ยิ่งช้า ยิ่งง่าย



ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 11 เมษายน 2553

ในวิถีจิตตปัญญาที่การใช้ชีวิตอยู่กับโลกและการเดินทางทางจิตวิญญาณมิได้แยกออกจากกัน ความรู้และทักษะในการรู้จัก เข้าใจ และดูแลโลกภายนอก มีลักษณะหลายประการที่คล้ายคลึงกันกับความรู้และทักษะในการรู้จัก เข้าใจ และดูแลตนเอง หนึ่งในนั้นคือ ความสามารถที่เราจะช้าลง หยุด เฝ้ามอง เฝ้ามอง และเฝ้ามองจนกระทั่งเรากระจ่างแจ้งสิ่งที่ไม่อาจเห็นได้ง่ายด้วยสายตา

หาไม่แล้ว เราอาจไม่เข้าใจตนเอง ไม่เข้าใจระบบ ไม่เข้าใจโลกอย่างถูกต้อง การจัดการไปตามความเข้าใจอันจำกัด อันบิดเบี้ยวของเรา แม้เกิดจากความตั้งใจดี อาจก่อปัญหาให้มากขึ้น

ผมเพิ่งจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพแก่ภาควิชาหนึ่งของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เราใช้เวลาสนทนาแบ่งปันกันมากว่า เราจะช่วยกันดูแลและส่งเสริมให้ทั้งเจ้าหน้าที่ อาจารย์รุ่นใหญ่ และอาจารย์ใหม่ มีชีวิตในภาคอย่างมีความสุขและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร เราแบ่งกลุ่มเล็กๆ จัดบรรยากาศผ่อนคลาย ให้โอกาสทุกคนแบ่งปันและรับฟังมุมมองของกันและกันอย่างทั่วถึง ทั้งรู้สึกปลอดภัย ไม่กดดัน ผลออกมาดีมาก ทุกคนได้รับฟังและดูแลทุกคน รวมทั้งตนเองจริงๆ

ในกลุ่มหนึ่งมีเรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจมาก มีผู้เสนอว่าเมื่อภาควิชารับอาจารย์ใหม่เข้ามา ควรมีคนพาไปแนะนำตัวกับทุกๆ คน เพื่อได้รู้จัก ช่วยเหลือ ดูแลกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เพียงแต่ข้อเสนอระบุด้วยว่า หัวหน้าภาคควรทำหน้าที่นี้ อีกทั้งให้ออกเป็นระเบียบไว้เลย

ผมเห็นด้วยกับแนวคิด แต่ไม่แน่ใจเรื่องวิธีการ สงสัยว่าชีวิตเรายังมีกฎระเบียบไม่พออีกหรือ? เรื่องของความสัมพันธ์ไม่น่าจะแก้ไขกันด้วยการออกระเบียบ เพราะมันดูเหมือนสร้างง่าย แต่หากความสัมพันธ์ไม่ดีเสียแล้ว ข้อบังคับต่างๆ อาจตามมาหลอกหลอนภายหลังได้ อย่างเช่นถ้าคนในภาคไม่รักกัน หากหัวหน้าภาคไม่พาอาจารย์ใหม่ไปแนะนำ คงเกิดตามเช็คบิลไล่เฉ่งกัน จับผิดการทำงานกันไปมา เจตนาดีจึงกลายเป็นประสงค์ร้ายไป

หากมองย้อนกลับไปในชีวิตส่วนตัวและที่ทำงาน เราเคยจัดการปัญหาอะไรแบบไวๆ บ้างไหม ที่ทำให้เราต้องปวดหัว ตามล้างตามเช็ด หรือยังได้รับผลกระทบในแง่ลบอยู่อีก

เราเคยหักหาญน้ำใจใครเพียงเพราะกำลังอารมณ์ไม่จอย เราเคยไม่ได้พูดสิ่งที่เราควรได้พูดเพราะมันกระดากปาก หรือเราเคยเลิกคบกับบางคนเพียงเพราะคิดว่านิสัยเข้ากันไม่ได้หรือเขาพูดอะไรไม่เข้าหูหรือเปล่า

หากแก้ไขปัญหาด้วยวิธีรีบๆ ชีวิตและองค์กรของเราอาจพะรุงพะรังไปด้วยกฎระเบียบ จะทำอะไรสักทีก็ต้องตรวจต้องเช็คดูก่อนว่าทำได้ไหม

แต่ถ้าช่วยกันทำให้คนในภาครักกัน เมื่อมีอาจารย์ใหม่เข้ามา ใครๆ ก็เสนอหัวหน้าภาคด้วยวาจาให้พาไปแนะนำได้ หากหัวหน้าภาคไม่ว่าง เราก็ช่วยกันทำแทนไปเลย

“ถ้าเราอยากแก้ปัญหาให้เร็วขึ้น เราต้องยิ่งช้าลง ... การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่และสร้างสรรค์ได้ -- หากแต่พื้นที่หรือสิ่งที่จะเป็นจุดคานงัดอันทรง ประสิทธิภาพที่สุดนั้น ไม่อาจเห็นได้อย่างแจ้งชัดประจักษ์กับสายตา” ปีเตอร์ เซ็งเก้ นักวิทยาศาสตร์ด้านทฤษฎีระบบและองค์กรเรียนรู้ กล่าวไว้ในหนังสือ The Fifth Discipline

ทางออกของปัญหาผ่านการหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ให้ดี แม้ดูเหมือนจะช้า ต้องใช้ความตั้งใจ ใช้ความรู้และทักษะมากกว่า แต่แท้จริงแล้วง่ายกว่าตามไปแก้ไขกฎระเบียบก่อนหน้า ง่ายกว่าเยียวยาความสัมพันธ์ที่ถูกทำลายยับให้กลับมาคืนดีเหมือนเก่า ง่ายกว่าเป็นไหนๆ