ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 8 สิงหาคม 2547


ผมขอไม่แสดงความเห็นเรื่องว่า "ใครผิดใครถูก" ระหว่างคุณปุระชัย และคุณหมอประกิต กับกรณีโครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

กรณีดังกล่าวการทำความจริงโดยรอบด้านให้ปรากฏนั้นมีความสำคัญ โดยทุกฝ่ายรวมถึงสังคมโดยรวมด้วย จะต้องข้ามความคิดแบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกไป ก้าวให้พ้นแนวคิดแบบ "You are either with us, or against us" (หากคุณไม่อยู่ข้างเรา ก็ต้องเป็นศัตรูของเรา) เพราะความคิดเช่นนี้บีบคั้น อยู่ในข้อจำกัดว่าหากมีผู้ชนะก็ต้องมีผู้แพ้ ลดทอนความจริงที่มีหลายมิติหลายด้านให้เหลือเพียงถูก-ผิด ขาว-ดำ หรือ ดี-เลว

ควรกลับมาพิจารณาว่า การตั้งคำถามเช่นว่านี้เหมาะสมหรือไม่? ช่วยให้อะไรดีขึ้นอย่างไร? การตั้งคำถามอย่างไรจึงจะเป็นการสร้างสรรค์ ทำให้ทุกฝ่ายได้หันหน้าเข้าหากัน และเอางาน เอาการทำความดีเพื่อสังคมเป็นตัวตั้ง? คำถามและคำตอบประเภทใดที่จะช่วยกันสร้าง "ระบบ" ที่เอื้อต่อการทำความดีของทุกฝ่ายได้?

แต่ประเด็นที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญมาก ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องพึงพิจารณาใคร่ครวญให้ดี คือ เรื่อง จุดมุ่งหมายของการทำความดี คำถามที่เวลานี้เราได้ยินมากที่สุดคำถามหนึ่งคือ "ทำดีได้ดีมีที่ไหน?" (บางทีมีสร้อยต่ออีกว่า "ทำชั่วได้ดีมีถมไป")

คำถามดังกล่าวนี้สำคัญ เพราะบอกถึงบรรยากาศการทำความดีของสังคม เป็นตัวชี้วัดวุฒิภาวะหรือพัฒนาการของสังคมต่อการทำความดี ซึ่งเป็นหัวใจของความเป็นมนุษย์และสังคมที่สงบร่มเย็น จึงควรที่จะมีการเปิดเป็นประเด็นสาธารณธ ให้มีการพินิจพิเคราะห์ให้ดี เชิญชวนผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ของแผ่นดินออกมาแสดงความคิดเห็น เชื่อมโยงให้เกิดเป็น "ปัญญาใหญ่" ของสังคม ให้เกิดช่องทางปัญญาแก่สังคม เพราะสังคมไทย สังคมโลก ในมนุษยชาติจะอยู่รอดหรือไม่ มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำความดีของมนุษย์

ผมเองไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิและยิ่งไม่ใช่ปราชญ์ แต่เห็นว่าคำถามนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงขอลองเริ่มเปิดประเด็นเพื่อชักชวนให้มีการพูดคุยกัน

หากเป็นผมก็จะตอบแบบกวนๆนิดๆ (แต่จริงจัง) โดยเริ่มจากนิทานเซ็นที่ผมชอบมาก เป็นบทสนทนาระหว่างตันซาน พระเซ็นชื่อดังของญี่ปุ่นและสีกาท่านหนึ่ง

"หลวงพ่อคะ คนตายแล้วไปไหน?" สีกาปุจฉา พระตันซานเงียบไปครู่หนึ่ง แล้วหยิบเทียนที่ติดอยู่มาเป่าให้ดับ แต่ไม่กล่าวตอบอะไร หลังจากเงียบไปอีกพักใหญ่ สีกาผู้นั้นรู้สึกอึดอัดกระสับกระส่าย ตันซานจึงเอ่ยถามว่า "เธอพอใจกับคำตอบของเราหรือไม่?" สีกาตอบ "ไม่ค่ะ" ตันซานยิ้มแล้วบอกว่า "เราก็ไม่พอใจกับคำถามของเธอเหมือนกัน"

การทำความดีนั้น "ดี" โดยตัวมันเอง ไม่ต้องการการลงทะเบียน เทียบค่า ยอมรับ หรือประทับตราจากใคร หรือแม้กระทั่งการได้ทำความดีแล้วมีผู้เข้าใจผิด เห็นเป็นอื่น ก็ใช่ว่าจะทำให้การทำความดีนั้นมัวหมองไปได้ เป็นเช่นนั้นเอง เป็นธรรมดาของการทำความดี

คนที่ทำดีแล้วมีความสุข สุขเพราะรู้แจ้งว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องและดีงาม (ไม่ว่าสังคมจะเห็นว่าเป็นอย่างไร เข้าใจถูกหรือผิด) นี่เรียกว่า เป็นคนที่มีสุขภาวะทางปัญญา คือมีสุขภาวะที่เกิดจากการมีจิตใจสูง

องค์กรที่ทำความดีแล้วมีความสุข สุขเพราะรู้แจ้งว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องและดีงาม (ไม่ว่าสังคมจะเห็นว่าเป็นอย่างไร เข้าใจถูกหรือผิด) นี่เรียกว่า เป็นองค์กรที่มีสุขภาวะทางปัญญา คือมีสุขภาวะที่เกิดจากการมีจิตใจสูง

หน้าที่ของสังคมโดยรวม และโดยเฉพาะ สสส. ในการส่งเสริมสุขภาวะทางปัญญา หากกล่าวอย่างง่ายก็คือ ส่งเสริมให้คนได้ทำความดี และให้คนได้มีความสุขจากการทำความดีนั้นด้วย

ถ้าให้ดียิ่งขึ้นก็แสดงให้เห็นด้วยว่า ทำได้อย่างไร?

หากส่งเสริมให้คนได้ทำความดีแล้ว คนนั้นยังไม่มีความสุข (ไม่ว่าจะเกิดจากไม่มีใครไปรับรู้ ไปยกย่อง หรือเกิดจากมีคนเข้าใจผิด หรือเหตุอื่นๆ)นี่แสดงว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ อาจจะยัง "ติดดี" แสดงว่ายังขาดปัญญา ต้องช่วยกันทำให้เกิดปัญญา ให้เห็นว่าการทำดีนั้น ควรทำเพราะว่ามัน "ดี" โดยตัวมันเอง และเมื่อได้ทำดีแล้ว "ดี" เลย ไม่ว่าจะมีใครเห็น ไม่เห็น หรือเข้าใจเป็นอย่างอื่น

สสส. มีแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ที่ส่งเสริมให้สังคมมีสุขภาวะจากการมีจิตใจสูงทั้งประเทศ โดยการสร้างช่องทางที่ให้สมาชิกทุกคนได้มีประสบการณ์ตรง เข้าถึงความสุขอันประณีต ผ่านช่องทางที่มากมาย หลากหลาย และทั่วถึง

ความสุขอันประณีตนั้นอาจหมายถึง ความสุขที่ไม่ได้เกิดจากการเสพอย่างหยาบๆ จากการได้ จากการมีแบบโลกๆ แต่หมายถึง ความสุขจากการขัดเกลาตนเอง ทำให้เกิดปัญญา สงบเย็น เป็นประโยชน์ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพส่งเสริมให้ผู้คนรู้จัก เข้าใจ มีประสบการณ์ตรงถึงการมีสุขภาวะทางปัญญา (เหมือนนิพพานชิมลองที่ท่านพุทธทาสว่า) อีกทั้งยังบอกเล่าได้ และสร้างโอกาสให้คนอื่นๆมีสุขภาวะจากการทำความดีกันให้มากๆได้ด้วย

การส่งเสริมสุขภาวะในมิตินี้ไม่เพียงแต่มีรูปธรรมชัดเจน ทำได้จริง ทั้งยังทำได้ง่ายด้วย เพราะทำได้ทุกคน ทุกเวลา ไม่จำกัดเพศ ชนชั้น อายุ สถานะทางสังคม เศรษฐกิจ และอื่นๆใดๆทั้งสิ้น ทำคนเดียวก็ได้ ทำเป็นกลุ่ม เป็นครอบครัว เป็นองค์กรก็ได้ เป็นสิ่งที่ทำได้และให้ผลได้ไม่จำกัดเวลา เป็นสุขภาวะประเภทที่ลงได้ทำแล้วก็ "ดี" ทุกครั้งไป แถมยังได้ผลทันทีด้วย จึงเป็นสิ่งที่ควรชวนผู้ที่ยังสงสัยให้มาพิสูจน์

ในวาระที่ "สุขภาวะทางปัญญา" กำลังถูกตั้งคำถามจากสังคม นี่เป็นโอกาสอันดีที่สุดโอกาสหนึ่งที่ สสส. จะได้สร้างความเข้าใจ และแสดงให้เห็นว่า ความสุขอันประณีต สุขภาวะจากการทำความดี สุขภาวะจากการมีจิตใจสูงนั้นเป็นอย่างไร และเข้าถึงได้อย่างไร


ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 10 กรกฎาคม 2547


"ทุกวันนี้ผมมีนามบัตรสองใบ ใบหนึ่งแสดงถึงธุรกิจของผม อีกใบหนึ่งแสดงถึงตัวตนของผม" คุณปรีดา เตียสุวรรณ์ กล่าวในงานอบรมเรื่อง "จิตสำนึกใหม่ของผู้นำ" โครงการวิทยาลัยเอสวีเอ็น (SVN College) ที่เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social Venture Network: SVN) จัดขึ้น และผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมเมื่อต้นสัปดาห์นี้

คุณปรีดาเล่าให้กลุ่มกัลยาณมิตรฟังว่า ตนเองจะมีนามบัตรใบหนึ่ง ในฐานะประธานกรรมการบริหารของบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด เพื่อใช้สำหรับติดต่องานกับนักธุรกิจโดยทั่วไป ส่วนอีกใบหนึ่งคือ คุณปรีดา ในฐานะประธานกรรมการเครือข่าย SVN ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มุ่งส่งเสริมจิตสำนึกทางธุรกิจที่นำไปสู่การเคารพสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงสิทธิของชุมชนและสังคม ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่ยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย

เวลาจะแนะนำตัว ก็ต้องนึกก่อนว่า "เอ! คนนี้เราจะให้ใบไหนดี?"

ปรากฏว่า คุณปรีดาไม่ได้เป็นคนเดียวที่มีนามบัตรสองใบ ยังมีเพื่อนๆ นักธุรกิจที่มาเรียนรู้ด้วยกันอีกหลายคน ที่ถือนามบัตรสองใบด้วยเช่นกัน

เมื่อก่อนโลกของนักธุรกิจเหล่านี้แยกออกเป็นสอง โลกหนึ่งเป็นโลกธุรกิจ การประกอบอาชีพ การทำมาหากินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว อีกโลกหนึ่งเป็นโลกนอกภาคธุรกิจที่คนเหล่านี้ก็อยากมีครอบครัวที่อบอุ่นอยากเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม อยากมีสุขภาวะที่ดีและมีส่วนสร้างสุขภาวะที่ดีแก่คนอื่นๆ ด้วย

แต่ทุกวันนี้ คุณปรีดา และเพื่อนๆ มีคุณประสาร มฤคพิทักษ์ คุณสมลักษณ์ หุตานุวัตร และคุณวัลลภา คุณติรานนท์ เป็นอาทิ มีเป้าหมายที่จะทำให้โลกทั้งสองผสานเป็นหนึ่ง ทำนามบัตรให้เป็นใบเดียว

ในการดังกล่าวต้องอาศัยความรู้ ทักษะ การฝึกฝนตนเอง และการปรับเปลี่ยนในหลายระดับ จึงเป็นที่มาของโครงการวิทยาลัยเอสวีเอ็น ที่กลุ่มจะได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงร่วมกันจนเห็นผล อย่างน้อยในสามเรื่องหลัก คือ มณฑลแห่งพลัง สุนทรียสนทนา (Dialogue) และการบริหารจัดการองค์กรในวิทยาศาสตร์ใหม่ (หลักการทั้งสามนี้ สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้นำเสนอจากมุมมองต่างๆ ผ่านสื่อ ทั้งในคอลัมน์นี้และอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง)

