แฟนใหม่ๆ มีได้ทุกวัน


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 14 มกราคม 2550


“พี่กำลังมีเรื่องใหญ่ในชีวิตที่ต้องตัดสินใจ”

บทความที่แล้วของผมเมื่อมิถุนายนปีก่อนก็ขึ้นต้นด้วยประโยคนี้ล่ะครับ ประโยคที่รุ่นพี่สาวซึ่งผมเคารพรักมากคนหนึ่งเอ่ยกับผม แล้วผมก็ถามกลับไปทำนองว่า “จะแจกการ์ดแล้วหรือครับพี่?” เลยได้คำตอบเป็นค้อนหนึ่งวงสวยๆ เธอเล่าว่าเป็นเรื่องความลังเลที่จะตัดสินใจ “เปลี่ยน” งานต่างหาก ยังไม่ถึงกับ “แต่ง” งาน ตอนนั้นเธอบอกว่าคิดไม่ตกว่าควรเลือกที่ไหนดี เพราะต่างมีข้อดี มีโอกาสทำประโยชน์แก่สังคมทั้งสองที่ ผมได้เสนอให้ลองหาเวลาว่างๆ ออกเดทกับตัวเอง ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยใจตามสบาย ไม่ต้องพยายามอะไร แม้แต่จะคิด ลองเชื่อการทำงานของจิตไร้สำนึก (และจิตใต้สำนึก) ของเรา การภาวนาแบบง่ายๆ เช่นนี้ แบบที่ไม่ต้องอาศัยความเชื่อทางศาสนาก็ช่วยให้เราเข้าถึงคำตอบสำคัญๆ ของชีวิตได้เช่นกัน

แต่ทราบอะไรไหมครับ โลกเรานี่ก็ตลกดี ผ่านไปครึ่งปี จากที่วันก่อนค้อนควับ วันนี้กลับยิ้มเขินอาย ... อืมม์ พี่เธอแจกการ์ดจริงๆ เข้าแล้วไหมล่ะ

ท่าทางเดือนมกราปีหมูจะชมพูหวานเป็นพิเศษ เพราะรุ่นพี่ รุ่นน้อง เพื่อนฝูงต่างเป็นฝั่งเป็นฝากันใหญ่ บรรยากาศอบร่ำไปด้วยความรักหวานชื่น ดั่งว่าวาเลนไทน์มาก่อนเดือนหนึ่ง แต่คงไม่เหมือนกับฤดูใบไม้ผลิโลกตะวันตกที่มาเร็วขึ้นเพราะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงกระมัง (ฮา)

พูดถึงเรื่องแต่งงานกับเรื่องความเปลี่ยนแปลง ชวนให้นึกถึงโจ๊กที่คนมักแซวกันที่ว่า

“ผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชายเพราะคิดว่าผู้ชายจะยอมเปลี่ยน
ส่วนผู้ชายแต่งกับผู้หญิงเพราะคิดว่าผู้หญิงจะไม่เปลี่ยน”


เคยได้ยินกันไหมครับ ผมว่าเป็นตลกร้ายทีเดียว ไม่ว่าจากมุมของหญิงหรือชาย เพราะดูเหมือนจะบอกว่าผู้หญิงนั้นแต่งงานด้วยความหวังที่ว่าแม้แฟนจะมีอะไรที่ไม่ใช่ Mr. Right แบบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ก็ยอมไปก่อน อยู่ๆ ไปความรักคงจะทำให้เขาดีขึ้น ส่วนผู้ชายนั้นแต่งด้วยความหวังที่ว่าแฟนจะเป็นสาวตลอดสองพันปีอะไรทำนองนั้น

แต่แท้จริงแล้วทุกคนเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลาครับ หากดูเฉพาะกายภาพแล้วร่างกายเราก็สร้างเซลใหม่ทุกนาที แค่สิบวันเรามีเซลเม็ดเลือดขาวใหม่ทั้งหมด แค่ไม่ถึงเดือนเซลผิวหนังเดิมก็ตายและสร้างใหม่หมด ยิ่งถ้าพิจารณาดูจากทางพุทธศาสนาแล้ว ที่เราเข้าใจว่าเป็นคนเดิม ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเองหรือแฟนเรา ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่เด็กจนโตนั้นไม่ใช่เลยครับ เราเกิดขึ้นตามเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ เฉพาะขณะหนึ่งๆ แต่มีความต่อเนื่องกันเท่านั้นเอง ตัวเราตอนนี้กับตัวเราเมื่อนาทีที่แล้วก็คนละคนกัน

คนเรามักมีแนวโน้มอยากให้ตัวเองและคนอื่นมีคุณสมบัติบางอย่างที่เราชอบคงอยู่เอาไว้ตลอดไป ไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนไป ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วเราเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เมื่อตัวเราไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ตัวตนเดิมๆ เราก็มีโอกาสที่จะเป็นคนใหม่อยู่เสมอครับ แน่ละที่เราคนใหม่นั้นมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงจากเราคนเก่า มีเหตุมีกรรมที่ทำมาก่อนหน้าจะมาถึงวันนี้นาทีนี้

แม้ว่าจะมีกรรมเก่าตามเรามา แต่เรายังสามารถเลือกจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้นะครับ เป็นคนใหม่ที่เราอยากจะเห็น (คานธีว่า “[B]e the change you wish to see in the world.”) ไม่จำเป็นต้องติดอยู่กับร่องเดิมๆ เช่น หากปกติทำตัวสวีทไม่ค่อยเป็น แต่ถ้าเราบอกตัวเองว่าฉันก็ทำได้บ่อยๆ จิตไร้สำนึกของเราจะไปทำงานกับส่วนจิตสำนึก หากเราเปิดโอกาสให้ตัวเองเสมอๆ การก่อประกอบโลกของเราก็จะเปลี่ยนใหม่ สักวันก็อาจสวีทจ๋าได้ เรื่องนี้มีตัวอย่างการค้นพบ วิจัย และบันทึกกันมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกฝนทักษะด้านศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูปหรือร้องเพลง

แต่หลายครั้งเราก็จะพบว่า แทนที่จะบอกตัวเองว่าจะเปลี่ยน ตัวเราเองนั่นแหละที่พูดว่า “ฉันก็เป็นของฉันยังงี้แหละ” รวมไปถึงการมองคนอื่น มองเพื่อน มองแฟนว่า “เธอมันก็เป็นอย่างนี้แหละ เปลี่ยนไม่ได้หรอก” เหล่านี้ล้วนเป็นอาการติดกับอยู่กับความคับแคบของตนเอง กักขังตัวเราอยู่ในความคิด หรือหมุนวนอยู่ในความอึดอัดคับข้องใจไร้ความหวัง

ผมเพิ่งได้ตัวอย่างเรื่องการมองคนอื่นแบบติดอยู่กับความคิดของเราเองมาไม่นานนี้ในช่วงปีใหม่ ด้วยผมและเพื่อนได้เรียนรู้จากอาจารย์สองท่านที่เคยรู้จักแต่ก็ไม่สนิทนัก ภาพของท่านทั้งสองในหัวผมเป็นสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาหรือคิดประกอบสร้างขึ้นเอาเองจากประสบการณ์ที่เคยพบคุยนิดๆ หน่อยๆ

ในความคิดของผม ท่านแรกได้ชื่อว่าดุมาก จนเพื่อนบางคนไม่แน่ใจว่าควรจะไปเรียนกับท่านไหม บางคนเคยได้ฟังเขาลือมา บางคนก็เคยมีประสบการณ์หวาดเสียวว่า เวลาใครทำอะไรไม่เหมาะท่านมักจะเอ็ดเอาตรงๆ แรงๆ เล่นเอาคนรอบข้างหนาวไปตามๆ กัน แต่พอพวกเราได้มีโอกาสเข้าฝึกอบรม ได้ใกล้ชิดท่าน กลับพบว่าท่านใจดีมาก เวลาเตือนก็เตือนแบบทีเล่นทีจริง แบบเอ็นดูพวกเรา

อีกท่านหนึ่งเคยร่วมประชุมด้วยกันหลายครั้ง แต่ไม่เคยได้รู้จักท่านอย่างใกล้ชิดจริงๆ เคยมีภาพท่านไว้ในใจอย่างหนึ่ง แต่เมื่อได้พบกันครั้งล่าสุด ผมได้เรียนรู้จากท่านมากมาย ทั้งเนื้อหาความรู้และแรงบันดาลใจ ทำให้เกิดความประทับใจในความเป็นครูและความเป็นมนุษย์ของท่านอย่างยิ่ง ต่างจากภาพเก่าๆ ที่ผมเคยมี

ผมพบว่าคนที่ผมเจอตรงหน้าทั้งสองคนนี้ไม่ใช่คนอย่างที่เคยคิดเลย บทเรียนอันสำคัญสำหรับตัวผมเองคือ ถ้าเราตั้งป้อมกับคนที่อยู่ตรงหน้าเรา เราก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไร เพราะมัวแต่ตั้งแง่กับตัวเขาในอดีต ถ้าเราด่วนตัดสินเราก็จะไม่ได้รู้จักเขาจริงๆ คนเป็นๆ ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเวลาเดียวที่เป็นไปได้ และเป็นเวลาที่สำคัญที่สุด ดังนั้นเราจึงควรที่จะเปิดใจรับรู้ มีสัมผัสทางใจแบบไม่คาดหวัง ไม่ตัดสินเป็นหลัก

เราจะไม่มีทางได้สัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลง โอกาส และความหวังได้ ถ้าหากเรากักขังตัวเองหรือแฟนของเราอยู่ในอดีต การคิดว่าเราเป็นคนแบบนี้ หรือเขาเป็นคนเดิมที่มีนิสัยไม่เคยเปลี่ยน ไม่ช่วยทำให้เราได้สังเกตเห็นและเรียนรู้จากความเป็นปัจจุบันในตัวเราและตัวคนรัก

ลองตื่นขึ้นมาด้วยความสดใส พร้อมหัวใจที่เบิกบาน แล้วเปิดโอกาสให้ตนเองได้เปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่ คนที่เราอยากจะเป็น เชื่อในมนุษย์ทุกคนว่ามีเมล็ดพันธุ์แห่งการตื่นรู้อยู่

ตัวของเราที่ตื่นขึ้นมาในวันใหม่ไม่ใช่เราคนเดิม เราสามารถเป็นคนใหม่ได้ เราไม่ได้ถูกแช่แข็งเอาไว้กับอดีตที่เราไม่ต้องการ แฟนของเราก็เช่นกัน คนที่อยู่ข้างหน้าเราในปัจจุบันก็เป็นคนใหม่ในปัจจุบัน เป็นคนที่อุดมด้วยความหวังและโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นคนที่เขาหรือเราต้องการ

หากแฟนของเราจู้จี้ขี้บ่น เขาก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป หลายครั้งเขาก็ตกอยู่ในร่องอารมณ์เดิมๆ เพราะทั้งเราและเขาต่างก็ช่วยกันขุมร่องจนเป็นสนามเพลาะ ลึกและปรุจนไม่สามารถปีนขึ้นมาได้ แต่งานวิจัยทางสมองล่าสุดบอกชัดเจนว่าเราสามารถฝึกสมอง หรือเส้นทางการส่งข้อมูลกระแสประสาทในสมองเราได้ หากเราทำบ่อยๆ เช่นคนที่กระดิกนิ้วบ่อยๆ สมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของนิ้วก็เจริญเติบโตเป็นพิเศษ ดังนั้นหากเราต้องการเห็นแฟนเป็นคนน่ารัก ก็ต้องช่วยกันสร้างเส้นทางกลไกในสมองใหม่ๆ ที่เราปรารถนาให้เป็นเส้นทางหลัก

อยากให้ชีวิตคู่ยืนยาว ให้คู่ของเรา “ร่วมทุกข์เคียงข้าง ร่วมทางชีวิต” เราควรจะหัดมองแฟนของเราด้วยสายตาใหม่ เห็นแฟนคนใหม่ได้ทุกๆวัน :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันที่ 7 มกราคม 2550


เพื่อนๆ บางคนบอกว่าผมมักมีของขวัญปีใหม่หรือพรปีใหม่ “แปลกๆ” อยู่เสมอ ไม่ทราบว่าจริงแค่ไหน และถ้าเป็นจริงจะเป็นเพราะเหตุใด หรือเป็นเพราะว่าผมเป็นคนแปลกๆ จริง?

หากจะบอกว่าผมเป็นคนที่แปลกกว่าชาวบ้านชาวช่องประชาชนคนทั่วไปตรงไหนมากที่สุด ก็อาจจะเป็นตรงที่ผม “ชอบป่วย” ไม่ใช่ชอบที่ร่างกายเจ็บป่วยนะครับ แต่ชอบความรู้สึก ชอบความรู้เนื้อรู้ตัวขณะป่วย จะป่วยเป็นอะไรก็ได้ จะปวดหัวตัวร้อน หรือเคล็ดขัดยอก หกล้ม กระดูกร้าวหรือเป็นแผลแค่นิดๆหน่อยๆ ถ้าจะไม่นับก็อาจมีแค่ตอนป่วยการเมืองเท่านั้น (ฮา)
ที่ผมชอบตอนป่วยนั้นใช่ว่าเพื่อจะได้หยุดงานอะไรหรอก แต่เพราะการป่วยเป็นประสบการณ์เรียนรู้ที่ดีเกี่ยวกับตนเองและของตนเองมากๆ ด้วยสาเหตุหลายประการ

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่เราป่วยนั่นคือ ร่างกายเราจะทำงานต่างจากเวลาปกติอย่างมากครับ ตัวอย่างเช่น หากเราติดเชื้อหวัด พวกเซลล์เม็ดเลือดขาวและระบบภูมิคุ้มกันที่ปรกติอยู่กันเฉยๆ ก็ตื่นเต้นกันขึ้นมา พยายามวิ่งมาจับและทำลายเชื้อเหล่านี้ หากมีมากไปหรือทำลายไม่ได้ก็จะหลั่งสารพวกไซโตไคน์ทำให้เปิดวงจรอื่นๆอีก อาจยาวไปถึงสมองส่วนไฮโปทาลามัส ส่วนควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ที่เมื่อรับสัญญาณแล้วสั่งให้ร่างกายแสดงอาการ “เป็นไข้” ออกมา

แต่เอาละ ข้างในจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ข้างนอกที่เราเห็นหรือรู้สึกเป็นไข้ ก็เช่น ตัวร้อน หนาวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ไข้ขึ้นสูงหน่อยก็อาจมีหนาวจนกล้ามเนื้อกระตุก บางทีนั่งๆ นอนๆ ก็หนาวขึ้นมาซะงั้น ต้องเอาผ้ามาห่ม ซักพักก็อาจเหงื่อแตกพลั่กๆ กลับไปร้อนเสียนั่น เราไม่สามารถควบคุมสั่งการอะไรร่างกายของตัวเราเองได้เลย

โถ ... ร่างกายของเราเองแท้ๆ ยังเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ บัดเดี๋ยวหนาว บัดเดี๋ยวร้อน ตัวเราไม่ใช่ของเรา เพราะเราสั่งมันไม่ได้จริงๆ บางทีก็ปวดเมื่อย ขยับนิดขยับหน่อยก็ปวดตุบๆ ให้ได้รู้สึก

ไม่ต้องทำอะไร แค่นั่งเฉยๆดูอาการร่างกาย ผมว่าก็สนุกแล้ว

เหตุประการแรกที่การป่วยเป็นการเรียนรู้ที่ดี คือทำให้ได้มีสติรู้ตัว
เวลาป่วยนี้ความรู้สึกต่างๆ มันจะชัด มันจะสูงขึ้นอย่างมาก ทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็รู้ไปหมด ผมชอบความที่เราทำอะไรอย่างเดิมแล้วความรู้สึกมันเปลี่ยน แค่เดินเหมือนเดิม ก้าวซ้ายก้าวขวาเหมือนกันแต่กลับรู้สึกไม่เหมือนกับทุกวัน รู้สึกชัดไปหมดว่ากล้ามเนื้อตรงไหนบ้างที่แรงไปกดหรือทำให้มันยืด ตรงไหนของฝ่าเท้าบ้างที่น้ำหนักลง บางทีแค่เอื้อมมือไปหยิบแก้วน้ำก็ยังรู้สึกตัว (เพราะเกิดอาการเจ็บ) นี่ก็แปลก ก็สนุก ก็น่าตามดูไปอีกแบบ

ต่างจากชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ของเราที่ทำไปโดยไม่รู้ตัว อย่างที่อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู บอกว่าเป็น “อัตโนมัติที่หลับใหล” ตัวอย่างเช่น ขณะเราเก็บของใส่กระเป๋ากลับบ้านจนแล้วเสร็จ แต่กลับจำไม่ได้เลยว่าใส่อะไรลงไปบ้าง บางทีกินข้าวจนหมดจาน แต่จำท่าทางการนั่งขณะกินว่าเป็นอย่างไรไม่ได้เลย รสชาติอาหารเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ หรือบางคนอาจคุ้นเคยกับความเซ็งที่ต้องเดินกลับไปที่รถที่เพิ่งจอดไปแล้ว เพราะไม่แน่ใจต้องไปตรวจดูอีกทีว่าปิดล็อคประตูรถหรือยัง

แล้วก็ไม่ใช่แค่ความรู้สึกทางกายที่ไม่เหมือนเดิม วิธีคิดของเรายังไม่เหมือนเดิมอีก กิจกรรมเดิมๆ แต่ให้ความรู้สึกทางใจก็เปลี่ยนไป เช่น อารมณ์อาจจะอ่อนไหวหรือมั่นคงขึ้น คำถามอย่างหนึ่งหากถามยามปรกติกับยามป่วยอาจได้คำตอบไม่เหมือนกัน นี่ก็ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วความคิดของเราก็มีความยืดหยุ่น ไม่ได้แข็งๆ ต้องตอบสนองในร่องเดิมๆ เท่านั้น เป็นบทพิสูจน์ว่าเรามีความสามารถที่จะออกแบบชีวิตตนเองได้ ไม่หลงไปบอกกับตัวเองผิดๆ ว่า “ฉันก็เป็นคนอย่างนี้แหละ เปลี่ยนไม่ได้หรอก”

ประการที่สอง การป่วยทำให้ได้ลองมีชีวิตที่เนิบช้า ด้วยว่าขณะป่วยทำให้เราต้องทำอะไรช้าๆ อย่าว่าแต่วิ่งขึ้นลงบันไดไม่ได้เลย บางทีเดินก็ยังจะไม่ไหว คิดก็ไม่ค่อยทัน กินยังต้องกินช้าๆ ไม่สามารถ “เอา” แต่ใจตัวเองได้ เพราะร่างกายเขาไม่ “เอา” กับเราด้วย แค่คิดได้ วางใจ ไม่คิดจะ “เอา” มันก็สุขแล้วละครับ

ถ้าเราทำใจไม่ได้ ไม่รับฟังร่างกายของเรา ทั้งที่พยายามบอกเราว่าให้ทำอะไรช้าลงบ้างนะ มันทำจะไม่ไหวแล้ว (โว้ย) เราก็อาจจะต้องกลุ้มใจลนลานไปมีชีวิตอยู่กับอดีต (เช่น แหมไม่น่าไปเที่ยวเลย ดูซิติดหวัดมาจนได้) หรือมีชีวิตอยู่ในอนาคต (เช่น ตายละวา มีนัดสำคัญด้วยจะทำไงดี)

แต่ถ้าเราไม่ “วางจิตผิดที่” อยู่กับปัจจุบัน ลองฟังสิ่งที่ร่างกายเขาพยายามบอกกับเรา เราจะได้รู้อะไรดีๆ เยอะเลย หากเป็นโรคที่ไม่รุนแรงบางทีก็ลองไม่กินยาดูบ้าง ให้เราหายเอง เชื่อในศักยภาพของชีวิตเรา พักผ่อนเพียงพอ เป็นกำลังใจให้ร่างกายหายป่วย เฝ้าดูใจเราที่เดินทางไปกับร่างกายเราที่ค่อยๆ บรรเทาขึ้นมาตามลำดับ แต่เดี๋ยวนี้คนกินยากันเยอะแยะ แถมต้องกินประเภทที่แรงๆ จะได้หายไวๆ เลยไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเราเสียเท่าไหร่

เวลาป่วย ไหนๆ ก็ไปทำงานไม่ได้ ต้องนั่งๆ นอนๆ ก็ลองเฝ้าดูตัวเรา ดูใจเราก็สนุกดีครับ เวลาถูกขัดใจ ที่ทำอะไรไม่ได้ดังใจ นึกถึงคำของท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ที่กล่าวไว้อย่างเรียบง่ายและงดงามว่า “เมื่อรู้สึกขัดใจ ต้องขัดที่ใจ” นอนอยู่ไม่มีอะไรทำก็ดูจิตทำความสะอาจใจไปเรื่อยๆ ก็ดีนะครับ

ช่วงหลังแวดวงหนังสือก็มีผลงานที่น่าสนใจหลายเล่มเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างประณีตอย่างเช่น ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา (Timeless Simplicity) ที่จอห์น เลน ผู้ร่วมก่อตั้งวิทยาลัยชูมาร์กเกอร์ (ตามชื่อผู้เขียน Small Is Beautiful ซึ่งแปลเป็นไทยว่า จิ๋วแต่แจ๋ว หรือ เล็กนั้นงาม) เขียนถึงการมีชีวิตที่สร้างสรรค์ได้ง่ายๆ ด้วยการลงมือทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตด้วยตนเอง ลดการพึ่งพา แสวงหาสารัตถะในชีวิตที่เรียบง่ายแต่รุ่มรวย, หนังสือ เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น (In Praise of Slowness) ที่แบ่งปันเรื่องเล่า ข้อมูลงานวิจัยที่ชวนตั้งคำถามกับคุณค่าของการเร่งรีบทำกิจกรรมที่เป็นสุนทรียภาพแห่งชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการงาน การกิน พักผ่อน ออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งเซ็กซ์, หรือ เงินหรือชีวิต (Your Money or Your Life) หนังสือขายดิบขายดีในหมู่ผู้บริหารที่ตั้งคำถามกับสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต และอีกหลายเล่ม หนังสือเหล่านี้ช่วยให้เราได้ปรับลดเกียร์ให้ต่ำลง แวะชมความงามของชีวิตและธรรมชาติบ้าง ไม่ใช่ใส่เกียร์ห้าวิ่งตะบึงไปข้างหน้าแต่อย่างเดียว

ประการที่สาม การป่วยได้ให้ข้อสรุปที่เราปฏิเสธไม่ได้ คือ การ “ยอม” ยอมรับว่าเราก็ไม่ใช่ (และไม่จำเป็นต้องใช่) คนแข็งแรงเสมอไป ยอมรับว่าโลกนี้เป็นโลกของความสัมพันธ์ เราไม่ได้อยู่คนเดียวและไม่สามารถอยู่คนเดียว ยอมรับที่จะรับความปรารถนาดีของผู้อื่น ยอมรับว่าเงินนั้นแม้จะซื้ออะไรหลายๆ อย่างได้ แต่ก็ไม่ได้ซื้อได้ซะทุกอย่าง บางทีพอได้นึกอย่างนี้ก็สบายใจอย่างยิ่ง

ประการสุดท้าย การป่วยไม่ว่าเล็กน้อยหรือใหญ่โตก็ถือเป็นแบบฝึกหัดสำคัญระหว่างการเดินทางของชีวิต ให้เราได้เตรียมพร้อมกับการสอบไล่ครั้งสำคัญที่สุด เมื่อยามต้องทิ้งร่างนี้ไป การสอบที่ทุกคนต้องเผชิญ ไม่ว่าจะอยากหรือไม่ จะพร้อมหรือไม่ก็ตาม แต่หากเรารู้ว่าเราอยากจะตายอย่างไร เราก็จะรู้ว่าเราควรจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร

การป่วยที่ทำให้เราได้เข้าใจและยอมรับความจริงของชีวิตตามธรรมดาธรรมชาติ ได้มีสติรู้ตัว อยู่กับปัจจุบัน ทำอะไรให้ช้าลง ทำแต่ละอย่างก็รู้เนื้อรู้ตัวไปด้วยแบบเป็นธรรมชาติ นี้ถือเป็นของขวัญชิ้นงามจากธรรมชาตินะครับ บางคนต้องไปฝึกตั้งนานสองนาน บางคนต้องไปสมัครเข้าเรียนในคอร์สฝึกอบรมต่างๆ หลายๆ ครั้งละหลายๆ วัน กลับมาแล้วก็ยังทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ว่านี่ป่วยอยู่เฉยๆ ก็สามารถทำได้ ถ้าไม่เรียกว่า Blessing in disguise (พรจำแลง) จะเรียกว่าอะไร?