ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553

รู้สึกเขินจังที่ตนเองเพิ่งจะรู้จักเพลงตรุษจีน!

แม้ว่าได้ร่วมงานตรุษจีนทุกปี เชื่อว่าคงตั้งแต่ยังจำความไม่ได้เสียด้วยซ้ำ เพราะว่าที่บ้านถือเป็นตรุษใหญ่ ฉลองกันอย่างตั้งใจ แต่ผมเองรู้สึกไม่ “อิน” กับเทศกาลนี้สักเท่าใดนัก ไม่ค่อยได้ให้ความหมาย ก็เลยไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันมาก ไม่ได้รอคอย ไม่ได้คิดถึง (ต่อให้มีแต๊ะเอียอั่งเปามาล่อก็ตาม) กระทั่งเพลงประจำตรุษจีนก็ยังไม่รู้จัก

ผิดกับเพลงประเภท Merry Xmas หรือ Silent Night ที่ร้องได้ตั้งแต่เด็ก ที่โรงเรียนก็มีเต้นรีวิวประกอบเพลงตั้งแต่ประถม ได้เรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตกถึงการให้ความหมายของวันคริสต์มาสและวันปีใหม่ของฝรั่ง ชอบตรงที่รู้ว่าเขาตั้งใจให้ใกล้เคียงกับวัน winter solstice (วันที่กลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือ วันเห-มายัน) ผ่านไปแต่ละวันตะวันก็จะฉายแสงให้ความอบอุ่นนานขึ้น ดั่งว่าเป็นหมุดหมายของการเดินทางของชีวิตและการเริ่มต้นใหม่ของหลายๆ คน หลายๆ ครอบครัว ผมชอบประเพณีการกลับมาเจอและร่วมฉลองกัน รู้สึกเห็นใจเวลาได้ข่าวคนเดินทางกลับไปหาครอบครัวลำบากเพราะเที่ยวบินเต็ม มิหนำซ้ำมักจะมีพายุหิมะช่วงนี้เสียด้วย ยิ่งตอนที่ตนเองอยู่ต่างประเทศก็ยิ่งอินเข้าไปใหญ่

แต่กับเทศกาลตรุษจีนที่ไม่ค่อยอินนัก ความรู้สึกมาเปลี่ยนตอนได้ยินเพลงตรุษจีน เพลงจังหวะเร็วๆ ที่มีท่อนฮุกว่า “กง...ซี กง...ซี กง...ซี นี่” ได้เข้าใจความหมายเรื่องราวที่ผู้คนบนท้องถนนต่างทักทายแสดงความยินดีแก่กัน ที่ฤดูหนาวอันยาวนานกำลังจะสิ้นสุด สายลมอันอบอุ่นแห่งฤดูใบไม้ผลิกำลังปลุกโลกให้ตื่นจากความหลับใหล หิมะหนาละลายไป ต้นพลัมกำลังผลิดอกเบ่งบาน ค่ำคืนอันแสนนานจะผ่านเลย หลังจากผ่านความยากลำบาก อาศัยความอุตสาหะไม่น้อย ผู้คนต่างรอคอยข่าวดีแห่งฤดูใบไม้ผลิ มาร่วมเฉลิมฉลองยินดีกันเถอะ

อันที่จริงตรุษจีนกับคริสต์มาสก็ไม่แตกต่างกันในแง่วัฒนธรรม ผู้คนรอคอยการกลับมาของคนรักในช่วงท้ายของเหมันตฤดู ผมตกใจกับอคติของตนเองที่ให้ความหมายตรุษฝรั่งยิ่งกว่าตรุษจีนนัก จำได้ว่าตนเองก็เคยได้ข่าวคนจีนทั่วโลกติดอยู่ตามสถานีรถประจำทาง สถานีรถไฟ สนามบิน ไม่สามารถกลับบ้านได้เพราะตั๋วหมดหรือพายุหิมะ แต่ไม่เคยเชื่อมโยงเลยว่าเขากำลังกลับบ้านไปฉลองปีใหม่

รู้สึก “อิน” ตรุษจีนขึ้นมาโดยพลัน พร้อมตั้งคำถามกับตนเองว่าแล้วปรกติเราให้คุณค่ากับสิ่งใกล้ตัวแค่ไหน

ใจหายว่าคุณย่า คุณพ่อ คุณแม่ คุณอาจะเสียใจมากไหมหนอที่ลูกหลานแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ได้ความสำคัญและรอคอยตรุษจีนอย่างผู้ใหญ่

“ดูแลคนใกล้ชิดดั่งอาคันตุกะ” ผุดขึ้นแจ่มชัดอยู่ในห้วงคำนึง

จริงสินะ บางครั้งมนุษย์เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคนใกล้ชิด เพราะรู้จักกัน เห็นกัน อยู่ด้วยกัน หรือเป็นครอบครัวเดียวกันมานาน ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้คอยดูแลเอาใจใส่ ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบเราทุกบ่อย หลายครั้งที่เรามองเห็นความห่วงใยเหล่านี้เป็นสิ่งน้อยค่า ด้อยค่า หรือกระทั่งไร้ค่า กระทั่งมีนิทานอีสปที่ทำให้เกิดสำนวนฝรั่งที่ว่า familiarity breeds contempt ด้วย หรือบางทีความใกล้ชิดทำให้เราละเลยคุณค่าของคนใกล้ตัว ทำให้เราไม่ใส่ใจดูแล ไม่ได้เป็นกัลยาณมิตร (อาทิ น่ารัก เป็นที่ปรึกษาที่ดี อดทนต่อถ้อยคำ) ทั้งที่เราก็รู้ว่ามันควร

เสียใจที่ความไม่รู้ของเราอาจทำให้ผู้ใหญ่ผิดหวัง

ซาบซึ้งในความรักยิ่งใหญ่ ดุจดังท้องทะเล ที่ท่านยังคงรักเราเสมอมาไม่เปลี่ยน

ไม่อยากจะโทษระบบการศึกษาที่ทำให้เราไม่รู้จัก ไม่รักรากของเรา ไม่รักครอบครัวของเรา ไม่รักวัฒนธรรมของเรา

แต่ตั้งใจไว้ว่าจะน้อมเอาวลี “ดูแลคนใกล้ชิดดุจดั่งอาคันตุกะ” มาสู่ใจและชีวิตให้มากขึ้น