ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 16 กันยายน 2550


เมื่อเร็วๆ นี้ ผมเพิ่งได้ไปเยี่ยมผู้ต้องหาซึ่งถูกฝากขังในเรือนจำครับ แปลกใจเหมือนกันที่ครั้งนี้เป็นครั้งแรก เพราะดูเหมือนคนใกล้ชิดที่คุ้นเคยทั้งหลายดูจะมีแนวโน้มได้แวะเวียนเข้าไปหลายคน แต่ก็มักเป็นด้วยเหตุผลจากการทำเรื่องดีๆ ทั้งนั้นนะครับ

เธอและเขาเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นคนจำพวกที่มีความกล้าเหนือมนุษย์ปรกติทั่วไป กล้ายืนหยัดแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อความดีงามของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิในฐานทรัพยากรหรือสิทธิของชนกลุ่มน้อย ชนชายขอบต่างๆ

สาเหตุที่ทำให้ผมได้ไปเรือนจำนั้นเป็นเพราะรุ่นพี่ที่สนิทสนมนับถือชอบพอกันมาก เขาได้เข้าไปนอนอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครอยู่นานเกือบสัปดาห์

ด้วยความที่เป็นครั้งแรก ผมจึงเกิดอาการงงๆ ว่าเขาต้องทำอย่างไรบ้าง ทำอะไรก่อนหลัง จะต้องลงชื่อในบัตรแจ้งเยี่ยมญาติหรือไม่ ต้องรอตรงไหน ซื้อกับข้าว อาหาร ขนม เป็นของฝากอย่างไร ดีที่กระบวนการไม่ยากเย็น จึงใช้เวลาไม่นานในการจัดหาข้าวเหนียว หมูเค็ม ปลาสลิด กุนเชียง เงาะ ลองกอง มะม่วงและอื่นๆ เป็นเสบียงสำหรับวันเสาร์-อาทิตย์ที่ห้ามเยี่ยม

แม้จะอยู่เยี่ยมได้ไม่นาน แต่ก็รับรู้ถึงความขัดแย้ง ความคับข้องของบรรยากาศ มันช่างเป็นสภาพการณ์และพื้นที่ซึ่งตึงเครียดมาก อาจจะเป็นสถานที่อันมีความเขม็งเกร็ง ขัดแย้งกันมากที่สุดแห่งหนึ่งของมนุษยชาติ ขัดแย้งระหว่างความเชื่อในเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิภายในมนุษย์แต่ละคนกับรูปธรรมของการกระทำที่เราได้พบเห็น ขัดแย้งระหว่างหน้าที่ของระบบที่มีเพื่อจำกัดเสรีภาพกับจิตวิญญาณและเจตจำนงอิสระของมนุษย์ หรือขัดแย้งระหว่างความรู้สึกของผู้ได้รับความเสียหายกับความรักความผูกพันของครอบครัวของผู้ต้องหา

การไปเยือนสถานที่อย่างนี้ยังทำให้ผมหวนนึกถึงรุ่นน้องอีกคนหนึ่ง เธอมีความสามารถในการคลี่คลายความขัดแย้งโดยเฉพาะความขัดแย้งในใจของผู้คน เธอเป็นนักจิตบำบัดผู้สนใจทำงานช่วยเหลือนักโทษประหาร โครงการวิจัยระดับปริญญาเอกที่เธอเคยเสนอคือการเข้าไปช่วยให้คนเหล่านี้ได้สงบจิตสบายใจในช่วงท้ายของชีวิต

ขณะที่อาจารย์บางคนในคณะกลับวิจารณ์งานนี้ว่าไม่น่าทำ เพราะท่านเห็นว่ามันเสียเวลา อีกไม่นานคนเหล่านี้ก็จะไปแล้ว สู้เอาเวลามาช่วยคนที่จะยังอยู่ อย่างงานจิตวิทยาในเด็กยังจะดีกว่า

ผมทึ่งและประทับใจในความมุ่งมั่นและจิตใจของเธอ เพราะเธอไม่ขอทำงานวิจัยที่ไม่ได้เป็นผลงานอันมาจากความคิดและความพยายามของเธอเอง แม้ว่าจะเป็นงานขั้นสุดท้ายที่จะได้สำเร็จการศึกษาก็ตาม สุดท้ายเธอก็เลือกลาออกจากคณะ เพื่อแสดงจุดยืนทางความคิดและวิชาการของตัวเอง

ส่วนรุ่นพี่คนที่ผมไปเยี่ยม เขาก็ต้องเข้าไปอยู่ในสถานที่อย่างเรือนจำเหมือนกัน สาเหตุนั้นก็มีที่มาจากการมีจุดยืนอีกเช่นกัน เพราะในช่วงที่สถานการณ์บรรยากาศทางการเมืองของประเทศไทยยังอยู่ใต้กฎอัยการศึก เขาก็ได้เลือกที่จะแสดงจุดยืนทางการเมืองของเขา

“เสรีภาพของคนเรานั้นมี ๒ อย่าง คือ เสรีภาพทางความคิด และเสรีภาพทางกาย การที่ผมอยู่ในนี้แม้จะถูกจำกัดเสรีภาพทางกาย แต่ไม่ได้ถูกจำกัดเสรีภาพทางความคิด และก็เป็นการเลือกด้วยตนเอง ผมได้เลือกแล้ว จากนี้ก็เป็นหน้าที่ของแต่ละคนข้างนอก ที่จะต้องเลือกว่าจะใช้สิทธิและเสรีภาพของตนเองอย่างไร”

พี่เขาผู้ซึ่งทำงานอาสาสมัครมาต่อเนื่องยาวนาน ยังกล่าวเสริมอีกด้วยว่า “นี่เป็นงานอาสาสมัครที่ท้าทายที่สุด มากกว่าทุกๆ ครั้ง” หลังจากหยุดคิดพักหนึ่ง “บางคนอาจไม่เรียกว่าเป็นงานอาสาสมัครนะ แต่ผมขอเรียกว่าผมอาสาตัวเองเข้ามาตรงนี้ละกัน”

ผมตั้งคำถามกับตนเองว่า คนเหล่านี้เขาเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่างนั้น เขาเลือกในฐานะอะไร? อะไรเป็นเกณฑ์คุณค่าและบรรทัดฐานในการตัดสินใจของเขา ไม่ว่าจะในกรณีรุ่นน้องที่แสดงจุดยืนทางวิชาการ หรือในกรณีรุ่นพี่ที่แสดงจุดยืนทางการเมือง

คำถามนี้ทำให้ผมนึกถึงท่านทะไลลามะ ผู้เป็นประมุขทางศาสนาและเป็นผู้ปกครองทิเบต ดินแดนหลังคาโลกที่ผู้คนล้วนศรัทธาในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศจีน ทิเบตจึงถูกรัฐบาลจีนส่งกำลังทหารเข้ายึดครอง ผนวกรวมดินแดนแห่งนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ

จุดเปลี่ยนนี้เองที่ทำให้ท่านซึ่งยังเยาว์วัยในเวลานั้น ต้องหลีกลี้ภัยออกมายังเมืองธรรมศาลา ในประเทศอินเดีย นับจากนั้นเป็นต้นมา ท่านได้เผยแพร่คำสอนมากมายให้แก่โลก ขณะเดียวกันก็เป็นสัญลักษณ์และตัวแทนการเรียกร้องสันติภาพและความสงบสุขให้กลับคืนสู่ทิเบต

ต่อคำถามว่าด้วยการเลือกในฐานะอะไรนี้ ท่านเคยกล่าวไว้ว่า การตัดสินใจกระทำการสิ่งใดๆ ท่านจะพิจารณาตามฐานะที่ท่านเป็น เพราะในเวลาเดียวกันที่ท่านเป็นคนทิเบต ท่านยังคงมีสถานภาพฐานะเป็นลามะหรือพระด้วย และแน่นอนที่สุดคือ ท่านเป็นมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ

ท่านกล่าวว่าในฐานะประชาชนคนทิเบต ท่านย่อมต้องมีความคิด และการกระทำที่สอดคล้องเหมาะสม สามารถแสดงจุดยืนเกี่ยวกับประชาชนและประเทศทิเบต

แต่การแสดงออกของท่านก็ไม่ใช่ว่าจะไร้ขอบเขต ไม่มีขีดจำกัด เพราะหากต้องสูญเสียเลือดเนื้อชีวิตผู้คนเพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งเสรีภาพในการปกครองตนเองของทิเบตแล้ว ท่านก็ไม่คิดกระทำ เพราะในฐานะที่เป็นพระ ท่านก็มีวินัยสงฆ์กำกับ การแสดงออกอะไรที่ไม่เหมาะสม ท่านก็พึงละเว้นงดเว้นเสีย

ท่านทะไลลามะยังไปไกลกว่านั้นด้วยการบอกว่า สิ่งที่ท่านเป็นยิ่งกว่าสิ่งใดๆ นั่นคือ ท่านมีฐานะเป็นมนุษย์ หากมีสิ่งไหนเรื่องราวใดต้องตัดสินใจ แล้วเป็นทางเลือกซึ่งขัดกับพื้นฐานของความเป็นมนุษย์เสียแล้ว ท่านก็จะไม่กระทำ

ผมนึกย้อนกลับไปถึงรุ่นพี่รุ่นน้องทั้งสองคนนั้นอีกครั้งว่า เขาเห็นตัวเองเป็นอะไรในตอนที่เขาเลือก?

ส่วนผมก็ได้เลือกแล้วเช่นกัน ผมเลือกที่จะไปเยี่ยมรุ่นพี่คนนี้ที่เรือนจำ ผมคิดว่า ความคิดเห็น ความเชื่อ หรือจุดยืนทางการเมือง หรือจุดยืนทางอาชีพ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะไม่ใช่จุดยืนหลักที่ผมใช้ในการตัดสินใจไปในกรณีนี้ :-)

0 comments: