ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2550


ยังจำบันไดสู่ทีมที่มีประสิทธิภาพที่นำมาเล่าสู่กันฟังเมื่อสัปดาห์ก่อนได้ไหมครับ แต่ละขั้นของบันไดต่างมีคำถามสะท้อนสู่แนวคิดหลักสำหรับแต่ละช่วงพัฒนาการของทีม

เมื่อก้าวขึ้นสู่ขั้นแรก เราจะพบกับคำถาม “ฉันคือใคร?” เพื่อมั่นใจได้ว่าเรามีความปลอดภัย (Safety) และได้รับการยอมรับ ขั้นที่สองคือคำถาม “คุณคือใคร?” ให้ได้ไว้วางใจ (Trust) ในกันและกัน บันไดขั้นต่อมาว่าด้วยความใกล้ชิดสนิทสนม (Intimacy) ในทีม ความรู้สึกร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน จากคำถาม “พวกเราคือใคร?” นำไปสู่ขั้นที่สี่ “โจทย์คืออะไร?” ถึงคราวนี้เราทั้งทีมมีภารกิจและมีเป้าหมาย (Goal) ร่วมกันอย่างชัดเจนแล้วครับ

ทิ้งท้ายไว้ว่าขั้นสุดท้ายของบันไดสู่ทีมที่มีประสิทธิภาพคือ “วิสัยทัศน์” (Vision) และจะมาเล่าสู่กันวันนี้ ผมมั่นใจว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่าวิสัยทัศน์ดี บางครั้งเรายังเปรียบเปรยว่าเป็นเหมือนฝั่งผืนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ที่เราใฝ่ฝัน ทำให้เราต้องออกแรงพายเรือฝ่าคลื่นลมไปให้ถึง

วิสัยทัศน์จึงทั้งกระจ่างชัดและพร่าเลือนในเวลาเดียวกัน คำถาม ณ บันไดขั้นท้ายที่ผมจะเฉลยคือ “เรากำลังจะไปไหน?” นั่นเองครับ

สิ่งที่ได้ชื่อว่ามีคุณลักษณะเป็นวิสัยทัศน์ มันจะมีพลัง สามารถกระตุ้นทุกคนในทีม จูงใจและดึงดูดให้ทุกๆ คนให้ความสนใจและตั้งใจมุ่งไปยังทิศทางนั้น การมีวิสัยทัศน์เท่ากับการได้ร่วมกันสร้างฝันให้คนในทีม เป็นการมองโลกในแง่ดีต่ออนาคตของกลุ่มหรือองค์กร

วิธีการทำวิสัยทัศน์โดยทั่วๆ ไปที่คนเขาใช้กัน เกือบทั้งหมดล้วนมีภาคทฤษฎีให้คำแนะนำ หรือวางแนวทางเอาไว้ว่า วิสัยทัศน์ที่ดีต้องสั้น ไม่ยืดยาว มีความกระชับและชัดเจน เนื้อหาในวิสัยทัศน์ต้องพูดถึงคุณค่า แสดงออกถึงแรงมุ่งมาดปรารถนา (passion) และเห็นความใฝ่ฝันขององค์กร

ถ้าพวกเราเป็นนักกีฬาแข่งเรือยาวที่ต่างรู้ความถนัดของตัวเอง ได้รับมอบหมายหน้าที่สมควรแก่ฝีมือของตนแล้ว ยอมรับความรู้ทักษะของกัน ได้รู้จักคุ้นเคยสนิทสนมกัน เรือลำนี้ก็มีลูกเรือที่ต่างคนล้วนรู้สึกปลอดภัยและไว้วางใจในเพื่อน เห็นภารกิจเป้าหมายระยะสั้นชัดเจนว่าจะต้องร่วมกันออกแรงพายเรือลำนี้ไปเข้าเส้นชัย แต่อนิจจาไม่มีฝันร่วมกันว่าอยากจะไปแข่งระดับนานาชาติ หรือสร้างสถิติขึ้นมาใหม่ เรือยาวลำนี้ก็คงยังเคลื่อนออกไปได้ แต่ไร้ชีวิตชีวา และน่าเสียดายศักยภาพที่ลูกเรือแต่ละคนมียิ่งนัก หรือหากแม้มีบางคนที่ฝันอยากไปแข่งขันชิงแชมป์โลก แต่คงยากที่จะประสบผลสำเร็จหากเพื่อนๆ ทั้งทีมไม่เอาด้วย

คงจำกันได้นะครับ เมื่อไม่กี่ปีก่อนที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันบ้านเราประสบภัยสึนามิ ชาวไทยเราทั่วทุกหัวระแหงหลั่งไหลกันลงไปในพื้นที่ทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือค้นหาศพและกู้ภัยกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ศูนย์ย่านยาวซึ่งเป็นสถานที่ให้ความช่วยเหลือและจัดการศพนั้นเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงวุ่นวาย ต้องจัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ซ้ำเรื่องในทุกวัน ที่นั่น ผมเห็นป้ายขนาดใหญ่อันหนึ่งติดไว้เด่นชัด เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “We Will Take Them Home” (เราจะพาพวกเขากลับบ้าน) ผมรู้สึกประทับใจและทราบมาว่าอาสาสมัครที่ได้เห็นประโยคนี้ต่างมีกำลังใจในการทำงานขึ้นอีกมาก สำหรับผมแล้ว แผ่นป้ายนี้ช่างมีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ประกาศสื่อสารวิสัยทัศน์ไปยังทีมที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนคนทุกวัน (แม้ในกรณีนี้ค่อนไปทางพันธกิจมากหน่อย) และสามารถสัมผัสถึงใจทุกคนที่กำลังทำภารกิจอันหนักหนาสาหัสนี้อยู่

ขนาดองค์กรที่มีพลวัตรสูงทั้งคนและงานอย่างกลุ่มอาสาสมัครย่านยาวยังมีวิสัยทัศน์เลย และดีมากเสียด้วยครับ คือสามารถพาให้คนก้าวข้ามข้อจำกัดของอัตตาอันคับแคบของตน ไปร่วมกันทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่เชื่อมโยงกับคุณค่าที่ทุกคนถือร่วมกัน

พวกเราในภาคธุรกิจ มีลักษณะจัดตั้งองค์กรบริษัทห้างร้านเอกชน เรามักจะมีวิสัยทัศน์ที่ละม้ายคล้ายกัน ไม่มีอะไรแตกต่างกันมากมายนัก โดยมากต่างกันในรายละเอียดตามประเภทกิจการ คนที่เคยย้ายงานมาหลายบริษัทคงนึกออก ความท้าทายของหาค้นหาวิสัยทัศน์สำหรับทีมในวงการธุรกิจก็จะอยู่ตรงที่จะมีวิสัยทัศน์อะไรที่จูงใจ และไม่ซ้ำไม่เฝือ อ่านไปรอบหนึ่งแล้วแต่ไม่รู้สึกว่าผิดแผกอะไรจากองค์กรอื่น

ส่วนพวกเราในอีกบทบาทหน้าที่หนึ่งซึ่งอยู่ในภาคสังคม เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน อาจเป็นเครือข่าย หรือมูลนิธินั้น ก็ควรต้องมีวิสัยทัศน์เช่นเดียวกัน และมีความท้าทายไปอีกแบบที่ต่างไปจากเพื่อนๆ ในภาคธุรกิจ เพราะภาคสังคมมีทุนจำกัดบ้าง มีภารกิจต้องทำในระดับประเทศแต่มีจำนวนคนไม่ถึงสิบ อีกทั้งผลที่เกิดจากการลงแรงทำงานไปส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เห็นชัดเจนออกมาเป็นยอดขาย หรือส่วนแบ่งทางการตลาดเหมือนอย่างบริษัทเขา

ประการสำคัญที่ไม่ควรละเลยก่อนจะทำวิสัยทัศน์ไม่ว่าจะเป็นทีมในบริบทสภาพแวดล้อม หรือในแวดวงไหน คือ เราควรต้องถามตัวเองให้ชัดว่า “ทำไมต้องทำวิสัยทัศน์?” ไม่ควรสักแต่ว่าทำให้มีวิสัยทัศน์ขึ้นมาเพราะใครๆ เขาว่าดี หรือเพราะมาตรฐาน ISO กำหนดให้ต้องมี

เราควรได้ทำวิสัยทัศน์โดยทีมของเราทุกคนเห็นความสำคัญและเห็นดีเห็นงามด้วย

เมื่อถึงขั้นตอนการทำ ในปัจจุบันมีเครื่องมือหรือวิธีการที่พวกเราในหลายแวดวงอาจนำมาใช้ในการประชุม หรือจัดเวิร์กชอปทำวิสัยทัศน์หลายอย่าง เช่น AIC (Appreciation, Influence and Control) และ SWOT Analysis ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก Strength, Weakness, Opportunity และ Threat อันเป็นการหาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของเรานั่นเอง

โดยเฉพาะวิธี SWOT ซึ่งแพร่หลายมากในวงธุรกิจ บางแห่งจัดกระบวนการศึกษาแบบ SWOT ก่อน เพื่อได้รู้จักเข้าใจตัวเอง ได้วิเคราะห์สภาพแวดล้อมขององค์กรให้ถี่ถ้วนก่อน แล้วจึงเขียนวิสัยทัศน์ขึ้นมา บางแห่งก็กลับกัน ตั้งต้นด้วยการร่างวิสัยทัศน์ขึ้นมาก่อนแล้วจึงใช้ SWOT เพื่อตรวจทานและปรับแก้วิสัยทัศน์อีกครั้ง

ไม่ว่าเราจะสร้างวิสัยทัศน์ขึ้นมาใหม่ หรือปรับพัฒนาวิสัยทัศน์เดิมด้วยวิธีไหนเครื่องมืออะไร สิ่งสำคัญที่น่าจะได้เกิดขึ้นคือ การเอื้อเฟื้อและเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนที่มีส่วนร่วมในทีมของเรา ในองค์กรของเรา ได้รับฟังกัน ได้รับรู้ฝันของทุกๆ คน

ไม่ว่าจะเป็นเสียงเล็กเสียงน้อย แต่ละเสียง แต่ละฝันล้วนมีความหมายมาประกอบสร้างเป็นแรงมุ่งมั่นและความปรารถนาของทีมทั้งสิ้น

ในกระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ใหม่นั้นบอกว่า เราควรจะลืมตรรกะแบบหยาบๆ ของมนุษย์ไปเสีย พวกเราคุ้นเคยในการคิดและทำเป็นเหตุผลเชิงเส้นโดยไม่รู้ตัว การทำวิสัยทัศน์ก็เช่นกัน อย่าไปคาดหวังว่าถ้าเราควบคุมทีละขั้นตอน ทำ ๑ ๒ และ ๓ แล้วจะได้ผลออกมาเหมือนดังที่คาดทุกครั้ง

หากเรารับฟังกันอย่างเปิดจิตเปิดใจที่จะรับรู้ เรียนรู้ เข้าใจ และชื่นชมทั้งหมดของความเชื่อความฝันของเพื่อนในทีม เราก็อาจได้วิสัยทัศน์มาง่ายๆ แม้ออกมาเป็นคำสั้นๆ ไม่สละสลวย สวยงามและครอบคลุม แต่จะเปี่ยมด้วยพลังและมีความมุ่งมั่นของทุกคนในวิสัยทัศน์นั้น โดยอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ไม่ต้องไปใช้เวลากับการจัดกระบวนการตามรูปแบบที่ใช้กันอยู่ทั่วไป

ไม่ว่าการทำวิสัยทัศน์รูปแบบวิธีไหน ถ้าให้ความสำคัญแก่การรับฟังอย่างลึกซึ้งตามรายทางของกระบวนการ เราจะได้รู้จักตนเอง ได้รู้จักกันและกันอย่างเปิดเผยและทั่วถึง เราได้สร้างความใกล้ชิดสนิทสนมให้เกิดขึ้นในทีม สร้างความกลมเกลียวขึ้นในองค์กร บางครั้งมันกลับสำคัญยิ่งกว่าการได้วิสัยทัศน์ออกมาเป็นคำๆ เสียอีก

ที่สำคัญวิสัยทัศน์ขององค์กรอาจไม่ได้มีแค่มิติด้านนอก คือ สิ่งที่เป็นประสบการณ์ที่รับรู้ได้จากภายนอก เช่น ผ่านการเห็น ได้ยิน หรือทำ แต่ยังมีมิติของการรับรู้และพัฒนาด้านใน รวมถึงอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก หรือจิตวิญญาณด้วย

และบางทีวิสัยทัศน์ที่อยากได้อาจไม่ออกมาในวันนี้ แต่ปรากฏออกมาในวันหลังก็ได้ เมื่อทุกคนในทีมพร้อม และได้เป็นเจ้าของวิสัยทัศน์ร่วมกันอย่างแท้จริง :-)

0 comments: