ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 2 เมษายน 2548
ดูเหมือนกับว่ามันจะยิ่งนำมาซึ่งความเข้มแข็งภายในของเราเอง"
ทาไล ลามะ
ในที่ประชุมจิตวิวัฒน์มีประเด็นเกิดขึ้นว่า ทั้งที่ความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ที่เจอกันอยู่ทุกวันนี้มีมากมายนัก แต่ผู้คนในสังคมกลับหมกมุ่นอยู่กับการแสวงหาความสุขที่ฉาบฉวยให้กับตัวเอง ยังคงมุ่งหาความสุขด้วยการ "สร้างสุข" แทนที่จะเป็นการ "ขจัดทุกข์" ทำให้ละเลยความเป็นจริงของสังคมรอบข้างไป
ทำอย่างไรจึงจะทำให้สังคมได้รู้ถึงความทุกข์ของผู้อื่น แล้วทำให้เกิดคลื่นพลังน้ำใจเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น ให้เปลี่ยนจากจิตเล็ก คิดถึงแต่ตนเอง ไปสู่จิตใหญ่ที่คิดที่ทำเพื่อผู้อื่น
ทางออกที่เป็นไปได้มาก คือ การสร้างโอกาสให้ผู้คนได้รับรู้ ได้ลองทำงานอาสาสมัครเพื่อผู้อื่น ปฏิบัติจริงด้วยตนเองจนได้รับผลเป็นความชุ่มเย็นในจิตใจ เกิดการปฏิวัติทางจิตสำนึก แล้วได้สื่อสารออกไปให้สังคมวงกว้างเห็นถึงประสบการณ์ยิ่งใหญ่ที่ตนได้รับ
----------------------------
สึนามิจะครบรอบหนึ่งร้อยวันในวันจันทร์นี้ เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่ดีระดับโลก เพราะมนุษยชาติได้เห็นปรากฏการณ์การวิวัฒน์ทางจิตของคนเป็นล้านๆ คนพร้อมๆ กัน
เฉพาะในไทย ช่วงหลังจากเกิดเหตุ มีการระดมความช่วยเหลือต่างๆ เราได้เห็นอาสาสมัครที่เกิดขึ้นพร้อมคลื่นพลังน้ำใจเต็มแผ่นดิน มีอาสาสมัครจากทุกจังหวัดของประเทศอยู่ในหกจังหวัดภาคใต้เรือนแสน ไม่นับอาสาอีกเป็นล้านที่แม้ไม่สามารถเดินทางลงไปได้ก็พยายามทำทุกอย่างที่ช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคโลหิต บริจาคสิ่งของ ส่ง SMS ให้กำลังใจ และบริจาคเงินผ่านรายการต่างๆ โทรศัพท์ให้กำลังใจ บางรายไปไม่ได้ถึงขนาดส่งลูก ส่งญาติพี่น้องลงไป
ในช่วงปิดเทอมหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีค่ายอาสาสมัครของน้องๆ เยาวชนจำนวนมากหลายสิบค่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าย U Volunteer (นักศึกษาสายสาธารณสุข จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยการสนับสนุนหลักของสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.) ค่ายเยาวชนอาสาสมัคร We Volunteer (เยาวชนระดับมัธยมศึกษา โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.) ค่ายอาสาสมัครนิสิตนักศึกษาฟื้นฟูอันดามัน (นักศึกษาจากเครือข่ายเก้ามหาวิทยาลัย โดยใช้เงินที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับบริจาคช่วงเกิดเหตุการณ์) รวมกันกว่าห้าพันคน เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะประเทศของเราไม่เคยเห็นการเสียสละของคนรุ่นหนุ่มสาวผ่านงานกิจกรรมค่ายอาสาในระดับขนาดนี้มาหลายสิบปีแล้ว
หลังจากเสร็จงานในพื้นที่แล้ว หลายกลุ่มยังคงมีการรวมตัวกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อพยายามสร้างกิจกรรมดีๆให้แก่สังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชนอาสาที่วัดย่านยาว หรือกลุ่มอาสาศูนย์อาสาสมัครสึนามิเขาหลัก เป็นต้น
อาสาสมัครสึนามิแต่ละคนมักจะมีเรื่องเล่าถึงประสบการณ์เสี้ยวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต ที่ได้ไปพบเห็น เรียนรู้ ได้อุทิศตนเพื่อ "ขจัดทุกข์" ให้ผู้อื่น พร้อมกับการเรียนรู้เติบโตภายใน เพราะลักษณะพิเศษตามธรรมชาติของงานอาสาสมัครเอง กล่าวคือ คนทำงานอาสาจะได้ยกระดับจิตใจตนจากการทำงาน ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ไม่ว่าจะมีพื้นฐานอย่างไร
อาสาสมัครเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานต่อศักยภาพของงานอาสาสมัครในการปฏิวัติทางจิตสำนึก (Consciousness revolution) จากจิตเล็ก ไปสู่จิตใหญ่ที่ไม่จำกัดคับแคบอยู่แต่ตนเอง
ท่ามกลางปัญหาสังคมที่ผู้หลักผู้ใหญ่กำลังปวดเศียรเวียนเกล้ากับปัญหาเยาวชน มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อบังคับควบคุม ที่มีฐานคิดอยู่บนกระบวนทัศน์เดิม เชื่อความรู้ที่ว่ามนุษย์มีจิตที่เห็นแก่ตัว มีกิเลส เด็กเยาวชนไม่สามารถจัดการตนเองได้ เราน่าจะได้มีการสร้างทางเลือกที่สร้างสรรค์ให้กับอนาคตของชาติ สร้างมาตรการส่งเสริมที่มีฐานคิดที่ว่าจิตเดิมแท้ของมนุษย์นั้นเป็นจิตใจที่ดีงาม เด็กเยาวชนทุกคนและทุกระดับสามารถเป็นองค์กรจัดการตนเองได้เช่นกัน
โดยเฉพาะเรื่องความรักในวัยเด็กเยาวชน ผู้ใหญ่ไม่ควรมองแต่หาวิธีห้ามปราม แต่ควรสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้เห็นว่าความรักนั้นมิใช่มีแต่รักแบบหนุ่มสาว เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ แต่ยังมีความรักความเมตตา รักที่ละวางอัตตารักสาธารณะ เพื่อผู้อื่น เพื่อสังคมอีกด้วย
เด็กเยาวชนที่อยู่ในช่วงเติบโตที่เต็มไปด้วยพลังชีวิต เกิดการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนต่างๆ อยากเรียนอยากรู้โลกกว้างภายนอก ควรส่งเสริมให้ได้รวมตัวกันเอง ทำกิจกรรมที่ท้าทายความคิดความสามารถในรูปแบบของงานอาสาสมัครเพื่อสังคม อาทิ โครงการตลาดประกอบฝัน ของกลุ่ม YIY ที่สนับสนุนเยาวชนได้คิดและทำโครงการเพื่อสังคม
ไม่เพียงแต่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางจิตสำนึกระดับบุคคลเท่านั้น เหตุการณ์สึนามิยังส่งผลถึงการเกิดจิตวิวัฒน์ระดับองค์กร กล่าวคือ การเห็นแก่สังคมส่วนรวมมากขึ้น หลายบริษัทมีนโยบายชัดเจนให้พนักงานสามารถทำงานอาสาสมัครโดยไม่นับเป็นวันลา เช่น ปตท. น้ำมันพืชไทย (น้ำมันพืชองุ่น) เอ็มเค ไทยพัฒน์ แพรนด้าจิวเวลรี่ เอสแอนด์พี บริษัทต่างประเทศ ก็เช่น เอเม็กซ์ จีอีแคปปิตอล เมิร์กซ์ ยูโนแคล รวมถึงหน่วยงานสาธารณประโยชน์ เช่น มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ เป็นต้น
----------------------------
บุคลากรและหน่วยงานด้านสื่อต่างมีบทบาทช่วยกันชี้ให้เห็นถึงความทุกข์ที่มีอยู่ในสังคมรอบตัวเช่นกัน ไม่เพียงแต่จากเหตุสึนามิ (หมายเหตุ: งานฟื้นฟูต่างๆ หลากหลายรูปแบบยังต้องการอาสาสมัครอีกจำนวนมาก แบบที่เรียกว่ารับได้ไม่จำกัด อาสาสมัครในพื้นที่ปัจจุบันจำนวนมากเป็นชาวต่างชาติ) เชื่อมโยงให้ถึงพลังน้ำใจของสังคมไทย ให้เห็นโอกาสมากมายที่ทุกคนสามารถอาสาช่วยงานสังคมได้ เมื่ออาสาสมัครได้มีประสบการณ์ตรงจากงานแล้ว ควรได้นำเสนอให้เป็นที่รับรู้ของสังคมวงกว้าง
แทนที่เช้ามาเปิดหนังสือพิมพ์ จะมีแต่ข่าวอาชญากรรม ข่าวไสยศาสตร์ ในหน้าหนังสือพิมพ์ เราน่าจะมีพื้นที่ข่าวของอาสาสมัครทั่วแผ่นดิน
แทนที่ทีวีจะมีแต่เกมโชว์ในแผงรายการ มีโฆษณากระตุ้นการบริโภค เราน่าจะมีพื้นที่สำหรับรายการส่งเสริมการทำความดีของคนเล็กคนน้อยจากทุกจังหวัด
แทนที่จะมีหนังสือพิมพ์ที่มีแต่ข่าวร้าย เริ่มวันใหม่แบบเศร้าๆ เราน่าจะมีหนังสือพิมพ์ข่าวดีกันบ้าง จะได้เริ่มวันใหม่แบบสดชื่น
ตัวอย่างของข่าวดีนั้นมีอยู่จริงและทำได้ หากอยากเห็น ลองแวะไปดูเว็บไซต์ www.budpage.com ที่นั่นมีคอลัมน์ "ข่าวคนดีมีทุกวัน"
ในวาระโอกาสครบรอบร้อยวันสึนามิ ผมขออนุญาตนำเอาชื่องานที่ศูนย์อาสาสมัครสึนามิเขาหลัก มูลนิธิกระจกเงา และจังหวัดพังงาร่วมกันเป็นเจ้าภาพ มาใช้เป็นชื่อบทความด้วยครับ
ความหวัง - กำลังใจ - การฟื้นฟู: งานอาสาสมัครเพื่อการปฏิวัติทางจิตสำนึก
Posted by knoom at 8:46 AM Labels: จิตวิวัฒน์, จิตอาสา
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment