ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๔
ผมโตมายุคแรกเริ่มของการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ตอนนั้นคุณครูส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก จำได้ว่าสมัยมัธยมพวกเรานักเรียนทุนด้านวิทยาศาสตร์ (พสวท.) ได้เรียน ได้ฝึก ได้ลอง ไปพร้อมๆ กับคุณครูที่โรงเรียนเลยด้วย
แล้วผมก็ตกหลุมรักเจ้าสิ่งนี้ทันที ปิดเทอมใหญ่บางปีผมใช้เวลาอยู่ในแล็บกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ กินนอนในนั้นเลย ได้อยู่กับบ้านซึ่งห่างโรงเรียนแค่เดินถึง แบบตลอด ๒๔ ชั่วโมงแค่สองวันเท่านั้น ช่วงเรียน ม.๕ ก็ต่ออุปกรณ์ฉายรังสีแบบง่ายๆ ด้วยตนเอง ศึกษาการกลายพันธุ์ของเจ้าเชื้อ E. coli ที่ได้รับการฉายรังสี โดยดูจากความสามารถในการต้านทานยาปฏิชีวนะ
จนปัจจุบันโครงงานวิทยาศาสตร์กลายเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของการเรียน ขนาดที่เรียกสั้นๆ ว่าโครงงาน คนก็มักจะเข้าใจว่าคือโครงงานวิทยาศาสตร์ มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนทุกระดับ แพร่หลายจนน่าเสียดายที่ทำให้โครงงานมีเหลือแค่โครงสร้างและรูปแบบ ความน่าสนใจที่เคยมีแต่เดิมกลับเป็นการเพิ่มภาระให้ทั้งคนสอนและคนเรียน เราแทบจะถือว่ามันคืองานและการบ้านอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งครูต้องทำเพื่อให้มีผลงาน และนักเรียนต้องทำได้คะแนนสอบผ่าน เท่านั้นเอง
ผมจึงแทบจะเพิกเฉยและไม่ใส่ใจอะไรกับความรักเก่านี้แล้ว
แต่ระยะหลังเมื่อได้กลับมาทำหน้าที่สอนเสียเอง ผมก็หวนกลับไปค้นหาเสน่ห์และตามหาหัวใจของความรักนี้ แล้วจึงพบว่าคู่รัก “โครงงาน” ของผมเป็นได้มากกว่าแค่โครงงาน “วิทยาศาสตร์”
ในชั้นเรียนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มหิดล ผมชวนให้นักศึกษาแต่ละคนทำโครงงานเพื่อศึกษาการเปลี่ยนจิตสำนึกจากการมีประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง
เชิญชวนให้ผู้เรียนให้ลองขยับจากเอา “วิชา” (เช่น วิทยาศาสตร์) เป็นตัวตั้ง มาเอา “ชีวิตและการอยู่ร่วมกัน” เป็นตัวตั้งแทน
นักศึกษาหญิงคนหนึ่งเล่าว่าปรกติเวลากลับบ้านที่ขอนแก่น เธอก็อยู่ส่วนเธอ คุณพ่อคุณแม่ คุณตาคุณยายก็อยู่ส่วนของท่าน มาพบกันตอนทานข้าว แล้วก็แยกย้ายกันไป ดูทีวีบ้าง อะไรบ้าง แต่รอบนี้ เธอตั้งใจว่ากลับบ้านปีใหม่ จะทำโครงงานอยู่กับคุณตาคุณยายอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ คืออยู่ตรงนั้นในปัจจุบันขณะอย่างเต็มที่ เพื่อคุณตาและคุณยายของเธอ
นักศึกษาชายอีกคนรู้สึกแปลกแยก อึดอัดกับความเป็นเมืองใหญ่ของกรุงเทพ ที่ดูดกลืนทรัพยากรจากทั่วประเทศ อยากจะลองศึกษาดูว่าตนเองจะอยู่กับเมืองอย่างมีความสุข ทั้งที่รู้สึกเช่นนี้ได้อย่างไร เขาตั้งใจว่าจะลองเดินไปเรื่อยๆ ในเมือง ยิ้มและสบตากับคนที่เดินสวนกัน โดยดูว่าเขาจะสามารถอยู่รอด อยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมายโดยไม่ใช้เงิน ไม่สูบบุหรี่-ดื่มสุรา (ที่เขาติด) ได้หรือไม่
นอกจากนี้ยังมีโครงงานทดลองจำกัดพื้นที่ใช้สอยในห้องพักของตนเอง โดยได้ไอเดียจากเรื่องช้างถูกรุกรานพื้นที่ป่า โครงงานเผชิญความอายของตน ด้วยการเดินเก็บขยะไปเรื่อยๆ จากสี่พระยา-มาบุญครอง-ราชเทวี-รามาธิบดี โครงงานไปดูกระบวนการฆ่าสัตว์ในโรงเชือด เพื่อเข้าถึงความรู้สึกของช่วงเวลานั้น และศึกษาที่มาของอาหารก่อนมาถึงเรา โครงการไปลองทำนากับชาวนาที่ไม่ใช้สารเคมี และยังมีโครงการที่น่าทึ่งน่ามหัศจรรย์อีกเป็นจำนวนมาก
โครงงานมันน่าทึ่งน่ามหัศจรรย์ได้เพราะว่าเป็นสิ่งที่เขาเลือกเอง ตั้งอยู่บนฐานชีวิตของผู้เรียนเอง ครอบครัวก็ครอบครัวของเขา ความกลัว ความอึดอัด ก็เป็นความรู้สึกที่แท้จริงของเขา เรียนแล้วจะเปลี่ยนหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขา แต่อย่างน้อยเขาก็ย่อมจะได้รู้จักตัวเองมากขึ้น
แต่ละโครงงานล้วนมีพลังของชีวิตอันมีเอกลักษณ์ มีลายนิ้วมือของแต่ละคนอยู่ มันถูกขับเคลื่อนด้วยพลังธรรมชาติที่มาจากเขาเอง
แต่ละโครงงานมันสามารถช่วยให้ความสัมพันธ์ของแต่ละคนดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับตัวเขาเอง ความสัมพันธ์กับครอบครัว ความสัมพันธ์กับอาหาร ความสัมพันธ์กับโลกและจักรวาล
นี่แหละ เสน่ห์และหัวใจที่แท้ของโครงงาน
เขาว่ารักแรกพบยากจะลืมเลือน ... ก็คงจะจริง :-)
Subscribe to:
Posts (Atom)