ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 24 มิถุนายน 2550


เมื่อหลายวันที่ผ่านมา ผมใช้เวลาช่วงต้นฤดูฝนอยู่ที่วัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ เพราะได้รับความไว้วางใจให้เป็นวิทยากรร่วมใน โครงการการเดินทางสำรวจโลก (Earth Expeditions) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมหาวิทยาลัยไมอามี่ สวนสัตว์ซินซิเนติ ร่วมกับมูลนิธิโลกสีเขียว ปีนี้ก็เป็นครั้งที่ ๓ แล้วครับ

โครงการฯ ได้รับสมัครและพากลุ่มครู ๒๐ กว่าชีวิตจากประเทศสหรัฐอเมริกาเดินทางเข้ามาเมืองไทย เพื่อศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์จริงตามหัวข้อเรื่อง “พุทธศาสนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ” (Buddhism and Conservation) แม้ทั้งหมดจะเป็นครูชาวอเมริกัน แต่ต่างก็เป็นผู้สนใจในพระพุทธศาสนา การอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมศึกษา รวมถึงการนำเรื่องจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) หรือการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญเข้าไปใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียนของตน

ในสองครั้งก่อนหน้านี้ โครงการจัดกิจกรรมส่วนใหญ่ที่ดอยหลวงเชียงดาว ส่วนปีนี้หลังจากอยู่กับธรรมชาติที่เขาใหญ่แล้ว ทุกคนก็เดินทางเข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ เพื่อศึกษาแนวคิดทางพุทธศาสนาจากหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ครูแต่ละคนได้ผ่านกระบวนการต่างๆ ให้ได้เข้าใจสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติพร้อมไปกับได้เรียนรู้ที่จะติดตาม เข้าใจ และสะท้อนความคิดความรู้สึกระหว่างกัน โดยเฉพาะการได้เรียนรู้จากตัวเอง จากการเดินเท้าในป่า การปลูกป่า การอยู่คนเดียวในป่าท่ามกลางยุงและพายุฝนเป็นเวลานาน สุนทรียสนทนา และฟังธรรมบรรยาย

ผมได้จัดกิจกรรมขึ้นมาสองเกมให้กับคณะครูกลุ่มนี้ เพราะเชื่อว่าน่าจะถูกอกถูกใจชาวอเมริกันอยู่บ้าง ถึงแม้ว่าจะเป็นเกมว่าด้วยการเจริญสติ แต่ก็เข้าข่ายเชิงประยุกต์ปรับให้ง่ายและสนุก อีกทั้งครูเหล่านี้อาจจะเอาเกมที่ตนเล่นไปใช้กับเด็กนักเรียนได้ เมื่อต่างคนต่างเคยเล่นเกมกันแล้ว ย่อมเข้าใจดีว่าจะปรับหรือเพิ่มเติมดัดแปลงอย่างไรให้เข้ากับวัฒนธรรมหรือสไตล์ของตน

เกมแรกเชื่อว่าหลายคนอาจคุ้นเคยจากกิจกรรมรับน้องในรั้วมหาวิทยาลัย ผมให้ชื่อว่า “คำมั่นสัญญาณ” (ฝรั่งเรียก “Simon Says”) เริ่มต้นโดยครูทุกคนจะยืนล้อมรอบกันเป็นวงกลม เงี่ยหูตั้งใจฟังคำสั่งจากคนนำเกมที่ออกคำสั่งให้พวกเขาขยับเคลื่อนไหวร่างกาย หรือทำสิ่งต่างๆ นานา อาทิ นั่งลง แตะตัวคนข้างๆ หรือว่า ปรบมือ คนนำพูดช้าบ้าง เร็วบ้าง เว้นจังหวะทอดยาวก่อนเริ่มคำสั่งใหม่บ้าง หรือเริ่มคำสั่งใหม่มาติดๆ หลังจบคำสั่งก่อนหน้า แต่ครูเขาไม่ต้องทำตามทุกคำสั่งหรอกครับ

เพราะครูทุกๆ คน (ผู้ที่ตอนนี้กลายเป็นนักเรียนว่านอนสอนง่ายสั่งอะไรก็ทำตามไปหมดแล้ว) ต้องคอยสังเกตจับคำที่บอกไว้ว่าเป็น “สัญญาณ” อย่างที่เช่น กำหนดให้เป็นคำว่า “ทุกคน” พอเอ่ยประโยคคำสั่งว่า “ขอให้ทุกคนยืนขาเดียว” อเมริกันทุกคนก็ต้องรีบยืนกระต่ายขาเดียว แต่ถ้าบอกว่า “เอาสองมือไว้บนหัว” ไม่มีคำสัญญาณไม่ต้องทำตาม แต่ในขณะที่เล่นเกมก็มีคนเผลอ ทำตาม บ้างไม่ได้ทำตาม พาลไปทำอย่างอื่นนอกคำสั่งเลยก็มี

หลังเกมนี้เราต่างแลกเปลี่ยนสะท้อนให้เห็นกันและกันว่า พวกครูของเราส่วนมากมักจะทำผิดเพราะเหตุ ๒ อย่าง อย่างแรกคือ ถ้าไม่เพราะเหม่อ ใจลอย ก็เผลอไปคิด นึกถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ ตอนตัวอยู่ในวงใจกลับลอยไปที่อเมริกา หรือลอยไปหากาแฟของว่าง หูได้ยินเสียง แต่ไม่ได้ยินคำสั่งอะไร ไม่ก็คิดไปเรื่อย

อย่างที่สองซึ่งมักจะทำให้พลาดไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญาณกันก็คือ เพ่งจ้อง กรณีนี้ครูบางคนตั้งใจมาก เอาจริงเอาจังกับเกม ทำให้มีใจไปจดจ่อกับคำสั่งโดยเฉพาะสัญญาณมากเป็นพิเศษ ภาวะที่เกิดขึ้นจึงเป็นความรู้สึกหนัก กดดัน ไม่สบายผ่อนคลาย แทนที่จะดีที่คอยตะแคงหูจับเสียง ดันกลายเป็นว่าแม้ได้ยินคำสัญญาณแล้วก็ยังเพ่งจ้องคำนั้นอยู่ พอประโยคไปถึงคำสั่งว่าให้ทำอะไรกลับจำไม่ได้เสียแล้วว่าเขาให้ทำอะไร รู้แต่ว่าจะรอดักฟังคำสัญญาณ อย่างนี้ก็พลาดเอาง่ายๆ

ผ่านกิจกรรมแรกไปแล้ว ได้แลกเปลี่ยนจนรู้สึกอิน (in) เข้าใจและคุ้นเคยกับเรื่องการเหม่อ-เผลอคิด และการติดเพ่งจ้องกันแล้ว ผมก็ให้มาเล่นเกมต่อไป เกมนี้มีชื่อว่า “เมล็ดพันธุ์แห่งสติ” (Seed of Mindfulness) ซับซ้อนกว่าเกมแรกหน่อยตรงที่เรามีอุปกรณ์ประกอบการเล่น เป็นเมล็ดถั่วเขียวและถ้วยเล็กๆ จะเป็นพลาสติกหรือเซรามิกก็ได้ คนละสองใบ แต่หากใครสนใจจะนำไปใช้เล่นเองหรือนำกิจกรรมนี้บ้าง จะใช้เม็ดข้าว เม็ดมะขาม หรืออะไรก็ได้ที่ใกล้เคียงกันครับ เพราะเราจะใช้เมล็ดพืชเมล็ดพันธุ์ทั้งหลายนี้เอาไว้ให้หยอดลงถ้วยเล็กใบนั้น ของใครของมัน

หลังจากทุกคนเสาะหามุมที่ชอบในละแวกใกล้พอเห็นและได้ยินถึงกัน แยกย้ายหย่อนตัวลงนั่งและวางถ้วยไว้เบื้องหน้ากันแล้ว ผมแจกเมล็ดถั่วเขียวให้คนละกำมือใส่ในถ้วยใบแรก เปิดเพลงบรรเลงสบายๆ ให้ฟัง บอกว่าให้เอาจิตไปไว้กับการฟัง แล้วดูความเคลื่อนไหวของจิตตนเอง อันเป็นธรรมชาติของมันที่จะไม่อยู่นิ่ง

เมล็ดถั่วเขียวในมือกลายเป็นแต้มคะแนน ตัวเองเป็นทั้งกรรมการและผู้เล่นในสนาม เมื่อกรรมการจับได้ว่าผู้เล่นหรือตัวเองนั้นได้ขาดสติไปรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งใน ๒ ข้อ ก็สามารถได้คะแนนโดยหย่อนเมล็ดถั่วเขียวลงไป ๑ เมล็ดในถ้วยใบที่สอง

ขาดสติแบบแรกคือเหม่อ-เผลอคิด กำลังนั่งอยู่ดีๆ นึกได้อีกที เอ๊ะเมื่อครู่ฟุ้งซ่านไปนึกฝันถึงอะไรทำให้จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวในขณะที่นั่งอยู่ในวัดป่ากับสิ่งที่กำหนดให้จิตไปรู้ คือ เสียงเพลง ก็หย่อนไว้ ๑ เมล็ด หรือ จู่ๆ รู้สึกตัวขึ้นได้ว่าเมื่อกี๊นึกถึงงานภาระคั่งค้างที่โรงเรียน ใจไม่ได้อยู่เมืองไทย ก็หยอดไปอีก ๑ เมล็ด ให้คะแนนแก่การจำได้ (และจับได้) ถึงอารมณ์ความไม่รู้ตัวของเรา

ส่วนการขาดสติแบบที่สองคือเพ่งจ้อง สภาวะตอนที่เพ่งจ้องนั้นจะเป็นอาการเกร็งๆ รู้สึกหนักๆ ตื้อๆ ช้าๆ ไม่ว่องไว ขณะที่นั่งพลันรู้สึกได้ว่าจดจ่อดูใจว่าจะคิดจะใจลอยหรือไม่จนใจหนักอึ้ง ก็หย่อนเมล็ดถั่วเขียวลงไป สังเกตใจจนมือไม้ที่ถือกำถั่วเขียวเขม็งเกร็ง รู้ตัวแล้วก็เติมถั่วเขียวลงถ้วยอีกเมล็ด ให้คะแนนแก่ความจำอารมณ์จดจ่อเพ่งจ้องของเราได

หลังจากเพลงแรกผ่านไป ผมเปิดเพลงที่มีเนื้อร้องบ้าง บางคนบอกว่า “หลุด” บ่อยขึ้น เพราะว่ามีเนื้อทำให้ใจพยายามไปตามฟัง ตามคิด ติดไปกับเนื้อเพลง ไม่ค่อยได้อยู่กับตัวนัก ส่วนเพลงที่สาม ผมให้เอาใจมาไว้ที่ลมหายใจแทน ซึ่งบ้างก็ว่าง่ายกว่า เพราะดนตรีช่วยให้ผ่อนคลาย บ้างก็ว่ายากกว่า เพราะมัวแต่จะไปฟังเพลงเลยจิตไม่อยู่กับลมหายใจ สำหรับเพลงสุดท้าย ให้เอาจิตไว้ที่ลมหายใจเหมือนเดิม แต่คราวนี้เปิดเพลงแนวคันทรีมีเนื้อร้องสนุกสนาน พร้อมผมเองแกล้งเต้นออกท่าทางชวนให้เผลอด้วย ยากขึ้นไปอีกแบบ

ตลอดเวลาร่วมยี่สิบนาทีที่ต่างคนต่างหยอด บรรยากาศเสียงเพลงหลากหลายนั้นจะอบอวลไปด้วยเสียงกรุ๊งกริ๊งของเมล็ดถั่วเขียวกระทบถ้วย บางคนบ้างก็หย่อนเสียงรัว บ้างก็นานๆ จะดังกรุ๊งกริ๊งสักที เกิดเป็นสุ้มเสียงสำเนียงเสนาะที่น่าสนใจและไม่ซ้ำใครขึ้นมา

ตอนท้ายผมพาทุกคนมาล้อมวง ถอดบทเรียนร่วมกัน เกิดความรู้กันขึ้นมาว่าบางทีที่เราความชื่นชมเพื่อนที่ตลอดทั้งช่วงมีเสียงลงถ้วยไปไม่กี่เมล็ด แสดงว่าหลุดน้อยนั้น อาจไม่เป็นดังว่า เพราะเจ้าของถ้วยที่นานทีมีเสียงหน หาใช่มีสติรู้เนื้อรู้ตัวมาก แต่เพราะหลุดยาว ปล่อยเหม่อ-เผลอคิดนาน ใจลอยไปถึงไหนต่อไหนและเพลิดเพลินอยู่ในความคิดนั้น พอได้สติรู้ตัวสักทีจึงจะหย่อนลงไป ไม่ได้เป็นสติดีไปกว่าคนที่หย่อนถี่ๆ เลย

กิจกรรมนี้ผมพัฒนามาจากกิจกรรมในชื่อเดียวกันของคุณแม่อมรา สาขากร นะครับ ท่านได้ฝึกอบรมการเจริญสติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งที่มูลนิธิสวนพุทธธรรมและหน่วยงานต่างๆ ที่เชิญไปบรรยายและนำกิจกรรม ต่างกันตรงที่กิจกรรมของท่านเน้นที่ “ความไม่ประมาท” ให้เรารู้จักการตกหลุมกรรมหลุมยถากรรม

ตอนท้ายของกิจกรรมในโครงการ เพื่อนครูฝรั่งอเมริกันสะท้อนว่าทั้ง ๒ กิจกรรมนี้เขานำไปทำได้ไม่ยากเลย และตั้งใจว่าจะเอาไปให้นักเรียนในชั้นของตนได้ฝึกได้เล่นบ้าง ให้เด็กๆ ที่นั่นได้รู้จักการเจริญสติในรูปแบบเกมที่สนุกสนานและทำได้ไม่ยากกัน

ขนาดครูฝรั่งยังบอกว่ากิจกรรมนี้ง่าย ผมว่าเราชาวไทยแต่ละคนก็นำไปฝึกฝนเอง หรือชักชวนเพื่อนพ้องน้องพี่มาเล่นด้วยกันได้ ... ไม่ยากครับ :-)

มหกรรมกระบวนกร


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2550


หากเปรียบเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ค ลอนดอน โตเกียว หรือ เซี่ยงไฮ้ ว่ามีความเป็น “มหานคร” คือ เป็นนานาชาติ เป็นสากล มีตัวอย่าง ตัวเอก หรือตัวแทนจากวัฒนธรรมต่างๆ อยู่ ไม่ว่าเรื่องเล่า ความเชื่อ ความฝัน แรงบันดาลใจที่มาพร้อมกับผู้คนที่อยู่อาศัย ขุดทอง หรือท่องเที่ยวอยู่ที่นั่น

จากมุมมองเดียวกัน ผมนึกเองขำๆ ว่างานใหญ่อย่าง “มหกรรมกระบวนกร” ที่สถาบันขวัญเมืองจัดมาเป็นครั้งที่ ๖ แล้วนั้น มีความเป็น “มหานคร” ไม่ต่างกัน เพราะมีคุณลักษณะของความเป็นนานาชาติ สากล แถมยังมีตัวแทนของหลายวัฒนธรรม ทั้งยังมีเรื่องเล่า วัฒนธรรม ความฝันและแรงบันดาลใจ อันหลากหลายอย่างยิ่งของคนที่มาร่วมงานเหมือนกัน

งานมหกรรมกระบวนกรที่กล่าวถึงนี้ เป็นการประชุมกระบวนกร (facilitator) จากทั่วทุกภาคในไทยและหลายครั้งก็มีมวลมิตรจากประเทศอื่นด้วย กระบวนกรในที่นี้คือผู้จัดกระบวนการเพื่อการพัฒนาชีวิตด้านใน การเรียนรู้เพื่อให้เกิดสำนึกใหม่ และการเปิดมุมมองใหม่ต่อโลกและชีวิต การมาประชุมร่วมกันนี้ได้รับการเอื้อเฟื้ออนุเคราะห์สถานที่ จัดกิจกรรมและกระบวนการโดยสถาบันขวัญเมืองในฐานะเจ้าภาพและเจ้าบ้าน

แรกเริ่มเดิมทีมหกรรมกระบวนกรนั้นเป็นเสมือนเวทีพบปะกันของผู้ที่เคยผ่านการฝึกอบรม หรือเคยได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในตัวกับเหล่ากระบวนกรของสถาบันขวัญเมืองมา ทั้งจากการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ หรือจากการร่วมสนทนาในเวทีสุนทรียสนทนาต่างวาระโอกาส

แต่มหกรรมกระบวนกรได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับในระยะเวลาอันสั้น สู่เวทีเรียนรู้ร่วม นำเครื่องมือ วิธีการและพิธีกรรม ตลอดจนประสบการณ์ที่ได้ประสบพบเจอจากการทำงานและในชีวิตประจำวัน มาแลกเปลี่ยนสนทนาเล่าสู่กันฟัง ก่อให้เกิดการยกระดับความรู้ของทั้งกลุ่มแบบยกแผง มหกรรมกระบวนกรในครั้งหลังๆ จึงมีความไม่ธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆ ใช่เป็นเพียงงานชุมนุมศิษย์เก่า หรือเป็นแค่พื้นที่การประชุมพบปะทั่วไปไม่

เหตุการณ์อันเป็นปรากฏการณ์แห่งวงการฝึกอบรมและพัฒนานี้พาให้ผมนึกถึงวรรณกรรมเลื่องชื่อเรื่องหนึ่งของกิมย้ง ภาพที่เกิดชัดในใจ คือ เวทีชุมนุมจอมยุทธจากทั่วพื้นพิภพ จากหลากหลายสำนักค่ายฝีมือ ไม่ว่าจะเป็น คงท้ง คุนลุ้น ง้อไบ๊ หรือแม้แต่หลวงจีนจากเส้าหลิน ต่างมารวมกัน ณ สถานที่เดียวกัน ณ สำนักบู๊ตึ๊ง เพื่ออวยพรวันเกิดครบรอบร้อยปีของปรมาจารย์เตียซำฮงเจ้าสำนักบู๊ตึ๊ง ขณะที่มหกรรมกระบวนกรนี้คลาคล่ำไปด้วยชาวยุทธกระบวนกรผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่

ยิ่งมหกรรมกระบวนกรคราวล่าสุดนี้ให้เผอิญตรงกันกับวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู บรรยากาศเลยกระเดียดเฉียดไปทางงานแซยิดเตียซำฮงเข้าไปใหญ่

ตัวละครในเรื่องของกิมย้งยังมีสีสันน่าสนใจในเชิงอุปมา ไม่ว่าจะเป็น มังกรเสื้อม่วง อินทรีคิ้วขาว ราชสีห์ขนทอง และค้างคาวปีกเขียว ส่วนมหกรรมกระบวนกรที่จังหวัดเชียงรายนี้เล่าก็กอปรไปด้วยกระบวนกรมากหลายแบบ เมื่อใช้แนวคิดคุณลักษณะคนตามแบบสัตว์ ๔ ทิศของชนพื้นเมืองอเมริกาเหนือหรือชาวอินเดียนแดงมามองผู้เข้าร่วมแต่ละคนแล้ว ผมจึงได้เห็นทั้ง หนูผู้ compromise กระทิงนัก action หมีจอม detail และอินทรีเจ้า project

แต่เอาเข้าจริงๆ แทนที่จะเป็นมหากาพย์ของกิมย้ง มีการประลองยุทธระหว่างสำนัก เสาะหาดาบฆ่ามังกรเพื่อขึ้นครองเป็นเจ้ายุทธภพ กลับกลายเป็นสงครามข้ามกาแลคซี่ เป็น Star Wars ของลุงจอร์จ ลูคัส กวัดแกว่งไลท์เซเบอร์ สว่างวูบๆ วาบๆ แทน
เพราะตลอดงานมีแต่อ้างอิงถึงพล็อตและตัวละครในภาพยนตร์ซีรีส์ทั้ง ๖ ตอน โดยเฉพาะภาคท้ายๆ ของงานมหกรรมมีหัวเรื่องหลัก “วิถีแห่งโยดา” ที่ว่ากระบวนกรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่กระบวนทัศน์ใหม่ หรือกระบวนกรในแนวทางจิตวิวัฒน์นั้น จะทำหน้าที่บ่มเพาะสร้างอัศวินเจไดรุ่นใหม่ ให้เป็นผู้ที่เข้าใจ เข้าถึง และเป็นหนึ่งเดียวกับ “พลัง” ได้อย่างไร

เล่นเอาคนที่ยังไม่เคยดูต้องขอตัวช่วย ขอคำอธิบายเป็นระยะๆ ว่า โยดา อนาคิน ดาร์ธเวเดอร์ และลุค สกายวอล์กเกอร์ คือใคร ร้อนถึงคอหนังทั้งหลายต้องเปิดวงเล็กอธิบายคร่าวๆ ว่า ในโลกของสตาร์วอร์สนั้น เหล่าอัศวินเจไดคือผู้ที่ฝึกฝนตนเอง เพื่อจะเข้าถึง “พลัง” (The Force) ซึ่งเป็นสนามพลังอันไม่สิ้นสุดสร้างโดยสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในจักรวาฬ ที่เหล่าผู้ฝึกจิตมาดีแล้วสามารถนำมาใช้ได้

พลังนี้สามารถนำมาใช้ได้ในรูปแบบของเทเลพาธี (อ่านใจ) ไซโคไคเนซิส (เคลื่อนย้ายวัตถุ)พยากรณ์อนาคต รวมถึงเพิ่มศักยภาพทางกายของผู้ใช้ได้อีกด้วย ดังที่ลุคใช้ในการยิงถล่มเดธสตาร์ในภาคแรกสุด

แต่สิ่งที่เหล่าเจไดต้องระวังอย่างยิ่ง คือ ไม่ให้ตนเองตกไปสู่ด้านมืดของพลัง (Dark side of the Force) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ หากเกิดความหลง บ้าอำนาจ ไม่นำความรู้ความสามารถนั้นมาใช้เพื่อประโยชน์ตนเอง หรือเกิดจากตนไม่สามารถจัดการกับความโกรธ ความเกลียด หรือความกลัวที่เกิดขึ้นในจิตใจได้

ช่างประจวบเหมาะบังเอิญเหลือเกินที่ผมได้คุยกับ ดร.ปีเตอร์ เฮิร์ทซ์ ถึงเรื่องพลังเบญจพุทธคุณทั้งห้า (The Five Wisdom Energies) ของพุทธสายวัชรยาน อันได้แก่ พลังวัชระ (Vajra) รัตนะ (Ratna) ปัทมะ (Padma) กรรมะ (Karma) และพุทธะ (Buddha) ที่สัมพันธ์กับคุณลักษณะอันประเสริฐ ๕ ประการของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ คือ ปัญญาเฉียบคม (แทนด้วยสีน้ำเงิน) เอื้อเฟื้ออันอุเบกขา (สีเหลือง) การรับรู้อันลุ่มลึกละเอียดอ่อน (สีแดง) ความมุ่งมั่นในการกระทำอันเด็ดขาด (สีเขียว) และความสุขุมเปิดกว้างรับการเติบโต (สีขาว) ตามลำดับ

อันที่จริงผมก็ได้สนใจและเคยศึกษาเรื่อง ปัญญาห้าสี นี้มาก่อนหน้าอยู่พักหนึ่ง แต่ไม่เคยโยงมาเกี่ยวข้องกับสตาร์วอร์สแต่อย่างใด เมื่อครั้นได้ยินปีเตอร์ พูดออกเสียงพลังแห่งพระโพธิสัตว์อมิตาภะ (ปัทมะ) ว่า พัด-ม่า (Padma) แล้วทำให้ถึงบางอ้อทันทีว่า ท่าทางคุณลุงลูคัสคงมีเจตนาจงใจตั้งชื่อหญิงงามที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ ดึงดูดให้ต้องตาต้องใจ น่าเข้าใกล้ (อันเป็นลักษณะของพลังปัทมะ) ว่า แพดเม่ (Padme) ขณะเดียวกัน เธอคือผู้เป็นต้นเหตุนำพามาซึ่งความโกรธ-เกลียด-กลัวการสูญเสียคนรักของอนาคิน ถึงขนาดที่ทำให้เขาตกไปอยู่ในด้านมืดของพลัง เห็นได้ชัดถึงการทำงานของสมองส่วนอมิดาลา (Amygdala) ที่ควบคุมอารมณ์ดังกล่าว จึงให้นามสกุลแก่ตัวละครนี้ว่า อมิดาลา (Amidala)

ท่านอาจารย์ประเวศเคยเรียกปรากฏการณ์ที่มนุษย์ขาดสติ ถูกชุดอารมณ์ลบเข้าครอบงำ สมองส่วนดังกล่าวทำงานหนัก ปิดกั้นการทำงานของสมองส่วนอื่น ทำเอาเห็นช้างตัวเท่าหมู ว่า “ตกบ่วงอมิกดาลา” พอโยงกับสตาร์วอร์สแล้วก็คงเรียกว่า “ตกบ่วงอมิดาลา” ได้เหมือนกัน

หลังจากที่อนาคินยินยอมพร้อมใจขายวิญญาณให้แก่ฝ่ายจักรวรรดิ กลายเป็นดาร์ธ เวเดอร์ จักรภพก็เดือดร้อนมากขึ้นไปอีกทุกหย่อมหญ้า ทำให้เหล่าอัศวินเจไดต้องฝึกฝนและเรียนรู้อย่างหนักเพื่อนำสมดุลกลับมาสู่พลัง (Bring balance to the Force) และสันติภาพมาสู่โลกและจักรวาฬ

อันเป็นโจทย์เดียวกันกับเหล่ากระบวนกรที่มาประชุมกันในงานมหกรรม

สิ่งที่น่าตื่นเต้น น่าทึ่ง และชวนติดตามของมหกรรมกระบวนกร ยิ่งกว่าสตาร์วอร์สทุกภาครวมกัน ก็คือ การได้เห็นอัศวินเจไดและโยดาโลดแล่นอยู่ในชีวิตจริง ลอง(จาก)ผิดลอง(จน)ถูก ฝึกฝนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบริบทที่หลากหลาย ทั้งภาคธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน สถานบริการสาธารณสุข สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ไปถึงระดับครอบครัวและปัจเจกชนคนรักอิสระ

และที่สำคัญที่สุดคือ สตาร์วอร์สทำมา ๖ ภาคก็ยุติลง ส่วนงานมหกรรมกระบวนกรจัดมา ๖ ครั้งแล้ว มหากาพย์การเดินทางจากจิตตื่นรู้ สู่การยกระดับจิตร่วม (Collective Consciousness Stage) เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้นเอง ...

(เชิญร่วมสร้างสรรค์โลกใบใหม่ได้ที่ “วงน้ำชา” www.wongnamcha.com)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๐


คงยังจำกันได้นะครับว่าสัปดาห์ที่แล้วผมนำเรื่องพลังเบญจพุทธคุณมาเล่าสู่กัน พลังเบญจคุณนี้เป็นการประยุกต์จากแนวคิดของพุทธศาสนาสายวัชรยาน ประเทศทิเบต โดยท่านเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาโรปะ และมหาวิทยาลัยเองก็ได้เปิดโอกาสให้อาจารย์ นักศึกษาและบุคลากรได้ฝึกฝนปฏิบัติตามแนวทางพลังเบญจพุทธคุณอยู่เสมอ

ทบทวนกันอีกทีครับ พลังเบญจพุทธคุณนี้ว่าด้วยคุณลักษณะในตัวของเราแต่ละคนทั้ง ๕ ประการ ต่างมีคุณลักษณะหนึ่งใดเด่นชัดในช่วงเวลาสถานการณ์ต่างกันออกไป แต่ไม่ใช่การจำแนกคนออกเป็น ๕ ประเภท พลังเบญจพุทธคุณยังแทนด้วยสัญลักษณ์สี และมีความเป็นธาตุ ได้แก่ วัชระ (Vajra) รัตนะ (Ratna) ปัทมะ (Padma) กรรมะ (Karma) และพุทธะ (Buddha) แทนด้วยสี ธาตุ มีลักษณะที่ปรากฏในภาวะปกติและภาวะสับสน ดังนี้

พลัง สี ธาตุ สัญลักษณ์ ภาวะปกติ ภาวะสับสน
วัชระ น้ำเงิน น้ำ คทา/วัชระ การคิดวิเคราะห์ ยึดมั่นความคิด โทสะ
รัตนะ เหลือง ดิน อัญมณี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เย่อหยิ่ง โลภ
ปัทมะ แดง ไฟ ดอกบัว ความรู้สึก ญาณทัศนะ ราคะ ไม่มั่นคง
กรรมะ เขียว ลม กระบี่ มุ่งมั่นปฏิบัติ เอาแต่ใจ อิจฉา
พุทธะ ขาว ที่ว่าง ธรรมจักร สุขุม เปิดกว้าง เฉื่อยชา ปิดตัวเอง


วิธีการที่มหาวิทยาลัยนาโรปะใช้นั้นคือการทำห้องไมตรี (Maitri room) ขึ้นตามพลังทั้ง ๕ เป็นห้องสีต่างๆ ๕ สี ตั้งแต่ห้องสีน้ำเงิน ห้องสีเหลือง ห้องสีแดง ห้องสีเขียว ไปจนห้องสีขาว นักศึกษาที่ปฏิบัติภาวนาในห้องไมตรีนี้ก็จะต้องได้เข้าไปปฏิบัติให้ครบทั้ง ๕ ห้อง

ดังเช่นหลักสูตรปริญญาโทสาขาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยนาโรปะ ซึ่งเป็นการเรียนการสอนจิตบำบัดในแบบจิตตปัญญาศึกษา(Contemplative Psychotherapy) ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เข้าใจจิตใจและพัฒนาตัวเองไปพร้อมกับเนื้อหาวิชา ดังนั้น นักศึกษาของหลักสูตรนี้ทุกคนจะต้องได้เข้าร่วมกิจรรมที่ชื่อ Maitri Retreat ทุกปี ถือเป็นส่วนสำคัญของการฝึกปฏิบัติตามหลักสูตร กิจกรรมนี้ประกอบด้วยการฝึกสมาธิอย่างเข้มข้น การสอนสมาธิ การเดินจงกรม การนิ่งสงัดเงียบ และการทำงานกับชุมชน

แน่นอนว่ากิจกรรมการปฏิบัติภาวนา Maitri Retreat นี้ ต้องได้ใช้ห้องไมตรี (Maitri room) เป็นส่วนประกอบสำคัญ โดยห้องไมตรีทั้งห้าถูกออกแบบมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกนักจิตบำบัด โดยถือว่าเป็นการฝึกทางโลก ไม่ได้เป็นการฝึกตนทางศาสนาแต่อย่างใด

การปฏิบัติภาวนาในห้องไมตรีโดยทั่วไปจะปล่อยให้นักศึกษาผู้เรียนเป็นผู้เลือกห้องตามความรู้สึกตามความเหมาะสมของตนเอง ตามที่รู้สึกว่าตนเชื่อมโยงกับพลังหนึ่งใดในเบญจพุทธคุณ ไม่จำเป็นต้องเริ่มตามลำดับที่ห้องวัชระ หรือจากห้องพุทธะก่อน เมื่อเข้าไปในห้องแล้ว นักศึกษาจะนั่งทำสมาธิเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ใจสงบและจิตมีกำลัง

หลังจากนั้นต้องจัดวางท่าทางร่างกายตามแบบของพลัง ซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่ว่าจะเป็นพลังอะไร การอยู่ในท่าของพลังนั้นจะต้องทำต่อเนื่องไปอีกจนกระทั่งครบเวลา ๔๕ นาที

แต่ละพลังเบญจพุทธคุณกำหนดท่าทางจัดวางร่างกายไว้อย่างนี้ครับ สำหรับพลังวัชระ ให้ลงนอนคว่ำ ยื่นแขนซ้ายไปข้างหน้า งอศอกเข้า และวางศีรษะลงบนท่อนแขนซ้าย ตามองไปทางแขนขวาที่ยืดตรงออกไป ทำมุมตั้งฉากกับลำตัว

พลังรัตนะเป็นท่านอนหงาย เหยียดแขนและขาตรง แยกขา กางแขนทั้งสองข้างยื่นตรงทำมุมฉากกับลำตัว ส่วนพลังกรรมะนั้นคล้ายกัน นั่นคือนอนหงาย เหยียดแขนและขาตรง เพียงแต่แขนที่ยื่นออกไปนอกลำตัวนั้นทำมุมประมาณ ๔๕ องศา และนิ้วมือทั้งสิบต้องเหยียดเป็นเส้นตรง เสมือนลำแขนจรดปลายนิ้วเป็นกระบี่

สำหรับท่าทางของพลังปัทมะนั้นต่างออกไป แทนที่จะนอนคว่ำหรือหงาย ก็เป็นการนอนตะแคงขวา แขนซ้ายวางอยู่บนลำตัว ศีรษะวางหนุนอยู่บนแขนขวา แต่ถ้าคิดว่าการทำท่าตามพลังวัชระหรือปัทมะนั้นค่อนข้างแปลกและอาจจะเมื่อยล้าได้แล้วละก็ การวางท่าทางของพลังพุทธะจะพิสดารกว่าท่าอื่นๆ มากที่สุดครับ โดยเริ่มจากนั่งคุกเข่า โก้งโค้งก้มตัวลง ตั้งศอกบนพื้น หงายฝ่ามือทั้งสองออกเป็นลักษณะคล้ายดอกบัวบาน และวางคางลงตรงกลางฝ่ามือทั้งสองข้าง

ในระหว่าง ๔๕ นาทีที่จัดวางร่างกายตามท่าทางของพลังเบญจพุทธคุณ นักศึกษาไม่ต้องคิดหรือต้องทำอะไร รวมทั้งไม่ต้องทำสมาธิด้วย แต่ยินยอมให้เปราะบาง (vulnerable) ปลดปล่อยให้ตนเองได้รับผลจากพื้นที่ ห้อง สี พลัง เป็นการฝึกให้เราลองสัมผัสกับสภาวะทางจิตที่มีเสน่ห์ น่าค้นหา เพื่อจะพัฒนาความกล้าเผชิญ โดยไม่เกรงกลัวต่อสภาวะทางจิตที่เกิดขึ้นสดๆ ดิบๆ ในชั่วขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น โกรธ เกลียด เศร้าซึม สับสน หวาดกลัว เฉื่อยชา หรือ โอบอุ้ม มุ่งมั่น แจ่มชัด เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและจักรวาฬ

เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว นักศึกษาก็จะค่อยๆ ลุกขึ้น เดินออกไปจากห้องไมตรี และเดินไปอย่างสะเปะสะปะไม่มีที่หมายด้วย เขาใช้คำว่า Endless wandering เราอาจเรียกได้ว่าเป็นการเดินแบบใหม่ เจริญปุระ คือ เดินเรื่อยเปื่อย ไม่มีจุดหมาย (ฮา) เน้นให้เปิดรับความรู้สึก ไม่เกร็งและไม่ปิดกั้นไม่หน่วงเหนี่ยวความคิด ปล่อยให้รู้สึกถึงพลัง สัมผัสถึงเสียงข้างในตัว ภาษามวยก็ว่าลดการ์ดลง คงความเปราะบาง สร้างโอกาสให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างไม่คาดหวัง

หลักสูตรปริญญาโทจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยนาโรปะนั้น เขาจัดให้นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ และชั้นปีที่ ๒ เข้า Maitri Retreat เป็นระยะเวลาติดต่อกันประมาณ ๑ เดือน โดยให้นักศึกษาปฏิบัติภาวนาในห้องไมตรีแต่ละห้องเป็นเวลา ๕ วัน แต่ละวันจะได้เข้าไปในห้อง ๒ ครั้ง สิริรวมยาวนานถึง ๒๕ วัน ส่วนนักศึกษาในชั้นปีที่ ๓ ซึ่งเพิ่งผ่านการฝึกงานภาคสนามจิตบำบัดมาแล้ว จะทำ Maitri Retreat ร่วมกันเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ ทำให้ตลอดสัปดาห์นั้นต่างคนต่างมักมีเรื่องราวมากมายมาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งสัปดาห์นั้นทุกคนจะนั่งสมาธิทุกวัน วันละอย่างน้อย ๒ ชั่วโมง และเข้าไปใช้เวลาฝึกปฏิบัติพลังเบญจพุทธคุณในห้องทั้ง ๕ นั้น ห้องละ ๑ วัน วันละ ๒ ครั้ง

ในหลายครั้ง ผู้เข้าร่วม Maitri Retreat ด้วยกันอาจสามารถบอกได้เลยว่าใครไปฝึกในห้องไหนมา เพราะแต่ละคน และแต่ละห้อง จะแสดงออกหรือเผยพลังออกมาในลักษณะอาการที่มีแบบแผน (แต่ก็อาจไม่มีแบบแผนก็ได้) แม้ว่าอาจจะมากน้อยต่างกันไป

ยิ่งถ้าการฝึกนี้เป็นการฝึกร่วมกันเป็นชุมชน เป็นสังฆะ แวดล้อมด้วยกัลยาณมิตร ก็จะทำให้ต่างเป็นสะท้อนซึ่งกันและกัน ยกระดับการเรียนรู้ร่วมกันได้

การฝึกพลังและปฏิบัติในห้องไมตรีนี้เอง ทำให้นักศึกษาหรือผู้ฝึกได้รู้จัก ได้เข้าใจตัวเอง เปิดใจและวางใจให้รับเอาผลหรืออิทธิพลของห้องเข้ามาสู่ตัว สามารถสร้างความเชื่อมโยงพลังในแง่ใดแง่หนึ่งกับตัวเอง

และเมื่อเขาเหล่านั้นรู้จักและเข้าใจความซับซ้อน ไร้ระเบียบในตัวเองมากพอ เขาก็อาจจะเรียนรู้ที่จะใช้พลังนั้นอย่างชาญฉลาดและเหมาะสม เพื่อพัฒนาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่น


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2550


สิ่งหนึ่งที่เป็นลักษณะเด่นของมหาวิทยาลัยนาโรปะ ที่เป็นมหาวิทยาลัยแนวพุทธทางตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา คือ ความรุ่มรวยไปด้วยสิ่งที่เราอาจเรียกว่า ของเล่น เครื่องมือ กระบวนการ หรือ หากจะเรียกให้ทันยุคก็คือ นวัตกรรมทางการเรียนรู้ ซึ่งก็คือช่องทางการพัฒนาการเรียนรู้อย่างรอบด้าน หรือเป็นบูรณาการของนักศึกษา ช่องทางเหล่านี้นำมาซึ่งคำอธิบายวิธีและวิถีการพัฒนาที่มีได้หลากหลายจริต รูปแบบและจังหวะ

เปรียบเทียบมหาวิทยาลัยแห่งนี้ในบางมุมก็อาจบอกว่าคล้ายกับประเทศไทยสมัยโบราณที่การเดินทางไปยังที่ต่างๆ ในโลกยังอาศัยเทคโนโลยีพื้นฐาน เช่น เรือ หรือยานพาหนะลากด้วยสัตว์ สมัยนั้นคาบสมุทรอินโดจีนเป็นเหมือนพื้นที่อันอุดมอันเป็นทางผ่านของสองอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ของเอเชีย คือ จีนและอินเดีย เราสามารถมองเห็นร่องรอยของชุดความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี รวมไปถึงแนวคิดความเชื่อเรื่องศาสนาและการเรียนรู้จากดินแดนทั้งสอง

มหาวิทยาลัยนาโรปะในปัจจุบันก็เหมือนอยู่ตรงกลางรอยเชื่อม หรือสะพานระหว่างหลายอารยธรรมเช่นกัน ทั้งจากวิทยาศาสตร์แนวใหม่ที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นจากวิทยาศาสตร์ยุคนิวตัน-เดส์การ์ตส์ จากวัฒนธรรมชนพื้นเมืองอินเดียนแดง และจากพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสายวัชรยาน ผ่านทางท่านเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย

ตัวอย่างของเครื่องมือหรือกระบวนการเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เกิดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรม อย่างเช่น การจัดนิเวศภาวนา (Eco Quest) พัฒนาขึ้นมาจากฐานพิธีกรรม Vision Quest ซึ่งเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านวัยจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ของชนพื้นเมืองอินเดียนแดงในทวีปอเมริกาดั้งเดิม ก่อนที่ชาวยุโรปจะอพยพเข้ามา

ด้วยตำแหน่งที่ตั้งมหาวิทยาลัยอยู่ใกล้สถานที่ทางธรรมชาติที่มีพลัง ทำให้การจัดนิเวศภาวนาเกิดขึ้นและเป็นไปได้ง่าย นักศึกษามีโอกาสได้ทดลอง ได้ผ่านประสบการณ์จากกระบวนการนี้ในที่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น อุทยานแห่งชาติแคนยอนแลนด์ ในรัฐยูท่าห์ หรือเมืองเครสโตน โคโลราโด

มีนวัตกรรมทางการเรียนรู้หนึ่งอันมาจากความเชื่อสายทิเบต และค่อนข้างมีเอกลักษณ์มากจนอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง ก็คือ ไมตรีรูม (Maitri Room) หรือห้องไมตรี อาจจะเรียกว่าเป็นห้องแห่งความเป็นมิตรก็ได้ ห้องไมตรีนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการฝึกพลังเบญจพุทธคุณทั้ง ๕ (Five Wisdom Energies Practice) (บางท่านได้แปลว่าพลังปัญจพุทธกุล หรือเบญจคุณ)

ห้องไมตรีนี้เกิดจากความสนใจของท่านเชอเกียม ตรุงปะ ที่ต้องการจะผสมผสานการบำบัดเยียวยาแนวร่วมสมัยให้เข้ากับคำสอนทางพุทธศาสนาสายวัชรยาน โดยออกแบบการฝึกด้วยการใช้ท่าทางเฉพาะ ภายในห้อง ๕ ห้อง ซึ่งแต่ละห้องออกแบบใช้สีต่างๆ กันทั้งหมด ๕ สี

พื้นฐานความคิดเรื่องนี้มาจากคำสอนเกี่ยวกับพลังเบญจพุทธคุณทั้ง ๕ อันเป็นคำอธิบายถึงแบบแผนพลังชีวิตต่างๆ ๕ ประการที่มีอยู่ทั้งในและนอกตัวเรา และแสดงออกมาในการดำเนินชีวิตของเราตลอดเวลา โดยพลังทั้ง ๕ นี้ เป็นพลังของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ทางวัชรยาน ใช้สัญลักษณ์แทนแต่ละพลังด้วยสีต่างๆ กัน ๕ สี บ้างจึงเรียกว่า ปัญญาห้าสี

พลังเบญจพุทธคุณทั้ง ๕ ในห้องไมตรีแต่ละห้องนี้ได้แก่ วัชระ (Vajra) รัตนะ (Ratna) ปัทมะ (Padma) กรรมะ (Karma) และพุทธะ (Buddha) ทว่า เมื่อพลังทั้ง ๕ มีด้านที่ให้คุณก็ย่อมจะมีแง่มุมที่ให้โทษเช่นกันเมื่อพลังนั้นอยู่ในภาวะที่กดดันสับสน เราลองมาสำรวจห้องไมตรีที่มีพลังเบญจพุทธคุณแต่ละอย่างไปทีละห้องด้วยกันครับ

พลังแรกคือ พลังวัชระ แทนด้วยสีน้ำเงิน พลังวัชระนั้นเปรียบดังอาวุธที่คมและแข็งแกร่งยิ่งกว่าเพชร เต็มไปด้วยความสามารถในการคิดวิเคราะห์และใคร่ครวญ มีพลังของการวิพากษ์วิจารณ์และสะท้อนความเห็น เป็นลักษณะของความกระจ่างชัดเหมือนน้ำที่สะท้อนฉายภาพสิ่งต่างๆ ในสภาวะที่ปกติ พลังวัชระคือการมีความคิดการตัดสินใจว่องไว ผ่องใส ปราศจากอคติ แต่ในภาวะที่สับสน กลับเป็นการยึดมั่นกับความคิดของตัวเองสูง ถือความคิดของตัวเป็นใหญ่ และมีโทสะ

พลังต่อมาคือ พลังรัตนะ แทนด้วยสีเหลือง เป็นพลังที่โอบอุ้มและหล่อเลี้ยง มีความอ่อนโยนและการให้โดยไม่มีข้อแม้ การเผื่อแผ่แบ่งปัน เปรียบได้ดั่งธาตุดินที่เป็นแหล่งบ่มเพาะให้พืชพันธุ์งอกเงยเติบโต ในสภาวะปกติพลังรัตนะจะเป็นความใจกว้าง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่เมื่ออยู่ในสภาวะที่สับสนจะตามใจตัวเอง ต้องการครอบครอง เป็นความเกินพอดี เย่อหยิ่งโอ้อวด และโลภ

พลังในลำดับต่อมาคือ พลังปัทมะ แทนด้วยสีแดง เป็นพลังของเสน่ห์และมีแรงดึงดูด มีความสามารถในการใช้ญาณทัศนะ พลังปัทมะจึงเสมือนกับธาตุไฟที่มีความเคลื่อนไหววูบวาบ ดึงดูดสายตาและน่าสนใจ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเผาไหม้ทำลายสิ่งต่างๆ ได้ ในสภาวะปกตินั้น พลังปัทมะจะมีคุณลักษณะการรับฟัง การเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน สามารถสังเกตและรู้สึกได้ถึงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่ออยู่ในสภาวะที่สับสน พลังปัทมะจะเป็นความรู้สึกที่ไม่มั่นคง เจ้าราคะ ยึดติดกับการจมดิ่งในอารมณ์เข้มข้นแบบใดแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นตื่นเต้น สุขหรือโศกเศร้าก็ตาม

สำหรับพลังต่อมาแทนด้วยสีเขียว คือ พลังกรรมะ เป็นพลังของความกระตือรือร้น ไม่หยุดอยู่นิ่ง ชอบประดิษฐ์และสร้างสรรค์ เป็นการได้ลงมือกระทำ พลังกรรมะจึงสัมพันธ์กับธาตุลม ลมที่พัดพาความชุ่มชื้นมาให้ หรือกลายเป็นลมพายุรุนแรงได้ เพราะในสภาวะปกตินั้น พลังกรรมะเป็นนักปฏิบัติ มีความมั่นใจในความสามารถ เห็นสถานการณ์ในรอบด้านจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างเหมาะสม แต่เมื่ออยู่ในสภาวะที่สับสนจะกลายเป็นเอาแต่ใจตนเป็นใหญ่ มีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว และอิจฉาริษยา

พลังสุดท้ายในเบญจพุทธคุณคือ พลังพุทธะ ถูกแทนด้วยสีขาว เพราะมีคุณลักษณะดั่งเป็นพื้นที่ว่าง ช่วยทำให้เกิดการไหลเลื่อน และทำหน้าที่รองรับพลังอื่นๆ ทั้ง ๔ พลังพุทธะมีลักษณะเปิดรับ สามารถรองรับและยอมรับความเป็นไปได้ต่างๆ ในสภาวะปกติ พลังพุทธะจะมีความสุขุมรอบคอบ เป็นมิตร พึงพอใจในการเป็นอยู่อย่างธรรมดา แต่ในสภาวะที่สับสนจะซบเซาเฉื่อยชาและน่าเบื่อ ขี้อายและไม่กล้าลองอะไรใหม่ๆ

พลังเบญจพุทธคุณนี้ไม่ได้เป็นการจำแนกคนออกเป็น ๕ ประเภทนะครับ (แม้ว่าบางคนจะมีลักษณะเข้ากั๊นเข้ากันกับบางพลังก็ตาม) เพราะว่าเราหาได้มีเพียงคุณลักษณะของพลังใดอย่างเดียว แต่ประกอบกันขึ้นจากพลังทั้ง ๕ เพียงแต่ว่าจะมีลักษณะใด มีคุณสมบัติไหนปรากฏเด่นชัดมากกว่าในแต่ละช่วง แต่ละเวลา แต่ละขณะของชีวิตเราเท่านั้น

สีทั้ง ๕ นี้ นอกจากเป็นสัญลักษณ์แทนพลังเบญจคุณ อันเปรียบเสมือนพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ของวัชรยานแล้ว มหาวิทยาลัยนาโรปะยังมีธงสีทั้ง ๕ โบกสะบัดอยู่หน้ามหาวิทยาลัยอีกด้วย เสมือนว่าธงเป็นตัวแทนสื่อถึงปรัชญาการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้มุ่งสู่ปัญญาอันสมดุลทั้งกายและใจ สมดุลที่กลมกลืนผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและพุทธศาสนาจากตะวันออก

สำหรับการฝึกปฏิบัติในห้องไมตรีแต่ละสี เพื่อพัฒนาพลังเบญจพุทธคุณแต่ละด้านเป็นอย่างไรนั้น โปรดอดใจรอติดตามต่อในสัปดาห์หน้าครับ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ หมาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 3 มิถุนายน 2550


หนึ่งในบทสนทนาที่ทำให้ทราบอายุคนที่เราสงสัย คือ การถามว่าตอนเด็กๆ คนนั้นเล่นของเล่นหรือเกมอะไร ดาราหรือวงดนตรีไหนเป็นไอคอนประจำยุค

ผมอดหัวเราะตัวเองไม่ได้ เมื่อยามดูหนัง “แฟนฉัน” กับเพื่อน เพราะมารู้เนื้อรู้ตัวตอนขำที่เห็นตัวเองในหนังสวมบทบาทเป็นฮุ้นปวยเอี๊ยง ผนึกลมปราณไหมฟ้า สู้ต๊กโกวบ้อเต้ก หรือ ลม ฟ้า ฝน ไฟ (ฮา) ร้องเพลง ฮาๆ ฮาๆๆๆ ฮาๆ ... ปิ้ว ๆๆๆ ทำนองกระบี่ไร้เทียมทาน หรือไม่ก็พยักเพยิดกับเพื่อนตอนเห็นขนมหรือของเล่นยอดฮิตโผล่ขึ้นมา อย่างเช่น หมากฝรั่งรูปบุหรี่ตราแมว กล่องสีดำและแดง นับว่าหนังประสบความสำเร็จไม่น้อยในการจับเอาของที่มีคุณค่าความหมายทางอารมณ์หรือจิตใจของคนในรุ่นกว้างๆ รุ่นหนึ่งมานำเสนอ

อีกความทรงจำอันแสนหวานที่หนังช่วยเตือน คือ การเริ่มเข้ามาของเกมกด จำได้ว่าช่วงยุคนั้นในหนังเป็นระยะเวลาที่บรรดาเกมกดสารพัดรูปแบบปรากฏตัว ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาคาสิโอ ที่มีเกมเครื่องบินยิงยานอวกาศรูปคล้ายดาวเสาร์ เสียงตึ๊ดๆ เพราะจับใจ แถมมีจอสีฟ้าสวยราวมีมนต์สะกดให้เด็กทุกคนในห้องอยากได้ เกมกดสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีเกมประมาณโดดร่ม ดำน้ำหลบปลาหมึกเก็บสมบัติ หรือคิงคอง ที่ต้องกระโดดข้ามถังที่กลิ้งลงมาเพื่อไปช่วยเจ้าหญิง

เรียกว่าติดกันงอมแงมทั้งเมือง ทั้งเกมแบบเล่นที่บ้าน ใช้ถ่าน เกมกด เกมบอย ต่อทีวี หรือเกมตู้หยอดตังค์ที่ผิดกฎหมาย พวกเราชวนกันไปเล่นจนโดนปิดไปทีละร้านสองร้านจนหมด

ผมเองรู้สึกคุ้นๆ ราวกับว่ายังติดปลายนิ้วอยู่เลย เคยเป็นเจ้าของอยู่หลายเครื่อง หลายแบบ รวมไปถึงเครื่องอาตาริ ๒๖๐๐ พร้อมจอยสติ๊กสีดำขนาดเขื่อง เกมพวกแพ็คแมน, Asteroids, หรือ Space Invaders นี่สุดยอดไปเลย เรียกว่าเล่นจนเมื่อยมือไปหมด

ที่จำได้แม่นมากๆ อีกอย่าง คือ ผมไม่กล้าซื้อเครื่องพวกแฟมิคอมมาเล่น เพราะกลัวมาก กลัวติด รู้เลยว่าถ้ามีสักเครื่องนี่ ต้องเสร็จเจ้ามาริโอแน่ๆ คงไม่เป็นอันทำอะไร ทั้งวันนั่งติดอยู่หน้าจอทีวีร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอนที่บ้านถามว่าเอาสักเครื่องไหมต้องกลั้นใจตอบอย่างแรงว่าไม่เอา นึกในใจขออย่าให้ถามบ่อยๆ เพราะกลัวมาโดนตอนอยากเล่นแรงๆ ขึ้นมาคงตกลงปลงใจบอกโอเคไปก็เป็นได้

ครั้นต่อมาเมื่อได้ครอบครองเครื่องคอมพิวเตอร์จอมอนิเตอร์สีเดียว สีเขียวเหมือนจอแมททริกซ์ของนีโอแล้ว นอกจากผมจะใช้ทำรายงาน พวกเวิร์ดสตาร์ เวิร์ดราชวิถี เวิร์ดจุฬา อะไรทำนองนั้นแล้ว ผมยังไม่วายเล่นเกมต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะเกมจำพวกผจญภัย ยุคแรกๆ ที่ต้องพิมพ์ภาษาอังกฤษสื่อสารอย่างเดียว ใช้จินตนาการสูงว่าตัวละครเดินไปไหน พบอะไรบ้าง หรือยุคถัดมาที่เป็นกราฟฟิก เช่น King’s Quest หรือ Myst

ผมคงจะโชคดีไม่น้อยที่มีช่วงติดเกมคอมพิวเตอร์และวิดีโอเกมสั้นๆ เท่านั้น อาจเป็นเพราะเบื่อง่าย รู้สึกมันไม่ท้าทายสมอง หรือไม่ชอบเกมยิงๆ ฆ่าๆ กันเสียเท่าไหร่ ยิ่งแบบเลือดกระฉูดท่วมจอ แบบควักหัวใจคู่ต่อสู้สดๆ มาบีบจนพิกเซลกระจายนี่ยิ่งไม่ไหว

แต่ผมพบว่าสถานการณ์การติดเกมของเด็กๆ และวัยรุ่นปัจจุบันน่าเป็นห่วงกว่ามาก อย่างงานวิจัยของสถาบันรามจิตติ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกระทรวงวัฒนธรรม พบว่า เด็กตั้งแต่ประถมถึงอุดมศึกษา ถัวเฉลี่ยแล้วใช้ชีวิตกับสื่อเทคโนโลยี ถึงหนึ่งในสามของชีวิต! ใช้เวลาเล่นเกม ๒ ชั่วโมงต่อวัน นี่ยังไม่นับติดโทรศัพท์อินเตอร์เนท ฟังเอ็มพีสาม อื่นๆ รวมกันแล้วอีก ๖ ชั่วโมงต่อวัน

จริงอย่างที่ ดร. อมรวิชช์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติพูดกระมังว่า เด็กไทยเหมือน “ตกอยู่ในวงล้อมสื่อร้าย”

หากไม่พูดถึงตัวเลขค่าเฉลี่ยต่างๆ แต่มาดูของจริง เป็นรายๆ ไป ผมเองก็มีโอกาสดีได้พูดคุย แลกเปลี่ยน และเรียนรู้จากเด็กๆ อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาปีหนึ่งหรือปีท้ายๆ ดูเหมือนสถานการณ์ก็ไม่ค่อยแตกต่างกันนัก

ถามว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัยของเรามีความจำเป็นต้องช่วยหาคำตอบหรือทางออกด้วยหรือไม่ สำหรับในชั้นเรียนของผมนั้น ทั้งในและนอกชั่วโมงเรียน เราเคยคุยกันเรื่องการติดเกมติดเน็ทกันอยู่หลายครั้ง เพราะเป็นปัญหาที่ใหม่ ทันการณ์ และเป็นจริงเอามากๆ เป็นปัญหาสำคัญในชีวิตของนักเรียนนักศึกษาหลายคน บางคนมาเรียนสาย เมื่อถามดูก็บอกว่าเพราะเล่นเกมดึก บ้างก็ไม่ได้อ่านหนังสือหรือทำการบ้านก่อน ซักเอาก็ได้ความว่าเล่นเกมกับเพื่อนเหมือนกัน

ผมได้ยินคำให้การหรือคำสารภาพอันน่าเจ็บปวดจากนักศึกษาหลายคน เจ้าตัวบอกว่ามีทุกข์กับนิสัยเช่นนี้ของตนเอง อยากจะแก้แต่แก้ไม่ได้ แก้ไม่หายเสียที บางคนถึงขนาดเคยเปรียบเทียบว่ามันเหมือนกับติดยา อาจจะไปกด ไปหลบมันได้บ้างสักระยะหนึ่ง แต่พอสบโอกาสก็หลุดกลับเข้าไปหามันอีก ผมรับรู้ถึงความทุกข์ทรมานของการไม่สามารถพาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่เราไม่อยากอยู่ได้ นึกเห็นใจนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ขาดเครื่องมือในการดูแลตนเอง

ในชั้นที่ผมสอนจึงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้คู่การดูแลจิตใจตัวเอง เริ่มต้นเปิดเทอมนักศึกษาจะไปฝึกอบรมสมาธิวิปัสสนาแบบเข้มกัน ก่อนเริ่มชั้นเรียนแต่ละครั้งเราจะภาวนาทำสมาธิเจริญสติกันเสมอ ระหว่างการแลกเปลี่ยนเราใช้สุนทรียสนทนา (Dialogue) ให้ได้พูดและรับฟังเสียงของเพื่อนและของตัวเองอย่างลึกซึ้ง ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อให้เกิดสติ รู้ตัวอยู่ในปัจจุบัน

มีอยู่กรณีหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะนักศึกษาผู้เคยติดเกมงอมแงมคนหนึ่งบอกว่าเพิ่งเลิกได้ เขาบอกว่าเกมคอมพิวเตอร์เป็นทางออกลวงๆ ออกจากโลกความเป็นจริงอันดูแล้วอาจจะไม่น่าอภิรมย์ใบนี้ เขาเล่าว่าปัจจุบันเขาเห็นแล้วว่าเล่นไปก็เท่านั้น ต้องหันกลับมายอมรับโลกความเป็นจริงข้างนอกดีกว่า ข้างนอกก็เหนื่อยพอดูอยู่แล้ว ยังต้องไปเหนื่อยในโลกไซเบอร์อีก

นักศึกษาคนเดิมบอกว่า แม้สติไม่มีอิทธิพลโดยตรง แต่เป็นเครื่องมือที่สำคัญ เพราะทำให้เรารู้ว่าเราเล่นเกม “ตลอด ๑๒ ปีที่ผ่านมา ผมพูดคุยกับหมู่เพื่อนฝูง ญาติสนิท มิตรสหาย ว่า ‘ก็เล่นเกมอยู่’ แต่ใจจริงขณะนั้นไม่ได้คิดเลยว่าสิ่งที่เราเล่นคือเกม แต่กลับเชื่อว่านั่นเป็นตัวเราจริงๆ หรือส่วนหนึ่งของตัวเราที่งอกเงยออกมา”

เขาบอกเล่าประสบการณ์ว่าขณะเล่นเกม ความสนใจทั้งหมดจะทุ่มไปควบคุมตัวละครที่สร้างขึ้น จึงเรียกว่า “เกมดูดวิญญาณ” เมื่อเลิกเล่นก็ยังติดว่าเมื่อกี้เป็นตัวเรา คุยโม้ว่าเราอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สติจะเป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมตัวเราที่กระจัดกระจายกลับมาสู่ตัวจริงแท้ ดังนั้น “สติกับการเลิกเล่นเกม” ของเขาไม่ได้เกิดขณะเล่นเกม แต่เกิดขึ้น ณ วันหนึ่ง หลังเล่นเกมเสร็จ และพบว่าเมื่อกี้ไม่ใช่ตัวเขา แต่แค่เล่นเกมเท่านั้น

คนติดเกมส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ตัวหรอกว่าตัวเองเล่นเกม จะเลิกเล่นเกมได้คงต้องเริ่มที่รู้ก่อนว่าเราเล่นเกม” (ฟังดูวิปัสสนาจัง น่าชื่นชมแทนอาจารย์สอนกัมมัฏฐานของเขา)

นักศึกษาคนนี้ยังบอกตอนท้ายอีกด้วยว่า “รู้สึกตัวเองมีเหตุผล ๑๐๘ ที่จะเล่นเกม แล้วก็มีเหตุอีก ๑๐๘ ที่อยากจะเลิกเล่นเกม แต่สิ่งที่ทำให้เลิกเล่นเกมได้จริงๆกลับไม่ใช่เหตุผลซะทีเดียว ตอนนี้ผมเห็นเกมแล้ว รู้สึกมันก็ ทื่อๆ ทู่ๆ ธรรมดา ไม่ได้คาดหวังด้วยว่าเลิกแล้วชีวิตจะดีขึ้น แค่กำลังชื่นชมกับปัจจุบันขณะที่เพิ่มขึ้นทุกวันๆ” เหมือนกับเพื่อนของเขาคนหนึ่งที่กำลังจะเลิกเล่นเกม ที่บอกกับเขาว่า “เออ วันนึงทำอะไรได้ตั้งเยอะเลยว่ะ”