ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 มีนาคม 2550
เมื่อครั้งนาโรปะเป็นพระและอาจารย์หนุ่มชื่อดังและเชี่ยวชาญด้านความรู้แห่งนาลันทา มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย วันหนึ่งเขานั่งอ่านหนังสือธรรมะอยู่ใต้ร่มเงาของต้นโพธิ์อย่างตั้งใจ หญิงชราผู้หนึ่งเดินถือไม้เท้าผ่านมา หยุดยืนอยู่ข้างๆ เขาแล้วเอ่ยถามว่า “ท่านกำลังทำอะไรอยู่หรือ?” นาโรปะเงยหน้าขึ้นมองแล้วกล่าวตอบว่า “อ่านหนังสือธรรมะ” เธอจึงถามเขาต่อว่า “แล้วท่านอ่านออกไหมล่ะ?” “แน่นอน ย่อมต้องอ่านออกสิ” นาโรปะตอบ หญิงชราแสดงท่าทางลิงโลดยินดี เต้นไปเต้นมาด้วยความร่าเริง จากนั้นเธอถามอีกว่า “แล้วท่านเข้าใจที่อ่านไหม?” นาโรปะหยุดคิดชั่วหนึ่ง พลางนึกในใจว่าเมื่อครู่เพียงเราบอกว่าอ่านออก หญิงชราท่านนี้ยังดีใจขนาดนี้ เราน่าจะบอกว่าเข้าใจเธอจะได้ดีใจยิ่งขึ้น ว่าแล้วก็ตอบไปว่าใช่
ทันใดนั้นหญิงชราผู้นั้นก็โมโห โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ น้ำหูน้ำตาไหล เธอฟาดไม้เท้าของเธอจนหัก นาโรปะรู้สึกงุนงงจึงถามว่า “ท่านโกรธเกรี้ยวเพราะเหตุใด?” หญิงชราตอบอย่างฉุนเฉียวว่า “เมื่อครู่เราถามท่านว่าอ่านออกไหม เราดีใจที่ท่านพูดคำสัตย์ แต่เมื่อเราถามว่าท่านเข้าใจไหม ท่านกล้ากล่าวเท็จ ตัวท่านยังไม่บรรลุธรรมกลับแอบอ้างว่าเข้าใจ!” ว่าแล้วหญิงชราก็กลายร่างเป็นสายรุ้งหายไปบนท้องฟ้า ส่วนนาโรปะก็เป็นลมล้มพับไป
(จากนั้นนาโรปะก็ออกเดินทางเพื่อหาอาจารย์เพื่อการบรรลุธรรม ในที่สุดก็ได้เป็นลูกศิษย์ของท่านทิโลปะ ผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก และได้สำเร็จตามความตั้งใจในเวลาต่อมา)
-----------------------------------------------
เรื่องเล่าประวัติของท่านนาโรปะนี้ข้าพเจ้าได้ฟังมาสองสามครั้งแล้ว ฟังคราใดก็นึกถึงมหาวิทยาลัยนาโรปะ มลรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา และมหาบัณฑิตหนุ่มสองคนจากสถาบันแห่งนี้ คือ ณัฐฬส วังวิญญูและวิจักขณ์ พานิช ผู้เป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้และนักเขียนฝีมือเยี่ยม
คราวนี้มาได้ยินอีกครั้งหนึ่งในที่ประชุมจิตวิวัฒน์ จาก ดร. ปีเตอร์ เฮิร์ซท (Peter Hurst) อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยนาโรปะ ที่ปัจจุบันได้พำนักอาศัยในประเทศไทย เพื่อทำงานร่วมมือกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเรียนรู้ที่เป็นการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เป็นการเรียนเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความจริงต่างๆ โดยปราศจากอคติ และสามารถเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆมาประยุกต์ใช้ในชีวิตได้อย่างสมดุล หรือจะเรียกว่าเป็น “การศึกษาในแนวจิตวิวัฒน์” ก็ได้
ดร. ปีเตอร์ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์เป็นอาจารย์และผู้บริหารที่นาโรปะมาร่วมยี่สิบปี ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์จากหลากหลายแง่มุม ได้อย่างเห็นภาพและมีชีวิตชีวา
เขาเล่าว่ามหาวิทยาลัยนาโรปะไม่ได้เกิดจากการออกแบบให้เป็นมหาวิทยาลัยสำหรับจัดการเรียนการสอนแบบจิตตปัญญาศึกษา โดยคิดว่าต้องสอนวิชานั้นวิชานี้ หากแต่เกิดจากกลุ่มคนผู้สนใจในดนตรี ศิลปะ การปะทะสังสรรค์และสอดประสานกันระหว่างศาสนาภูมิปัญญาตะวันออกและตะวันตก ได้มาเจอกันที่เมืองโบลเดอร์ ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. ๑๙๗๔ ผู้คนได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนเองมีและเรียนรู้จากคนอื่น ได้ฟังธรรมะบรรยายจากท่านตรุงปะ (ลามะทิเบตองค์สำคัญและองค์แรกๆ ที่นำพุทธศาสนาเผยแพร่ยังโลกตะวันตก) เกิดความสนุกและความสุข จนไม่อยากให้สิ่งดีๆ ที่เขาค้นพบต้องจบลง จึงช่วยกันจัดเปิดการสอนการอบรมหลักสูตรระยะสั้น เท่าที่มีผู้รู้ผู้มีความสามารถและตามความสนใจของผู้คนที่นั่น
ชั่วข้ามปี สถาบันนาโรปะก็เริ่มมีนักศึกษา โดยพ่วงไปกับอีกมหาวิทยาลัยหนึ่ง อีกหนึ่งปีผ่านไปสถาบันก็เริ่มเปิดหลายหลักสูตร เช่น ศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาพุทธศาสตร์ สาขาวิจิตรศิลป์ และศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยา เป็นต้น
ท่านตรุงปะและคณะศิษยานุศิษย์ไม่ได้สร้างมหาวิทยาลัยนาโรปะในกระบวนทัศน์แบบกลไก ที่เน้นให้ความสำคัญกับโครงสร้าง อันเชื่อว่าต้องออกแบบไว้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกมิติ ในแต่ละกระบวนการ หากแต่ทำไปตามสภาวการณ์และการผุดบังเกิดในขณะนั้นๆ เป็นการใช้ชีวิตอยู่ที่ขอบของความสมดุลตลอดเวลา ผู้คนชักชวนทำในสิ่งที่อยากทำกัน มากกว่าทำเพื่อให้ผ่านให้ถูกต้องตามระเบียบ
กว่านาโรปะจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการรับรองฐานะก็ใช้เวลาอีก ๑๐ ปี เพราะหน่วยงานตรวจรับรองของรัฐที่มาพร้อมกับกรอบระเบียบโครงสร้างแบบเดิมก็งงๆ ไม่ค่อยเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่แน่ใจว่าจะอธิบายอย่างไรดี คณะกรรมการไม่แน่ใจว่าควรจะรับรองสถาบันนี้ได้อย่างไร ในเมื่อสถาบันเริ่มต้นด้วยเงินกู้ห้าพันดอลลาร์เพื่อพิมพ์แผ่นพับและใบปลิว ตั้งอยู่บนโรงแรมที่เช่ามา แทบจะไม่มีห้องสมุด จ่ายเงินเดือนประมาณหนึ่งในแปดของอัตราจ้างทั่วไป ทุกระยะสองสามเดือนก็มักไม่มีเงินพอจ่ายค่าจ้างอาจารย์และเจ้าหน้าที่ เมื่อกรรมการถามว่าเงินเดือนน้อยขนาดนี้จะพออยู่ได้อย่างไร อาจารย์ที่สถาบันก็ตอบว่า “พวกเราอาศัยนั่งสมาธิกันเยอะ” (ฮา)
อันที่จริงเรื่องเงินก็เป็นสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญและท้าทายต่อการเติบโตของนาโรปะไม่น้อย การเริ่มด้วยเงินอันน้อยนิดก็เป็นการคัดเลือก “ตัวจริง” เป็นเบื้องต้นแล้ว ดร. ปีเตอร์บอกว่าหากมหาวิทยาลัยมีเงินมากๆ แล้ว อาจารย์ที่สอนก็อาจจะมาสอนด้วยความอหังการมมังการก็เป็นได้ ส่วนท่านตรุงปะถึงกับเปรยว่าขออย่าให้ใครเอาเงินมากๆ เป็นล้านมาสนับสนุนเราเลย!
ถึงแม้นาโรปะจะมีงบประมาณน้อยมาก ตอนเริ่มต้นถึงขนาดต้องเรี่ยไรจากผู้ที่เข้ามาฟังบรรยายธรรมเป็นรายครั้งเสียด้วยซ้ำ ทั้งยังมีองค์ประกอบต่างๆ ไม่ครบ แต่เมื่อกรรมการรับรองได้พิจารณานักศึกษาที่เรียน พบว่าแต่ละคนได้เรียนรู้อย่างยิ่ง บางทีมากยิ่งกว่ามหาวิทยาลัยชื่อดัง ชั้นนำต่างๆ เสียอีก ผู้คนไม่เพียงแต่ได้พัฒนาตนเองยังพัฒนาความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ รอบข้าง มีทั้งความรู้และความสุข ไม่เฉพาะแต่นักศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอาจารย์และเจ้าหน้าที่ด้วย
ในที่สุดสถาบันก็ได้รับการรับรอง ทั้งๆ ที่ชาวนาโรปะก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าเป็นไปได้อย่างไร อาจจะเป็นเพราะคณะกรรมการอาจจะเสียดายถ้าสถาบันที่มีแนวคิดที่แหวกแนว กล้าหาญ มีผู้คนที่ทุ่มเทมากเท่านี้จะหายไป แม้ว่าคณะกรรมการจะคิดว่ามันออกจะแปลกผิดแผกจากชาวบ้านและไม่ค่อยเข้าใจก็ตาม บ้างก็ว่าอาจเป็นเพราะมีผู้นำทางศาสนาและจิตวิญญาณจำนวนมาก ได้ไปเยี่ยม ไปสอน และไปอำนวยพรแก่สถานที่และสถาบันนาโรปะ
อันที่จริงสถาบันก็เพิ่งจะเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อไม่ถึงสิบปีมานี้เอง สาเหตุหลักก็เพื่อจะสื่อสารกับคนภายนอก เพราะเวลาบอกว่าเป็น “สถาบันนาโรปะ” คนก็จะทำหน้างงๆ สงสัย แล้วถามว่าคืออะไร แต่พอบอกว่าเป็น “มหาวิทยาลัยนาโรปะ” คนก็เลิกถามอีก เพราะคิดว่าเขาเข้าใจแล้ว ดร. ปีเตอร์ บอกพวกเราว่า “พวกเขาไม่เข้าใจหรอก แต่มันก็เป็นสิ่งที่พวกเขาคิดว่าคิดเข้าใจเอาได้” ผมนั้นไม่ทราบว่าแต่ละคนคิดอย่างไรหรือคิดถึงอะไร แต่ขณะนั้นในหัวผมมีแต่ตอนที่อังตวน เดอ แซงเตกซูเปรี ผู้เขียนเจ้าชายน้อย เล่าในหนังสือว่า หากเขาบอกผู้ใหญ่ว่ามีบ้านแสนสวยหลังหนึ่ง ทำด้วยอิฐสีกุหลาบ มีดอกเจอราเนียมที่หน้าต่าง และนกเขาบนหลังคา ผู้ใหญ่ก็นึกไม่ออก แต่ถ้าบอกว่ามีบ้านหลังหนึ่งราคาเป็นล้าน พวกผู้ใหญ่จะบอกว่าแหมช่างเป็นบ้านที่สวยอะไรเช่นนั้น
ในช่วงท้ายของการพูดคุยกัน คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้ช่วยตั้งคำถามที่น่าสนใจไว้สองคำถามว่า ขุมพลังที่ขับเคลื่อนเรื่องจิตตปัญญาศึกษาคืออะไร? เราจะต้องมีวิธีเข้าไปหา เข้าไปรู้จัก และดึงมันออกมา คล้ายกับที่นาโรปะใช้ขับเคลื่อนจิตวิญญาณของผู้คนทั้งสถาบันในอดีตได้อย่างไร?
และอีกคำถามที่สำคัญไม่แพ้กันคือ แล้วรูปแบบหน้าตาขององค์กรที่จะมาเป็นพื้นดินอันอุดม มาทำหน้าที่ดูแลให้กระแสนี้ได้เติบโตงอกงามยิ่งขึ้นนั้นเป็นอย่างไร? ทำอย่างไรเราจึงจะมีองค์กรที่สนับสนุนกระบวนการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคมที่ไม่เพียงแต่มีความหมาย แต่ยังสนุก เชื่อมโยงกับไฟและพลังชีวิตในตัวแต่ละคน ขนาดที่เรียกว่าฉุดเท่าไหร่ก็หยุดไม่อยู่ เหมือนกับที่ท่านตรุงปะและชาวนาโรปะได้เคยทำมาแล้ว
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 11 มีนาคม 2550
ผมแทบไม่อยากเชื่อสายตาตัวเองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า อาจารย์สองท่านกำลังแนะนำนักศึกษาอยู่ ต่างคนต่างแนะนำกันคนละประเด็น นักศึกษาก็กำลังตอบ แต่ทุกคนพูดพร้อมกัน เสียงที่เริ่มจากระดับดังปกติก็ต้องเร่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะพูดพร้อมกันสามคน ทำให้ไม่ค่อยได้ยินแม้กระทั่งเสียงของตนเอง ผมนึกสงสัยขึ้นมา “เอ ... ถ้าคนเขาอยู่นอกห้องเขาได้ยินจะคิดว่าข้างในกำลังทะเลาะกันหรือเปล่านะ?”
สิ่งที่เกิดราวกับเป็นสถานการณ์คลาสสิก ... แต่จากหนังสือ “สถานการณ์ที่ไม่ควรเกิดในชั้นเรียน”
ผมได้อยู่ในเรื่องนี้เพราะผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาเอกคนหนึ่ง ขอสมมตินามเธอว่าแจงนะครับ เธอขอนัดพบผมเพื่อปรึกษาเรื่องความคืบหน้าของวิทยานิพนธ์ ผมเองก็อยากทราบเหมือนกัน เพราะไม่ได้ยินอะไรมาจากแจงนานมาก(ๆ)แล้ว หลังจากอ่านต้นฉบับอันน่าสับสนและงงงงของเธอ ผมก็เริ่มรู้สึกสับสนและงงงงจริงๆ ผมจึงขอให้เธอเตรียมนำเสนอสรุปงานแบบง่ายๆ ให้ผมฟังสักไม่เกินสามสิบนาที
พอถึงวันนัดแจงบอกว่ามีอาจารย์อีกสามท่านขอเข้าร่วมฟังด้วย เพราะอยากทราบความเป็นไปของงานเหมือนกัน ผมก็ไม่ขัดอะไร เพราะยิ่งมีคนช่วยคิด งานของเธอยิ่งดี
สภาพห้องประชุมเหมือนห้องเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำส่วนใหญ่ ติดแอร์เย็นฉ่ำ (สำหรับคนนำเสนออาจจะหนาวสะท้าน) มีอุปกรณ์ทันสมัยครบครัน แต่สำหรับผมแล้วไม่ทราบว่าเป็นอะไร หรือผมเคยตัว (ถูก spoiled) กับห้องที่มีหน้าต่าง มีแสงธรรมชาติ เห็นต้นไม้อยู่บ้าง ก็เป็นได้ ผมรู้สึกห้องมันแข็งๆ บีบคั้นๆ อย่างไรไม่ทราบ
แจงเริ่มนำเสนอ ด้วยทีท่าตื่นๆ เกร็งๆ และกระโดดๆ นิดหน่อย ใช่ล่ะส่วนหนึ่งเธอเองก็มีบุคลิกทำนองนี้อยู่เป็นพื้น แต่ก็อาจจะมีส่วนจากการที่มีอาจารย์ตั้งสี่คนฟังอยู่ แถมเก่งๆ ตั้งสามคนอยู่ด้วย (ขออนุญาตไม่นับตนเอง) ผมรู้ดีว่าเธอจะยิ่งตื่นเต้น สับสน ถ้ามีคนถามมากๆ จึงตั้งใจไว้ว่าจะจดคำถามเก็บไว้ถามตอนท้ายทีเดียว แต่ปรากฏว่าแต่ละท่านต่างซักถามอย่างละเอียดตามรายทางเกือบตลอดการนำเสนอ น่าสงสาร ผมคิดว่าขบวนความคิดของเธอต้องสะดุดกึกไปหลายรอบแหงมๆ
จบการนำเสนอ ผมว่าเธอดูตัวเล็กลงไปถนัดใจ แถมใจหนอใจคงตุ๊มๆต่อมๆว่าจะรอดงานนี้ไปไหมนะ ผมนั้นเตรียมประเด็นมาถามเยอะมาก เพราะวิทยานิพนธ์ฉบับร่างหมายเลข ๑ ของเธอนั้นสมกับเป็นร่างแรกจริงๆ มีหลายจุดที่ต้องถึงขนาดยกเครื่องใหม่ แต่พอดูสถานการณ์แล้วเธอคงไหวอีกไม่มาก ผมตัดสินใจว่าจะเก็บไว้ค่อยๆคุยกับเธอภายหลังดีกว่า ค่อยๆบอกให้เธอค่อยๆละเลียดคำถามที่ยากๆแต่สำคัญที่เธอต้องตอบให้ได้ถึงจะมีสิทธิสอบ (เรื่องจบนั้นต้องดูอีกทีหนึ่ง)
ผมเริ่มด้วยการบอกว่างานของเธอนั้น แม้จะเขียนเรียงตามลำดับบทที่มหาวิทยาลัยกำหนด แต่ก็ยังสับสน กระโดดไปกระโดดมา เดี๋ยวประเด็นใหญ่ เดี๋ยวประเด็นรอง เดี๋ยวคำถาม เดี๋ยวคำตอบ เดี๋ยวความคิดคนอื่น เดี๋ยวความคิดเธอเอง อ่านแล้วรับรองว่ามึน แต่ที่ผมมึนกว่าคือ การที่อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า “ใช่เลย นั่นแหละ ปัญหามันอยู่ที่แจงนี่แหละ!” พร้อมสาธยายสิ่งที่แจงต้องแก้ไขอีกยาวยืด ผมนั้นเห็นด้วยกับสิ่งที่อาจารย์ท่านพูดหลายข้อเลยครับ อาจารย์ท่านก็เก่งจริงๆ แต่ผมเห็นว่าแจงผู้น่าสงสารที่บัดนี้ตัวเหลือเท่ามดแล้ว ข้อแนะนำดีๆ ที่บรรดาดอกเตอร์ระดมให้เธอนั้น เธอพยายามจดบันทึกแบบคร่าวๆ เป็นคำสำคัญๆ เป็นหลัก แต่ผมว่ามันอาจจะไม่เข้าหัวเธอแล้ว
หลังจากนั้นอีกสักพักผมแนะนำแจงว่าต้องพิจารณาโจทย์หรือปัญหาวิจัยให้ดี เพราะตอนนี้ในเอกสารมีหลายคำถามที่เธอต้องการจะตอบ แต่ละที่ก็เขียนปัญหาวิจัยไว้ไม่เหมือนกัน ผมได้รับการสนับสนุนอีกว่า ใช่อีกหละ “แจงนั่นแหละที่เป็นปัญหา!” มาถึงตรงนี้ผมชักงงๆ ก่งก๊ง แทนแจงแล้วครับ รู้สึกว่าเธอคงจะเสีย self ไปไม่น้อย