ปัญญาจาริก




ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๕

มาสิมาล้อมวง เรามานั่งลงใกล้ๆกันไว้

เธออย่าเพิ่งไปไหน มีอะไรจะเล่าให้ฟัง"

นักศึกษาหนุ่มในชั้นเรียนร้องเพลงของ ศุ บุญเลี้ยง ด้วยเสียงนุ่มๆ แต่โอดครวญ เพื่อนและทีมอาจารย์ผู้สอนนั่งฟังอย่างตั้งใจ

ทุกคนใช้สัปดาห์สุดท้ายของการเรียน แลกเปลี่ยน เพื่อสรุป สะท้อน ประเมินการเรียนรู้ของกลุ่มร่วมกัน ในวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา: ทฤษฎีและปฏิบัติ ของคณะวิทยาศาสตร์ มหิดล

เนื้อหาของวิชา ถูกนำมาศึกษาผ่านการฝึกฝนที่หลากหลาย เช่น สุนทรียสนทนา (Dialogue) การเช็คอิน-เช็คเอาท์ การภาวนา การอยู่วิเวกคนเดียวในสภาพธรรมชาติ การอ่านและวิจารณ์หนังสือที่เปิดโลกทัศน์ การเขียนบันทึก (Journal) รวมไปถึงการเรียนรู้จากตัวอย่างนักคิดนักปฏิบัติตัวจริงเสียงจริง ที่มีความสุขจากการทำงานที่มีความหมาย มีปัญญา มีจิตกว้างขวาง ไม่คับแคบ

วันนี้พวกเราใช้กระบวนการ จิตตศิลป์ (Contemplative Arts) ในการประเมิน เพื่อให้สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์และญาณทัศนะในการมองชั้นเรียนและชีวิตอย่างเป็นองค์รวม ใช้สมองซีกขวาควบคู่ไปกับสมองซีกซ้ายที่มหาวิทยาลัยฝึกให้ใช้จนเชี่ยวชาญ ในการคิดวิเคราะห์ อย่างเป็นเหตุเป็นผล อย่างเป็นวิทยาศาสตร์

เทคนิคการวาดภาพ Scribble ถูกนำมาใช้ ให้ทุกคนสร้างสรรค์งานสื่อถึงความเข้าใจใหม่ที่เกิดขึ้นในตัวเอง บอกเล่าการเรียนรู้หรือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เกิดขึ้นกับตนเอง ผลที่ได้มหัศจรรย์ ศิลปะกว่ายี่สิบผลงานล้วนไปพ้นจากภูเขาสองลูกและพระอาทิตย์หนึ่งดวงที่ครอบเรามาเกือบยี่สิบปี พร้อมทำลายอคติเดิมๆ ที่หลายคนบอกกับตนเองว่า "โอ๊ย เราวาดรูปไม่เป็นหรอก"

แม้บางรูป อารมณ์หรือโทน อาจจะคล้ายกัน ทว่าแต่ละชิ้นดูแตกต่าง ดูมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ที่สำคัญ คือ งดงามในตัวมันเอง มันชัดเจนว่า "สวยทุกรูป" บอกไม่ได้เลยว่าชิ้นไหนสวยกว่ากัน

นี่เองกระมัง เลยทำให้นักศึกษาชายคนหนึ่งขออนุญาตร้องเพลง ที่เขารู้สึกอิน รู้สึกว่าใช่ ต้องแบ่งปัน ณ เวลานั้น บทเพลงเล่าถึงดาวดวงหนึ่งที่รู้สึกว่าตนเองไม่สวย ถูกกลั่นแกล้งโดยดาวที่สวยกว่าดวงอื่นจนอับอาย จึงละทิ้งท้องฟ้ามาอยู่ในท้องทะเล พบว่าปลาแต่ละตัวหน้าตาแตกต่างกันไป จึงกลายเป็นปลาดาวที่มีความสุขในที่สุด และลงท้ายว่า แม้เราจะแตกต่างจากคนอื่น อย่ากลัวว่าจะไม่เหมือนใคร แค่ให้เราเป็นตัวของเราเองก็พอ

เสียงเพลงและงานศิลปะที่งดงาม ช่วยเปิดและชี้ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้น คือ การรู้จักตนเอง ที่นำไปสู่ความจริงใจ การยอมรับ และการโอบอุ้มดูแลทุกคนในชั้นเรียน

พวกเขาได้พูดสิ่งที่ผมอ่านในบันทึกของพวกเขาทุกสัปดาห์ คือ ความรู้สึกว่าตนเองแปลก ต้องพยายามให้เป็นที่ยอมรับ รู้สึกว่าชีวิตนั้นยาก และบ่อยครั้งก็โดดเดี่ยว ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครเข้าใจ แต่พวกเขาก็ได้แต่เก็บความรู้สึกเช่นนี้ไว้คนเดียว แบบว่า "นึกว่าเราเป็นคนเดียว"

มาในชั้นเรียนนี้ ทุกคนฝึกที่จะฟังอย่างลึกซึ้ง ให้ความเคารพ ห้อยแขวนการตัดสิน ฝึกที่จะเปิดเผยตนเอง อย่างสด เปลือย เปราะบาง และชื่นชมความเงียบ สิ่งที่พวกเขาได้รับเองโดยไม่ผ่านการบรรยาย ก็คือมิตรภาพ คือความเข้าใจกัน ต่างบอกว่ารู้จักและสนิทสนมกันมากกว่าที่อยู่กันมาสามปีเสียอีก

ตอนท้าย พวกเราตั้งชื่อให้กับการเดินทางของตนเอง นักศึกษาชายหนุ่มที่สุภาพ เรียบร้อย พูดน้อยที่สุดของชั้นเรียน เลือกวลีที่ไพเราะมาก The Pilgrimage of Life เป็นการจาริกของชีวิต ไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่เราสร้างขึ้นมาร่วมกัน เพื่อเติบโตและค้นหาตนเอง


ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๕

ตัวเลขดิจิตอลบนหน้าปัทม์นาฬิกาบอกเวลาหกโมงเย็น แม้ชั้นเรียนจะเริ่มมาบ่ายโมงครึ่งและเลยเวลาเลิกเรียนไปแล้วพักหนึ่ง ผมก็ยังวางใจ เพราะนักศึกษาที่มีธุระข้างนอกก็ได้พูด "เช็คเอาท์" (check out) และขอตัวกลับไปก่อน ที่ยังเหลืออยู่ ก็ดูเต็มใจและอยู่ด้วยกันอย่างร้อยเปอร์เซนต์

เช็คเอาท์เป็นช่วงเวลาตอนท้ายที่ทุกคนได้มีโอกาสพูดแบ่งปัน สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในคลาสวันนั้น อาจจะบอกเล่าความประทับใจ การเรียนรู้ที่เขารู้สึกว่าสำคัญหรือโดนที่สุด หรือบอกเล่าความสุขความทุกข์ สิ่งที่อยู่ในใจของชีวิตช่วงนั้น หรือจะเป็นอะไรก็ได้ ขณะเช็คเอาท์เราอยู่ด้วยกันจริงๆ ให้ความสำคัญกับแต่ละคนและทุกๆ คนที่อยู่ตรงหน้า ณ พื้นที่นั้น การได้ยินกันและกันสำคัญเหนือทุกสิ่ง

ปรกติแล้วสำหรับคลาสที่มีนักศึกษา 15 คนบวกทีมผู้สอน เราใช้เวลาเช็คเอาท์กันประมาณครึ่งชั่วโมง เราจึงใช้เวลาในคลาสสี่ชั่วโมง สำหรับวิชาสามหน่วยกิต ถึงแม้ได้หน่วยกิตน้อยกว่าวิชาอื่นๆ ที่ใช้เวลาเท่ากัน แต่ก็ยังมีนักศึกษาเลือกลง อาจเป็นเพราะผู้เรียนเชื่อว่าจะได้อะไรมากกว่าหน่วยกิต อาจเป็นเพราะเขาเชื่อว่าจะได้ฝึกรู้จักกัน ได้ฟังกันจริงๆ ในวิชานี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเช็คเอาท์ในสัปดาห์นี้ นักศึกษากำลังมีความตึงเครียดจากการเตรียมงานค่ายที่สำคัญ เป็นงานใหญ่ที่พวกเขาทั้งรุ่นจะได้รับผิดชอบเป็นหลักร่วมกันเป็นงานสุดท้ายในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ แต่งานนี้ก็ทำให้เพื่อนหลายคนบาดเจ็บ จากความความต้องการให้งานออกมาดี และทั้งจากความปรารถนาดีที่มีให้กัน เพียงแต่ยังพร่องทักษะการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารในที่ประชุม

ช่วงเช็คเอาท์ จึงกลายเป็นพื้นสำหรับโอกาสในการเรียนรู้และทำความเข้าใจกัน แม้เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นบทสนทนาเพื่อดูแลความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องและยาวนาน แต่ก็งดงามที่ได้ริเริ่ม

การใช้ชีวิต การทำงานร่วมกันนั้น ไม่ได้ง่ายเสมอไป เรื่องราวที่เล่าในเช็คเอาท์จึงทำให้สั่นไหว ถึงกับร้องไห้หลายคน

ในพื้นที่ของสุนทรียสนทนา (Dialogue) ทุกคนฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง ห้อยแขวนการตัดสิน เคารพในการเข้าถึงไม่หมด พูดอย่างสด-เปลือย-เปราะบาง และชื่นชมวัฒนธรรมความเงียบ พวกเขาได้แบ่งปันเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากมุมมองของตนเอง เขาได้กล้าและไว้วางใจที่บอกกันตรงๆ และจริงๆ เพราะต่างรู้ว่าทุกคนกำลังพยายามที่จะได้ยินกันจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ฟังแต่ไม่ได้ยิน (hearing but not listening)

หลังจากได้ยินพูดกันเกือบครบรอบวง นักศึกษาคนหนึ่งแบ่งปันว่า เขาประทับใจมากที่ทุกคนรวมถึงอาจารย์ใส่ใจ ให้เวลาในการดูแลกันและกัน

"ขอเช็คเอาท์เพิ่มอีกหน่อย คือ ผมอยากจะพูดจากความรู้สึก ต่อจากเมื่อกี๊น่ะครับ คือ สามปีที่เรียนผ่านมาเนี่ย วันนี้เป็นครั้งแรกที่ผมสามารถเรียกมหิดลว่า 'บ้าน' ได้ รู้สึกว่าอบอุ่นมาก มันอบอุ่นและเชื่อได้อย่างหมดใจว่านี่คือบ้านของผม อันนี้มันมาจากความรู้สึกจริงๆ ครับ อยากจะขอบคุณอาจารย์มาก ขอบคุณครับ"

เขากล่าวจบพร้อมกับยกมือไหว้ เป็นการไหว้ที่ผมจะจำไปตลอด ตอนนั้นทั้งขนลุก ทั้งน้ำตาซึม

วันที่น่าประทับใจที่สุดวันหนึ่งของความเป็นคนและความเป็นครู วันที่รุ่นน้องของเรา เรียกสถาบันการศึกษาของเขาและของพวกเราว่า "บ้าน" … จะไม่ให้เราเรียกวันนี้ว่าเป็นวันที่น่าประทับใจที่สุดได้อย่างไร ในชีวิตความเป็นครูมหาวิทยาลัยจะเกิดขึ้นกับกี่คนและกี่ครั้งกัน

ขณะเดินออกจากมหาวิทยาลัย คำพูดนักศึกษายังก้องอยู่ในโสตประสาท

หรือว่ามหาวิทยาลัยมีความเป็นบ้าน เมื่อผู้คนข้างในเรียนรู้ที่จะฟังกันอย่างใส่ใจ ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์และความเข้าใจ ก่อนจะพยายามไปแก้ไขปัญหา