ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2548
เราส่วนใหญ่ต่างชื่นชอบและชื่นชมคนเอาการเอางานครับ โดยเฉพาะท่านที่อยู่ในสถานภาพหัวหน้าทีม ผู้บริหารและเจ้าของกิจการ ถ้าได้ลูกน้องลักษณะนิสัยการทำงาน “เอาการเอางาน” ไว้ร่วมงานแล้ว จะกำหนดภารกิจตั้งเป้าหมายอะไรไว้ย่อมมีโอกาสลุล่วงหรือดำเนินการสำเร็จไปได้
เอาการเอางาน เป็นสำนวนไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายไว้ คือ “ตั้งใจทำงานด้วยความขยันขันแข็ง” คุณสมบัตินี้ย่อมเป็นที่ต้องการของบริษัท ห้างร้าน สถาบัน มูลนิธิ องค์กรต่างๆ แน่นอนครับ ถึงคราวสัมภาษณ์คัดเลือกพนักงานใหม่คราใด ก็มักจะพยายามวัดแววว่าเป็นคนเอาการเอางานดังว่านี้หรือเปล่า บ้างก็ถามผู้สมัครกันตรงๆ เลยว่า คุณเป็นคนขยันแค่ไหน? มาทำงานวันหยุดโดยไม่มีโอทีได้หรือไม่?
สำหรับตัวคนทำงานล่ะครับ? การเป็นคนเอาการเอางาน ขยันขันแข็ง ย่อมช่วยให้เรามีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ยิ่งถ้าทำกิจการส่วนตัวจะยิ่งเห็นประโยชน์ที่ได้รับจากความเอาการเอางานนี้เต็มๆ
แต่จะมีประโยชน์จริงๆ ไหมครับ หากเราต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ชีวิตขาดสมดุล แล้วไร้ความสุข .. อย่างนี้ไม่ได้การครับ เพราะเราต้องทำงานไปพร้อมกับมีความสุขจากการทำงานด้วย
เรียกได้ว่า “เอางาน” และยัง “ได้การ” ด้วยครับ! การทำงานประเภทมุมานะสนใจแต่ตัวงานล้วนๆ ผมขอเรียกง่ายๆ ว่า “เอาแต่งาน” ครับ
เคยมีเพื่อนร่วมงานหรือเคยเป็นคนเอาแต่งานไหมครับ? คนที่ก้มหน้าก้มตาทำงาน ไม่เคยเลยที่จะสนทนาวิสาสะกับเพื่อนร่วมงานในเรื่องอื่น นอกจากการประสานงานตามลำดับขั้นตอน หรือหัวหน้าที่จะพูดกับลูกทีมเมื่อต้องการสั่งงาน ตำหนิ อธิบายงานเท่านั้น ส่วนลักษณะอาการเอาแต่งานที่หนักกว่านี้ก็อย่างเช่น มุ่งสร้างผลงานให้ตัวเองเป็นหลัก เรื่องจะช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานอื่นนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ ทำนองว่างานใครจะเป็นไงก็ช่าง งานฉันเสร็จเป็นพอ หากทำงานแบบนี้ถือว่าได้งาน แต่ท่าจะไม่ได้การละครับ โรคเครียดรุมเร้า ความสุขเตลิดหนี สุขภาวะทุกมิติก็ทรุดโทรมไปด้วย
โอกาสที่เราทำงานมาแล้วเกือบครบปีนี้ ผมจึงชักชวนเราให้ “เอาการ ไม่เอา(แต่)งาน” ครับ ยืนยันว่า “ไม่เอา(แต่)งาน” ไม่ใช่ชวนให้ไม่เอางานนะครับ เพราะผมไม่ได้ชี้ช่องให้โดดงาน เฉื่อยงาน แต่เชื้อเชิญให้เราเปิดให้มี “พื้นที่นอกงาน” (Non-work Space) อยู่ในชีวิตการทำงานประจำวันของเรากัน สร้างพื้นที่นอกงานนี้ให้พอเหมาะพอสมควรเป็นสัดส่วนพอดีกับงานประจำด้วยนะครับ ไม่เอาชีวิตหรือทั้งชีวิตไปผูกกับตัวงานตลอดเวลา
พื้นที่นอกงานนี้ ใช่มีความหมายเชิงกายภาพอันเป็นสถานที่เท่านั้นครับ แต่หมายรวมถึง ความนึกคิดของเรา กิจกรรมที่เราทำ ทั้งในและนอกสถานที่ทำงาน สำหรับแต่ละคนต่างมีพื้นที่นอกงานในแบบของตัวเองต่างกันออกไป เช่น พักกลางวันก็หยุดคิดกังวลเรื่องงานไปเพลิดเพลินกับอาหารกลางวันให้เต็มที่ ระหว่างเดินไปติดต่องานฝ่ายอื่นก็แวะไปไต่ถามสารทุกข์สุกดิบของเพื่อนต่างฝ่ายบ้าง การจัดเป็นโต๊ะกาแฟในสำนักงาน สร้างมุมหนังสือเล็กๆ ไว้ในออฟฟิศ
ตัวอย่างง่ายๆ กรณีหัวหน้าชวนลูกทีมไปทานข้าวกลางวัน โอกาสนี้ได้เปิดให้ถามความเป็นไปของกัน ได้ทราบว่าคนในทีมมีความสุขกับปริมาณงานที่มอบหมายให้หรือไร บรรยากาศความไม่เป็นทางการและอยู่นอกงานนี้แหละครับจะช่วยให้เผยความรู้สึกได้มากกว่า ถามคำถามเดียวกันในห้องผู้จัดการกับถามบนโต๊ะอาหารนั้น แม้เป็นประโยคเดียวกัน แต่ย่อมเจือน้ำเสียงและความรู้สึกต่างกัน แน่นอนครับว่าประการหลังจะมีความจริงใจและเปิดเผยกว่ามาก
การมีพื้นที่นอกงานร่วมกันในหมู่คนทำงาน ทำให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้กันและกันผ่านกิจกรรมที่ไม่ใช่การทำงานครับ เปิดโอกาสให้เราได้เห็นมิติความเป็นเพื่อนเป็นพี่ ความเป็นมนุษย์ของหัวหน้าทีม เห็นความอ่อนโยนของผู้บริหาร เห็นความเป็นผู้นำของพนักงานระดับปฏิบัติการ สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมเราให้มีความเข้าใจกันมากขึ้น เป็นพื้นฐานที่สำคัญและมั่นคงของการทำงานร่วมกันเป็นทีม (Teamwork) ที่เกื้อหนุนสอดประสานกันไป
พื้นที่นอกงานที่ผมสนับสนุนและลุ้นให้เราได้ทำเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายคือ งานอาสาเพื่อส่วนรวมครับ เป็นกิจกรรมหรืออะไรก็ได้เล็กๆ น้อยๆ ทำด้วยใจ ให้ทุกคนมีจิตอาสา ทำในที่ทำงานหรือชุมชนละแวกใกล้ก็ได้ เริ่มจากบริจาคโลหิต ร่วมกันจัดกิจกรรมบริจาคเสื้อในช่วงฤดูหนาว ทำความสะอาดปลูกแต่งต้นไม้บริเวณทางเท้าหน้าอาคาร ไปจนถึงชักชวนพนักงานร่วมกันอ่านหนังสือให้คนตาบอด หรือแม้แต่สอนภาษาอังกฤษให้เด็กๆ ชุมชนใกล้ที่ทำงาน
ประโยชน์อย่างยิ่งคือ คนทำงานได้ใช้พื้นที่นอกงานยกระดับจิตใจ ได้ทำสิ่งดีๆ แก่ผู้อื่น ได้ตระหนักรับรู้ว่าเราสัมพันธ์เชื่อมโยงกับคนอื่นทั้งในที่ทำงานด้วยกัน อยู่ในอาคารเดียวกัน อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน บริษัทองค์กรเองก็ได้ภาพลักษณ์ขององค์กร ดีกว่าพยายามสร้างภาพพจน์ให้ดีแต่สิ้นเปลืองงบประมาณประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทีวีวิทยุ
ชวนกันมาสร้าง Happiness@Work มา “เอาการ ไม่เอา(แต่)งาน” โดยเปิดพื้นที่นอกงานกันครับ [ตัวอย่างเช่น บริษัทปูนซีเมนต์ไทย พาพนักงานร่วมกันทำความสะอาดเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยากับโครงการ “อาสาเพื่อในหลวง” (www.V4King.in.th) โดย สสส. และเครือข่ายจิตอาสา (volunteerspirit.org) ในวันอังคารที่ ๒๗ ธันวาคมนี้ สร้างความดีแก่สังคมถวายแด่พระองค์ท่านในวโรกาสจะทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปีครับ] :-)
บุคคลสำคัญที่ต้องลดตนเป็นคนเล็กๆ เพื่อที่จะทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่
Posted by knoom at 11:24 PM Labels: จิตวิวัฒน์, จิตอาสา
ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2548
ภายในโรงพยาบาลซินเตี้ยน มูลนิธิพุทธฉือจี้ เมืองไทเป มีป้ายประกาศปรัชญาของโรงพยาบาล สวยสง่า ท้าทายระบบทุนนิยมอยู่ ที่ป้ายมีประโยคเรียบง่ายว่า “The Mission to be a Humane Doctor.” (พันธกิจ คือ การเป็นแพทย์ที่มีความเป็นมนุษย์)
ใครที่รู้จักงานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “พระบิดาของวงการแพทย์ไทย” คงจะอึ้งทึ่งกับข้อความซึ่งช่างคล้ายคลึงกับข้อแนะนำที่ท่านเคยพระราชทานให้แก่แพทย์ไทยที่ว่า “ขอให้ท่านทั้งหลายที่จบการศึกษาเป็นทั้งแพทย์และมนุษย์เดินดิน” (I do not want you to be only a doctor, but I also want you to be a man.)
พันธกิจที่ติดไว้ก็ไม่ได้เป็นแค่คำพูดโก้ๆ มีไว้ประกอบการขอมาตรฐาน ISO แต่แสดงออกในทุกมิติของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ คำกล่าวของ นพ.หูจื้อถัง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ว่า “แพทย์และพยาบาลเป็นบุคคลสำคัญ ที่ต้องลดตนเป็นคนเล็กๆ เพื่อที่จะทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่” หรือคำพูด นพ. ไช่ซื่อชือ รองผู้อำนวยการที่ว่า “ต้องเคารพนับถือผู้ป่วยทุกคน เพราะถือว่าเป็นอาจารย์ของเรา” แพทย์ของที่นี่ยิ้มแย้มแจ่มใส ปฏิบัติต่อผู้ป่วยเสมือนญาติ บางครั้งยังเข็นรถเข็นผู้ป่วยออกมาส่งด้วยตนเอง
หากท่านเดินเข้าไปในโรงพยาบาลซินเตี้ยน ท่านก็คงจะแปลกใจกับบรรยากาศที่ไม่เพียงอบร่ำไปด้วยรอยยิ้มแต่ยังมีเสียงดนตรีจากแกรนด์เปียโนที่อาสาสมัครชาวฉือจี้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเล่น ทั้งดนตรีคลาสสิกและดนตรีป๊อป ให้ผู้ป่วยและญาติได้ผ่อนคลายทุกวัน เมื่อก้าวเท้าเข้ามาในอาคารก็มีอาสาสมัครที่มารอรับด้วยรอยยิ้ม และคำขอบคุณ (ที่ทำให้พวกเขามีโอกาสได้บำเพ็ญตนรับใช้ท่าน) พร้อมช่วยเหลือพาท่านทำกิจกรรมต่างๆ จนเสร็จกระบวนการ
แต่ขอประทานโทษนะครับ งานอาสาเหล่านี้ไม่ใช่จะได้มาทำง่ายๆ นะครับ อาสาสมัครต้องผ่านการฝึกฝนก่อนและต้องรอคิวนานถึงเกือบปีจึงจะได้มีโอกาสมาทำกิจอาสาเพียง ๑ วัน เพราะอาสาสมัครเหล่านี้ถือเช่นเดียวกับที่ นพ.เจี่ยนฮุ่ยเถิง ที่กล่าวว่า “โรงพยาบาลเป็นทั้งสถานประกอบอาชีพและที่ปฏิบัติธรรม เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและปูทางให้คนไข้เดินหน้าไปได้สะดวกขึ้น” งานประจำและงานจิตอาสาที่มีคุณค่าเหล่านี้คือ ความดีที่หล่อเลี้ยงชีวิต
โรงพยาบาลมาตรฐานชั้นหนึ่งระดับนานาชาติแห่งนี้ รับรักษาผู้ป่วยทุกคน ทุกระดับ ด้วยจิตบริการเสมอกัน โดยไม่เว้น แม้ว่าจะไม่มีเงิน หรือประกันสังคมก็ตาม ท่านอาจารย์สุมน สมาชิกจิตวิวัฒน์ที่ร่วมดูงาน (ที่จัดโดยศูนย์คุณธรรม) ถึงกับกล่าวว่าอยากเป็นคนไข้ที่นี่ เพราะรู้ว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์!
คณะที่เดินทางไปด้วยกันยังได้ไปดูเบื้องหลังความสำเร็จของโรงพยาบาลชั้นนำของไต้หวันแห่งนี้อีกด้วย คือ มหาวิทยาลัยพุทธฉื้อจี้ ที่เมืองฮั้วเหลียน มหาวิทยาลัยมีคำขวัญคือ “ฉือ เป่ย สี เสิ่ง” คือ พรหมวิหารสี่: เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นั่นเอง (ข้าพเจ้าหวนนึกคำของพระบิดาของวงการแพทย์ไทยอีกที่ว่า “อาชีพแพทย์นั้นจำต้องยึดมั่นในอุดมคติ เมตตากรุณาคุณ”) ที่นี่นักศึกษาที่สอบเอนทรานซ์เข้ามาแม้คะแนนจะไม่สูงนัก แต่ยามจบเป็นบัณฑิต สอบใบประกอบโรคศิลป์กลับได้ลำดับต้นๆ ของประเทศ
มหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นตรงการผสมผสาน กลมกลืน มิติของกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน มีการสอดแทรกเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม จิตสำนึกอยู่ในชีวิตประจำวัน นักศึกษาได้ฝึกการภาวนา เจริญสติ นั่งสมาธิ เขียนพู่กันจีน ชงชา และจัดดอกไม้ เพราะเชื่อว่านักศึกษาสามารถเห็นดอกไม้แล้วเห็นความเป็นทั้งหมด ความเป็นหนึ่งเดียว เห็นความงามของจักรวาลได้ เป็นชุดประสบการณ์ที่ทำให้นักศึกษาเข้าใจจิตใจของคนไข้และญาติ เข้าถึงสุนทรียภาพ ความอ่อนโยน ละเมียดละไม เข้าใจธรรมชาติความเป็นคนไปพร้อมความวิทยาการเทคโนโลยีตะวันตก
ที่นี่มีวิชากายวิภาคศาสตร์ที่โดดเด่นเป็นที่หนึ่งของไต้หวัน นักศึกษาจะได้รู้จักประวัติของอาจารย์ใหญ่ (ศพที่บริจาคเพื่อการศึกษา) ได้ไปใกล้ชิดกับญาติของอาจารย์ใหญ่ จนราวกับเป็นครอบครัวเดียวกัน มีการประกอบพิธีกรรมอันงดงามร่วมกันทั้งก่อนและหลังเรียน เป็นการบ่มเพาะให้นักศึกษาเรียนแล้วเกิดสำนึกในบุญคุณของอาจารย์ใหญ่และผู้ป่วยอื่นๆ ในอนาคต
เป็นโรงเรียนแพทย์ที่บุกเบิกรณรงค์ให้ชาวไต้หวันบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา (เพราะขัดกับความเชื่อเดิมของชาวจีน) จากเดิมที่มหาวิทยาลัยทั่วไต้หวันไม่ค่อยมีจะเรียน ปัจจุบันมีชาวบ้านธรรมดาที่มีจิตใจที่ยิ่งใหญ่บริจาคกันมากจนมีเหลือเผื่อแผ่ไปยังที่อื่น อาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่งป่วยเป็นมะเร็ง ถึงกับยอมไม่รักษาตัวเองด้วยเคมีบำบัด ยอมทนความเจ็บปวด ด้วยความปรารถนาที่จะได้ให้นักศึกษาเห็นเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเหมือนจริง มีความรู้เพื่อที่จะไปรักษาผู้อื่นมากที่สุด อาจารย์ใหญ่อีกท่านบอกว่า “เมื่อฉันตายไปแล้ว เธอจะใช้มีดกรีดฉันผิดกี่ครั้งก็ได้ แต่เมื่อพวกเธอจบออกไป ห้ามกรีดผิดแม้แต่ครั้งเดียว”
ทั้งหมดเป็นการดูงานที่อุดมไปด้วยเรื่องราวที่เกิดปิติอย่างยิ่ง เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของจิตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) เป็นระบบการศึกษาที่งดงามอย่างที่สุด ที่กลุ่มจิตวิวัฒน์และเครือข่าย (เช่น สถาบันอาศรมศิลป์ โรงเรียนสัตยาไส เสมสิกขาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล) กำลังสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ
จิตปัญญาศึกษา การศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนมีความเป็นเลิศทั้งเรื่องวิทยาการภายนอกและพัฒนาการภายใน รู้จักรู้ใจตนเอง เป็นการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียน สถาบันการศึกษา และสังคมโดยรวมเข้าสู่ความเป็นจิตวิวัฒน์ไปพร้อมกัน
ดังเช่นที่ ท่านอาจารย์ประเวศ เคยกล่าวในที่ประชุมจิตวิวัฒน์ ในหัวข้อ “แผนที่ความสุข” ว่า “ที่สุดแล้วคนทุกคนน่าจะเชี่ยวชาญ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเชี่ยวชาญในอาชีพอย่างที่เป็นกันอยู่แล้ว กับอีกเรื่องหนึ่งคือ เชี่ยวชาญในการสร้างความสุขให้ตนเอง และช่วยให้เพื่อนมนุษย์สร้างความสุขได้”
หรือคำของพระบรมราชชนกที่กล่าวไว้อีกเช่นกันว่า “ความสำเร็จมิใช่อยู่ที่การเรียนรู้ หากแต่เป็นการนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์” นั่นเอง
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2548
เดือนธันวาคมมาถึงแล้วครับ! เดือนที่บรรยากาศอบอวลไปด้วยความสุข ด้วยว่าอุดมทั้งเทศกาลงานรื่นเริง วันหยุดชดเชย และวาระสำคัญต่างๆ ไล่เรียงมาเป็นลำดับนับแต่ วันพ่อ วันรัฐธรรมนูญ วันคริสต์มาส และวันสิ้นปี ยังไม่นับงานฉลองปีใหม่ของบรรดาบริษัทห้างร้านต่างๆ บางคนยังได้รับโบนัสปลายปีอีกด้วย
ช่วงเวลาแห่งความสุขนี้เราจะเห็นทุกคนต่างให้สิ่งดีๆ แก่กันและกันในหลากหลายแบบครับ นับแต่การน้อมใจภักดิ์ถวายพระพรแด่พระองค์ท่านจากใจชาวไทยทุกหมู่เหล่า การกราบเท้าและบอกรักคุณพ่อ (คุณแม่ และญาติผู้ใหญ่) ขอบพระคุณที่ท่านได้ให้กำเนิดอบรมเลี้ยงดูเรามา การเลือกสรรหาของขวัญที่มีคุณค่าทางจิตใจมอบให้แก่เพื่อน ให้แก่คนรัก สำหรับหลายคนได้ใช้ช่วงสิ้นปีนี้ทำบุญในศาสนสถาน ให้ทานคนยากไร้
และโดยเฉพาะวันที่ ๒๖ ธันวาคมปีนี้ เราคงลืมวาระครบรอบ ๑ ปีของหายนภัยสึนามิใน ๖ จังหวัดภาคใต้ไปไม่ได้ การสูญเสียจากอุบัติภัยที่ไม่คาดฝันนี้ ได้เกิดคลื่นสะท้อนกลับนำความรักความห่วงใยและน้ำใจหลากไหลสู่พี่น้องผู้ประสบภัยในพื้นที่ ปีนี้เราคงได้หวนระลึกว่าต่างได้เคยให้สิ่งดีๆ เพื่อเยียวยาใจกัน ทั้งสิ่งของเครื่องใช้ และร่วมลงมือลงแรงทำงานอาสาสมัครอย่างแข็งขันกันมาแล้ว
พลังน้ำใจที่มุ่งมั่นช่วยเหลือกันนับแต่เกิดหายนภัยนี้ เป็นปรากฏการณ์สำคัญยืนยันว่าโดยพื้นฐานแล้วทุกคนต่างมีจิตใจที่ดีงามภายใน พร้อมที่จะให้ พร้อมที่จะแบ่งปันแก่เพื่อนที่มีทุกข์ กล่าวได้ว่า วันที่ ๒๗ ธันวาคม ถัดจากวันที่สูญเสีย เป็น "วันจิตอาสา" วันปลุกกระแสอาสาสมัครของไทยและทั่วโลก วันสำคัญอีกวันหนึ่งซึ่งเราทุกคนจดจำและเป็นวันที่ได้ให้สิ่งดีๆ แก่กันอีกวันหนึ่งในเดือนธันวาคม
การให้และการได้รับนั้นต่างมีความสุขเช่นกันครับ ไม่ว่าจะเป็นการให้เพียงเล็กน้อย เช่น ของขวัญปีใหม่สำหรับมิตรสหาย หรือการให้เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลชีวิตเพื่อนพี่น้องชาวใต้ที่ประสบภัยธรรมชาติ เราเองต่างสามารถให้ได้มากน้อยตามกำลังและโอกาสของเราเอง หลายคนยืนยันชัดเจนครับว่าเขามีความสุขมากมายจากการได้อุทิศเพื่อคนอื่น และความสุขที่หลายคนได้รับกลับมานั้นก็ได้เปลี่ยนทัศนะต่อโลกและชีวิตของเขาไปโดยสิ้นเชิง
แต่ขณะเดียวกัน บางคนกลับยังไม่พบความสุขจากการให้ครับ บ้างยังรู้สึกว่าการให้สิ่งของไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืนและไม่ส่งเสริมให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ บางคนหลังจากได้บริจาคทรัพย์แล้วความรู้สึกดีก็จืดจางลงอย่างรวดเร็ว บ้างถึงกลับเสียใจที่พบว่าผู้รับไม่ได้มีสีหน้ายินดีกับความช่วยเหลือของเขา พาลให้ตั้งคำถามต่อความสุขที่ได้จากการทำดี ความสุขจากการได้ให้ไปเสียเลย
ความสุขจากการให้คืออะไร? หลายวันที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมงานของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ที่ประเทศไต้หวัน ซึ่งศูนย์คุณธรรม (ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม) ได้เอื้อเฟื้อการเดินทางครั้งนี้ ผมได้พบเห็นเรื่องราวดีๆ ต่างๆ มากมายที่เกิดจากแรงบันดาลใจ ความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์และต่อโลก และผมพบว่าเหล่าอาสาสมัครจำนวนนับล้านของมูลนิธิฉือจี้นั้นมีความเชื่อมั่นต่อความสุขจากการให้เพียงไร
มูลนิธิฉื้อจี้ซึ่งนำโดยท่านธรรมจารย์เจิ้งเหยียนนั้น มีพันธกิจเพื่อเพื่อนมนุษย์ต่างๆ มากมายครับ สามารถก่อตั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาล ตลอดจนมีอาสาสมัครจำนวนหกล้านกว่าคน ครอบคลุมหลายสิบประเทศทั่วโลก แต่สิ่งสำคัญที่น่าสนใจที่สุดมิได้อยู่ที่ความใหญ่โตของอาคาร หรือจำนวนอาสาสมัครครับ
สิ่งสำคัญที่ผมได้พบคือ ชาวฉือจี้ทุกคนถือว่าการไปช่วยเหลือผู้อื่นนั้น จะต้องไม่ถือว่าเขาอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าเรา แต่เราจะเคารพเขาซึ่งเป็นผู้รับอย่างนอบน้อมและจริงใจ คุณจะไม่พบหรอกครับว่าชาวฉือจี้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยการโยนสิ่งของลงจากเฮลิคอปเตอร์ หรือส่งของให้โดยไม่มองหน้าผู้รับ แม้ว่าจะรีบเร่งหรือมีของจำนวนมากแค่ไหน แต่เขาจะพนมมือไหว้สวัสดีผู้รับอย่างจริงใจ ยื่นของให้ด้วยสองมืออย่างเคารพนบนอบ ด้วยเพราะเราถือว่าความทุกข์ของผู้ประสบภัยในฐานะผู้รับนั้น ได้เปิดโอกาสให้เราได้ให้ ให้เราได้สร้างกุศล ก่อบุญ และได้พัฒนายกระดับจิตใจของเรา ถือเป็นเนื้อนาบุญของเรา
กลับมาทบทวนนึกถึงเพื่อนๆ เราที่เขาไม่มีความสุขจากให้ หรือแม้แต่ตัวเราเองในบางครั้งที่ได้ให้ทานช่วยเหลือผู้อื่นแต่พบว่าไม่ได้มีความสุขอย่างแท้จริงกันครับ ผมชักชวนให้เราลองเปลี่ยนมุมมองใหม่ในการให้ เรียนรู้จากแนวทางของชาวฉือจี้ มาสู่การให้ของเราที่ช่วยเขาด้วยความขอบคุณ และเคารพในตัวคนที่เป็นผู้รับ ในฐานะที่มีสถานภาพทัดเทียมกับเรา เพียงแต่ ณ เวลานี้ที่เขามีทุกข์ เป็นเหตุเป็นช่วงเวลาที่ได้เปิดโอกาสให้เราได้ทำดี ได้ขัดเกลาจิตใจของเราให้ได้มองออกไปพ้นจากตัวเอง
ไม่จำเป็นว่าการทำสิ่งดีๆ ให้คนอื่นนี้ต้องเป็นเรื่องช่วยเหลือผู้ประสบภัยเท่านั้นนะครับ แต่รวมถึงทุกวันในชีวิตของเรา ทั้งในบ้าน ในสถานที่ทำงาน สิ่งเล็กๆ น้อยในบ้านและที่ทำงานเราก็ทำเพื่อช่วยเหลือกันได้ เราช่วยเพื่อนร่วมงานพร้อมกับรู้สึกดีว่าเขาทำให้เราได้มีโอกาสทำดี เช่น เขาใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์บางอย่างไม่เป็น เราก็สอนเขา ทำให้เราได้ทบทวนความรู้ของเรา และเราก็รู้สึกเคารพเขาอย่างจริงใจ รู้สึกว่าไม่ใช่เพราะเขาด้อยกว่ารู้น้อยกว่าจึงต้องการฝีมือเราช่วย แต่เพราะครั้งนี้เขาต้องทำสิ่งที่ไม่ถนัด ไม่คุ้นเคย เปิดให้เราได้ช่วยเหลือ และเราได้รับเกียรติที่จะได้ช่วยครับ ง่ายๆ แค่นี้เราก็มีสุขจากการให้แน่นอนครับ
แถมอีกนิดครับ เรามาทำให้เดือนธันวาคม เดือนแห่งความสุขของเราเป็น เดือนแห่งความสุขจากการทำดีให้คนอื่น กันเถอะครับ ทาง สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) และเครือข่ายจิตอาสา (www.VolunteerSpirit.org) เองก็มี โครงการอาสาเพื่อในหลวง (www.V4King.in.th) ชักชวนพวกเราชาวไทยมีจิตใจจิตสำนึกอาสา ทำอะไรก็ได้มากน้อยแก่ครอบครัว แก่ที่ทำงาน แก่ส่วนรวม ถวายแด่ในหลวงในวโรกาสจะทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปี มาร่วมกันให้แก่คนรอบข้างอย่างเคารพและขอบคุณกันด้วยใจกันครับ :-)