ความรู้ที่ใช้ในกระบวนการอบรมเป็นความรู้ใหม่ที่สุดในโลก อยู่ที่พรมแดนของความรู้ (frontier of knowledge) โดยการนำเอาทั้งความรู้ด้านศาสนธรรมและด้านวิทยาศาสตร์ใหม่มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับการทำงานของสมอง ทฤษฎีระบบ (System Theory) ทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) หรือแม้แต่ควอนตัมฟิสิกส์ (Quantum Physics)

เพราะวิทยาศาสตร์เก่าและกระบวนทัศน์เก่าที่แยกส่วนและเน้นสสารวัตถุ อธิบายความจริงได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น การประยุกต์ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส ดาร์วิน ที่กล่าวถึงกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ และการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุด มาใช้ในการอธิบายสังคมมนุษย์ หรือที่เรียกว่า โซเชียลดาร์วินนิสซึ่ม (Social Darwinism) การอธิบายโลกเช่นนี้เป็นการอธิบายที่คับแคบ มองโลกเป็นเรื่องของการแข่งขันเท่านั้น

สังคมที่ภาคธุรกิจมีความคิดเช่นนี้ ก็จะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความเดือดร้อน เพราะมุ่งเน้นที่การหากำไรสูงสุด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครเลย สิ่งแวดล้อมก็จะแย่เพราะมีกระบวนการผลิตที่ไม่เหมาะสม พนักงานไม่มีความสุขเพราะถูกกดขี่แรงงาน ตัวเจ้าของกิจการเองก็เครียดเพราะต้องคิดเรื่องเงินๆ ทองๆ ตลอดเวลา สุขภาพก็แย่ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และจิตวิญญาณ

ในขณะที่วิทยาศาสตร์เก่าเชื่อว่า โลกคือการต่อสู้แข่งขัน แต่วิทยาศาสตร์ใหม่อธิบายว่า โลกที่แท้จริงคือ โยงใยแห่งความสัมพันธ์ ที่ทุกชีวิตล้วนเชื่อมโยง ถักทอ เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

สิงโตที่ล่ากวาง ก็ล่าแค่เพียงพอต่อความอยู่รอด เราไม่เคยเห็นสิงโตล่าอาหารเพราะความละโมบโลภมาก เก็บสะสมเอาไว้เป็นทรัพย์สมบัติของตน ไม่ต้องตื่นขึ้นมาล่าสัตว์ตั้งแต่ไก่โห่ยันพระอาทิตย์ตกดิน แต่ล่าเพียงแค่พอกิน แล้วก็นอนพักผ่อน

ในธรรมชาติมีระบบที่สร้างความสมดุล ไม่มีสิ่งใดเป็น "ของเสีย" (waste) สิ่งขับถ่ายของสิ่งมีชีวิตหนึ่งเป็นอาหารหรือปัจจัยต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตอื่น แม้แต่ความตายก็เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนหมุนเวียน ไหลเลื่อนเคลื่อนที่ไปตามเหตุตามปัจจัย

ในขณะที่วิทยาศาสตร์เก่าเชื่อว่า คนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่อสู้แก่งแย่งชิงดีกัน แต่วิทยาศาสตร์ใหม่อธิบายว่า แม้มนุษย์จะมีกิเลสอยู่ แต่ทุกคนนั้นมีเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิ เมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ มนุษย์มีศักยภาพในการก้าวข้ามขอบเขตของการคิดถึงแต่ตัวเอง และหันกลับมาให้ความสำคัญต่อความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของทุกองคาพยพของสังคม

หากภาคธุรกิจซึ่งมีพลังมาก ได้เห็นและเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า ตนเองมีศักยภาพในการทำความดีได้มากเช่นนี้แล้ว โลกจะมีความงดงามขึ้นอีกมาก

หากเราทำเรื่องจิตวิวัฒน์ในภาคธุรกิจให้เป็นจริง เจ้าของกิจการก็จะมีสุขภาพดี เพราะไม่ต้องทำงานเกินกว่าที่ควร มีเวลาออกกำลังกาย มีเวลาให้กับครอบครัวและเพื่อนฝูง

เมื่อคิดเผื่อแผ่ไปถึงพนักงานของบริษัท ก็จะมีระบบและบรรยากาศการทำงานที่ดี สวัสดิการที่เหมาะสม

หากคิดได้กว้างไกลมากขึ้น ไปถึงลูกค้าของบริษัท เราก็จะได้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูง และหากนักธุรกิจมีจิตที่ใหญ่ เราก็จะมีภาคธุรกิจที่มีกระบวนการผลิตและบริการที่เป็นมิตรต่อทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม

กระบวนการเรียนรู้แบบเครือข่ายเอสวีเอ็น เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ผ่านชุมชนปฏิบัติการ (community of practice) ที่มากมายและหลากหลายรูปแบบ เช่น วิทยาลัยอาศรมศิลป์ ที่เน้นการเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะ กลุ่มวงล้อ เครือข่ายครู ชาวบ้าน นักวิชาการ โครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กลุ่มจิตวิวัฒน์เชียงราย กลุ่มทันตบุคลากรเชียงราย กลุ่มเครือข่ายผู้ทำงานสังคมของมูลนิธิอโชก้า รวมไปถึงเครือข่ายเรียนรู้ทางอินเตอร์เน็ต เช่น กลุ่มการเรียนรู้ระหว่างเจ้าของโรงแรม แพทย์ นักการศึกษา นักพัฒนาสังคมในประเทศไทย-ฝรั่งเศสอีกด้วย

ชุมชนปฏิบัติการจิตวิวัฒน์ต่างๆ เช่นนี้ ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นมากๆ และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีพลัง

เพราะอนาคตของมนุษยชาติอยู่ที่การมีจิตใหญ่หรือจิตใจสูง เป็นการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ เพื่อให้สังคมมีสุขภาวะจากการมีจิตใจสูงทั้งโลก


ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2547


เวลาคุณได้ยินคำว่า "จิตวิวัฒน์" แล้วนึกถึงอะไร?

คุณนึกถึงอะไรที่ยากๆ หรือเป็นนามธรรมหรือเปล่า?

คุณคิดว่ามันคืออะไรที่ไม่น่าจะเกี่ยวกับคุณใช่ไหม?

หากคุณเคยมีความรัก กำลังตกหลุมรัก หรือหวังว่าจะพบรัก คุณก็น่าจะได้รู้จัก "จิตวิวัฒน์" เพื่อที่จะได้เข้าใจความรักของคุณมากขึ้น!

ในที่ประชุมจิตวิวัฒน์ครั้งหนึ่ง คุณเดวิด สปิลเลน ได้เล่าถึงการประชุมประจำปีของสถาบันโนเอติกไซนส์ (www.noetic.org) ที่ทำงานเรื่องการปฏิวัติจิตสำนึก (Consciousness Revolution) ว่ามีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางถึงความท้าทายทางสังคมและวัฒนธรรมที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ คือ "การที่เราต้องเป็นที่พักสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้กับกระบวนทัศน์เก่าและเป็นหมอตำแยสำหรับกระบวนทัศน์ใหม่" (To become a hospice to the old and a midwife to the new paradigm)

กระบวนทัศน์เก่า (ที่คุณหมอประสาน ต่างใจ เรียกในคอลัมน์นี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า กระบวนทัศน์ "สมัยใหม่" แต่ "เก่าเดิม")

เกิดพร้อมการปฏิวัติวิทยาศาสตร์เมื่อสามร้อยกว่าปีที่แล้ว นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ แต่เป็นความคิดความเข้าใจโลกที่มีลักษณะของโลกแบบแยกส่วน เน้นวัตถุ และเชื่อในความสามารถทำนายผลล่วงหน้าได้

ทำให้มนุษย์มีจิตเล็ก เข้าใจโลกอย่างแคบๆ

ส่วนกระบวนทัศน์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นนั้นมองโลกอย่างเป็นองค์รวม ทำให้มนุษย์มีจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) หรือจิตที่ใหญ่ ที่ไม่บีบคั้น ไม่ขัดแย้งกับธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเป็นอิสระ ความรัก และความสุข

สิ่งที่พวกเราทุกคนสามารถทำได้ก็คือ สร้างความเข้าใจในธรรมชาติของคำอธิบายโลกแบบเก่า ที่ใช้การไม่ได้ ต้องถูกแทนด้วยกระบวนทัศน์ใหม่

เราไม่ควรไปซ้ำเติม แต่ควรให้ความรัก และช่วยให้กระบวนทัศน์เก่าจากไปด้วยความมีศักดิ์ศรี

ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามเรียนรู้ เตรียมพร้อม และช่วยเหลือให้กระบวนทัศน์ใหม่หรือจิตสำนึกใหม่เกิดขึ้น

เรื่องที่คุณเดวิดเล่าเกี่ยวกับการดูแลการเกิด-การตายของกระบวนทัศน์ ชวนให้ผู้เขียนรู้สึกว่าเราเองต้องให้ความรักแก่กระบวนทัศน์เหมือนให้ความรักแก่คน ทั้งที่กำลังเกิดและกำลังจะตาย ผู้เขียนนึกถึงความรักรูปแบบต่างๆ ทั้งความรักที่เรามีให้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ (ยิ่งเพิ่งจะผ่านวันครอบครัวและวันผู้สูงอายุมาไม่นาน) รักที่เราให้มีกับแฟน (รวมทั้งแฟนคลับ) รวมรักที่มีให้แก่เด็กๆ และรักอื่นๆ อีกมากมายหลายเฉดสี

แล้ว "ความรักคืออะไร"

พอล เมย์คิช เพื่อนสนิทของผู้เขียนที่เป็นคริสเตียน นักคิด และหนอนหนังสือ เล่าให้ฟังว่า ชาวกรีกโบราณนั้นมีคำที่ใช้เรียกความรักถึงอย่างน้อยห้าคำ คือ storge, hybris, eros, philia และ agape

คำว่า storge (สตอร์เก้) เป็นคำเบาๆ ที่มีความหมายไปทาง "ชอบ" มากกว่ารัก

ส่วนคำว่า hybris (ไฮบริส) หมายถึงความรักตนเอง ที่เป็นฐานของความเย่อหยิ่ง

คำว่า eros (อีโรส) นั้นเป็นชื่อลูกของเทพอะโฟรไดท์ หรือวีนัส หรือที่คนมักรู้จักกันในชื่อ คิวปิดนั่นเอง คำคำนี้เป็นที่มาของคำว่าอีโรติกด้วย โดยทั่วไปหมายถึงความรักแบบโรแมนติก

อีกคำคือ philia (ฟิเลีย) เป็นความรักที่พบในมิตรภาพ ในหมู่เพื่อน ในครอบครัว รักพ่อรักแม่ หรือในมนุษยชาติ อย่างที่เมืองฟิลาเดลเฟียนั้น หมายถึงเมืองแห่งความรักของพี่น้องหรือภราดรภาพ

คำสุดท้ายคือ agape (อะกาเป้) ใช้ในความหมายถึงการได้รับ การให้ความเคารพ โดยมีนัยะถึงพระเจ้า ความรักแบบนี้ไม่ให้ความรู้สึกน่าทึ่ง อัศจรรย์ วูบวาบเหมือนรักแบบโรแมนติก หรือความรู้สึกอบอุ่นแบบฟิเลีย แต่กลับให้ความรู้สึกกลางๆ มีลักษณะไปทางจิตวิญญาณหรือจิตปัญญา ไม่มีสีสันไม่ปรุงแต่ง ไม่ติดยึด ไม่เรียกร้อง

ความรักแบบที่สี่และโดยเฉพาะแบบที่ห้านี้หรือเปล่าหนอ ที่ก่อให้เกิดความรักที่เป็นอิสระ ข้ามพ้นการแบ่งเขาแบ่งเรา แบ่งพรรคแบ่งพวก เป็นความรักแบบจิตใหญ่ที่แท้จริง

เรื่องความรักในการดูแลระยะสุดท้ายและทำคลอดกระบวนทัศน์ บวกกับเรื่องความรักห้าแบบของกรีก ทำให้ได้คิด ได้สัมผัสความลึกซึ้งและงดงามของความรักในรูปแบบต่างๆ

และที่น่าทึ่งคือทั้งสองเรื่องไม่ได้มีความหมายโดดๆ หรือขัดแย้งกัน แต่สอดประสาน ซ้อนเหลื่อม เสริมพลัง เหมือนกับให้ภาพที่ซ้อนชัดขึ้นๆ

ดังที่อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู อธิบายว่า เหมือนกลับมาที่เดิม ที่ไม่ใช่ที่เดิม เป็น spiral dynamic หรือแบบเกลียวสปริง เป็นการเรียนรู้ของสมอง ที่เป็นข่ายใย ไม่ใช่เชิงเส้น ทำให้เราเชื่อมโยงความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจต่างๆ ได้ดีขึ้น และในหลายบริบทมากขึ้น

ตัวอย่างเรื่องความรักนี้ยังทำให้ผู้เขียนได้สัมผัสชัดเจนขึ้นถึงถ้อยคำที่ว่ากระบวนทัศน์ใหม่นั้นไม่ได้ละทิ้งหรือปฏิเสธกระบวนทัศน์เก่า หากแต่ก้าวพ้นและครอบคลุม (transcend and include) คือ อธิบายของเดิมได้หมด

แถมยังอธิบายสิ่งอื่นได้เพิ่มอีกด้วย ดังเช่น การที่ความรักแบบอะกาเป้และฟิเลีย เข้าใจและโอบอุ้มความรักแบบอื่นๆ ไว้ได้หมด

ภายในประเทศของเราก็มีตัวอย่างรูปธรรมของกลุ่มคนที่พยายามเรียนรู้และประยุกต์ใช้ความรักและความรู้ในกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อเข้าใจและแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนอยู่พอสมควร

อาทิ กลุ่มจิตวิวัฒน์ ที่ประกอบด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิตวิวัฒน์ กระบวนทัศน์ใหม่ และการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ มีการพบปะกันทุกเดือนเพื่อศึกษาและเผยแพร่จิตสำนึกใหม่

กลุ่มเชียงราย-แพร่ เป็นเพื่อนๆ จากหลากหลายวิชาชีพ ที่ได้ลองเอาเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับจิตใหญ่มาทดลองปฏิบัติกับตนเองในด้านต่างๆ ทั้งระดับบุคคลและองค์กร

หรือ กลุ่มปัญญาวิวัฒน์ (A Circle of Friends) ที่เริ่มก่อตัวจากเยาวชนไทยที่มีประสบการณ์ต่างประเทศ มีมุมมองหลากหลายจากสาขาวิชาต่างๆ ที่มีความรัก ความปรารถนาดี อยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับประเทศและสังคมโลก

กลุ่มหลังนี้ตระหนักว่าปัญหาที่ท้าทายโลกยุคนี้แก้ด้วยจิตที่เล็กไม่ได้ จึงพยายามรวมตัวกันเรียนรู้ให้ข้ามพ้นความเป็นปัจเจก ความจำกัดของวิชาที่ตนเองเรียนมา และสร้างจิตใหญ่ร่วมกัน ล่าสุดกลุ่มนี้ก็ได้พยายามให้มีการใช้ "สุนทรียสนทนา" ในการเรียนรู้เข้าใจ และช่วยกันแก้ปัญหาในภาคใต้อีกด้วย

ตัวอย่างของกลุ่มที่มีความตั้งใจดี มีความรักเผื่อแผ่ถึงเพื่อนมนุษย์ พยายามเรียนรู้เพื่อขยายปริมณฑลของจิตให้กว้างขวาง เข้าถึงความเป็นทั้งหมด มีจิตสำนึกใหม่ เช่นนี้ สังคมควรยกย่อง และส่งเสริมให้มีให้แพร่หลาย ทั้งกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ เชื่อมโยงกัน ดังที่อาจารย์ประเวศ วะสี ได้เสนอแนะไว้ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล-กลุ่ม-เครือข่าย (ปกค. หรือ INN:Individual-Node-Network)

เพราะจิตใหญ่นั้นนำมาซึ่งความรักและมิตรภาพอันไพศาล เป็นรากฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