ยอม



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ

ฉบับวันที่ 26 สิงหาคม 2555

ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก

แต่ก่อนผมไม่ค่อยสนใจสำนวนไทยนี้สักเท่าใด ตอนเด็กๆ ครูสอนให้ท่อง เราก็ท่อง (เพื่อไปสอบ) แต่ผมไม่เคยสงสัยว่าจริงหรือไม่ และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ครั้นโตมาก็ได้ยินคนนำไปใช้อยู่เนืองๆ ประมาณว่าใช้กล่าวกระทบกระเทียบบรรดาผู้ใหญ่ที่ดื้อ คือ ไม่ค่อยจะยอมเปลี่ยนแปลง

คีย์เวิร์ดหรือคำสำคัญคือคำว่า 'ยอม' กระมัง?

ตอนยังเด็กเล็กๆ แต่ละคนจะมีช่วงเวลาที่เรายอมให้กันง่ายๆ อาจเป็นขนม ของเล่น บางทีก็เป็นโอกาสที่จะได้รับอะไรดีๆ เช่น ได้เล่นเครื่องเล่นหรืออ่านหนังสือการ์ตูนก่อน หรืออาจเป็นยอมให้อภัยคนที่ทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ ทะเลาะกันวันนี้ พรุ่งนี้ก็กลับมาเล่นกันใหม่ ยังไงก็ยังเป็นพี่น้อง เป็นญาติ เป็นเพื่อนกันอยู่ดี

ครั้นเติบโตมา มีการมีงานเป็นหลักเป็นฐาน แค่การขอให้เพื่อนร่วมงานไปประชุมแทน หรือทำงานง่ายๆ ให้สักอย่าง พอเขาไม่ยอมตามที่ขอ ก็โกรธขุ่นข้องหมองใจ คนที่เป็นฝ่ายขอก็กลายว่ารู้สึกเสียหน้า พาลไม่พูดไม่ทักกันไปเป็นเดือน บางทีนานจนแทบจำไม่ได้ว่าโกรธกันด้วยเรื่องใด

แล้วอะไรหนอที่ทำให้เราดัดหรือยอมได้ยาก? อาจจะเป็นประสบการณ์ในการใช้ชีวิตของเรา โดยเฉพาะตอนที่เราต้องเผชิญกับโจทย์ชีวิตยากๆ ทำให้ต้องเป็นหรือต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อที่จะอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางจิตใจ แล้วเราก็บอกตัวเองว่าต้องเป็น ต้องทำแบบนี้ถึงจะโอเค ถึงจะปลอดภัย

ยิ่งโตขึ้น ความเชื่อเหล่านี้ยิ่งมากและยิ่งแข็งแรง เราพร่ำบอกและตอกย้ำว่าเราเป็นคนเช่นนั้นๆ อยู่เสมอๆ โดยเราไม่รู้ตัว บ่อยครั้งก็ด้วยการปลูกฝังความเกลียดชังหรือความเป็นอื่นให้กับคนที่มีคุณสมบัติที่เราไม่ชอบ

แต่ยิ่งเราเกลียดหรือถอยห่างจากคนที่ต่างจากเราแค่ไหน เรายิ่งไม่สามารถยอมให้เราเองมีคุณสมบัติเช่นคนนั้น (แม้ว่าบ่อยครั้งเราก็ต้องการคุณสมบัติเช่นนั้นบ้าง)

หากเราเกลียดคนที่ดูเหมือนว่าบ้าอำนาจ เราอาจจะยิ่งไม่สามารถยอมให้ตนเองเป็นคนที่กล้ารับผิดชอบและตัดสินใจคนเดียวอย่างเด็ดขาด

หากเราบอกตัวเองว่าเราไม่เก่งศิลปะ เรายิ่งไม่ยอมเปิดโอกาสให้ตนเองได้ลองสนุกกับเส้นสายลายสีได้อย่างวางใจ

ในงานอบรมจิตตปัญญาเพื่อพัฒนาศักยภาพกระบวนกรหรือผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ขององค์กรด้านจิตอาสา คำที่ผู้เข้าร่วมอบรมชอบกันมาก คือ คำว่า 'ยอมให้' ไม่ใช่ยอมให้คนอื่นคนไกลที่ไหน แต่ยอมให้ตนเอง คือ ยอมอนุญาตให้ตนเองเปลี่ยน เปลี่ยนไปเป็นคนที่ตนเองเคยบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ฉันไม่ใช่คนเช่นนั้น

ชายหนุ่มหน้าเข้มเสียงเข้มหัวหน้าองค์กรชั้นนำของประเทศด้านการทำบ้านดิน แบ่งปันการเรียนรู้ในตอนท้ายของการอบรมว่า "ขอบคุณงานอบรมครั้งนี้ ที่ทำให้ผมได้เปิดตนเอง มีมิติด้านจิตใจมากขึ้น ได้ลองทำงานศิลปะ แต่ก่อนจะไม่กล้าเลย บอกตัวเองว่า 'เราวาดรูปไม่เก่ง' เพราะตอนเด็กๆ ครูมักให้คะแนนแค่ 5 จากเต็ม 15 คะแนน"

น่าประทับใจที่แค่การเรียนรู้ด้วยกันไม่กี่ครั้ง เขากลับ 'ยอม' ให้ตนเองเปลี่ยนเป็นอีกคนหนึ่ง

"เรื่องจิตใจนี้ก็เปลี่ยนมาก เมื่อก่อนคุยก็จะใช้แต่เหตุผลล้วนๆ ใครไม่คุยเหตุผล ผมจะไล่ไปไกลๆ เลย และก็ไม่ให้ความสำคัญเรื่องอารมณ์ความรู้สึกคนอื่น ... เดี๋ยวนี้คุยกันก็ฟังกันมากขึ้น กลายเป็นคนอ่อนโยนขึ้นมากเลยครับ"

ฟังแล้วทำให้ผมชักไม่สนใจว่า ไม้จะแก่หรือจะอ่อน หรือจะดัดยากหรือดัดง่าย เพราะสำหรับผมแล้วทุกคนดัดได้เสมอ และไม่ใช่เพราะว่าการดัดนั้นต้องใช้วิธีอะไร แต่เพราะเรานี่แหละที่พร้อมยอมให้ดัดตัวของเราเอง

0 comments: