ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 10 เมษายน 2548
เมื่อไม่กี่วันมานี้รุ่นพี่ที่ผมเคารพรัก ชื่นชม และสนิทสนมอย่างยิ่งท่านหนึ่งได้สร้างวีรกรรมเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ให้กับองค์กรของเธอ
วันนั้นเป็นวันที่มีการประชุมระดับกรรมการสูงสุด และเนื่องจากมีประธานกรรมการเป็นคนใหม่ ทางองค์กรจึงได้เตรียมการนำเสนอข้อมูลเบื้องต้น รุ่นพี่ของผมคนนี้ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนทำหน้าที่ดังกล่าว ตอนเริ่มต้นบรรยากาศประชุมเคร่งเครียด อึมครึม มีความไม่เข้าใจกันอยู่สูง รวมถึงช่วงแรกของการนำเสนอ แต่หลังจากนั้นไม่นานสภาพการประชุมก็ดีขึ้น เธอสามารถอธิบายงานขององค์กรได้อย่างดี ตอบข้อสงสัยต่างๆ ได้อย่างเป็นมิตร สามารถสลายความรู้สึกในแง่ลบจากห้องได้ นำมาซึ่งความสามารถตกลงในประเด็นพิจารณาได้อย่างประสานประโยชน์ทุกฝ่าย หลังการประชุมสมาชิกได้ร่วมยินดีกับเธอที่ทำหน้าที่ได้อย่างดี
ผมเองไม่แปลกใจหรือสงสัยในความสามารถของเธอ แต่ความสนใจอยากเรียนรู้จึงได้ถามถึงเบื้องหลังของความสำเร็จ เธอเล่าให้ฟังว่า "อ๋อ พี่รู้เลยว่างานนี้ไม่ง่าย ต้องใช้สติเป็นอย่างมาก พี่ใช้เวลา ๑๐ กว่านาทีก่อนเข้าห้องประชุมเจริญสติ นั่งสมาธิ ทำใจของพี่ให้นิ่ง พี่นึกถึงแต่เจ้าแม่กวนอิม นึกถึงพระโพธิสัตว์ ขอให้พี่มีปัญญา มีความรัก ที่จะไม่โกรธใคร ตอนเดินเข้าห้องประชุมเนี่ยะ รู้สึกว่าไม่มีตัวตนเลย คิดว่าเรามีแต่ความเมตตาให้ทุกคน"
เธอยังเล่าอีกว่า "ในขณะที่หลายๆ คนเครียดมากก่อนเข้าห้องประชุม แปลกนะพี่กลับรู้สึกผ่อนคลาย สบายดี"
"คือก่อนหน้านั้นพี่ใช้เวลาหลายชั่วโมงศึกษาเอกสารทั้งหมด และงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุม ที่ทางทีม ทางน้องๆ เขาได้ช่วยเตรียมให้"
"นี่ดีนะที่เพิ่งจะทราบว่าต้องเป็นคน present เมื่อตอนเช้า เมื่อคืนเลยไม่เครียดมาก ได้นอนหลับพักผ่อนเต็มที่"
เห็นได้ชัดเลยว่าความสำเร็จของเธอไม่ใช่เรื่องไม่มีที่มาที่ไป แต่เป็นเพราะทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ผมมาสรุปเอาเองว่าเกิดจากความมีสุขภาวะทั้งสี่มิติของเธอ คือ ๑. สุขภาวะทางจิตวิญญาณ ๒. สุขภาวะทางจิต ๓. สุขภาวะทางสังคม และ ๔. สุขภาวะทางกาย
ตอนที่เริ่มฟังเธอเล่านั้นผมจดบันทึกไว้ในใจว่า "อืมม์ สุขภาวะทางจิตวิญญาณ! ... ใช่เลยเจริญสติอีกแล้ว!" เรื่องของเธอตอกย้ำความสำคัญของการเจริญสติให้กับผม ชัดเจนเลยว่าสตินั้นเป็นฐานของความสำเร็จทั้งปวง เชื่อขนมทานได้เลยว่าแม้ว่าเธอจะเตรียมตัวมาดีเพียงใด หากตกใจ ประหม่า สิ่งที่เตรียมมาก็คงสับสนไปหมด ไม่สามารถจะเล่าด้วยความสุขุมนุ่มนวลอย่างที่ใจปรารถนา
ยิ่งเรื่องการข้ามพ้นความเป็นพวกเรา พวกเขาไปได้ ตรงกับหัวใจของความเป็น "วิทยาศาสตร์ใหม่" ที่พูดถึงการลดละอัตตาตัวตน สามารถก้าวข้ามและหลอมรวม (transcend and include) ความคิดเห็นที่แตกต่างได้ การโน้มนำบารมีพระโพธิสัตว์มาใช้ก็นับเป็นอุบายที่ถูกทั้งกาละและเทศะอย่างยิ่ง
ไม่น่าแปลกใจที่เธอจะมีสุขภาวะทางจิตที่ดี ผ่อนคลายไม่เครียด ยิ่งได้มีทีมงานที่ดีคอยเป็นกำลังใจ ทำงานสนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี ช่วยเตรียมข้อมูล เตรียมเอกสารทุกอย่างอย่างเต็มที่ จะเห็นว่างานสำคัญหลายอย่างไม่สามารถที่จะทำได้คนเดียว คนที่จะเดินไปข้างหน้าย่อมมั่นใจหากรู้ว่ามีทีมที่พร้อมจะไปด้วยกัน พร้อมสนับสนุนส่งเสริมกันตลอด นี่ถือเป็นตัวอย่างการมีสุขภาวะทางสังคม
สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ สุขภาวะทางกาย โดยวิธีง่ายๆ ที่พวกเรามักหลงลืมหรือไม่ก็ละเลยกันไป เช่น การรับประทานอาหารที่เหมาะสมและพอดี หรือการได้นอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นหัวใจของการเข้าถึงสุขภาวะทางกายได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองแต่อย่างใด
เป็นเรื่องที่ต้องภูมิใจและชมเชยเธอเป็นอย่างมาก เพราะสุขภาวะทั้งสี่นี้แม้จะมีวิธีเข้าถึงที่ง่ายๆ ไม่แพง และเข้าถึงได้ทุกคน แต่พวกเราส่วนใหญ่ก็มักจะละเลย ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับมัน
การที่เธอมีความพร้อมของสุขภาวะทั้งสี่สำหรับงานสำคัญที่ผ่านมานั้นแน่นอนว่าไม่เพียงแต่ไม่ได้เกิดโดยบังเอิญ ที่สำคัญยังต้องให้เวลาหรือใช้เวลากับมันพอสมควรและทั้งสี่มิติเลยทีเดียว ดังกรุงโรมที่ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว
แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล หรือคิดว่า "โอย! ไม่เอาหละเรื่องพวกนี้ยากเกินไปสำหรับฉัน แถมฉันยังไม่ค่อยมีเวลาอีกด้วย" เพราะเรื่องการสุขภาพในวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่นั้นแปลก คือ ดูเหมือนยาก แต่ยิ่งทำยิ่งง่าย หรือดูเหมือนเสียเวลา แต่ยิ่งทำยิ่งได้เวลาเพิ่มขึ้น ... เรื่องนี้เป็นอย่างไรไว้มีโอกาสผมจะเล่าให้ฟังครับ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment