ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 18 เมษายน 2552


มองดูดวงตะวันยิ้มแฉ่ง
ลองระบายสีแดงสวยสด
ป้ายสีฟ้าให้ฟ้าแต้มสีเขียวให้ป่า
สีรุ้งบางเวลาเราวาดเกินกว่าเจ็ดสี

...

งามยิ่งดูยิ่งงามในความรู้สึก
งามที่ลึกมีสีของฟ้าเจืออยู่
เขียวให้เขียวร่มไม้ร้ายใจร้ายโค่นป่า
ฟ้าสีฟ้า ถามว่าคนสีอะไร

ผมเริ่มฮัมเพลงนี้ขึ้นมาโดยอัตโนมัติหลังจากถูกน้องแซวว่าชอบยิ้มแฉ่ง ร้องเพลง “วาดฝัน” ของพี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง นี้ไปได้ไม่กี่บรรทัด ก็สะดุดกึกกับประโยคสุดท้ายที่ถามว่า “คนสีอะไร?”

ที่เอะใจก็เพราะไม่ถึงชั่วโมงที่ผ่านมา ผมเพิ่งจะได้อ่านบทกวีของเพื่อนรุ่นน้อง จากอีเมล์ชื่อ “ความจริงไม่ใช่เหลืองไม่ใช่แดง” เป็นถ้อยคำงดงามถ่ายทอดระบายและสะท้อนความรู้สึกอัดอั้นที่อยู่ภายใน

ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่านี่เป็นเหตุบังเอิญของจักรวาลหรือเปล่า หรือว่า “ไม่มีเหตุบังเอิญในจักรวาล” ดังคำที่อาจารย์อาวุโสในกลุ่มจิตวิวัฒน์ท่านหนึ่งมักจะกล่าวประจำ

ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพิ่งจะประกาศยุติการชุมนุมไปไม่กี่ชั่วโมง ความตึงเครียดเริ่มผ่อนคลายท่ามกลางสถานการณ์ที่คลี่คลายลง แม้ว่าจะยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมกระจัดกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ บ้าง

กลุ่มควันดำที่พวยพุ่งจากรถโดยสารและยางรถยนต์ที่ถูกเผาไหม้อาจจางหายไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังคุกรุ่นอยู่อาจเป็นคำถามที่ยังค้างคาใจคนไทยส่วนใหญ่คือ แล้วเราจะมีความสามารถที่จะก้าวผ่านข้ามพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกันหรือไม่ ชาวสยามประเทศโดยรวมจะกลับมารักใคร่กลมเกลียวกัน เห็นคนอื่นเป็นคน เห็นคนอื่นเป็นญาติพี่น้องที่สืบสาวต้นตอกลับไปก็ล้วนเคยเกี่ยวดองเป็นญาติกัน เคยมีบรรพบุรุษร่วมกันทั้งสิ้น เราจะเห็นและเป็นดังนี้ได้อีกหรือไม่

ถามว่าพวกเราจะกลับมารักกันอีกหรือไม่ ผมนั้นไม่รู้

แต่ถ้าถามว่าพวกเรามีความสามารถจะทำเช่นนั้นหรือไม่นั้น ผมตอบได้ด้วยความมั่นใจว่า สามารถแน่นอน (คอนเฟิร์ม!)

เงื่อนไขสำคัญคือ สังคมไทยนี้มีความมุ่งมั่นและมีพันธะสัญญาร่วมกันที่จะกลับมารักใคร่ กลมเกลียว สามัคคีหรือไม่ต่างหาก

มีตัวอย่างหลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์โลกที่คนจำนวนมากเกิดการเปลี่ยนแปลงจากความจงเกลียดจงชังอย่างยิ่งถึงขนาดจะฆ่าจะแกงกัน มาเป็นความรัก ความเอื้ออาทร เป็นห่วงเป็นใยกัน ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ เหมือนการเพิ่มของสิ่งเดียวกันให้มีมากขึ้นหรือน้อยลง เช่น จากมีเงินหนึ่งร้อยบาทเป็นมีหนึ่งร้อยสิบบาท หรือจากเกลียดมากเป็นเกลียดน้อย

การเปลี่ยนแปลงที่สังคมไทย (และโลก) ต้องการเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับขั้นพื้นฐานหรือทรานส์ฟอร์เมชัน (Transformation) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดสิ่งใหม่ เกิดคุณภาพใหม่โดยสิ้นเชิง

การเปลี่ยนแปลงที่สังคมไทย (และโลก) ต้องการนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งมีลักษณะข้ามพ้นแต่ปนอยู่ (Transcend and Include) คือ แม้จะมีคุณลักษณะใหม่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ทอดทิ้งของเดิม เข้าใจและดูแลทุกส่วนและทุกฝ่ายโดยเข้าใจว่าล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ไม่ใช่แค่รักกันได้เพราะเห็นเหมือนกันและไม่เคยทะเลาะกัน แต่รักกันได้ (คุณภาพใหม่) ทั้งๆ ที่เคยมีความหลัง บาดหมางไม่ลงรอยกันแต่เดิม (คุณภาพเก่า)

การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่สำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งเช่นนี้ ย่อมต้องการปัจจัยหลายอย่างที่เป็นหัวใจที่สำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน สิ่งนั้นคืออะไร?

---------------------------------

ย้อนหลังกลับไปเมื่อหลายเดือนก่อน หลังจากเลิกประชุมจิตวิวัฒน์ ผมได้พูดคุยเรียนปรึกษาอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งว่า “อาจารย์ว่าจะทันไหมครับ?” คำตอบหลักต่อข้อถามของผมจะเป็นเช่นไร ขออนุญาตไม่เฉลยในตอนนี้ แต่สิ่งที่ท่านพูดต่อจากนั้นต่างหากที่ผมรู้สึกว่าสำคัญและมีความหมายอย่างยิ่ง

ท่านว่า “ผมยังไม่เห็นวิธีไหนเลยที่จะช่วยได้ นอกจากชักชวนให้คนมาเจริญสติมากๆ”

หรือว่าสติ (และการเจริญสติ) เป็นหัวใจสำคัญของทรานส์ฟอร์เมชัน?

---------------------------------

หรือว่าจะจริง เพราะปัจจุบันโลกมีความรู้และเทคโนโลยีมากมาย สามารถเพิ่มอายุเฉลี่ยของมนุษย์ได้มาก ทำสิ่งเล็กๆ เช่น เอาอะตอมของซีนอนมาเรียงเป็นเป็นชื่อ หรือทำสิ่งใหญ่ๆ เช่น สร้างกระสวยอวกาศพามนุษย์ไปเดินเล่นนอกโลก หรือทำให้สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงได้ มีอาวุธทำลายล้างอานุภาพสูงทำให้คนตายทีละเป็นล้านได้ แต่ความรู้เหล่านี้ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ว่าเราจะป้องกันปัญหาคนในชาติเกลียดชังกัน ทำร้ายกันด้วยวาจา และลงไม้ลงมือกันได้อย่างไร

หรือว่าเป็นเพราะความรู้เหล่านี้ที่กลับทำให้เราคิดแบบแยกส่วน ที่สำคัญคือคิดเร็ว ทำเร็ว หรือ “คิดเปรี้ยง ทำเปรี้ยง” อย่างที่เรียกกัน ไม่มีเวลาสำหรับมาพินิจพิเคราะห์ไตร่ตรองกัน

หรือว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบ้านเราเป็นผลจากการที่เราไม่ค่อยทำการบ้านเรื่องการเจริญสติกันเสียนาน ทิ้งภูมิปัญญาที่มีมาแต่โบราณ ถึงแม้ว่าประเทศจะมีครูบาอาจารย์ผู้ปฎิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่พอควร แต่เรากลับละเลย ไม่ศึกษา ไปหลงชื่นชมกับความรู้ทางโลกภายนอก เราจึงเห็นความจริงอย่างเป็นส่วนเสี้ยว

ธรรมชาติและความจริงนั้นเป็นไปได้มากมาย แต่เราไปจำกัดความเป็นไปได้เหล่านั้น เราจึงรู้สึกอึดอัด คับแคบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอึดอัดกับความเป็นตัวตนของเรา

เมื่อเราเห็นความจริงบิดเบี้ยวไปตามความคิดปรุงแต่งของเรา แม้กระทั่งคนก็ยังต้องแบ่งเป็นสีๆ แถมมีให้เลือกไม่กี่สี ทำให้บีบคั้นอย่างยิ่ง มองเห็นสิ่งต่างๆ ก็มีให้เลือกแค่ต้องผิดอย่างเดียวหรือถูกอย่างเดียวเท่านั้น จึงไม่เป็นธรรมชาติและไม่เป็นธรรมด้วย

การมีสติทำให้เราไม่คิดเปรี้ยง ทำเปรี้ยง มีเวลาใคร่ครวญ สามารถมองเห็นความจริงตามธรรมดาธรรมชาติ ไม่เพียงแต่เห็นว่า “ความจริงไม่ใช่เหลืองไม่ใช่แดง” คือ ความจริงนั้นไม่ใช่ทั้งสีเหลืองและสีแดง แต่หมายรวมถึง “ความจริงนั้นไม่มีสี” คือ “สี” ที่เราคิดว่ามีนั้นมันก็ไม่มีด้วย เป็นไปตามความคิดปรุงของเราเองทั้งสิ้นเช่นกัน

หากมนุษย์เราเข้าใจความจริงพื้นฐานข้อนี้ก็จะเข้าถึงความงามและความดีไปพร้อมกัน เกิดความสุขโดยฉับพลัน สามารถให้ความรักกับทุกคน เพราะเข้าใจความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันของสรรพสิ่ง

แล้วเราจะไม่ลองเจริญสติกันทั้งประเทศหน่อยละหรือ ก็เห็นๆ กันแล้วว่าศาสตร์ต่างๆ ที่เราลองกันมาล้วนไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการสู้รบที่ไหน อิรัก อัฟกานิสถาน หรือบนราชดำเนิน

หากได้ลอง เราอาจจะพบว่าคำตอบมันไม่สำคัญ ไม่ว่าจะต่อคำถามที่ว่า “คนสีอะไร” หรือ “แล้วจะทันไหม”

:-)