ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๕

ตัวเลขบางตัวมีความหมายในเชิงสังคมวัฒนธรรมที่สำคัญในตัวมันเอง เช่น หากพูดว่า “พร้อมรับปีใหม่” ขึ้นมาในวงสนทนา ผู้ร่วมวงก็อาจรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าพูดว่า “พร้อมรับปีใหม่ 2012” คาดว่าบางคนอาจ “จิ้น” (อิมเมจิ้น-จินตนาการ) ไปได้ไกลใช่ไหมครับ

วันขึ้นปีใหมที่ผ่านมา ผมได้เชิญชวนให้ลองตั้งปณิธานปีใหม่ New Year’s resolution พร้อมเสนอปณิธานร่วมสมัยต้อนรับปี 2012 ว่า “จะเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับภัยพิบัติ” กันอย่างไรดี ซึ่งการเตรียมพร้อมกายหรือทางโลกนั้นได้ลองแบ่งปันไปแล้ว ลองมาดูทางใจกันบ้าง

การเตรียมความพร้อมทางใจ ถ้าพูดแบบเข้าเป้าตรงประเด็นเลย ก็คือ การเตรียมตัวยอมรับความตาย นั่นเองครับ (บอกแบบนี้ก็ใช่ว่าปี 2012 นี้เราจะต้องตายกันยกโขยงพร้อมกันเสมอไปนะครับ เท่าที่ทราบตอนนี้ก็ยังไม่มีใครที่มีข้อมูลที่ยืนยันได้ 100%)

การเตรียมตัวตายเป็นการเตรียมตัวที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์เลยทีเดียว และไม่ใช่เฉพาะสำหรับรับภัยพิบัติเท่านั้น เป็นสิ่งที่ผู้รู้จำนวนมากกล่าวสรรเสริญเอาไว้ ทางพุทธศาสนามีคัมภีร์เขียนกันไว้มากถึงแนวคิดและวิธีปฏิบัติมรณานุสติ ซึ่งเป็นการเจริญสติที่เชื่อว่าเหมาะสมทันยุคทันสมัย 2012 อย่างยิ่ง
มรณานุสติมิได้หมายถึงการครุ่นคิดหดหู่ไม่เป็นทำอะไร แต่เป็นการระลึกนึกถึงความตายว่าเป็นของธรรมดา ซึ่งหากพิจารณาบ่อยๆ จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งคือทำให้เป็นคนไม่ประมาท

ยิ่งหากเป็นคนที่เชื่อเรื่องชาตินี้ชาติหน้า ก็จะไม่หลงระเริงเล่นสนุก หรือเอาแต่ทำงานโดยไม่สนใจสิ่งรอบตัว แต่จะเร่งทำความดี เพื่อเป็นทุนรอนต่อไปภพหน้า
ถึงแม้จะไม่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด การเตรียมตัวตายก็ยังมีประโยชน์ ดังที่พระไพศาล วิสาโล เคยกล่าวไว้ว่า หากเรารู้ว่าเราอยากจะตายอย่างไร เราก็จะรู้ว่าเราต้องอยู่อย่างไร เพราะถ้าจะรอไปเตรียมช่วงภัยพิบัติมาก็มีแนวโน้มว่าจะไม่ทัน

คนที่มีชีวิตอยู่ด้วยความหงุดหงิด โกรธเกรี้ยวโมโหง่าย ก็มีแนวโน้มว่าจะจากไปพร้อมๆ กับความคับข้องเห็นอะไรขวางหูขวางตาไปหมด การมีโทสะเป็นเจ้าเรือน ย่อมร้อนเนื้อร้อนใจไม่ว่าจะอยู่หรือจะไป

คนที่มีชีวิตอยู่อย่างยึดติด ห่วงนู่นห่วงนี่ ห่วงบ้าน ห่วงรถ ห่วงเงินทอง ห่วงหน้าตา ห่วงชื่อเสียง ห่วงลูก ห่วงพ่อแม่ ก็มักต้องตายพร้อมกับภาระในใจ หนักเท่าใดก็ตามจำนวนห่วงที่แบกอยู่ทุกวัน

คนที่ไปดี ไปอย่างสงบ ไม่ใช่เพราะเตรียมตัวพร้อม หากแต่ด้วยเพราะเตรียมใจพร้อม

ยิ่งเรายอมรับความตายได้เร็วเท่าใด เรายิ่งมีโอกาสที่จะเลือกใช้ชีวิตทุกชั่วขณะอย่างมีคุณค่า เราจะเลิกดิ้นรน เลิกเตรียมการมากมาย (เกินไป) เพื่อต่อสู้ยื้อยุดเพื่อให้ไม่ตาย แต่จะกลับมาใส่ใจกับการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายในทุกๆ วัน และในทุกๆ ลมหายใจ

เพราะนี่คือโอกาสกลับไปดูแลความสัมพันธ์กับคนที่เราให้ความสำคัญ คนที่รักเรา คนที่เรารัก และผู้คนอื่นๆ รอบตัวเรา ในทางกลับกัน ความสัมพันธ์ที่ได้รับการเยียวยาฟื้นฟูจะยิ่งทำให้เรามีความพร้อมทางใจมากขึ้นด้วย

สิ่งสำคัญ คือ การฝึกให้รู้ตัวเอง หรือการเจริญสติ เพราะเป็นทางที่ทำให้เราเกิดอิสรภาพในทันที หลุดพ้นจากความบีบคั้นของเวลา เข้าถึงความสงบ ความสุข ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใดๆ

การเตรียมการเรื่องอื่นๆ นั้นไม่รู้จบ แต่หากเราได้เตรียมใจ ยอมรับความตายนั้นทำให้จบได้ จิตไม่ติดค้าง เพราะทำให้เราได้ดูแลเรื่องความสัมพันธ์ มีสติ รู้เนื้อรู้ตัวเสมอๆ น่าจะได้ชื่อว่าเป็นผู้พร้อมแล้วอย่างยิ่ง

ปณิธาน 2012













ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๕

ใครได้ตั้งใจไว้แล้วบ้าง ว่าปีใหม่ 2012 นี้ จะทำอะไรสักเรื่องให้สำเร็จ หรือเปลี่ยนแปลงชีวิตบางอย่าง?

ปณิธานปีใหม่ หรือ New Year’s resolution นี้ มันอาจจะเป็นอะไรที่ส่วนตั๊วส่วนตัวของเราเอง จะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็ตาม หรือเป็นความตั้งใจยอดฮิตติดอันดับท็อปเท็น อย่างเช่น ให้เวลากับครอบครัวและเพื่อนๆ ออกกำลังกายหรือไปฟิตเนส ลดน้ำหนัก เลิกสูบบุหรี่ มีความสุขกับชีวิตให้มากขึ้น เลิกดื่ม ปลดหนี้ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำกิจกรรมจิตอาสา จัดระเบียบในชีวิต เป็นต้น

เชื่อว่าหลายคนคงเคยตั้งใจเอาไว้ว่าจะทำอะไรบางอย่างตอนขึ้นปีใหม่กันมาบ้าง แล้วประสบการณ์ของเราที่ผ่านๆ มาแล้วล่ะ โดยมากมันประสบผลสำเร็จ หรือลงเอยด้วยการเลิกรากลางคันครับ

ถ้าทำไม่สำเร็จก็ไม่น่าแปลกใจเลยครับ เพราะข้อมูลจากงานวิจัยบอกว่าคนทั่วไปเพียง 12% เท่านั้นที่สามารถทำได้ตามปณิธานปีใหม่ของตนเอง ส่วนหนึ่งก็เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเรา โดยเฉพาะที่ทำบ่อย ลงรากฝังลึกนั้น มันไม่ได้จะเปลี่ยนกันได้ง่ายๆ

แม้จะรู้อย่างนี้ แต่ก็อย่าเพิ่งล้มเลิกความตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนตนเอง และความตั้งใจที่จะตั้งปณิธานไปง่ายๆ นะครับ บางคนอาจผิดหวังกับที่ตนเองเคยตั้งใจไว้ช่วงขึ้นปีใหม่แล้วทำไม่ได้ พอหลายๆ ครั้งเข้าก็ท้อแท้ หันมาปลอบใจหรือแก้ตัวให้ตนเอง เป็นทำนององุ่นเปรี้ยวมะนาวหวานว่า “โอ๊ย อย่างฉันน่ะหรือ ไม่ต้องมาตั้งอะไรตอนปีใหม่หรอก ถ้าจะเปลี่ยนน่ะ ฉันเปลี่ยนได้เอง ไม่ต้องรอปีใหม่หรอก”

แต่ในความเป็นจริงก็มักไม่เป็นเช่นนั้นครับ เพราะว่างานวิจัยจากวารสารวิชาการด้านจิตวิทยาคลินิกพบว่าคนที่ตั้งใจมีปณิธานปีใหม่นั้นประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมายมากกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งใจไว้ถึง 11 เท่าทีเดียว

อย่าถูกกิเลสหลอกเอาง่ายๆ ว่าตั้งใจไว้แล้วทำไม่ได้ก็ไม่ตั้งดีกว่า ไม่ได้มีใครลงโทษเราเสียหน่อยนะครับ หากว่าปีนี้เรายังทำไม่สำเร็จ อีกเป้าหมายบางอย่างอาจต้องใช้เวลาหลายปีในการทำ

การตั้งปณิธานอาจนับว่าเป็นก้าวแรกของความสำเร็จก็ได้ ในอิทธิบาทสี่ (รากศัพท์ คือ ความสำเร็จ + เส้นทาง) นั้น ข้อแรกก็คือ ความพอใจ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักที่จะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ

ในทางพุทธก็มีภาษิตที่ว่า ศรัทธาตั้งมั่นแล้ว ยังประโยชน์ให้สำเร็จ สทฺธา สาธุ ปติฏฺฐิตา
ดังนั้น อยากชวนให้ลองตั้งปณิธานปีใหม่กันดูครับ

หากนึกไม่ออก ก็ขอเสนอปณิธานปีใหม่ที่ร่วมสมัย เข้ากับสถานการณ์มากๆ คือ การตั้งใจว่าจะเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับภัยพิบัติ ด้วยเป็นที่แน่นอนแล้วว่านับแต่นี้ต่อไป ภัยพิบัตินั้นจะเกิดทั้งถี่ และทั้งรุนแรงขึ้น ซึ่งแต่ละคนก็ควรเตรียมตัวให้พร้อมทั้งทางกาย (หรือทางโลก) และทางจิตใจ

การเตรียมตัวทางโลกนั้นว่ากันว่ามีสามขั้นตอน คือ จัดถุงยังชีพ เตรียมแผนรับมือ และหาความรู้ ซึ่งข้อมูลที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ตก็มากมาย หาได้ไม่ยาก มีเว็บที่แนะนำ คือ ready.gov ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีข้อมูลครบถ้วนมาก หรือที่เป็นภาษาไทย เช่น “คู่มือคนไทยเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ” ของบริษัทบางจาก ก็อ่านง่าย เป็นการเริ่มต้นที่ดี

ส่วนการเตรียมตัวทางใจหรือทางจิตตปัญญานั้นเอาไว้จะมาลองแบ่งปันให้ฟังในตอนหน้านะครับ

ใครได้ตั้งปณิธานปีใหม่นี้แบบจิตตปัญญาอย่างไรกันบ้าง ส่งมาเล่าสู่กันฟังกันบ้างสิครับที่ 2012NYresolution@gmail.com มีของขวัญปีใหม่มอบให้สำหรับสามท่านที่ตอบได้โดนใจครับ

ขอให้ปีใหม่นี้เป็นปีแห่งสติและการเตรียมพร้อมนะครับ