ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2548


เดือนธันวาคมมาถึงแล้วครับ! เดือนที่บรรยากาศอบอวลไปด้วยความสุข ด้วยว่าอุดมทั้งเทศกาลงานรื่นเริง วันหยุดชดเชย และวาระสำคัญต่างๆ ไล่เรียงมาเป็นลำดับนับแต่ วันพ่อ วันรัฐธรรมนูญ วันคริสต์มาส และวันสิ้นปี ยังไม่นับงานฉลองปีใหม่ของบรรดาบริษัทห้างร้านต่างๆ บางคนยังได้รับโบนัสปลายปีอีกด้วย

ช่วงเวลาแห่งความสุขนี้เราจะเห็นทุกคนต่างให้สิ่งดีๆ แก่กันและกันในหลากหลายแบบครับ นับแต่การน้อมใจภักดิ์ถวายพระพรแด่พระองค์ท่านจากใจชาวไทยทุกหมู่เหล่า การกราบเท้าและบอกรักคุณพ่อ (คุณแม่ และญาติผู้ใหญ่) ขอบพระคุณที่ท่านได้ให้กำเนิดอบรมเลี้ยงดูเรามา การเลือกสรรหาของขวัญที่มีคุณค่าทางจิตใจมอบให้แก่เพื่อน ให้แก่คนรัก สำหรับหลายคนได้ใช้ช่วงสิ้นปีนี้ทำบุญในศาสนสถาน ให้ทานคนยากไร้

และโดยเฉพาะวันที่ ๒๖ ธันวาคมปีนี้ เราคงลืมวาระครบรอบ ๑ ปีของหายนภัยสึนามิใน ๖ จังหวัดภาคใต้ไปไม่ได้ การสูญเสียจากอุบัติภัยที่ไม่คาดฝันนี้ ได้เกิดคลื่นสะท้อนกลับนำความรักความห่วงใยและน้ำใจหลากไหลสู่พี่น้องผู้ประสบภัยในพื้นที่ ปีนี้เราคงได้หวนระลึกว่าต่างได้เคยให้สิ่งดีๆ เพื่อเยียวยาใจกัน ทั้งสิ่งของเครื่องใช้ และร่วมลงมือลงแรงทำงานอาสาสมัครอย่างแข็งขันกันมาแล้ว

พลังน้ำใจที่มุ่งมั่นช่วยเหลือกันนับแต่เกิดหายนภัยนี้ เป็นปรากฏการณ์สำคัญยืนยันว่าโดยพื้นฐานแล้วทุกคนต่างมีจิตใจที่ดีงามภายใน พร้อมที่จะให้ พร้อมที่จะแบ่งปันแก่เพื่อนที่มีทุกข์ กล่าวได้ว่า วันที่ ๒๗ ธันวาคม ถัดจากวันที่สูญเสีย เป็น "วันจิตอาสา" วันปลุกกระแสอาสาสมัครของไทยและทั่วโลก วันสำคัญอีกวันหนึ่งซึ่งเราทุกคนจดจำและเป็นวันที่ได้ให้สิ่งดีๆ แก่กันอีกวันหนึ่งในเดือนธันวาคม

การให้และการได้รับนั้นต่างมีความสุขเช่นกันครับ ไม่ว่าจะเป็นการให้เพียงเล็กน้อย เช่น ของขวัญปีใหม่สำหรับมิตรสหาย หรือการให้เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลชีวิตเพื่อนพี่น้องชาวใต้ที่ประสบภัยธรรมชาติ เราเองต่างสามารถให้ได้มากน้อยตามกำลังและโอกาสของเราเอง หลายคนยืนยันชัดเจนครับว่าเขามีความสุขมากมายจากการได้อุทิศเพื่อคนอื่น และความสุขที่หลายคนได้รับกลับมานั้นก็ได้เปลี่ยนทัศนะต่อโลกและชีวิตของเขาไปโดยสิ้นเชิง

แต่ขณะเดียวกัน บางคนกลับยังไม่พบความสุขจากการให้ครับ บ้างยังรู้สึกว่าการให้สิ่งของไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืนและไม่ส่งเสริมให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ บางคนหลังจากได้บริจาคทรัพย์แล้วความรู้สึกดีก็จืดจางลงอย่างรวดเร็ว บ้างถึงกลับเสียใจที่พบว่าผู้รับไม่ได้มีสีหน้ายินดีกับความช่วยเหลือของเขา พาลให้ตั้งคำถามต่อความสุขที่ได้จากการทำดี ความสุขจากการได้ให้ไปเสียเลย

ความสุขจากการให้คืออะไร? หลายวันที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมงานของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ที่ประเทศไต้หวัน ซึ่งศูนย์คุณธรรม (ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม) ได้เอื้อเฟื้อการเดินทางครั้งนี้ ผมได้พบเห็นเรื่องราวดีๆ ต่างๆ มากมายที่เกิดจากแรงบันดาลใจ ความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์และต่อโลก และผมพบว่าเหล่าอาสาสมัครจำนวนนับล้านของมูลนิธิฉือจี้นั้นมีความเชื่อมั่นต่อความสุขจากการให้เพียงไร

มูลนิธิฉื้อจี้ซึ่งนำโดยท่านธรรมจารย์เจิ้งเหยียนนั้น มีพันธกิจเพื่อเพื่อนมนุษย์ต่างๆ มากมายครับ สามารถก่อตั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาล ตลอดจนมีอาสาสมัครจำนวนหกล้านกว่าคน ครอบคลุมหลายสิบประเทศทั่วโลก แต่สิ่งสำคัญที่น่าสนใจที่สุดมิได้อยู่ที่ความใหญ่โตของอาคาร หรือจำนวนอาสาสมัครครับ

สิ่งสำคัญที่ผมได้พบคือ ชาวฉือจี้ทุกคนถือว่าการไปช่วยเหลือผู้อื่นนั้น จะต้องไม่ถือว่าเขาอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าเรา แต่เราจะเคารพเขาซึ่งเป็นผู้รับอย่างนอบน้อมและจริงใจ คุณจะไม่พบหรอกครับว่าชาวฉือจี้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยการโยนสิ่งของลงจากเฮลิคอปเตอร์ หรือส่งของให้โดยไม่มองหน้าผู้รับ แม้ว่าจะรีบเร่งหรือมีของจำนวนมากแค่ไหน แต่เขาจะพนมมือไหว้สวัสดีผู้รับอย่างจริงใจ ยื่นของให้ด้วยสองมืออย่างเคารพนบนอบ ด้วยเพราะเราถือว่าความทุกข์ของผู้ประสบภัยในฐานะผู้รับนั้น ได้เปิดโอกาสให้เราได้ให้ ให้เราได้สร้างกุศล ก่อบุญ และได้พัฒนายกระดับจิตใจของเรา ถือเป็นเนื้อนาบุญของเรา

กลับมาทบทวนนึกถึงเพื่อนๆ เราที่เขาไม่มีความสุขจากให้ หรือแม้แต่ตัวเราเองในบางครั้งที่ได้ให้ทานช่วยเหลือผู้อื่นแต่พบว่าไม่ได้มีความสุขอย่างแท้จริงกันครับ ผมชักชวนให้เราลองเปลี่ยนมุมมองใหม่ในการให้ เรียนรู้จากแนวทางของชาวฉือจี้ มาสู่การให้ของเราที่ช่วยเขาด้วยความขอบคุณ และเคารพในตัวคนที่เป็นผู้รับ ในฐานะที่มีสถานภาพทัดเทียมกับเรา เพียงแต่ ณ เวลานี้ที่เขามีทุกข์ เป็นเหตุเป็นช่วงเวลาที่ได้เปิดโอกาสให้เราได้ทำดี ได้ขัดเกลาจิตใจของเราให้ได้มองออกไปพ้นจากตัวเอง

ไม่จำเป็นว่าการทำสิ่งดีๆ ให้คนอื่นนี้ต้องเป็นเรื่องช่วยเหลือผู้ประสบภัยเท่านั้นนะครับ แต่รวมถึงทุกวันในชีวิตของเรา ทั้งในบ้าน ในสถานที่ทำงาน สิ่งเล็กๆ น้อยในบ้านและที่ทำงานเราก็ทำเพื่อช่วยเหลือกันได้ เราช่วยเพื่อนร่วมงานพร้อมกับรู้สึกดีว่าเขาทำให้เราได้มีโอกาสทำดี เช่น เขาใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์บางอย่างไม่เป็น เราก็สอนเขา ทำให้เราได้ทบทวนความรู้ของเรา และเราก็รู้สึกเคารพเขาอย่างจริงใจ รู้สึกว่าไม่ใช่เพราะเขาด้อยกว่ารู้น้อยกว่าจึงต้องการฝีมือเราช่วย แต่เพราะครั้งนี้เขาต้องทำสิ่งที่ไม่ถนัด ไม่คุ้นเคย เปิดให้เราได้ช่วยเหลือ และเราได้รับเกียรติที่จะได้ช่วยครับ ง่ายๆ แค่นี้เราก็มีสุขจากการให้แน่นอนครับ

แถมอีกนิดครับ เรามาทำให้เดือนธันวาคม เดือนแห่งความสุขของเราเป็น เดือนแห่งความสุขจากการทำดีให้คนอื่น กันเถอะครับ ทาง สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) และเครือข่ายจิตอาสา (www.VolunteerSpirit.org) เองก็มี โครงการอาสาเพื่อในหลวง (www.V4King.in.th) ชักชวนพวกเราชาวไทยมีจิตใจจิตสำนึกอาสา ทำอะไรก็ได้มากน้อยแก่ครอบครัว แก่ที่ทำงาน แก่ส่วนรวม ถวายแด่ในหลวงในวโรกาสจะทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปี มาร่วมกันให้แก่คนรอบข้างอย่างเคารพและขอบคุณกันด้วยใจกันครับ :-)

0 comments: