ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ 26 สิงหาคม 2555
ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก
แต่ก่อนผมไม่ค่อยสนใจสำนวนไทยนี้สักเท่าใด ตอนเด็กๆ ครูสอนให้ท่อง เราก็ท่อง (เพื่อไปสอบ) แต่ผมไม่เคยสงสัยว่าจริงหรือไม่ และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ครั้นโตมาก็ได้ยินคนนำไปใช้อยู่เนืองๆ ประมาณว่าใช้กล่าวกระทบกระเทียบบรรดาผู้ใหญ่ที่ดื้อ คือ ไม่ค่อยจะยอมเปลี่ยนแปลง
คีย์เวิร์ดหรือคำสำคัญคือคำว่า 'ยอม' กระมัง?
ตอนยังเด็กเล็กๆ แต่ละคนจะมีช่วงเวลาที่เรายอมให้กันง่ายๆ อาจเป็นขนม ของเล่น บางทีก็เป็นโอกาสที่จะได้รับอะไรดีๆ เช่น ได้เล่นเครื่องเล่นหรืออ่านหนังสือการ์ตูนก่อน หรืออาจเป็นยอมให้อภัยคนที่ทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ ทะเลาะกันวันนี้ พรุ่งนี้ก็กลับมาเล่นกันใหม่ ยังไงก็ยังเป็นพี่น้อง เป็นญาติ เป็นเพื่อนกันอยู่ดี
ครั้นเติบโตมา มีการมีงานเป็นหลักเป็นฐาน แค่การขอให้เพื่อนร่วมงานไปประชุมแทน หรือทำงานง่ายๆ ให้สักอย่าง พอเขาไม่ยอมตามที่ขอ ก็โกรธขุ่นข้องหมองใจ คนที่เป็นฝ่ายขอก็กลายว่ารู้สึกเสียหน้า พาลไม่พูดไม่ทักกันไปเป็นเดือน บางทีนานจนแทบจำไม่ได้ว่าโกรธกันด้วยเรื่องใด
แล้วอะไรหนอที่ทำให้เราดัดหรือยอมได้ยาก? อาจจะเป็นประสบการณ์ในการใช้ชีวิตของเรา โดยเฉพาะตอนที่เราต้องเผชิญกับโจทย์ชีวิตยากๆ ทำให้ต้องเป็นหรือต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อที่จะอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางจิตใจ แล้วเราก็บอกตัวเองว่าต้องเป็น ต้องทำแบบนี้ถึงจะโอเค ถึงจะปลอดภัย
ยิ่งโตขึ้น ความเชื่อเหล่านี้ยิ่งมากและยิ่งแข็งแรง เราพร่ำบอกและตอกย้ำว่าเราเป็นคนเช่นนั้นๆ อยู่เสมอๆ โดยเราไม่รู้ตัว บ่อยครั้งก็ด้วยการปลูกฝังความเกลียดชังหรือความเป็นอื่นให้กับคนที่มีคุณสมบัติที่เราไม่ชอบ
แต่ยิ่งเราเกลียดหรือถอยห่างจากคนที่ต่างจากเราแค่ไหน เรายิ่งไม่สามารถยอมให้เราเองมีคุณสมบัติเช่นคนนั้น (แม้ว่าบ่อยครั้งเราก็ต้องการคุณสมบัติเช่นนั้นบ้าง)
หากเราเกลียดคนที่ดูเหมือนว่าบ้าอำนาจ เราอาจจะยิ่งไม่สามารถยอมให้ตนเองเป็นคนที่กล้ารับผิดชอบและตัดสินใจคนเดียวอย่างเด็ดขาด
หากเราบอกตัวเองว่าเราไม่เก่งศิลปะ เรายิ่งไม่ยอมเปิดโอกาสให้ตนเองได้ลองสนุกกับเส้นสายลายสีได้อย่างวางใจ
ในงานอบรมจิตตปัญญาเพื่อพัฒนาศักยภาพกระบวนกรหรือผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ขององค์กรด้านจิตอาสา คำที่ผู้เข้าร่วมอบรมชอบกันมาก คือ คำว่า 'ยอมให้' ไม่ใช่ยอมให้คนอื่นคนไกลที่ไหน แต่ยอมให้ตนเอง คือ ยอมอนุญาตให้ตนเองเปลี่ยน เปลี่ยนไปเป็นคนที่ตนเองเคยบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ฉันไม่ใช่คนเช่นนั้น
