ตีพิมพ์ในคอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันที่ 18 มิถุนายน 2550


ในสถานการณ์หนึ่ง แต่ละคนจะเรียนรู้ได้เร็วช้าต่างกัน ทว่าหากสถานการณ์เก่าภาวะเดิมนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ภาวะใหม่ อาจกลายเป็นว่าคนที่เคยเรียนรู้ได้ช้ากลับสามารถเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี สาเหตุเพราะว่าเราแต่ละคนนั้นมีศักยภาพ มีความสามารถและรูปแบบในการเรียนรู้ได้แตกต่างกันในภาวะที่ต่างกันออกไป

การเรียนการสอนในห้องเรียนโดยปกติทั่วไป เรามักจะจัดแบบเหมาโหล เปรียบเทียบกับการตัดเย็บเสื้อผ้าก็คือ ตัดเสื้อขนาดเดียวแต่ให้ใช้สำหรับทุกคน หรือที่ฝรั่งเรียกว่าเป็นแบบที่ตัดคุ้กกี้ (Cookie cutter) เพราะมีพื้นฐานแนวคิดความเชื่อว่าผู้เรียนแต่ละคน (อันเปรียบเสมือนคุ้กกี้แต่ละชิ้นที่ผลิตออกมาจากที่ตัดอันเดียวกัน) เหมือนกันหมดทุกประการไม่ว่าจะเป็นความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ความสามารถ หรือความสนใจ

แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ อย่าว่าแต่สำหรับห้องเรียนใดห้องเรียนหนึ่งหรือนักเรียนกลุ่มหนึ่งเลย ลำพังเพียงเราแต่ละคนก็ยังมีความพร้อมไม่เหมือนกันในการเรียนเรื่องเดียวกันในเวลาต่างกัน

การเรียนการสอนในปัจจุบันโดยมากนั้นเป็นกระบวนการที่มีรูปแบบเดียว จึงต้องพยายามสร้าง “บทเรียน” อันมีลักษณะกลางๆ เหมือนกับสอนตรงค่าเฉลี่ย ให้ผู้เรียนส่วนใหญ่หรือผู้เรียนทั้งหมดในห้องเรียนพอจะรับได้ พอจะเข้าใจได้ บทเรียนหรือความรู้นั้นจึงต้องเป็นเรื่องราวเป็นชุดประสบการณ์ที่แบนๆ เรียบๆ ไม่ค่อยมีหลายมิติเท่าไหร่นัก ว่าด้วยเนื้อหาใจความสำคัญหลัก ทำให้รูปแบบของกระบวนการเรียนที่ปรากฏคือ มีผู้สอนยืนบรรยายเนื้อหาความรู้หน้าชั้น และผู้เรียนก็ได้รับประสบการณ์คล้ายๆ กัน คือนั่งตาปรือ ฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง

สถาบันการศึกษาทั่วไปมักเป็นการนำเสนอบทเรียนที่มีลักษณะกลางๆ เป็นเนื้อหาความรู้ว่าด้วยเทคนิควิชาอันเป็นเรื่องนอกตัวผู้เรียน แต่ละวันถูกนำเสนอโดยไม่สนใจว่าผู้เรียนอยู่ในภาวะเช่นไร จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ผู้เรียนไม่รู้สึกว่าความรู้ที่ได้มีความสัมพันธ์และสำคัญกับตัวเองแต่อย่างไร

แต่นั่นคือปัจจุบันที่กำลังจะเป็นอดีต

ทิศทางและความก้าวหน้าในเรื่องการเรียนรู้ของโลกยุคปัจจุบันมุ่งไปสู่การพัฒนาสมดุลของการเรียนรู้ภายนอกตัวกับในตัว กล่าวคือ หลอมรวมความรู้นอกกายนอกตัวเข้ากับการเรื่องรู้กายรู้ใจตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่ได้ชื่อว่าจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) โดยให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับภาวะและพื้นที่ของแต่ละคน

หนึ่งในความเชื่อพื้นฐานของการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาคือ คนเราแต่ละคนมีการเรียนรู้ต่างกันในภาวะที่ต่างกัน และภาวะที่ต่างกันนี้ก็เป็นความต่างจากมุมมองของความคุ้นเคยหรือความปลอดภัยของแต่ละบุคคลด้วย ภาวะดังว่านี้อาจแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ พื้นที่สบาย (comfort zone) เป็นภาวะที่เรารู้สึกคุ้นเคย ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สบายและปลอดภัย (“พื้นที่การเรียนรู้” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่พื้นที่ทางกายภาพแต่อย่างเดียว อาจเป็นรูปแบบหรือลักษณะของกิจกรรมหรืออื่นๆ) ระดับต่อมาคือ พื้นที่เสี่ยง (risk zone) เป็นภาวะที่เรารู้สึกระแวดระวัง รู้สึกถึงความสุ่มเสี่ยง ไม่มีความคุ้นเคย แต่ยังถือว่าพอรับได้ และระดับสุดท้ายคือ พื้นที่อันตราย (danger zone) เป็นภาวะที่เรารู้สึกไม่มีความปลอดภัย


ในพื้นที่สบายนั้น ย่อมแน่นอนว่ามนุษย์เราสามารถเรียนรู้บางอย่างได้ดี แต่ก็มักจะเป็นความรู้คนละชุดกันกับความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่อันตราย การมีสติอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือในพื้นที่ที่ทำให้เรารู้สึกไม่มั่นคงนี้เองจะทำให้เรามีโอกาสการเรียนรู้มาก โดยเฉพาะการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเรา หรือความเป็นตัวเราเอง

ฉะนั้น สำหรับการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาแล้ว สิ่งที่เป็นไปได้ไม่ยากนัก คือการจัดสภาพแวดล้อมหรือบทเรียนที่แม้จะเป็นรูปแบบเดียว แต่มีหลายมิติ สภาพการณ์ดังว่าจึงเป็นภาวะที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละคน และภาวะที่ต่างกันทำให้มีความหมายต่อผู้เรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยต่างคนก็สามารถออกแบบหรือจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับตนเองได้อีกด้วย

ตัวอย่างเช่น การฝึกอบรมของ Earth Expeditions ซึ่งมหาวิทยาลัยไมอามี่ ที่สหรัฐอเมริกา ได้ส่งครูชาวอเมริกันสิบกว่าคนมาเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ และทางผู้จัดในไทย (ได้แก่ สถาบันขวัญเมือง มูลนิธิโลกสีเขียว และมหาวิทยาลัยมหิดล) ได้ใช้กระบวนการเรียนรู้ทางจิตตปัญญา (Contemplative Learning) เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคน

กล่าวคือ ในกระบวนการทั้งหมดเราได้สนับสนุนเชื้อเชิญให้ผู้เรียนได้มีสติอยู่กับตัวเอง อยู่กับใจ อยู่กับความรู้สึกของตนเอง จากนั้นก็เชิญชวนให้แต่ละคนก้าวออกมาจากพื้นที่ที่คุ้นเคยเดิม ตามที่ตนเองได้มีโอกาสเลือกเอง ไม่ควบคุมบังคับ

หนึ่งในกิจกรรมเหล่านั้นคือการให้โอกาสแต่ละคนได้อยู่คนเดียวในป่าธรรมชาติที่ดอยเชียงดาว กิจกรรมนี้ได้เกิดผลต่อผู้เรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนรู้สึกเป็นเรื่องง่ายๆ สบายๆ เรียกว่าอยู่กลางพื้นที่ปลอดภัยหรืออยู่ในภาวะสบายเลย ในขณะที่อีกหลายคนกลับรู้สึกว่าตนเองออกไปอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงหรือภาวะเสี่ยงเต็มๆ เกือบจะพลัดเข้าไปสู่ภาวะอันตรายเสียด้วยซ้ำ แต่ละคนได้เลือกว่าออกไปไกลหรือนานเท่าใดจึงจะเป็นการออกจากภาวะหรือพื้นที่สบาย ไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยไม่ใช่พื้นที่อันตราย (จนเกินไป)

ยิ่งกิจกรรมนี้ผนวกด้วยการเชิญชวนให้ไม่เอาอะไรไปทำในป่า เช่น ไม่เอาหนังสือไปอ่าน หรือไม่เอาบันทึกไปจด หรือไม่เอาอาหารไปกิน ... การอยู่ว่างๆโดยไม่ทำอะไรนี่ก็เช่นกัน เป็นเรื่องปอกกล้วยเข้าปากสำหรับบางคน แต่ถึงขนาดเข็นครกขึ้นภูเขาสำหรับคนอื่นๆ

สิ่งที่พบหลังจากแต่ละคนกลับออกมา หลายคนสะท้อนความเห็นออกมาอย่างไม่น่าเชื่อว่ากิจกรรมง่ายๆ เท่านี้จะทำให้เขาได้ค้นพบตัวเอง รู้จิตรู้ใจตัวเอง และเห็นศักยภาพของตนเองมากขึ้น

การเรียนรู้เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเทคนิควิธีการเรียนรู้ที่จะนำพามาบอกเล่าในพื้นที่คอลัมน์นี้ (ที่จะพบกันทุกวันอาทิตย์) ว่าด้วยเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแวดวงของการเรียนรู้ทั้งไทยและเทศ เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่อยู่ที่พรมแดนความรู้ในเรื่องของการเรียนรู้ อาจเป็นเทคนิควิธีแบบใหม่และอาจเป็นการให้ความหมายใหม่กับเทคนิควิธีการเรียนการสอนแบบเดิม เพื่อขยายมุมมองของเราทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น