มีชีวิตใกล้ชิดกับความตาย


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2550


“ขอพระผู้เป็นเจ้าจงประทานพรให้ข้าได้มีความเยือกเย็นหนักแน่นในอันที่จะรับไว้ซึ่งสถานการณ์ที่ข้าไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ขอให้ข้าได้มีกำลังใจที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ข้าสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งขอให้พระองค์ได้ประทานปัญญาให้ข้าได้มองเห็นความแตกต่างระหว่างสองสภาวะนี้”

Archbishop Robert Alexander Kennedy, Runcie's Collection of Prayers, แปลโดย กรุณา กุศลาสัย


เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วเครือข่ายแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ที่บริหารจัดการโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้พากันไปทำกิจกรรมจัดการความรู้ เพื่อถอดบทเรียนและรู้จักซึ่งกันและกันระหว่างคนทำงานส่งเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ

แม้ว่าพวกเราจะต้องฟังเรื่องเล่าต่อเนื่องแบบมาราธอนเก้าโครงการ สิบกว่าชั่วโมง (คล้ายๆ ได้ไปทัวร์ยุโรปเจ็ดวัน แปดประเทศอะไรทำนองนั้น) แต่ก็ได้รับรู้และเรียนรู้เรื่องราวดีๆ ไม่น้อย

หนึ่งในโครงการที่นำเสนอในวันนั้น คือ โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ โดยเครือข่ายพุทธิกา พี่ธวัชชัย โตสิตระกูลกระบวนกรของโครงการ เล่าให้ฟังว่าเขาเข้ามาเกี่ยวข้องทำงานด้านนี้เพราะภรรยาเคยเข้าร่วมอบรมเรื่องการเผชิญความตาย ระหว่างอบรมเธอก็มี SMS หวานแหววมาหา กลับมาก็ตรงเข้ามากอดพร้อมกับบอกว่า “รักพี่จัง” และหลังจากนั้นความสัมพันธ์ของครอบครัวที่ดีอยู่แล้ว ก็ยิ่งดีขึ้นอีก เธอแนะนำให้เขาได้ลองไปอบรมดู นัยว่าอาจจะอยากได้รับ SMS จากเขาบ้าง (ฮา)

กิจกรรมในการอบรมนั้นมีอยู่หลายอย่าง แต่ละกิจกรรมถูกจัดเรียงเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าไปใกล้ชิด ทำความคุ้นเคย จนกระทั่งเห็นว่าการตายไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิต แต่ยังเป็น “นาทีทอง” (ดังที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียก) อีกด้วย เพราะเป็นโอกาสอันเยี่ยม ให้ผู้ที่กำลังจะจากไปได้เกิดการยกระดับทางจิตวิญญาณอย่างมาก และหากจัดการได้ดี ผู้ที่อยู่รายรอบก็สามารถเรียนรู้ได้เช่นกัน ดังเช่นที่มีผู้กล่าวไว้ว่า “หากรู้ว่าอยากจะตายอย่างไร เราก็จะรู้ว่าต้องใช้ชีวิตอย่างไร”

ระหว่างการอบรมหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ท่านเล่าสู่กันฟังว่าความตายที่ดี หรือที่เรียกว่า “ตายดี” นั้น ทางโลกกับทางพุทธเขาอธิบายว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร มีการเขียนพินัยกรรม การได้คลี่คลายปมที่ตนเองเคยติดค้าง (เช่น คุณแม่บางคนลูกตายไปสิบกว่าปีแล้ว ยังไปปูผ้าปูที่นอนให้ลูกทุกคืน) กิจกรรมทดลองตาย กิจกรรมทดลองแจ้งข่าว (Break the news) ที่เรามักจะกระอักกระอ่วนใจว่าต้องพูดอย่างไร กิจกรรมทดลองเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อที่จะได้ทราบว่าคนป่วยนั้นเขารู้สึกอย่างไร เราจะได้มีความสามารถในการดูแลเขาเหล่านั้นอย่างเป็นองค์รวมในทุกมิติ รวมถึงกิจกรรมไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้ายจริงๆ ในโรงพยาบาล ซึ่งก็ได้รับประโยชน์กันอย่างเต็มที่ทั้งผู้ให้และผู้รับ เพราะแท้จริงแล้วต่างก็ได้ให้สิ่งสำคัญอย่างยิ่งแก่กันและกัน

ปัจจุบันพี่ธวัชชัย ลาออกจากงานครึ่งเวลา เพื่อจะมาทำงานนี้ โดยขอรับเงินเดือนเพียงครึ่งเดียว แต่หน่วยงานก็เห็นความสำคัญ ยินดีให้มาทำตามต้องการ พร้อมจ่ายเงินเดือนเต็มอีกด้วย

ผมกลับบ้านพร้อมความประทับใจ นำเรื่องมาเล่าและชวนคุณแม่กับพี่สาวที่เป็นหมอให้ไปร่วมการอบรมของโครงการเผชิญความตายอย่างสงบด้วย ปรากฏว่าทั้งคู่สนใจมากครับ ไปกลับมาก็ประทับใจมาก (แต่ไม่เห็นได้ส่ง SMS มา (ฮา)) แถมมีเรื่องราวมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีกไม่น้อย

สิ่งหนึ่งที่การอบรมช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นคือ ความแตกต่างระหว่างสองสิ่งที่สำคัญมาก ดังเช่นที่อาร์กบิชอบเคนเนดี เขียนไว้ในบทสวดข้างต้น หรือที่เอพิกตีตัส (Epictetus) นักปรัชญาสายสโตอิก ชาวกรีก เขียนไว้ในหนังสือ Manual of Living ว่า “ความสุขและอิสรภาพเริ่มจากความเข้าใจอันแจ่มแจ้งถึงหลักการข้อหนึ่งที่ว่า บางสิ่งอยู่ภายในการควบคุมของเรา และบางสิ่งนั้นไม่ ต่อเมื่อคุณกล้าเผชิญกับบทบาทพื้นฐานและเรียนรู้ที่จะแยกแยะระหว่างสิ่งที่คุณสามารถและไม่สามารถควบคุมได้ ความสงบภายในและความมีประสิทธิภาพภายนอกจึงจะเป็นไปได้”

ชวนให้ผมนึกนิตยสาร Tzu Chi, Buddhism In Action ฉบับ Fall 2002 ที่ลงข้อความอันแสนจะเรียบง่ายแต่งดงามของลี เว่ย ฮวง (เรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษโดย เทเรซ่า จาง, แปลโดย อธิธัช สาทรกิจ) ชื่อ “ตัดสายป่าน” (Set the Kite Free)

“อย่าเสียใจหากมิได้อยู่เคียงข้างตอนฉันจากไป บางครั้งอบอุ่นใจที่มีเธอไม่เคยห่าง แต่บางครั้งต้องทุกข์ใจ ต้องพรากไป ใจสลาย มีสิ่งใดที่เธอยังค้างคาใจ หรือสิ่งใดที่อยากทำ จงทำเถิด เพื่อว่าหากวันใดฉันเกิดต้องจากไปกะทันหัน หากไม่บอก ทำไม่ทัน ตัวเธอนั้นอาจตรอมใจ ต้องทุกข์ใจที่สายเกิน หากวันใดรู้ว่าฉันหมดลมหายใจ จงปล่อยวาง และปล่อยฉันไป ในยามนี้ขอให้เธอรับรู้ไว้ สิ่งดีใดที่ได้ทำให้แก่ฉัน สิ่งดีนั้นล้วนแต่นำความปลื้มและสุขใจ ไม่เคยลืม ทั้งยามหลับและยามตื่นตลอดมา สุดท้ายนี้ขอให้เธอจดจำไว้ เมตตาธรรม คำสวดวอนขอพรที่ต้องการ สวดให้ฉันไปดีมีสุขเทอญ”


เพราะเมื่อเรารู้ว่าชีวิตที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นมีค่าและเปราะบางเพียงใด เราก็จะใช้ทุกวินาทีของมันอย่างไม่ประมาทนั่นเอง :-)

ทำแค่ใช่ ... ไม่ต้องมาก


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 พฤศจิกายน 2550


จดหมายข่าวอิเลคทรอนิกส์ของสถาบันโนเอติกซายน์ (Institute of Noetic Sciences) เดือนตุลาคมนี้ มีการแนะนำให้สมาชิกไปดูคลิปวีดิทัศน์ของ แมรีแอนน์ วิลเลียมสัน นักอบรมชั้นนำคนหนึ่งของโลก เธอเขียนหนังสือขายดีติดอันดับหนึ่งของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์หลายเล่ม และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันให้มีการจัดตั้งกระทรวงสันติภาพในประเทศสหรัฐอเมริกา

ในคลิปวิดีโอหนึ่งนาทีนั้น แมรีแอนน์เชิญชวนกึ่งท้าทายให้ผู้ดูร่วมเป็นหนึ่งในประชากรสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ เธออ้างถึงงานวิจัยของนักสังคมศาสตร์ที่บอกว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสังคมโลกหลายครั้งเกิดขึ้นได้ด้วยการที่มีผู้ที่เชื่อ ต้องการ และเปลี่ยนแปลงก่อนเพียงจำนวนหนึ่ง โดยยกตัวอย่างการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของสตรีในอังกฤษ และการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศสหรัฐอเมริกาจากอังกฤษ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนไม่ต้องมีผู้ต่อสู้เรียกร้องถึงครึ่งหนึ่งของประชากร แต่มีจำนวนที่ “เพียงพอ” โดยเธอบอกว่าเพียงสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ตัวเลขนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อเรื่อง มวลวิกฤต (Critical Mass) ซึ่งเป็นศัพท์แสงทางสังคมศาสตร์พลวัตร อธิบายถึงการมีอยู่ของโมเมนตัมของระบบสังคมที่สามารถขับเคลื่อนตัวเองและขยายเพิ่มได้ ขออนุญาตยกตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจ เช่น ในเมืองใหญ่ หากมีคนๆ หนึ่งหยุด แล้วแหงนมองดูท้องฟ้า คนอื่นๆ รอบข้างก็จะยังคงเดินไปเรื่อยๆ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่หากมีคนหยุดสักสามสี่คน อาจจะมีบางคนที่สงสัย หันกลับมาดูพวกที่ดูฟ้า แล้วอาจเดินต่อ แต่เมื่อมีคนจำนวนมากพอแหงนหน้าดูท้องฟ้า ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่มากนักในกรณีนี้ (ขึ้นกับหลายปัจจัย) เช่น ประมาณหกถึงเจ็ดคนเท่านั้น คนอื่นๆ ก็จะหยุดแล้วแหงนหน้ามองดูเหมือนกัน จำนวนนี้แหละครับ เรียกว่า มวลวิกฤต

เอาเป็นว่าคุณแมรีแอนน์ เธอท้าให้คนที่เปิดดูคลิปเปลี่ยนแปลงตนเองเสีย จะได้เพิ่มจำนวนผู้เปลี่ยนแปลงไปให้ถึงสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์ครับ เธอบอกว่าหากตัวเราเองยังไม่เปลี่ยนแปลงก่อน ก็อย่าไปอ้างเลยว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงได้

ผมอยากจะเพิ่มเติมว่า อันที่จริงแล้วเราไม่ต้องรอถึงสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์หรอก (ซึ่งสำหรับประชากรโลก ณ วันนี้ สัดส่วน ๑๑ เปอร์เซ็นต์ของหกพันหกร้อยสามสิบกว่าล้านคน ก็ตกราวๆ เจ็ดร้อยสามสิบล้านคน) เพราะจิตของเราแต่ละคนที่เข้าถึงความจริง ก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้

ในมนุษย์จำนวนหกพันหกร้อยสามสิบกว่าล้านชีวิตนี้ แต่ละคนก็ล้วนแต่มีจิตที่คิดสร้างโลกขึ้นมา มีประสบการณ์และสร้างการดำรงอยู่ของตัวตนเราในโลกทางกายภาพนี้ทั้งสิ้น

โลกนั้นดำรงอยู่ในจิตของเรา และเราแต่ละคนต่างเลือกว่าจะมีประสบการณ์ต่อมันอย่างไร สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราทำ ล้วนก่อประกอบขึ้นเป็นโลกทางกายภาพตามแบบที่เราอยากจะมีประสบการณ์

เราจึงอาศัยอยู่ในโลกแห่งมายาการ ความรู้สึกที่เรามีต่อวัตถุทุกชนิดล้วนเป็นความรู้สึกที่เรามีต่อความสัมพันธ์ของสนามหรือคลื่นพลังงาน เป็นความรู้สึกที่จิตเราแปลผลตีความขึ้นมา และด้วยเหตุที่เราล้วนมีประสบการณ์ต่อมายาการนี้ร่วมกัน เราก็มักคิดตีขลุมเหมาเอาว่าเรานั้นอยู่บนโลกใบเดียวกัน เราเลือกที่จะเชื่อว่าโลกมีอยู่นอกเหนือจากการสร้างของเรา แต่แท้จริงแล้ว โลกนั้นมันอยู่ในจิตของเราเอง

ความพยายามใดๆ ที่เรากระทำเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจเป็นความพยายามที่เปลืองแรง ไปจนถึงขั้นสูญเปล่า เพราะเป็นการไปแก้ไขปรับเปลี่ยนโลกทางกายภาพที่เราต่างสร้างขึ้นและให้ความหมายตีความแตกต่างกัน ในเมื่อโลกเกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายในใจของเราเองแล้ว การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ควรเริ่มต้นจากตัวเรา เริ่มขึ้นในใจตัวเอง

ตัวอย่างเช่น เรื่องสันติภาพ สันติภาพนั้นมิได้เข้าถึงได้ด้วยการพยายามสร้างให้สันติภาพเกิดขึ้นในโลก หากแต่สันติภาพที่แท้จริงนั้นเข้าถึงได้ผ่านการตระหนักรู้ว่าสันติภาพนั้นมีอยู่แล้ว อยู่ในโลกของคนทุกคน และเส้นทางการเข้าถึงนั้นมีการเดินทางเข้าสู่ด้านในตนเองเป็นบาทฐานสำคัญ

หากหญิงหรือชายใดได้มีสันติในเรือนใจแล้ว ทุกสิ่งที่เธอหรือเขาทำออกมาไม่ว่าด้วยกายหรือวาจาย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำย่อมถูกกระทำด้วยสันติวิธี (นั่นย่อมรวมถึงการพยายามสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลกด้วย)

อีกทั้งสันติภาพนั้นมิได้เข้าถึงได้ด้วยการพยายามไปเปลี่ยนคนอื่น ความพยายามอันบริสุทธิ์ใจในการสร้างงาน สร้างกิจกรรม สร้างโครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมสันติภาพเป็นความพยายามอันน่าชื่นชม หากแต่ต้องชวนผู้คิดและดำเนินการโครงการเหล่านั้นได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเข้าถึงสันติภาพภายในตนแล้วหรือยัง หรืออย่างน้อยได้ใช้งานเป็นโอกาสในการเดินทาง ฝึกฝน และเรียนรู้ในการเข้าถึงสันติภาพที่แท้จริงหรือไม่ เพราะหากโลกภายในไม่มีสันติภาพแล้ว กิจกรรมต่างๆ ก็เป็นเพียงความพยายามอันไปไม่ถึงดวงดาว เป็นกิจกรรมที่ได้แต่รูปแบบ ขาดหัวใจ สาระ หรือจิตวิญญาณของสันติภาพ

โจทย์ของคนทำงานเรื่องสันติภาพหรือสมานฉันท์ รวมทั้งงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงยกระดับสังคมไปสู่การมีจิตใหญ่ ดังเช่น จิตวิวัฒน์ จิตตปัญญาศึกษา พัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ตลอดจนสุขภาวะทางจิตวิญญาณ/ทางปัญญา จึงมีหลายชั้น หนึ่งคือต้องทำการบ้านกับตนเองก่อน หนึ่งคืองานและชีวิตของคนทำงานควรเป็นบทพิสูจน์ของการเดินทางเข้าสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับเรื่องที่ทำในทุกระดับ ในทุกมิติ และอีกหนึ่งที่สำคัญคือต้องพยายามสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจว่า เป้าหมายภายในนั้นสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเป้าหมายภายนอก เราไม่สามารถทำงานเรื่องจิตวิวัฒน์โดยไม่ใช้กระบวนการจิตวิวัฒน์ได้

โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้กำหนดนโยบายหรือผู้ให้ทุน ความตั้งใจที่อยากจะให้เรื่องดีงามแพร่ขยายกระจายไปทั่วแผ่นดินนั้นก็เป็นกุศลเจตนาที่ควรยกย่อง ทว่าจะต้องไม่กระทำอย่างผิวเผินเหมือนกับผลิตสินค้าให้ได้จำนวนมากที่สุดในราคาต่ำสุดและใช้เวลาสั้นที่สุด

ความท้าทายอยู่ที่เราจะทำอย่างไรให้ชีวิตเป็นเรื่องของความปรกติ เป็นเรื่องความสมดุลของการพัฒนาทางกาย ใจ และจิตวิญญาณ ผสมผสานงาน ครอบครัว และสังคมอย่างพอดี และให้การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรมในทุกขณะจิต

ต้องเข้าใจว่าความคาดหวังและคำถามที่ว่า “เปลี่ยนได้กี่คนแล้ว” เพื่อจะได้ถึง ๑๑% เสียทีนั้น ต้องเริ่มนับหนึ่งจากตนเองก่อนเสมอ