ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2550


คราวที่แล้วผมเล่าประสบการณ์การเรียนอย่างไม่ค่อยจะมีสติของผม ... อันที่จริงผมชอบบทเรียนส่วนตัวแบบนี้ เพราะมันแรงดี มันโดนดี มันสอนเราได้ดีกว่าประสบการณ์แบบพื้นๆ ตรงกับที่ครูบาอาจารย์แนะอยู่เสมอๆ ว่า “ถ้าอยากจะสุข ให้เอาทุกข์เป็นทางเดิน” แม้ว่าบางครั้งการลุยผ่านเส้นทางเหล่านั้นจะทุกข์อย่างแสนสาหัสและเกือบจะเอาตัวไม่รอด

ถ้ามองย้อนกลับไปก็เห็นทั้งโอกาสและศักยภาพความสามารถเรียนรู้เรื่องสติได้เอง ง่ายๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะผ่านเรื่องเรียนหนังสือหรืออย่างอื่น และไม่ว่าเราจะรู้จัก เรียกชื่อได้ถูกต้องหรือไม่ก็ตาม

การเกิดวิตก-วิจารณ์-ปีติอันเป็นปฐมบทแห่งจิตที่มีกำลังคู่ควรแก่งานนั้นอาจมีอยู่ให้เรา “ชิมลอง” เหมือนกับเมนูอาหารว่าง พวก appetizer ที่เราสั่งมากินเล่นง่ายๆ แต่จะได้กินอาหารหลักจานอร่อยดูเหมือนต้องลงทุนลงแรงฝึกอย่างต่อเนื่องและยาวนานไม่น้อย อาจเป็นเพราะเช่นนี้เองเราจึงมักจะเห็นคุณค่าของอาหารและยอมลงทุนกับมันยามที่เราทุกข์ทรมานจากความหิวมากๆ

ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเช่นเดียวกับกรณีนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หรือเปล่า

ผมเพิ่งกลับมาจากการไปพูดคุยกับบรรดานักศึกษาระดับปริญญาโทเข้าใหม่ ของคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ. หาดใหญ่ ประมาณหนึ่งร้อยยี่สิบคน ในหัวข้อ “การเรียนอย่างมีสติ และมีความสุข” ตั้งแต่เช้าก็ได้ยินอาจารย์ท่านต่างๆ พูดถึงความสุขๆ กันตลอด ดูเป็นเรื่องที่ขายได้กับนักศึกษา

ก็คงขายได้จริงๆ เพราะดังเช่นอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่าในบ้านเรานั้น “การศึกษาเป็นทุกข์ของแผ่นดิน” ผมได้ลองถามนักศึกษาเหล่านี้ดูว่าในบรรดาร้อยกว่าคนที่นั่งอยู่นั้น มีใครที่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับการเรียนของเขาบ้าง ปรากฏว่าเกือบทั้งหมดยกมือขึ้นแบบไม่ต้องลังเล มีอยู่ไม่ถึงห้าคนที่ไม่ยกมือ

เมื่อถามว่า แล้วจากประสบการณ์ของพวกเขาการเรียนนั้นเป็นอย่างไรมีความสุข เฉยๆ หรือว่าเป็นทุกข์ มีคนยกมือว่ามีความสุขสองสามคน ที่เฉยๆ มีเกือบครึ่ง และเป็นทุกข์เสียส่วนใหญ่ พอถามว่าแล้วเวลาไหนบ้างที่มีความสุข หลายคนตอบแบบขำๆ ว่าตอนออดหมดเวลา บ้างก็ตอบว่าตอนครูไม่มา เป็นไปได้ว่าอาจตอบเล่นๆ แต่คงมีความจริงอยู่ในนั้นไม่มากก็น้อย

ผมลองถามอีกว่าเขา “คิดว่า” ตนเองมีสติ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่สักเท่าไหร่ เกือบทั้งหมดคิดว่ามีเวลาไม่ถึงครึ่งที่ตนเองมีสติอยู่กับตัว อาจารย์ท่านหนึ่งยกตัวอย่างว่า เคยบ้างไหมที่พอเข้าไปในห้องยาแล้วจู่ๆ ก็จำไม่ได้กระทันหันว่าอุตส่าห์เดินมาตั้งไกลเพื่อตั้งใจจะมาหยิบอะไร ทั้งหมดพยักหน้าหงึกหงักอย่างเห็นด้วย

เพื่อแสดงวิธีกลับมาอยู่กับตัวเอง กับร่างกายของเราเองอย่างง่ายๆ ผมจึงพานักศึกษาทำกิจกรรม “Body Work” หรือ “ผ่อนพักตระหนักรู้” โดยให้ทุกคนนอนหงาย ปล่อยตัวตามสบาย ชันเข่าขึ้น ใช้เชือกหรือผ้าผูกบริเวณเหนือเข่าให้ขาทั้งสองอยู่ด้วยกัน

การชันเข่าขึ้นและปรับเข่าให้ติดกันทำให้กล้ามเนื้อบริเวณช่องท้องซึ่งสัมพันธ์กับความกลัวของมนุษย์ผ่อนคลายลง ยามที่เราตกใจ อยู่ในภาวะป้องกันตนเอง หรือเครียด ร่างกายของเราจะมีปฏิกิริยาหลายอย่าง เช่น จะหลั่งเสตียรอยด์สารกลุ่มคอร์ติซอล ที่ทำให้เราความดันสูงขึ้น หรืออดรีนาลิน รวมถึงการหดตัวของกล้ามเนื้อหลายมัด ทั้งที่เรารู้ตัว ตั้งใจ และบังคับได้ และที่เราไม่รู้ตัว ไม่ตั้งใจ และบังคับไม่ได้

คนสมัยปัจจุบันเติบโตและมีชีวิตอยู่ในภาวะที่เราเครียดเป็นประจำจนบางคนกล้ามเนื้อบางส่วนเกร็งอยู่บ่อยๆหรือตลอดเวลา การปรับเข่าจะช่วยผ่อนกล้ามเนื้อดังกล่าว

เช่นเดียวกันกับการที่เรายิ้มให้กับตัวเอง ทราบไหมครับว่าใบหน้าของเรานี้มีกล้ามเนื้อมากกว่า ๓๐๐ มัด ยามที่เราโกรธ กล้ามเนื้อเหล่านี้ก็จะเกร็งหดตัว แค่เราพยายามยิ้ม ก็จะเป็นการช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้นับร้อยมัด ซ้ำยังมีการวิจัยค้นพบแล้วว่ามีผลต่อจิตใจของเราด้วย

ผมให้นักศึกษานอนหงายตามสบาย วางมือลงข้างลำตัว หลับตาให้สบาย เปิดดนตรีเพื่อช่วยปรับคลื่นสมองไปสู่ระดับอัลฟ่า (มีความถี่ประมาณ ๗-๑๔ รอบต่อวินาที) จากนั้นพานักศึกษาตามความรู้สึกตัวผ่านทางกายเริ่มจากนิ้วเท้าไปจนถึงศีรษะ โดยกำหนดควบคู่กับลมหายใจไปด้วย

ในระหว่างที่ความรู้ตัวของเราไปอยู่ที่ตำแหน่งใดก็ให้เขาสื่อสารกับเซล เนื้อเยื่อ อวัยวะบริเวณนั้น ส่งความรัก ความปรารถนาดีไปให้ ขอบคุณอวัยวะเหล่านั้นที่ได้ช่วยเหลือร่วมชีวิตกับเรามาตลอด ขอโทษเขาที่บางครั้งเราอาจทำสิ่งที่เป็นโทษต่อเขา เช่น กินอาหารมันๆ ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ดื่มเหล้าทำให้ตับต้องออกแรงกำจัดแอลกอฮอล์เป็นพิเศษ หรือบางทีก็เดินแบบเผลอตัวเผลอใจไม่ระวังเอาเท้าไปเตะโต๊ะเตะเก้าอี้เข้าให้ เป็นต้น

อีกกิจกรรมที่ผมให้ทดลองทำกันคือ “Earth Breathing” หรือ “ปราณพิภพ” เป็นวิธีการเจริญสติด้วยลมหายใจของศาสนาพุทธสายทิเบต ซึ่งสามารถช่วยให้เรากลับมาอยู่กับลมหายใจและรู้สึกมั่นคง “ติดดิน” ได้ง่ายๆ อย่างเหลือเชื่อ (ผมขออนุญาตอุบเอาไว้จะเก็บมาเล่าให้ฟังภายหลัง)

การที่เราสามารถกลับมาอยู่กับตัวเรา ร่างกายของเราได้ง่ายๆ เช่นนี้ นับเป็นบาทฐานสำคัญเบื้องต้นในการเจริญสติ และหากเราฝึกฝนบ่อยๆ สักระยะ จะเกิดภาวะที่เรียกว่า ปีติและสุข ซึ่งเป็นความสุขง่ายๆ ราคาถูก เข้าถึงได้ทุกคน ไม่จำกัดอายุ เพศ ความรู้ ฐานะ หรือรายได้แต่อย่างใด ปีติและสุขเป็นเสมือนเสบียงหรือกำลังใจเล็กๆ น้อยๆ ในการเดินทางทางจิตวิญญาณของเรา

ผมหวังว่าเทคนิควิธีการเล็กน้อยเหล่านี้จะทำให้นักศึกษาบางคนเข้าใจจากการได้ลงมือปฏิบัติเอง และนำไปสู่การมีสติในการเรียนได้ แต่ถ้าใครยังไม่ชอบไม่ถูกจริตกับเครื่องมือสองอย่างนี้ ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เองยังได้จัดให้นักศึกษาที่สนใจได้เข้าโครงการอบรมวิปัสสนากัมมัฏฐาน ร่วมจัดโดยยุวพุทธิกสมาคม (สายคุณแม่สิริ กรินชัย) และอานาปานสติ ร่วมจัดกับทางสวนโมกขพลารามด้วย ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับนักศึกษาที่จะเห็นศักยภาพจากการมีสติของตน

แล้วเราทุกคนก็สามารถเข้าถึงความสุขง่ายๆ นี้ได้ทุกเวลาด้วย ไม่เพียงแต่เฉพาะเวลาเรียน เราสามารถสัมผัสมันได้ตลอดไม่ว่าจะเป็นเวลาทำงาน ทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน ถูบ้าน ซักผ้า เล่นกีฬา

สำหรับชื่อเรื่องที่ว่า “เรียนอย่างมีสติ และมีความสุข” นั้น ในเรื่องว่าด้วยการมีสติแล้ว ไม่ว่าจะกระทำการหรือดำเนินกริยาใดๆ ก็สามารถเอากิจกรรมใดๆ มาแทนคำว่า “เรียน” ได้ด้วยเกือบทุกกริยา และได้ผลคือความสุขเช่นเดียวกัน


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2550


“หัวข้อที่อยากให้มาชวนนักศึกษาคุย คือ ‘เรียนอย่างมีสติและมีสุข’ ค่ะ”


น้ำเสียงไพเราะผ่านโทรศัพท์มาจากภาคใต้ กำลังนัดแนะกับผมเรื่องการปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกเข้าใหม่ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผมบอกตัวเองว่าเอาอีกแล้วไหมล่ะ เคยตั้งใจว่าไม่อยากรับปากจะไปคุยอะไรที่ไหนโดยยังไม่ทราบหัวเรื่องก่อน นี่เผลอไปตกปากรับคำเข้าให้อีกแล้ว อืมม์ ... คนชวนนี่ก็เหมือนกัน มั่นใจได้อย่างไรว่าผมจะไม่คุยกันลงคูลงคลองกันไป (ฮา)


ยังดีที่ผมพอมีประสบการณ์อยู่บ้าง เรื่องเรียนนี่ ก็เล่นเรียนอยู่ตั้งเกือบสามสิบปีนี่ครับ (ฮา) แต่ที่คาดว่าจะเอาไปเล่าแลกเปลี่ยนกับบรรดาน้องๆ นักศึกษาใหม่ (แม้ว่าหลายคนคงไม่ใช่น้องแล้ว) คือ ประสบการณ์การเรียนอย่างขาดสติและมีทุกข์ ต่างหากครับ เพราะมันทั้งขำ ทั้งเจ็บปวดเสียเหลือเกิน จนจำได้แม่นยำ ชัดเจน ราวกับว่ามันเพิ่งจะเกิดได้ไม่นานเชียวหละ


เรื่องราวเกิดขึ้นตอนผมขึ้น ม.๔ ครับ เป็นช่วงที่พวกเรานักเรียนสายวิทย์-คณิตได้เริ่มเรียนวิชากลุ่มวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ หลายตัว ได้แก่ ชีววิทยา เคมี และฟิสิกส์ หลายคนคงว่าการเรียนแบบ ม.ต้น กับ ม.ปลายก็ไม่ค่อยต่างกัน แต่สำหรับผมแล้วต่างกันราวกับฟ้ากับเหวเลยครับ และก็เจ้าวิชาฟิสิกส์นี่แหละครับ ที่ทำเอาผมเกือบทำผมเสีย self แบบสุดๆ


ไม่รู้เป็นอย่างไร ผมทำแบบฝึกหัดไม่ได้ซักที ทั้งๆ ที่อ่านหนังสือของ สสวท. ก็แล้ว อ่านคู่มือทั้งของมัธยมและมหาวิทยาลัยก็ด้วย แต่ละครั้งอาจารย์สมชัย ซึ่งสอนเก่งและใจดี จะให้การบ้านประมาณสามถึงสี่ข้อกลับมาทำที่บ้าน เชื่อไหมครับ ผมนั่งทำอยู่ข้อละเป็นชั่วโมงยังไม่เสร็จเลย บางครั้งนั่งอยู่ทั้งคืนก็ยังคิดไม่ได้ ที่ทำๆ ให้เสร็จก็ออกมาผิดประจำ


หลังจากเรียนไปได้ไม่นาน ก็มีการทดสอบพรีเทสต์ นัยว่าจะดูว่านักเรียนมีพื้นฐานความเข้าใจและความพร้อมเท่าไหร่ ผมไม่ค่อยเครียดเท่าไหร่เพราะเดาเอาจากประสบการณ์เก่าจาก ม.ต้นว่าเราคงพอจะทำได้


แต่ผลไม่ได้เป็นอย่างนั้นครับ สอบครั้งแรกคะแนนเต็ม ๕๐ คะแนน ผมได้ ๒๙ คะแนน (เห็นไหมครับว่าจำได้แม่น) เกินครึ่งมาสี่คะแนน โอย ผมลมแทบใส่ ... แหมอย่าเพิ่งบอกว่าเว่อร์นะครับ ก็ตอนม.ต้นเราเรียนพอใช้ได้นี่นา ได้เท่านี้ย่อมต้องตกอกตกใจเป็นธรรมดา ผมได้แต่ปลอบใจตัวเองว่า เอาล่ะน่ะ คงเป็นเพราะเราเตรียมตัวไม่ค่อยดีเท่าไหร่ รอบหน้าต้องเตรียมดีๆ ทำให้ดีกว่านี้


ดูเหมือนอะไรๆ จะไม่เป็นใจครับ ในขณะที่วิชาอื่นๆ ผมก็เรียนสนุก รู้เรื่องเข้าใจเนื้อหาดี ทำคะแนนใช้ได้ แต่เจ้าฟิสิกส์ไม้เบื่อไม้เมานี่ไม่รู้เป็นอย่างไร ทำเอาปวดเศียรเวียนศีรษะได้เป็นประจำครับ การทำการบ้านของผมไม่ได้ดีขึ้นเท่าใดเลย ยังใช้เวลาข้อละเป็นชั่วโมงๆ อยู่ดี ทั้งๆ ที่ถ้าเข้าใจก็น่าจะใช้เวลาไม่เกินห้านาทีเท่านั้น ช่วงนั้นจำได้ว่าเครียดมาก ไม่รู้ว่าเวลาสอบจะเป็นอย่างไร ในห้องเรียนก็เครียด ตอนอ่านหนังสือเตรียมสอบนี่ยิ่งทั้งเหนื่อยทั้งทรมาน ใจตุ๊มๆ ต่อมๆ ไปตลอด


พอสอบครั้งถัดมา อยู่ในห้องสอบทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ละข้อไม่มั่นใจเลยว่าจะถูกต้อง พออาจารย์ประกาศคะแนนออกมาที่คาดเอาไว้ก็เป็นจริง จากคะแนนเต็ม ๕๐ ผมได้ ๒๙ เกินครึ่งมาอีกสี่คะแนนอีกแล้ว แถมรอบนี้เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ได้คะแนนดีกันทั้งนั้น ท่าทางจะตก mean แน่เรา เสร็จแน่


ใครที่เรียนเก่งตลอดหรือไม่เคยเครียดเพราะการเรียน แล้วไม่เข้าใจว่าคนที่ได้คะแนนน้อยเขาเครียดมากจนทำอะไรบางอย่างที่ไม่อยากจะเชื่อนั้นจะมีจริงหรือ ไม่ต้องแปลกใจครับ มีแน่นอน


ช่วงนั้นผมเครียดมาก รู้สึกเหมือนโลกจะถล่มทลาย เห็นใจหน่อยนะครับ ก็ผมอยู่ในระบบที่บอกว่าต้องเรียนให้เก่งที่สุด ให้ดีที่สุดมาตลอดนี่นา ถึงขนาดเคยมีอยู่คืนหนึ่งยืนอาบน้ำ เบลอไปหมด น้ำตาซึม ยืนให้น้ำฝักบัวฉีดอยู่นาน นึกอะไรไม่ออกเอาหัวโขกกับประตูห้องน้ำหลายโป๊กเหมือนกับหนังฮอลลีวู้ดที่เพิ่งดูมา ผลคือมึนยิ่งกว่าเดิมอีก (ฮา)


หลังจากคิดสะระตะอยู่นานสองนาน ผมคิดว่าชาตินี้คงเอาดีกับวิชาฟิสิกส์ไม่ได้แน่นอน และถ้าเรียนฟิสิกส์ไม่ดีก็อนาคตในทางสายวิทยาศาสตร์คงจะลำบากแน่ จึงตัดสินใจไปหาอาจารย์เพื่อขอย้ายแผนการเรียน ไม่ต้องเจอวิชานี้ให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย พอผมไปพบอาจารย์ปทุมมาศ ที่ห้องแนะแนวการศึกษา อาจารย์ท่านถามด้วยความเป็นห่วงเป็นใยว่า “เป็นอย่างไรบ้าง ทำไมหน้าไม่ค่อยดีมาเลย” ผมตอบไปว่า “อาจารย์ครับ ผมจะมาขอย้ายแผนการเรียนครับ”


พอได้ยินดังว่าจากปากนักเรียนคะแนนค่อนข้างดีที่อาจารย์รู้จักมาตั้งแต่ ม.ต้น อาจารย์มีสีหน้าแปลกใจระคนตกใจ ถึงขนาดลุกขึ้นมาปลอบโยนผม มาแตะตัวแตะไหล่ พลางพูดว่า “ใจเย็นๆ พยายามนึกถึงสิ่งดีๆ ที่เคยทำในอดีตเข้าไว้” นึกย้อนกลับไปแล้วผมรู้สึกขำกลิ้ง (แต่ไม่เกี่ยวกับลิงหรือหมาแต่ประการใด) ทีเดียวเชียวครับ แต่ตอนนั้นผมขำไม่ออกหรอกครับ มีแต่ความเศร้า ผิดหวัง และอาย ไม่อยากจะไปเจอใครเลย นึกไม่ออกว่าจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน


อาจารย์ปทุมมาศ หลังจากได้ฟังเรื่องราวของผม เธอยิ้มอย่างมีเมตตาแล้วบอกว่า ให้ใช้หลักของ “เกสตัลต์” ดูสิ คือ ฝึก “Here and Now” (ที่นี่ และ เดี๋ยวนี้) หลักๆ แค่นี้เองครับอาจารย์ไม่ได้อธิบายอะไรมาก เพียงแต่บอกว่าไม่ต้องเครียด ให้ผมไปพักผ่อน และคิดต่อเอาเอง ผมก็เอากลับมาคิดต่อ ออกบ้างไม่ออกบ้างครับ


ช่วงนั้นรู้สึกเวลาผ่านไปเร็วมาก เพราะผมกลัวจะต้องสอบอีก เดี๋ยวคะแนนไม่ดีอีก แต่แล้วก็หนีไม่พ้น อีกไม่นานก็นัดสอบฟิสิกส์อีก ผมลองทำใจฮึดสู้อีกครั้ง แต่ด้วยล้าเหลือเกิน เรียนมาไม่ถึงเทอมแต่เหนื่อยอย่างถึงที่สุด คิดวนคิดเวียนแต่เรื่องสูตรกลศาสตร์แทบทุกวันจันทร์ถึงอาทิตย์ ไม่มีเว้นสักวัน ตั้งใจว่าเอาเถอะทำเท่าที่ได้ละนะ ไม่ได้สี่ก็ช่างมัน จะเป็นปะไร


นั่งอ่านหนังสืออยู่ดีๆ คราวนี้เจอของดีครับ บ่อยครั้งเหลือเกินในขณะที่ผมนั่งอ่านหนังสือที่โต๊ะไม้เก่าๆ ในห้องนอน ผมมารู้สึกว่าแม้สองตาจะจ้องอยู่กับหนังสือที่อยู่ตรงหน้า แต่ใจกลับลอยไปไหนต่อไหน หลายครั้งหายไปกับอดีต คิดวนไปวนมาหาสาเหตุไปเรื่อยว่ามันเกิดข้อผิดพลาดตรงไหนนะ ทำไมจึงได้เป็นเช่นนี้นะ ทำอย่างไรดีกับคะแนนสอบอันแย่ๆ ของเรา


แต่แล้วความรู้สึกที่มันชัดเจนมากคือ ตอนที่รู้ตัวว่ากำลังเผลอ นี่ล่ะครับ โดยเฉพาะตอนที่เผลอกังวลไปคิดโน่นคิดนี่น่ะครับ มันเป็นอย่างไรหรือครับ มัน “ซ่า” ครับ ซ่าจริงๆ นะครับ ไม่ใช่บอกเชิงเปรียบเทียบแต่รู้สึกเย็นวาบไปทั้งร่างเลยครับ มาระลึกได้ทีไรก็ตกใจครับ รำพึงกับตัวเองว่า อ่านอยู่ดีๆ หนีไปอดีตเสียฉิบ


พยายามตั้งใจอ่าน สักเดี๋ยวก็หายไปอีกแล้วครับ บางทีก็ไปโผล่โลกอนาคตน่ะครับ ห่วงว่าคะแนนตอนช่วงแรกไม่ดีนี่เกรดออกมาจะเป็นอย่างไรบ้างนะ คงเสียประวัติน่าดู จินตนาการเรื่องร้ายๆ ไปต่างๆ นานา และก็อีกละครับ อยู่ๆ มันก็มารู้ตัวครับ ว่าอ้าว ... นี่เผลอไปคิดเรื่องอนาคตอีกแล้วนี่นา ไหนตั้งใจว่าจะไม่หวังแล้วไงว่าจะได้คะแนนเท่าไหร่ เอาเท่าที่ทำได้นี่แหละ คือตอนนั้นมันเซ็งและเลิกหวังไปแล้วน่ะครับ เลยชักไม่ต้องคอยเครียดกับมันเท่าเดิม


ผลกลับกลายเป็นว่าช่วงนั้นผมเริ่มกลับมาอ่านหนังสือเตรียมสอบฟิสิกส์ได้ดีขึ้น ใจจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้าได้มากขึ้นเช่นกัน ไม่ค่อยวอกแวกเหมือนก่อน เริ่มเข้าใจมากขึ้นทีละนิดทีละหน่อย จนในที่สุดวิชาฟิสิกส์ก็กลับมาสนุกเหมือนกับวิชาอื่นๆ พอเริ่มสนุกคะแนนก็กระเตื้องขึ้นอย่างรวดเร็วครับ จนอาจารย์สมชัยถึงกับเอ่ยปากทักและเป็นกำลังใจช่วยเชียร์ ปลายภาคคะแนนออกมาคาดเส้นพอดีครับ รอดตัวไป นับเป็นประสบการณ์ที่บอกได้ว่าลืมไม่ลงจริงๆ


เมื่อได้ศึกษาพุทธศาสนามากขึ้นและได้ย้อนกลับไปพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ก็พบว่าสิ่งที่อาจารย์แนะแนวผู้เป็นกัลยาณมิตรของผมแนะนำนั้นก็มีอยู่ในพุทธศาสนานี่เอง เพียงแต่ผมไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึงเท่านั้น ราวกับกลิ่นผงกะหรี่บาลีแขกๆ ฟังแล้วไม่ค่อยขลัง ต้องนมๆ เนยๆ เลี่ยนๆ นิดๆ ถึงจะดูเป็นวิชาการปานนั้น


หลังจากนั้นหลายปีมานึกศึกษาเพิ่มเติมจึงได้พบว่า อันที่จริงสิ่งที่ผมฟังชื่อไม่รู้เรื่องเกสตัลต์ๆ (Gestalt) ที่ฟังดูเป็นเยอรมัน นี่ก็เป็นสำนักคิดของเยอรมันจริงๆ จิตวิทยาแนวเกสตัลต์ (โดย Perls, Perls และ Goodman) เชื่อว่าธรรมชาติของสมองมนุษย์นั้นเป็นองค์รวมและมีลักษณะเป็นระบบจัดการตนเอง (self-organizing system) และองค์รวมนั้นมีค่ามากกว่าผลรวมของส่วนประกอบ จิตบำบัดแนวเกสตัลต์นั้นให้ความสำคัญกับประสบการณ์ปัจจุบันขณะในปัจจุบันขณะ เน้นความรับผิดชอบส่วนบุคคล และเห็นว่ากระบวนการนั้นมีความสำคัญมากกว่าเนื้อหา


โอ ... ช่างงดงามอะไรปานนั้น ใช่ไหมครับ?


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 13 พฤษภาคม 2550


"จิตที่ยิ่งใหญ่ ถามคำถามที่ยิ่งใหญ่ (Great mind asks great questions.)" - ไมเคิล เกล์บ

มีคำถามมากมายที่เป็นการถามไปตามมารยาท สบายดีไหม? กินข้าวหรือยัง? หรือหากไม่ก็เป็นการถามตัวเองทุกวัน เช่น วันนี้แต่งชุดอะไรดี? เที่ยงนี้ไปกินกันที่ไหน? ปิดไฟหรือยัง? เปิดเพลงดังไปหรือเปล่า? ได้อ่านข่าวนั้นแล้วใช่ไหม? อะไรทำนองนี้

เรายังมีคำถามที่จัดว่าอยู่ในระดับสำคัญกลางๆ ขึ้นมาหน่อย เช่น จะปิดงบบัญชีงบดุลปีนี้ทันหรือเปล่า? จะดาวน์รถรุ่นนี้ดีไหม? จะย้ายบ้านใหม่ไปอยู่ละแวกไหนดี? เดือนนี้จะชักหน้าถึงหลังหรือเปล่า? ในสถานการณ์ที่มีคนในบ้านป่วยหรือเราป่วยเสียเอง ต้องไปหาหมอบ่อยๆ ก็อาจจะต้องถามว่า หมอคนนี้เก่งหรือเปล่า? รักษาดีไหม? ควรจะเปลี่ยนหมอ เปลี่ยนโรงพยาบาลดีไหม? หากมีลูกที่เริ่มโตแล้วก็ต้องถามว่าจะพาลูกเข้าโรงเรียนไหนดี? ลูกมีแฟนหรือดูเว็บโป๊แล้วจะให้คำแนะนำว่าอย่างไรดี? ซึ่งแน่นอนบางคนก็อาจบอกว่าคำถามกลุ่มนี้จริงๆ แล้วไม่ค่อยสำคัญ หรือบ้างก็ว่าสำคัญมากต่างหาก

เช่นเดียวกับคำถามอีกกลุ่มที่คนจำนวนหนึ่งคิดว่าสำคัญมาก สำคัญที่สุด ไม่เพียงแต่สำหรับเราที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง แต่สำหรับมนุษยชาติ สำหรับโลก และสำหรับจักรวาลด้วย แต่บางคนก็ว่าไม่เห็นจะสำคัญกว่าเรื่องปากท้องแต่ละวันเลย เช่น คำถามว่าเราคือใคร? เรามาจากไหน? เรากำลังจะไปไหน? เป้าหมายของชีวิตคืออะไร? ชีวิตหลังความตายมีไหม? หมดลมกันแล้วไปไหน? หรือว่าวันหนึ่งๆ มีเกือบแสนวินาที มีเวลาที่เรามีสติรู้เนื้อรู้ตัวมีอยู่เท่าไหร่? เป็นต้น

