ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2549


“ทำไมคนไทยถึงไม่ค่อยให้เกียรติกับภรรยาคนไทยของผม และมักมองว่าเธอเป็นหญิงบริการ?” คือหนึ่งในคำถามที่ผมได้รับจากครูฝรั่งวัยกลางคนคนหนึ่งในกิจกรรมเสวนาเรื่องความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม ที่เพื่อนสนิทของผมขอให้ไปช่วย

ในยุคที่ภาษาอังกฤษมีความสำคัญมากขึ้น อีพีโปรแกรม (EP-English Program) หรือหลักสูตรภาษาอังกฤษในโรงเรียนต่างๆ ทั้งประถม มัธยม รวมถึงมหาวิทยาลัย (มักเรียกโปรแกรมอินเตอร์) ทั้งรัฐและเอกชน ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ส่วนหนึ่งเพราะเป็นแหล่งรายได้สำคัญของหลายโรงเรียน ความต้องการของตลาดมีมาก ผู้ปกครองจำนวนมากก็พร้อมจะจ่ายค่าเล่าเรียนที่สูงกว่าปกติ ถึงขนาดขับรถผ่านไปไหนก็เห็นป้ายติดหน้าโรงเรียนกันเป็นทิวแถว

โรงเรียนที่เปิดสอนอีพีโปรแกรมจะมีบางวิชาที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคม หรือแม้กระทั่งพลศึกษา (ยกเว้นวิชาภาษาไทย) โรงเรียนหรือโปรแกรมที่ขึ้นหน้าขึ้นตามักจะวัดจากปริมาณครูชาวต่างชาติที่มี เรียกว่ายิ่งเยอะยิ่งดี หากเป็นระดับชั้นต้นๆ ก็หาง่ายหน่อย แต่พอระดับสูงๆ เช่น มัธยมปลาย ก็มักต้องชวนอาจารย์คนไทยที่สอนระดับมหาวิทยาลัยมาช่วยสอน

สมัยผมเรียนน่ะไม่มี อีพงอีพีอะไรกับเขาหรอกครับ จำได้ว่านานๆ จะมีครูหัวแดงมาสอนอยู่ในโรงเรียนอยู่บ้าง ราวว่าเป็นโครงการแลกเปลี่ยนอะไรทำนองนั้น ครูมีอยู่คนสองคนก็โอ๋กันทั้งโรงเรียนเป็นธรรมดา แถมชีวิตก็ต้องพึ่งครูไทยเป็นหลัก ชาวต่างชาติจำนวนน้อยๆ ต้องคอยถามเราบ่อยๆ ต้องยกมือไหว้ปะหลกๆ ครูไทยก็รู้สึกมีความสำคัญ เห็นว่าพวกนี้น่ารัก น่าเอ็นดูดี พร้อมจะแสดงยิ้มสยามวันละหลายๆ รอบ

แต่ปัจจุบันอีพีโปรแกรมหนึ่งๆ อาจมีครูต่างชาติถึงยี่สิบกว่าคน มาจากหลายทวีปด้วยกัน เป็นเรื่องขึ้นมาสิครับทีนี้ จากเดิมที่ครูต่างชาติต้องพึ่งพิงครูไทยมากก็ไม่ค่อยเรียกร้องอะไร (แค่เอาตัวรอดไปวันๆ ก็ยังลำบาก เพราะสื่อสารอะไรกับใครเขาไม่รู้เรื่อง) พอมีจำนวนเยอะๆ เข้า ก็คุยกันเองได้ กลับบ้านเองเป็น เกิดกิจกรรมร่วมกัน เกิดวัฒนธรรมกลุ่ม พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง (ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี)

แต่ในสายตาครูไทย ครูต่างชาติเหล่านี้ดูเหมือนจะน่ารักน้อยลง อาจด้วยเป็นเพราะไม่ต้องมาพึ่งพาเรานักประการหนึ่ง แถมชักจะมีข้อเรียกร้องต่างๆ นานามากขึ้นอีก ฝ่ายชาวต่างชาติก็รู้สึกว่าตนเองควรจะได้รับสิทธิอะไรเสมอภาคกับเขาบ้าง เพราะก็เป็นครู เป็นคนกะเขาเหมือนกัน แถมยังนำรายได้มาสู่โรงเรียนอีกมาก เรื่องราวความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันก็อาจมีมากขึ้น ที่สำคัญคือการอะลุ้มอล่วยกันอาจจะน้อยลงอย่างฮวบฮาบ เซ็งกันไปตามๆ กัน ทั้งเทศ ทั้งไทย ร้อนถึงผู้บริหารที่อาจต้องจัดกิจกรรมปฐมนิเทศ ผสานวัฒนธรรมหรือสร้างความเข้าใจขึ้น

ผมได้รับเชิญให้ไปเป็นผู้ดำเนินรายการร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยอีกท่านหนึ่งในรายการดังกล่าวของอีพีโปรแกรมชั้นแนวหน้าแห่งหนึ่งของไทย ไม่ใช่เพราะเก่งกาจอะไรกับเขาหรอกครับ เพียงแต่สนิทกับผู้ดูแล และมีประสบการณ์ข้ามวัฒนธรรมกับเขานิดๆ หน่อยๆ

ผมให้ครูต่างชาติเขียนคำถาม สิ่งที่เขาอยากรู้หรืออยากชวนคุยมาก่อน ลองดูตัวอย่างคำถามนะครับ

“สังคมไทยถึงมีอคติ เลือกปฏิบัติ โดยให้โอกาสกับครูฝรั่ง มากกว่าครูชาวเอเชีย ทั้งๆที่ความสามารถใกล้เคียงกัน พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่เหมือนกัน”
“คนไทยไม่พูดจาตรงๆ ตรงไหนถูกก็ว่าถูก ตรงไหนผิดก็ว่าผิด พูดอ้อมไปอ้อมมา ทำให้เสียการเสียงาน”
“ทำไมจึงมักมีการเปลี่ยนแปลงรายการโดยไม่แจ้งล่วงหน้าบ่อยนัก”

อ่านดูแล้วน่าเห็นอกเห็นใจครับ ทั้งครูต่างชาติผู้เป็นแขกและครูไทยเจ้าบ้าน ผมเองและเพื่อนพาทั้งหมดคุยกันด้วยความพยายามจะทำความเข้าใจกัน โดยบอกเล่าว่าพวกผมไม่ใช่ผู้จะมาชี้ถูก ชี้ผิด แก้ไข หรือให้คำตอบได้หมด สิ่งที่พวกเราพอทำได้ คือ ใช้ความรู้หรือทฤษฎีทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ้าง แต่ที่สำคัญคือ การช่วยให้ทุกคนมีท่าทีที่เหมาะสมในการใช้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่นั่น

ผมได้เล่านิทานเรื่องหนึ่งให้ครูทั้งหลายฟังว่า มีชายคนหนึ่งผ่านไปเห็นสถานที่ก่อสร้างแห่งหนึ่ง ด้วยความสงสัยใคร่รู้จึงได้เข้าไปถามช่างก่อสร้างที่พบเป็นคนแรกว่าทำอะไรอยู่หรือ ช่างคนแรกตอบด้วยความเบื่อหน่ายว่า “กำลังก่ออิฐ” ต่อจากนั้นเขาก็เดินไปถามช่างคนที่สองด้วยคำถามเดียวกัน แต่ได้รับคำตอบเพียงว่า “กำลังทำกำแพง” ท้ายสุดจึงได้ถามช่างคนที่สาม ช่างก่อสร้างคนที่สามตอบอย่างหนักแน่นหน้าตาอิ่มเอิบแววตาเป็นประกายว่า “กำลังสร้างมหาวิหาร”

ช่างทั้งสามคนต่างกันอย่างไรหรือครับ? ทั้งที่ทำงานก่อสร้างในสิ่งปลูกสร้างเดียวกัน สิ่งที่นิทานต้องการจะบอกคือ การมองเห็นแค่สิ่งเฉพาะหน้าในกรณีนี้นั้นไม่ช่วยให้เรารู้สึกถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญในสิ่งที่เราทำ ดังเช่นช่างคนแรกบอกว่ากำลังก่ออิฐ ขณะที่ช่างคนที่สามกำลังทำสิ่งเดียวกัน แต่เขารู้ตัวดีกว่ากำลังทำสิ่งที่มีความหมายยิ่งใหญ่

ท่าทีที่ช่างทั้งสามคนมีต่องานต่างกันจริงไหมครับ แต่ท่าทีของช่างคนที่สามดูจะเป็นท่าทีที่เหมาะสมและทำให้เขามีความสุขและความภาคภูมิใจในงานที่ทำ ทั้งนี้เพราะการมองโลก หรือการมองเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตที่ไม่เอาเรื่องเฉพาะหน้า หรือเอาปัญหามาเป็นตัวตั้ง

กรณีคำถามต่างๆ ของครูฝรั่งนั้น เกือบทุกคำถามสะท้อนให้เห็นว่าคุณครูทั้งหลายเห็นเป็นรายประเด็นปัญหา (ซึ่งอาจเกิดจากการตั้งวัตถุประสงค์ของกิจกรรม) แต่ถ้าเราลองคิดตามคำถามเหล่านี้ไปในทิศทางเดียวเท่านั้น เราอาจจะนึกไม่ออกเลยว่าจะแก้ไขอย่างไร ดูเหมือนปัญหาพันนัวเนียกันยุ่ง หากความคิดวนเวียนอยู่กับปัญหาระหว่างวัฒนธรรมมากเกินไป ครูจะไม่ได้เห็นเลยว่าเขาเองเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างค่านิยม สร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมที่ถูกต้อง การที่เขาได้ทำงานกับเด็กๆ นับเป็นจุดที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มาก เขามีหน้าที่ยิ่งใหญ่และสำคัญต่อโลก ไม่ใช่เพียงแค่คนทำงานรับเงินเดือนเท่านั้น

ด้วยเหตุที่เรามองเรื่องราวในโลกแบบเอาปัญหาเป็นตัวตั้งและไม่ทำให้มีความสุข การเห็นปัญหาเพียงอย่างเดียวแล้วสรุปว่านั่นเป็นเรื่องใหญ่หรือเป็นเรื่องราวทั้งหมด ก็เหมือน “เข้าป่าแต่ไม่เห็นป่า เห็นแต่ต้นไม้” (Don't lose sight of the forest for trees) นั่นเอง ฉะนั้นแล้วลองมาเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเรื่องกันเถอะครับ มุมมองโลกในภาพรวมระยะยาวและคิดเชิงบวก อาจช่วยให้เราวางใจ มีความสุขกับงานได้ทุกวัน เพราะเข้าใจตำแหน่งแห่งที่และความหมายของสิ่งที่ทำ ใช่ว่าจะเห็นแค่ปัญหาเท่านั้นครับ :-)

หมายเหตุ: ในมงคลครบรอบ ๑๐๐ ปีวันล้ออายุ ขออุทิศบทความนี้เป็นอาจาริยบูชาแด่ท่านอาจารย์พุทธทาส และเป็นกำลังใจแก่ลูกศิษย์ลูกหาของท่านในการร่วมสานต่อปณิธาน ๓ สร้างมหาวิหารในในศาสนิกทุกคนครับ

0 comments: