ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ

ฉบับวันที่ 16 กันยายน 2555

ที่บ้านผมนั้นมีปลูกต้นไม้อยู่บ้าง แต่นอกจากที่หิ้งพระแล้ว ในตัวบ้านก็ไม่ค่อยมีไม้ตัดดอกใส่แจกันเอาไว้ ตอนเด็กนั้นไม่เคยคิดจะซื้อดอกไม้เข้าบ้านเลย รู้สึกว่าเรื่องแจกันดอกไม้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่

มาเปลี่ยนไปก็เมื่อคราวไปเรียนต่างประเทศ วันที่ผมได้ไปเยี่ยมเพื่อนที่อพาร์ทเมนต์ เมื่อเปิดประตูเข้าไป โอ้โห ต้นไม้และดอกไม้เต็มห้องเลย เหมือนเดินเข้าไปในสวนพฤกษศาสตร์ หรือในฉากหนังมากกว่าห้องพัก เธอบอกว่าดอกไม้และต้นไม้เหล่านี้ช่วยเธอให้หายเครียดได้มาก

พอกลับบ้าน ผมเดินเลยไปที่โรงรถ ขับออกไปที่ Home Depot ซื้อดอกไม้ ทั้งที่บานแล้วในกระถาง และแบบยังเป็นหัว (bulb) มาปลูกทันที มีทั้งไฮยาซินท์ แดฟโฟดิล และอื่นๆ อพาร์ทเมนต์ผมก็เปลี่ยนไปในบัดดล รู้สึกเลยว่ามีแบบแผนของพลังของความอบอุ่นอ่อนโยนเพิ่มขึ้น

จากนั้นผมก็เริ่มซื้อดอกไม้มาปลูกและจัดแจกัน พร้อมกับการเริ่มสะสมแจกันที่นักศึกษาที่ย้ายหอแล้วไม่เอาไปด้วย ก็จะนำไปวางทิ้งไว้หรือขายราคาถูกเป็นพิเศษ

กลับมาเมืองไทย เมื่อมีโอกาสได้เรียนจัดดอกไม้แบบอิเคบานะกับหมู่เพื่อนชาวจิตตปัญญา ก็ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปอีกมาก ผมชอบและมีความสุขกับการจัดดอกไม้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แถมไม่ต้องใช้ดอกเยอะๆ อีกต่อไป ดอกเดียว ก้านเดียวก็งามได้

แต่กระนั้นก็ยังช่างเลือกอยู่ไม่น้อย ผมจะนิยมดอกไม้ที่ตัดเองจากต้น หรือที่ร่วงหล่นเองตามพื้น ถ้าต้องซื้อ ก็ชอบไปเดินหาที่ปากคลองตลาดด้วยตนเอง ต้องเป็นดอกที่ไม่ค่อยธรรมดาหน่อย ไม่ต้องแพงหรือเป็นดอกไม้นอกก็ได้

ที่ผมไม่นิยมอย่างยิ่ง คือ กล้วยไม้ตามแผงลอย ที่แม่ค้ามาแบ่งและผสมกับใบเตยสักหน่อย ขายควบพวงมาลัยไหว้พระ ด้วยมีอคติส่วนตัวหลายอย่างที่แต่ก่อนก็ไม่ตระหนัก ไม่เคยอนุญาตให้ตนเองซื้อมาจัดเลย

วันก่อนอยากได้ดอกไม้มาไว้สำนักงานสักช่อ แต่หาไม่มีที่ถูกใจ เลยตัดใจซื้อกล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium) มากำหนึ่งยี่สิบบาท ถึงที่ทำงานแกะออกดูก็ เอ๊ะ งามไม่น้อยนะนี่ แม้ว่าจากมุมมองคนทั่วไปอาจเห็นว่าเขาไม่สมบูรณ์ตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย แต่ค่อยๆ พิจารณา พอหมุนบ้าง ตัดบ้าง แต่งบ้าง ช่วยเลือกด้านที่เขางามที่สุดออกมา ก็ได้แจกันและแก้วใส่ดอกไม้ 5 อัน ที่งดงามไปคนละแบบ แบ่งให้เพื่อนร่วมงาน

เมื่อวานเย็นลงไปนั่งริมน้ำเจ้าพระยา ดูแสงอาทิตย์ที่ไล้ผิวน้ำค่อยๆ เปลี่ยนสี ตกมืดไปเดินเล่นจึงได้กล้วยไม้ราคาสิบห้าบาทขึ้นมาถวายพระหนึ่งกำ ถึงที่พักผมรีบแกะหนังยางออก เพราะสงสารเขาที่ถูกรัดแน่น พบว่าก้านหัก กลีบช้ำและขาดจำนวนมาก

หากเป็นเมื่อก่อน คงนึกบ่นแม่ค้า ผสมวิจารณ์ความหยาบกระด้างของสังคม คละปนไปกับความเสียดายที่ได้ดอกไม้ไม่สวยมา แต่ตอนนี้มีเครื่องมือจิตตปัญญา รู้จักที่จะดูใจระหว่างที่จัดไป จิตอยู่กับการจัด มากกว่าอยู่กับผลงานในอนาคตที่จะออกมา

ราวครึ่งชั่วโมงผ่านไป ได้แจกัน แก้ว ถ้วย ใส่ดอกไม้สำหรับจัดวางถวายพระและในห้องต่างๆ ถึง 8 แห่ง เป็นแบบกิ่งยาวหลายดอกบ้าง สองสามดอกบ้าง หรือแม้กระทั่งดอกเดียวก็มี

เช้าตื่นขึ้นมา สวัสดีวันพระ หากดอกไม้ยิ้มได้ พวกเขาคงส่งยิ้มให้กับเรา เพราะเขาได้พัก ได้ฟื้น ทุกดอกงดงามยิ่งกว่าเมื่อคืน ดอกตูมบางดอกก็ค่อยแย้มกลีบน้อยๆ หากเป็นเมื่อก่อนพวกเขาคงไม่ได้รับโอกาสให้เผยความสง่างาม และความแช่มบานให้ได้ชื่นชมเช่นนี้

คุณประภาส ชลศรานนท์ เขียนถึงผู้ใหญ่ที่ท่านเคยแนะนำว่าหากมีเงินสองบาท หนึ่งบาทให้ซื้อข้าว อีกบาทให้ซื้อดอกไม้

บัดนี้ ผมเดินทางมาจนเข้าใจด้วยตนเองแล้วว่าคำพูดนั้นหมายถึงอะไร

ช่างสามัญไม่ธรรมดา



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ

ฉบับวันที่ 2 กันยายน 2555

ที่จอดรถช่วงเที่ยงวันธรรมดากลางสัปดาห์นั้นหาได้ไม่ยากนัก ไม่ต้องขับวนก็มีที่ จอดเสร็จพลางนึกในใจว่าวันนี้คงใช้เวลาไม่นาน เพราะอุตส่าห์เลือกมาเวลานี้

แต่เมื่อพลันก้าวเข้าไปในร้านตัดผม ก็ต้องแปลกใจเพราะว่ามีลูกค้านั่งรออยู่สองคน ขณะที่ช่างทั้งสามคนกำลังง่วนอยู่ ช่างประจำของผมยิ้มพร้อมผายมือให้ไปนั่งรอก่อน

ระหว่างนั่งรอเห็นช่างเขาหันมาทางผมบ่อยๆ พร้อมมีสีหน้ากังวลเล็กน้อย ผมมองไปรอบๆ จึงเห็นว่าหนึ่งในลูกค้าสองคนที่มาก่อนเป็นวินมอเตอร์ไซค์ สวมหมวกผ้าใบเล็กแนบศีรษะ ดูเหมือนผมก็ไม่ยาว ผมได้แต่เก็บความสงสัยไว้ในใจ

พอช่างของผมตัดเสร็จ เขาก็เริ่มพับผ้าคลุม ผ้าขนหนู หยิบกระเป๋าใบเล็กขึ้นมาแล้วหยิบผ้าใส่ลงไป พร้อมหยิบปัตตาเลี่ยนมาม้วนสายไฟเก็บอีก ผมทั้งงงทั้งสงสัยเข้าไปใหญ่ว่า อ้าว จะเก็บของไปไหนนี่ เก็บเสร็จเขาทำท่าทางขอโทษขอโพย ยกมือยกไม้เหมือนบอกเวลาว่าแป๊บเดียวไม่กี่นาที นั่นไม่ช่วยให้ผมเข้าใจอะไรมากขึ้นเลย แต่พอจะเอ่ยปากถาม หนุ่มวินมอเตอร์ไซค์ก็พาช่างผมออกไปจากร้านเรียบร้อยแล้ว

ช่างอีกคนคงเห็นเครื่องหมายคำถามเต็มใบหน้า มีน้ำใจบอกผมว่า "เดี๋ยวช่างเขาก็กลับมาครับ"

อ้อ แล้วผมจะต้องรอนานสักเท่าไหร่ละนี่? เอาเถิด ไหนๆ ก็มาแล้ว จะกลับไปก็เสียเที่ยว ทำใจสบายนั่งรอไปละกัน รีบไม่รีบก็เป็นสุขใจได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องอึดอัดอะไร

สักพักใหญ่ ช่างประจำตัวก็เดินกลับเข้ามา เขากุลีกุจอเอาของออกจากกระเป๋า ปาดเหงื่อแล้ว ปัดเศษผมออกจากเก้าอี้ แล้วเชิญผมไปนั่ง

คำถามนั้นไม่เป็นสิ่งจำเป็น เขาเริ่มเล่าพลางเริ่มกระบวนการตัดที่คุ้นเคย ผมสังเกตว่าแม้ว่าดูเขาจะเหนื่อยมา แต่ละขั้นตอนก็ยังคล่องแคล่ว ว่องไว และปราณีตเช่นทุกครั้ง สมกับเป็นช่างฝีมือดีที่ผมไว้วางใจ

"ขอประทานโทษทีนะครับพี่" น้ำเสียงเขานอบน้อม เรียกผมเป็นพี่ทุกคำแม้ว่าจะผมจะอายุอ่อนกว่า "ไปตัดผมให้คุณลุงท่านหนึ่งแถวนี้มาน่ะครับ ให้คนมาเรียกผมหลายครั้งแล้ว แต่ผมคิวแน่นตลอด วันนี้แกเลยส่งลูกน้องมารอรับเลย"

คุณลุงที่เอ่ยถึงนั้นอายุอานาม 80 กว่า อยู่ซอยแถวนี้ ลูกหลานอยากให้ตัดผม แต่ไม่สามารถเดินมาด้วยตนเองได้

"ถือว่าไปดูแลญาติผู้ใหญ่น่ะครับ น่าสงสารคนเหล่านี้นะ แก่แล้วหลายก็ออกไปไหนมาไหนไม่ได้ เราลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็เลยยินดีไปครับ อีกหน่อยเราก็เองก็ต้องแก่เหมือนกัน"

โดยมากช่างมักไม่ค่อยชอบไปตัดผมตามบ้านให้คนมีอายุ เพราะมักมีปัญหาสุขภาพ "ฉี่อึรดที่นอนก็มี หรืออย่างสัปดาห์ที่แล้ว ผมไปตัดให้คุณลุงอีกคนแม้อายุไม่มากเท่า แต่เป็นเบาหวานต้องตัดขาทั้งสองข้าง นั่นก็ต้องไปช่วยอุ้มจากเตียงขึ้นมานั่ง ตัดก็ยากกว่าตัดปรกติครับ" เขาเล่าด้วยความตั้งใจ ไม่มีน้ำเสียงของการบ่นแต่ประการใด

"แต่ผมเข้าใจได้ คุ้นเคยดี แต่ก่อนตอนนู้นยังไม่มีครอบครัว ผมก็อาสาไปตัดให้พวกคนไข้ พวกทหารที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึกเสมอๆ เห็นใจเขาครับ ใครๆ ก็อยากได้ตัดผมแต่ไม่มีช่าง เดี๋ยวนี้เสียดายผมไม่ค่อยได้ไปแล้ว ต้องดูแลที่บ้าน"

ผมนั่งฟังด้วยความซาบซึ้ง เกิดปีติมีขนลุกบ้างเป็นครั้งคราว แค่ครู่เดียวก็ตัดเสร็จ เพราะตัดง่าย ทรงเดียวกับที่ไว้มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม

เรากล่าวขอบคุณซึ่งกันและกันเช่นทุกครั้ง แต่ครั้งนี้ผมตั้งใจขอบคุณเขามากเป็นพิเศษ รู้สึกโลกนี้งดงามน่าอยู่ไม่น้อย เดินออกมาจากร้านรู้สึกดีที่ได้เลือกที่จะนั่งรอเกือบชั่วโมงก่อนหน้านั้น