โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2554

ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง วันที่คนทั้งประเทศน่าจะรู้สึกว่าภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นมาถึงบ้านเราแล้ว ไม่เพียงแต่มาเคาะประตูหน้าบ้าน แต่ลุยเข้ามาในบ้าน ล้นทะลักเข้าไปในห้องครัว ห้องนอน เอ่อขึ้นไปยังชั้นสอง บ้างก็ไปจนมิดหลังคา

หลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นในทั่วทุกภาคของประเทศ แต่กรุงเทพฯ ก็ดูเหมือนจะรอดหวุดหวิดมาเกือบทุกครั้งไป จนคนเมืองหลวงอาจจะวางใจ พูดปลอบใจตนเอง หรือปลอบใจกันและกันว่า "โอ๊ย กรุงเทพฯ น่ะสำคัญนะ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและทุกเรื่อง ถ้าท่วมจะเสียหายหนัก เขาไม่ปล่อยให้ท่วมง่ายๆ หรอก"

ซึ่งที่กล่าวมาก็ถูกต้องทั้งหมด ไม่มีส่วนใดผิด กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของประเทศที่รวมศูนย์แบบไทย ถ้าภัยพิบัติไม่ว่าจะทางธรรมชาติหรือทางไหนส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ย่อมเสียหายมาก และก็จริงอีกที่ "เขา" (ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าหมายถึง ใคร รัฐบาล หรือองค์กรใด) ต้องพยายามป้องกันกรุงเทพฯ อย่างเต็มที่ ไม่ปล่อยให้น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง น้ำท่วมก็ท่วมนิดเดียว ชั่วครู่ชั่วยามโดยมากก็เป็นชั่วโมงเท่านั้น

ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ สถานการณ์กรุงเทพฯ ยังไม่รุนแรงเท่าใดนัก เพราะเป็นช่วงที่น้ำทะเลยังไม่ขึ้นสูงสุด และมวลน้ำปริมาณมหาศาลจากตอนบนของประเทศก็ยังลงมาไม่ถึง แต่กระนั้นก็มีหลายเขตหลายชุมชนแล้วที่น้ำท่วม ส่วนเมื่อบทความนี้ตีพิมพ์ก็จะเป็นช่วงที่สถานการณ์คับขันและยากลำบากที่สุด

ผู้เขียนและชาวจิตวิวัฒน์ทุกคนขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนที่อยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันนี้ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่จังหวัดไหน

ได้แต่หวังว่าคงจะปลอดภัยทั้งสุขภาพ สุขภาพใจ และทรัพย์สิน ไม่เสียหายกันมากนัก

เพราะว่าเราคงจะต้องประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้อีกเกือบทุกปีแน่นอน

โดยเฉพาะจากข้อมูลสภาพภูมิอากาศโลกในปัจจุบัน มีแนวโน้มเป็นไปในทางที่แย่เอามากๆ แค่เรื่องอุณหภูมิอย่างเดียว สถิติ ๑๐ อันดับของปีที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงที่สุด ได้แก่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๑, ๒๕๔๔, ๒๕๔๕, ๒๕๔๖, ๒๕๔๗, ๒๕๔๘, ๒๕๔๙, ๒๕๕๐, ๒๕๕๒, ๒๕๕๓ ล้วนอยู่ในช่วง ๑๓ ปีที่ผ่านมา โดยปีที่โลกร้อนที่สุดตั้งแต่เคยถูกจดบันทึกคือ ปี ๒๕๕๓ นี้เอง

อุณหภูมิของโลกร้อนกว่าค่าเฉลี่ยของศตวรรษที่ ๒๐ มาต่อเนื่องเป็นปีที่ ๓๔ แล้ว

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับนายอัล กอร์ ได้ออกรายงานประเมินสถานการณ์สภาพภูมิอากาศโลก ในปี ๒๕๕๐ ประมาณการว่าน้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วโลกเหนือนั้นจะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ โดยอาจจะละลายหมดในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. ๒๐๕๐-๒๑๐๐ แต่ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างมากและรวดเร็วหลังจากรายงานออกมา นักวิทยาศาสตร์ประมาณการกันใหม่แล้วว่า ขั้วโลกเหนืออาจจะไม่มีน้ำแข็งปกคลุมเลยภายในไม่ถึงห้าปีข้างหน้านี้

ไม่เพียงแต่อุณหภูมิที่สูงขึ้น พายุฝนฟ้าคะนองนั้นมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น ตัวชี้วัดหนึ่งคือข้อมูลปริมาณน้ำฝนทั่วโลกพบว่าปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมาเป็นปีที่ "เปียก" หรือมีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดตั้งแต่เคยมีการจดบันทึกกันมา ปีที่แล้วกราฟแสดงปริมาณที่มากสุดโต่งอยู่แถวเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก อเมริกากลาง ออสเตรเลีย โดยไทยเรารอดมาได้ แต่กราฟของปีนี้ต้องมีเอเชียอาคเนย์และประเทศไทยแน่นอน

ฝนที่เคยตกปรกติ ปริมาณกำลังดีแถวอาณาจักรลาดั๊ก (Ladakh) ทางตอนเหนือสุดของอินเดีย ที่ทำให้เจริญเป็นอารยธรรมที่งดงาม ก็เกิดปรากฏการณ์คลาวเบิร์สท (Cloudburst) คือ ฝนตกหนักอย่างกะทันหันปานฟ้ารั่ว ลองจินตนาการว่าธรรมดาฝนนั้นตกลงมาเหมือนเทวดารดน้ำจากฝักบัวครับ แต่ที่เกิดขึ้นคือเทวดาเทน้ำจากขันหรือกะละมังครับ ผลคือน้ำท่วมอย่างหนักและรวดเร็ว โคลนถล่มสูงเป็นเมตร ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนเสียหาย ผู้คนล้มตาย เป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการตั้งถิ่นฐานกันมา

ฟังดูก็เหมือนหลายๆ เมืองที่เราได้ยินข่าวทั่วไป ไม่น่าตื่นเต้นตกใจอะไรใช่ไหมครับ แต่ถ้าเราทราบว่าเมืองที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือเมืองเละห์ Leh (บ้างอาจจะว่าเข้าใจตั้งชื่อเป็นลาง) ซึ่งอยู่สูง ๓,๕๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล!

ไม่อยากจะนึกก็ต้องนึกถึงหนังเรื่อง 2012 ไม่น้อย

นี่ถ้าเมืองที่สูงถึง ๓.๕ กิโลเมตร ยังน้ำท่วมคนตายได้ขนาดนี้ กรุงเทพฯ ที่อยู่ที่ระดับ ๐ เมตร (และกลางเดือนตุลาคม น้ำทะเลจะขึ้นสูงสุดประมาณ ๒.๕ เมตร) คงไม่ต้องสงสัย

หรือตัวอย่าง เดือนมีนาคมปีนี้ที่เมืองไทย มีสามฤดู วันหนึ่งร้อนจัด อีกวันต้องได้ค้นเสื้อกันหนาวมาใส่ ในขณะที่ภาคใต้ก็เกิดพายุน้ำท่วมรุนแรง นี่ก็เกิดจากน้ำในมหาสมุทรอินเดียพื้นที่หนึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าปรกติเพียงเล็กน้อย ทำให้ลมที่พัดต้านมวลอากาศเย็นจากจีนไม่สามารถทานกำลังได้

ประเทศไทยที่ได้สภาพภูมิอากาศรับอิทธิพลของปรากฏการณ์ เอลนีโญ/ลานีญา-ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ (El Niño/La niña-Southern Oscillation หรือ ENSO) ทำให้เรามีสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง โดยปรกติแล้วเกิดประมาณทุก ๕ ปี แต่ข้อมูลล่าสุดที่ได้จาก ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) วงจรนี้ไม่ปรกติแล้ว และคาดว่าจะเกิดเฉลี่ยทุก ๑๑ เดือน

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการผันแปรผิดปรกติของปรากฏการณ์ ENSO นี้เท่ากับว่าสภาพภูมิอากาศโลกได้เลยจุดพลิกผัน (tipping point) แล้ว

อันที่จริงเราอาจจะไม่ต้องอาศัยข้อมูลมากมายเท่านี้ก็ได้ ตัวอย่างจาก ดร.วังการี มาไท นักชีววิทยาสตรีสาวชาวเคนยา ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี ๒๕๔๗ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกน่ะหรือ ฉันรู้แน่นอนว่ามันกำลังเกิดขึ้น ฉันแค่เดินออกไปนอกบ้าน ฉันก็รู้แล้ว"
ในปาฐกถารางวัลโนเบลของเธอที่กรุงออสโล เธอได้กล่าวว่า "เรากำลังจะเผชิญกันความท้าทายที่เรียกให้เราต้องเปลี่ยนวิธีการคิด เพื่อที่มนุษยชาติจะหยุดทำร้ายระบบที่เอื้อให้เรามีชีวิต เราต้องช่วยเหลือเยียวยาโลก และในกระบวนเดียวกันนี้เอง ช่วยเยียวยาตัวเราเองด้วย ซึ่งก็คือการโอบอุ้มสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ในความหลากหลาย ความงาม และความอัศจรรย์ใจ มันจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราเห็นความจำเป็นที่เราจะต้องฟื้นความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเดียวกับสรรพชีวิต"

ด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันรุนแรงและส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลกเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ ณ ขณะนี้ในประเทศไทยของเราก็ได้เกิดการเรียกร้องผลักดันให้การรับมือภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ เช่น จาก คุณปรเมศวร์ มินศิริ thaiflood.com และ ดร. สมิทธ ธรรมสโรช มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ก็ให้สัมภาษณ์ข่าวว่า "ถึงเวลาแล้วที่เราต้องรวมตัวกันเป็นวาระแห่งชาติ แก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนขณะนี้ให้ผ่านวิกฤตไปได้"

เรื่องวิกฤตนี้ กลุ่มจิตวิวัฒน์ได้พูดคุยและสื่อสารให้เห็นความสำคัญมาร่วมเกือบสิบปี และหากรวมที่สมาชิกของกลุ่มหลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ อาจารย์ประสาน ต่างใจ และอาจารย์ประเวศ วะสี ได้เขียนเตือนไว้ก็สิบกว่าปีแล้ว ว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับสิ่งที่ ดร.เจมส์ เลิฟล็อค ผู้คิดค้นทฤษฎีกายา (ที่ว่าโลกมีคุณสมบัติเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่สามารถมีสุขภาวะที่ดีหรือป่วยได้ อันเป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ) ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน ไว้เมื่อปี ๒๕๕๑ ว่าหายนะภัยของโลกนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่มุมมองของบุคคลเหล่านี้ต่อวิกฤตสภาพอากาศนั้นมีมากไปกว่าการป้องกันและกู้ภัยด้วยเทคโนโลยีและการจัดการ นั่นคือ โอกาสที่เราจะได้ตระหนักว่าเราจะอยู่กันอย่างไรในวิกฤตนี้ เพราะหากต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมเรายังพอมี เราอาจเกิดสติและเห็นว่าทุกหายนภัย ทุกวิกฤต มาพร้อมกับโอกาสที่ดีได้เสมอ เป็นการเรียนรู้ที่หาได้ยากในสภาวะปรกติ

ภาวะพายุผิดฤดูกาล และน้ำท่วมน้ำหลากมากผิดวิสัย ไม่ได้เป็นเพียงโอกาสจะได้หาทางแก้ไขป้องกันด้วยการสร้างฝาย คันกั้นน้ำ หรือระบบอุโมงค์ระบายน้ำ แต่นี่ยังเป็นโอกาสอย่างมาก ที่สังคมไทยจะเรียนรู้ร่วมกันว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นเพียงอาการ แท้จริงแล้วมีต้นเหตุ คือ วิกฤตทางด้านจิตวิญญาณ ดังเช่นที่ท่านทะไลลามะบอกว่า เรากำลังเป็นโรคพร่องทางจิตวิญญาณ (Spiritual deficiency syndrome)

ท่ามกลางภาวะของความเศร้าและทุกข์ทรมานกับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ หลายคนสิ้นหวังหมดกำลังใจในการใช้ชีวิต หลายพื้นที่ลงไม้ลงมือวิวาททำร้ายร่างกายกันเพราะเห็นว่าถูกเอาเปรียบที่ชุมชนของตนต้องเป็นฝ่ายรับน้ำแทน คนจำนวนไม่น้อยก็ก่นด่าเพ่งโทษอีกฝ่าย และจำนวนมากมายเร่งรุดไปซื้อกักตุนข้าวของสินค้าอุปโภคบริโภคจนขาดแคลน ไม่เพียงพอแม้แต่จะแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัย ปรากฏการณ์เหล่านี้เองที่กำลังบอกเราว่าลำพังเพียงความรู้ทางเทคโนโลยีและการจัดการ ไม่สามารถดูแลปัญหาวิกฤตการณ์ในจิตใจชาวไทยได้

หลังจากที่การแก้ไขภัยพิบัติเร่งด่วนเฉพาะหน้าเริ่มคลี่คลายลง การผลักดันวาระแห่งชาติก็คงจะสูงยิ่ง การขับเคลื่อนประเทศไทยให้ออกจากวิกฤตนี้จำต้องมีวาระแห่งชาติที่มีพลังเพียงพอ ลำพังวาระเรื่องการรับมือภัยพิบัตินั้นสำคัญมาก แต่อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะเป้าหมายที่แท้จริงนั้นยิ่งใหญ่กว่าการหาหนทางอยู่รอด

หรืออาจใช้ชื่อ "วาระแห่งชาติว่าด้วยการรับมือภัยพิบัติ" นี้ก็ได้ แต่สาระภายใน สังคมไทยต้องการพื้นที่สำหรับความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติการ (platform) ที่ใหญ่กว่าเรื่องทางเทคนิคและเรื่องความอยู่รอด เป็นวาระที่ตระหนักรู้ว่าภัยพิบัตินั้นมีทั้งวิกฤตธรรมชาตินอกกาย และวิกฤตในใจที่บดบังให้เราไม่เห็นสายสัมพันธ์ที่เรามีต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพชีวิตบนโลกใบเดียวกัน

ภัยพิบัติอาจทำให้เราเห็นว่าต้องต่อสู้เพื่อเอาตัวให้รอด แต่ความรู้จากทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน บอกว่า สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดคือสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุด (Survival of the fittest) ดังนั้น การที่เราจะอยู่รอด ไม่ใช่เพราะเหตุผลตื้นเขินว่าเราแข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุด ไม่ใช่เพราะเรารวยหรือมีเทคโนโลยีที่ดีที่สุด เราจึงต่อสู้เอาชนะได้ แต่รอดได้เป็นเพราะว่าเราเหมาะสมที่สุด

สิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุดไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เหลือรอดโดยลำพัง แต่คือสิ่งมีชีวิตที่เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ทั้งกับสปีชีส์เดียวกัน และกับสปีชีส์อื่นๆ ในโลกใบนี้

องค์ความรู้ทางจิตวิวัฒน์ที่ได้สั่งสมมาหลายปี ชี้ให้เห็นว่า เราจะอยู่ร่วมกันได้ เมื่อเราเรียนรู้ที่จะอ่อนโยนต่อชีวิต อ่อนน้อมต่อธรรมชาติ เข้าถึงความสุขอันประณีต ชุดความรู้เรื่องการรู้จักตนเอง การรู้จักให้อภัย การรู้จักพอ รู้จักที่จะช้าลง ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของการอยู่รอดและการอยู่ร่วมของเรา

นี่อาจจะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในชั่วชีวิตของเรา ที่เราจะละทิ้งอัตตาและความคับแคบของใจ โอกาสการก้าวข้ามความแบ่งแยกทางสี ทางความคิด ทางชาติพันธุ์ ไปสู่การปลูกเพาะความรักความเมตตาและเอื้ออารีต่อกัน สู่การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของทุกคนและทุกชีวิต

ดังเช่นที่ ดร.วังการี มาไท ได้กล่าวไว้ว่า "ในช่วงประวัติศาสตร์ของมนุษย์ มีเวลาที่มนุษยชาติถูกเรียกร้องให้ยกระดับจิตสำนึกใหม่ ไปสู่คุณธรรมที่สูงขึ้น เวลาที่พวกเราต้องขับไล่ความกลัวและมอบความหวังให้กันและกัน เวลานั้นก็คือตอนนี้"

ดังนี้ สิ่งที่เราควรชูเป็นวาระชาติ คือ วาระของการอยู่ร่วมกัน