ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 19 มิถุนายน 2548


คุณเคยรู้สึกว่าคุณเป็นเทพกำลังขี่เมฆ ตามหาม้าเทวดาบ้างไหม? ไม่ว่าคุณจะเคยหรือไม่ วันนี้ผมรู้สึกว่ากำลังเดินทางค้นหาม้าเทวดา สิ่งมีชีวิตที่ไม่พบที่อื่นอีกในโลก นอกจากในป่าที่ผมกำลังอยู่เท่านั้น

ขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับนี้ อากาศรอบข้างผมช่างหนาวเหน็บ เมฆโรยตัวรายรอบล้อมผมราวกับกำลังขี่เมฆ ค้นหาม้าเทวดา หรือกวางผา goral สำหรับนักวิทยาศาสตร์ แม้ผมจะยังไม่เห็นมัน แต่ผมกลับได้พบกุหลาบพันปี หรือดอกไม้วงศ์กุหลาบซึ่งพบได้เฉพาะที่นี่ กำลังออกดอกเบ่งบานสะพรั่งอยู่ริมผา ใกล้ๆ กันมีกองมูลของเลียงผาที่มีเมล็ดเล็กๆ เท่าคลอเร็ตสีน้ำตาลกองเบ้อเริ่ม

ผมอยู่ที่อุทยานแห่งชาติดอยหลวงเชียงดาว แดนธรรมชาติอันงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก คำว่าสวรรค์บนดินดูจะไม่เรียกเกินเลยไป บรรยากาศบริเวณเด่นหญ้าขัดในเขตอุทยาน อบร่ำไปด้วยตำนานล้านนา ว่าเขาแห่งนี้เป็นสถานที่สิงสถิตของเจ้าหลวงคำแดง เทพผู้เป็นประธานของเทพทั้งมวลในดินแดนล้านนา แม้น้ำสำหรับประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ประจำปีที่วัดพระธาตุดอยสุเทพยังต้องนำมาจากที่นี่




ผมเดินทางมากับคณะครูชาวไทยและอเมริกันสามสิบกว่าชีวิตเพื่อร่วมสร้างเครือข่ายของครู ชาวบ้าน และนักพัฒนาที่สนใจกระบวนการเรียนรู้แบบสืบค้นที่มีชุมชนเป็นหลัก เพื่อประโยชน์แก่นักเรียน ระบบนิเวศ และโลก ในโครงการการเดินทางสำรวจโลก (Earth Expedition) โดยการร่วมมือกันในหลายประเทศที่มีธรรมชาติอันน่าทึ่ง ตื่นตาตื่นใจ และมีสัตว์สวยงามขนาดใหญ่เป็นตัวเดินเรื่อง

คอร์สในประเทศไทยครั้งนี้ที่ร่วมจัดโดยมูลนิธิโลกสีเขียว สถาบันขวัญเมือง มหาวิทยาลัยไมอามี่ สวนสัตว์ซินซิแนติ และแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มีความแตกต่างจากครั้งอื่นๆ เพราะเน้นการเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ในหัวข้อ พุทธศาสนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ อันว่าด้วยธรรมชาติกับการเรียนรู้ด้านใน กิจกรรมก็ล้วนส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมได้มีประสบการณ์ตรง ผสมผสานระหว่างธรรมชาติของขุนเขา แมกไม้ และสายฝนอันงดงาม การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนของปกากญอและชุมชนท้องถิ่น และมิติทางจิตวิญญาณอันละเอียดอ่อน แต่สัมผัสได้จริง ผ่านการเจริญสติภาวนา และการอยู่กับธรรมชาติ ไม่เว้นกระทั่งฝรั่งผู้ไม่เคยฝึกฝนมาก่อน

