ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2548


ครั้งก่อนเราได้มุ่งไปตะวันตก และขึ้นเหนือ เพื่อทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานทั้งสองแบบของเราคือ หมี จอม detail และกระทิง จอม action มาแล้ว ครั้งนี้เราจะล่องใต้กันครับ ไปรู้จักเพื่อนร่วมงานอีกแบบคือ หนูผู้compromise อยู่ในทิศใต้ มีธาตุน้ำ เป็นสัตว์ในที่ทำงานประเภทที่ ๓ ตามแนวคิดสัตว์ ๔ ทิศของชนพื้นเมืองอเมริกัน ไม่แน่คุณอาจพบว่าคุณนั่นเองคือหนูผู้ compromise ก็เป็นได้




ลองนึกถึงในที่ทำงานขณะที่ทุกคนกำลังขะมักเขม้นทำงานหน้าดำคร่ำเครียด เมื่อถึงช่วงพักกลางวัน หนูจะเป็นคนแรกที่ชวนเพื่อนออกไปทานข้าว เข้าไปทักเพื่อนที่ทำงานลืมเวลาว่าพักเสียหน่อยนะ ไปหาอะไรอร่อยๆ ทานกันดีกว่า เมื่อไปถึงร้านอาหาร แน่นอนครับ หมีจะเลือกแล้วเลือกอีกว่าเมนูจานไหนดี ร้านนี้กินอะไรถึงเหมาะ ส่วนกระทิงนะหรือครับ ออเดอร์อาหารได้เป็นรายแรกหรือไม่ก็สั่งสมทบตามหลังเพื่อนที่สั่งข้าวกะเพราไข่ดาวว่า “กะเพราด้วย รวมเป็น ๒” แต่ในเวลาเดียวกัน หนูอีกนั่นแหละที่จะคอยสังเกตว่าเพื่อนคนไหนสั่งอะไรได้อาหารครบหรือไม่ ใครต้องการน้ำหรือพวงเครื่องปรุงบ้าง

ถ้าคุณรู้สึกว่าหมีและกระทิงต่างมุ่งมั่นกับชิ้นงานและผลลัพธ์เกินไป จอม detail อย่างหมีนั้นช่างเคร่งครัดกับระเบียบวิธีการและให้ความสำคัญกับความถูกต้องของข้อมูลมากกว่าความเชื่อใจในทีมงาน ส่วนรายกระทิงนั้นเล่าก็ลุยจัดการกับงานตรงหน้าจนไม่ดูว่าจะทำให้เพื่อนร่วมงานหรือลูกทีมน้อยใจหรือเปล่า ถ้ารู้สึกอย่างนี้ คุณอาจเป็นหนู เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างกันมากเป็นพิเศษครับ

หนูๆ ในที่ทำงานคือกลุ่มคนผู้สนใจตัวคนทำงานและวิธีการทำงานมากกว่าใครเพื่อนครับ ในกรณีที่หนูเป็นหัวหน้าทีมทำงานภายใต้ระเบียบขั้นตอนจุกจิกปลีกย่อยมาก หัวหน้าหนูก็มีแนวโน้มสูงจะยืดหยุ่นละเว้นกฎบางข้อ เพื่อให้ลูกทีมทำงานได้คล่องและลื่นไหลมากขึ้น หมีๆ ฝ่ายบัญชีหรือการเงินอาจจะระอาที่หัวหน้าหนูเซ็นต์อนุมัติเบิกจ่ายให้ลูกทีมทั้งที่เอกสารใบเสร็จรับเงินนั้นไม่เรียบร้อยสมบูรณ์ เพราะหัวหน้าหนูเห็นใจลูกทีมถ้าตีกลับเอกสารไปให้แก้ไข หรือถึงขั้นเกรงใจว่าลูกทีมอุตส่าห์สำรองเงินจ่ายไปก่อน จะไม่เซ็นต์ผ่านให้ได้อย่างไร

ส่วนหนูๆ เพื่อนร่วมงาน (ที่ไม่ใช่น้องๆ สาวๆ นะครับ) ของคุณนั้น เขาหรือเธอแทบจะไม่เคยปฏิเสธคำขอให้ช่วยจากเพื่อนเลย ไม่ว่าจะในทีมเดียวกัน หรือจากฝ่ายอื่นก็ตาม คุณจะไม่เห็นหนูบอกปฏิเสธไม่ยอมช่วยด้วยเหตุผลว่า “งานฉันยังไม่เสร็จเลย” หรือ “งานใครก็งานมันสิ” เลย เต็มที่ก็แค่แบ่งรับแบ่งสู้ อย่างน้อยก็ช่วยให้คำแนะนำอยู่ดี

ถ้าคุณไม่ใช่หนู แต่คุณเป็นหมีหนุ่ม กระทิงสาว คุณอาจรู้สึกว่า น้องหนูนี่ช่างน่ารำคาญเสียจริง ไม่ทุ่มเท ไม่ระมัดระวัง แถมยังมีนิสัยขี้น้อยใจ ช่างเกรงใจ และเอาใจใส่เพื่อนๆ มากกว่าตัวเนื้องานเสียอีก ถ้าคุณมีเพื่อนร่วมงานที่แตกต่างจากคุณอย่างนี้ ทำอย่างไรให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขละครับ ?

พื้นฐานสำคัญของแนวคิดสัตว์ ๔ ทิศ คือการพยายามทำความเข้าใจกันและกันครับ ไม่ใช่การจัดแบ่งคนในที่ทำงานออกเป็น ๔ ก๊กเพื่อแข่งกีฬาสี การที่ได้รู้ว่าเพื่อนหรือหัวหน้ามีการตัดสินใจ ใช้สไตล์การทำงานแบบนี้ ล้วนมีที่มาจากฐานความคิดต่างกัน อย่างกรณีของหนู พฤติกรรมช่างเกรงใจและการพยายามรักษาความสัมพันธ์ของเขาเป็นคุณลักษณะบนฐานใจ ทำให้หนูสนใจการอยู่ร่วมกันมากกว่าเรื่องอื่นๆ

แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าหนูๆ ไม่ใส่ใจกับความสำเร็จหรือความเรียบร้อยของงานนะครับ เพราะทัศนะของหนู ความสำเร็จคือความสัมพันธ์ที่ดีในทีม ฉะนั้น หนูจะไม่ชื่นชมกับยอดขายทะลุเป้า แต่แลกมาด้วยความทุ่มเททำงานล่วงเวลาของทุกคนจนไม่มีเวลาแม้แต่จะมาคุยกัน หนูสนใจเพื่อนที่ดูเครียดจากงาน สังเกตว่าคนในทีมห่างเหินหมางเมินเพราะวุ่นกับงานที่ต้องแย่งกันทำยอด ในบรรดาคนในทีมงาน หนูจึงเป็นคนแรกที่สังเกตเห็นความผิดปกติในกลุ่มหรือในโครงสร้าง เราสามารถกล่าวได้ว่า หนูเป็นคนสำคัญที่ยึดโยงทุกคนไว้ในกลุ่ม ขณะที่หมีคอยจัดการรายละเอียด และกระทิงทำหน้าที่เป็นหัวรถจักร

แต่ทว่าความแตกต่างของคนเหล่านี้จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ถ้าเราเอาแต่พร่ำบ่นว่านิสัยของคนอื่นเป็นภาระ หรือตำหนิคนที่มีวิธีทำงานต่างจากเราว่าเป็นอุปสรรคทำให้งานช้า ถ้าเช่นนั้นแล้ว การแบ่งสัตว์ ๔ ทิศก็จะเป็นเพียงการขีดเส้นความเป็นพวกเขาพวกเราให้ชัดเจนขึ้น ไม่เกิดความพยายามทำความเข้าใจกัน

สัตว์ ๔ ทิศบอกว่าความแตกต่างระหว่างกัน ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับการทำงานเลยครับ แต่เป็นคำตอบต่อคำถามว่าเราจะทำงานร่วมกันอย่างมีความุสขได้อย่างไร เพราะความหลากหลายแต่หนุนเสริมกันและกันในหมู่เพื่อนร่วมงานนี่แหละคือสิ่งสำคัญที่ทำให้งานสำเร็จ และทุกคนมีความสุขจากการทำงานร่วมกัน

ถึงตรงนี้แล้ว ถ้าคุณยังไม่พบว่าตัวเองเป็นสัตว์ในทิศไหน อย่าลืมครับว่ายังมีครั้งต่อไป เราจะพบกับ อินทรี เจ้า project ผู้อยู่ในทิศตะวันออก และมีธาตุลม แล้วจะได้รู้กันว่าความแตกต่างของอินทรีมีคุณูปการอย่างไรต่อเพื่อนหมี กระทิง หนู และเพื่อนๆ ทั้ง ๓ จะช่วยหนุนเสริมเอาศักยภาพความสามารถของอินทรีมาช่วยให้ทีมทำงานสำเร็จลุล่วงอย่างมีความสุขได้อย่างไรบ้าง เตรียมพบกับอินทรีในตอนหน้า (14 ส.ค.) ครับผม :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 17 กรกฎาคม 2548


ยังจำหมี จอม detail ในตอนที่แล้วได้ใช่ไหมครับ ถ้าท่านเคยไปทำโอดี (organization development) ขององค์กร และวิทยากรนำกิจกรรรมเกมบางอย่าง คุณจะเห็นว่าเหล่าหมีเพื่อนร่วมงาน เขาใช้เวลาครุ่นคิดเก็บข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจเลือกทำอะไรก่อนหลัง ขณะที่เพื่อนร่วมงานบางคนในกลุ่มเริ่มลุยลงมือไปตามเกมของวิทยากรเรียบร้อยแล้ว ครั้นเมื่อถึงช่วงทานพักอาหาร ระหว่างที่คุณกำลังเดินดูโต๊ะบุฟเฟ่ท์ให้ทั่ว ลังเลว่าจะตักอะไรมาทานดี บางคนก็มองหาที่นั่งที่ติดกันกับเพื่อนที่คุ้นเคย แต่เพื่อนร่วมงานจอมลุยคนนี้ของคุณได้ตรงดิ่งไปหยิบจานรอคิวตักอาหารเสียแล้ว

หรือในการทำงานร่วมกับหัวหน้าหมี คุณมักจะถูกสอบถามติดตามรายละเอียดทุกขั้นตอน แต่คุณเคยพบหัวหน้างานอีกประเภทไหมครับ? ประเภทที่ว่า ถ้าเขาได้รับเป้าหรือโจทย์จากที่ประชุมกรรมการแล้ว เขาแทบจะออกมาสั่งลูกทีมทันที มิหนำซ้ำยังคาดหวังให้ลูกทีมลงมือทำเดี๋ยวนั้นเลย เรียกได้ว่าไม่ต้องมาเสียเวลาพิจารณาว่าควรทำหรือไม่ การวางแผนไม่จำเป็นต้องใช้เวลามาก ถ้าหัวหน้าบอกต้องออกแอ็คชั่นเลยทันที




จากครั้งก่อนเราพูดถึงหมี จอม detail ผู้อยู่ทิศตะวันตก และมีธาตุดินไปแล้ว หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานของคุณในครั้งนี้ผู้มีลักษณะข้างต้น ถ้าแนวคิดสัตว์ ๔ ทิศ อันเป็นความรู้จากชนพื้นเมืองอเมริกันมาจัดแบ่งกลุ่ม เขาก็คือ กระทิง จอม action ผู้อยู่ทิศเหนือ และมีธาตุไฟนั่นเองครับ (ส่วนอีก 2 กลุ่มที่เหลือได้แก่ หนู ในทิศใต้ ธาตุน้ำ และอินทรี ในทิศตะวันออก ธาตุลม ซึ่งจะเล่าสู่กันในตอนต่อไปครับ)

ในบรรดาบุคคลแวดล้อมในชีวิตการงานของคุณ กระทิงจะเป็นผู้ออกแอ็คชั่นเป็นหลักครับ ต้องแอ็คชั่น แอ็คชั่น และแอ็คชั่นครับ ทีนี้ถ้าหากเราเองไม่ใช่กระทิงล่ะ ถ้าเราเจอพวก action-oriented แบบนี้ในที่ทำงานแล้ว เราจะทำอย่างไรให้มีความสุขและสนุกครับ? เราจะทนอึดอัดกับการรู้สึกว่าเขาผลีผลามทำอะไรโดยไม่ยั้งคิด หรือเราจะหงุดหงิดรำคาญใจที่เขาทำงานไปก่อนโดยไม่ฟังเสียงเพื่อนร่วมทีม คำถามคือเราจะสร้างพื้นที่แอ็คชั่นสำหรับคนเหล่านี้ ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นอย่างจริงใจ และชื่นชมเขาอย่างจริงจังได้อย่างไร?

เราต้องเข้าใจธรรมชาติของพวกกระทิงครับ ความสำเร็จในทัศนะของเขาคือการได้ลงมือกระทำ แม้ว่าทำเสร็จแล้วอาจไม่มีระบบ หรือสมาชิกในทีมจะรู้สึก "อิน" ไม่เท่ากันก็ไม่เป็นไร หรือแค่มีแผนการทำงานนั้นไม่พอ ต้องได้ทำได้ลงมือ เราจึงมักพบพวกกระทิงในกลุ่มนักกีฬา นักแสดง นักกู้ภัย ทหาร ตำรวจ พวกแอ็คชั่นทั้งหลายน่ะครับ

สิ่งที่คุณจะไม่ค่อยพบในพวกกระทิง คือ การนั่งคิด ใช้เวลาวางแผนครับ กระทิงจะคิดว่า "เสียเวลา" สุดๆ มักจะพูดว่า "โอ๊ย ... จะหมดเวลา/เสียโอกาส อยู่แล้ว" ยังจะต้องมาคิดว่าใครในทีมรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนั้น และพวกกระทิงก็จะไม่ซีเรียสกับหลักการเท่าใดนัก โดยเฉพาะถ้าหลักการนั้นมันขัดขวางทำให้เขาได้ลงมือทำช้าลงไปอีก

พวก "หมี" ที่เน้นความเป็นระบบและข้อมูล ควรเข้าใจพวก "กระทิง" ว่า เขามีสไตล์การทำงานที่เน้นความเสี่ยงและท้าทาย ในทัศนะเขา ถ้ามัวแต่มาทำระบบจะทำให้พลาดโอกาสเสียก่อน หรือสำหรับบางคนที่เห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีม ก็ไม่ควรรู้สึกแย่ที่ดูเหมือนว่ากระทิงไม่แคร์เพื่อนๆ เลย ทั้งที่โดยแท้แล้วกระทิงแคร์นะครับ เพียงแต่ในโลกของเขา เขาเชื่อว่าการช่วยเหลือเพื่อนก็คือการรีบลงมือทำให้เสร็จนั่นเอง

ถ้าคุณเป็นกระทิงหนุ่ม กระทิงสาว ทั้งที่ "เปลี่ยว" และ "ไม่เปลี่ยว" (ฮา) คุณควรจะเข้าใจเข้าใจแรงผลักดันพื้นฐานของคุณและทีม การที่บางคนในทีมใช้เวลาวางระบบ กว่าจะเซ็นเช็คแต่ละฉบับต้องคิดแล้วคิดอีก ดูรายละเอียดต่างๆ ให้เรียบร้อย ก็ทำพื่อทีม การที่บางคนมีความคิด จินตนาการเยอะแยะ แม้หลายอย่างคิดเพ้อเจ้อไปบ้าง ทำจริงไม่ได้บ้าง ก็ทำเพื่อทีม หรือแม้กระทั่งบางคนที่ใช้เวลาไต่ถามทุกข์สุขและดูแลสุขภาพคนอื่นๆ ก็ทำเพื่อทีมเช่นกัน การมีองค์ประกอบเหล่านี้อย่างผสมผสานทำให้ทำงานกันเป็นทีมไปได้นาน ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องลุยไปข้างหน้าพร้อมกับกระทิงอย่างคุณเสมอไป

หากเป้าหมายในชีวิตการงานของพวกเราไม่ใช่เรื่องเงิน (แต่เพียงอย่างเดียว) เป้าหมายเรายังเป็นเรื่องความสุขด้วยแล้ว เราจึงควรใช้ชีวิตการทำงานอย่างพร้อมจะเรียนรู้กันและกัน พร้อมจะเติบโตร่วมกับคนในทีมที่มีความหลากหลายเหล่านี้อย่างเข้าใจกันนั่นเองครับ

ตอนหน้าเตรียมกับพวก "หนู" (ผู้ compromise) ในทิศถัดไปครับ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2548


คุณเคยมีหัวหน้าทีมที่กำกับการทำงานของคุณในรายละเอียดไหมครับ ? หรือเคยมีเพื่อนร่วมงานที่เก็บตัวและทำทุกอย่างให้ถูกตามระเบียบทุกประการบ้างไหม ? เพื่อนคนหนึ่งของผมเล่าว่า หัวหน้าของเขาตรวจรายงานทุกชิ้นอย่างถี่ถ้วนมาก แทบทุกครั้งที่ส่งเอกสารรายงานถึงหัวหน้าจะต้องมีโน้ตคำถาม หรือพบจุดผิดพลาดในงานชิ้นนั้นเสมอ หนำซ้ำยังมีเพื่อนร่วมงานที่ยึดกฎระเบียบมากจนไม่ยอมยืดหยุ่นให้แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ

คนเหล่านี้ต้องการข้อมูลครับ และหากเราไม่ใช่คนที่มีอุปนิสัยคล้ายกันนี้ เราก็จะอึดอัดและรู้สึกว่าไม่มีความคล่องตัวหรือประนีประนอมกันบ้างเลย ขณะเดียวกัน เราเองก็ไม่สามารถเลือกเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าได้ตามใจชอบ หรือเรียกร้องให้เขาเปลี่ยนแปลงความคิดวิธีทำงานให้เป็นไปตามใจเราได้ คำถามก็คือ จะทำงานกับคนประเภทนี้ให้มีความสุขได้อย่างไร ? เราจะอภิเชษฐ์ (ชื่นชมหรือ appreciate) คนเหล่านี้ได้อย่างไร ? และในทางกลับกัน เราเป็นคนประเภทไหน ? ทำอย่างไรจะทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขได้ ?

ทุกท่านคงคุ้นเคยกับการจัดคนออกเป็นประเภทต่างๆ ตามราศีเกิด และยังมีอีกหลายแนวคิดที่อธิบายความต่างของคนแต่ละประเภทเอาไว้ ปกติแล้วผมเป็นคนไม่ค่อยเชื่อการแบ่งประเภทคน หรือจัดลงกล่องต่างๆ ตามตัวแบบที่ถูกลดทอนรายละเอียด แล้วคิดสรุปเอาเองว่า "คนอย่างเนี้ย มันก็เป็นอย่างเนี้ยะแหละ" เช่น บอกว่าคนเกิดวันอังคารมีนิสัยใจร้อน คนเกิดวันเสาร์เป็นคนขยัน

แต่แนวคิดหนึ่งซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจ คือชุดการแบ่งคนสี่แบบตามทิศทั้งสี่นี้ เพราะนอกจากจะกระตุ้นนำเราไปสู่การคิด ค้นหา ตรวจสอบ และยอมรับตนเองอย่างจริงใจได้แล้ว ยังทำให้เราได้คิด ค้นหา ตรวจสอบ และยอมรับผู้อื่นอย่างจริงใจด้วยเช่นกัน

การแบ่งคนตามสัตว์ ๔ ทิศนี้เป็นความรู้จากอินเดียนแดงชนพื้นเมืองอเมริกันครับ กล่าวไว้ว่า คนเรามีคุณลักษณะตามกลุ่มหลัก ๔ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีสัญลักษณ์แทนตัวด้วยสัตว์สี่ชนิด โดยมีฐานคำอธิบายจากทิศหรือธาตุทั้งสี่ ซึ่งมีลักษณะนิสัยและรูปแบบของตนต่างกันออกไป ได้แก่

๑. หมี (บางตำรา บางเผ่าก็ว่างู) อยู่ในทิศตะวันตก เป็นธาตุดิน
๒. กระทิง อยู่ในทิศเหนือ เป็นธาตุไฟ
๓. หนู อยู่ในทิศใต้ เป็นธาตุน้ำ
๔. อินทรี อยู่ในทิศตะวันออก เป็นธาตุลม

การรู้จักลักษณะของคนแต่ละกลุ่มตามสัตว์ทั้ง ๔ ทิศนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งครับ สำหรับวันนี้ขอเริ่มแนะนำกลุ่มหมีซึ่งก็มีคุณลักษณะอย่างกลุ่มคนตามได้เกริ่นไว้ในตอนต้น เขาเหล่านี้เป็นพวกธาตุดินครับ เพราะฉะนั้นจึงมีลักษณะเชื่องช้า รักความมั่นคง เก็บตัว สันโดษ เจ้าระเบียบ เขาและเธอชอบลงรายละเอียด ชอบเสพข้อมูล ถึงขนาดบางทีหลงใหลได้ปลื้ม ตื่นอกตื่นใจไปกับมัน

นอกจากนั้นแล้ว หมียังเป็นพวกชอบการใช้หลักเหตุผล วิเคราะห์ที่มาที่ไป เห็นความถูกต้องและความยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเปรียบกับกลุ่มอื่นแล้ว หมีจะเป็นคนตรงไปตรงมา บางทีมากจนเป็นการพูดแบบขวานผ่าซาก ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งคือ หมีสามารถทำงานที่เป็น routine ได้อย่างมีความสุข ไม่มองว่ามันเป็นงานซ้ำซากจำเจ เพราะชอบความเป็นระเบียบและทำงานอยู่กับข้อมูลเป็นหลัก

หากหมีได้รับมอบหมายให้ไปซื้อของสักอย่าง หมีจะค่อยๆ เปรียบเทียบสินค้านั้นจากผู้ขายแต่ละราย หรือห้างร้านแต่ละแห่งอย่างถี่ถ้วน เช็คแล้วเช็คอีกกว่าจะตัดสินใจได้ ทั้งยังไม่ได้คำนึงถึงแต่ราคาเพียงอย่างเดียว แต่หมีจะพิจารณาด้วยว่าสินค้าจากแหล่งไหนมีคุณสมบัติและบริการสมเหตุสมผลคุ้มค่ากับราคามากที่สุด หมีจึงจะตัดสินใจ

การรีบเร่งทำงานให้ลุล่วงจบไปโดยไม่สนใจรายละเอียดวิธีการจึงไม่ใช่ลักษณะของหมีเลยครับ เช่นเดียวกับอุปนิสัยการทำงานหลายอย่างที่คุณจะไม่พบในหมี ไม่ว่าจะเป็นการออกไอเดียใช้ความคิดสร้างโครงการใหม่ๆ การให้ความสำคัญหรือแคร์ต่อความอารมณ์ความรู้สึกของเพื่อนร่วมงาน หมีจึงดูเหมือนไม่ค่อยถนอมน้ำใจผู้อื่น และถือเอาหลักการและวิธีการเป็นที่ตั้ง

ความสำเร็จในสายตาของเหล่าหมีหนุ่ม หมีสาว จึงหมายถึงการมีระบบที่ชัดเจน เป็นระเบียบ โดยทั่วไปแล้ว คุณจึงจะพบเพื่อนร่วมงานที่เป็นหมีได้ง่ายในฝ่ายบัญชีและการเงิน แต่ก็มิใช่ว่าเจ้าหน้าที่บัญชีทุกคนจะต้องมีลักษณะเป็นหมีเสมอไปครับ

กลับไปที่คำถามตอนต้น ทำอย่างไรเราจึงจะทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขได้ ? เมื่อรู้จักหมีแล้ว อยากให้คุณลองคิดในทางกลับกัน ถ้าคุณเป็นหมีเสียเอง คุณจะรู้สึกอย่างไรที่เห็นคนทำงานข้ามขั้นตอน เร่งทำงานให้เสร็จโดยไม่ทำเอกสารให้ครบถ้วน ? ทุกคนจะมีความสุขมากขึ้นไหม ? ถ้าเราเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของเพื่อนร่วมงาน

พบกันในตอนหน้า สำหรับพวก "กระทิง" ในทิศถัดไปครับ :-)