สวีทตี้ วาเลนไทน์
















ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

จู่ๆ แสงไฟฟลูออเรสเซนต์ในห้องบรรยายขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยชื่อดังย่านศาลายาก็พลันดับลง อาจารย์ผู้สอนหันไปมองเลิ่กลั่ก สีหน้าดูแปลกใจนิดๆ ที่ไฟฟ้าดับทั้งที่ฝนก็ไม่ได้ตก สักพักไฟดาวน์ไลท์สีเหลืองนวลหลายดวงค่อยสว่างขึ้นทีละน้อย พร้อมกับเสียงร้องเพลงของนักศึกษาคนหนึ่งดังขึ้นเป็นต้นเสียง ตามมาด้วยนักศึกษากว่าสามร้อยคนต่างร่วมกันร้องเพลง "คนไม่เอาถ่าน" และ "ขอบคุณที่รักกัน"

เมื่อเพลงจบลง ตัวแทนนักศึกษาบอกว่าในวันวาเลนไทน์นี้นอกเหนือจากความรักระหว่างคู่รัก ยังมีความรักความผูกพันระหว่างคณะลูกศิษย์กับอาจารย์อีกด้วย นอกจากของขวัญแล้ว พวกเขาจึงขอมอบเพลงนี้และความมุ่งมั่นว่าจะทำให้ดีที่สุด ให้แด่อาจารย์ผู้สอน ตอบแทนความรัก ความเอาใจใส่ และการดูแลตลอดเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา เสียงคนพูดสั่นเครือ ด้วยกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เหนี่ยวนำให้เพื่อนๆ อีกหลายคนร้องไห้ไปด้วย พวกเขาอาจไม่รู้ว่าอาจารย์ผู้อยู่ด้านหน้าห้องก็กำลังเสียน้ำตาด้วยเหมือนกัน

อาจจะไม่เป็นเรื่องแปลกอะไรที่นักศึกษามอบของขวัญเนื่องในวันพิเศษให้แก่ครู แต่ห้องเรียนนี้เป็นห้องเรียนธรรมดาๆ ที่ไม่ธรรมดา

ในบรรยากาศที่เร่งรีบและบางทีก็สับสนของมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ พวกเขาร่วมกันสร้างสิ่งมหัศจรรย์ขึ้น ห้องเรียนนี้ที่มีอาจารย์สองท่านร่วมกันสอน คนหนึ่งถือไมค์เดินไปรอบๆ บรรยายและยกตัวอย่างให้เข้าใจ อีกคนหนึ่งนั่งเขียนอยู่ที่เครื่อง visualizer คอยบันทึกความรู้ จับประเด็นสำคัญ ให้นักศึกษาได้มีอะไรจด

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่อาจารย์สองท่านจำชื่อเล่นนักศึกษาร่วมสามร้อยคนได้เกือบหมด พวกเขาทำการบ้านมาอย่างดี นั่งท่องชื่อนักศึกษา ตามไปรู้จักแต่ละคนในห้องปฏิบัติการที่นักศึกษาแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ พยายามตามถ่ายรูปนักศึกษาที่รูปติดบัตรที่มีอยู่ในระบบกับตัวจริงไม่ค่อยเหมือนกัน พวกเขารู้เอง โดยไม่ต้องอ่านทฤษฎีใดๆ ว่านักศึกษาจะตั้งใจเรียน จะเข้าใจและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับวิชา หากว่าผู้เรียนกับผู้สอนมีใจที่เชื่อมโยงกัน

พวกเขาเลือกให้ความสำคัญกับการปลูกฝังความรักและความเข้าใจในวิชาฟิสิกส์ ที่นักศึกษาส่วนใหญ่จะได้เรียนเป็นปีสุดท้ายแล้ว (เพราะส่วนใหญ่แยกย้ายไปเรียนต่อในภาควิชาอื่น) มากกว่าจะพยายามอัดเนื้อหาให้ได้มากที่สุดในเวลาที่จำกัด (ตามนโยบายของรัฐ)

ผมได้ลองเก็บข้อมูลง่ายๆ อย่างไม่เป็นระบบนัก ผ่านการคุยกับนักศึกษาทุกชั้นปีจำนวนหนึ่ง เกือบทุกคนบอกว่าประทับใจอาจารย์สองท่านนี้มากที่สุดในคณะ สาเหตุที่พวกเขารักและเข้าใจวิชาฟิสิกส์มากขึ้นมาก ก็เพราะอาจารย์สองท่านนี้ แถมยังบอกว่า อาจารย์ทั้งสองเป็นคนที่มีความหมายต่อชีวิตอย่างยิ่ง ช่วยทำให้ชีวิตในปีแรกในรั้วมหาวิทยาลัย ที่นักศึกษาส่วนใหญ่ต้องออกจากบ้านมาอยู่หอ ทั้งเรียนหนักและกิจกรรมเยอะ เป็นชีวิตที่มีทั้งความสุข ความสนุก และความหวัง

เด็กๆ ทุกคนของเรา ไม่ว่าจะเรียนในชั้นประถม มัธยม หรืออุดมศึกษา พวกเขาน่าจะได้พบโอกาสพัฒนาจิตวิญญาณอิสระ ความคิดสร้างสรรค์ และความสนใจใฝ่รู้ มากกว่าที่เป็นอยู่นี้ หากว่าอาจารย์ผู้สอนไม่ได้แค่บรรยายและทำตามๆ กันไป ... ใช่ไหม? :-)















ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

หญิงสูงอายุวัยหลังเกษียณคนหนึ่งที่ผมรู้จักดี เธอทำงานโดยไม่ได้สนใจเรื่องความลำบากหรือความสบาย คำชมหรือคำขอบคุณ แต่ประการใด เธอทำกิจวัตรประจำวันด้วยความใส่ใจอย่างให้คุณค่าและความหมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำกับข้าว ซักผ้า ถูบ้าน ไหว้พระสวดมนต์ ออกกำลังกายว่ายน้ำ แม้กระทั่งการได้กินอาหารธรรมดาๆ หรือการอยู่บ้านเฉยๆ ความสัมพันธ์ของเธอกับคนอื่นๆ รอบข้างก็นำมาซึ่งความผ่อนคลายสบายใจ บ่อยครั้งผมชวนเธอไปเที่ยวหรือทานอาหารข้างนอก เธอก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร

อะไรนะที่ทำให้เธอช่างแตกต่างจากคนอื่นๆ คนเมืองจำนวนไม่น้อยบางวันขับรถมาถึงที่ทำงานตอนเช้าโดยจำไม่ได้เลยว่าวันนี้รถคันข้างหน้าเป็นรถยี่ห้ออะไรสีอะไรบ้าง ขณะที่เพิ่งทานอาหารเบื้องหน้าเสร็จ พลันสงสัยว่า เอ๊ะมื้อนี้กินอะไรลงไป รสชาติเป็นอย่างไรบ้างนะ ลืมตั้งใจดูตอนกิน ตอนเย็นกลับถึงบ้าน พอจำได้ลางๆ ว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เหลือบดูปฏิทิน อ้าว นี่เดือนกุมภาแล้วหรือ เหมือนเพิ่งสิ้นปีไปหยกๆ โลกทั้งโลกเหมือนผ่านไปไวๆ แว้บๆ ที่ให้ได้รอลุ้นว่าจะมาเมื่อไหร่ ก็คือโบนัส วันหยุดยาว และเทศกาลลดกระหน่ำของห้างต่างๆ

ชีวิตแบบหลังนี้เปรียบเป็นรถก็เหมือนขับด้วยเกียร์ออโต้ แถมด้วยระบบครูซคอนโทรล ตั้งความเร็วปุ๊บ รถเคลื่อนด้วยความเร็วคงที่เสร็จสรรพไม่ต้องแม้ขยับเหยียบคันเร่ง แค่คอยหักหลบซ้ายหลบขวานิดๆ หน่อยๆ ก็พอไปได้ ด้านหนึ่งก็ดูเหมือนง่ายดี ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องคิดมากมาย แต่อีกด้านหนึ่ง ดูเหมือนอะไรๆ มันผ่านไปแบบเบลอๆ ดูไม่ค่อยมีความหมายเท่าไหร่ แถมติดๆ ขัดๆ งงๆ ว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิตที่เหมือนจะดูดี แต่ก็บ่อยครั้งที่ดูโหวงๆ เราเรียกชีวิตแบบนี้ว่าอยู่ในโหมด Automatic หรือ "อัตโนมัติที่หลับไหล" (แปลโดย วิศิษฐ์ วังวิญญู) คือไปเรื่อยๆ แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ในขณะที่ตัวอย่างต้นเรื่อง เป็นชีวิตที่อยู่ในโหมด Autotelic หรือ "อัตโนมัติที่ตื่นรู้"

ความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มนี้คือ กลุ่มอัตโนมัติที่ตื่นรู้เป็นกลุ่มที่มีเป้าหมายของชีวิตอยู่ภายในที่ไม่ได้แยกออกจากตนเอง (รากศัพท์ภาษากรีก Autotelic คือ ตนเอง + เป้าหมาย) แม้ว่าเขาอาจจะพูดออกมาเป็นภาษาสวยหรูไม่ได้ก็ตาม

มีไฮ ชีคเซนทมิไฮอี ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ชาวฮังกาเรียน ผู้เชี่ยวชาญด้านความสุขและความคิดสร้างสรรค์ ระบุว่ากลุ่มอัตโนมัติเป็นคนที่ตื่นรู้มีแรงขับเคลื่อนจากภายในจะแสดงออกถึงการมีเป้าหมายและความสนใจใคร่รู้ในตนเอง ตรงกันข้ามกับกลุ่มที่ใช้แรงขับเคลื่อนจากภายนอก จะอาศัยความสะดวกสบาย ทรัพย์สมบัติ อำนาจ และชื่อเสียงเป็นแรงจูงใจ

ที่กลุ่มอัตโนมัติที่ตื่นรู้จะไม่ค่อยต้องการทรัพย์สมบัติสิ่งของ ความบันเทิง ความสะดวกสบาย ชื่อเสียงอำนาจ ก็เพราะชีวิตที่พวกเขาได้ใช้ สิ่งที่พวกเขาได้ทำมันเหมือนให้รางวัลในแต่ละวันอยู่แล้ว พวกเขาจะเข้าถึงสภาวะ "ความลื่นไหล" (Flow) คือสภาวะทางจิตในคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องในกิจกรรมหนึ่งๆ ด้วยความตั้งใจ โฟกัสอย่างมีพลัง และประสบความสำเร็จในกระบวนการของกิจกรรมนั้น และนี่คือแนวคิดสำคัญของจิตวิทยาเชิงบวกนั่นเอง

สภาวะ "ความลื่นไหล" และ "ความพ้องจองซึ่งกันและกัน" (synchronicity) มีความใกล้ชิดเชื่อมโยงกันอย่างยิ่ง มีผู้ศึกษาวิจัยและเสนอเทคนิคมากมายที่จะดึงเอาศักยภาพของสภาวะทั้งสองมาใช้ประโยชน์ ในการทำงานและการใช้ชีวิต

เรื่องขำๆ ก็คือ หากผมไปแนะนำหญิงสูงอายุต้นเรื่อง เธออาจบอกว่า "พูดอะไรไม่รู้เรื่อง เดี๋ยวไปทำกับข้าวก่อนนะ"

แค่บังเอิญ?














ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยฝัน หรือฝันก็จำไม่ค่อยได้ แต่มีคืนหนึ่งเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ฝันชัดเจนมาก ว่าตกอยู่ในอันตรายกับพี่สาวคนโต เราวิ่งหนีคนร้ายอยู่ในสวนมืดๆ คล้ายในยุโรปยุคกลาง ขณะที่เธอกำลังจะถูกรุมทำร้าย ผมก็ตกใจตื่นขึ้นมา หายใจหอบแฮ่กๆ เหงื่อโทรมกาย นึกสงสัยว่าอะไรหนอ ทำไมฝันมันเด่นชัดแบบนี้ ยังจำรายละเอียดของประตู แนวพุ่มไม้ คูเมือง และอื่นๆ ได้อยู่เลย