อันที่จริงแล้ว โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปมากมายจากการตั้งคำถามของพวกเรานี่เอง โลกอาจพลิกเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ที่ทำให้มนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความเมตตา ด้วยสันติสุข หรือทำให้โลกพลิกผันไปในทิศทางที่ย่ำแย่ลง ต่างคนต่างเห็นแก่ตัวกันมากขึ้น คอร์รัปชันกันมากจนเห็นกันจนชิน มีความรุนแรงเกิดขึ้นในทุกระดับ ทุกวงการ ต่างก็เกิดขึ้นสืบเนื่องจากถามคำถามหลายๆ คำถามครับ

คำถามโด่งดังของโลกที่เราแต่ละคนพอจะนึกออกกันได้อยู่บ้าง มาจากบุคคลผู้มีชื่อเสียงระดับโลกหลายคน สำหรับผมแล้ว คนแรกที่นึกถึงก็คือ พระพุทธเจ้า ท่านทรงถามว่า เหตุใดชีวิตนี้จึงเป็นทุกข์นัก? แล้วเราจักออกจากทะเลทุกข์นี้ได้อย่างไร? คำถามของท่านทำให้โลกที่หมุนไปก็ยังหมุนอยู่เช่นเคย แต่แตกต่างไปจากเดิมได้อย่างถึงที่สุด

ไอแซค นิวตัน นั่งใต้ต้นแอปเปิล เมื่อมองเห็นผลแอปเปิลตกลงมา (บางตำราว่าหล่นใส่ศีรษะตอนนอนเลยทีเดียว) เขาถามคำถามที่ทำให้เรารู้จักและเข้าใจเรื่องแรงโน้มถ่วงและการหมุนรอบตัวเองของโลก

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ยืนอยู่บนชานชาลามองดูรถไฟวิ่งเคลื่อนออกไป นึกถามว่าคนบนรถเมื่อมองออกมาจะเห็นอะไรต่อมิอะไร อย่างเดียวกับคนที่อยู่นิ่งๆ บนชานชาลาเห็นไหม? ทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องเวลาที่หดหรือยืดได้ นำพามาซึ่งทฤษฎีสัมพันธภาพ

เคน วิลเบอร์ ผู้ศรัทธาในพระพุทธเจ้า สนใจและเชี่ยวชาญวิชาจิตวิทยา สาขาวิชาสำคัญอื่นๆ ของโลก เขาเห็นว่าหลายคนได้อธิบายเรื่องเดียวกันแตกต่างกัน ใครเป็นคนผิด เขาจึงตั้งคำถามว่าเป็นไปได้ไหมว่าอันที่จริงแล้วถูกต้องกันทุกคน เพียงแต่ในมุมที่จำกัด ทำให้เขาสามารถนำเอาความรู้หลักๆ ทั้งหมดโลกมารวมอยู่ในแผนที่ชิ้นเดียว และคิดทฤษฎีบูรณาการขึ้นมา

จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ตั้งคำถามปลุกจิตสำนึกคนอเมริกันว่า "อย่าถามว่าประเทศได้ให้อะไรแก่คุณบ้าง จงถามว่าคุณล่ะได้ให้อะไรแก่ประเทศบ้าง" หรือ โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี้ ผู้น้องที่เป็นอัยการสูงสุดของประเทศ เขามีประโยคทองว่า "มีคนที่มองดูสิ่งต่างๆ ที่มันมีอยู่เดิม แล้วถามว่าทำจึงเป็นเช่นนั้น ส่วนผมฝันถึงสิ่งที่ยังไม่เคยมีมาก่อน แล้วถามว่าทำไมจะไม่มีล่ะ?"

ในขณะที่คำถามของบางคนกลับมีความมุ่งมั่นตั้งอกตั้งใจเป็นอย่างมาก ทว่าในคนละทิศทางกับเหล่าคำถามข้างต้น ดังเช่น เจ้าของบางบริษัทก็แน่วแน่กับคำถามว่าทำอย่างไรเขาจึงจะทำให้ทุกครั้งที่คนไทยออกจากบ้าน จะต้องจ่ายเงินให้บริษัทของเขาอย่างน้อยคนละ ๑ บาท

หลายๆ คำถามที่ทรงพลังสามารถเปลี่ยนชีวิตเราไปอย่างไม่มีวันหวนกลับเป็นอย่างเดิมอีก

ผมเองเคยได้พบกับคำถามเช่นนั้นมาบ้างแล้วเช่นกัน เมื่อเกือบ ๔ ปีที่แล้ว ในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๖ อาจารย์ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพมากที่สุดในชีวิตท่านหนึ่ง ได้กรุณาชวนผมไปทานข้าวด้วยกันสองคน ฝากบอกผ่านผู้ช่วยว่ามีเรื่องอยากจะคุยด้วย ผมออกจะงุนงงเล็กน้อยว่าท่านมีธุระสำคัญอันใดหรือไม่

ระหว่างที่การทานอาหารนั้น ท่านได้ถามด้วยน้ำเสียงของผู้ใหญ่ใจดีว่า "เอเชีย ... ผมมีคำถามสองข้อจะถามเอเชีย แต่ยังไม่ต้องรีบตอบตอนนี้ก็ได้นะ เก็บกลับไปคิดเล่นก่อนก็ได้" จากนั้นจึงเอ่ยปากว่า "ข้อแรกนะ เอเชียมีความฝันอะไรในชีวิต?"

ฟังดังนั้นแล้ว ผมเองยังงงๆ ก่งก๊งเล็กน้อย ในขณะนั้นผมยังไม่สามารถตอบอะไรท่านไปได้ ไม่เคยมีใครมาตั้งคำถามเช่นนี้มานานแล้ว พวกเราโตขึ้นมาพร้อมกับคำลวงอันโหดร้ายว่าความฝันนั้นเป็นของสำหรับเด็กเท่านั้น

หลังจากเว้นไปพักใหญ่ ท่านกรุณาถามต่อว่า "และอีกข้อนึง ในฐานะคนรุ่นเก่าแก่กว่า ผมจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง?"

ผมคิดว่าผมได้พบกับคำถามสองข้อที่พาตนเองเข้าไปใกล้ชิดกับกลุ่มคำถามอันสำคัญที่สุดในชีวิตของผม หลังจากกลับมาบ้าน นั่งนึก นอนคิดทบทวนอยู่นาน ได้กลับไปรื้อลิ้นชักความฝันที่เก็บเอาไว้ เปิดดูทีละช่องๆ อย่างตื่นเต้นราวกับเป็นเด็กๆ ได้ของเล่นชิ้นใหม่ บางลิ้นชักไม่ได้เปิดมานานจนเกือบจำไม่ได้ แต่ความฝันแต่ละเรื่องกลับยังคงความใหม่สดเสมอ

สองคำถามนี้ทำให้ผมได้คิด ... จากเดิมผมคิดว่าชีวิตนี้ก็มีข้อจำกัดไม่น้อย แม้ว่าผมยังคิดหาคำตอบให้คำถามสองข้อนี้ไม่เสร็จ แต่มันได้ทำลายกำแพง หรือกรอบความคิดที่ครอบหรือสวมทับเอาไว้จนมองเห็นแต่โลกแคบๆ เท่านั้น ลงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งที่เคยคิดว่าเป็นข้อจำกัด ส่วนมากหรือทั้งหมดต่างเป็นสิ่งที่ผมคิดขึ้นมาเองเกือบทั้งสิ้น

จากที่เคยคิดว่าภายใต้ข้อจำกัดตำแหน่งภาระหน้าที่การงานที่ทำอยู่นี้คงไม่อาจทำอะไรได้มากนัก เมื่อมองไม่เห็นโอกาส ก็เสียความเป็นไปได้ เรื่องนี้ทำให้นึกถึงความจริงทางควอนตัมข้อหนึ่ง และข้อสอง ซึ่งใกล้เคียงกับที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่ท่านเคยเทศน์ไว้ว่า "ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่ที่ถูกเห็น ไม่จริง" การที่ผมเห็นว่าตำแหน่งเป็นข้อจำกัดนั้นคงจะจริง เพียงแต่ตัวข้อจำกัดที่ผมเห็นนั้น มันไม่จริง

ผมรู้สึกขอบพระคุณอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านนั้นมาก เพราะเพียงคำถามสองข้อบนพื้นฐานของความจริงใจ ความเมตตากรุณา ทำให้ชีวิตดีขึ้น สนุกขึ้น เป็นอิสระมากขึ้น ถ้าสังคมเรามีการตั้งคำถามอะไรทำนองนี้บ่อยๆ คงจะดีไม่น้อย

โลกในแต่ละสมัยมีคำถามหลักของสังคมยุคนั้นอยู่ ย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล คนจำนวนมากทั่วโลก ตั้งถามว่า "ชีวิตคืออะไร? ทำอย่างไรจึงพ้นทุกข์?" ในขณะที่โลกปัจจุบัน ดูเหมือนว่าคนทั่วโลกจะมีคำถามไปทำนองเดียวกันว่า "ทำอย่างไรจึงจะรวยมากๆ รวยง่ายๆ และรวยเร็วๆ?" มากกว่า และคำถามนี้เองที่ผลักดันโลกสู่การแข่งขันกันสะสมสิ่งของ เสาะหาเทคนิคความรู้ที่ทำให้ได้เงินมากๆ คนวัยทำงานค่อนโลกใช้เวลาเกือบทั้งวันคิดว่าจะหาเงินได้อย่างไร

นากิบ มาฟูซ นักเขียนชาวอียิปต์ชื่อดัง ผู้พาวงการวรรณกรรมของอียิปต์เข้าสู่โลกสมัยใหม่และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อกลางปีที่แล้ว ได้เคยกล่าวไว้ว่า

"คุณสามารถบอกได้ว่าคนผู้หนึ่งฉลาดหลักแหลมหรือไม่จากคำตอบของเขา แต่คุณสามารถบอกได้ว่าคนผู้หนึ่งมีปัญญาหรือไม่จากคำถามของเขา"