที่เรารักแสดงออกถึงความรักในวิธีการของเราเท่านั้น เหมือนกรณีนักศึกษาอยากให้อาจารย์รัก ก็เลยไม่ตอบถ้าไม่แน่ใจ ส่วนอาจารย์ก็หงุดหงิดไม่พอใจ เพราะนักศึกษาไม่ได้แสดงออกในวิธีการตนเอง คือการตอบทุกคำถาม ทั้งชั้นเรียนเลยอึดอัดอึมครึม ไร้บรรยากาศของความรัก

เราชอบแสดงความรักในรูปแบบวิธีการของเรา แต่หากเขาไม่เข้าใจ ไม่สามารถมองเห็นความรักที่อยู่ในวิธีการของเรา เราก็เศร้าเสียใจ น้อยใจ หรือพาลโกรธไปอีก

นักศึกษาชายอีกคน จิตใจงดงาม คุณค่าที่เขามีในชีวิตคือการช่วยเหลือผู้อื่น ขอให้เขาได้ทราบเถอะว่ามีใครกำลังเดือดร้อนเรื่องอะไร หากไม่เป็นเรื่องเหลือบ่ากว่าแรง ไม่สุดวิสัยแล้วล่ะก็เขาจะพยายามเต็มที่ เขาจึงเป็นที่รักของเพื่อนๆ

แต่สำหรับคุณแม่ของเขาเอง บางครั้งเขาก็ทำให้แม่จี๊ดมากๆ ด้วยการไว้ผมยาว ปล่อยหนวดเครารุงรัง ทั้งๆ ที่ก็ทราบว่าคุณแม่ไม่ปลื้มอย่างยิ่ง สาเหตุเพราะน้อยใจที่คุณแม่มักจู้จี้จุกจิกบังคับ เขาทำตัวอย่างนี้เพื่อส่งสัญญาณบอกให้แม่แสดงความรักในวิธีการแบบของเขา ไม่ใช่แบบของแม่ สุดท้ายเซ็งกันไปทั้งสองฝ่าย ทั้งที่ลึกๆ ทั้งคู่ก็รู้กันอยู่ว่ามีความรักให้กัน

คล้ายกับที่ผมเคยจี๊ดคุณพ่อ “นี่ เช็คน้ำมันเครื่องหรือยัง” ท่านมักจะถาม พอได้ยินคำถามนี้เท่านั้น โอ๊ย ... มันจี๊ดครับ “นี่ก็เพิ่งจะเช็คให้ดูไปเมื่อไม่กี่วันมานี่เองไง จำไม่ได้หรือไง” ผมนึกในใจ แต่ปากบอกออกไปว่า “เช็คแล้วครับ” เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก เรียกว่าแทบจะสัปดาห์ละหลายๆ ครั้ง เดี๋ยวถามเรื่องเช็คลมยางบ้าง เติมน้ำมันบ้าง เช็คน้ำกลั่นหม้อแบตเตอรี่บ้าง น้ำที่ปัดน้ำฝนบ้าง เล่นเอาผมมึนไปบ้างบางครั้ง โดยเฉพาะตอนรีบๆ เพราะเกรงว่าจะไปทำงานสาย ผมเคยสงสัยว่าคุณพ่อเป็นอัลไซเมอร์หรือความจำเลอะเลือนหรือเปล่า ถึงได้ถามบ่อยๆ เกือบทุกวัน ไม่เบื่อบ้างหรือไง ผมยังเบื่อเลย

ไม่กี่ปีมานี้ถึงเข้าใจ ก่อนหน้านี้ผมไม่เห็นเลยว่านั่นเป็นวิธีบอกรักบอกความใส่ใจของคุณพ่อ

ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าความไม่เข้าใจและอาการจี๊ดจะลดลงหรือหมดไปได้ หากเราหมั่นฝึกฝนมองและเตือนตนเองอยู่เสมอๆ ว่าคนเรานั้นมีหลายวิธีการที่จะสื่อสารความรัก เราต้องเปิดโอกาสให้ตนเองได้เข้าถึงและสามารถรับความรักจากผู้อื่นในหลากหลายรูปแบบ เราจะไม่บังคับหรือคาดหวังให้เขาส่งความรักมาเฉพาะในช่องทางที่เราเลือก

ดูเหมือนว่ามันจะยาก แต่มันไม่เกินความสามารถของเราหรอกครับ

เพราะผมเชื่อว่าอะไรก็เป็นไปได้เสมอสำหรับความรัก



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ หนังสือพิมพ์มติชน
ฉบับประจำวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

หญิงสาวผู้หนึ่งนอนราบอยู่กับพื้น ดูอ่อนเพลีย เหงื่อออกจนโทรมกาย สักพักเธอร้องโหยหวนราวกับเจ็บปวด หายใจเข้าออกอย่างแรง ชีพจรเธอเต้นเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ ความดันโลหิตสูงปรี๊ด เธอดิ้นบิดตัวอย่างทรมาน ที่พื้นมีเลือดของเธอที่ไหลซึมออกมาไม่หยุด

ลองจินตนาการภาพหญิงผู้นี้ดูสิครับ หากเป็นเรา เราจะดูแลเธออย่างไร ด้วยท่าทีอย่างไร

ลองซูมภาพมายังโลก ดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์กำลังดี ไม่ร้อน ไม่หนาวจนเกินไป ก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตที่อยู่อาศัยร่วมโลกใบเดียวกันนี้กว่าสามสิบล้านชนิด ขณะนี้โลกใบกลมกำลังตัวร้อน อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ หน้า สาหร่ายที่อาศัยอยู่ในปะการังล้มหายตายจาก จนสีสันสวยงามของเหล่าปะการังหายไป แหล่งเพาะพันธุ์ปลาและสัตว์ทะเลอื่นๆ กลายเป็นสุสานร้างใต้น้ำสีซีดยาวสุดลูกหูลูกตา บนบกก็อุณหภูมิสูงไม่แพ้กัน น้ำแข็งที่ยอดเขาและขั้วโลกทั้งสองละลายไวเหมือนไอศกรีมนอกตู้แช่ พายุฝนแต่ละปีก็รุนแรงขึ้น ปรากฏการณ์ Cloud Burst ทำให้ลำธารที่เคยไหลรินกลายเป็นเชี่ยวกราก เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเมืองและคร่าชีวิตผู้คน แม้กระทั่งอาณาจักรลาดัก ติดประเทศทิเบต บนเทือกเขาหิมาลัย ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง ๓ กิโลเมตร ไม่เฉพาะแต่เทือกเขาสูงบริเวณหลังคาโลก ภูเขาในไทยแต่ละลูกก็ถูกตัดไม้จนหัวโล้น เหลือป่าเฉพาะในเขตอนุรักษ์เป็นหย่อมๆ เท่านั้น ฝนตกแต่ละฤดูชะเอาหน้าดินไหลออกสู่ทะเลแดงฉานน่ากลัว

ลองจินตนาการภาพโลกใบนี้ดูสิครับ หากเป็นเรา เราจะดูแลโลกใบนี้อย่างไร ด้วยท่าทีอย่างไร

บางคนอาจจะคิดว่าเธอเป็นโรคร้ายแรง เป็นมะเร็งรักษาไม่หาย มีโรคแทรกซ้อนรุมเร้ามากมาย อาการกำลังกำเริบหนัก เขาอาจจะพยายามให้เธอกินยา ฉีดยา แถมด้วยให้ยาทางสายน้ำเกลือ อุณหภูมิที่สูงก็ต้องรีบลด หาผ้าเย็นมาเช็ดลำตัว ที่ความดันสูงก็ต้องดูแลให้ยา ที่เลือดไหลก็ต้องรีบห้ามเลือดกันจ้าละหวั่น

แต่บางคนที่สังเกตเห็นอะไรบางอย่างที่มากไปกว่านั้น เห็นท้องที่ใหญ่โตของเธอ พบสัญญาณชีพเล็กๆ ในนั้น ด้วยการมองเห็นนี้ มันทำให้พวกเขาคิดมีวิธีดูแลเธอที่ต่างออกไป ตระเตรียมอุปกรณ์ที่เหมาะสม กรรไกร ลูกยางแดง พยายามพูดคุยให้กำลังใจเธอที่จวนเจียนเหมือนจะหมดลม ราวกับจะขาดใจ แต่สักพักทุกคนก็ได้ยินเสียงร้องไห้จ้าของทารกแรกเกิดตัวน้อย

บางคนอาจจะคิดว่าโลกกำลังเป็นป่วยไข้ร้ายแรง เป็นมะเร็งรักษาไม่หาย มีโรคแทรกซ้อนรุมเร้ามากมาย อาการกำลังกำเริบหนัก ด้วยมุมมองนี้ ได้ทำให้พวกเขาพยายามเยียวยารักษาโลกจากอาการต่างๆ นานาเหล่านั้น ด้วยการให้ยา ใส่สารเคมีให้มากเข้า มีทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืช เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น หรือต้องผ่าตัดใหญ่ สร้างเขื่อน ทำทางระบายน้ำ เพื่อจัดการกับน้ำท่วม บางคนเห็นว่าอาการโลกตัวร้อน นี้ต้องฉีดสารเคมีประเภทซัลเฟอร์เข้าไปในชั้นบรรยากาศ เพื่อลดแสงอาทิตย์ บ้างก็ว่าต้องให้ทะเลกินธาตุเหล็ก เพื่อให้แพลงก์ตอนพืชที่อยู่ในท้องทะเลมากขึ้น โตเร็วขึ้น จะได้ดูดเอาคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงที่เราใช้กันและเป็นเหตุให้โลกร้อนออกจากชั้นบรรยากาศมากขึ้น ไปถึงกระทั่งผู้คนบางกลุ่มบางประเทศที่คิดและเชื่อว่าจะต้องกำจัดสิ่งมีชีวิตบางชนิด คนบางเผ่าพันธุ์ให้สิ้นไปจากโลก อาการของโลกจึงจะดีขึ้น พวกเขาสะสมอาวุธมากขึ้นๆ จนมีปริมาณที่สามารถทำสงครามฆ่ามนุษย์ทั้งโลกได้หลายรอบ

แต่อาจยังมีบางคนที่ชี้ชวนกันให้สังเกตและเฝ้าติดตามสัญญาณบางอย่างที่ค่อยๆ เกิดขึ้น จนขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ เขาเหล่านี้อาจบอกว่า ขอให้ดูสถานการณ์การเติบโตของขบวนการส่งเสริมสุขภาพองค์รวม การส่งเสริมสันติภาพ ความกระตือรือร้นและความสนใจของผู้คนต่อการพัฒนาทางจิตวิญญาณ การเรียนรู้ด้านในของตน การมีจิตวิวัฒน์และจิตตปัญญาในการใช้ชีวิต

ด้วยการมองเห็นนี้ ทำให้พวกเขาตระเตรียมหาอุปกรณ์ และประกอบสร้างโครงสร้างที่เหมาะสม เยียวยาอาการป่วยไข้ของโลกบนวิธีคิดที่ต่างออกไป ไม่เพียงจัดการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาทางการเมือง แต่ฟูมฟักเอื้อเฟื้อให้การเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณได้เติบโต เป็นความพยายามประคับประคองโลกและมนุษยชาติที่เหมือนจะกำลังไปไม่รอดแล้ว แต่อีกไม่นานเขาอาจได้เห็นการเกิดขึ้นของกระบวนทัศน์ คำอธิบาย และแนวทางการอยู่ร่วมกันใหม่ ที่ไม่เพียงแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์เดิม แต่รวมถึงการสร้างเสริมความสัมพันธ์ใหม่ และสิ่งใหม่ๆ ด้วย

อะไรคือความสามารถในการจำแนกแยกแยะคนเป็นมะเร็งกับคนตั้งครรภ์ออกจากกัน

อะไรคือความสามารถในการจำแนกแยกแยะสังคมที่กำลังตกต่ำแตกหักล่มสลายกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ความสัมพันธ์ใหม่ที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อุณหภูมิการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจที่เสียหาย ผู้คนที่ล้มตาย เป็นเพราะโรคร้ายรักษาไม่หายเกาะกิน หรือเป็นอาการ เป็นสัญญาณการเปลี่ยนผ่านของระบบความคิดความเชื่อชุดเดิม ที่คับแคบ ไม่สามารถอธิบายและรองรับความจริงที่ซับซ้อนได้

จากความคิดความเชื่อที่เห็นโลกเป็นส่วนสุดสองด้าน ขาว-ดำ ฉันถูก-แกผิด ต้องมีผู้แพ้-ต้องมีผู้ชนะ ตีความทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาลส์ ดาร์วิน (อย่างผิดๆ) ว่าเป็นการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุด (Survival of the Strongest) ต้องโหดร้ายรุนแรงเข้มแข็งเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้

ไปสู่ความคิดความเชื่อที่เห็นโลกอยู่ในสมดุลของความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อน มีเฉดสีต่างๆ มากมายที่อยู่ร่วมกันอย่างบรรสานสอดคล้องเหมือนรุ้งบนท้องฟ้าที่กว้างขวางพอสำหรับรุ้งมากกว่าหนึ่งตัวด้วย ไม่จำเป็นต้องมีตัวเดียวโดดๆ ทุกฝ่ายสามารถเป็นเจ้าของชัยชนะร่วมกันได้ เห็นความดีในกันและกัน เห็นความจำเป็นและความงามในการดำรงอยู่ร่วมกัน เข้าใจทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาลส์ ดาร์วิน (อย่างถูกต้อง) ว่าเป็นการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุด (Survival of the Fittest) ต้องรู้จักปรับตัว ช่วยเหลือสนับสนุนกันด้วยจึงจะอยู่รอด และยิ่งไปกว่านั้น รู้ด้วยว่ามีความสัมพันธ์อย่างไร จึงจะสามารถทั้งอยู่รอด อยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมาย

นอกเหนือไปจากใจและทักษะที่จะผ่า กำจัด ทำลาย ที่เราคุ้นเคยกันมากแล้ว เห็นสิ่งที่อยู่ในมือเป็นของมีเหลี่ยมมีคม เป็นมีดเป็นค้อน เห็นอะไรก็จะแทง จะตัด จะทุบไปหมด เราอาจจะต้องเรียนรู้ที่จะฝึกทั้งใจและทักษะที่จะประกอบสร้าง ปลูกฝัง บ่มเพาะ ไปจนถึงทำคลอดกระบวนทัศน์ใหม่

ความสามารถในการจำแนกแยกแยะและสังเกตเห็นสิ่งที่แตกต่างนี้ อาจจะไม่มีวันเกิดขึ้นเลยก็ได้ ถ้าเราไม่เคยริเริ่มจะมองหา หรือไม่คิดแม้แต่ว่ามันจะมีหวัง

หากเราเริ่มมองหา เราอาจจะเริ่มมองเห็นก็ได้

การดูแลหญิงสาวผู้ป่วยหนักอย่างเข้าใจและตระเตรียมการกำเนิดใหม่ของชีวิตน้อยๆ อาจจะเป็นรูปธรรมตัวอย่างของการมองหาความรู้ทางการแพทย์และประสบการณ์ เพื่อให้เราได้มองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ นอกเหนือไปจากปัญหา

แต่การดูแลเยียวยาโลกทั้งใบ ที่เป็นเสมือนคนไข้ขนาดยักษ์และมีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่ามากมายนี้ สิ่งที่เรากำลังมองหาอาจไม่ใช่แค่ความรู้ทางเทคนิค ไม่ใช่แค่ประสบการณ์จากการแก้ปัญหาก่อนหน้า เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มันเกินไปกว่าความรู้เดิมๆ ประสบการณ์เดิมๆ ที่เราเคยใช้กันมา

เราอาจจะต้องมีสายตาที่เห็นกว้างไปกว่าแค่ปัญหาเฉพาะหน้า มีใจที่เปิดรับได้มากกว่าแค่เรื่องราวที่เราคุ้นเคยและเชื่อตามกันมา และมีชีวิตที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับโลก เมื่อนั้นหรือเปล่า เราถึงจะเห็นโอกาสการกำเนิดใหม่ พร้อมกับสามารถประคับประคองอาการป่วยไข้ไปด้วยได้อย่างเหมาะสม

ถ้าเราเริ่มมองหา เราก็จะมองเห็น และสร้างความเป็นได้สำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้ขึ้นมา

แม้เวลาของเราจะเหลือน้อย แต่ทางรอดของเราก็ยังพอจะมีครับ

โครงงานชีวิต



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๔

ผมโตมายุคแรกเริ่มของการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ตอนนั้นคุณครูส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก จำได้ว่าสมัยมัธยมพวกเรานักเรียนทุนด้านวิทยาศาสตร์ (พสวท.) ได้เรียน ได้ฝึก ได้ลอง ไปพร้อมๆ กับคุณครูที่โรงเรียนเลยด้วย

แล้วผมก็ตกหลุมรักเจ้าสิ่งนี้ทันที ปิดเทอมใหญ่บางปีผมใช้เวลาอยู่ในแล็บกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ กินนอนในนั้นเลย ได้อยู่กับบ้านซึ่งห่างโรงเรียนแค่เดินถึง แบบตลอด ๒๔ ชั่วโมงแค่สองวันเท่านั้น ช่วงเรียน ม.๕ ก็ต่ออุปกรณ์ฉายรังสีแบบง่ายๆ ด้วยตนเอง ศึกษาการกลายพันธุ์ของเจ้าเชื้อ E. coli ที่ได้รับการฉายรังสี โดยดูจากความสามารถในการต้านทานยาปฏิชีวนะ

จนปัจจุบันโครงงานวิทยาศาสตร์กลายเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของการเรียน ขนาดที่เรียกสั้นๆ ว่าโครงงาน คนก็มักจะเข้าใจว่าคือโครงงานวิทยาศาสตร์ มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนทุกระดับ แพร่หลายจนน่าเสียดายที่ทำให้โครงงานมีเหลือแค่โครงสร้างและรูปแบบ ความน่าสนใจที่เคยมีแต่เดิมกลับเป็นการเพิ่มภาระให้ทั้งคนสอนและคนเรียน เราแทบจะถือว่ามันคืองานและการบ้านอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งครูต้องทำเพื่อให้มีผลงาน และนักเรียนต้องทำได้คะแนนสอบผ่าน เท่านั้นเอง

ผมจึงแทบจะเพิกเฉยและไม่ใส่ใจอะไรกับความรักเก่านี้แล้ว

แต่ระยะหลังเมื่อได้กลับมาทำหน้าที่สอนเสียเอง ผมก็หวนกลับไปค้นหาเสน่ห์และตามหาหัวใจของความรักนี้ แล้วจึงพบว่าคู่รัก “โครงงาน” ของผมเป็นได้มากกว่าแค่โครงงาน “วิทยาศาสตร์”

ในชั้นเรียนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มหิดล ผมชวนให้นักศึกษาแต่ละคนทำโครงงานเพื่อศึกษาการเปลี่ยนจิตสำนึกจากการมีประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง

เชิญชวนให้ผู้เรียนให้ลองขยับจากเอา “วิชา” (เช่น วิทยาศาสตร์) เป็นตัวตั้ง มาเอา “ชีวิตและการอยู่ร่วมกัน” เป็นตัวตั้งแทน

นักศึกษาหญิงคนหนึ่งเล่าว่าปรกติเวลากลับบ้านที่ขอนแก่น เธอก็อยู่ส่วนเธอ คุณพ่อคุณแม่ คุณตาคุณยายก็อยู่ส่วนของท่าน มาพบกันตอนทานข้าว แล้วก็แยกย้ายกันไป ดูทีวีบ้าง อะไรบ้าง แต่รอบนี้ เธอตั้งใจว่ากลับบ้านปีใหม่ จะทำโครงงานอยู่กับคุณตาคุณยายอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ คืออยู่ตรงนั้นในปัจจุบันขณะอย่างเต็มที่ เพื่อคุณตาและคุณยายของเธอ

นักศึกษาชายอีกคนรู้สึกแปลกแยก อึดอัดกับความเป็นเมืองใหญ่ของกรุงเทพ ที่ดูดกลืนทรัพยากรจากทั่วประเทศ อยากจะลองศึกษาดูว่าตนเองจะอยู่กับเมืองอย่างมีความสุข ทั้งที่รู้สึกเช่นนี้ได้อย่างไร เขาตั้งใจว่าจะลองเดินไปเรื่อยๆ ในเมือง ยิ้มและสบตากับคนที่เดินสวนกัน โดยดูว่าเขาจะสามารถอยู่รอด อยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมายโดยไม่ใช้เงิน ไม่สูบบุหรี่-ดื่มสุรา (ที่เขาติด) ได้หรือไม่

นอกจากนี้ยังมีโครงงานทดลองจำกัดพื้นที่ใช้สอยในห้องพักของตนเอง โดยได้ไอเดียจากเรื่องช้างถูกรุกรานพื้นที่ป่า โครงงานเผชิญความอายของตน ด้วยการเดินเก็บขยะไปเรื่อยๆ จากสี่พระยา-มาบุญครอง-ราชเทวี-รามาธิบดี โครงงานไปดูกระบวนการฆ่าสัตว์ในโรงเชือด เพื่อเข้าถึงความรู้สึกของช่วงเวลานั้น และศึกษาที่มาของอาหารก่อนมาถึงเรา โครงการไปลองทำนากับชาวนาที่ไม่ใช้สารเคมี และยังมีโครงการที่น่าทึ่งน่ามหัศจรรย์อีกเป็นจำนวนมาก

โครงงานมันน่าทึ่งน่ามหัศจรรย์ได้เพราะว่าเป็นสิ่งที่เขาเลือกเอง ตั้งอยู่บนฐานชีวิตของผู้เรียนเอง ครอบครัวก็ครอบครัวของเขา ความกลัว ความอึดอัด ก็เป็นความรู้สึกที่แท้จริงของเขา เรียนแล้วจะเปลี่ยนหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขา แต่อย่างน้อยเขาก็ย่อมจะได้รู้จักตัวเองมากขึ้น

แต่ละโครงงานล้วนมีพลังของชีวิตอันมีเอกลักษณ์ มีลายนิ้วมือของแต่ละคนอยู่ มันถูกขับเคลื่อนด้วยพลังธรรมชาติที่มาจากเขาเอง

แต่ละโครงงานมันสามารถช่วยให้ความสัมพันธ์ของแต่ละคนดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับตัวเขาเอง ความสัมพันธ์กับครอบครัว ความสัมพันธ์กับอาหาร ความสัมพันธ์กับโลกและจักรวาล

นี่แหละ เสน่ห์และหัวใจที่แท้ของโครงงาน

เขาว่ารักแรกพบยากจะลืมเลือน ... ก็คงจะจริง :-)