ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 23 กันยายน 2550
ท่านจะจดจำมันได้เหมือนน้ำที่ได้ไหลผ่านพ้นไป
- โยบ 11:16
ผมดูข่าวเครื่องบินลื่นไถลจากทางวิ่ง เห็นภาพไฟไหม้ ผู้คนบาดเจ็บและเสียชีวิตมากมายด้วยความรู้สึกพิเศษ คำว่า “เกินบรรยาย” ดูจะตรงกับสิ่งที่ผุดขึ้นในใจไม่น้อย อาจเป็นเพราะผมหวนนึกถึงประสบการณ์เมื่อคราวที่ผมต้องบินกลับมาเมืองไทย เนื่องด้วยพี่สาวเป็นหนึ่งในผู้โดยสารเครื่องบินตกที่สุราษฎร์ธานีเมื่อหลายปีมาแล้วนั้น เหตุการณ์มันดูเร็วไปหมด ทั้งครอบครัวเราต้องช่วยกันคิดตัดสินใจและดูแลเรื่องกฎหมาย พิธีฌาปนกิจ และอื่นๆ อีกทั้งงานบวชของตัวผมเองด้วย
แม้ว่าเทียบกันกับเหตุการณ์เมื่อเก้าปีก่อนซึ่งผมแทบไม่เห็นภาพข่าวอะไรในเวลานั้นเลย แต่ข่าวอุบัติเหตุที่ภูเก็ตคราวนี้มีรายงานออกรายการโทรทัศน์กันทุกๆ ช่อง ทุกๆ ชั่วโมง พาดข่าวทุกๆ หัวหนังสือพิมพ์ มันฉุดดึงและเชิญชวนให้ผมกลับมาสำรวจความรู้สึกตนเองอีกครั้ง เหมือนได้กลับมาที่เดิม ที่ไม่ใช่ที่เดิม
แล้วก็คงไม่ใช่สำหรับผมคนเดียวแน่นอน ยังมีคุณแม่ คุณอา พี่สาว พี่ชาย ...
อาจารย์คนหนึ่งที่อเมริกาซึ่งผมเคารพได้บอกผมว่า “มันเป็นเรื่องที่ทำใจลำบาก สำหรับพ่อแม่ที่ต้องไปงานศพของลูก” ก็คงจะจริง เพราะดูเหมือนโลกของคุณแม่มืดมนไปอย่างมาก หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์ไปใหม่ๆ หลายต่อหลายครั้งที่คุณแม่ยืนนิ่งไปแล้วก็น้ำตาซึม
ยิ่งเมื่อคราวที่คุณพ่อเสียด้วยแล้ว ผม “นึก” ไม่ออกว่าการสูญเสียคนที่เคยอยู่ใกล้ชิดด้วยกันร่วมครึ่งศตวรรษนั้นมันหนักหนาสาหัสประการใด ช่วงนั้นคุณแม่ดูหงอยเหงาเศร้าซึม ไม่อยากฟังแม้บทสวดมนต์ที่เคยเปิดให้คุณพ่อในช่วงสุดท้าย โลกของคุณแม่ดูขาดๆ หายๆ อะไรไป
แต่หลังจากนั้นผ่านไประยะหนึ่ง เมื่อได้ผ่านช่วงเวลาแห่งการ “ไว้ทุกข์” ที่ไม่ใช่แค่พิธีกรรมข้างนอก แต่เป็นการวิถีอันศักดิ์สิทธิ์ภายใน คุณแม่เริ่มมีกิจกรรมใหม่ๆ ที่สามารถทำคนเดียวได้ เช่น ปลูกต้นไม้ ไปเข้าค่ายอบรมสมาธิสมถะวิปัสสนาสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอานาปานสติที่สวนโมกขพลาราม หรือยุบพองที่ยุวพุทธิกสมาคม คุณแม่ก็ดูสดใสขึ้นทีละนิดๆ แถมช่วงหลังยังติดตามลูกๆ ไปงานเสวนาและเวิร์กชอปต่างๆ บางครั้งก็ไปเองคนเดียว แม้ว่าแม่จะไม่เคยเรียนเขียนอ่านหนังสือมาเลยก็ตาม
เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ พวกเราลูกๆ ช่วยกันคะยั้นคะยอให้คุณแม่ไปฟิตเนส ต้องใช้เทคนิคต่างๆ ไม่น้อยครับ เราเลือกสถานที่ออกกำลังกายซึ่งมีสระว่ายน้ำในร่ม เพราะท่านคงวิ่งบนเทรดมิลล์หรือปั่นจักรยานไม่ไหวแน่ ช่วงแรกเราก็ไปว่ายด้วยกัน ท่านก็จะกลัวๆ กล้าๆ เพราะว่ายน้ำไม่เป็น กลัวจมบ้าง กลัวน้ำเข้าปากบ้าง
เดี๋ยวนี้หรือครับ ไปเองแล้วครับ ไปทุกวันเลย วันไหนไม่มีใครไปส่งก็ขึ้นรถแท็กซี่ไปเองได้ ว่ายได้ทั้งเดินหน้า ถอยหลัง สนุกสนานเอิ๊กอ๊ากใหญ่ ตอนนี้เธอเลยมีก๊วนเกิร์ลลี่แก๊งรุ่นใหญ่ในสระด้วย คุยกันกระหนุงกระหนิงเป็นที่ครื้นเครงน่ารัก
โลกของคุณแม่ที่เดิมมีแต่เรื่องการสูญเสีย การขาดหายไปพร่องไป ก็ค่อยเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนไปตามสามัญธรรมดาของธรรมชาติ ทุกวันนี้คุณแม่สวดมนต์วันละเกือบร้อยจบ ออกกำลังกายวันละเกือบชั่วโมง เจริญทั้งสติ เจริญทั้งอาหาร หลับก็สบาย แถมครอบครัวเรายังสามารถพูดคุยกันเรื่องความเจ็บป่วยและความตายได้อย่างปรกติธรรมดาอีกด้วย
ผมเชื่อว่าความทุกข์อันยิ่งใหญ่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ภูเก็ตนั้นเป็นความรู้สึกจริงๆ ผมขอร่วมแสดงความเสียใจด้วย และเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้ก้าวเดินต่อ เพราะ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเรา ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่เพียงใด ล้วนแล้วแต่จะผ่านพ้นไป
คุณหมออภิชัย มงคล แห่งกรมสุขภาพจิต บอกว่าจากการวิจัยเอกสารพบว่าจิตใจของมนุษย์จะเผชิญความเสียใจร้ายแรงในระยะสั้นๆ หนึ่งถึงสองอาทิตย์ก็ปรับจิตใจได้
ดูเหมือนเข้ากันได้กับเรื่องของอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งท่านเคยไปเยี่ยมคุณหมอคนหนึ่งผู้ประสบอุบัติเหตุหนัก สมาชิกครอบครัวเสียชีวิตในเหตุการณ์เดียวกันหลายคน คุณหมอนอนจมอยู่ในความทุกข์ทางกายและทางใจ อาจารย์ท่านกล่าวว่า “ไม่เคยมีใครเสียใจจนตาย” (ยกเว้นจากอาการอื่นๆ ข้างเคียง) คำพูดนี้ช่วยทำให้คุณหมอท่านนั้นได้สติ และกลับมามีชีวิตใหม่ มีอนาคตอันแจ่มใส อยู่ในความเป็นปัจจุบันอันอุดมไปด้วยความโอบอุ้มและการเยียวยา
มากมายหลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นในชีวิตของเรา แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็ยากจะยอมรับและเผชิญได้ บางคนทุ่มเทเวลาให้กับงาน บางคนละทิ้งสิ่งแวดล้อมเดิมๆ หลีกเลี่ยงไม่มองไม่พูดถึงสิ่งที่จะทำให้ย้อนคิดถึงเหตุการณ์นั้น อาจเพราะความรู้สึกโศกเศร้ามันรุนแรงและหนักหน่วงเกินกว่าจะดำเนินชีวิตไปตามปรกติประจำวันเช่นเคยได้
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องร้ายนั้นเกิดขึ้นไปแล้ว และเกิดขึ้นจริงๆ เช่นเดียวกันกับความรู้สึกเสียใจซึมเศร้าซึ่งเกิดขึ้นในใจเรา ผมคิดว่าเราควรพร้อมยอมรับและเผชิญกับมันตรงๆ ไม่มีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง พยายามลืม หรือหาเรื่องอื่นเข้ามาเติมถมลงไปในความคิดให้ไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับความเศร้า เพราะการได้อยู่ในอารมณ์ได้ปลดปล่อยความรู้สึกสูญเสีย เป็นขั้นตอนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากอดีตไปสู่อนาคต
ในฐานะคนรอบข้าง เราก็ไม่ควรบังคับหรือเร่งให้ใครเลิกโศกเศร้าเสียใจ ด้วยว่าแต่ละคนต่างมีหนทางและการเดินทางเป็นของตนเอง หากจะช้าหรือเร็วก็ขึ้นกับคนผู้นั้นเอง คนรอบข้างจึงควรได้ช่วยดูแลเขาในระยะเวลาแห่งความเศร้าให้ข้ามผ่านพ้นสภาวะนั้นไปได้ด้วยดี ประคับประคองสุขภาพกาย เกื้อหนุนการดำเนินชีวิตแต่ละวันให้ลุล่วงไปได้โดยไม่ทำร้ายตัวเอง
วัฒนธรรมของมนุษย์เรามีพิธีกรรมต่างๆ ช่วยเยียวยาและพาเราผ่านสถานการณ์สูญเสียไปได้ แม้ปัจจุบันโลกหมุนไวไปสู่สังคมสมัยใหม่ แต่ก็มีความรู้ว่าด้วยการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย การรักษาเยียวยาจิตใจของญาติ โดยกลุ่มคนต่างๆ ร่วมกันทำงาน ทั้งพระ บุคลากรสุขภาพ กระบวนกร นักฝึกอบรม ร่วมกันเป็นกลุ่ม เป็นเครือข่าย ดังเช่น งานของเครือข่ายพุทธิกา เป็นต้น ใจความสำคัญของความรู้เรื่องนี้ก็เป็นเช่นกันกับพิธีกรรมคือการได้เข้าใจความรู้สึกของตนและถือเอาความโศกเศร้านี้เป็นสะพานข้ามผ่านไปสู่วันใหม่
อดีตที่เจ็บปวดจึงไม่ควรถูกกลบฝังไปด้วยการละเลยความรู้สึก แต่เราต้องเผชิญกับความทุกข์ในใจ ยอมให้ได้สัมผัสกับความรู้สึกของตัวเอง จนกระทั่งยอมรับและพร้อมสำหรับการพบวันใหม่ ให้เป็นช่วงเวลาที่ได้ปลดปล่อยตัวเองออกจากอดีตอย่างเข้าใจปัจจุบันไปสู่อนาคตต่อไป