ที่โดนเข้าไปหลายดอกอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ผมนำเสนอข้อคิดเห็นหลักๆของผมต่อ ผมเริ่มคิดว่าจะเปลี่ยนโทนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างไรดี พอดีมีระฆังช่วยครับ นักศึกษาอีกกลุ่มต้องใช้ห้องต่อ พวกเราต้องย้ายออก ผมจึงได้มีโอกาสคุยกับเธอตามลำพังว่าแม้งานของเธอนั้นต้องปรับปรุงอีกมาก การบ้านและการเดินทางของเธอนั้นจะยากมากๆ แต่ผมว่ามันมีความเป็นไปได้ และที่สำคัญที่สุด ผมไม่เชื่อว่าเธอนั้นเป็นปัญหา ผมบอกเธอไปว่าสิ่งที่ผมเชื่อคือ “คำตอบมันอยู่ที่แจงนี่แหละ” และ “แจงนั่นแหละที่เป็นคำตอบ”
เรื่องทั้งหมดเกิดจากการมีมุมมองต่อเรื่องต่างกัน จริงอยู่ที่วิทยานิพนธ์นั้นจะลุล่วงไปด้วยดีหรือไม่ ส่วนสำคัญที่สุดคือตัวนักศึกษาเจ้าของงานเอง แต่ถ้ามองว่าเธอคือบ่อเกิดทั้งหมดของปัญหาเสียแล้ว วิทยานิพนธ์คงไม่สามารถสำเร็จออกมาดีได้ คงไม่มีใครหรอกที่อยากจะทำงานออกมาแย่ๆ ให้อาจารย์ต้องแก้ต้องปรับเยอะๆ มันก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆของชีวิตครับ ถ้าคิดว่าเราเองเป็นตัวปัญหาเสียแล้ว เราก็มัวแต่สับสนและทุกข์ เอาแต่ก้มหน้างุดๆไปให้ถึงจุดหมาย พลาดโอกาสจะได้เรียนรู้พบเห็นอะไรดีๆระหว่างรายทาง
แม้ผมจะเชื่อว่าการทำให้คนตระหนักว่าเขาหรือเธอเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของปัญหาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหลายๆครั้งเราแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะคนไม่เห็นหรือเห็นแต่ไม่เปิดใจยอมรับ แต่ระหว่างการทำให้คนยอมรับกับการทำให้คนเกิดแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนนั้นต่างกัน หากจะให้เขารังสรรค์ พ้นจากปัญหา และก่อประกอบโลกใหม่ที่ดีกว่าเดิม คงต้องพาเขาไปสู่จุดที่เขาเห็นว่าตัวเขาเป็น “ส่วนสำคัญ” ของคำตอบ
ผมเชื่อว่าแจงนั้นพยายามทำอย่างดีที่สุดแล้ว และถ้าเธอก็พยายามต่อไป และปรับปรุงวิธีการเรียนรู้ในบางประเด็น ไม่เพียงแต่เธอจะได้ปริญญาในเวลาที่กำหนด (หรืออย่างมากก็ช้าไปหน่อย) กระบวนการทำวิทยานิพนธ์ยังจะช่วยสอนให้เธอได้เรียนรู้สิ่งดีๆทั้งแง่วิชาการและการจัดการตัวเองอันจะเป็นประโยชน์แก่ลูกศิษย์ของเธอในอนาคตด้วย :-)