ชายหนุ่มหน้าเข้มเสียงเข้มหัวหน้าองค์กรชั้นนำของประเทศด้านการทำบ้านดิน แบ่งปันการเรียนรู้ในตอนท้ายของการอบรมว่า "ขอบคุณงานอบรมครั้งนี้ ที่ทำให้ผมได้เปิดตนเอง มีมิติด้านจิตใจมากขึ้น ได้ลองทำงานศิลปะ แต่ก่อนจะไม่กล้าเลย บอกตัวเองว่า 'เราวาดรูปไม่เก่ง' เพราะตอนเด็กๆ ครูมักให้คะแนนแค่ 5 จากเต็ม 15 คะแนน"
น่าประทับใจที่แค่การเรียนรู้ด้วยกันไม่กี่ครั้ง เขากลับ 'ยอม' ให้ตนเองเปลี่ยนเป็นอีกคนหนึ่ง
"เรื่องจิตใจนี้ก็เปลี่ยนมาก เมื่อก่อนคุยก็จะใช้แต่เหตุผลล้วนๆ ใครไม่คุยเหตุผล ผมจะไล่ไปไกลๆ เลย และก็ไม่ให้ความสำคัญเรื่องอารมณ์ความรู้สึกคนอื่น ... เดี๋ยวนี้คุยกันก็ฟังกันมากขึ้น กลายเป็นคนอ่อนโยนขึ้นมากเลยครับ"
ฟังแล้วทำให้ผมชักไม่สนใจว่า ไม้จะแก่หรือจะอ่อน หรือจะดัดยากหรือดัดง่าย เพราะสำหรับผมแล้วทุกคนดัดได้เสมอ และไม่ใช่เพราะว่าการดัดนั้นต้องใช้วิธีอะไร แต่เพราะเรานี่แหละที่พร้อมยอมให้ดัดตัวของเราเอง
ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ 19 สิงหาคม 2555
เสียงเคาะประตูดังขึ้น ผมเงยหน้าขึ้นมาจากงานบนโต๊ะ เห็นลูกศิษย์ที่นัดไว้เปิดประตูเข้ามาหา เขาฉีกยิ้มกว้างแบบที่ผมจำได้แม่น
"สวัสดีครับอาจารย์ ผมมาลาอาจารย์ครับ"
"อ้าว!" ผมแปลกใจ วางงานลง พากันเดินมานั่งคุยที่โซฟาห้องโถง ไต่ถามความเป็นมาเป็นไปว่าจะลาไปไหน จึงได้ทราบว่า "ผมจะไปเรียนต่อปริญญาเอกครับ"
ความแปลกใจก็ยังไม่หาย เพราะเห็นเขาเพิ่งได้งานใหม่ที่สถาบันชื่อดังแห่งหนึ่งของรัฐ อีกได้ข่าวว่ากำลังสนุกกับการเดินทางไปทำวิจัยทั่วประเทศ เขาเล่าว่าพอดีมีโอกาสเรียนต่อเข้ามา ได้รู้จักกับอาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านที่สนใจ จึงตัดสินใจไปเรียน ด้วยว่าจะไปเรียนถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมากราบลา
มาลัยดอกมะลิพวงงามที่เตรียมไว้ถูกหยิบออกมา เขาย่อตัวลงนั่งคุกเข่าที่พื้นห้อง พนมมือที่ถือพวงมาลัยกลิ่นหอมขึ้น ตอนนี้เพื่อนๆ ของเขาก็มานั่งใกล้ๆ ด้วย เขาขออนุญาตทำพิธีขออโหสิกรรม โดยออกตัวว่ารูปแบบและถ้อยคำที่จะกล่าวก็จำจากที่เห็นมา ไม่แน่ใจว่าจะถูกต้องครบถ้วนแค่ไหน
ชายหนุ่มนิสัยเรียบร้อยเอื้อนเอ่ยคำขออโหสิกรรมอย่างชัดถ้อยชัดคำ น้ำเสียงเต็มไปด้วยความมั่นใจ แฝงความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างยิ่ง
ทุกสิ่งทุกอย่างในห้องหยุดลง ความตั้งใจทั้งหมดทั้งมวลของทุกคนอยู่ที่กิจกรรมนี้ คุณภาพของความตั้งใจดังกล่าวทำให้พิธีกรรมเรียบง่ายศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาทันที
หลังจากคำอโหสิกรรม เขาเล่าถึงบางช่วงของการเส้นทางชีวิตตั้งแต่ได้เจอชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ที่ผสมผสานกระบวนการจิตตปัญญาของเราว่ามันมีความหมายเช่นไร คำพูดเขาทำให้ผมย้อนระลึกถึงเด็กหนุ่มที่ก้าวเข้ามาเรียนในวิชาเลือกที่ผมสอนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เขาวันนั้นกับวันนี้เรียกได้ว่าต่างกันเป็นคนละคน
เด็กวันก่อนซึ่งก็ไม่ต่างกับเด็กเรียนทั่วไป ที่ขยัน เก่ง และรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะสอบได้คะแนนเยอะ ทำผิดทำพลาดก็เคย ปัจจุบันได้กลายเป็นชายหนุ่มที่มีความสามารถในการรู้จักตนเอง เครื่องมือการเรียนรู้ที่หลากหลายทางจิตตปัญญาทำให้เขาได้พัฒนาด้านหรือมิติที่ไม่เคยเห็นหรือยอมรับมาก่อนของตนเอง ทำให้เป็นคนที่มีความเป็นมนุษย์และรอบด้านมากขึ้น อีกทั้งความสัมพันธ์กับทุกคนที่บ้านก็ดีขึ้น ไม่ว่ากับคุณตา คุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ น้า หรือพี่สาว กับความสัมพันธ์ยากๆ ที่แต่ก่อนเขานึกไม่ออกเลยว่าจะทำให้คลี่คลาย เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้อย่างไร มาบัดนี้สมาชิกครอบครัวสามารถแสดงออกถึงซึ่งความรักความเข้าใจกันได้อย่างอิสระมากขึ้น เป็นที่พึ่งของเพื่อนร่วมงาน ช่วยทำให้บรรยากาศที่ทำงานเป็นมิตร ผู้คนใส่ใจให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์
"ผมตั้งใจจะทดแทนบุญคุณของอาจารย์ครับ แต่ต้องไปเรียนต่างจังหวัด ระหว่างนี้ผมจะขอทำความดี เป็นคนดี และน้อมนำเอาสิ่งที่อาจารย์สอนไปปฏิบัติเพื่อทดแทนคุณนะครับ"
ถ้อยคำที่กล่าวอย่างหนักแน่น ทำเอาผมตื้นตันอย่างมาก ย้อนระลึกถึงนับตั้งแต่วันที่ได้เริ่มมาเป็นครูแล้ว ก็ได้พบได้เจอประสบการณ์ดีๆ มาก็ไม่น้อย แต่ช่วงเวลาเช่นนี้ที่ได้เห็นการเติบใหญ่ของศิษย์ ไปสู่การเป็นมนุษย์ผู้มีความพร้อมในการดูแลตนเองและครอบครัว มีความเข้าใจในตนเองและโลก ช่างเป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่และมีความหมายมากสำหรับความพยายามทั้งหมดที่ได้ทุ่มเทไปในฐานะครูคนหนึ่ง
ขอบพระคุณคุณพ่อ คุณแม่ ที่ได้ให้ชีวิต ขอบพระคุณครูบาอาจารย์ผู้อบรมขัดเกลา ทำให้ผมได้ทำงานนี้ งานที่ได้เป็นประจักษ์พยานการเปลี่ยนผ่านของศิษย์ เป็นงานที่เติมเต็มความหมายให้ชีวิต
ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ 5 สิงหาคม ๒๕๕๕
ตรงนี้ได้คนหนึ่ง" พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล พูดพร้อมกับชี้ไปยังพื้นที่ที่ดูค่อนข้างเหมาะ
ที่ว่าค่อนข้างเหมาะนั้นหมายถึงที่พื้นดูค่อนข้างเรียบและโล่ง แม้จะเป็นพื้นดินในป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ก็ไม่มีพืชคลุมดินหรือไม้พื้นล่างที่ขึ้นหนาแน่นเกินไป เศษใบไม้ที่ร่วงหล่นและกำลังถูกย่อยสลายก็ไม่หนาจนอาจมีงูเงี้ยวเขี้ยวขอที่อาจเป็นอันตราย ผมเงยหน้ามองไปข้างบนต้นไม้ใหญ่ไม้เรือนยอดก็มีพอจะเป็นแนวบังแดดที่มีอยู่ให้ดูรำไร ไม่มืดจนน่ากลัว แต่ก็ไม่จ้าจนร้อน อากาศก็ดูถ่ายเทได้ดี ไม่อับ
ผมหันกลับไปแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ฝรั่งที่เดินตามมาเป็นแถวเรียงหนึ่งทราบ พวกเขามองหน้ากันไปมาสักพักก็มีคนพยักหน้า ทำนองให้สัญญาณว่า "ฉันเลือกที่นี่แหละ" แล้วเดินตรงไปยังจุดดังกล่าว สำรวจไปรอบๆ หาตำแหน่งเหมาะๆ แล้วเอาเป้สัมภาระวางลง
พวกเราค่อยๆ หาตำแหน่งและปล่อยชาวต่างชาติเหล่านี้อยู่ในป่าภูกลาง อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ตามลำพังทีละคน แต่ละคนอยู่ห่างกันพอให้ไม่เห็นกัน ส่วนเราไปหยุดพักที่ริมผา สนทนากันสักครู่ ก็ได้เวลาพระท่านฉันเพล ผมรับประทานข้าวกล่อง ตั้งใจกินอย่างรู้เนื้อรู้ตัว จากนั้นก็แยกย้ายกันภาวนาหรือพักผ่อนตามอัธยาศัย
สองสามชั่วโมงถัดมา ได้เวลานัดหมาย พร้อมๆ กับสายฝนที่เริ่มโปรยปรายลงมา พวกเราเดินย้อนกลับไปทางเก่า ผ่านแต่ละจุดที่ปล่อยฝรั่งเหล่านั้นไว้ แล้วเดินกลับออกมาด้วยกัน
ที่ริมป่าพวกเราได้นั่งสนทนากันถึงช่วงเวลาการอยู่คนเดียวในป่าประมาณสี่ชั่วโมงที่ผ่านมา คุณครูสอนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมต้น จากเมาท์วอชิงตัน รัฐเคนตักกี้ สะท้อนว่านี่เป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดของเธอ
"หลังจากเลือกที่ได้แล้ว ฉันวางของลง สาละวนกับการจัดที่ทางให้พร้อม จุดธูปไล่แมลง ทำนู่นทำนี่สารพัดอย่างค่อนข้างหงุดหงิดรำคาญ กว่าจะได้นั่งภาวนาก็พักใหญ่ มองนาฬิกาถึงได้รู้ว่าผ่านไปหนึ่งชั่วโมงกว่าแล้ว พอนั่งลงพักก็พบว่ามันสบายมากกับแค่กลับมารู้เนื้อรู้ตัว มันทำให้ฉันตระหนักว่าที่ผ่านมาฉันเองก็ใช้ชีวิตแบบนี้แหละ กระสับกระส่ายกับการจัดการเพื่อให้ฉันสบาย ทั้งๆ ที่มันง่ายๆ แค่การได้อยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง"
เธอเป็นคนในหนึ่งในคณะของชาวอเมริกันราว 20 ชีวิต ประกอบด้วยครู นักการศึกษา นักสื่อความหมายธรรมชาติ ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบ และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย เขาเหล่านี้จ่ายเงินบินข้ามน้ำข้ามทะเลครึ่งโลกมาเรียนรู้เรื่อง "พุทธศาสนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ" ในโครงการ Earth Expeditions ซึ่งเป็นความร่วมมือของกลุ่มจิตตปัญญาวิถี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยไมอามี และสวนสัตว์ซินซิเนติ สหรัฐอเมริกา
พวกเขาได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักคิดนักปฏิบัติด้านจิตตปัญญาชาวไทย ถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดสมดุลของการเรียนรู้เนื้อหาเรื่องราวภายนอก ไปพร้อมๆ กับการรู้จักรู้ใจตนเอง สามารถเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งเก่งและทั้งงามจากภายใน มีความอ่อนโยนต่อชีวิตและอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่น สรรพชีวิต และธรรมชาติได้นั้นอย่างสอดคล้องสมดุล
ประสบการณ์ที่พวกเขาได้พบเป็นประสบการณ์จิตตปัญญาที่อยู่บนฐานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของไทย ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นสากล และทำให้เราได้สะท้อนเห็นตัวเองชัดยิ่งกว่าบทเรียนตามตำรา
เธอผู้นี้กล่าวทิ้งท้ายถึงประสบการณ์สำคัญว่า "นี่คงเป็นครั้งท้ายๆ ในชีวิตแล้วที่ฉันจะเสียเวลากับการมัวจัดการกับสิ่งนอกตัวมากมายขนาดนี้"
Subscribe to:
Posts (Atom)