ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 25 กันยายน 2548
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมการประชุมที่สวนแสงอรุณ จ.ปราจีนบุรี วงประชุมประกอบด้วยเพื่อนพ้องน้องพี่จากหลากหลายหน่วยงาน บรรยากาศที่ประชุมแวดล้อมด้วยธรรมชาติไร้การปรุงแต่ง ต้นไม้ใบหญ้าเติบโตตามฤดูกาล ไม่ถูกดัดตัดถางให้เกินงามตามความต้องการของคน พวกเรานั่งล้อมวงกับพื้น รอบด้านทั้งสี่ของอาคารไม่มีฝาผนังบดบังสายตาจากความเขียวชอุ่มและระลอกพลิ้วไหวในบึงน้ำ
การประชุมแทบทุกครั้งที่ผมเคยเข้าร่วม หากไม่เริ่มต้นด้วยกิจกรรมเคลื่อนไหวทำความรู้จักเพื่อนร่วมประชุม ละลายพฤติกรรมให้วงประชุมมีความเป็นกันเองมากขึ้น อีกรูปแบบแนวทางหนึ่งก็เริ่มเปิดการพูดคุยสนทนาหารือทันทีที่เห็นว่าผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มากันครบแล้ว แต่การประชุมในสุดสัปดาห์นี้ต่างออกไปครับ
คุณธนัญธร เปรมใจชื่น จากสถาบันขวัญเมือง เป็นกระบวนกรผู้ดำเนินกระบวนการประชุมครั้งนี้ เธอไม่ได้ตั้งต้นการประชุมด้วยทั้งสองรูปแบบที่ว่า แต่เริ่มด้วยการเช็คอิน (check in) ครับ คุณอ่านไม่ผิดหรอกครับเช็คอินคำเดียวกับที่เราใช้เวลาที่จะเข้าพักในโรงแรมนั่นล่ะครับ
การเช็คอินในที่นี้ คือการเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมวงประชุมทุกๆ คนได้พูดเรื่องอะไรก็ได้ที่กำลังอยู่ในใจของตัวเอง ในขณะที่แต่ละคนกำลังเล่าออกมา คนอื่นๆ ก็นั่งฟังรับรู้ไปตลอดจนครบทุกคน
ก่อนที่แต่ละคนจะเริ่มเช็คอินตัวเอง ความคาดหวังและบรรยากาศของที่ประชุมก็ไม่แตกต่างไปจากวงอื่นเท่าใดนัก บางคนยังสนใจสมุดบันทึกในมือ บ้างก็เตรียมประเด็นที่อยากจะพูดหารือกับที่ประชุมอยู่ในใจ ครั้นเมื่อความในใจของแต่ละคนเผยออกมา หลายคนถึงพบว่าบรรยากาศของการประชุมเปลี่ยนไป
เรื่องที่แต่ละคนเช็คอินเข้ามา มีทั้งอารมณ์ความรู้สึกในเช้าวันนั้น ทั้งอารมณ์แจ่มใส ขุ่นมัวเพราะกังวลว่าท้องผูก บางส่วนแสดงความคาดหวังอยากได้อะไรจากการพูดคุย บางส่วนเผยว่าการพักผ่อนยามวิกาลที่ผ่านมาเป็นไงบ้าง นอนไม่ค่อยหลับ รู้สึกพักไม่พอ อาจผล็อยหลับไปได้ทุกเมื่อ บางคนแทบไม่ได้นอนเพราะต้องจัดการดูแล เตรียนมอาหารให้คนที่บ้านก่อนต้องจากมาหลายวัน และมีจำนวนไม่น้อยเลยเผยว่าก่อนเดินทางมาร่วมประชุมนี้มีงานคั่งค้างในปริมาณระดับที่เยอะและยุ่ง จนถึงระดับเครียดมาก การมาครั้งนี้ต้องยอมปล่อยวางงานเอาไว้ ไม่พยายามเอาใจไปคิดถึง
ความรู้สึกร่วมของที่ประชุมเปลี่ยนไปทันทีครับ พวกเราเห็นใจและเข้าใจเพื่อนร่วมวงมากขึ้น คนที่ได้เล่าเรื่องหนักใจก็รู้สึกเบาสบายขึ้น เราต่างเห็นแง่มุมความเป็นมนุษย์และรับรู้สุขทุกข์ของกันและกัน บทสนทนาหารือจึงดำเนินไปอย่างราบรื่น ผ่อนคลาย และเอื้อเฟื้อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมเท่าที่ต้องการ ผมเชื่อว่าถ้าไม่เริ่มด้วยการเช็คอินนี้ บางคนก็ยังคงอึดอัดกับความไม่สบายกายเมื่อคืน บางคนก็ไม่เข้าใจและผิดหวังที่เห็นเพื่อนไม่ช่วยออกความเห็น การประชุมจะไม่สามารถมีคุณภาพอย่างเต็มที่ได้เลย
การเช็คอินไม่ใช่เครื่องมือสำหรับการประชุมเท่านั้นครับ แต่เรายังนำการเช็คอินมาใช้ได้กับชีวิตการทำงานในทุกๆ วัน ผมขอชวนให้เราเช็คอินกันในทุกเช้าที่พบหน้ากันในที่ทำงานครับ เพราะทำงานด้วยกันตลอดทั้งวันก็เหมือนพายเรือลำเดียวกัน จะพายเรืออย่างมีความสุข จะพายวนไปไม่ถึงไหน หรือบางคนอาจจะไม่พายเลยเอาเท้าราน้ำแทน ล้วนขึ้นกับเพื่อนร่วมงานของเราเอง
การเช็คอินมีหัวใจสำคัญสามประการครับ ประการแรกนั้น เราต้องได้ถามกันอย่างจริงจังและจริงใจ ในขณะที่ถามต้องเกิดออกมาจากความต้องการรับรู้ และพร้อมแบ่งปันรับเอาความรู้สึกของเพื่อนร่วมงานเข้ามาในใจเรา เราถามเพราะเราอยากรู้จริงๆ ว่าวันนี้เขาเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ใช่เพียงแค่เดินผ่านเอ่ยทักว่าวันนี้เป็นไง แล้วเดินเลยผ่านกันไปไม่ได้คาดหวังจะให้เขาตอบอะไรมากไปกว่า ก็ดี ในสังคมอเมริกันปัจจุบันคำว่า ฮาวอาร์ยู? (How are you?) คุณสบายดีไหม? กลายเป็นคำที่แทบไม่มีความหมายอะไร เป็นแค่สร้อยคำเฉยๆ ยามเช้าคนทักกันว่า กู๊ดมอร์นิ่ง ฮาวอาร์ยู (Good morning. How are you?) แล้วเดินผ่านกันไปเฉยเลย ผมเองตอนแรกๆทักแล้วมักต้องยืนเอ๋อๆ งงๆ ว่า อ้าวไหงถามเราแล้ว พอเราจะตอบกลับเดินหลายไปกันหมด นึกว่าเป็นเพราะเราน่ารังเกียจหรือเปล่า พอสังเกตจึงได้เป็นว่ากลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว
แต่อย่างไรก็ตามเวลาเราถามอะไรแล้วตั้งใจฟังคำตอบจริงๆ นี่ก็จะมีผลมากนะครับ หลายคนเซอร์ไพรซ์มาก บางทีตอบว่า "อ้าว อยากรู้จริงๆเหรอ นึกว่าถามไปงั้นๆ" พอเราอยู่ตรงหน้าเขาแบบเต็ม 100% ตั้งใจฟังสิ่งที่เขาพูดจริงๆ วินาทีที่อยู่ตรงหน้าก็กลายเป็นวินาทีแห่งความศักดิ์สิทธิ์ครับ สรุปคือหัวใจของการเช็คอินประการที่สองคือการรับฟังอย่างตั้งใจ ฟังอย่างลึกซึ้ง สนใจในสิ่งที่เพื่อนร่วมงานบอกออกมา และไม่เพียงแค่คำพูด แต่รวมถึงน้ำเสียง กริยาท่าทาง สีหน้าและอารมณ์ การฟังอย่างลึกซึ้งช่วยให้เราเปิดรับกัน และให้คนที่บอกเล่าได้พูดอย่างเปิดเผยหมดใจ
ประการสุดท้าย การเช็คอินได้ช่วยเปิดพื้นที่ให้มีเรื่องอื่นๆ เข้ามามากขึ้น ไม่จำกัดให้อยู่เพียงเรื่องงานเท่านั้น ลองนึกถึงสภาพที่ทำงานที่เช้ามาก็ถูกถามว่าทำรายงานเสร็จแล้วหรือยัง อย่าลืมนัดประชุมศุกร์นี้ แค่คิดก็เริ่มเครียดแล้วใช่ไหมครับ? การมีเรื่องนอกเหนือจากงานในหมู่เพื่อนร่วมงานทำให้เราได้เรียนรู้กันมากขึ้น ได้เห็นความสำคัญในแง่มุมต่างๆ ไม่จำกัดเฉพาะงานตรงหน้าอย่างเดียวครับ
เราไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากมายเพื่อทำเช็คอินกันครับ เริ่มได้ง่ายๆ ด้วยความจริงใจ ฟังอย่างตั้งใจ และเปิดใจรับทุกๆ เรื่อง
มาช่วยกันทำให้การเช็คอินทุกเช้าในที่ทำงานและก่อนการประชุมกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจนเป็นนิสัยกันเถอะครับ ไม่จำเพาะแต่เพื่อนนะครับ ต้องรวมถึงระหว่างหัวหน้าทีมและลูกทีมด้วย แล้วความสุขในการทำงานก็เกิดได้ แถมยังช่วยให้งานดีขึ้นอีกด้วยครับ :-)
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment