ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 กันยายน 2551


ลูกเจี๊ยบที่เจริญเติบโตในไข่ถึงระยะหนึ่งต้องเจาะเปลือกไข่ออกมาหากินด้วยตนเอง

หนอนในรังดักแด้ก็เช่นกัน ต้องออกจากรังหากต้องการเป็นผีเสื้อที่งดงาม

แต่ทางออกและทางเลือกในสถานการณ์ของการเมืองไทยปัจจุบัน ซึ่งต่างฝ่ายที่เผชิญหน้าบอกว่ามีให้แก่กันนั้น ดูเหมือนแทบไม่มีช่องให้ออก ไม่มีทางให้เลือก เพราะมันคับแคบอยู่ในกรอบความคิดเดิมๆ ความเชื่อเดิมๆ ต่างมองว่าฝ่ายตนถูกต้องเสียทั้งหมด ฝ่ายตรงข้ามผิดก็ผิดทั้งหมด ต่างตั้งเป้าว่าสิ่งที่ควรเกิดขึ้น คือ ฝ่ายตนชนะอย่างเด็ดขาด ในที่อีกฝ่ายแพ้อย่างหมดรูป

สังคมไทยตอนนี้จึงเสมือนลูกไก่ที่ดิ้นขลุกๆ ขลักๆ อยู่ในเปลือกอันคับแคบ เหมือนหนอนผีเสื้อที่จะมีศักยภาพในการโบยบินได้อย่างอิสระ แต่ทนบิดไปบิดมาอยู่ในรัง

หากพวกเราต้องการออกจากปัจจุบันอันอึดอัดคับแคบเช่นนี้ สิ่งที่เราพึงกระทำและเราทุกคนสามารถทำได้มีอยู่ ๒ อย่าง

๑) พวกเราแต่ละคนต้องสร้าง “จินตนาการที่ใหญ่พอ” พอที่จะทำให้ทุกคนเกิดฉันทะ สร้างแรงบันดาลใจ จินตนาการนี้ต้องงดงาม เป็นจินตนาการถึงความเป็นไปได้ของการอยู่ร่วมกันที่เคารพในคนทุกคน ให้ทุกคนมีเกียรติมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เป็นไปได้ไหมว่าเราร่วมกันมีจินตนาการอันยิ่งใหญ่พอที่จะพาเราทะลุทะลวงออกมาจากทางตันทางการเมือง เป็นจินตนาการที่ทำให้หลายๆ คน (ยิ่งทุกคนยิ่งดี) ได้เป็นวีรบุรุษวีรสตรีของชาติ (National Heroes and Heroines) ไม่ว่าจะเป็นใคร เป็นคุณทักษิณ คุณพจมาน คุณสมัคร คุณเนวิน คุณสุริยะใส คุณจำลอง คุณสนธิ คุณสมศักดิ์ คุณสมเกียรติ ตำรวจ ทหาร พธม. นปช. คนเล็กคนน้อยทั้งหมด ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะใส่เสื้อสีอะไร ไม่ว่าเดินไปไหนมีแต่คนทักทาย มีแต่คนยิ้มให้ ยกมือไหว้ รับไหว้กันด้วยน้ำใสใจจริง คนในบ้านเลิกทะเลาะกัน เห็นไม่เหมือนกันแต่ก็รักกันเหมือนเดิมได้

อนาคตที่งดงาม มีสันติภาพ และมีพลังเช่นนี้เท่านั้นจึงจะสามารถดึง สามารถนำพา ผู้คนออกจากปัจจุบันเช่นที่เราเผชิญอยู่ได้

๒) พวกเราแต่ละคนต้องมี “จิตที่ใหญ่พอ” พอที่จะสร้างและรองรับจินตนาการร่วมของเรา อนาคตที่ยิ่งใหญ่จะสร้างขึ้นได้ก็ต้องการคนที่มีจิตใจที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน ศาสนาสถาน ดังเช่น วัด มัสยิด โบสถ์ที่งดงามอลังการได้ก็เพราะมีศาสนิกชนผู้ทุ่มเททั้งกายและใจร่วมกันสร้าง

หากเราต้องการอนาคตที่ยิ่งใหญ่และงดงาม เราจะสร้างมันขึ้นมาด้วยจิตที่คับแคบและหดหู่ได้อย่างไร เพราะอนาคตเช่นนั้นต้องสร้างด้วยจิตที่ว่างๆ แจ่มใส อุดมด้วยสติและปัญญา ถ้าเรามีความโกรธอยู่ในใจแล้ว ปัญญาเราก็หาย ถ้าเรามีความเกลียดอยู่ในใจแล้ว ปัญญาเราก็ไม่มี หากเราขาดปัญญาเราก็ไม่สามารถพาตัวเราออกจากข้อจำกัดเดิมๆ ของเราได้

เช่น หากเรายึดติดกับความโกรธ ความจงเกลียดจงชังในใจเรา เราจะถูกกักขังจองจำอยู่ในอดีตอันจำกัดว่าเราจะไปยกย่องคนบางกลุ่มได้อย่างไร เมื่อเราไม่ก้าวข้ามข้อจำกัดของตนเองออกมาเช่นนี้สันติภาพย่อมยากจะมีโอกาสเกิดขึ้นมาได้ ในเมื่อตอนนี้คนในบ้านแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่ายเช่นนี้ แล้วเหตุใดเราจะยกย่องเขาไม่ได้ล่ะว่าเขาเป็นวีรบุรุษเป็นวีรสตรี คนๆ หนึ่งสามารถเป็นได้สิ หากว่าเขาทำบางสิ่งบางอย่างที่น่าชื่นชม มีบุคคลหลายคนในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของบ้านเราต่างก็ได้รับการยกย่อง เพียงเพราะว่าในสถานการณ์คับขันของประเทศ เขาเลือกที่จะทำบางสิ่งหรืองดกระทำบางอย่างเท่านั้นเอง

แน่นอน การที่คนๆ หนึ่งเป็นวีรบุรุษวีรสตรี ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนดีร้อยเปอร์เซ็นต์ เรายกย่องเขาเพราะเราได้รับรู้และซาบซึ้งในความดีและความกล้าหาญที่จะเสียสละในบางเรื่องของเขา

ส่วนเรื่องที่เขาได้เคยทำผิดพลาดไป (เราทุกคนก็เคย ไม่มากก็น้อย) นั่นเป็นเรื่องที่เขาต้องได้แสดงความรับผิดชอบ และอาจไม่จำเป็นต้องเข่นฆ่า ไล่ต้อนกันให้จนมุม ให้อยู่ในประเทศกันไม่ได้ จริงหรือไม่

ทุนทางสังคมเรื่องความรัก ความเมตตา และการให้อภัยของไทยเรายังมีอยู่ไม่น้อย หากใครกล้าหาญยืดอกยอมรับในความผิดของตน เขาอาจกลับเป็นแรงบันดาลใจให้เราแสดงความกล้าหาญในการให้อภัยเขาก็ได้ โดยรากศัพท์แล้ว อภัย หมายถึง ความไม่มีภัย ความไม่ต้องกลัว การที่เราให้อภัยใครบางคนเป็นการปลดแอกตัวเองออกจากความกลัวและทำให้เขาเป็นผู้ไม่มีภัยต่อจิตใจของเรา ยิ่งถ้าหากเขาได้เป็นวีรบุรุษวีรสตรีผู้นำพาสันติภาพมาสู่ประเทศ เราย่อมให้อภัยเขาเหล่านั้นง่ายขึ้น

พลังของการให้อภัยไม่ใช่เรื่องที่เกินจริง แม้แต่ประเทศแอฟริกาใต้ที่บอบช้ำเพราะความรุนแรงจากนโยบายแบ่งแยกสีผิวมาอย่างยาวนานค่อนศตวรรษ บนซากศพของพี่น้องร่วมชาตินับหมื่นคนและซากปรักหักพังของบ้านเมืองนั้น เขาก็ยังสามารถตั้งคณะกรรมการเพื่อความจริงและการสมานฉันท์ (Truth and Reconciliation Commission) ที่ให้ผู้เสียหายมาร้องทุกข์เพื่อให้สังคมได้รับรู้ พร้อมกับให้ผู้กระทำการมาแสดงความรับผิดชอบและรับการให้อภัย ไม่ต้องรับโทษทางคดีความ

หากเรายังมีความโกรธความเกลียดอยู่ในใจ ถูกจองจำอยู่ในข้อจำกัด ย่อมทำให้เราไม่เกิดปัญญา ไม่อาจให้อภัยใคร แต่ถ้าหากเราสามารถข้ามทะลุกรอบความคิดเดิมๆ ความเชื่อเดิมๆ ของเราไปได้ เราอาจพบทางออกและทางเลือกอย่างเช่นการใช้ “การสื่อสารด้วยความกรุณา” (Compassionate/Non-violent Communication) ซึ่ง ดร.มาร์แชล บี. โรเซนเบิร์ก ได้บอกเล่าผ่านหนังสือชื่อ We Can Work It Out ( แก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติและมีพลัง) ว่าความขัดแย้งระหว่างสามีภรรยาที่กำลังจะหย่าร้าง และระหว่างชนเผ่าที่รบราฆ่าล้างกันนั้นสามารถแก้ไขและได้รับเยียวยาด้วยวิธีการนี้มาแล้ว (ผู้สนใจสามารถอ่านได้ที่ http://jitwiwat.blogspot.com ผู้เขียนได้อ่านและร่วมฝึกอบรมกับคุณไพลิน โชติสกุลรัตน์ ผู้แปล รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ยากอย่างที่เคยคิด และมีความหวังกับสถานการณ์ในปัจจุบันขึ้นอีกมาก)

กรณีอย่างแอฟริกาใต้ และอีกหลายกรณีเช่นนี้ จะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าผู้คนในสังคมนั้นๆ ไร้เสียแล้วซึ่งจินตนาการและจิตใจที่ยิ่งใหญ่พอ

หากเกิดคำถามขึ้นว่า แล้วจิตนาการและจิตที่ใหญ่นี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือ จะเป็นไปได้ไหมที่ชาวไทยทุกคนจะเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างพร้อมเพรียงเท่าๆ กัน?

คำตอบของคำถามนี้อาจเป็นผลงานวิจัยจำนวนมากซึ่งระบุว่าสมาธิและความตั้งใจ (Intention) ของมนุษย์เรานั้นสามารถสร้างผลในโลกกายภาพได้ เช่น ลดอัตราอาชญากรรม ลดอัตราการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร หรือเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องมีสมาธิและความตั้งใจในสิ่งเดียวกันเท่าๆ กัน แต่ขอแค่จำนวนที่เป็นสัดส่วนเพียงพอที่จะสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชนหนึ่งๆ สัดส่วนที่ว่านั้นคือ รากที่สองของหนึ่งเปอร์เซ็นต์จากจำนวนประชากรในชุมชน สำหรับประเทศไทยแล้ว คนไทยจำนวน ๖๓ ล้านคนอาจยังไม่เริ่มพร้อมกันก็ได้ แต่เพียงแค่มีคนที่เริ่มก่อนในจำนวนสัดส่วนดังว่า นั่นคือแค่ไม่ถึงแปดร้อยคน ไม่ถึง “แปดร้อยคน” เท่านั้น

ประการสำคัญคือ จินตนาการที่ใหญ่พอและจิตที่ใหญ่พอนี้ ทำให้เกิดขึ้นได้ง่าย หากเรามีความกล้า กล้าพอที่จะคิด กล้าพอที่จะหวัง กล้าพอที่จะศรัทธา

เราต้องกล้าที่จะศรัทธาว่ามนุษย์ทุกคนเรียนรู้ได้ เปลี่ยนแปลงได้ หลายครั้งเราได้ยินตัวอย่างองคุลีมาลซึ่งแม้อาจฟังดูเฝือ แต่ว่ามันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงตนเองได้ หากเราไม่ให้โอกาสเขา ก็เท่ากับเราไม่ให้โอกาสตัวเราเองด้วย

เราต้องกล้าที่จะศรัทธาในความเป็นไปได้จากสภาวการณ์ที่เป็นไปไม่ได้ (Thinking the Impossible) เหมือนอย่างคนที่เชื่อมั่นอย่างยิ่งยวดในการผ่าทางตันด้วยความรุนแรง เราต้องเชื่อมั่นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันว่า ในความที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้เลยนั้น มันมีความเป็นไปได้ของสันติภาพอยู่ เนลสัน เมนเดลา ประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งคนแรกของแอฟริกาใต้กล่าวว่า “มันดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้เลย จนกระทั่งมันได้เกิดขึ้นจริงๆ”

เราต้องกล้าที่จะศรัทธาว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนแปลงสังคม ผ่านการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงภายในตัวเราเอง (Self-transformation) การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เราทำได้เอง โดยไม่ต้องรอผู้มีอำนาจสั่ง ไม่ต้องรอผู้นำหรือแกนนำจากภายนอก เป็นการคืนอำนาจและอิสรภาพมาสู่ตัวเราอย่างแท้จริง

การเปลี่ยนแปลงตัวเองที่สำคัญที่สุด คือ การเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง ไปพ้นมุมมองแบบทวิลักษณ์ ที่มองสิ่งต่างๆ ว่าเป็นขั้วตรงข้าม คือ ไม่ขาวก็ดำ ไม่ถูกก็ผิด ไม่ดีก็เลว การเผชิญหน้าที่เกิดขึ้นในบ้านเราก็เป็นผลพวงของกระบวนทัศน์เช่นนี้ และเป็นปรากฏการณ์เดียวกันกับที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าชุดความคิดความเชื่อที่เราใช้กันอยู่ที่แบบแยกส่วน เน้นวัตถุมากกว่าจิตใจ และสุดโต่งสองขั้ว นั้นไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตร่วมกันเสียแล้ว ดังที่ไอน์สไตน์บอกว่า “เราต้องการวิธีการคิดแบบใหม่ ที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง หากมนุษยชาติจะยังคงอยู่รอดอยู่ได้”

ลูกเจี๊ยบดิ้นขลุกขลักในเปลือกไข่และหนอนผีเสื้อในรังไหมจะว่าไปแล้วก็เป็นเหมือนที่ทฤษฎีไร้ระเบียบบอกไว้ว่า ในระบบพลวัตรที่อ่อนไหวต่อสภาวะเริ่มต้น หากระบบมีความสั่นไหว เกิดความไร้ระเบียบถึงระดับหนึ่งที่มากพอ ระบบจะปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อเกิดระเบียบ (order) ใหม่ และระเบียบหรืออนาคตที่เกิดขึ้นใหม่นี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร มันก็ขึ้นอยู่กับสภาวะเริ่มต้น ณ ขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร มีองค์ประกอบเช่นใด

ฉันใดก็ฉันนั้น เราจึงต้องเร่งสร้างการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงให้กับตนเอง ทั้งเรื่องจินตนาการและจิตที่ยิ่งใหญ่ เพื่อว่า ณ เมื่อจุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นมาถึง เราจะได้มีคนจำนวนมากพอที่รู้วิธี มีจิตที่ว่าง แจ่มใส ยิ่งใหญ่ และมุ่งมั่น สามารถจะนำพาสังคมไปสู่อนาคตที่ยิ่งใหญ่ เหมือนลูกไก่ที่กะเทาะออกจากเปลือก และมีสันติภาพร่วมกันได้ เหมือนผีเสื้อที่โบยบินออกจากรังดักแด้