ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 11 กันยายน 2548
เราจะทำงานอย่างมีความสุขได้อย่างไร? เป็นคำถามที่คอลัมน์ Happiness@Work พูดถึงอยู่เสมอๆ โดยในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้พูดถึงการทำความดีโดยสะดวกใจ ไม่ต้องอ้างเหตุหรือหาโอกาส การเข้าใจและเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมงานที่มีบุคลิกทัศนะแตกต่างกัน ตามแนวคิดสัตว์ ๔ ทิศ ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการหาความสุขโดยเชิญชวนให้เราเปลี่ยนมุมการมองโลกรอบตัวครับ
นอกจากรู้แนวทางแล้ว การฝึกมุมมองอย่างที่เราอยากให้เป็นบ่อยๆ ก็ทำให้เราสามารถมีมุมมองเช่นนั้นได้ง่ายๆ มากขึ้น เหมือนกับการฝึกออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาครับ ยิ่งเล่นก็ยิ่งเก่ง ยิ่งมีทักษะ เรื่องการสร้างความสุขให้ตนเองก็เช่นกัน
ผมเรียกวิธีการฝึกนี้ว่า “การทำซ้ำความสุข” ครับ
เรื่องการทำซ้ำนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ท่านเคยได้กล่าวถึงไว้ในการประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์ อันเป็นกิจกรรมหนึ่งของแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ดำเนินการโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สนับสนุนทุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (spiritual health) ของสังคมไทย
การทำซ้ำดังที่ท่านได้กล่าวถึง คือสิ่งที่เราคิดและทำบ่อยๆ จนเคยเป็นนิสัย ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว แต่เราไม่เคยได้นึกว่าพฤติกรรมคุ้นเคยของเรานี้จะมีผลอย่างไรใช่ไหมครับ? อาการที่ทำอะไรจนติดและชินนี้มิได้เป็นเพียงความเคยชินธรรมดาเท่านั้นครับ ทางวิชาการเราทราบกันแล้วว่าสมองส่วนที่ต้องใช้มากๆ หรือได้รับการฝึกนานๆ จะมีขนาดใหญ่ขึ้น
ตัวอย่างผลงานวิจัยยืนยันออกมาชัดเจน อาทิ งานของมหาวิทยาลัยลอนดอนที่ศึกษาสมองส่วน ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการทิศทางและความจำ นักวิจัยพบว่ากลุ่มคนที่ต้องเดินทางและจดจำทิศทางสถานที่ต่างๆ เช่น คนขับแท็กซี่นั้นสมองส่วนนี้จะใหญ่กว่าคนทั่วไป และยิ่งเป็นคนขับแท็กซี่ที่มีประสบการณ์ฮิปโปแคมปัสก็ยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น
นั่นหมายความว่า หากเราเฝ้าวนเวียนคิดเรื่องอะไรหลายๆ ครั้ง ทำอะไรในรูปแบบเดิมๆ หลายหน เช่น กระดิกนิ้วชี้บ่อยครั้งเข้า สมองส่วนที่สั่งการจะผูกแบบแผนพฤติกรรมนี้ไว้ และมันพร้อมจะทำงานได้ง่ายและทันทีที่มีโอกาสเอื้ออำนวยครับ! เรียกได้ว่าเผลอเมื่อไรเป็นได้กระดิกนิ้วชี้ทุกที
ถ้าลองนึกถึงการเดินทางไปทำงานของเราในเช้าของแต่ละวัน เราพบกับสภาพจราจรจลาจลทุกวัน ไหนจะถูกคันอื่นปาดหน้า ไหนจะต้องติดรอไฟแดงนานๆ ถ้าทุกเช้าของเรามีแต่การสบถด่าเพื่อนบนถนนร่วมทาง พร่ำบ่นถึงความไร้มรรยาทของคนขับรถคันอื่น หรือเราเองที่ต้องเบียดซ้ายป่ายขวาแซงคันข้างหน้าเพื่อไปให้ทันเวลาทำงาน
สิ่งที่ทำ คิด และรู้สึกกับมันทุกเช้านี้ เป็นการทำซ้ำครับ ครั้งต่อๆ มาเมื่อเราขึ้นนั่งหลังพวงมาลัย เราก็พร้อมจะสบถ พร้อมจะอารมณ์เสียได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าจะไม่ใช่วันที่รถติดเหมือนเช้าวันทำงานก็ตาม นี่แหละครับ การทำอะไรซ้ำๆ เหมือนการขุดร่องทีละน้อยทุกวัน ร่องอารมณ์นั้นก็ลึกลงเรื่อยๆ ในสมองของเราเอง
ความเครียดและอารมณ์เสียที่เกิดบ่อยครั้งนี้ทำให้เราเกิดร่องอารมณ์ที่เป็นทุกข์ครับ หากยังจำที่ผมเคยเล่าๆไว้ได้ สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ขุ่นๆ ทั้งหลายนี้คือ อมิกดาลา (Amygdala) ครับ การเกิดร่องอารมณ์ทุกข์ที่ลึกขึ้น ก็คือการทำงานของอมิกดาลาที่เติบโตขึ้นนั่นเอง แล้วเราจะทำซ้ำเรื่องทุกข์ให้มันมีโอกาสเกิดได้มากขึ้นเพื่ออะไรล่ะครับ ?
กลับกันครับ ถ้าเราทำซ้ำในสิ่งที่เป็นความสุขละครับ แน่นอนครับ สมองของเราก็จะพัฒนาการสั่งงานและเอื้อให้ความคิดพฤติกรรมสร้างสุขนั้นเกิดง่ายขึ้น การคิดหรือทำอะไรซ้ำๆ ให้เกิดสุข ยังเป็นการเลี่ยงโอกาสที่ทำให้เรามีอารมณ์ขุ่นหมองและความเครียด เป็นความทุกข์ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามของกันครับ
สำหรับชีวิตการทำงานในแต่ละวัน ถ้าเราสร้างความคุ้นเคยด้วยการขอบคุณลูกทีมทุกครั้งที่เขาทำรายงานให้ แทนที่จะนึกว่าเขาทำตามหน้าที่ บอกตัวเองว่าโชคดีที่ได้เรียนรู้ทุกครั้งที่หัวหน้าทีมตักเตือนแนะนำ แทนที่จะคิดว่าถูกตำหนิ นั่นคือเรากำลังทำซ้ำความสุขครับ
วันต่อไปในชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดความทุกข์ สมองส่วนที่เราฝึกปรือพัฒนาให้โน้มนำในทางที่คิดและทำให้เกิดสุขจะเข้ารับมือแทน
จากเดิมที่แต่ละเช้าต้องหงุดหงิดกับการเดินทาง พกจิตใจขุ่นมัวมาถึงที่ทำงาน จนตลอดทั้งวันก็พาลเครียดไปหมด เราอาจเปลี่ยนแปลงด้วยการร้องเพลง “เป็นสุขในปัจจุบัน” ของหมู่บ้านพลัม เพื่อมีสติแจ่มใส และกระตุ้นเตือนตัวเองว่าไม่ต้องรีบเร่ง กล่อมจิตใจให้ช้าลง อารมณ์ก็แจ่มใส มีสมองที่พร้อมรับเรื่องดีๆ ในที่ทำงาน ทำอย่างนี้ได้ทุกๆ ครั้ง สร้างความเคยชินให้กับความสุข ตลอดทั้งวันและวันต่อไปในที่ทำงานก็จะมีโอกาสเปิดรับความสุขมากขึ้นแน่นอนครับ
เราเปิดประตูรับความสุขให้กว้างขึ้นแล้ว เขาก็ไม่ได้ไปไหนครับ เพราะความสุขที่มาหาเรานี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเราคนเดียว แต่ยังทำให้เพื่อนร่วมงานรับเรื่องดีๆ จากเรา เกิดเป็นความสุขใจให้แก่คนรอบข้างของเราด้วย สุขกันทั้งขึ้นทั้งล่องก็ว่าได้
หมั่นคิดในเชิงบวก พยายามให้เวลากับงานที่เรารักและสนุก หลีกเลี่ยงการคิดการทำอะไรที่เป็นทุกข์ มาทำซ้ำความสุขกันเถอะครับ! :-)
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment