ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๓

เมื่อไม่นานมานี้ ผมไปร่วมจัดการเรียนรู้เรื่องสุนทรียสนทนา (Dialogue) ร่วมกับเพื่อนในกลุ่มจิตตปัญญาวิถีที่วิทยาลัยพยาบาลแห่งหนึ่งในหัวเมืองใหญ่ ได้พบและสนทนาจนคุ้นเคยกับอาจารย์พยาบาล แพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายคน เราใช้เวลาในช่วงพักทานกาแฟและขนม รวมทั้งช่วงอาหารกลางวัน แบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหลายเรื่อง

อาจเป็นเพราะทีมไปเป็นแขกรับเชิญในฐานะกระบวนกรผู้มีความรู้และความชำนาญในเรื่องสุนทรียสนทนาและจิตตปัญญาศึกษา ทำให้ลักษณะของการสนทนากันค่อนไปในทางถามตอบประเด็นปัญหาที่อาจารย์หลายท่านสงสัย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับชั้นเรียนที่มีจำนวนนักศึกษามากน้อยต่างกัน ไปจนถึงปัญหาการคุยกันในชั้นเรียนและวินัยของนักศึกษา

มีเรื่องหนึ่งซึ่งได้รับความสนใจจากทุกคนบนโต๊ะกาแฟมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องการจัดการเรียนการสอนเลย คือคำถามของอาจารย์แพทย์คนหนึ่ง เธอเป็นคนที่มุ่งมั่นพัฒนาตนเอง ใช้แนวธรรมะและธรรมชาติบำบัดจนสามารถอยู่ร่วมกับมะเร็งในกายด้วยจิตแจ่มใส ใจไม่ป่วย

คุณหมอมาขอปรึกษาเรื่องลูกสาวของเธอเอง เธอว่าลูกเพิ่งเริ่มงานกับบริษัทที่มีชื่อเสียงมั่นคงในกรุงเทพฯ มาได้ระยะหนึ่ง ปรกติเธอกับลูกก็จะโทรศัพท์คุยกันและได้ฟังปัญหาเกี่ยวกับที่ทำงานของลูกสาว แต่ครั้งหลังสุดนี้ ลูกสาวบ่นให้เธอฟังว่าเพื่อนร่วมงานไม่ให้ความเชื่อถือ

“หนูบอกพี่เขาแล้วว่าเรื่องนี้ต้องจัดการแบบนี้ แต่เขาก็ไม่สนใจเลย แล้วพอเขาไปถามรุ่นพี่คนอื่นนะ คนอื่นก็บอกให้ทำตามแบบที่หนูบอกไปทีแรกอยู่ดี” ลูกสาวมีน้ำเสียงโมโหฉุนเฉียวมาก

เธอรู้สึกว่าลูกจะต้องมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่านี้ อีกทั้งปัญหานี้ก็เป็นเรื่องเล็กน้อย จึงตอบไปว่า “หนูโมโหทำไมกับเรื่องแค่นี้ เราต้องอดทนได้นะ ทำงานยังจะต้องเจออะไรอีกมากมาย” แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือลูกสาวโมโหมากขึ้นไปอีก และโทษว่าแม่ไม่เข้าข้าง หลังจากนั้นทั้งคู่ก็โทรศัพท์คุยกันน้อยลง

คำถามต่อเรื่องนี้ของเธอคือ “พี่ควรจะสอนเค้ายังไงดี เค้าถึงจะเข้าใจและมีสติรู้ตัวว่ากำลังโกรธอยู่”

ก่อนจะตอบ ผมขอถามกลับบ้าง ถามเธอว่าด้วยความที่เราเป็นแม่ เป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์ทำงานมามากกว่า เราจึงพอเข้าใจสถานการณ์และคาดเดาได้ว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรใช่ไหม และสิ่งที่เราต้องการให้ลูกเรามีคือการมีสติและสามารถจัดการกับอารมณ์ใช่หรือไม่ เธอตอบว่าใช่

ผมยืนยันให้ความมั่นใจแก่เธอก่อนว่า สิ่งที่ทำลงไปนั้นไม่ได้มีอะไรที่ผิด หากแต่คำพูดที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดีของแม่นั้นอาจไม่ได้ตรงกับความต้องการของลูก ในห้วงเวลาของความน้อยใจระคนโกรธ ลูกอาจอยากจะได้ระบายออกและต้องการการรับฟังจากคนที่เธอไว้ใจ ความปรารถนาดีที่เอ่ยไปจึงกลายเป็นคำสอนที่ผู้รับไม่ต้องการ เป็นยาขนานที่ผู้ป่วยไม่ยอมกิน

หากเราวางใจและไม่เร่งรีบกันนัก ลึกลงไปกว่าความโกรธฉุนเฉียวในถ้อยคำ เราย่อมจะได้ยินน้ำเสียงของอีกฝ่าย เขาหวังจะให้เราฟัง เขาต้องการความเข้าใจ และเขาอยากได้ความเห็นใจจากเรา มากไปกว่าคำสั่งสอนที่อาจจะทำให้เขารู้สึกแย่ลงไปอีก

ผมถามเธออีกครั้งว่า ตอนที่ได้ยินลูกสาวเล่าเรื่องนั้น พี่รู้สึกอะไรบ้าง เธอว่าสงสารลูก และรู้สึกเป็นห่วงลูกมาก ผมแนะนำเธอว่า แทนที่จะช่วยลูกด้วยการสอน พี่ยังสามารถช่วยเขาได้ด้วยการบอกว่าพี่รู้สึกอย่างไร บอกอย่างที่พี่บอกเมื่อครู่นี้แหละ แล้วเขาก็จะรู้ว่าพี่อยู่ข้างเดียวกัน เมื่อใจอยู่ใกล้กันหากมีเรื่องอะไรอีกเราก็จะเป็นคนที่เขาอยากเล่าอยากปรึกษาด้วย เมื่อเขาวางใจและเย็นลงแล้วคำสอนไหนของเราเขาก็รับ

ฉับพลันนั้นผมเห็นนัยน์ตาคู่สวยของเธอเป็นประกาย “ใช่เลย แต่ก่อนพี่อยากจะสอน มากกว่าอยากจะฟัง ขอบใจนะ เดี๋ยวพี่จะกลับไปฝึกที่จะฟังลูกสาวพี่ดูนะ”

ดีใจกับลูกสาวที่จะได้คุณแม่ที่น่ารักที่มีความสามารถในการรับฟังเพิ่มขึ้น

ดีใจกับคุณแม่ที่ได้เครื่องมือไว้ดูแลคนที่เธอรักที่สุดในชีวิต

ดีใจที่ได้มีโอกาสแบ่งปันเรื่องราวดีๆ เช่นนี้ครับ :-)



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ หนังสือพิมพ์มติชน
ฉบับประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2553

“ประเทศอะไรมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่สามของโลก?”

หากมีใครถาม อย่าเผลอตอบว่า “สหรัฐอเมริกา” (รองจากจีนและอินเดีย) เชียวนะครับ และก็อย่าได้ไปเปิดหาจากแผนที่เลย เพราะมันอยู่ในโลกเสมือน ในอินเทอร์เน็ต

ประเทศที่ว่านี้เป็นประเทศเกิดใหม่ที่ชื่อ “เฟซบุ๊ก” (facebook) ครับ คนไทยเรียกสั้นๆ ว่า เอฟบี (fb) เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social network) แม้จะเพิ่งตั้งมา ๗ ปี แต่ก็โตไวมาก ในช่วง ๑๕ เดือนที่ผ่านมา มีประชากรเพิ่มขึ้น ๘ คน ทุกๆ วินาที และเมื่อไม่กี่วันมานี้ เฟซบุ๊กก็เพิ่งประกาศว่าประชากรหรือสมาชิกทะลุหลัก ๕๐๐ ล้านคนแล้ว (เป็นชาวไทย ๔.๒ ล้านคน)

จำนวนครึ่งหนึ่งในนั้นเข้าเว็บของเฟซบุ๊กทุกวัน เพื่อไปอ่าน ไปเขียนข้อความ ตอบจดหมาย รวมถึงเล่นเกมที่มีให้เลือกมากมาย บ้างก็ปลูกผัก (ฟาร์มวิลล์ – ๘๓ ล้านคน) เปิดร้านอาหาร (คาเฟ่เวิลด์ – ๓๐ ล้านคน) เล่นไพ่ (เทกซัสฯ – ๒๗ ล้านคน) เลี้ยงปลา (แฮปปี้อะควอเรียม – ๒๖ ล้านคน) ตั้งแก๊งมาเฟีย หาลูกน้อง สะสมอาวุธ (มาเฟียวอร์ – ๒๕ ล้านคน) ฯลฯ

รวมกันแล้วเดือนหนึ่งๆ มีผู้คนเข้าไปใช้เวลาในเว็บแห่งนี้ ๗๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ นาที (เจ็ดแสนล้านนาที) หรือราว ๑๒,๐๐๐ ล้านชั่วโมงทำงาน (man-hour) เลยทีเดียว

ข้อมูลหนึ่งซึ่งน่าสนใจก็คือค่าเฉลี่ยจำนวน “เพื่อน” ของสมาชิกในเฟซบุ๊กที่มีอยู่ราว ๑๓๐ คน เมื่อเทียบเคียงไปยังข้อสรุปการวิจัยของ โรบิน ดันบาร์ นักชีววิทยาวิวัฒนาการและนักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตกลุ่มไพรเมต (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มลิงและมนุษย์) เขาศึกษาขนาดและความสามารถของสมองโดยเฉพาะส่วนนีโอคอร์เทกซ์ (สมองส่วนนอก ควบคุมการรับรู้ อารมณ์ ความคิด) และพบว่าศักยภาพของสมองนั้นมีผลต่อจำนวนตัว (ของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน) ที่สิ่งมีชีวิตแต่ละตัวจะสามารถสร้างและดูแลความสัมพันธ์ทางสังคมที่มั่นคงด้วยได้ ในกรณีของมนุษย์แล้ว พบว่ามีค่าโดยประมาณที่ ๑๕๐ เผอิญใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยจำนวนเพื่อนในเฟซบุ๊กใช่ไหมครับ?

ตัวเลข ๑๕๐ นี้หมายความว่าในเชิงทฤษฎีแล้ว ตามข้อจำกัดของสมองของเรา ทำให้แต่ละคนจะมีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ประมาณ ๑๕๐ คน โดยที่เรายังคงรู้จักแต่ละคน รู้ว่าแต่ละคนเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ อย่างไร และยังรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ได้ (แต่ถ้าจำนวนมากขึ้นกว่านั้นก็ต้องการกฎหรือระเบียบที่มากขึ้น)

แต่ในยุคสมัยของเฟซบุ๊กที่การติดต่อสื่อสารระหว่างกันเป็นไปอย่างรวดเร็วและรวบรัดบนอินเทอร์เน็ตนี้ล่ะครับ? เรายังมีความแน่ใจแค่ไหนว่าจะยังคงสามารถดูแลรักษาความสัมพันธ์ให้มีคุณภาพได้ดีเท่าเดิม ศักยภาพของสมองให้เรามีความสัมพันธ์ในโลกความเป็นจริงได้กับ ๑๕๐ คน แต่ในความเป็นจริงเราดูแลได้สักเท่าใด

แม้ค่าเฉลี่ยของเพื่อนในเฟซบุ๊กอยู่ที่ ๑๓๐ คน แต่ในความเป็นจริงแล้วจำนวน “เพื่อน” ในเฟซบุ๊กของเรานั้นก็คงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น สมาชิกจิตวิวัฒน์บางท่านมีเพื่อนเกิน ๕,๐๐๐ คนแล้ว (แม้ยังห่างไกลจากนักร้องอย่าง เลดี้กาก้า ที่มี “เพื่อน” ทั่วโลก ๑๔ ล้านคน) มันง่ายมากเลยที่จะมีเพื่อนใหม่ๆ มีเพื่อนมากๆ ในเฟซบุ๊ก ง่ายที่จะสร้างความสัมพันธ์ใหม่

เพราะสิ่งที่เราต้องทำเพื่อสร้างความเป็น “เพื่อน” ในเฟซบุ๊ก ช่างสะดวกง่ายดายเพียงแค่กดคลิกเมาส์ขอ แล้วรอเขาตอบกลับ (ผู้ใช้เฟซบุ๊กบางคนพร้อมเป็นเพื่อนมาก กดขอปุ๊บ ได้เป็นปั๊บ ... แหม ช่างทันใจจริงๆ!) ถึงแม้เราไม่กระตือรือร้นค้นหาชื่อเพื่อขอเพิ่มจำนวนเพื่อน เฟซบุ๊กก็จะคอยแนะนำเราอยู่เสมอว่าผู้ใช้คนไหนน่าสนใจให้เราไปพิจารณาขอเป็นเพื่อนบ้าง ส่วนจะเลิกคบกันยิ่งง่าย คลิกยกเลิกไปเลย ไม่ต้องขอ

ศักยภาพของเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เรามีเพื่อนในเฟซบุ๊ก ในโลกเสมือนเพิ่มขึ้น แต่ในโลกของความเป็นจริงที่เราต้องใช้ชีวิตและใช้เวลาอยู่จริงล่ะครับ? เรามีเพื่อนเพิ่มขึ้นหรือเปล่า? เพื่อนที่หมายถึงทุกคนซึ่งเรามีความสัมพันธ์ด้วยนะครับ ใช่ว่าเพียงคนคอเดียวกัน แต่รวมไปถึงคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน และทุกคนที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยในโลกใบนี้

ที่สำคัญ คุณภาพของความสัมพันธ์ที่เรามีต่อเพื่อนร่วมโลกเหล่านี้เล่า เป็นอย่างไรกันบ้าง?

พ่อ แม่ สามี/ภรรยา ญาติผู้ใหญ่ ลูกหลาน คนในครอบครัวของเรา บุคคลสำคัญเหล่านี้ที่เป็นเพื่อนอันมีฐานะเป็นกัลยาณมิตรผู้ช่วยเหลือเกื้อกูลเราบนเส้นทางจิตวิญญาณ เรากำลังมีความสัมพันธ์กับเขาอย่างไรบ้าง เป็นความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพหรือไม่? เพื่อนเหล่านี้ถูกเราปล่อยทิ้งละเลยไว้ในขณะที่เราไปอัพโหลดรูป-อัพเดทสถานะ-ปลูกผัก-เลี้ยงปลา-ล่าสัตว์ในโลกเสมือนหรือเปล่า

หรือว่าเราใช้เฟซบุ๊ก (และอินเทอร์เน็ต) เป็นที่หลบจากความสัมพันธ์ยากๆ ในชีวิตจริง เราใช้เวลาในเฟซบุ๊กให้มากเพื่อหลีกเลี่ยงมาเผชิญหน้ากับความสัมพันธ์ที่ยากกว่าในชีวิตจริงหรือเปล่า?

โลกเรากำลังต้องการการปฏิรูป/ปฏิวัติที่ใหญ่ที่สุด คือ การปฏิวัติจิตสำนึก (Consciousness Revolution) ซึ่งเป็นทางออกเดียวของมนุษยชาติ และช่องทางหลักของการเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือ การหวนกลับมาเยียวยา ฟื้นฟู และดูแลความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดของเราเอง

ไม่ว่าเราจะฝึกปฏิบัติเจริญสติหรือทำงานเสียสละแก่ส่วนรวมเพื่อลดละอัตตาอย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริงๆ เราก็ยังจะอดหัวเสีย เครียดและจี๊ดได้ง่ายๆ และบ่อยๆ ก็เพราะคนใกล้ตัวนี่เอง ไม่ใช่คนอื่นคนไกลที่ไหน หลายครั้งโจทย์ที่ยากยิ่งในชีวิตของเราก็กลับเป็นคนที่เรารักหรือคนที่รักเราอย่างยิ่ง บ้างก็เป็นพ่อแม่ของเราเอง บ้างก็เป็นคู่ที่เราเลือกมาเอง หรือลูกที่เราเลี้ยงมาเองกับมือ แต่ถึงกระนั้นคนที่เราเลือก คนที่เราเลี้ยงมา ก็ยังไม่วายทำให้เราหัวเสียได้ทั้งวัน และนอกจากในบ้าน เราก็ยังพบว่ามันเกิดขึ้นง่ายและบ่อยครั้งมากกับคนที่ทำงานด้วย

เราอาจอดทนกับกริยาท่าทางของคนแปลกหน้าได้นาน แต่แค่คนในครอบครัวพูดอะไรไม่เข้าหูแค่คำเดียวก็อาจทำให้เราโมโหหรือเสียใจไปครึ่งค่อนวันได้

คำพูดสวยหรูที่ว่า “ดูแลคนใกล้ชิดดั่งอาคันตุกะ” จึงเป็นสิ่งที่ยากที่สุดสิ่งหนึ่งในชีวิต ในยามปรกติก็ว่าดูแลยากแล้ว ในยามที่เราเกิดอาการเซ็งกับสิ่งที่คนเหล่านี้ทำ พูด หรือเป็น การดูแลคนใกล้ชิดที่ว่านี้ยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลย

แต่ความสัมพันธ์กับคนที่รักเรา กับคนที่เรารัก กับคนในครอบครัว ความสัมพันธ์ใกล้ตัวเราที่ว่ายากและถูกละเลยมองข้ามเหล่านี้เอง หากได้รับการเยียวยาและหล่อเลี้ยงจึงจะกลับกลายเป็นพลังและเป็นประตูที่พาเราไปสู่ชีวิตที่เต็มพร้อม ให้เราได้มีชีวิตที่ไม่เพียงแต่ “อยู่รอด” แต่ยัง “อยู่ร่วม” และ “อยู่อย่างมีความหมาย” ด้วย

สิ่งที่กลุ่มจิตวิวัฒน์คุยกันหลายครั้งก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องขององค์ความรู้ที่ใช้ในการเยียวยาความสัมพันธ์ที่แตกหักเสียหาย หรือดูแลความสัมพันธ์ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสุนทรียสนทนา (Dialogue) การสนทนากับเสียงภายใน (Voice Dialogue) การสื่อสารด้วยความกรุณา (Compassionate or Non-violent Communication) หรือ นิเวศภาวนา (Vision Quest – Eco Quest)

เครื่องมือและความรู้เหล่านี้ทำให้การมีชีวิตอยู่นั้นมีความหมายมากขึ้น

การไปอบรมเรียนทักษะความรู้ใดๆ สำหรับใช้ชีวิตหรือในการทำงานก็ตาม ถ้าไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องความสัมพันธ์นี้ได้ก็ยากจะประสบผล จากประสบการณ์ของผู้เขียน ในการอบรมหลายครั้ง ผู้เข้าร่วมอบรมจะรู้สึกว่า ความรู้นี้เป็นสิ่งที่ใช่ และรู้สึกเชื่อมโยงกับเนื้อหา ก็ต่อเมื่อเขาพบหรือสัมผัสว่าสิ่งที่อบรมไปจะทำให้ความสัมพันธ์ที่เขาให้ความสำคัญนั้นมันดีขึ้นและกลับมามีความหมายต่อชีวิตเขาได้

เรื่องเล็กๆ ง่ายๆ อย่างความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แข็งแรง ย่อมเป็นดั่งต้นทุนให้เราและครอบครัวสามารถรับมือกับวิกฤตที่อยู่เบื้องหน้าเราได้ดีขึ้น

ยุคของอินเทอร์เน็ตที่มีข่าวสารข้อมูลไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็วจึงไม่ได้มีแค่พื้นที่บันเทิงในเฟซบุ๊กเท่านั้น อินเทอร์เน็ตยังสร้างพื้นที่และให้โอกาสดีแก่มนุษยชาติอย่างมาก ที่เปิดให้เราได้เข้าถึงเครื่องมือความรู้ต่างๆ ที่เราสามารถเอามาใช้ในการดูแลความสัมพันธ์เหล่านี้ได้

ผู้เขียนไม่ได้บอกให้ไปยกเลิกสมาชิกของเฟซบุ๊ก หรือเลิกเล่น แต่เชิญชวนว่าอย่าปล่อยให้เฟซบุ๊กหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ มาครอบงำปิดกั้นเราจากความจริงที่ว่าโลกเรานี้ช่างซับซ้อน การดูแลความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ต้องใช้ใจ ใช้เวลา ใช้พลัง และทำให้เราต้องเลิกใช้ตัวเราเองเป็นศูนย์กลางในการมองและตัดสินโลก

ดูแลเพื่อนบนเฟซบุ๊กของเราก็ไม่เสียหายอะไร แต่อยากให้เราได้ดูแลความสัมพันธ์กับเพื่อนที่บ้านของเราด้วย