ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
กระบวนการอะไรเอ่ย ที่บรมศาสดาผู้ประกาศศาสนาซึ่งมีผู้นับถือหลายร้อยล้านคนอย่างพระพุทธเจ้า ปรมาจารย์ด้านองค์กรเรียนรู้จาก MIT สถาบันชั้นนำของโลก อย่างออตโต ชาร์มเมอร์ และ สุดยอดนักเขียนนักปรัชญาที่วางรากฐานของวิทยาศาสตร์ที่ใส่ใจมิติสุนทรียภาพและจริยธรรมอย่างโยฮันน์ วอล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ มีและใช้ร่วมกัน?
ใบ้ให้ว่าเป็นกระบวนการสำคัญที่จิตตปัญญาศึกษานำมาใช้เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ หากขาดหายไปก็ไม่สามารถเรียนรู้ได้ ถึงแม้จะมีแต่ถ้าคุณภาพไม่ดีก็ยากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (transformation) ได้ เป็นกระบวนการแรกๆ ที่เราต้องฝึกในการอบรมยกระดับการเรียนรู้ของปัจเจก การอบรมพัฒนาองค์กร (Organization Development) หรือในชั้นเรียนจิตตปัญญา ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกหัด ก่อนที่เราจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน
ก่อนที่จะเรียนแนวคิดทฤษฎี ก่อนที่จะเรียนเทคนิคขั้นสูง กระบวนการที่เราต้องฝึกก่อน คือ สังเกต สังเกต สังเกต
ที่เขียนสามคำ ไม่ใช่เพราะพิมพ์เกิน แต่เพื่อให้เห็นว่าการสังเกตที่ว่านี้แตกต่างจากการสังเกตอย่างที่เรามักจะคุ้นเคยกัน โดยเฉพาะในกระบวนการวิทยาศาสตร์ตะวันตกที่ตั้งอยู่บนแนวคิดเดการ์ต-นิวตัน
ปรมาจารย์ต่างๆ ข้างต้นล้วนให้ความสำคัญกับเรื่องการสังเกตและการรับรู้ รวมทั้งให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับผู้สังเกตด้วย
ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์พยายามสร้างเครื่องมือที่ขยายผัสสะการรับรู้ของเรา ให้เห็นไกลๆ เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble) หรือเห็นของอนุภาคขนาดเล็กที่วิ่งด้วยความเร็วสูงๆ เช่น เครื่องชนอนุภาคขนาดใหญ่ (Large Hadron Collider, LHC) คนกลุ่มนี้เชื่อว่าเครื่องมือสำคัญที่สุดในการสังเกตคือตัวเราเอง ดังที่เกอเธ่เคยกล่าวไว้ว่า
“มนุษย์นั้นรู้จักตนเองเพียงแค่เท่าที่เขารู้จักโลก เขารับรู้ตัวเขาเฉพาะในขอบเขตของโลก และรับรู้โลกเฉพาะในขอบเขตของตัวเขา สรรพสิ่งใหม่ใดๆ หากได้เพ่งพิจารณาด้วยใจที่ใคร่ครวญแล้ว จะเกิดอวัยวะแห่งการรับรู้ใหม่ในตัวเรา”
อวัยวะใหม่ที่ปรากฏไม่ใช่เรื่องแปลก เราสามารถจัดเงื่อนไขปัจจัยที่เอื้อให้เกิดขึ้นเองได้ ไม่ต้องใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรม อวัยวะแห่งการรับรู้ใหม่นี้น่ามหัศจรรย์ เพราะทำให้เราเข้าไปสัมผัสกับปัจจุบันขณะ กับความเป็นไปได้อันไม่จำกัด
หากไม่เกิดอวัยวะใหม่ เราก็สร้างและปฏิสัมพันธ์กับโลกในรูปแบบเดิม แม้จะดีขึ้นสักเพียงใดก็ตาม แต่ก็เป็นแบบเดิม ไม้บรรทัดที่วัดได้แต่ความยาว แม้จะยาวขึ้น ละเอียดขึ้น ก็เป็นไม้บรรทัด ไม่สามารถมองเห็นมุมใหม่ของเทอร์โมมิเตอร์ที่วัดอุณหภูมิ ตาชั่งที่วัดน้ำหนักได้
กระทั่งเรื่องยากๆ ที่สุดในชีวิต เรื่องความทุกข์ เดือดเนื้อร้อนใจ เราก็สามารถแปรเปลี่ยน (transform) ได้ด้วยอวัยวะใหม่ ผ่านการสังเกตมองความทุกข์ด้วยใจที่ใคร่ครวญ และอย่างเนิ่นนาน ง่ายๆ อย่างนี้เอง
แต่มนุษย์ก็ไม่กล้า หรือไม่สามารถ สังเกตให้เป็นและนานพอ อาจเพราะมัน “อยู่ยาก” เพราะไม่รู้ทิศรู้ทางว่าจะดูจะสังเกตไปทำไม หรือเพราะเราไม่มีเครื่องมือ เราจึงมักวิ่งหนีไปหาไปดูอย่างอื่นที่ “อยู่ง่าย” กว่า อย่างไปดูหนัง ฟังเพลง ชอปปิ้ง เที่ยว เล่นเกม fb อินเทอร์เน็ต แม้กระทั่งออกกำลังกาย แต่พอทำเสร็จกลับมา (แอบ) ดู โดยหวังลึกๆ ว่ามันจะหาย (ทุกข์) แต่ก็มักไม่ได้เป็นเช่นนั้น
แบบฝึกหัดง่ายๆ ของการฝึกสังเกต ฝึกขยายศักยภาพการรับรู้ ทางตา ทางหู ทางกาย ทางใจ โดยการปรับเรื่องมุมมอง ระยะทาง ระยะเวลา หรือทีท่าของใจที่ใส่ให้กับการสังเกต จึงมีผลต่อการรับรู้ ต่อการเรียนรู้ ต่อการอยู่ร่วมและดูแลความทุกข์ของเราอย่างไม่น่าเชื่อ
คนที่คิดว่าตนเองหรือคนอื่นเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เปลี่ยนแปลงยาก อาจเพียงเพราะเขาเหล่านั้นยังไม่เคยฝึกฝน เพื่อการเฝ้ามองอย่างเนิ่นนานด้วยใจที่ใคร่ครวญ ยังไม่เกิดอวัยวะใหม่ เท่านั้นก็เป็นได้
Subscribe to:
Posts (Atom)