ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 2 กันยายน 2550


ระหว่างการประเมินสองแบบที่คุณมาการ์เร็ต วีตเลย์ เธอได้อธิบายเอาไว้นี้ “การประเมินด้วยมาตรฐาน” ดูจะเป็นรูปแบบที่พวกเราคุ้นเคยกันดี จริงไหมครับ? เพราะตั้งแต่เล็กจนโตเราคงได้มีประสบการณ์เคยทำข้อสอบแบบปรนัยให้เลือกข้อใดข้อหนึ่ง หรือยากขึ้นไปอีกนิดก็เป็นข้อสอบอัตนัยที่ตั้งคำถามมาให้เราเขียนตอบอธิบาย

ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับข้อสอบแบบปรนัยหรืออัตนัย สุดท้ายเราต้องเลือกคำตอบ หรือเขียนคำตอบ ให้ตรงตามเฉลยที่ตั้งไว้แต่ต้นแล้วให้มากที่สุด (อยู่ดี) และแน่นอนว่าข้อสอบนี้ต้องเกิดจากการคิดการออกแบบและตั้งคำถามโดยครูอาจารย์ และท่านผู้รู้เหล่านี้แหละจะนำคำตอบของเราไปเทียบกับคำเฉลยเพื่อ “ประเมิน” ว่าเรามีความรู้แค่ไหน มีความสามารถเพียงไร

วิธีสอบคุ้นๆ กันดีแบบนี้แหละครับ “การประเมินด้วยมาตรฐาน”

สำหรับแบบที่สองชื่อว่า “การประเมินที่มีชีวิตด้วยวงจรป้อนกลับ” นั้น คุณมาการ์เร็ต วีตเลย์ ไม่ได้ตั้งชื่อนี้ขึ้นมาลอยๆ ครับ มันมีส่วนต่างกันตรงที่เธอเห็นว่าการประเมินแบบนี้มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อในเรื่องการเจริญเติบโต ความสามารถในการปรับตัว และการมีพัฒนาการของของชีวิต

เอ ... แล้วการสอบแบบแรกไม่มีชีวิตหรืออย่างไร? ความหมายไม่ได้ตรงไปตรงมาว่าคนออกข้อสอบและคนทำข้อสอบไม่มีชีวิตไม่มีหัวจิตหัวใจ แต่กระบวนทัศน์ที่เป็นพื้นฐานสำหรับการวัดประเมินด้วยมาตรฐานนั้นมีที่มาจากวิทยาศาสตร์กลไก เราจึงให้ความเชื่อมั่นกับสิ่งที่วัดค่าได้แน่นอน ควบคุมจัดการได้ มีเป้าหมายที่ชัดเจน และต้องการให้กระบวนการดำเนินไปตามที่คาดการณ์

ฉะนั้น คำถามปรนัยในแบบแรกจึงต้องมีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียว และคนตอบห้ามทะลึ่งเขียนคำตอบเป็นอย่างอื่นนอกเหนือไปจากทางเลือก ก. ข. ค. ง. 4 ข้อนี้ที่จัดให้ หรือบางวิชาในบางคณะ อาทิ คณะแพทยศาสตร์ ก็อาจมีตัวเลือกที่วิจิตรพิสดารมากขึ้นไปอีก เช่น ก., ข., ค., ถูกทั้ง ก. และ ข., ถูกทั้ง ก. และ ค., ถูกทั้ง ข. และ ค., ถูกทั้ง ก. ข. และ ค., หรือ ผิดทั้งหมด

ถึงจะเปิดอิสระเพิ่มขึ้นเป็นอัตนัย แต่เมื่อเป็นการประเมินด้วยมาตรฐาน คนตอบก็ต้องพยายามเขียนไปตามลำดับและให้คำตอบตรงกันกับคำเฉลยที่มีไว้ล่วงหน้าแล้ว

ไม่ใช่ไม่ดีหรอกครับ แต่ไม่ได้เหมาะกับทุกเรื่อง ถ้าเป็นการวัดคุณลักษณะของสิ่งของสถานที่ล่ะก็ใช่เลย หาความสูง ชั่งน้ำหนัก วัดอุณหภูมิ หรือจะวัดความรู้ในเชิงความจำอย่างสูตรคูณ ชื่อบุคคลสำคัญ การคำนวณทางคณิตศาสตร์ อย่างนี้คือสอบแบบการประเมินด้วยมาตรฐาน

ย้อนไปดูการประเมินที่มีชีวิตด้วยวงจรป้อนกลับกันอีกทีว่าเป็นอย่างไร ผมเคยเล่าไว้แล้วว่าการวัดประเมินแบบนี้ให้ความสำคัญกับบริบทเรื่องราว เพราะความมีชีวิตของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน แทนที่จะกำหนดใช้มาตรฐาน การสอบแบบนี้ก็จะเปิดช่องไว้สำหรับการรับรู้ ชื่นชม ให้คุณค่ากับนวัตกรรมใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ ความฝันจินตนาการ สิ่งที่ทำให้เราร้อง “ว้าว” ด้วยความทึ่ง ความประหลาดใจว่า “อืมม์ ... เนอะ ... คิดได้ไงเนี่ย!”

สิ่งเหล่านี้ถ้าใช้การประเมินด้วยมาตรฐานจะมองไม่เห็นเลยครับ เพราะเชื่อว่าการทำซ้ำและการคาดการณ์ได้เป็นเรื่องสำคัญและมีคุณค่า อะไรที่อยู่นอกเหนือคำเฉลย (ของครู) หรือมาตรฐานที่ตั้งไว้ (ในตำรา) อาจถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งผิดพลาด หรือเป็นตัวก่อกวนในระบบไปเสียอีก

ตัวอย่างชัดๆ เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานเสวนา “Creativity: Key to Success” จัดโดยนิตยสาร Modern Mom วิทยากรทุกท่านเห็นพ้องต้องกันว่า การไม่เปิดให้เด็กแสดงความเห็นนอกกรอบ ต้องเป็นไปตามหนังสือตำรา หรือตามคำบอกเล่าของครู ดังที่พบมากในการศึกษาบ้านเรานั้น ล้วนไม่เอื้ออำนวยต่อการแสดงความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก

การประเมินที่มีชีวิตฯ จึงเป็นอีกกระบวนทัศน์สำหรับการสอบที่ให้ความสนใจต่อการเจริญเติบโต สร้างสรรค์และปรับตัว ดังนั้น การตั้งคำถามจึงมีลักษณะเปิดกว้างพร้อมจะรับข้อมูลคำตอบจากทุกๆ ด้าน การให้ความหมายต่อเรื่องใดๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะวิวัฒนาการก้าวไป เพราะถ้ากำหนดให้หยุดนิ่งหรือแน่นอนตายตัวเมื่อไหร่ นั่นแหละครับจึงเป็นลักษณะของเครื่องจักรกลไก เป็นระบบที่เราต้องการความแน่นอน มีการทำงานแบบเดิมซ้ำๆ ไม่ต้องเติบโตและไม่ปรับตัว

ประการสำคัญอีกอย่างที่ลืมไม่ได้คือ การปรับตัวของชีวิตนั้นเป็นพัฒนาการ และชีวิตจะวิวัฒนาการร่วมไปกับสิ่งแวดล้อม การสอบในมุมมองนี้จึงเป็นส่วนสำคัญสำหรับการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงพัฒนาตัวเอง ภายในบริบทสังคมและสิ่งแวดล้อมของผู้เรียน

เด็กๆ ในป่าชุมชนจึงไม่จำเป็นต้องท่องชื่อสามัญทางวิทยาศาสตร์ของแมลงไว้เพื่อตอบข้อสอบ แต่ควรจะได้รู้จักชื่อท้องถิ่นและนิสัยของแมลงนานาชนิดที่เกี่ยวข้องอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของเขา

ที่สำคัญ คือ การเข้าใจถึงลักษณะที่แท้จริงของกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ ว่ามนุษย์แต่ละคนนั้นมีความแตกต่างหลากหลายกันทั้งตามธรรมชาติ และตามสังคม วัฒนธรรมประเพณี สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงประสบการณ์ในอดีตแต่ละช่วง ทำให้แต่ละคนมีวิถี จริต จังหวะ และอัตราการเรียนรู้แตกต่างกันไป การเรียนรู้และการสอบประเมินที่เหมาเอาว่าผู้เรียนแต่ละคนเหมือนกัน เมื่อถึงเวลาหนึ่งๆ ต้องผ่านตามเกณฑ์หนึ่งๆ จึงเป็นสิ่งที่น่าขบขันและน่าเศร้าในคราเดียวกัน

ฐานคิดที่อาจนำไปสู่การพัฒนาการวัดประเมิน การสอบที่เหมาะสมกับมนุษย์มากขึ้น ก็คือ การเปิดพื้นที่ให้มี “การประเมินเหตุ” ควบคู่ไปกับ “การประเมินผล” เพราะบางครั้งเราอาจไม่รู้ว่ากระบวนการเรียนรู้ที่เราอยากให้เกิดในผู้เรียนนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด จะไปบังคับให้เกิดก่อนที่เราจะวัดก็ไม่ได้ แต่สิ่งที่เรารู้จากหลักปัจจยการ ที่ว่าสิ่งๆ หนึ่งเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีเหตุอันเป็นปัจจัยให้เกิดผลนั้น ผลที่ดีก็ย่อมมาจากการมีเหตุที่ดี ดังนั้น เราก็อาจจะวัดว่าการเรียนรู้ตามที่เราอยากเห็นนั้น มันมีเหตุมีปัจจัยที่เอื้อให้เกิดขึ้นหรือไม่ สักกี่มากน้อย หรือเรียกอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการประเมินปัจจัยนำเข้า (Input) และกระบวนการ (Process) ควบคู่ไปกับการตรวจดูผลลัพธ์ (Output) ผลปลายทาง (Outcome) หรือผลกระทบ (Impact)

สำหรับการเรียนรู้แล้ว การสอบซึ่งน่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุดไม่ใช่การเลือกใช้การประเมินด้วยมาตรฐาน หรือใช้การประเมินที่มีชีวิตด้วยวงจรป้อนกลับ อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ควรจะได้ใคร่ครวญ “ใส่หัวใจ” ลงไปในกระบวนการสอบ เพื่อจะได้เป็นกระบวนการที่มีความสุขมากกว่าความเครียด

แนวโน้มช่วงสามสิบปีผ่านมาก็พบว่าเป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ การสอบวัดตามเกณฑ์ลดน้อยลง คุณบราวน์และคณะทำงานสำรวจพบว่าการสอบข้อเขียนและสอบประเมินโดยผู้สอนมีน้อยลง แต่มีการใช้วิธีทำงานในวิชาเรียนและประเมินการเรียนรู้โดยตัวผู้เรียนมากขึ้น ชัดมากๆ คือเดิมใช้การสอบแบบวัดผลลัพธ์ หรือดูปลายทางเป็นสำคัญว่าจำได้มากน้อยแค่ไหน กลายมาเป็นการประเมินกระบวนการมากขึ้น

ผลการสำรวจของเขาคงไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้เราเท่าไหร่กระมังครับ เพราะพวกเราในแวดวงการศึกษาก็พอจะได้ยินได้เห็นและรับรู้การเปลี่ยนแปลงในวงการศึกษาทั้งต่างประเทศ และวงการศึกษาทางเลือกของไทยเรามิใช่น้อยเลย หากแต่ว่าเรายังไม่กล้าจะเปลี่ยนแปลง หรือยังไม่สามารถออกไปพ้นจากกรอบวิธีการเดิมๆ ที่ถูกกำหนดมาว่าต้องเป็นไปในแนวทางนี้เท่านั้น

ใส่หัวใจให้การสอบแล้วเราอาจจะพบคำตอบว่า การสอบไม่ใช่กระบวนการเพื่อการวัดประเมินให้รู้ผลเท่านั้น ดังที่ดอกเตอร์ Daniel L. Stufflebeam นักวิชาการผู้เป็นเสมือนเจ้าพ่อแห่งวงการวัดประเมิน เคยบอกไว้ว่า “เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของการประเมินไม่ใช่เพื่อพิสูจน์ แต่คือเพื่อพัฒนา -- to improve, not to prove.” นั่นเองครับผม :-)

0 comments: