ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2548
เราส่วนใหญ่ต่างชื่นชอบและชื่นชมคนเอาการเอางานครับ โดยเฉพาะท่านที่อยู่ในสถานภาพหัวหน้าทีม ผู้บริหารและเจ้าของกิจการ ถ้าได้ลูกน้องลักษณะนิสัยการทำงาน “เอาการเอางาน” ไว้ร่วมงานแล้ว จะกำหนดภารกิจตั้งเป้าหมายอะไรไว้ย่อมมีโอกาสลุล่วงหรือดำเนินการสำเร็จไปได้
เอาการเอางาน เป็นสำนวนไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายไว้ คือ “ตั้งใจทำงานด้วยความขยันขันแข็ง” คุณสมบัตินี้ย่อมเป็นที่ต้องการของบริษัท ห้างร้าน สถาบัน มูลนิธิ องค์กรต่างๆ แน่นอนครับ ถึงคราวสัมภาษณ์คัดเลือกพนักงานใหม่คราใด ก็มักจะพยายามวัดแววว่าเป็นคนเอาการเอางานดังว่านี้หรือเปล่า บ้างก็ถามผู้สมัครกันตรงๆ เลยว่า คุณเป็นคนขยันแค่ไหน? มาทำงานวันหยุดโดยไม่มีโอทีได้หรือไม่?
สำหรับตัวคนทำงานล่ะครับ? การเป็นคนเอาการเอางาน ขยันขันแข็ง ย่อมช่วยให้เรามีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ยิ่งถ้าทำกิจการส่วนตัวจะยิ่งเห็นประโยชน์ที่ได้รับจากความเอาการเอางานนี้เต็มๆ
แต่จะมีประโยชน์จริงๆ ไหมครับ หากเราต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ชีวิตขาดสมดุล แล้วไร้ความสุข .. อย่างนี้ไม่ได้การครับ เพราะเราต้องทำงานไปพร้อมกับมีความสุขจากการทำงานด้วย
เรียกได้ว่า “เอางาน” และยัง “ได้การ” ด้วยครับ! การทำงานประเภทมุมานะสนใจแต่ตัวงานล้วนๆ ผมขอเรียกง่ายๆ ว่า “เอาแต่งาน” ครับ
เคยมีเพื่อนร่วมงานหรือเคยเป็นคนเอาแต่งานไหมครับ? คนที่ก้มหน้าก้มตาทำงาน ไม่เคยเลยที่จะสนทนาวิสาสะกับเพื่อนร่วมงานในเรื่องอื่น นอกจากการประสานงานตามลำดับขั้นตอน หรือหัวหน้าที่จะพูดกับลูกทีมเมื่อต้องการสั่งงาน ตำหนิ อธิบายงานเท่านั้น ส่วนลักษณะอาการเอาแต่งานที่หนักกว่านี้ก็อย่างเช่น มุ่งสร้างผลงานให้ตัวเองเป็นหลัก เรื่องจะช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานอื่นนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ ทำนองว่างานใครจะเป็นไงก็ช่าง งานฉันเสร็จเป็นพอ หากทำงานแบบนี้ถือว่าได้งาน แต่ท่าจะไม่ได้การละครับ โรคเครียดรุมเร้า ความสุขเตลิดหนี สุขภาวะทุกมิติก็ทรุดโทรมไปด้วย
โอกาสที่เราทำงานมาแล้วเกือบครบปีนี้ ผมจึงชักชวนเราให้ “เอาการ ไม่เอา(แต่)งาน” ครับ ยืนยันว่า “ไม่เอา(แต่)งาน” ไม่ใช่ชวนให้ไม่เอางานนะครับ เพราะผมไม่ได้ชี้ช่องให้โดดงาน เฉื่อยงาน แต่เชื้อเชิญให้เราเปิดให้มี “พื้นที่นอกงาน” (Non-work Space) อยู่ในชีวิตการทำงานประจำวันของเรากัน สร้างพื้นที่นอกงานนี้ให้พอเหมาะพอสมควรเป็นสัดส่วนพอดีกับงานประจำด้วยนะครับ ไม่เอาชีวิตหรือทั้งชีวิตไปผูกกับตัวงานตลอดเวลา
พื้นที่นอกงานนี้ ใช่มีความหมายเชิงกายภาพอันเป็นสถานที่เท่านั้นครับ แต่หมายรวมถึง ความนึกคิดของเรา กิจกรรมที่เราทำ ทั้งในและนอกสถานที่ทำงาน สำหรับแต่ละคนต่างมีพื้นที่นอกงานในแบบของตัวเองต่างกันออกไป เช่น พักกลางวันก็หยุดคิดกังวลเรื่องงานไปเพลิดเพลินกับอาหารกลางวันให้เต็มที่ ระหว่างเดินไปติดต่องานฝ่ายอื่นก็แวะไปไต่ถามสารทุกข์สุกดิบของเพื่อนต่างฝ่ายบ้าง การจัดเป็นโต๊ะกาแฟในสำนักงาน สร้างมุมหนังสือเล็กๆ ไว้ในออฟฟิศ
ตัวอย่างง่ายๆ กรณีหัวหน้าชวนลูกทีมไปทานข้าวกลางวัน โอกาสนี้ได้เปิดให้ถามความเป็นไปของกัน ได้ทราบว่าคนในทีมมีความสุขกับปริมาณงานที่มอบหมายให้หรือไร บรรยากาศความไม่เป็นทางการและอยู่นอกงานนี้แหละครับจะช่วยให้เผยความรู้สึกได้มากกว่า ถามคำถามเดียวกันในห้องผู้จัดการกับถามบนโต๊ะอาหารนั้น แม้เป็นประโยคเดียวกัน แต่ย่อมเจือน้ำเสียงและความรู้สึกต่างกัน แน่นอนครับว่าประการหลังจะมีความจริงใจและเปิดเผยกว่ามาก
การมีพื้นที่นอกงานร่วมกันในหมู่คนทำงาน ทำให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้กันและกันผ่านกิจกรรมที่ไม่ใช่การทำงานครับ เปิดโอกาสให้เราได้เห็นมิติความเป็นเพื่อนเป็นพี่ ความเป็นมนุษย์ของหัวหน้าทีม เห็นความอ่อนโยนของผู้บริหาร เห็นความเป็นผู้นำของพนักงานระดับปฏิบัติการ สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมเราให้มีความเข้าใจกันมากขึ้น เป็นพื้นฐานที่สำคัญและมั่นคงของการทำงานร่วมกันเป็นทีม (Teamwork) ที่เกื้อหนุนสอดประสานกันไป
พื้นที่นอกงานที่ผมสนับสนุนและลุ้นให้เราได้ทำเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายคือ งานอาสาเพื่อส่วนรวมครับ เป็นกิจกรรมหรืออะไรก็ได้เล็กๆ น้อยๆ ทำด้วยใจ ให้ทุกคนมีจิตอาสา ทำในที่ทำงานหรือชุมชนละแวกใกล้ก็ได้ เริ่มจากบริจาคโลหิต ร่วมกันจัดกิจกรรมบริจาคเสื้อในช่วงฤดูหนาว ทำความสะอาดปลูกแต่งต้นไม้บริเวณทางเท้าหน้าอาคาร ไปจนถึงชักชวนพนักงานร่วมกันอ่านหนังสือให้คนตาบอด หรือแม้แต่สอนภาษาอังกฤษให้เด็กๆ ชุมชนใกล้ที่ทำงาน
ประโยชน์อย่างยิ่งคือ คนทำงานได้ใช้พื้นที่นอกงานยกระดับจิตใจ ได้ทำสิ่งดีๆ แก่ผู้อื่น ได้ตระหนักรับรู้ว่าเราสัมพันธ์เชื่อมโยงกับคนอื่นทั้งในที่ทำงานด้วยกัน อยู่ในอาคารเดียวกัน อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน บริษัทองค์กรเองก็ได้ภาพลักษณ์ขององค์กร ดีกว่าพยายามสร้างภาพพจน์ให้ดีแต่สิ้นเปลืองงบประมาณประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทีวีวิทยุ
ชวนกันมาสร้าง Happiness@Work มา “เอาการ ไม่เอา(แต่)งาน” โดยเปิดพื้นที่นอกงานกันครับ [ตัวอย่างเช่น บริษัทปูนซีเมนต์ไทย พาพนักงานร่วมกันทำความสะอาดเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยากับโครงการ “อาสาเพื่อในหลวง” (www.V4King.in.th) โดย สสส. และเครือข่ายจิตอาสา (volunteerspirit.org) ในวันอังคารที่ ๒๗ ธันวาคมนี้ สร้างความดีแก่สังคมถวายแด่พระองค์ท่านในวโรกาสจะทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปีครับ] :-)
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment