ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2548


บอกเล่ากันในภาษาชาวบ้านที่สุดนั้น "จิตวิวัฒน์" เชื่อว่า

๑) มนุษย์ได้เดินมาถึงทาง (ที่ต้อง) เลือกแล้ว

๒) เพราะอะไร?

เหตุผลประการแรก คือ เพราะสถานการณ์ทำให้เราต้องเลือก

สถานการณ์ในโลกปัจจุบันนั้นไม่ได้ "กำลังเข้าสู่วิกฤต" เพราะเราเข้ามาอยู่ในสถานการณ์วิกฤตนานแล้ว ไม่ว่าจะมองไปด้านใดล้วนแล้วแต่มีระเบิดเวลาที่รอเวลาจะระเบิดทั้งสิ้น ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่วิกฤตระดับประเทศหรือภูมิภาค แต่เป็นวิกฤตของมนุษยชาติโดยรวมทั้งหมด

ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ปรากฏการณ์เรือนกระจก ทำให้โลกร้อนขึ้น น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลาย ชาวเอสกิโมจำนวนมากเสียชีวิตจากการตกทะลุลงไปในพื้นที่บางลง ธารน้ำแข็งที่ปกคลุมเทือกเขาแอลป์ในยุโรปตอนกลางมีพื้นที่ลดลงถึงหนึ่งในสามและขนาดลดลงถึงครึ่งหนึ่ง น้ำแข็งที่ละลายเหล่านี้หายไปไหน? น้ำที่ละลายเหล่านี้ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น คาดการณ์กันว่าประเทศและเมืองชายทะเลจะประสบปัญหาอย่างรุนแรง บังคลาเทศจะสูญเสียพื้นที่ถึงหนึ่งในสี่ และต้องอพยพพลเมืองหลายล้านคน เมืองอย่างกรุงเทพจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

ฤดูกาลต่างๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิมอย่างไม่สามารถคาดเดาได้ เดี๋ยวนี้เมืองไทยมีฝนตกได้เกือบทุกเดือน เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๘ หิมะตกที่รัฐอินเดียน่าของสหรัฐอเมริกาวันเดียวสูงกว่าสถิติหิมะทั้งปี เมื่อฤดูร้อนปี ๒๕๔๖ คลื่นความร้อนได้คร่าชีวิตชาวฝรั่งเศสที่เป็นประเทศที่เจริญทางด้านวัตถุอย่างมากถึงหนึ่งหมื่นห้าพันคน

ไม่เพียงแต่วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ความรุนแรงขัดแย้งระหว่างศาสนา ระหว่างชนเผ่า ระหว่างรัฐกับประชาชน กำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างน่าตกใจ ทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ หรือแม้กระทั่งระดับท้องถิ่น

โรคระบาดต่างๆ ก็มีทีท่าว่าจะรุนแรงมากขึ้น นักวิชาการหลายท่านคาดว่าไข้หวัดนกจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง อาจมีผู้เสียชีวิตถึงสามล้านคน

เหตุผลที่สอง คือ สถานการณ์เหล่านี้ ปัญหาเหล่านี้ แม้มีส่วนที่เป็นเรื่องทางเทคนิค แต่มีรากเหง้ามาจาก "วิธีคิด" การมอง และการแก้ปัญหา

เราอาจพูดว่าปัญหาความรุนแรงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายและการปกครองเข้าแก้ไข เราอาจเสนอทางออกให้ลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ด้วยการพยายามใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ เราอาจพัฒนาระบบเตือนภัยเพื่อป้องกันหายนะภัยจากธรรมชาติ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาในเชิงเทคนิค ซึ่งบ้างไม่สามารถแก้ปัญหาได้ บ้างก็ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ตามมา

ที่มาหรือรากเหง้าของปัญหาอยู่ที่ "วิธีคิด" ของเราในการมองโลกและชีวิตอย่างคับแคบแยกส่วน สังคมส่วนใหญ่ รวมถึงนักวิชาการด้วย ยังเห็นว่าโลกเป็นเพียงแหล่งทรัพยากรที่ใช้ไม่มีวันหมดสิ้น เชื่อว่าการดำรงอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติอยู่บนพื้นฐานการแข่งขันอย่างเสรี โลกทัศน์เหล่านี้เป็นทั้งที่มาของปัญหา ที่มาของวิธีคิดที่ใช้มองและแก้ปัญหาเดียวกัน ซึ่งทำให้เป็นงูกินหางไม่รู้จบ

เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นว่าความรู้วิทยาศาสตร์กระแสหลัก ที่นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุแต่อย่างเดียวนั้นไม่สามารถใช้ในการสร้างทางออกที่ยั่งยืนได้ ดังที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์กล่าวว่า "ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้ ต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง"

เหตุผลที่สาม คือ เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ การวิวัฒนาการทางกายนั้นช้า มันไม่ทันการณ์แล้ว ภายใต้วิกฤตต่างๆที่ก่อตัวและทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะนี้ มนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตนั้นไม่สามารถมีวิวัฒนาการทางกาย เปลี่ยนแปลงไปได้ทัน เราไม่มีเวลาที่จะรอกระบวนการวิวัฒนาการที่อาศัยเวลาเป็นหมื่นเป็นแสนปีแล้ว มนุษยชาติได้เดินทางมาถึงทางแพร่งที่ต้องเลือกแล้ว

๓) เลือกอะไร?

ทางเลือกของเรา คือ เลือกที่จะเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเราตระหนักถึงปัญหาและวิกฤตตรงหน้า หรือเลือกที่จะไม่ทำอะไรและไม่พยายามจะเปลี่ยนแปลงอะไรเลย

หากเราเลือกที่จะทนกับสภาพสังคม สิ่งแวดล้อมเช่นปัจจุบันแบบนี้ต่อไป เลือกที่จะเพิกเฉยต่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก สัญญาณหายนะต่างๆนับไม่ถ้วน ที่สุดแล้วเราจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่บังคับให้เราต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงอยู่ดี แถมยังเจ็บปวดอย่างยิ่งอีกด้วย

หรือหากเราเลือกที่จะรีบเรียนรู้ เราเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เจ็บปวดบ้างไม่มากนัก และเกิด "จิตวิวัฒน์" เราได้เลือกที่จะเผชิญหน้าปัญหา หาทางรอดให้กับมนุษยชาติ โดยใช้ปัญญา นอกกรอบวิธีคิดแบบเดิมๆที่ผ่านมา

๔) เกิด "จิตวิวัฒน์" หมายถึงอะไร?

การวิวัฒนาการทางกายของมนุษย์นั้นไม่ทันกับวิกฤตที่อยู่เบื้องหน้าแล้ว ทางออก ทางรอดของมนุษยชาติจึงอยู่ที่การเปลี่ยนจากการมองโลกแบบแยกส่วน เน้นวัตถุและความแน่นอน มาสู่การมองโลกและชีวิตอย่างเป็นองค์รวม เน้นจิตใจและความสัมพันธ์ และการที่สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

จิตวิวัฒน์ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงระดับขั้นพื้นฐานของจิตใจ จิตวิญญาณ จากจิตเล็กไปสู่จิตใหญ่ หรือ จิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) จากความคับแคบของตัวเองไปสู่จิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ

จิตเล็ก คือ ความรู้สึกนึกคิดที่แคบๆ เห็นอะไรแต่เพียงบางส่วน ทำให้เกิดความบีบคั้นเพราะขัดแย้งกับธรรมชาติ ส่วนจิตใหญ่ หมายถึง ความรู้สึกนึกคิดที่มีพื้นที่กว้างขวาง มองเห็นเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชีวิตและธรรมชาติ เห็นค่าของผืนดินที่เราอาศัยและเติบโต รวมถึงสายน้ำที่เราได้ใช้หล่อเลี้ยงชีวิต ตลอดจนสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่ล้วนส่งผลซึ่งกันและกันอย่างแยกขาดกันไม่ได้

จิตวิวัฒน์ ทำให้การอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติมีได้อย่างสันติ ทำให้มนุษย์เห็นคุณค่าของคนรอบข้าง เห็นความงามของทุกสิ่งรอบตัว เมื่อนั้นเราจึงจะก้าวข้ามความคิดคับแคบที่เคยมองโลก นำไปสู่การแก้วิกฤตต่างๆที่โลกเผชิญอยู่ที่ต้นเหตุของปัญหา โดยอยู่บนพื้นฐานของความรักและความเคารพในกันและกัน ทั้งกับเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ

กระบวนการในการเข้าถึงการมีจิตใหญ่นั้นมีมากมาย หลากหลาย เช่น ขยายขอบเขตของการรับรู้ผ่านกระบวนการทางศิลปะ ผ่านการเจริญสติ ผ่านงานอาสาสมัคร หรือการเข้าถึงธรรมชาติ เป็นต้น ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเกิดกระแสความพยายามที่จะขยายขอบเขตของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันออกไปอย่างกว้างขวาง

๕) ย้ำอีกทีว่า ... เราไม่เปลี่ยนไม่ได้แล้ว และการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เจ็บปวดเลยนั้นไม่มี

๖) แล้ว คลื่นยักษ์จากอันดามัน บอกอะไรกับเรา?

สึนามิบอกเราดังข้อ ๑ ถึง ๕ ข้างต้นนั่นเอง! ๑) สึนามิบอกเราว่าพวกเราได้เดินมาถึงทางที่ต้องเลือกแล้ว ๒) สึนามิบอกเราว่าที่เราต้องเลือก เพราะ เรากำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤต วิกฤตทาง "วิธีคิด" ไม่ใช่ปัญหาแค่ระดับทางเทคนิค และเป็นวิกฤตที่มนุษย์รอการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายไม่ทันแล้ว สึนามิชี้ให้เห็นทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ในพริบตา เห็นถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต

๓) สึนามิบอกเราว่าเราสามารถเลือกได้ว่าจะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของเราตั้งแต่วันนี้ หรือจะทนเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนภัย เสมือนเสียงไซเร็นที่อยู่เบื้องหน้า เราเลือกได้ว่าจะยังคงมองปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นต่างๆด้วยชุดความคิดเดิม หรือจะเกิด "จิตวิวัฒน์"

๔) สึนามิ บอกเราว่าในท่ามกลางความทุกข์แสนสาหัสที่เกิดขึ้น โอกาสแห่งการเติบโต เรียนรู้นั้นอยู่คู่เคียงกัน สึนามิได้แสดงให้เห็นถึงโอกาสแห่งการเกิดจิตวิวัฒน์ การก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวตนไปสู่การให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ผ่านรูปธรรมตัวอย่างที่มากมาย เช่น การหลั่งไหลมาของคลื่นพลังน้ำใจอันมหาศาลของมนุษย์ที่หลั่งไหลมาอย่างมากมาย การแสดงตนของอาสาสมัครทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ผิวพรรณ วรรณะ ที่สำคัญสึนามิยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเจริญสติว่าเป็นรากฐานของสุขภาวะทางจิตวิญญาณอย่างยิ่ง เป็นหัวใจของการมีจิตใหญ่ มีความรักแท้ที่ยิ่งใหญ่ ที่เชื่อมโยงถึงเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ สรรพสัตว์นานา และธรรมชาติทั้งหมด

และท้ายที่สุด ๕) นอกจากสึนามิ จะบอกเราว่าเราไม่เปลี่ยนไม่ได้แล้ว อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เจ็บปวดเลยจะไม่มีก็ตาม สึนามิ (และกลุ่มจิตวิวัฒน์) ก็ยังชี้ให้เราเห็นถึง ความจริง ความดี ความงาม และ ความหวังของมนุษยชาติ ที่ยังมีอยู่ด้วยเช่นกัน

0 comments: