เช็คอินกันก่อน


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 25 กันยายน 2548


สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมการประชุมที่สวนแสงอรุณ จ.ปราจีนบุรี วงประชุมประกอบด้วยเพื่อนพ้องน้องพี่จากหลากหลายหน่วยงาน บรรยากาศที่ประชุมแวดล้อมด้วยธรรมชาติไร้การปรุงแต่ง ต้นไม้ใบหญ้าเติบโตตามฤดูกาล ไม่ถูกดัดตัดถางให้เกินงามตามความต้องการของคน พวกเรานั่งล้อมวงกับพื้น รอบด้านทั้งสี่ของอาคารไม่มีฝาผนังบดบังสายตาจากความเขียวชอุ่มและระลอกพลิ้วไหวในบึงน้ำ

การประชุมแทบทุกครั้งที่ผมเคยเข้าร่วม หากไม่เริ่มต้นด้วยกิจกรรมเคลื่อนไหวทำความรู้จักเพื่อนร่วมประชุม ละลายพฤติกรรมให้วงประชุมมีความเป็นกันเองมากขึ้น อีกรูปแบบแนวทางหนึ่งก็เริ่มเปิดการพูดคุยสนทนาหารือทันทีที่เห็นว่าผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มากันครบแล้ว แต่การประชุมในสุดสัปดาห์นี้ต่างออกไปครับ

คุณธนัญธร เปรมใจชื่น จากสถาบันขวัญเมือง เป็นกระบวนกรผู้ดำเนินกระบวนการประชุมครั้งนี้ เธอไม่ได้ตั้งต้นการประชุมด้วยทั้งสองรูปแบบที่ว่า แต่เริ่มด้วยการเช็คอิน (check in) ครับ คุณอ่านไม่ผิดหรอกครับเช็คอินคำเดียวกับที่เราใช้เวลาที่จะเข้าพักในโรงแรมนั่นล่ะครับ

การเช็คอินในที่นี้ คือการเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมวงประชุมทุกๆ คนได้พูดเรื่องอะไรก็ได้ที่กำลังอยู่ในใจของตัวเอง ในขณะที่แต่ละคนกำลังเล่าออกมา คนอื่นๆ ก็นั่งฟังรับรู้ไปตลอดจนครบทุกคน

ก่อนที่แต่ละคนจะเริ่มเช็คอินตัวเอง ความคาดหวังและบรรยากาศของที่ประชุมก็ไม่แตกต่างไปจากวงอื่นเท่าใดนัก บางคนยังสนใจสมุดบันทึกในมือ บ้างก็เตรียมประเด็นที่อยากจะพูดหารือกับที่ประชุมอยู่ในใจ ครั้นเมื่อความในใจของแต่ละคนเผยออกมา หลายคนถึงพบว่าบรรยากาศของการประชุมเปลี่ยนไป

เรื่องที่แต่ละคนเช็คอินเข้ามา มีทั้งอารมณ์ความรู้สึกในเช้าวันนั้น ทั้งอารมณ์แจ่มใส ขุ่นมัวเพราะกังวลว่าท้องผูก บางส่วนแสดงความคาดหวังอยากได้อะไรจากการพูดคุย บางส่วนเผยว่าการพักผ่อนยามวิกาลที่ผ่านมาเป็นไงบ้าง นอนไม่ค่อยหลับ รู้สึกพักไม่พอ อาจผล็อยหลับไปได้ทุกเมื่อ บางคนแทบไม่ได้นอนเพราะต้องจัดการดูแล เตรียนมอาหารให้คนที่บ้านก่อนต้องจากมาหลายวัน และมีจำนวนไม่น้อยเลยเผยว่าก่อนเดินทางมาร่วมประชุมนี้มีงานคั่งค้างในปริมาณระดับที่เยอะและยุ่ง จนถึงระดับเครียดมาก การมาครั้งนี้ต้องยอมปล่อยวางงานเอาไว้ ไม่พยายามเอาใจไปคิดถึง

ความรู้สึกร่วมของที่ประชุมเปลี่ยนไปทันทีครับ พวกเราเห็นใจและเข้าใจเพื่อนร่วมวงมากขึ้น คนที่ได้เล่าเรื่องหนักใจก็รู้สึกเบาสบายขึ้น เราต่างเห็นแง่มุมความเป็นมนุษย์และรับรู้สุขทุกข์ของกันและกัน บทสนทนาหารือจึงดำเนินไปอย่างราบรื่น ผ่อนคลาย และเอื้อเฟื้อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมเท่าที่ต้องการ ผมเชื่อว่าถ้าไม่เริ่มด้วยการเช็คอินนี้ บางคนก็ยังคงอึดอัดกับความไม่สบายกายเมื่อคืน บางคนก็ไม่เข้าใจและผิดหวังที่เห็นเพื่อนไม่ช่วยออกความเห็น การประชุมจะไม่สามารถมีคุณภาพอย่างเต็มที่ได้เลย

การเช็คอินไม่ใช่เครื่องมือสำหรับการประชุมเท่านั้นครับ แต่เรายังนำการเช็คอินมาใช้ได้กับชีวิตการทำงานในทุกๆ วัน ผมขอชวนให้เราเช็คอินกันในทุกเช้าที่พบหน้ากันในที่ทำงานครับ เพราะทำงานด้วยกันตลอดทั้งวันก็เหมือนพายเรือลำเดียวกัน จะพายเรืออย่างมีความสุข จะพายวนไปไม่ถึงไหน หรือบางคนอาจจะไม่พายเลยเอาเท้าราน้ำแทน ล้วนขึ้นกับเพื่อนร่วมงานของเราเอง

การเช็คอินมีหัวใจสำคัญสามประการครับ ประการแรกนั้น เราต้องได้ถามกันอย่างจริงจังและจริงใจ ในขณะที่ถามต้องเกิดออกมาจากความต้องการรับรู้ และพร้อมแบ่งปันรับเอาความรู้สึกของเพื่อนร่วมงานเข้ามาในใจเรา เราถามเพราะเราอยากรู้จริงๆ ว่าวันนี้เขาเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ใช่เพียงแค่เดินผ่านเอ่ยทักว่าวันนี้เป็นไง แล้วเดินเลยผ่านกันไปไม่ได้คาดหวังจะให้เขาตอบอะไรมากไปกว่า ก็ดี ในสังคมอเมริกันปัจจุบันคำว่า ฮาวอาร์ยู? (How are you?) คุณสบายดีไหม? กลายเป็นคำที่แทบไม่มีความหมายอะไร เป็นแค่สร้อยคำเฉยๆ ยามเช้าคนทักกันว่า กู๊ดมอร์นิ่ง ฮาวอาร์ยู (Good morning. How are you?) แล้วเดินผ่านกันไปเฉยเลย ผมเองตอนแรกๆทักแล้วมักต้องยืนเอ๋อๆ งงๆ ว่า อ้าวไหงถามเราแล้ว พอเราจะตอบกลับเดินหลายไปกันหมด นึกว่าเป็นเพราะเราน่ารังเกียจหรือเปล่า พอสังเกตจึงได้เป็นว่ากลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว

แต่อย่างไรก็ตามเวลาเราถามอะไรแล้วตั้งใจฟังคำตอบจริงๆ นี่ก็จะมีผลมากนะครับ หลายคนเซอร์ไพรซ์มาก บางทีตอบว่า "อ้าว อยากรู้จริงๆเหรอ นึกว่าถามไปงั้นๆ" พอเราอยู่ตรงหน้าเขาแบบเต็ม 100% ตั้งใจฟังสิ่งที่เขาพูดจริงๆ วินาทีที่อยู่ตรงหน้าก็กลายเป็นวินาทีแห่งความศักดิ์สิทธิ์ครับ สรุปคือหัวใจของการเช็คอินประการที่สองคือการรับฟังอย่างตั้งใจ ฟังอย่างลึกซึ้ง สนใจในสิ่งที่เพื่อนร่วมงานบอกออกมา และไม่เพียงแค่คำพูด แต่รวมถึงน้ำเสียง กริยาท่าทาง สีหน้าและอารมณ์ การฟังอย่างลึกซึ้งช่วยให้เราเปิดรับกัน และให้คนที่บอกเล่าได้พูดอย่างเปิดเผยหมดใจ

ประการสุดท้าย การเช็คอินได้ช่วยเปิดพื้นที่ให้มีเรื่องอื่นๆ เข้ามามากขึ้น ไม่จำกัดให้อยู่เพียงเรื่องงานเท่านั้น ลองนึกถึงสภาพที่ทำงานที่เช้ามาก็ถูกถามว่าทำรายงานเสร็จแล้วหรือยัง อย่าลืมนัดประชุมศุกร์นี้ แค่คิดก็เริ่มเครียดแล้วใช่ไหมครับ? การมีเรื่องนอกเหนือจากงานในหมู่เพื่อนร่วมงานทำให้เราได้เรียนรู้กันมากขึ้น ได้เห็นความสำคัญในแง่มุมต่างๆ ไม่จำกัดเฉพาะงานตรงหน้าอย่างเดียวครับ

เราไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากมายเพื่อทำเช็คอินกันครับ เริ่มได้ง่ายๆ ด้วยความจริงใจ ฟังอย่างตั้งใจ และเปิดใจรับทุกๆ เรื่อง

มาช่วยกันทำให้การเช็คอินทุกเช้าในที่ทำงานและก่อนการประชุมกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจนเป็นนิสัยกันเถอะครับ ไม่จำเพาะแต่เพื่อนนะครับ ต้องรวมถึงระหว่างหัวหน้าทีมและลูกทีมด้วย แล้วความสุขในการทำงานก็เกิดได้ แถมยังช่วยให้งานดีขึ้นอีกด้วยครับ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กันยายน 2550


งานประชุมสถาบันโนเอติกซายน์ (Institute of Noetic Sciences) ในมลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อกลางปีที่ผ่านมาเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนที่สนใจเรื่องจิตวิวัฒน์ จำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นักคิด นักปฏิบัติ นักวิจัย และผู้สนใจพันกว่าคนที่มาพบกันเพื่อนำเสนอความรู้ความเข้าใจล่าสุดเกี่ยวกับการปฏิวัติจิตสำนึก (consciousness revolution) สุขภาวะทางจิตวิญญาณ และกระบวนทัศน์ใหม่ บรรยากาศในงานเปี่ยมไปด้วยพลังอย่างยิ่ง เพราะมากไปด้วยความคิดปรารถนาดีต่อโลก

ความรู้สึกที่ดูเหมือนเป็นเอกฉันท์ คือ โลกกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างรุนแรง โดยในขณะเดียวกันก็มีความพยายาม ความสร้างสรรค์จากทั่วทุกภูมิภาคของโลกในการแสวงหาทางออก แต่สิ่งที่ดูจะมีความคิดเห็นต่างกันคือคำตอบที่ว่า "โลกจะรอดวิกฤตครั้งนี้หรือไม่?"

ความรู้สึกของที่ประชุมคล้ายคลึงกับแนวของหนังสือ Waking Up in Time ที่ปีเตอร์ รัสเซลล์ ชวนให้ตั้งคำถามว่ามนุษยชาติทั้งหมดจะตื่นขึ้นทันกับสถานการณ์ไหม? (สวนเงินมีมา โดยการสนับสนุนของกลุ่มจิตวิวัฒน์จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้)

รัสเซลล์ที่มีดีกรีทางฟิสิกส์ทฤษฎีและจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ใช้ความรู้ทางวิชาการหลากหลายแขนง ทั้งชีววิทยา ฟิสิกส์ ปรัชญา ศาสนา ฯลฯ อธิบายปรากฏการณ์ปัจจุบันที่ทำให้เกิดการมองโลกในแง่มุมใหม่ๆ ดังนี้ ๑) วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ที่นับวันจะดูเหมือนหมุนเร็วขึ้นไปๆ ทุกที ส่งผลให้เกิดผลกระทบอันไม่พึงปรารถนาในทุกระบบของสังคมและสิ่งแวดล้อม ๒) วิเคราะห์ว่ารากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงคือ การมีจิตสำนึกไม่ถูกต้อง ๓) ทางออกของวิกฤตเบื้องหน้านั้นไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ เครื่องยนต์กลไกภายนอก หากแต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน เป็นการเปลี่ยนจิตสำนึกอย่างลุ่มลึก โดยท้ายสุด ๔) นำเสนอแนวทางรูปธรรมของการขยายจิตสำนึก จากจิตอันคับแคบส่วนตัวไปมีจิตใหญ่ มีจิตวิวัฒน์

ลำดับการเล่าเรื่องชวนให้นึกถึงนักคิด นักปฏิบัติคนสำคัญของโลกเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว คือ พระสมณโคดม ท่านก็กล่าวไว้ทำนองนี้ พระพุทธเจ้าได้อธิบายถึงความทุกข์ของมนุษย์ ถึงเหตุที่มาคือสมุทัย ความสิ้นไปแห่งทุกข์นั้นคือนิโรธ และหนทางประเสริฐอันมีองค์แปดคือมรรค

ประเทศไทยนับถือคุ้นเคยกับพุทธแบบหีนยาน บางครั้งอาจมองการปฏิบัติ การบรรลุธรรม การแก้ปัญหาเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล บางครั้งก็เข้าใจผิดเห็นความเมินเฉย ไม่ใส่ใจ ว่าเป็นอุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง) หนังสือของรัสเซลล์ชวนให้เรามองเรื่องอริยสัจสี่ในระดับมนุษยชาติหรือในระดับโลก เห็นทุกข์ของโลก สมุทัยของโลก นิโรธของโลก และมรรคของโลก

เรื่องนี้สอดคล้องกับทฤษฎีกายา (Gaia Theory) ที่พูดถึงโลกทั้งใบเป็นหนึ่งเดียวกัน และมีจิตของโลกด้วย โดยเราอาจเปรียบเทียบว่าถ้าตัวเราประกอบด้วยเซลต่างๆจำนวนมาก โลกก็อาจเป็นเหมือนอย่างเราคือประกอบด้วยมนุษย์เป็นจำนวนมาก

สุขภาพที่ดีของเราต้องมาจากสุขภาพที่ดีของเซลต่างๆ สุขภาพที่ดีของโลกก็ต้องมาจากสุขภาพที่ดีของมนุษย์ในโลก

การที่ในประเทศไทยและทั่วโลกเราพบผู้ที่เป็นมะเร็งมากขึ้น เซลของเราเติบโตขยายขนาดมากเกินไปและแบ่งตัวไม่รู้จักหยุดกลายเป็นมะเร็ง ชวนให้ตั้งคำถามว่านี่เป็นภาพสะท้อนของการที่มนุษย์เพิ่มประชากรไม่หยุด แถมแต่ละคนยังทั้งบริโภค ทั้งสะสมอย่างไม่รู้จักพอหรือไม่?

เซลมะเร็งนั้นขาดความเชื่อมโยงกับองคาพยพต่างๆของร่างกาย ไม่สามารถสื่อสารกับสมองและส่วนต่างๆได้ ทำให้โตแบบไม่รู้จักพอ โตจนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่เซลนั้นอาศัยอยู่

เป็นไปได้หรือไม่ว่าวิถีการดำเนินชีวิตและการเรียนรู้ทุกวันนี้ กำลังทำให้เราแปลกแยกจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆในโลกมากยิ่งขึ้น เป็นไปได้ไหมว่าการศึกษาที่เรียนแต่เรื่องนอกตัว แถมยังเป็นรายวิชา เป็นชิ้นๆ กล่องๆ ขัดกับโลกของความเป็นจริงที่ทุกอย่างล้วนเป็นความสัมพันธ์ ที่ไหลเลื่อนเคลื่อนที่ เชื่อมโยงกันทั้งหมด ทำให้เราไม่รู้จักตัวเองและไม่สามารถสื่อสารกับโลกได้ ท้ายสุดก็กลับมาเป็นผลร้ายต่อตัวเอง

หากเป็นเช่นนี้แล้ว มนุษย์ที่เป็นเหมือนเซลมะเร็งจะเรียนรู้ที่จะกลับมาสื่อสารกับโลกได้ไหม?

ตัวอย่างของคนที่เป็นมะเร็งแล้วหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัดหรือทำเคมีบำบัด เป็นความหวังว่ามนุษย์น่าจะยังมีศักยภาพในการเรียนรู้นี้อยู่

น่าสังเกตที่นักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการชั้นนำทั่วโลก อย่างปีเตอร์ รัสเซลล์ (การปฏิวัติทางจิตสำนึก Consciousness Revolution) เคน วิลเบอร์ (ทฤษฎีบูรณภาพ Integral Theory) แดเนียล โกลด์แมน (ปัญญาทางอารมณ์ Emotional Intelligence-EQ) หรือ ฟราสซิสโก วาเรลา (ทฤษฎีซานติอาโก Santiago Theory) กำลังหันมาเห็นสมบัติล้ำค่าที่คนไทยมีอยู่แต่ไม่ค่อยได้ใส่ใจอย่างจริงจังกับมันมานาน หลายคนเดินทางมาฝึกถึงภูมิภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นทิเบต อินเดีย หรือจีน

คนเหล่านี้ รวมถึงสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ เชื่อว่ามนุษยชาติมีศักยภาพในการสื่อสารกับโลกได้ มนุษยชาติทั้งหมดพ้นทุกข์ร่วมกันได้ ผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน (Collective Transformative Learning) โดยประตูนั้นอยู่ที่การเปลี่ยนจิตสำนึก จากจิตเล็กอันคับแคบ แยกส่วน และบีบคั้น ไปสู่จิตใหญ่อันกว้างขวาง เชื่อมโยง และมีอิสรภาพ

ช่องทางหรือรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีได้หลากหลาย เช่น การทำงานอาสาสมัคร กระบวนการทางศิลปะ-สุนทรียภาพ การบริหารการบริหารจิต เช่น โยคะ การเรียนรู้จากประสบการณ์เกี่ยวเนื่องกับความตาย องค์ความรู้ทางศาสนา รวมไปถึงการเรียนรู้แบบจิตปัญญาศึกษา (Contemplative Learning) ที่เป็นการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เชื่อมโยงกันในสามภาค คือ ภาคความรู้ ภาควิชาชีพ และภาคจิตวิญญาณ

แม้ว่าการปฏิวัติทางจิตสำนึกจะมีช่องทางที่หลากหลายมากมาย แต่ล้วนมีหัวใจหรือแก่นร่วมกัน คือ การตื่นรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันขณะ ปล่อยวาง ลดการยึดติดในอดีตและอนาคต

กลุ่มเซลมะเร็งมีศักยภาพที่จะกลับมาสื่อสารกับร่างกายอีกครั้ง

มนุษยชาติก็มีศักยภาพในการที่จะสื่อสารกับโลกอีกเช่นกัน

เพียงแต่พวกเราแต่ละคน และมนุษยชาติโดยรวม จะตื่น(รู้)ทันไหม?!

ทำซ้ำความสุข


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 11 กันยายน 2548


เราจะทำงานอย่างมีความสุขได้อย่างไร? เป็นคำถามที่คอลัมน์ Happiness@Work พูดถึงอยู่เสมอๆ โดยในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้พูดถึงการทำความดีโดยสะดวกใจ ไม่ต้องอ้างเหตุหรือหาโอกาส การเข้าใจและเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมงานที่มีบุคลิกทัศนะแตกต่างกัน ตามแนวคิดสัตว์ ๔ ทิศ ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการหาความสุขโดยเชิญชวนให้เราเปลี่ยนมุมการมองโลกรอบตัวครับ

นอกจากรู้แนวทางแล้ว การฝึกมุมมองอย่างที่เราอยากให้เป็นบ่อยๆ ก็ทำให้เราสามารถมีมุมมองเช่นนั้นได้ง่ายๆ มากขึ้น เหมือนกับการฝึกออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาครับ ยิ่งเล่นก็ยิ่งเก่ง ยิ่งมีทักษะ เรื่องการสร้างความสุขให้ตนเองก็เช่นกัน

ผมเรียกวิธีการฝึกนี้ว่า “การทำซ้ำความสุข” ครับ

เรื่องการทำซ้ำนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ท่านเคยได้กล่าวถึงไว้ในการประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์ อันเป็นกิจกรรมหนึ่งของแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ดำเนินการโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สนับสนุนทุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (spiritual health) ของสังคมไทย

การทำซ้ำดังที่ท่านได้กล่าวถึง คือสิ่งที่เราคิดและทำบ่อยๆ จนเคยเป็นนิสัย ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว แต่เราไม่เคยได้นึกว่าพฤติกรรมคุ้นเคยของเรานี้จะมีผลอย่างไรใช่ไหมครับ? อาการที่ทำอะไรจนติดและชินนี้มิได้เป็นเพียงความเคยชินธรรมดาเท่านั้นครับ ทางวิชาการเราทราบกันแล้วว่าสมองส่วนที่ต้องใช้มากๆ หรือได้รับการฝึกนานๆ จะมีขนาดใหญ่ขึ้น

ตัวอย่างผลงานวิจัยยืนยันออกมาชัดเจน อาทิ งานของมหาวิทยาลัยลอนดอนที่ศึกษาสมองส่วน ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการทิศทางและความจำ นักวิจัยพบว่ากลุ่มคนที่ต้องเดินทางและจดจำทิศทางสถานที่ต่างๆ เช่น คนขับแท็กซี่นั้นสมองส่วนนี้จะใหญ่กว่าคนทั่วไป และยิ่งเป็นคนขับแท็กซี่ที่มีประสบการณ์ฮิปโปแคมปัสก็ยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น

นั่นหมายความว่า หากเราเฝ้าวนเวียนคิดเรื่องอะไรหลายๆ ครั้ง ทำอะไรในรูปแบบเดิมๆ หลายหน เช่น กระดิกนิ้วชี้บ่อยครั้งเข้า สมองส่วนที่สั่งการจะผูกแบบแผนพฤติกรรมนี้ไว้ และมันพร้อมจะทำงานได้ง่ายและทันทีที่มีโอกาสเอื้ออำนวยครับ! เรียกได้ว่าเผลอเมื่อไรเป็นได้กระดิกนิ้วชี้ทุกที

ถ้าลองนึกถึงการเดินทางไปทำงานของเราในเช้าของแต่ละวัน เราพบกับสภาพจราจรจลาจลทุกวัน ไหนจะถูกคันอื่นปาดหน้า ไหนจะต้องติดรอไฟแดงนานๆ ถ้าทุกเช้าของเรามีแต่การสบถด่าเพื่อนบนถนนร่วมทาง พร่ำบ่นถึงความไร้มรรยาทของคนขับรถคันอื่น หรือเราเองที่ต้องเบียดซ้ายป่ายขวาแซงคันข้างหน้าเพื่อไปให้ทันเวลาทำงาน

สิ่งที่ทำ คิด และรู้สึกกับมันทุกเช้านี้ เป็นการทำซ้ำครับ ครั้งต่อๆ มาเมื่อเราขึ้นนั่งหลังพวงมาลัย เราก็พร้อมจะสบถ พร้อมจะอารมณ์เสียได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าจะไม่ใช่วันที่รถติดเหมือนเช้าวันทำงานก็ตาม นี่แหละครับ การทำอะไรซ้ำๆ เหมือนการขุดร่องทีละน้อยทุกวัน ร่องอารมณ์นั้นก็ลึกลงเรื่อยๆ ในสมองของเราเอง

ความเครียดและอารมณ์เสียที่เกิดบ่อยครั้งนี้ทำให้เราเกิดร่องอารมณ์ที่เป็นทุกข์ครับ หากยังจำที่ผมเคยเล่าๆไว้ได้ สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ขุ่นๆ ทั้งหลายนี้คือ อมิกดาลา (Amygdala) ครับ การเกิดร่องอารมณ์ทุกข์ที่ลึกขึ้น ก็คือการทำงานของอมิกดาลาที่เติบโตขึ้นนั่นเอง แล้วเราจะทำซ้ำเรื่องทุกข์ให้มันมีโอกาสเกิดได้มากขึ้นเพื่ออะไรล่ะครับ ?

กลับกันครับ ถ้าเราทำซ้ำในสิ่งที่เป็นความสุขละครับ แน่นอนครับ สมองของเราก็จะพัฒนาการสั่งงานและเอื้อให้ความคิดพฤติกรรมสร้างสุขนั้นเกิดง่ายขึ้น การคิดหรือทำอะไรซ้ำๆ ให้เกิดสุข ยังเป็นการเลี่ยงโอกาสที่ทำให้เรามีอารมณ์ขุ่นหมองและความเครียด เป็นความทุกข์ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามของกันครับ

สำหรับชีวิตการทำงานในแต่ละวัน ถ้าเราสร้างความคุ้นเคยด้วยการขอบคุณลูกทีมทุกครั้งที่เขาทำรายงานให้ แทนที่จะนึกว่าเขาทำตามหน้าที่ บอกตัวเองว่าโชคดีที่ได้เรียนรู้ทุกครั้งที่หัวหน้าทีมตักเตือนแนะนำ แทนที่จะคิดว่าถูกตำหนิ นั่นคือเรากำลังทำซ้ำความสุขครับ

วันต่อไปในชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดความทุกข์ สมองส่วนที่เราฝึกปรือพัฒนาให้โน้มนำในทางที่คิดและทำให้เกิดสุขจะเข้ารับมือแทน

จากเดิมที่แต่ละเช้าต้องหงุดหงิดกับการเดินทาง พกจิตใจขุ่นมัวมาถึงที่ทำงาน จนตลอดทั้งวันก็พาลเครียดไปหมด เราอาจเปลี่ยนแปลงด้วยการร้องเพลง “เป็นสุขในปัจจุบัน” ของหมู่บ้านพลัม เพื่อมีสติแจ่มใส และกระตุ้นเตือนตัวเองว่าไม่ต้องรีบเร่ง กล่อมจิตใจให้ช้าลง อารมณ์ก็แจ่มใส มีสมองที่พร้อมรับเรื่องดีๆ ในที่ทำงาน ทำอย่างนี้ได้ทุกๆ ครั้ง สร้างความเคยชินให้กับความสุข ตลอดทั้งวันและวันต่อไปในที่ทำงานก็จะมีโอกาสเปิดรับความสุขมากขึ้นแน่นอนครับ

เราเปิดประตูรับความสุขให้กว้างขึ้นแล้ว เขาก็ไม่ได้ไปไหนครับ เพราะความสุขที่มาหาเรานี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเราคนเดียว แต่ยังทำให้เพื่อนร่วมงานรับเรื่องดีๆ จากเรา เกิดเป็นความสุขใจให้แก่คนรอบข้างของเราด้วย สุขกันทั้งขึ้นทั้งล่องก็ว่าได้

หมั่นคิดในเชิงบวก พยายามให้เวลากับงานที่เรารักและสนุก หลีกเลี่ยงการคิดการทำอะไรที่เป็นทุกข์ มาทำซ้ำความสุขกันเถอะครับ! :-)