หลวงพี่ไพศาล วิสาโล หนึ่งในวิทยากรครั้งนี้ ได้อธิบายความสัมพันธ์และประโยชน์ของธรรมชาติต่อมนุษย์ว่ามี ๔ ระดับ ระดับที่หนึ่งเป็นเรื่องทางวัตถุ (material) เพราะธรรมชาติคือที่มาของปัจจัยสี่ รวมถึงอากาศและน้ำบริสุทธิ์ที่เป็นพื้นฐานการดำรงชีวิต ระดับที่สอง เป็นเรื่องความงดงาม (beauty) ที่ธรรมชาติได้ให้ความรื่นรมย์แก่ประสาทสัมผัสของเรา เช่น ภาพอรุณรุ่งที่ผานกแอ่น แสงอาทิตย์อัศดงที่แหลมพรหมเทพ รสชาติละมุนนุ่มลิ้นของผลไม้ กลิ่นหอมเย้ายวนจากดอกไม้นานาพันธุ์ เสียงหรีดหริ่งเรไรยามค่ำคืน รวมถึงสัมผัสทางผิวกายจากการดำผุดดำว่ายในธารน้ำตก

ขณะที่ประโยชน์ระดับที่สองเป็นความรุ่มรวยของประสาทสัมผัสภายนอก ระดับที่สามซึ่งสูงกว่าเป็นความสงบหรือสันติ (peace) ที่เราสามารถเข้าถึงได้หากได้มีโอกาสพักดูแลใจตนเอง ให้เวลาและใช้เวลาอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ อยู่ในป่าเขาสงบสงัด ปราศจากการรบกวนของโทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่น mp3 เครื่องไอพอด บรรดาเหล่าเทคโนโลยีที่ทำให้จิตของเราสัดส่าย

ประโยชน์ระดับสูงสุดเป็นระดับของปัญญา (wisdom) เป็นสิ่งที่ยั่งยืนยิ่งกว่าความสงบ ปัญญาที่ได้จากธรรมชาติคือได้เห็นความไม่แน่นอนของชีวิต เห็นความเป็นทั้งหมดและเป็นหนึ่งเดียวระหว่างชีวิตทั้งมวล เห็นสรรพสิ่งในโลกล้วนเชื่อมร้อยโยงใยกัน การได้เห็นความสัมพันธ์เกื้อกูลอาศัยกันของสิ่งต่างๆ ก็คือการได้รู้จักธรรมชาติ อันเป็นแหล่งของการเรียนรู้สู่การเข้าถึงความจริงของความเชื่อมโยงในสรรพสิ่งทั้งหลาย ธรรมชาติได้ให้ประโยชน์อันสูงสุดนี้แก่เรา

การเข้าถึงความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งนี้มีความสำคัญต่อทั้งการอนุรักษ์และต่อความสุขของเรา

หากเราเปิดน้ำจากก๊อกแล้วเรารับรู้ถึงความสัมพันธ์ของน้ำนี้กับสายน้ำลำธาร เดินทางเชื่อมโยงย้อนกลับไปถึงเจ้าหลวงคำแดง ก้อนเมฆ และม้าเทวดาบนดอยเชียงดาว เราก็จะตระหนักและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดโดยไม่ต้องมีใครบอก

หากเราได้เข้าถึงความจริง เห็นถึงความเป็นทั้งหมดของทุกสิ่ง เราก็สามารถผูกโยงประสบการณ์ที่ดีจากผืนป่างดงามที่ยังไม่ถูกแผ้วทำลาย นำมาเทียบเคียงให้มองเห็นถึงความเป็นธรรมชาติที่ปรากฏอยู่ดาษดื่นทั่วไป แม้กระทั่งกระรอกที่วิ่งไปมา นกที่โผเกาะลงบนสายไฟฟ้าในเมือง กระถางต้นไม้หรือแจกันดอกไม้ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะทำงานของเรา แม้เพียงเห็นเราก็ได้สัมผัสธรรมชาติและสามารถเกิดความสุขได้

เปรียบดังต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดเขียวสดอยู่ได้ ไม่หวั่นไหวแม้อยู่ท่ามกลางไอแดดร้อนแรงของฤดูแล้ง เพราะมันได้หยั่งรากลึกลงไปพบความฉ่ำเย็นของน้ำในใต้ดิน เราเองก็เช่นกัน เราสามารถดำรงชีวิตที่ดี ท่ามกลางความเร่งร้อนของชีวิตและการงานได้ เพราะเห็นความงดงามในความจริง สามารถดื่มด่ำและรับเอาความสุขอันผุดเกิดจากความชุ่มชื่นในจิตใจภายในของเราเอง :-)

ฝึกสติอย่างอ้ศวินเจได


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2548


อดไม่ได้ที่จะต้องเขียนอะไรเกี่ยวกับ สตาร์วอร์ส เอพิโซด 3: รีเวนจ์ ออฟ เดอะ ซิธ / ซิธชำระแค้น ซะหน่อย

หลังจากรอคอยมา ๒๘ ปี เหล่าสาวกของสตาร์วอร์สก็ได้คำอธิบายว่าทำไมอัศวินเจไดอย่างอนาคิน สกายวอล์คเกอร์ถึงได้ปล่อยตัวปล่อยใจยอมพ่ายแพ้ เข้าสู่ด้านมืดของพลัง (dark side of the Force)!

เล่าให้ฟังสั้นๆ ละกันนะครับ (แน่ใจว่าไม่ได้เป็น spoiler เพราะป่านนี้คงรู้กันทั้งเมืองแล้ว) ว่าภาคนี้ คุณตาจอร์จ ลูคัส เฉลยว่าอนาคินเปลี่ยนข้างมาเป็นวายร้ายเพราะคู่รักของเขา วุฒิสมาชิกหญิงแพดเม่ อดีตราชินีอมิดาลา (Amidala) นั่นเอง พอมานึกว่าชื่ออมิดาลานี่พ้องกับชื่อส่วนของสมองที่เรียกว่า อมิกดาลา (amygdala) ก็รู้สึกว่าสมเหตุสมผลดีครับ ยิ่งคิดก็ยิ่งน่าทึ่ง ขอชมว่าคุณตาลูคัสผูกเอาไว้ดีเหลือเกิน

คืออย่างนี้ครับ อมิกดาลา เป็นส่วนเล็กๆ ของสมอง มีรูปร่างคล้ายเม็ดอัลมอนด์ อยู่ในสมองส่วนกลาง มีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์ในแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเกลียด ความเศร้า ความกลัว ความกังวลกระวนกระวายใจ กลุ่มที่เป็นพลังในด้านลบน่ะครับ (อาฮ่า! ถึงบางอ้อแล้วใช่ไหม?)

ความรู้เรื่องสมองส่วนอมิกดาลานี่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะไขความลับออกครับ โดยอาศัยคุณูปการของเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างหนึ่ง คือ เครื่องฟังก์ชันนอลเอ็มอาร์ไอ fMRI (Functional Magnetic Resonance Imaging) ซึ่งเป็นวิธีศึกษาว่าสมองส่วนใดถูกกระตุ้นเมื่อได้รับความรู้สึก เช่น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ต่างๆ

เจ้าเครื่องนี้ทำให้เราเห็นเลยว่าสมองส่วนอมิกดาลานั้นทำงานอย่างมาก เวลาเรามีความโกรธ กลัว หรืออารมณ์บ่จอย โดยมันจะไปกดการคิดไตร่ตรอง การรับรู้ของเรา ทำให้เรารับข้อมูลแต่เพียงบางส่วน อมิกดาลานี่ฤทธิ์เดชใช่เล่นครับ พวกเราคงเคยได้ยินสำนวนที่ว่า "เห็นช้างตัวเท่าหมู" ใช่ไหม? ที่เราเห็นช้างมันตัวเท่าหมูไม่ได้เป็นแค่สำนวนพูดกันเล่นๆ เท่านั้น แต่มีที่มาจากความจริง เวลาเราโกรธนั้นสมองจะลดระดับการรับรู้ลง ทำให้เราได้ภาพความเป็นจริงที่บิดเบี้ยวไปจากปกติมาก ที่ตัวโตก็เห็นเป็นตัวเล็ก เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัวไปได้

ที่วัยรุ่นตีกัน ที่อนาคินยอมสวามิภักดิ์กับด้านมืด ก็มักเกิดจากอารมณ์ในแง่ลบ เพราะอมิกดาลาตัวดีนี่แหละครับ

แต่อย่างไรก็ตามเจ้าเครื่องฟังก์ชันนอลเอ็มอาร์ไอก็ยังทำให้เราเรียนรู้ถึงพลังอีกด้านหนึ่งด้วยครับ นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าตอนที่เราอารมณ์ในแง่บวกนั้นสมองส่วนที่ทำงานมากคือ สมองชั้นนอกซีกซ้ายด้านหน้า (left pre-frontal lobe) ครับ สมองส่วนนี้เป็นส่วนควบคุมการรู้คิดเหตุผล ส่วนพุทธิปัญญา (intellect) ของเรา เวลาเรารู้สึกสบาย มีความรัก รู้สึกปลอดภัย พร้อมจะเรียนรู้สมองส่วนนี้จะเริงร่าทำงานมาก

การที่เราเข้าใจกระบวนการของพลังทั้งในแง่ลบและแง่บวกนี้เป็นประโยชน์มาก เรารู้ว่าสมองทั้งสองส่วนนั้นเป็นขั้วตรงข้าม ทำงานคุมกันและกัน เวลาเราโกรธ หรือกลัวนั้น สมองชั้นนอกซีกซ้ายด้านหน้าจะทำงานน้อย ในขณะเดียวกันอมิกดาลาจะทำงานมาก สั่งว่าฉันไม่ขอรับรู้อะไรมากนักหรอก เพราะฉันกำลังรู้สึกว่ากำลังอันตรายต้องใช้พื้นที่เมมโมรี่สมองเยอะๆ เอาไว้ต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหรือถึงระดับเจไดอย่างอนาคินใครจะห้ามก็ไม่อยากจะฟัง อาจารย์อย่างโอบีวันก็ไม่เว้น เรียกว่าช้างมาฉุดก็ไม่อยู่ ว่าอย่างนั้นเถอะ เวลาเราเข้าไปอยู่ในความทุกข์ ไปเปิดวงจรลบของพลัง (dark side) นี่แล้วจะปิดยากครับ

แต่ก็ใช่ว่าพลังในแง่ลบจะชนะเสมอไปนะครับ เพราะหากว่าสมองชั้นนอกซีกซ้ายด้านหน้ามาทำงานมากขึ้น สมองส่วนอมิกดาลาจะลดการทำงานลง ดังนั้นเราจึงต้องฝึกฝนตัวเองให้ดีครับ ต้องฝึกส่วนที่บังคับตนเองนี่ให้คล่องแคล่วครับ (เหมือนกับที่โยดา ปรมาจารย์เจไดคอยพร่ำสอนเหล่าลูกศิษย์) ต้องรู้จักฝึกใช้สติ ใช้ปัญญาบ่อยๆ ครับ แบบว่าเรียกปุ๊บมาช่วยปั๊บทันทีอย่างนั้นเลย ตัวอย่างคนที่ฝึกได้เช่นนี้จริงๆ ก็มีนะครับ ลูกศิษย์ท่านดาไลลามะนี่ชัดเลยครับ เข้าเครื่องวัดนี่กราฟพุ่งเลย เรียกว่าพอจะโกรธท่านเรียกพลังบวกออกมาจัดการได้ทันทีทันควัน ท่านพิสูจน์ได้ว่าส่วนจิตวิญญาณแท้ที่จริงก็คือการฝึกจิต และการฝึกจิตนั้นสามารถเปลี่ยนสมอง นั่นคือเปลี่ยนพฤติกรรมได้ด้วย

เป็นอย่างไรบ้างครับ อ่านแล้วเกิดแรงบันดาลใจอยากไปฝึกเป็นอัศวินเจได ฝึกสร้างเสริมพลังในแง่บวก (ฝึกเจริญสติ ฝึกสมาธิวิปัสสนา) กับเขาบ้างหรือยัง?

ขอให้พลังจงอยู่กับคุณครับ! May the Force be with you! :-)