ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 24 เมษายน 2548
บทความนี้ไม่เกี่ยวกับทรงผม แฟชั่นหรือความสวยความงามจากภายนอกครับ แต่เป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกันคือเป็นเรื่องของสมองและวิธีการมองโลกและความสวยความงามจากภายในครับ
คนเราแต่ละคนมีวิธีการเผชิญกับโลก เข้าใจโลก และแก้ปัญหาโลกต่างๆกันออกไป ในสถานการณ์แบบเดียวกันแต่ละคนย่อมมีการแสดงออก มีพฤติกรรมต่างกันไป
นักวิชาการและนักปฏิบัติ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเปลี่ยนแปลง (ทั้งในระดับบุคคล องค์กร และโลก) อธิบายว่าพฤติกรรมที่แสดงออกมาที่เราเห็นนั้น มีรากฐานสำคัญมาจากปัจจัยพื้นฐานที่สุดคือ รูปแบบทางความคิด (mental model) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเฉพาะเป็นกรณีๆ ไปนั้นไม่ได้ผลหรือมีประสิทธิภาพมากนัก ต่างกันกับการเปลี่ยนรูปแบบทางความคิด
รูปแบบทางความคิด เรียกง่ายๆ ก็คือ ความเข้าใจต่อโลกนั่นเอง เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ของเรา หมายรวมถึงความเชื่อ ทัศนคติของเราด้วย
ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางความคิดที่ชัดเจนที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตผมคือ การได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนกับท่านอาจารย์ระพี สาคริก ผู้เป็นที่เคารพนับถืออย่างยิ่งของผมท่านหนึ่ง เมื่อแปดปีที่แล้วคณะนักวิจัยได้ขอให้ผมพาไปเยี่ยมเยียนท่านเป็นของขวัญสำหรับการปิดโครงการวิจัยชิ้นใหญ่ของเรา บ้านท่านอาจารย์ที่บางเขนนั้นร่มรื่นไปด้วยต้นไม้และกล้วยไม้นานาพันธุ์ พร้อมอบอุ่นไปด้วยความเมตตากรุณาของครอบครัวเจ้าบ้าน
ระหว่างที่กำลังทานของว่างกันอยู่ นักวิจัยรุ่นน้องผมถามว่า "อาจารย์คะ ทำไมชีวิตอาจารย์ดูมีความสุขจังละคะ? อาจารย์มีหลักในการดำเนินชีวิต (หรือ "รูปแบบทางความคิด" นั่นเอง--ผู้เขียน) อย่างไรคะ?"
อาจารย์หัวเราะอย่างอารมณ์ดีแล้วเล่าสุดยอดวิชาให้เราฟังว่า "อ๋อ ... ผมแบ่งเรื่องราวในโลกนี้ออกเป็นสองจำพวก พวกแรกเป็นเรื่องของผม และอีกพวกเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของผม พวกแรกนั้นผมก็จัดการกับมันตามที่ผมควรจะทำ ส่วนเรื่องหลังนั้นผมก็วางใจ ไม่ไปเดือดร้อนกับมัน" อาจารย์ยกสองสามตัวอย่างประกอบการอรรถาธิบายด้วย
ไม่ทราบว่าใครในคณะที่ไปจะได้ยิน เข้าใจ หรือประทับใจอย่างไร แต่สำหรับผมแล้วสองสามประโยคนั้น "โดนใจ" สุดๆ นับเป็นการตกผลึกประสบการณ์อันงดงามหลายสิบปีของปราชญ์ของแผ่นดินไทย
หลังจากวันนั้นชีวิตผมสบายขึ้นมาก มีความสุขขึ้นมาก ไม่ค่อยได้ไปคอยเที่ยวแบกเรื่องชาวบ้านเป็นประจำเช่นเคย (ฮา)
หรือหนึ่งในท็อปทรีเรื่องปวดหัวยอดฮิตที่ทำงาน คือ โดนหัวหน้าต่อว่าหรือตำหนิ สัดส่วนความทุกข์ในที่ทำงานทั่วโลกจำนวนไม่น้อยคงเกิดจากสาเหตุนี้ ... เคยมีบ้างไหมที่เราทำผลงานเต็มความสามารถแล้ว หัวหน้ายังไม่พอใจ แล้วอารมณ์เสียใส่เรา?
ก่อนอื่นเลย ถ้าพิจารณาให้ดีจริงๆจะเห็นว่าใครก็ตามที่อารมณ์เสีย ปัญหาอยู่ที่คนนั้นแน่ๆ (หลักฐานที่ชัดเจนต่อหน้าต่อตา คือเขากำลังทุกข์ เพราะกำลังอารมณ์เสีย)
ต่อมา ... เป็นไปได้ไหมว่าอารมณ์ไม่จอยของหัวหน้านั้นเป็นเรื่องของเขา รวมถึงความผิดหวังของหัวหน้าด้วยก็เป็นเรื่องของเขา (ที่คาดหวังผิดๆ คาดว่าเราควรจะทำงานได้ดีกว่านั้น เพราะถ้าเราทำดีที่สุดแล้ว ไม่ว่าใครจะคาดหวังให้เราทำดีกว่านั้นก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเรื่องหรือปัญหาจึงอยู่ที่คนที่คาดหวังต่างหาก)
แต่เนื่องจากเราอยู่ในโลกของความสัมพันธ์ (แถมเขายังเป็นหัวหน้าเราอีกด้วย) มันก็ย่อมมีส่วนที่เป็นเรื่องของเรา เป็นไปได้ไหมว่าเรื่องของเราจริงๆ แล้วอาจเป็นว่าเราควรลองหาวิธีดูว่าเราจะทำงานให้ดีขึ้นได้อย่างไร (ถ้าดีที่สุดแล้วก็ไม่ต้องคิด) หรือลองดูว่าเราสามารถอธิบายให้หัวหน้าเข้าใจได้ไหม (โดยที่ไม่มีผลลบต่อเรา) ว่างานที่ได้นั้นดีที่สุดแล้ว ... ซึ่งทั้งหมดนี้เราควรจะสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ หรือต้องมีอารมณ์แย่ๆ ตามเจ้านาย (ผู้น่าสงสาร) ของเราไปด้วย
(แน่นอนว่ามีหัวหน้างานบางคนที่อาจรับไม่ได้ถ้าเราไม่ "แสดงท่าที" ว่าเป็นเดือดเป็นร้อนกับการว่ากล่าวของเขา กรณีนี้ก็ควรหาวิธีการที่เหมาะสมเฉพาะกรณีไปครับ)
หากเราแยกแยะเรื่องของเรา และเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของเรา ออกจากกันได้ เราก็จะลดภาระที่ต้องไปเป็นทุกข์แบกเรื่องคนอื่น และมีเวลา มีสมอง มีปัญญามาคิดจัดการเรื่องที่เป็นเรื่องของเราจริงๆ มากขึ้นครับ :-)
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment