ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กันยายน 2550


งานประชุมสถาบันโนเอติกซายน์ (Institute of Noetic Sciences) ในมลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อกลางปีที่ผ่านมาเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนที่สนใจเรื่องจิตวิวัฒน์ จำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นักคิด นักปฏิบัติ นักวิจัย และผู้สนใจพันกว่าคนที่มาพบกันเพื่อนำเสนอความรู้ความเข้าใจล่าสุดเกี่ยวกับการปฏิวัติจิตสำนึก (consciousness revolution) สุขภาวะทางจิตวิญญาณ และกระบวนทัศน์ใหม่ บรรยากาศในงานเปี่ยมไปด้วยพลังอย่างยิ่ง เพราะมากไปด้วยความคิดปรารถนาดีต่อโลก

ความรู้สึกที่ดูเหมือนเป็นเอกฉันท์ คือ โลกกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างรุนแรง โดยในขณะเดียวกันก็มีความพยายาม ความสร้างสรรค์จากทั่วทุกภูมิภาคของโลกในการแสวงหาทางออก แต่สิ่งที่ดูจะมีความคิดเห็นต่างกันคือคำตอบที่ว่า "โลกจะรอดวิกฤตครั้งนี้หรือไม่?"

ความรู้สึกของที่ประชุมคล้ายคลึงกับแนวของหนังสือ Waking Up in Time ที่ปีเตอร์ รัสเซลล์ ชวนให้ตั้งคำถามว่ามนุษยชาติทั้งหมดจะตื่นขึ้นทันกับสถานการณ์ไหม? (สวนเงินมีมา โดยการสนับสนุนของกลุ่มจิตวิวัฒน์จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้)

รัสเซลล์ที่มีดีกรีทางฟิสิกส์ทฤษฎีและจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ใช้ความรู้ทางวิชาการหลากหลายแขนง ทั้งชีววิทยา ฟิสิกส์ ปรัชญา ศาสนา ฯลฯ อธิบายปรากฏการณ์ปัจจุบันที่ทำให้เกิดการมองโลกในแง่มุมใหม่ๆ ดังนี้ ๑) วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ที่นับวันจะดูเหมือนหมุนเร็วขึ้นไปๆ ทุกที ส่งผลให้เกิดผลกระทบอันไม่พึงปรารถนาในทุกระบบของสังคมและสิ่งแวดล้อม ๒) วิเคราะห์ว่ารากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงคือ การมีจิตสำนึกไม่ถูกต้อง ๓) ทางออกของวิกฤตเบื้องหน้านั้นไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ เครื่องยนต์กลไกภายนอก หากแต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน เป็นการเปลี่ยนจิตสำนึกอย่างลุ่มลึก โดยท้ายสุด ๔) นำเสนอแนวทางรูปธรรมของการขยายจิตสำนึก จากจิตอันคับแคบส่วนตัวไปมีจิตใหญ่ มีจิตวิวัฒน์

ลำดับการเล่าเรื่องชวนให้นึกถึงนักคิด นักปฏิบัติคนสำคัญของโลกเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว คือ พระสมณโคดม ท่านก็กล่าวไว้ทำนองนี้ พระพุทธเจ้าได้อธิบายถึงความทุกข์ของมนุษย์ ถึงเหตุที่มาคือสมุทัย ความสิ้นไปแห่งทุกข์นั้นคือนิโรธ และหนทางประเสริฐอันมีองค์แปดคือมรรค

ประเทศไทยนับถือคุ้นเคยกับพุทธแบบหีนยาน บางครั้งอาจมองการปฏิบัติ การบรรลุธรรม การแก้ปัญหาเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล บางครั้งก็เข้าใจผิดเห็นความเมินเฉย ไม่ใส่ใจ ว่าเป็นอุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง) หนังสือของรัสเซลล์ชวนให้เรามองเรื่องอริยสัจสี่ในระดับมนุษยชาติหรือในระดับโลก เห็นทุกข์ของโลก สมุทัยของโลก นิโรธของโลก และมรรคของโลก

เรื่องนี้สอดคล้องกับทฤษฎีกายา (Gaia Theory) ที่พูดถึงโลกทั้งใบเป็นหนึ่งเดียวกัน และมีจิตของโลกด้วย โดยเราอาจเปรียบเทียบว่าถ้าตัวเราประกอบด้วยเซลต่างๆจำนวนมาก โลกก็อาจเป็นเหมือนอย่างเราคือประกอบด้วยมนุษย์เป็นจำนวนมาก

สุขภาพที่ดีของเราต้องมาจากสุขภาพที่ดีของเซลต่างๆ สุขภาพที่ดีของโลกก็ต้องมาจากสุขภาพที่ดีของมนุษย์ในโลก

การที่ในประเทศไทยและทั่วโลกเราพบผู้ที่เป็นมะเร็งมากขึ้น เซลของเราเติบโตขยายขนาดมากเกินไปและแบ่งตัวไม่รู้จักหยุดกลายเป็นมะเร็ง ชวนให้ตั้งคำถามว่านี่เป็นภาพสะท้อนของการที่มนุษย์เพิ่มประชากรไม่หยุด แถมแต่ละคนยังทั้งบริโภค ทั้งสะสมอย่างไม่รู้จักพอหรือไม่?

เซลมะเร็งนั้นขาดความเชื่อมโยงกับองคาพยพต่างๆของร่างกาย ไม่สามารถสื่อสารกับสมองและส่วนต่างๆได้ ทำให้โตแบบไม่รู้จักพอ โตจนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่เซลนั้นอาศัยอยู่

เป็นไปได้หรือไม่ว่าวิถีการดำเนินชีวิตและการเรียนรู้ทุกวันนี้ กำลังทำให้เราแปลกแยกจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆในโลกมากยิ่งขึ้น เป็นไปได้ไหมว่าการศึกษาที่เรียนแต่เรื่องนอกตัว แถมยังเป็นรายวิชา เป็นชิ้นๆ กล่องๆ ขัดกับโลกของความเป็นจริงที่ทุกอย่างล้วนเป็นความสัมพันธ์ ที่ไหลเลื่อนเคลื่อนที่ เชื่อมโยงกันทั้งหมด ทำให้เราไม่รู้จักตัวเองและไม่สามารถสื่อสารกับโลกได้ ท้ายสุดก็กลับมาเป็นผลร้ายต่อตัวเอง

หากเป็นเช่นนี้แล้ว มนุษย์ที่เป็นเหมือนเซลมะเร็งจะเรียนรู้ที่จะกลับมาสื่อสารกับโลกได้ไหม?

ตัวอย่างของคนที่เป็นมะเร็งแล้วหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัดหรือทำเคมีบำบัด เป็นความหวังว่ามนุษย์น่าจะยังมีศักยภาพในการเรียนรู้นี้อยู่

น่าสังเกตที่นักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการชั้นนำทั่วโลก อย่างปีเตอร์ รัสเซลล์ (การปฏิวัติทางจิตสำนึก Consciousness Revolution) เคน วิลเบอร์ (ทฤษฎีบูรณภาพ Integral Theory) แดเนียล โกลด์แมน (ปัญญาทางอารมณ์ Emotional Intelligence-EQ) หรือ ฟราสซิสโก วาเรลา (ทฤษฎีซานติอาโก Santiago Theory) กำลังหันมาเห็นสมบัติล้ำค่าที่คนไทยมีอยู่แต่ไม่ค่อยได้ใส่ใจอย่างจริงจังกับมันมานาน หลายคนเดินทางมาฝึกถึงภูมิภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นทิเบต อินเดีย หรือจีน

คนเหล่านี้ รวมถึงสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ เชื่อว่ามนุษยชาติมีศักยภาพในการสื่อสารกับโลกได้ มนุษยชาติทั้งหมดพ้นทุกข์ร่วมกันได้ ผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน (Collective Transformative Learning) โดยประตูนั้นอยู่ที่การเปลี่ยนจิตสำนึก จากจิตเล็กอันคับแคบ แยกส่วน และบีบคั้น ไปสู่จิตใหญ่อันกว้างขวาง เชื่อมโยง และมีอิสรภาพ

ช่องทางหรือรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีได้หลากหลาย เช่น การทำงานอาสาสมัคร กระบวนการทางศิลปะ-สุนทรียภาพ การบริหารการบริหารจิต เช่น โยคะ การเรียนรู้จากประสบการณ์เกี่ยวเนื่องกับความตาย องค์ความรู้ทางศาสนา รวมไปถึงการเรียนรู้แบบจิตปัญญาศึกษา (Contemplative Learning) ที่เป็นการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เชื่อมโยงกันในสามภาค คือ ภาคความรู้ ภาควิชาชีพ และภาคจิตวิญญาณ

แม้ว่าการปฏิวัติทางจิตสำนึกจะมีช่องทางที่หลากหลายมากมาย แต่ล้วนมีหัวใจหรือแก่นร่วมกัน คือ การตื่นรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันขณะ ปล่อยวาง ลดการยึดติดในอดีตและอนาคต

กลุ่มเซลมะเร็งมีศักยภาพที่จะกลับมาสื่อสารกับร่างกายอีกครั้ง

มนุษยชาติก็มีศักยภาพในการที่จะสื่อสารกับโลกอีกเช่นกัน

เพียงแต่พวกเราแต่ละคน และมนุษยชาติโดยรวม จะตื่น(รู้)ทันไหม?!

0 comments: