ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔

วสันตฤดูเป็นฤดูสำคัญของพืช ต้นไม้ได้น้ำเพียงพอที่จะทำอะไรหลายๆ อย่าง

พืชที่โตแล้ว มีคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศอยู่ตลอด ไม่ต้องไปแย่งดิน แย่งแสงแดดกับใคร แต่ต้องมีน้ำจึงจะสามารถสังเคราะห์แสงได้ ถ้าไม่มีน้ำก็ไม่สามารถสร้างอาหารคือน้ำตาล อีกทั้งไม่สามารถผลิตออกซิเจนที่ทำสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกมากใช้หายใจได้

ฤดูฝนจึงเป็นช่วงที่ต้นไม้เร่งรีบเติบโต สร้างใบไว้ผลิตอาหาร อาหารที่ผลิตได้ก็ใช้เพื่อเจริญเติบโตนี่แหละ

อาหารส่วนที่เหลือจะถูกเก็บเป็นทุนในการอยู่รอด เพราะเมื่อปลายฤดูฝนมาถึง กว่าจะได้น้ำมากๆ อีก ก็อาจจะเป็น ๗-๘ เดือนข้างหน้า ต้นไม้จะผ่านฤดูหนาวและฤดูร้อนอันยาวนานไปได้หรือไม่ ส่วนหนึ่งก็ขึ้นกับในฤดูฝนนั้นต้นไม้เป็นอย่างไร

ถ้าต้นไม้ต้องการฝน จิตใจของคนล่ะต้องการอะไร?

คำถามนี้ผุดขึ้นมาระหว่างนั่งชื่นชมสายฝนที่โปรยปรายลงมาในวันแรกๆ ของพรรษา

ใจของเรา บางครั้งก็ต้องเผชิญเรื่องราวยากๆ ในชีวิต อาจเป็นเรื่องการเรียนการสอบ การทำงานการประเมิน กิจวัตรประจำวันที่ดูเหมือนต้องเร่งไม้เร่งมือขึ้นทุกวัน แต่ยิ่งเร่งดูเหมือนยิ่งทำไม่ทัน อาจเป็นเรื่องครอบครัว ความบาดหมางไม่เข้าใจกันระหว่างคนที่เรารัก หรือบางทีก็กับตัวเราเอง หรืออาจเป็นเรื่องสุขภาพ การเจ็บป่วยหรือล้มหายตายจากของคนใกล้ชิด บางเหตุการณ์แค่ไม่กี่วัน แต่บางเหตุการณ์ก็ต่อเนื่องยาวนานหลายเดือนหรือหลายปี

เราจะผ่านช่วงเวลายากๆ เหล่านั้นได้ โดยไม่ใช่แค่อยู่รอดอย่างเดียว แต่ยังคงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อยู่ด้วยได้หรือไม่ ส่วนหนึ่งก็ขึ้นกับว่าในช่วงก่อนสถานการณ์ยากๆ เหล่านั้นเราทำอะไร อาศัยต้นทุนที่เราเคยฝึก เคยหัด มาช่วงก่อนหน้านี้เท่านั้น ที่จะทำให้เรายังดูแลกาย ดูแลใจ ไม่ให้คิด พูด หรือทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควรลงไป

เมื่ออยู่ในสถานการณ์ยากๆ เราจะมาเริ่มต้นฝึกเรียนรู้ที่จะมีสติ เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของเราได้ลำบาก เราจึงควรหมั่นที่จะเท่าทันความคิดความรู้สึกตนเองเสมอๆ เมื่อมีโอกาส

หากต้นไม้ต้องการความชุ่มชื่นจากฝน ใจของคนก็ต้องการความชุ่มชื่นจากความสงบภายใน

ยามที่ฝนมา ต้นไม้ถือโอกาสได้เจริญเติบโต สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ตนเอง ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อยามเข้าพรรษา ผู้คนควรได้ใช้โอกาสนี้เจริญเติบโตทางสติปัญญา ทางจิตวิญญาณ สร้างเสริมความมั่นคงภายใน

ผู้อยู่ในเพศบรรพชิตก็รวมตัวกันอยู่ในวัดในสถานปฏิบัติธรรม ตั้งใจฝึกฝนทั้งด้วยตนเองและกับครูบาอาจารย์ พวกเราส่วนใหญ่ที่เป็นฆราวาสใช่ว่าจะไม่สามารถรวมตัวกันฝึกฝนได้

ในโลกของเครือข่ายทางสังคม เช่น เฟซบุ๊ก ก็มีกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนกันและกัน อย่างเช่น กลุ่ม (page) “เพื่อนภาวนา” ก็จัดกิจกรรม “เข้าพรรษาภาวนาด้วยกัน” เชิญชวนให้เพื่อนๆ มากด Like แล้วตั้งปณิธานเข้าพรรษาว่าจะทำอะไรดีๆ กันบ้าง

มีเพื่อนจำนวนไม่น้อยที่ให้คำมั่นสัญญากันว่าจะภาวนาทุกวันตลอดพรรษานี้ หลังจากได้อ่านได้ฟังกันมาทั้งชีวิต จะขอเรียนรู้เติบโตไปด้วยกัน ผ่านการลงมือทำด้วยตนเอง

หลายคนเคยลองทำเองคนเดียว แล้วก็ทำๆ หยุดๆ ลงเอยหยุดมากกว่าทำ คือหยุดไปเลย มาพรรษานี้ตั้งใจร่วมกัน เชื่อว่าพลังของกลุ่มจะนำช่วยนำพาไปให้ตลอดรอดฝั่ง

วสันตฤดูพรรษานี้จึงมีอะไรน่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย ต้นไม้ก็เติบโตไปพร้อมๆ กับมนุษย์ ที่ต่างเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์และอาศัยซึ่งกันและกัน

โอกาสของต้นไม้คือหน้าฝน โอกาสของคนก็คือเข้าพรรษา

รับ = ให้



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔

พี่สาวที่รักของผมเธอเป็นจักษุแพทย์ บ่อยครั้งเธอจะมีของติดไม้ติดมือกลับมาบ้าน เป็นของฝากจากคนไข้ซึ่งเอามาให้เวลามาพบคุณหมอที่โรงพยาบาล ยิ่งถ้าเป็นหน้าเทศกาลด้วยแล้ว อย่างปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์นี่ ของฝากยิ่งมาก ผมจึงมักได้อานิสงส์ของกินของใช้ดีๆ จากเธอเสมอๆ

ผู้ที่มาโรงพยาบาล บ้างก็ด้วยวัยที่สูงขึ้น บ้างก็ติดเชื้อ หรือประสบอุบัติเหตุ ส่วนมากดีใจไม่น้อยที่ได้กลับบ้าน อีกทั้งยังมีสุขภาพสายตาที่ดีขึ้น

เธอมักเล่าให้ฟังเสมอๆ ว่า มีหลายครั้งที่เธอช่วยเหลือด้วยวิธีการยิงเลเซอร์ ผ่าตัด หรือจ่ายยา แต่ก็อีกไม่น้อย ที่เขาเหล่านั้นต้องหมั่นดูแลสุขภาพด้วยตนเอง เธอว่าหมอก็ได้แค่ช่วยบอกเท่านั้น

ผมเข้าใจปรากฏการณ์ข้างต้นดีขึ้นมาก เมื่อผมได้รับกล้วยน้ำว้ามาหวีหนึ่ง ในการอบรม “จิตตปัญญาศึกษากับการพัฒนาบุคลากร เพื่อการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ซึ่งครั้งนี้เป็นรุ่นที่ ๒ ที่ผมจัดกระบวนการให้กับคณะผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่สายสนับสนุน ที่รวมทั้งแม่บ้าน แม่ครัว ช่างเทคนิค พนักงานขับรถ ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ (วพบ. กรุงเทพ) ปรากฏว่า กล้วยน้ำว้าหวีนี้เป็นของเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ซึ่งเข้าร่วมอบรมในรุ่นก่อนหน้าเป็นคนฝากมาให้ เธอคงทราบมาว่าผมดูแลสุขภาพด้วยการทานกล้วยน้ำว้าที่มีฤทธิ์เย็น เพื่อปรับสมดุลของร่างกายทุกวัน

ของฝากเป็นกล้วยน้ำว้าที่ทั้งหน้าตาสวยทั้งมีขนาดใหญ่ เป็นเครื่องหมายของน้ำจิตน้ำใจที่เธอมอบให้ ผมประทับใจในไมตรีจิตนี้มาก

อีกทั้งกล้วยนี้ไม่ได้มาเปล่าๆ มีจดหมายน้อยแนบติดมาเสียด้วย มีใจความว่า

“พี่ส้มขอขอบคุณมากที่ได้ร่วมทำกิจกรรม ซึ่งเมื่อกลับมาแล้วได้ผลดีมาก เดี๋ยวนี้เวลาพี่ส้มกลับจากต่างจังหวัดจะรับของจากแม่ทุกครั้ง ซึ่งแม่ก็มีสีหน้าที่มีความสุขมาก จากทุกครั้งที่เคยปฏิเสธ ถ้าไม่ได้ร่วมกิจกรรมก็จะไม่รู้ถึงความรู้สึกของแม่ ขอขอบคุณในสิ่งดีๆ ที่อาจารย์เอเชียให้กับพี่ส้มค่ะ”

ผมอ่านแล้วขนลุก น้ำตาไหล รู้สึกดีใจที่ในโลกกลมๆ ใบนี้ อย่างน้อยก็ได้มีแม่ลูกคู่หนึ่งที่มีความสุขมากขึ้นอีกมาก

จากเดิมที่อาจจะทุกข์ เพราะไม่ทราบว่าจะดูแลกันอย่างไร แม้ทั้งคู่จะรักกันมากๆ ก็ตาม

ย้อนหลังกลับไปในการอบรมรุ่นที่ ๒ ผมแนะนำกระบวนการเพื่อการรู้จักเข้าใจตนเองไปหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการสื่อสารด้วยหัวใจ ซึ่งเผยให้เรารู้ว่าเบื้องหน้าของการพูดจาที่ไม่เข้าหู หรือดูเหมือนเขาจะไม่ยอมเปิดโอกาสให้เราพูดบ้างนั้น มีเบื้องหลังเป็นความต้องการซึ่งเรามนุษย์ทุกคนนั้นมีร่วมกัน เป็นความต้องการพื้นฐานของการดำรงชีวิต และเป็นความต้องการที่สร้างสรรค์เติมเต็มความหมายของการใช้ชีวิต

กรณีของเธอกับคุณแม่นั้น เธอเล่าว่าทุกครั้งที่กลับไปเยี่ยมบ้านและจะจากมา แม่มักจะถามแกมบังคับกลายๆ ว่าจะเอาอะไรกลับไปทานบ้างไหม ส่วนเธอนั้นแสนลำบากใจและรำคาญใจ ต้องปฏิเสธทันควันทุกที เพราะของที่แม่จะให้ มันช่างไม่ถูกปากไปเสียทุกอย่าง ผมชี้เธอให้เห็นว่า นี่ไง ไม่สำคัญหรอกว่าของนั้นอร่อยไหม แต่เบื้องหน้าที่แม่ถามว่าจะเอาอะไรบ้าง มีเบื้องหลังคือการต้องการแสดงความรักและปรารถนาจะได้รับความรักจากลูก เป็นความต้องการพื้นฐานที่เธอก็มี และต้องการจากแม่เช่นเดียวกัน

คนที่รับหิ้วกล้วยมาให้ ยังเล่าความตามที่เธอฝากมาว่า วันที่จะกลับจากบ้านมาครั้งนี้ แม่ก็เอ่ยถามอีกครั้ง แต่ฉับพลันที่เธอจะบอกปัด เธอกลับนึกถึงเรื่องสื่อสารด้วยหัวใจในการอบรม ทันใดเธอมองไปที่แม่และเอ่ยว่า “เอาสิแม่” วินาทีนั้นเธอได้เห็นสายตาของแม่ที่เปลี่ยนไป เป็นแววตาที่ที่ปลื้มปิติดีใจ แม่รีบกระวีกระวาดจัดขนมผลไม้ใส่ถาดพร้อมอธิบายไปทีละอย่างว่ามีอะไรเป็นอะไรบ้าง ทั้งฟักแฟงแตงมะเขือ เธอที่ขึ้นรถเมล์มาทำงานขนของเหล่านี้มาด้วยแม้ลำบากแต่ก็อิ่มเอมด้วยความภูมิใจในแม่ของตน

“รู้อย่างนี้นะ จะทำแบบนี้ไปซะตั้งนานแล้ว นี่ถ้าไม่ได้ไปอบรมก็คงไม่ได้มีความสุขอย่างนี้” เธอฝากบอกมา และผมเชื่อว่าเธอได้เปิดประตูให้ความรักของเธอและแม่พรั่งพรูถึงกันแล้ว

เธอมีศักยภาพใหม่ในการใส่ใจและเข้าใจคนในครอบครัว ไปพ้นขีดจำกัดเดิมๆ เรียนรู้ที่จะดูแลคนที่เธอรักและคนที่รักเธอมากที่สุดในชีวิต สามารถดูแลแม่ในวาระของแม่ ไม่ใช่วาระของตน

มีดวงตาคู่ใหม่ จากหัวใจที่เปิดกว้าง

ผมเองเข้าใจแล้วว่าทำไมพี่สาวของผมจึงมีของกลับมาบ้านบ่อยๆ :-)



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔

นักศึกษารุ่นน้องคนหนึ่ง ทำไอโฟนรุ่นใหม่ล่าสุดหายไประหว่างจัดโครงการอบรมและเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ทางชีววิทยา สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ที่หาดเจ้าหลาว จ.จันทบุรี

ทีแรกเขาตัดใจแล้ว คิดว่าคงต้องแทงสาบสูญ หาไม่เจอแน่ ไปถามร้านอาหารที่คาดว่าลืมทิ้งไว้ พนักงานทุกคนก็บอกไม่มีใครเห็น เรียกว่าถอดใจแล้ว ถึงขนาดออกจากที่พัก เริ่มเดินทางกลับกันแล้ว

แต่พวกเราก็เพียรพยายามโทรศัพท์เข้าเครื่อง ตีรถกลับไปอีก แล้วช่วยกันหา และใช้แอพพลิเคชัน Find iPhone ในโทรศัพท์อีกเครื่องให้ระบุตำแหน่งโดยใช้ดาวเทียม จนกระทั่งหาเจอในที่สุด

หลังจากทีมค้นหาไอโฟนร่วมกันแสดงความยินดีแก่กันและกันไม่นาน รุ่นน้องคนนี้ก็เอ่ยถามว่า “อาจารย์ครับ ทำอย่างไรเราจึงจะมีสติตลอดเวลา ไม่หลงลืมล่ะครับ ผมพยายามนั่งสมาธิมานานแล้ว แต่ก็ไม่เห็นไปไหนเลยครับ?”

ผมนึกดีใจกับเขาว่านี่ดีจัง คงได้มากกว่าไอโฟนกลับมากระมัง

หลังจากนั้น คำถามพรั่งพรูมาจากรุ่นน้องคนนี้ เป็นบทสนทนาอย่างยาว

เราแลกเปลี่ยนความเข้าใจในเรื่องสติ สมาธิ และปัญญา

คุยกันว่าสติเป็นสิ่งที่เราสั่งให้เกิด บังคับให้มี ได้ไหม ถ้าไม่ได้ แล้วจะสร้างเงื่อนไขปัจจัยที่เอื้อให้เขาเกิดได้อย่างไร ที่ครูบาอาจารย์ว่าการจำอารมณ์ได้อย่างแม่นยำเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสตินั้นหมายความว่าอย่างไร อารมณ์เหล่านี้นี่หมายถึงอารมณ์ความรู้สึกใช่ไหม มีอะไรบ้าง ทำอย่างไรจึงจะจำได้แม่น ทำไมจำได้ เห็นแล้วแต่ก็ยังไม่หายจากความรู้สึก เช่น โมโห โศกเศร้า เหงา เซ็งเป็ด (แต่ไม่ยักเห็นคนถามว่าจะหายจากความรู้สึกดีๆ เช่น มัน ขำ สนุก ตื่นเต้น ได้อย่างไร)

เราแตะประเด็นว่าความคาดหวังในผลจากการปฏิบัติเป็นเรื่องธรรมดาพบเห็นได้ทั่วไปในหมู่นักปฏิบัติอย่างไร แล้วเราจะดูแลสิ่งนี้ ใช้เขาเป็นเครื่องเรียนรู้ลงไปในปัจจุบันอย่างไร การรู้ลงไปตรงๆ ในปัจจุบันหมายถึงอะไร

เขาว่าตัวเขาก็อ่านหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติมาบ้าง ทั้งของครูบาอาจารย์สายต่างๆ ก็พอเข้าหัวอยู่บ้าง แต่ทำไมดูเหมือนยังไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าใดนัก เลยได้คุยเรื่องความรู้ผ่านการอ่านและความรู้ผ่านการลงมือทำ

รวมไปถึงว่ามีสถานที่แห่งไหนที่น่าจะได้ไปเรียนรู้ ฝึกหัดทักษะเบื้องต้น เพื่อจะนำมาฝึกฝนต่อด้วยตนเองในชีวิตประจำวัน

บทสนทนายังดำเนินผ่านเรื่องราวอื่นๆ อีกมาก

นี่ก็เป็นเหตุการณ์ที่พบได้ทั่วไป บ่งบอกออกมาชัดเจนว่าผู้คนมักไม่ค่อยได้สนใจ ตั้งใจจะเรียนรู้นัก จนกระทั่งเกิดปัญหาขึ้นมาในระบบ เกิดความทุกข์เข้ามาในชีวิต

ก็คงจะจริง คนมีทุกข์จึงอยากเรียนวิธีพ้นทุกข์

ทุกข์ที่มาเยือนในแง่นี้ก็เสมือนหน้าต่างของโอกาสที่แง้มเปิดออก

แต่ในโลกไซเบอร์อย่างปัจจุบัน หน้าต่างของโอกาส หน้าต่างของความสนใจนี้มักปิดลงอย่างรวดเร็ว เพราะโลกหมุนเร็วขึ้น ภารกิจทางโลก (ดูเหมือน) จะมากขึ้น แถมต้องทำให้เสร็จลุล่วงภายในระยะเวลาที่สั้นลง คนทุกข์มักพากันใส่ใจกับการแก้ไขสถานการณ์ทางโลก คิดว่าหากดูแลปัจจัยอื่นๆ ภายนอกให้ดีแล้ว ความทุกข์ภายในคงไม่เกิด

หรือไม่ก็พากันไปค้นหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ทางโลก หลบไปเที่ยวบ้าง หาอะไรอร่อยทานบ้าง พอให้ลืมจากความทุกข์เดิม

ดังนั้นจะว่าไปเจ้าเครื่องไอโฟนที่ (เกือบ) หายก็นับว่าเป็นประโยชน์ไม่น้อย หากมันได้นำมาซึ่งข้อเตือนใจถึงความพร้อมของตนเองในการที่จะดูแลไม่เพียงแต่ทรัพย์สินภายนอกไม่ให้ตกหล่นสูญหาย แต่รวมถึงความพร้อมที่จะสร้างและดูแลอริยทรัพย์ภายใน ที่ไม่มีผู้ใดแย่งชิง ไม่สูญหายไปด้วยภัยอันตรายต่างๆ อีกทั้งยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้อย่างกว้างขวางได้อีกด้วย