จิตอาสาทัศนาจร



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ

ฉบับวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๕

คุณครู : เดี๋ยวเดือนหน้า เราจะไปทัศนศึกษากัน

เด็กๆ : เฮ! จะได้ไปเที่ยวแล้ว


ตอนสมัยยังเป็นเด็กๆ มีคำอยู่ 3 คำ ที่ผมรู้สึกว่ามันมีความหมายคล้ายกัน หรือเหมือนกันมาก นั่นก็คือคำว่า ทัศนศึกษา ทัศนาจร และไปเที่ยว เวลาครูพูดถึงทัศนศึกษา สำหรับเด็กๆ นั้นหมายถึง “ไปเที่ยว” หรือ ทัศนาจร นั่นเอง

ปีไหนโรงเรียนวนกลับไปจัดทัศนศึกษายังสถานที่ที่เราเคยไปกันแล้ว จึงมักมีเสียงบ่นโอดโอยกันยกใหญ่ จะไม่ให้บ่นได้อย่างไร ในเมื่อเด็กๆ รู้สึกว่าเคยไปเที่ยวมาแล้ว และจะไม่ให้นักเรียนรู้สึกว่าไปเที่ยวได้อย่างไร ในเมื่อโรงเรียนจำนวนมากไม่ให้ความสำคัญกับมิติการเรียนรู้ในการไปทัศนศึกษา จนคุณครูอาจคิดในใจว่า โรงเรียนลูกจะพาไปเที่ยวอีกแล้วก็เป็นได้

ก็เพราะการไปทัศนศึกษาของโรงเรียนจำนวนมาก ไม่ได้มีการเตรียมครูก่อนไป ไม่มีการเตรียมนักเรียนก่อนไป ว่าการเรียนรู้ที่พวกเขาควรจะได้รับคืออะไร ที่ๆ จะไปมีความหมายสลักสำคัญอย่างไร เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบทเรียนไหนบ้าง ช่วงอยู่นอกสถานที่ ครูก็ไม่ค่อยได้ชวนนักเรียนสังเกต ซักถาม หรือสะท้อน อย่างมากก็แจกใบงานให้นักเรียนไปคัดลอกข้อมูลมาส่ง พอมีต้นฉบับ นักเรียนที่เหลือก็ลอกตามๆ กันไป ทำให้ไม่ค่อยได้ใช้ศักยภาพของการเรียนรู้นอกสถานที่ หรือสภาพปกติอย่างที่สามารถ และควรจะเป็น

ดูไปก็คล้ายกับกิจกรรมจิตอาสาที่หลังๆ พบเห็นกันมากขึ้น เด็กเยาวชนที่มุ่งมั่นมาช่วยเหลือคนอื่นอย่างจริงจัง มีวินัย ตั้งใจทำงานตามที่ผู้ดูแลกิจกรรมแนะนำนั้นก็มีอยู่ แต่ก็ยังพบว่ามีไม่น้อยที่มาแบบทัศนาจร คือทำนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็ถ่ายรูป อัพสเตตัส แชร์บนเฟซบุ๊ค แถมขอลายเซ็นต์คนจัดเพื่อไปเอาคะแนนจากโรงเรียนเสียอีกด้วย

แต่เรื่องราวมันก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินไป และจบลงเช่นนี้ตลอดไปครับ

ธนาคารจิตอาสา เป็นโครงการที่รับ “ฝากเวลา” คือ เป็นสื่อกลางในการสร้างโอกาส ให้เราได้ใช้เวลามาช่วยเหลือกันในสังคม แสดงความตั้งใจที่จะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น โดยจะช่วยแนะนำงานอาสาที่เหมาะกับเวลาว่าง ความสนใจ และความถนัดของเรา ซึ่งขณะนี้ กำลังจัดฝึกอบรมกระบวนกรจิตอาสา หรือพี่เลี้ยงอาสาสมัคร (Training of Trainers หรือ ToT) เพื่อผสานความรู้ในงานจิตวิวัฒน์ จิตตปัญญาศึกษา เข้ากับงานจิตอาสา เป็นการหนุนเสริมให้ผู้ดูแลและจัดกิจกรรมจิตอาสา เพิ่มมิติด้านการเรียนรู้เข้าไปในงานอาสา ทำให้เกิดความมั่นใจและมีทักษะในการใช้เครื่องมือการเรียนรู้ที่หลากหลายสำหรับจัดกระบวนการ รวมถึงการสะท้อน และการถอดบทเรียน

ผมมีโอกาสสัมผัสคอร์สอบรมนี้โดยตรง ทำให้เห็นโอกาสและศักยภาพที่เหล่าผู้ดูแลองค์กรอาสาสมัคร จะช่วยให้บรรดาจิตอาสาเกิดการพัฒนา ไม่ใช่แค่เรื่องความคิด วิเคราะห์ และทักษะทางกายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง การรู้จักใจและเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง การยอมรับผู้อื่น และการลดละอัตตาของตนเอง เป็นการยกระดับจิตวิญญาณของทุกคนในกระบวนการ

ที่กล้าเอ่ยเช่นนี้ เพราะได้เห็นบุคลากรเหล่านี้เริ่มก้าวออกจากพื้นที่คุ้นชิน ไปสู่พื้นที่ท้าทายที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ เห็นพวกเขาสะท้อนตนเอง ให้การรับฟัง และสนับสนุนการสะท้อนบทเรียนของผู้อื่นแล้ว ก็ให้รู้สึกดีใจกับวงการจิตอาสาอยู่ไม่น้อย ที่จะมีกระบวนการทำให้อาสาสมัครเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ได้มากยิ่งขึ้น

ดีไม่ดี อาจส่งผลทางอ้อมทำให้กิจกรรมทัศนศึกษาเป็นกิจกรรมที่มีมิติ ความหมาย และเกิดการเรียนรู้ขึ้นบ้าง ก็เป็นได้

0 comments: