ตีพิมพ์ในคอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2550
“บ้าจัง ทำไมต้องให้แลกของขวัญอะไรอย่างนี้ด้วย”
“ของที่เรารักก็ต้องหมายถึงของที่เราทะนุถนอม หวงแหน ให้ตายเถอะ แล้วใครจะอยากเอามาให้คนอื่น ของบางอย่างที่เรารักมันอาจไม่มีค่า ดูไร้ประโยชน์ถ้าคนอื่นได้ไป ของรักของเราอาจเป็นขยะสำหรับเค้าก็ได้นี่”
นักศึกษาชายคนหนึ่งเขียนสะท้อนกิจกรรมที่เราทำ เขาพูดถึงหนังสือ “ไม่ธรรมดา” ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ หนังสือเล่มโปรดของเขา สภาพเงาวับใหม่เอี่ยม ปกหลังในมีลายเซ็นอันงดงามของผู้เขียน ที่เขาอุตส่าห์ไปต่อแถวยาวเหยียดในงานสัปดาห์หนังสือกว่าจะได้มา
เขาเล่าว่าก่อนมาเรียนได้ตื่นแต่เช้า บรรจงละเลียดตัวอักษรอันงามงดเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะห่อด้วยใจสุดแสนเสียดายที่ต้องยกให้คนอื่นเสียแล้ว โธ่ ... ของชิ้นโปรดของเรา ต้องถึงคราบ๋ายบายแล้วหรือ
แต่ไม่ใช่เขาคนเดียวนะครับ ที่ได้ประสบการณ์เช่นนี้ ปาร์ตี้ส่งท้ายปีเก่าของชั้นเรียนวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปีนี้ เราอยากแลกของขวัญกัน ผมเลยเสนอไอเดียกิจกรรม “สละของรัก” ข้อตกลงของเราทั้งอาจารย์และศิษย์คือ พวกเราจะกลับไปค้นของในบ้านที่เราอาศัย หาของในเรือนใจ ที่จัดเป็น “ของรักของหวง” ที่สำคัญที่สุด (หรือเกือบที่สุด) มาแลกกัน โดยที่ผมอุบวิธีแลกกันเอาไว้ก่อน บอกแต่ว่านี่เป็นแบบฝึกหัดให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น ยิ่งเขาเปิดใจ ยิ่งเขาจริงใจและจริงจังกับการเลือกเฟ้นเท่าไหร่ ผลของมันก็ยิ่งน่าสนใจมากเท่านั้น
พอถึงวันงาน แต่ละคนถือของที่ตนเตรียมมาด้วยท่าทีปะปนกันไป มีทั้งหน้าตางงๆ สงสัยว่าจะมาทำอะไร อย่างไรกัน และพวกแววตาละห้อย ชักไม่แน่ใจกับการตัดสินใจของตนเองว่าทุ่มทุนสร้างมากเกินไปหรือเปล่า
นักศึกษาหญิงคนหนึ่งเอาตุ๊กตาหมีน้อยที่ตัวเองพาเข้านอนด้วยกัน กอดฝันอยู่ทุกคืนมาแลก แม้เธอจะบอกว่ามันดู “เน่า” หรือ “เยิน” จนใกล้หมดสภาพ แต่ด้วยร่วมทุกข์ร่วมสุขมานาน จึงรู้สึกใกล้ใจเสียเหลือเกิน ตอนเช้าก็เอามาลูบแล้วลูบอีก คุณแม่เห็นเข้าถามว่าจะเอาไปไหน พอบอกว่าจะเอาไปแลกกับเพื่อน คุณแม่ถึงขนาดถามว่าจะกล้าตัดใจได้ลงหรือลูก ที่พูดอยู่นี่ก็ยังกอดไม่ปล่อยเลยนะ
พวกเราเดินแลกของกันแบบเชื่อมั่นในการจัดสรรของจักรวาล เชื่อในปัญญากายของเรา ไม่ต้องคิดคาดเดา หรือพยายามให้เป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้ยินเสียงระฆัง พวกเราหยุดจับคู่แลกของสลับกับคนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ พร้อมกับกล่าวชื่นชมความดีของอีกฝ่ายด้วยความจริงใจ ได้ฝึกสืบค้นและแบ่งปันด้านบวกของกันและกัน
รอบที่สองที่เราหยุดเดินและสลับแลกของกันอีกครั้ง พวกเราได้มีโอกาสกล่าวขอโทษ และให้อโหสิกรรมกับคู่ของเรา ได้เดินทางเข้าไปยังส่วนที่หลายๆ คนไม่ค่อยคุ้นเคย และยากจะเอ่ยเหลือเกิน
รอบสุดท้าย พวกเราแลกของที่เราถือในมือ พร้อมมอบพรปีใหม่ให้แก่กัน เป็นความปรารถนาดีที่สื่อสารด้วยทั้งวาจาและใจ
เรากลับมานั่งกันเป็นวงใหญ่ และแกะห่อเฉลยว่าใครได้ของรักจากใคร แต่ละคนต่างเล่าเรื่องราวความเป็นมาของสิ่งของอันเป็นที่รัก ผมเองแม้เคยทำกิจกรรมนี้มาแล้ว แต่ทุกๆ ครั้งก็มีสิ่งน่าทึ่ง น่าประทับใจเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นความกล้าหาญของบางคนที่เลือกสละของรักอันมีตำแหน่งแห่งที่สำคัญในชีวิต ในใจของตน หรือความไว้วางใจกลุ่มจนเปิดเผยถึงชีวิตและการเดินทางที่ส่วนตัวมากๆ กับของรักของตน
รวมทั้งความ “บังเอิญ” ที่ดูเหมือนของนั้น “เลือก” คนที่จะรับ ไม่เพียงแต่คนให้มีโอกาสเลือกของเท่านั้น อย่างนักศึกษาหญิงนำตุ๊กตาหมีแสนรักมา เธอก็ได้ตุ๊กตาหมาที่เพื่อนรักของตนนอนด้วยทุกคืนไปกอดนอนแทน
หลังกิจกรรมหลายคนได้บันทึกเรื่องราวประสบการณ์การเดินทางด้านในของตนจากการละวางของรักสุดชีวิต อย่างเจ้าของหนังสือ “ไม่ธรรมดา” เล่าว่า “ด้วยความอยากให้กิจกรรมครั้งนี้ได้ประโยชน์กับเราจริงๆ ได้รู้จักการจากของที่เรารักบ้าง ... จึงไม่เอาของที่รักรองลงมา มาแทนของที่รักจริงๆ”
ไม่เพียงแต่พวกเขาได้สะท้อนถึงการเลือกสละของรัก แต่ยังได้เรียนรู้ถึงใจตนเองขณะที่แลกของกันว่า “เลือกของที่เรารักจริงๆ ได้ ก็พบกับความรู้สึกเสียดาย ต้องสู้กับความคิดข้ออ้างร้อยแปดที่จะไม่อยากเสียของที่รักไป”
สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญไม่แพ้สิ่งใด คือ การที่เขาได้เรียนรู้ว่าความคิดถึง ความห่วงหา ความรู้สึกเป็นจ้าวข้าวเจ้าของในสิ่งที่ดูว่ายิ่งใหญ่เสียจนปิ่มว่าจะขาดใจนั้น พอผ่านไปสักอาทิตย์สองอาทิตย์ความรู้สึกก็ซาๆไป เหมือนอาทิตย์ยามเที่ยง พอคล้อยยามบ่าย ย้ายเข้ายามอัสดง ย่อมอ่อนแรงลงตามลำดับ ฉันใดก็ฉันนั้น
“ความรู้สึกของวันนั้นที่ได้ ยังคงจำได้ดีว่ารู้สึกเสียดาย ... ตอนนั้นพยายามเอาข้ออ้างดีๆ มาปลอบใจ ... ถึงตอนที่เขียนอยู่นี้ไม่รู้สึกเสียดายแล้ว” นักศึกษาคนเดียวกันบันทึกไว้
นี่อาจเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่นักศึกษาประทับใจที่สุดในวิชานี้ก็ได้ ประสบการณ์การมีสติ ตั้งใจที่จะละวางของหวง ปลดบ่วงของรักที่รัดรึงเราไว้ รู้จักทิ้งสัมภาระที่เราเที่ยวแบกไปไหนต่อไหนบ้างเสียที แบบฝึกหัดง่ายๆ แค่นี้ แต่หากคนที่ทำตั้งใจ ก็จะได้เรียนรู้มหาศาล ทำบ่อยๆ ชีวิตยิ่งเบาสบายขึ้น มีความพร้อมในการสละของที่สำคัญหรือคิดว่าสำคัญต่อเรามากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
สิ่งนี้ก็เหมือนกับการเรียนรู้สำคัญๆ ในชีวิตที่ใครทำใครได้ เหมือนอาหารที่ว่าอร่อยวิเศษเพียงใด นั่งพูด นั่งพิจารณาเท่าใด ก็รับรู้ได้ไม่เท่ากับการลงมือชิมด้วยตนเอง ไม่มีใครกินหรือเรียนแทนใครได้
ของแบบนี้ใครสละของหวงได้ก่อน ก็หมดห่วงได้ก่อนเช่นกันจริงๆ
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2550
แหม ... ใกล้เทศกาลวาเลนไทน์ มาตั้งชื่อบทความแบบนี้ หลายคนอาจคิดว่ากำลังจะเล่าเรื่อง “ชาวโฮโม” โดยเฉพาะ เปล่าครับ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับทั้งชาวรักร่วมเพศและชาวรักไม่ร่วมเพศ (ฮา) นะครับ
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้มีโอกาสเข้าอบรม ทรานฟอร์เมชั่นเกม (The Transformation Game) ซึ่งเป็นเกมที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิฟินด์ฮอร์น (Findhorn Foundation) ตั้งอยู่ในชุมชนชื่อเดียวกัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสกอตแลนด์ ที่ทำงานบนพื้นฐานของการดูแลและการก่อประกอบโลกร่วมกับธรรมชาติ
กิจกรรมเปิดโอกาสให้เราได้รู้จักตนเองและเพื่อนร่วมการอบรมอย่างลึกซึ้ง อันเป็นก้าวแรกของการยอมรับและความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองโดยพื้นฐาน ขึ้นสู่ภาวะ สภาพ หรือคุณภาพใหม่ที่เราปรารถนา
พวกเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเรา ทั้งในส่วนที่เป็นเหมือนเพื่อนเก่าเรารู้จักดี ส่วนที่เป็นคนรู้จักใหม่ที่ไม่คุ้นเคย หรือแม้กระทั่งส่วนที่คล้ายคนที่เราเหม็นขี้หน้ายากจะยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของเรา แต่ละคนได้รับโอกาสให้ทำการบ้านแก้โจทย์ชีวิตเท่าที่ตนเองยินดีและยินยอมพร้อมใจ
ด้วยความที่เราเป็นกลุ่มที่สนใจเรื่องการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม (หรือจิตตปัญญาศึกษา) จึงมีคนสนใจโจทย์การปฏิบัติภาวนา การค้นหาและก้าวข้ามอุปสรรคต่อการมีสันติในเรือนใจ หรือการเข้าสู่สภาวะศิโรราบอย่างสมบูรณ์ (total surrender) แต่ก็มีหลายคนที่สนใจเรื่องความรักและความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะกับตนเอง กับเพื่อนร่วมงาน กับครอบครัว พ่อแม่ สามีภรรยา หรือกับลูกๆ กับคนที่เราแคร์เขา หรือคนที่เขาแคร์เรา รวมไปถึงความสัมพันธ์ต่อภาวะหรือสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเรา ไม่ว่าจะเรียกว่าพระเจ้า เทพ หรือกฎแห่งธรรมชาติก็ตาม
เราพบว่าหลายครั้งที่เราติดแหง็ก ติดหนึบอยู่กับปัญหา เพราะไม่ให้อภัยตนเอง เกลียดตนเอง รับตนเองไม่ได้เพราะรักตนเองไม่ได้ หรือรักตนเองไม่ได้เพราะรับตนเองไม่ได้ บ่อยครั้งเราไม่สามารถยอมรับตนเองได้ที่ตัดสินใจอะไรบางอย่างในอดีตที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เป็นปมที่คอยดึงความสนใจและทำให้เราสูญเสียพลังที่จะใส่ใจกับเรื่องที่สำคัญจริงๆ ต่อชีวิตของเรา
ผมเองนั้นเชื่อพันเปอร์เซ็นต์ว่ามนุษย์ทุกคน ... ไม่เว้นแม้แต่คนเดียว เลือกสิ่งที่ตนเองคิดว่าเหมาะที่สุด ดีที่สุด สำหรับตัวเขา ณ ขณะที่ตัดสินใจเสมอ ทุกครั้ง ... ไม่เว้นแม้แต่ครั้งเดียว
นักสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์อาจบอกว่าคล้ายคลึงกับแนวคิด Homo economicus ของพาเรโต นักสังคมและปรัชญาชาวอิตาเลียน ที่ว่ามนุษย์จะทำสิ่งที่มีผลให้ตนเองได้รับสวัสดิภาพหรือความพอใจสูงสุด บนพื้นฐานข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสและข้อจำกัดต่างๆ ของความสามารถของตนเองที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นๆ แนวคิดนี้เชื่อว่ามนุษย์ “มีเหตุมีผล” ในแง่ว่าจะเลือกทางไปถึงจุดหมาย ณ เวลานั้นๆ ได้ง่ายที่สุด แต่ก็มีนักสังคมศาสตร์หลายคนว่ามนุษย์เราไม่ได้ตัดสินใจอย่างที่อยากทำ โดยใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง โดยเจตจำนงอิสระเสมอไป เพราะยังมีแรงกดดันจากสังคม เช่นค่านิยมต่างๆ จึงเสนอว่าเราเป็น Homo sociologicus ต่างหาก อืมม์ ก็คิดต่อกันไปได้เรื่อยๆ นะครับ
จริงไหมครับที่ว่า เราตัดสินใจเลือกสิ่งที่เราเข้าใจ/เชื่อ/คิดว่าดีที่สุดสำหรับเรา ณ เวลาหนึ่งๆ เสมอ ถ้าไม่เชื่อลองนึกว่ามีครั้งไหนไหมที่ท่านเลือกทางที่ดีเป็นอันดับสองแทนที่จะเลือกทางที่ดีที่สุด? แม้กระทั่งสถานการณ์ที่เราแอบหรือนึกได้มาเปลี่ยนใจเลือกอีกอย่างหนึ่งในวินาทีสุดท้าย ไอ้ที่เราได้ตกลงปลงใจเลือกไปก็เพราะตอนนั้นเราคิดว่ามันดีที่สุดแล้ว
แน่นอน ใช่ว่าเลือกแล้วจะได้ผลที่เราคิดว่าดีที่สุดต่อเราเสมอไป ไม่ว่าจะเป็นต่อสุขภาพ ต่อสถานภาพทางการเงิน หรือต่อความสัมพันธ์ของเรา
มีประโยชน์อะไรที่เราจะไปติดอยู่กับอดีต คร่ำครวญ พิรี้พิไรรำพึงรำพันว่าโธ่ถัง รู้งี้ไม่ตัดสินใจทำอย่างนั้นดอก เพราะเราย้อนอดีตไปไม่ได้ และถึงย้อนไปได้เป็นคนเดิม ในสถานการณ์เดิม เราก็ยังจะเลือกอย่างเดิมอีกแหละ เพราะมันดีที่สุดแล้วตอนนั้น (นี่หว่า)
“ได้คิด” ดังนี้ พวกเราหลายคนที่ร่วมกิจกรรมก็ “คิดได้” และปลดปล่อยตนเองจากพันธนาการของการตัดสินใจที่ “คิดว่า” ผิดพลาดในอดีต และยกโทษให้ตนเอง จะบอกว่ายกโทษหรือให้อภัยตนเองก็คงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะพอเรารู้ว่าเราได้ทำดีที่สุดแล้วตอนนั้น กลับไปอีก ก็ทำอย่างนั้นอีก เราก็เลิก “กล่าวโทษ” ตัวเราในอดีต จึงไม่ต้อง “ยกโทษ” ให้ใครเหมือนกัน และสามารถหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุด คือ ปัจจุบันขณะ
พอเราออกจากจองจำของอดีตได้ เราก็มีดวงตาที่แจ่มใสขึ้น สามารถมองเห็นโอกาสในการจัดการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเองในปัจจุบันได้ โดยไม่ต้องไปเสียเวลามะงุมมะงาหรากับเรื่องของอดีต
บอกตัวเองว่าวาเลนไทน์นี้จะเริ่มเชื่อมั่นในตัวของเรา รักตัวเองให้เป็น อันจะทำให้รักคนอื่นๆ ได้ดียิ่งขึ้น สมกับเป็นมนุษย์ผู้มีปัญญา เพราะเราต่างก็เป็น โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) อันแปลตามอักษรว่า มนุษย์ผู้ฉลาด ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าเราจะเชื่อหรือเป็นโฮโม อีโคโนมิคัส, โฮโม โซซิโอโลจิคัส หรือโฮโมอะไรก็แล้วแต่ :-)
ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2550
การประชุมจิตวิวัฒน์เดือนมกราคมเปิดศักราชใหม่ปี ๒๕๕๐ นี้ เป็นครั้งที่ผมได้เรียนรู้มากที่สุดครั้งหนึ่ง พวกเราได้รับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิทยากรสองกลุ่ม คือ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ร่วมกันผลักดันโครงการจัดตั้งศูนย์จิตตปัญญาศึกษา และอีกท่านหนึ่งคือ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ทั้งสองโครงการต่างมุ่งสู่การยกระดับจิตวิญญาณเช่นเดียวกัน หากงานแรกเน้นที่ระบบอุดมศึกษา ส่วนอีกงานนั้นเน้นสร้างรูปธรรมให้เกิดขึ้นในระบบบริการทางการแพทย์
สมาชิกจิตวิวัฒน์ล้วนแสดงความชื่นชมและให้ความเชื่อมั่นต่อโครงการทั้งสองว่าเป็นงานที่ดี เป็นงานที่งาม จะช่วยผลักดันให้เกิดสิ่งดีงามและการปฏิวัติทางจิตวิญญาณขึ้นในสังคมได้
หลายท่านยังแสดงความห่วงใยและให้ข้อแนะนำต่อกิจกรรมที่โครงการวางแผนไว้ว่าจะเคลื่อนให้บังเกิดผลต่อสังคมวงกว้าง หรืองานใหญ่ที่ต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลากำหนด ดังเช่นการจัดทำหลักสูตรและเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท
ทว่าทัศนะการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของ นพ.ประสาน ต่างใจ ดูจะแตกต่างจากทัศนะของ อ.เอกวิทย์ ณ ถลาง ราวกับยืนอยู่กันคนละมุม
อ.เอกวิทย์ ท่านเน้นย้ำหลายครั้งว่า สำหรับงานที่ว่าด้วยการพัฒนาและบ่มเพาะชีวิตด้านในแล้วนั้น ทางคณะผู้ทำงานต้อง “คิดนอกกรอบ” เนื่องจากกรอบวิธีคิดทั่วไปที่เราใช้ในการเรียนการสอนและการบริหารงานนั้นอยู่บนคนละฐานกัน ที่สำคัญท่านได้แสดงความเป็นห่วงเป็นใยว่า “ระวังอย่าให้ขยายตัวเร็วเกินไป” พึงระแวดระวังจะเกิดเป็นเพียงปรากฏการณ์ไฟไหม้ฟาง เหมือนเรื่องดีๆ อื่นๆ ในประเทศไทย ที่ถูกจุดประกายขึ้นชั่ววูบและดับลับหายไปในโครงสร้างอำนาจและระบบราชการ
อาจารย์ท่านเปรียบเปรยไว้อย่างน่าฟังว่า “อย่าโตเร็วนัก” คือการรู้จักจำกัดตัวเอง เหมือนดั่งของดีหรือไม้แก่น ไม้เนื้อแข็งอื่นๆ ต้องผ่านการเคี่ยวกรำตนเองจนได้แก่นที่แข็งแรง ต่างจากไม้ที่โตเร็วแต่เปราะและหักโค่นง่าย การทำงานก็เช่นกัน เมื่อไม้ลงรากฝังลึกและมีแก่นแกนเข้มแข็งแล้วจึงขยายดอกออกผลไปสู่บ้านเมืองต่อไป
ส่วนท่านอาจารย์ประสานนั้น ท่านเห็นด้วยกับการผลักดันเรื่องจิตตปัญญาศึกษาอย่างยิ่ง แต่ท่านยืนยันว่าสิ่งที่เราได้เริ่มไว้นั้นคงไม่ทันเสียแล้ว ดังที่เห็นกันว่าวิกฤตสารพัดอุบัติขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคม นักวิชาการระดับโลกหลายคน เช่น เจมส์ เลิฟล็อค (ในหนังสือ The Revenge of Gaia) ต่างออกมายอมรับและทำนายถึงความเสียหายใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นกับโลกในอนาคตอันใกล้ การแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมายาวนานเช่นนี้ไม่อาจทำได้ในเวลาสั้นๆ ดังนั้น งานที่ทำนี้ต้องเร็ว สิ่งที่ต้องเร่งทำเป็นการด่วนคือ ต้องจิตวิวัฒน์อย่างรวดเร็ว สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นโดยเร็วคือการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่แค่เพียงการบรรยายการสอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมในชั้นเรียน
ผมได้เรียนรู้อย่างมากจากการแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้เอง
ในวงสนทนาดูราวกับการพูดคุยเกิดความแตกต่างระหว่างความคิดของอาจารย์ทั้งสองขึ้น หนึ่งนั้นบอกว่าให้ “ช้า” ทว่าอีกหนึ่งขอให้ “เร็ว” สมาชิกท่านอื่นๆ บ้างแสดงความเห็นคล้อยตาม บ้างก็เห็นค้านแย้ง บางท่านเห็นด้วยว่าควร “เร็ว” บางท่านเห็นด้วยว่าควร “ช้า”
หลังจากเฝ้ามองความคิดตนเองอย่างเนิ่นนาน ได้เกิดคำถามขึ้นในใจ “แต่เอ ... เป็นไปได้ไหมว่า ‘ช้า’ ของคนหนึ่งจะเร็วกว่า ‘เร็ว’ กว่าของอีกคนหนึ่ง หรือ ว่า ‘ช้า’ ของคนหนึ่งก็เท่ากับ ‘เร็ว’ ของอีกคนหนึ่ง?” คำว่าช้ากับคำว่าเร็วในที่นี้นั้นแท้ที่จริงมีความต่างกันสักเพียงไหน จะว่าไปแล้วทั้งสองคำต่างเป็นเพียงภาษาเพื่อใช้สื่อความคิดของอาจารย์ทั้งสอง “ช้า” แค่ไหนของอาจารย์เอกวิทย์จึงจะเท่ากับคำว่า “ช้า” ของอาจารย์ประสานได้ เราผู้ฟังไม่อาจรู้ได้เลย
แน่นอนว่าแม้ภาษาจะช่วยให้เราสื่อสารกันได้ แต่ในขณะเดียวกันภาษายังเป็นข้อจำกัดในการสื่อสารเช่นกัน อาทิ การพูดถึงสภาพหรือภาวะบางอย่างที่ยังไม่มีคำเรียกขานที่เป็นที่เข้าใจหรือยอมรับกัน
การใช้คำว่า “ช้า” หรือ “เร็ว” ที่จัดว่าเป็นคำที่เป็นคู่ตรงข้ามนี้ก็เช่นกัน หากพิจารณาอย่างผิวเผินแล้วย่อมเข้าใจไปได้ว่าคนที่เสนอให้ “ช้า” นั้นย่อมคิดต่างจากคนที่เสนอให้ “เร็ว” เป็นแน่
แต่สิ่งที่ผมได้รับรู้จากอาจารย์ทั้งสอง คือ ทั้งคู่ต่างมีความเห็นคล้ายคลึงกัน แทบจะไม่แตกต่างกันเลย สำหรับอาจารย์เอกวิทย์แล้ว การ “ไม่โตเร็วนัก” นั้นคือวิธีที่ “เร็วที่สุด” แล้ว หาก “ขยายตัวเร็วเกินไป” ก็จะพาลไม่เกิด ยิ่งแย่ ยิ่งช้าไปใหญ่ ส่วนท่านอาจารย์ประสานก็ไม่ได้ขัดต่อเรื่องการใช้เวลาอย่างเหมาะสม เท่าที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงของคน และสำหรับการเติบโตของงาน เพียงแต่พอท่านหนึ่งใช้คำว่า “ช้า” อีกท่านใช้คำว่า “เร็ว” เราก็อาจรีบกระโดดไปตัดสินว่าอยู่คนละมุม ยืนคนละฝั่งกัน
สิ่งที่จะช่วยให้เราไม่ตกร่องของความคิดแบ่งขั้ว แยกถูก-ผิด ขาว-ดำ ไม่ด่วนจำแนกคุณค่าของเรื่องราวเหตุการณ์ คือ การเฝ้ามองอย่างเนิบช้าและเนิ่นนาน ชวนตัวเองให้ตั้งคำถามต่อสิ่งที่ปรากฏตรงหน้า ถือทุกอย่างเป็นสมมติฐาน ห้อยแขวนการตัดสินเอาไว้ก่อน
การที่บรรยากาศของการประชุมจิตวิวัฒน์ดำเนินไปอย่างไม่เร่งรีบนี้ก็ได้เปิดโอกาสให้ทุกๆ คนได้ละเลียดกับคำพูดของกันและกัน ช่วยให้เราสามารถมองเห็นความเชื่อมโยง สามารถสร้างพื้นที่ที่รองรับความคิดที่ดูเหมือนจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงได้
กระบวนการคิดใคร่ครวญและตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ตรงหน้านี้ แท้จริงแล้วคือการไต่ลงไปตามขาวตัวยู ตาม “ทฤษฎีตัวยู” ของอ๊อตโต ชาร์มเมอร์ ที่อธิบายว่าการใช้เวลากับการเฝ้ามองดูอย่างเนิ่นนาน โดยไม่ตัดสินนี้เป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์และการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ เพราะทำให้เราสามารถสืบค้นลงลึกไปในปรากฏการณ์ที่พบ จนถึง Mental Model ณ เบื้องก้นของตัวยู