ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2550


“สิ่งที่กำลังจะได้เรียนรู้ร่วมกันในไม่กี่สัปดาห์ต่อไปนี้ อาจจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ กับพวกเธอเลยก็ได้”

หลังจากผมเอ่ยทักนักศึกษาครั้งแรกที่เราเจอกันเช่นนี้ ห้องที่เด็กๆ คุยกันแซ่ดเป็นนกกระจอกแถวตลาดสดแตกรังก็เงียบลง นักศึกษาดูงงๆ เล็กน้อย โดยมากคงคิดในใจว่า “อืมม์ ... ก็คงใช่แหละ เพราะที่ฉันเรียนมาตั้งสิบกว่าปีก็ไม่เห็นจะได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย” (ฮา)

ผมอธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ว่าไม่เกิดประโยชน์นั้นไม่ใช่ในแง่ที่เขามักคิดว่า “เรียนอะไรก็ไม่รู้ ไม่เห็นได้เอาไปใช้” อย่างที่มักบ่นให้ได้ยินกัน แต่เป็นเพราะมนุษย์จำนวนมาก มากอาจจะเกือบหมดโลกนี้ รวมถึงพวกเขา หรือรวมถึงผมด้วย อาจต้องตายไปเร็วๆ นี้

ยิ่งเมื่อผมเล่าตัวอย่าง และนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ให้ดูสนับสนุนคำพูดของผม ทั้งห้องก็ดูตกใจและเงียบงันลงไปอีกครั้ง โดยเรื่องและภาพที่ผมแบ่งปันให้พวกเขาดูก็เป็นหลักฐาน เป็นประจักษ์พยานโดยตัวมันเอง ไม่ต้องการให้ผมไปปกป้องไปเถียงแทนแต่ประการใด

ภาพของธารน้ำแข็งที่หดหายไปทุกปีๆ ไม่ว่าจะธารน้ำแข็งเซาท์แคสเคด รัฐอลาสก้า สหรัฐอเมริกา กรีส์ในสวิตเซอร์แลนด์ หรือ พาตาโกเนีย ในอาร์เจนตินา-ชิลี หรือหิ้งน้ำแข็งที่ละลายและถล่มอย่างต่อเนื่อง ทำเอานักศึกษาที่โลกปรกติหมุนวนหมุนเวียนแค่ระหว่างหอพักกับอาคารบรรยายได้เปิดกว้างขึ้น และทำให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่กำลังได้รับผลกระทบในเวลาไม่ช้า

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมมักเริ่มวิชาชีววิทยาเบื้องต้น สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวสุขภาพของโลกในปัจจุบันเช่นข้างต้น ว่าโลกเรานั้นป่วยแค่ไหน สาเหตุคืออะไร และเราจะทำอะไรกับมันได้อย่างไรบ้าง

ผมว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบทางวิชาการ แต่เป็นความรับผิดชอบทางจริยธรรมด้วย ที่นักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะนักชีววิทยาต้องเตือนมนุษย์ว่า “กรรมติดจรวด” ในแง่สิ่งแวดล้อมนั้นมีจริง ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ลบหลู่หรือไม่ลบหลู่ก็ตาม

ในวิชาชีววิทยาเบื้องต้น เราเริ่มเรียนรู้กันจากเรื่องวิวัฒนาการ ตามด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พฤติกรรม นิเวศวิทยา สิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ แต่ละหัวเรื่องถูกออกแบบให้สอดคล้องไหลเลื่อนเคลื่อนที่เชื่อมโยงกันเป็นดั่งคลื่นในมหาสมุทร ขณะเดียวกันก็เหมือนมาลัยที่บรรจงจัดวางแต่ละดอกไว้อย่างมีความหมาย อย่างสมเหตุสมผล

เริ่มด้วยเรื่องวิวัฒนาการ เรารู้จักโลกว่ามีอายุยืนยาวกว่าสี่พันหกร้อยล้านปี สี่พันหกร้อยล้านปีนะครับ ว่ากันว่าระยะเวลายาวขนาดนี้เรานึกกันไม่ออกหรอกครับ แต่ถ้าจะเทียบกันกับมนุษย์ที่เพิ่งจะโผล่มาบนโลกได้แค่สี่ถึงห้าล้านปีนี้ (นับเอาจีนัส Homo ที่เริ่มสร้างเครื่องมือได้) ให้อุปมาว่าหากความยาวตั้งแต่หัวไหล่ถึงปลายนิ้วของเราเป็นอายุของโลกแล้ว หากเราเอาตะไบเล็บปาดเข้าที่ปลายเล็บของเราครั้งหนึ่ง เศษขี้เล็บที่หลุดออกไปนั่นน่ะครับ ... มนุษย์เรา เราเพิ่งจะปรากฏกายบนโลกกลมๆ ใบนี้ได้เสี้ยวหนึ่งของโลกและจักรวาลนี้เท่านั้น แต่มักจะคิดว่าฉันนี่แหละเจ้าของโลกใบนี้ โลกนี้มีอยู่ก็เพื่อให้ฉันใช้ ถึงขนาดนั้นก็มี

จากนั้นเราพูดคุยกันต่อถึงการกำเนิดชีวิต โดยทฤษฎีหลักตอนนี้ที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกกำเนิดจากสิ่งไม่มีชีวิต จากแต่ก๊าซโมเลกุลเล็กๆ อยู่กับน้ำร้อนกับรังสีอุลตราไวโอเล็ต ต่อมาเกิดเป็นสารอินทรีย์ โมเลกุลใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเป็นสิ่งมีชีวิตเซลเดียว กว่าจะเกิดขึ้นก็อาศัยเวลาพันกว่าล้านปีนะครับ เมื่อสามพันกว่าล้านปีที่แล้ว จากเซลเดียวก็กลายมาเป็นหลายเซล ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งโลกเรามีความหลากหลายทางชีวภาพมากมายอยู่อย่างในปัจจุบัน

ที่ว่าหลากหลายนั้นมากมายสักแค่ไหนหรือครับ ว่ากันว่าโลกเรามีสิ่งมีชีวิตประมาณ ๕-๓๐ กว่าล้านชนิดหรือสปีชีส์ นักวิทยาศาสตร์บางคนว่ามากกว่านั้นอีกมาก แม้ว่าจำนวนชนิดทั้งหมดจะยังไม่รู้เป็นที่แน่ชัด แต่ที่รู้กันค่อนข้างแน่คือจำนวนที่เรารู้จักแล้ว มีการจำแนกและให้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ (เช่น มนุษย์ คือ Homo sapiens) นั้น มีอยู่แค่หนึ่งล้านห้าแสนเท่านั้น โดยเป็นแมลงเสียครึ่งหนึ่ง ผมมักจะถามว่าใครอยากมีสิ่งมีชีวิตที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ตั้งตามชื่อตนเองบ้าง นักศึกษาเกือบทั้งหมดจะตอบว่าใช่ ผมก็จะยืนยันว่าโลกมีสิ่งมีชีวิตให้ทุกคนในชั้นเรียนอย่างแน่นอน คนละหลายๆ ตัวเสียด้วย

ต่อด้วยนิเวศวิทยาที่ทำให้เรารู้จักว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่สิ่งเดียว มีความน่าทึ่งอย่างเหลือหลาย เช่น หอยบางชนิดเกิดในปล่องน้ำพุร้อนใต้ทะเลลึก อุณหภูมิหลายร้อยองศาเซลเซียส ไม่เคยเห็นแสงมาก่อนเลย แมลงบางชนิดจำศีลอยู่ใต้ดินแล้วโผล่ขึ้นมาผสมพันธุ์แล้วตายทุกๆ ๑๗ ปี แล้วก็นับปีไม่เคยพลาดเสียด้วย กบที่ออสเตรเลียก็จำศีลใต้ทะเลทรายได้ถึงเจ็ดปีทีเดียว สิ่งที่น่าประทับใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ คือ ความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตรอบๆ ตัวมันด้วย เช่น หมัดที่อาศัยรูจมูกนกฮัมมิ่งเบิร์ดในการเดินทางระหว่างดอกไม้

มาถึงขั้นนี้ เราได้รู้ความเป็นมาอันยาวนานของทุกชีวิตบนโลก ความหลากหลายงดงาม และความสมดุลของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน พร้อมๆ กับได้รู้ว่า ชีวิตจำนวนมากนี้กำลังสูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราเร็วถึง ๑๐๐-๑,๐๐๐ เท่าของปกติ หรือประมาณชั่วโมงละอย่างน้อย ๓ ชนิดที่สิ้นจากโลก

สิ่งที่เรากำลังเรียนกันอยู่ในวิชานี้จึงไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าเกือบทุกชีวิตบนโลกกำลังจะหายไป น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย และหายนะจากภาวะโลกร้อนกำลังมา ซึ่งความเป็นจริงก็คือไม่ใช่แค่ “กำลังจะมา” แต่เรากำลังอยู่ในวิกฤตแล้ว เพียงแต่ช่วงนี้เป็นโหมโรงให้เราได้ตายใจเท่านั้น ทิม แฟลนเนอรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการสูญพันธุ์และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกชาวออสเตรเลีย เพิ่งออกมาให้ข่าวว่า ระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกที่นักวิทยาศาสตร์เคยประมาณการกันในโมเดลที่เป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด (worst case scenario) สำหรับอีกสิบกว่าปีข้างหน้าว่าคือ ๔๕๕ ส่วนในล้านส่วนนั้น ค่านั้นได้เลยไปแล้วตั้งแต่กลางปี ๒๕๔๘ “ไม่ใช่ปีหน้าหรือทศวรรษหน้า แต่มันเป็นตอนนี้แล้ว” เขากล่าว

ยามเมื่อน้ำท่วมอย่างถาวร ไม่เพียงแต่กรุงเทพ แต่ภาคกลางทั้งหมด ยามเมื่อเปลือกโลกเคลื่อนตัวอย่างรุนแรงมหาศาล ทุกคนจะเข้าใจดี แม้ว่ามันจะสายเกินไป

ความรู้ทางเทคนิคเหล่านี้แทบจะไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับนักศึกษาและเราทุกคนเลยครับ ถ้ายังไม่เห็นว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่กำลังป่วยหนัก และตระหนักว่ามนุษย์เรานี่เองที่เป็นต้นเหตุของภัยพิบัติ

เนื้อหาและเรื่องราวชีววิทยาที่เรียนกันมา จึงไม่ใช่เพียงแค่ความรู้ติดตัวไว้ใช้ประกอบอาชีพต่อไปหลังจบการศึกษาเท่านั้น แต่ต้องได้ซึมซับเข้าไปในหัวใจ ได้ชื่นชมความงามของโลกและชีวิต และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งบนโลกที่สิ่งมีชีวิตใหญ่น้อยอยู่ร่วมกัน ถ้าเพียงแค่ท่องจำแล้วนำไปสอบให้ผ่าน เราก็กำลังพลาดเป้าหมายสำคัญของวิชานี้ไปเสียแล้ว

สิ่งที่ผมอยากจะบอกกับพวกเขาเหล่านั้นที่กำลังเรียนก็คือ ... ก็เป็นไปได้ที่ว่าสิ่งที่เธอจะได้เรียนแล้วไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้าหากมนุษยชาติและโลกจะร่วมกันผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ก็ต้องเป็นเพราะมีคนที่เข้าใจ เห็นความเชื่อมโยงของตนเองและทุกๆ สรรพสิ่งรอบตัว ในระดับที่วิทยาศาสตร์กลไกไม่ได้สอนพวกเขา ... บางทีสิ่งที่พวกเขาเรียนวันนี้อาจเป็นสิ่งที่โลกอนาคตต้องการและเป็นเงื่อนไขของการอยู่รอดของพวกเราทั้งหมดก็ได้ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2550


เชื่อไหมครับว่าการฟังเป็นสิ่งมหัศจรรย์มากอย่างหนึ่งของคนเรา? ในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงการได้ยินนะครับ (แม้ว่าการได้ยินจะเป็นคุณสมบัติที่มหัศจรรย์มากเช่นกัน) เพราะว่าการฟังเป็นเครื่องมือในการสืบค้นและสร้างความรู้ที่มนุษย์เราคุ้นเคยมากที่สุดอย่างหนึ่ง เราสามารถรับรู้ เรียนรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกและโลกภายในได้อย่างมหาศาลหากเรา “ฟังเป็น”

สิ่งที่เรา “ฟัง” ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงเสมอไปจริงไหมครับ? นอกจากเสียงแล้วเรายังสามารถฟังความคิดของเราเองและผู้อื่นได้ การฝึกภาวนาของสำนักต่างๆ ครูบาอาจารย์หลายท่านก็แสดงอรรถาธิบายว่าไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการฝึกความสามารถในการ “ฟังเฉยๆ” โดยไม่ต้องไปทำอะไรกับมันอีกแล้ว

ศิลปินเอกของโลกหลายคนเล่าประสบการณ์ความรู้สึกของตนว่า ก่อนที่เขาจะสร้างสรรค์งานชิ้นเอก ไม่ว่าจะเป็นดนตรี จิตรกรรม หรือประติมากรรม ก็ต้องทำจิตให้นิ่งเพื่อให้สามารถ “ฟังอารมณ์” ของตนเองได้ ไม่เว้นแม้แต่คนที่ฝึกฝนมวยจีน ไท้เก๊ก ไท่ฉีฉวน ต่างก็ล้วนต้องฝึก “ฟังพลัง” เช่นกัน

ทั้งๆ ที่การฟังนั้นช่างมหัศจรรย์และมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้พวกเรากลับมีความสามารถนี้จำกัดจำเขี่ยเหลือเกิน หลายคนเป็นโรค “หูดับ” คือ ได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง (Hearing but not listening) รู้สึกคุ้นๆ กันไหมครับ โรคนี้ บ้างก็มีอาการแบบรุนแรง บ้างก็เป็นแบบเรื้อรัง บ้างก็ทั้งรุนแรงและทั้งเรื้อรัง เล่นเอาคนรอบข้างปวดขมองไม่น้อย

โรคนี้ระบาดหนักในกลุ่มคนผู้คิดว่าตนเองเก่ง และมีความรู้มาก ยิ่งที่องค์กรไหนมีพนักงานประเภทดังว่ามากๆ ด้วยแล้วยิ่งน่าเห็นใจนะครับ เมื่อเร็วๆ นี้ มีพี่สาวผู้บริหารของบริษัทด้านสิ่งแวดล้อมท่านหนึ่งไต่ถามมาว่าจะมีกระบวนการดีๆ อะไรให้กับเหล่าทีมงานเจ้าหน้าที่บ้าง เพราะสำหรับที่บริษัทแล้วนั้น เรื่องความสามารถ เรื่องการผลิต ล้วนแล้วแต่ไม่ได้มีปัญหาอะไรนัก แต่ทว่ามีเรื่องการสื่อสารระหว่างกันนี่แหละครับ ที่ดูจะยากเอาการ แล้วปรากฏการณ์ดังว่าก็ไม่ใช่เกิดขึ้นแต่ในบริษัทเอกชนนะครับ ในกลุ่มผู้นำ ในกลุ่มครูอาจารย์นี่ก็ไม่ย่อยเช่นกัน

แหม ถ้าเราแก้โจทย์เรื่องการฟังได้ก็คงจะดีไม่น้อยนะครับ เพราะทำให้การทำการบ้านเรื่องการสื่อสารนั้นเสร็จไปแล้วเกินครึ่ง และลองคิดดูว่าชีวิตเราจะมีความสุขแค่ไหน หากตัวเราและคนใกล้ตัวของเราทั้งที่บ้าน ทั้งที่ทำงานให้ความสำคัญ และสามารถฟัง สามารถสื่อสารได้อย่างสร้างสรรค์

ไม่น่าแปลกใจเลยครับที่การฝึกอบรมหลายหลักสูตรถึงได้เน้นเรื่องการฟังเป็นอย่างมาก ดังเช่น สุนทรียสนทนา (Dialogue) ซึ่งในกระบวนการช่วงแรกไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิธีการพูด มากเท่ากับการวางท่าทีของการฟัง ให้เป็นการฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังเพื่อฟัง ฟังโดยไม่คอยต่อประโยคคนที่พูดกำลังพูด ไม่คาดเดาว่าจะได้ยินอะไรต่อ ฟังโดยห้อยแขวนการตัดสินเอาไว้ก่อน ไม่ประเมินว่ากำลังใช้เวลาในเรื่องที่คุ้มค่าต่อการฟังหรือไม่

กระบวนการหนึ่งซึ่งให้ความสำคัญกับการฟังเป็นอย่างมาก และผมเห็นว่าเป็นกิจกรรมง่ายๆ น่าสนใจ ผมให้ชื่อกิจกรรมนี้เองว่า “หันหลังฟังเพื่อน” ครับ ผมได้เรียนรู้มากมายจากกิจกรรมการฟังนี้ระหว่างที่เข้าร่วมงานจิตตศิลป์ (Arts as Dialogue) กับอาจารย์ ยาคอฟ นะออร์ (Yaacov Naor) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา และการละครจากประเทศอิสราเอล คนที่แนะนำกิจกรรม “คุณคือใคร?” นั่นแหละครับ

รูปแบบวิธีการก็ดูง่ายๆ ไม่ซับซ้อนครับ เราแบ่งกันออกเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละประมาณห้าคน โดยเลือกจับกลุ่มเอาเองตามอัธยาศัย จากนั้นก็นั่งล้อมกันเป็นวงกลม แล้วเพื่อนๆ สมาชิกในวงก็จะเลือกใครคนหนึ่งในวงขึ้นมาเป็นหัวข้อสนทนา หรือเขาคนนั้นจะอาสาเลือกตัวเองขึ้นมาก่อนก็ได้ ทุกคนที่เหลือจะได้พูดถึงเพื่อนคนนี้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะด้านดี ด้านร้าย โดยตลอดช่วงเวลาแห่งการกล่าวถึงนี้ คนที่ถูกพูดถึงต้องนั่งหันหลังให้กับวง ไม่อนุญาตให้หันหน้ากลับเข้ามาในวง ห้ามส่งเสียงใดๆ ไม่ว่าจะโต้ตอบคัดค้านหรือยอมรับ แต่ละคนต้องหันหลังฟังเพื่อนอย่างนี้ไปตลอด ๑๕ นาที เวียนไปอย่างนี้จนทุกคนในวงถูกยกมาพูดถึงจนครบ

กระบวนกรบอกแต่ต้นก่อนแยกกลุ่มกันแล้วว่า เวลาที่คนอื่นๆ ในวงพูดถึงเพื่อนคนนั้น ขอให้พูดอย่างหมดเปลือก คิดเสียว่าเขาไม่อยู่ที่นั่น ไม่จำเป็นต้องพยายามมีมารยาท หรือพูดแต่เรื่องราวดีๆ “ทำเสมือนว่าเรากำลังพูดลับหลังเขา” ขณะที่เรากำลังจะเลือกว่าจะอยู่กลุ่มไหนกับใครนั้น เขาก็สำทับอีกว่า “ขอให้เลือกอยู่ในกลุ่มเดียวกับคนที่คุณอยากได้ยินความเห็นของเขา แทนที่จะเลือกอยู่ในกลุ่มเดียวกับคนที่คุณอยากพูดถึง”

วิธีการ “ดูเหมือน” จะง่ายๆ แต่ก็มีเงื่อนไขปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กระบวนการออกมาดีอยู่นะครับ เช่นว่าองค์ประกอบของผู้คนที่เข้าร่วม สภาพบรรยากาศ หรือความสามารถของกระบวนกรในการแนะนำและสรุป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟังเพื่อนที่ถือได้ว่าเป็นกัลยาณมิตรก็ช่วยให้เราได้เห็นภาพสะท้อนของตัวเราในสายตาเขา บางเรื่องอาจเป็นสิ่งที่เราก็น่าจะรู้อยู่แล้วแต่ยากจะทำใจยอมรับมันได้ หลังจากจบกระบวนการนี้ บางคนอาจบอกว่าได้ใช้ความอดทนและปล่อยวางเวลาได้ฟังคนอื่นพูดถึงตนและรู้ว่ามันไม่จริงอย่างไร เพราะไม่อยู่ในสถานภาพที่จะโต้แย้งหรืออธิบายอะไรได้

แต่หัวใจสำคัญของการหันหลังฟังเพื่อนนี้ยังมีอะไรมากกว่านั้นครับ คงไม่ใช่ฟังเพื่อให้รู้ว่าคนอื่นคิดกับเราอย่างไร ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เราได้ปรับตัวตามความคาดหวังของเขาได้ แต่เป็นการฟังเพื่อการรับรู้ และเข้าใจโลก เข้าใจว่าโลกและตัวเรานั้นมีมากมายหลายแบบ ความเป็นเราไม่ได้มีเพียงคนเดียว แต่มีเราในสายตาเพื่อน มีเราในความคิดของเพื่อน มีเราอีกหลายต่อหลายคนในตัวคนอื่น และความเป็นเราแบบต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่ถูกต้องทั้งหมดตามเงื่อนไขของบริบท

เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเราและสิ่งที่เพื่อนๆ ของเราได้สะท้อนออกมาไม่ว่าจะถูกหรือผิด มันไปกระทบใจทำให้ใจของเราฟูขึ้นหรือแฟบลง หัวใจสำคัญของกระบวนการอยู่ที่ว่าเราควรได้รู้สึกตัว ทำความรู้สึกตัวให้ชัด ถือเอาโอกาสที่ไม่อาจโต้แย้ง สื่อสารแสดงสีหน้าต่อผู้พูดได้นี้ เป็นโอกาสได้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและการกระเพื่อมไหวของจิตใจ ได้รู้ว่าข้อคิดเห็นของเพื่อนๆ นั้น ทำให้เกิดผลอย่างไรในใจและในร่างกายของเรา

ระหว่างที่คำชมผ่านเข้ามา เรารู้สึกถึงเลือดที่สูบฉีดไปใบหน้าและหัวใจเต้นแรงไหม ขณะที่คำวิจารณ์วิพากษ์หลุดออกมา สังเกตเห็นไหมว่าเรากำลังตัดสินคำพูดนั้นด้วยความโกรธ ด้วยความกลัว ด้วยความเปราะบาง หรือหวั่นไหวไปด้วยความรัก เราอาจหัวเราะ มีน้ำตาซึม หรือแค่เฉยๆ แต่ทั้งหมดนี้เราได้รู้ตัวหรือเปล่า?

หลังจบกิจกรรมหันหลังฟังเพื่อนแล้ว สิ่งที่เราได้จากการหันหน้ามาคุยแลกเปลี่ยนกันต่อจากนั้น คือ การค้นหาตัวเอง มากกว่าการแก้ตัวว่าเราใช่หรือไม่ใช่อย่างที่เขาคิดเขาเข้าใจ เพราะความเป็นตัวเราจริงๆ แล้วก็ไม่มีหนึ่งเดียวที่ใช่ตัวเราจริงๆ เลย มีแต่ตัวเราตามความเข้าใจของเรา ตามความเข้าใจของเขา ตัวเราที่เราอยากจะเป็น ที่เขาอยากให้เราเป็น ที่เราไม่อยากจะเป็น หรือแม้แต่ตัวเราที่เขาไม่อยากให้เราเป็น

หันหลังฟังเพื่อนพูดถึงเราบ้าง เปิดทั้งหู เปิดทั้งใจให้กว้างเข้าไว้ รับฟังทั้งเสียงภายนอก ทั้งเสียงภายใน เราไม่เพียงได้ฟังเสียงของร่างกายและจิตใจซึ่งเกิดปฏิกิริยาต่อคำพูดความเห็นเท่านั้นแล้ว เรายังจะได้โอกาสสังเกต รู้จัก และยอมรับตัวเองในแง่มุมต่างๆ นานาด้วยนะครับ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 30 กันยายน 2550


ว่ากันว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่มีความรู้ตัวว่า “ฉันคือใคร” รู้ว่าฉันเป็นฉัน และฉันนั้นต่างจากคนอื่นๆ อย่างไร

และว่ากันว่าเจ้าความรู้เนื้อรู้ตัวนี้เอง ที่ก่อให้เกิดเรื่องเกิดราวต่างๆ มากมายขึ้นในโลกนี้

ความสามารถในการรู้ตัวคือองค์ประกอบอันเป็นบาทฐานสำคัญของความสามารถก้าวข้ามการมีชีวิตอยู่แค่ตามสัญชาตญาณและเวียนว่ายตายเกิดไปได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าความคิดว่าตนเองเป็นใครบางคน หรือเป็นอะไรบางอย่างนี่เอง ก็เป็นที่มาของความทุกข์ เพราะเรามักจะไป “ยึด” ติดว่าเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นคนนั้นคนนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังเกินเหตุ

อยากจะรู้จักความคิดว่าเราเป็นนู่นเป็นนี่มากขึ้นไหมครับ เราลองมาทำกิจกรรมง่ายๆ กันดูครับ

กิจกรรมการเรียนรู้นี้ทำได้ไม่ยาก เพราะไม่ต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์อะไรเป็นพิเศษ เพียงแค่จับคู่กัน หาเพื่อนหรือคนรู้จักที่เราไว้วางใจมากๆ สักคนหนึ่ง นั่งลงหันหน้าเข้าหากัน สบตาเอาไว้ แล้วให้เขาคนนั้นถามเราว่า “คุณคือใคร?” ส่วนเราก็ตอบคำถาม เขาจะต้องถามคำถามเดียวกันนี้ไปเรื่อยๆ และเราก็ตอบไปเรื่อยๆ แค่นี้เอง ทว่าคำตอบต้องไม่ซ้ำเดิม จะบอกว่าเป็นผู้ชาย เป็นคนขยัน เป็นต้นไม้ เป็นความเศร้า เปรียบเทียบหรืออุปมาอย่างไรก็ได้ทั้งนั้นครับ

เพียงแต่ว่าเวลาเราจะตอบคำถามว่าฉันเป็นอะไรออกไป ก็ขอให้เราได้ตอบอย่างจริงๆ จังๆ ใช้ช่วงเวลาที่ถูกถามอย่างต่อเนื่องนั้นได้สืบค้นเข้าไปข้างในตัวในหัวเราก่อน หาเจอแล้วค่อยตอบว่าฉันคือใคร ไม่ต้องรีบร้อนตอบให้ผ่านๆ ไปนัก ตอบด้วยความซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตนเอง ด้วยความจริงใจ เปิดเผยและจริงจัง

ส่วนเพื่อนคนถามก็ต้องไม่พูดตอบโต้ หรือให้ความเห็นอะไรเลยครับ แค่ฟังไว้เฉยๆ และสบสายตาไว้ไม่ละสายตาไปจากกัน ถามต่อไปอีกว่า “คุณคือใคร?” โดยไม่ทำเล่นๆ นะครับ ให้เกียรติกับคำตอบของเพื่อน ถามตอบกันอยู่อย่างนี้ประมาณ ๑๐ นาทีครับ

เมื่อครบเวลาแล้วลองผลัดกันกับเพื่อนในการทำหน้าที่ถามกลับดูบ้างครับ ทางเราเป็นฝ่ายถามบ้างแล้วให้เขาตอบ ไม่ต้องเร่งคำถามให้กระชั้นนักครับ แต่ก็ไม่ทอดยาวจนเยิ่นเย้อ

เสร็จกระบวนการถามคำถามแล้วขอให้เราทบทวนบันทึกบางคำตอบของเราที่รู้สึกว่ามันใช่หรือว่า “โดน” สักจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าเราจะรู้สึกว่าเป็นคำตอบที่ดี เป็นคำตอบที่เราเองก็ประหลาดใจ หรือคำตอบอะไรก็ตามที่ติดอยู่ในใจ แล้วลองดูถ้อยคำเหล่านั้นว่าเราเห็นอะไรจากกระบวนการบ้างไหม

ไม่น่าเชื่อว่าคำถามง่ายๆ เพียงคำถามเดียว กับกระบวนการพื้นๆ ทำให้เกือบทุกคน (หรือทุกคนเลยก็ว่าได้) พูดกับตนเองว่า “โห ... นี่ฉันหรือเนี่ยะ!” คำถามเดียวนี่แหละครับ สามารถพาเราไปยังดินแดนที่เรารู้จักแต่ไม่คุ้นเคย ดินแดนที่เราอาจไม่รู้ว่ามีอยู่ หรือไม่ก็ดินแดนที่ไม่อยากจะรู้ว่ามีอยู่ (ฮา)

ผมได้เคยลองทำกระบวนการนี้มาสองสามครั้งแล้วครับ ซึ่งแต่ละครั้งก็แตกต่างกันออกไปไม่น้อยครับ โดยครั้งล่าสุดนี้อยู่ในประชุมเชิงปฏิบัติการ Arts as Dialogue กับอาจารย์ ยาคอฟ นะออร์ (Yaacov Naor) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตตศิลป์ จิตวิทยา และการละครจากประเทศอิสราเอล

ตอนแรกคิดว่าเคยทำแล้วก็คงรู้สึกคล้ายๆ กับที่ผ่านๆ มากระมัง แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลยครับ คงเป็นเพราะองค์ประกอบของคนที่เข้าร่วม โดยเฉพาะคู่ของเรา ความพร้อมของเราทั้งสองคน จังหวะย่างก้าวในการเดินทางในชีวิตของเรา ประเด็นหรือเรื่องราวหลักที่ติดอยู่ในใจเรา ณ ช่วงเวลานั้นๆ และอื่นๆ อีกมากมายครับ

คำถามกว้างๆ ที่ทำให้เราตอบเกือบจะอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นชื่อ เป็นนามสกุล เป็นอายุ เป็นอาชีพ เป็นลำดับครอบครัววงศาคณาญาติต่างๆ หลังจากค่อยๆ ละเลียดตอบคำตอบแบบพื้นๆ ไปจนเกือบหมด ก็ชักเริ่มรู้สึกถึงความยากของคำถาม

ยิ่งการที่คู่ของเราถามอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางครั้งเราอาจคิดไม่ทัน บางคำตอบออกมาจากความรู้สึกชั่วแล่น หรือบ้างก็หลุดออกมาจากอารมณ์ในเวลานั้น สิ่งที่เผยออกมาจากปากของเราไม่ใช่เพียงแค่คำตอบ แต่เหมือนตัวตนของเราถูกลอกออกไปทีละชั้นๆ อย่างที่เราอาจไม่ต้องตั้งใจ ไม่ต้องพยายามมากเกินไป

จากช่วงแรกๆ ของกิจกรรม เราอาจพบว่าคำตอบที่เราบอกไปยังอยู่ในระดับความคิดที่ผ่านการคำนวณร้อยแปดแล้วว่าสิ่งนี้ดี พูดแล้วดูดี เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ยอมรับได้ เป็นสิ่งที่ฉันอยากเป็น (ส่วนจะเป็นจริงหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง) จนต่อมาก็เริ่มมีคำตอบที่เป็นความรู้สึก เป็นอารมณ์ เป็นสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของเราถูกเปิดเผยหลุดออกมา

การพยายามตอบเป็นการทำให้เราได้กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่าเราเองนั้นคือใคร คืออะไร โดยในแต่ละชั่วขณะของการพูดคุยเป็นประตูบานวิเศษที่เราอาจผ่านเข้าไปรู้จักตนเองมากขึ้น ว่าเรานั้นนิยามตัวเองว่าอะไร ในความรู้ตัว และในความไม่รู้ตัว หรือไม่ทันตั้งตัวก็ว่าได้

ทุกๆ ขณะที่เราตอบ เชิญชวนกึ่งท้าทายให้เราสงสัยว่าเรายังเป็นสิ่งเดิมที่ตอบไปเมื่อชั่วครู่หรือไม่ ยังเป็นคนเดิมที่เหมือนเดิมทุกประการ หรือเป็นคนเดิมที่ไม่เหมือนเดิมแล้ว อาจมีบางขณะที่เรารู้สึกว่าเราทั้งเป็นและไม่เป็นสิ่งที่เราเพิ่งจะตอบไปในเวลาเดียวกัน

เพราะในชั่วเวลาไม่กี่วินาทีที่เราเพิ่งกำหนดความเป็นตัวตนของเราลงไป ว่าเราคือใคร เราเป็นอะไร คำถามว่า “คุณคือใคร?” ก็กลับมาใหม่ ให้เราได้ค้นหาอีกครั้ง เหมือนว่าเป็นการพยายามทิ้งตัวตนที่เพิ่งสร้างไป แล้วขุดค้นหาความเป็นตัวตนใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

กระบวนการมันชวนให้เราฉุกคิดและใคร่ครวญว่า เราเป็นสิ่งที่เราให้คำตอบไปจริงหรือไม่? (แม้ว่าเราจะจริงใจมากๆ ก็ตาม) แล้วอะไรที่ทำให้เราเป็นหรือไม่เป็นดังว่า หากเราคิดว่าเราเป็นบางคนหรือบางอย่าง แล้ว คนอื่นไม่เห็นด้วยล่ะ ความคิดของใครถูกกันแน่ เป็นไปได้ไหมที่ถูกต้องทั้งสองคนหรือหลายคนก็ตาม

หรือว่าแท้จริงแล้วเราเป็นเพียงแค่ทะเลแห่งความเป็นไปได้จำนวนอเนกอนันต์ รอคอยการสังเกต การสัมผัส การเรียกขาน การทำให้ตัวตนของเราอุบัติขึ้น? :-)