ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ หนังสือพิมพ์มติชน
ฉบับประจำวันที่ 11 มิถุนายน 2554

ไม่ว่าเราจะเป็นหญิง เป็นชาย หรือเพศที่สามสี่ห้า

ไม่ว่าเราจะกาเบอร์ไหน เสื้อสีอะไร

ไม่ว่าเราจะชอบเรยาหรือไม่ก็ตาม

มนุษย์ทุกคนมีความกรุณาเป็นพื้นฐาน

ข้างต้นเป็นคำโปรยในแผ่นประชาสัมพันธ์ของโครงการสร้างสรรค์สังคม “รินน้ำใจให้กัน” อ่านดูสี่บรรทัดข้างต้นแล้วเห็นชัดเจนถึงชุดความเชื่อของกลุ่มผู้อยู่เบื้องหลังไม่น้อย ว่ามีใจเปิดกว้าง ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ความคิดความเชื่ออย่างมาก มองข้ามเรื่องการเมืองแบบแบ่งสีแบ่งฝ่าย และเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีความดีงามเป็นพื้นฐาน

คนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้นี่แหละที่ชาวจิตวิวัฒน์พูดถึงอย่างสม่ำเสมอ โดยเชื่อว่าจะเป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่งในการกอบกู้อารยธรรมของมนุษยชาติ ที่กำลังเผชิญกับการท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ อาจจะครั้งสำคัญที่สุดตั้งแต่เราถือกำเนิดมาเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหรือสปีชีส์ใหม่ ที่เรียกว่า Homo sapiens เมื่อสองแสนปีมาแล้ว

วิกฤตที่อยู่เบื้องหน้าอาจจะนำมาซึ่งการสูญพันธุ์ หรือวิวัฒนาการที่จำเป็นเพื่อให้เราสามารถอยู่รอดได้ คือ เปลี่ยนจากยุคของการให้คุณค่ากับวัตถุไปสู่ยุคของการให้คุณค่ากับเรื่องของจิตใจ จิตวิญญาณ เป็นวิวัฒนาการของจิตไปสู่จิตวิญญาณ หรือตามที่ ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ เรียกว่าเป็น “ยุคแห่งจิตวิญญาณ” เป็นการเปลี่ยนผ่านของกระบวนทัศน์ใหม่ทางสังคม

การเปลี่ยนผ่านของกระบวนทัศน์ใหม่นี้ได้มีงานวิจัยและงานเขียนไว้จำนวนไม่น้อย อาทิ รายงาน Mankind at Turning Point และ The First Global Revolution โดยคลับแห่งโรม (Club of Rome) หนังสือ The Great Turning: From Empire to Earth Community โดย เดวิด กอร์เต็น (David Korten) รายงาน Shift Report และหนังสือ Global Shift: How a New Worldview Is Transforming Humanity โดยสถาบันโนเอติกซายน์ (Institute of Noetic Sciences) รวมถึงงานเขียน ยุทธศาสตร์รัตนโกสินทร์ โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี และ สู่มิติที่ห้า โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ

การเปลี่ยนผ่านนี้ เป็นกระบวนการที่ต้องการผู้ช่วยจำนวนไม่น้อย อาจจะหลายร้อยล้านคนทีเดียว ทั้งสำหรับการทำหน้าที่ดูแลการจากไปของกระบวนทัศน์เก่าที่ไม่สามารถอธิบายหรือแก้ไขโจทย์ที่ซับซ้อนเช่นในปัจจุบัน และการเตรียมทำคลอดกระบวนทัศน์ใหม่

แล้วคนจำนวนมากมายเช่นนี้จะมีลักษณะร่วมกันอย่างไร

พอล เอช เรย์ (Paul H. Ray) นักสังคมวิทยา และ เชอร์รี่ รูธ แอนเดอร์สัน (Sherry Ruth Anderson) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ทำการสำรวจวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าชาวตะวันตกสามารถแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มประเพณีนิยม (Traditionals) กลุ่มทันสมัย (Moderns) และกลุ่มสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม (Cultural Creatives) กลุ่มสุดท้ายนี้เป็นคนที่ไปพ้นจากกระบวนทัศน์มาตรฐานเดิม คือ พ้นจากความเชื่อสองขั้ว เช่น ประเพณีนิยม-ทันสมัย หรือ อนุรักษ์นิยม-หัวก้าวหน้า

ผลสำรวจเมื่อปีค.ศ.๑๙๙๙ พบว่าในสหรัฐอเมริกา มีประชากรกลุ่มประเพณีนิยม อยู่ประมาณ ร้อยละ ๒๔.๕ กลุ่มทันสมัยประมาณร้อยละ ๔๘ และกลุ่มสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมประมาณร้อยละ ๒๖ หรือห้าสิบล้านคน (ในขณะที่ยุโรปมีประมาณ ๘๐-๙๐ ล้านคน) (The Cultural Creatives: How 50 Million People Are Changing the World) และจากผลสำรวจเมื่อปีค.ศ.๒๐๐๘ ประชากรกลุ่มนี้ในอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๓๔ หรือประมาณแปดสิบล้านคนแล้ว

กลุ่มสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมคือ กลุ่มที่เรย์และแอนเดอร์สันให้ความสนใจอย่างยิ่ง กลุ่มนี้มักมีคุณลักษณะ เช่น รักธรรมชาติ ใส่ใจ ให้คุณค่ากับการอนุรักษ์ เป็นกังวลกับการทำลายธรรมชาติที่เกิดขึ้น ตระหนัก ใส่ใจกับประเด็นในระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การเพิ่มประชากรมากเกินไป และต้องการให้มีการแก้ไข เช่น ลดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ยินดีที่จะจ่ายภาษีมากขึ้นหรือจ่ายมากขึ้นสำหรับสินค้าหากว่าเงินนั้นใช้ในการบำรุงสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญมากกับการพัฒนาและดูแลความสัมพันธ์ ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้อื่น และช่วยให้ได้พัฒนาคุณสมบัติที่แต่ละคนมี มีจิตอาสาช่วยเหลือในประเด็นที่ดี

ในด้านการเมือง กลุ่มนี้ไม่พอใจกับการเมืองแบ่งแยก แบ่งสี แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซ้ายขวา แต่ไม่ต้องการเป็นฝ่ายตรงกลางที่ไม่ชัดเจน ไม่มีจุดยืน

เป็นพวกที่ให้ความสนใจมากกับการพัฒนาด้านจิตวิทยาและจิตวิญญาณ เห็นว่าเรื่องจิตวิญญาณเป็นส่วนสำคัญของชีวิต ต้องการความเสมอภาคในงาน ระหว่างหญิงชาย และการมีผู้นำที่เป็นสตรีในภาคธุรกิจและการเมือง ห่วงใยเรื่องความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ต้องการให้ภาคการเมืองและรัฐบาลลงทุนเพิ่มเติมในด้านการศึกษา โครงการชุมชน และเพื่อสนับสนุนอนาคตที่มีความยั่งยืนด้านนิเวศ เป็นห่วงวิธีการที่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไร รวมถึงการทำลายธรรมชาติและแสวงหาประโยชน์จากประเทศที่จนกว่า สามารถดูแลเรื่องการเงินและค่าใช้จ่ายได้ ไม่ชอบค่านิยมสังคมทันสมัยที่เน้นความสำเร็จ การหาเงิน และการจับจ่ายบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย แต่ชอบผู้คน สถานที่ที่แตกต่าง ชอบมีประสบการณ์และเรียนรู้จากวัฒนธรรมอื่น

พวกเขามักมองโลกอนาคตในแง่ดี และต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์วิถีดำเนินชีวิตที่ใหม่และดีขึ้น

คุณค่าหลักที่กลุ่มนี้ยึดถือ คือ การเสียสละเพื่อผู้อื่น การตื่นรู้และตระหนักในตนเอง การพัฒนาด้านจิตวิญญาณ และการร่วมลงมือปฏิบัติการในภาคสังคม

ชาวจิตวิวัฒน์เชื่อว่ากลุ่มสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมที่มีคุณสมบัติเหล่านี้คือคนที่จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านของกระบวนทัศน์ใหม่เป็นไปได้ และเป็นไปได้เร็วขึ้น

และเราอาจเห็นตัวอย่างจากหมู่เพื่อนที่ให้เกียรติมาเยี่ยมเยียนกลุ่มจิตวิวัฒน์ ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา พวกเขาได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านกระบวนทัศน์ใหม่ในชีวิตจริงที่มีรูปธรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ประมวล เพ็งจันทร์ เตือนใจ ดีเทศน์ โจน จันได รสนา โตสิตระกูล ภิกษุณีนิรามิสาจากหมู่บ้านพลัม พะตีจอนิและพฤ โอ่โดเชา ชาวปกาเกอะญอ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ประภาภัทร นิยม ยุค ศรีอาริยะ เดชา ศิริภัทร วัลลภา แวน วิลเลี่ยนส์วาร์ด วรภัทร์ ภู่เจริญ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ นารี เจริญผลพิริยะ สุมาลี นิมมานิตย์ พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง กรรณจริยา สุขรุ่ง กรินทร์ กลิ่นขจร กลุ่มหรี่เสียงกรุงเทพ มุทิตา พานิช สิวินีย์ สวัสดิ์อารี วนิสา สุรพิพิธ ชลลดา ทองทวี มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ ศุภลักษณ์ ทัดศรี กัญญา ลิขนสุทธิ์ เป็นต้น

โครงการ “รินน้ำใจให้กัน” ในตอนต้นของบทความก็เป็นอีกหนึ่งความพยายามในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมในกระบวนทัศน์ใหม่ของ กัญญา ลิขนสุทธิ์ และเพื่อนๆ กลุ่ม “เพื่อนภาวนา” ซึ่งเป็นกลุ่มของหนุ่มสาวต่างศาสนา และไม่มีศาสนา (แต่สนใจด้านจิตวิญญาณ) ที่ชักชวนกันภาวนาทุกวัน (บ้างก็เรียกเจริญสติ นั่งสมาธิ สมถะวิปัสสนา เดินจงกรม) โดยเชื่อว่าการภาวนาเป็นรากฐานของการเกิดความมีสติ ระลึกรู้ ซึ่งเป็นปัจจัยของการใช้ชีวิตและตัดสินใจอย่างมีปัญญา พวกเขาเชื่อว่าการภาวนาเป็นการแสดงออกอย่างสันติ สร้างสรรค์ ช่วยให้เรามีเวลาที่ช้าลง ตระหนักว่าเราจะนำพาตนและทุกๆ คน (ไม่เว้นแม้คนที่เราไม่เห็นด้วย) ไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ด้วยความรัก ความเข้าใจได้อย่างไร หัวใจคือการเข้าไปสร้างและสัมผัสสันติภาพภายในใจตนเองก่อน เป็นสันติภาพภายในที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา

โครงการนี้เชิญชวนให้ผู้คนในสังคมมาทอดสะพานความกรุณาด้วยการรินน้ำใจให้กัน ไม่ว่าจะเป็นการให้คนในครอบครัว ครูบาอาจารย์ เพื่อน เพื่อนร่วมงาน คนที่เราเพิ่งรู้จัก คนแปลกหน้า คนที่เราไม่ชอบไม่เห็นด้วย คนที่เรามีอคติ และให้ตัวเองด้วย

เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ นี้ ขอให้เราแต่ละคนได้หาโอกาสรินน้ำใจกันอย่างน้อยคนละสามครั้ง ในแต่ละสัปดาห์โดยมีรูปธรรม คือ ให้สิ่งของ ให้คำขอบคุณหรือกำลังใจ ให้คำชื่นชม และให้อภัย ตามลำดับ และเมื่อรินน้ำใจเสร็จแล้ว ทางกลุ่มเชิญมาแบ่งปันเรื่องราวกันที่ facebook : เพื่อนภาวนา

หากเราได้กลับไปลองอ่านคำโปรยสี่บรรทัดก็จะเห็นว่าสอดคล้องกับคำอธิบายของกลุ่มสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมอย่างยิ่ง

และภารกิจช่วยเปลี่ยนผ่านของกระบวนทัศน์ใหม่ก็อาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการ “รินน้ำใจให้กัน” เช่นนี้เอง