เมื่อเปิดคอมพิวเตอร์ เช็คอีเมล พบว่ามีรุ่นน้องที่ทำปริญญาเอกอยู่ต่างประเทศด้วยกัน บอกว่ามีเครื่องบินการบินไทยตกที่ภาคใต้ เขาเห็นในรายชื่อผู้โดยสารมีนามสกุลผมอยู่ด้วย ผมขนลุกเสียวสันหลังวาบ รีบโทรกลับมาเช็คข่าวที่เมืองไทย ... ปรากฏว่าใช่เลย พี่สาวคนดีของผมเสียชีวิตแล้ว

ปรากฏการณ์นี้คืออะไร? จริงหรือว่าแค่ความบังเอิญ?

เราเคยนึกถึงใครบางคนที่ร้อยวันพันปีไม่เคยคิดถึงไหม แต่แล้วจู่ๆ เขาคนนั้นก็โทรศัพท์มาหา มันอาจเรียกง่ายๆ ว่าเป็น “เรื่องบังเอิญ” แต่ลึกๆ เราก็รู้ว่าไม่ใช่แค่ความบังเอิญแน่ๆ

ปรากฏการณ์เช่นนี้มีอยู่และได้รับการรับรองในโลกของชนเผ่าพื้นเมือง ภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือศาสนาความเชื่ออันหลากหลายมานานแล้ว หลายวัฒนธรรมก็มีพิธีกรรมอันสืบเนื่องเกี่ยวโยงกัน กระทั่งได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้

สำหรับวิทยาศาสตร์แล้ว นี่มันเป็นแค่เรื่องบังเอิญหรือเหลวไหล ถึงแม้ในอดีตจะมี คาร์ล ยุง (Carl Jung) แพทย์และนักจิตวิทยา เคยพยายามอธิบายมันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ บอกว่าโลกและจักรวาลนี้มีกฎอื่นๆ นอกเหนือจากที่มนุษย์เข้าใจกันทั่วไป

แต่เมื่อปีกลายนี้เอง วงการวิทยาศาสตร์อาจต้องทบทวนใหม่ เพราะมีการค้นพบทางฟิสิกส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบห้าสิบปี นั่นคือ พบว่ามีอนุภาคที่มีความเร็วมากกว่าแสง!

เจ้าอนุภาคนิวตริโน (neutrino) นี้มีการค้นพบมานานแล้ว มีขนาดเล็กมาก เบาหวิวจนแทบไม่มีมวลอยู่เลย มีความเป็นกลางทางกระแสไฟฟ้าจึงเดินทางโดยไม่ได้รับผลกระทบจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้า นักวิทยาศาสตร์ในยุโรปเพิ่งจะวัดความเร็วได้ พบว่าเร็วกว่าแสงที่เดินทางด้วยความเร็ว 299,792,458 เมตรต่อวินาที ใช่ครับ สามพันล้านเมตรต่อวินาที แต่นิวตริโนนี้เร็วกว่าแสงอีก เร็วขนาดที่ “มันไปถึงที่หมายก่อนที่จะออกจากจุดตั้งต้น” เสียอีก

ฟังแล้วงงๆ ใช่ไหมครับ ไปถึงที่หมายก่อนออกจากจุดตั้งต้น?

นั่นเพราะนิวตริโน อาจไม่ได้เดินทางเป็นเส้นตรงในโลกสี่มิติของเรา (กว้าง ยาว ลึก เวลา) แต่ผ่านมิติที่มากกว่านั้น (จะติดเบอร์ว่ามิติที่ห้า หรือเลขอะไรก็แล้วแต่) จึงไม่ต้องเดินทางจากวินาทีที่หนึ่ง ไปยังวินาทีที่สองและสามตามลำดับ

การที่อนุภาคหนึ่งหายแว้บจากปัจจุบันไปโผล่ในอีกเวลาหนึ่งที่ไม่ได้ต่อเนื่องกัน มันเปิดความเป็นไปได้สู่การเดินทางท่องเวลา จากปัจจุบันไปอดีต หรือไปอนาคต (แต่ยังไม่ต้องรีบซื้อตั๋วจองที่นั่งไทม์แมชชีนนะครับ คงอีกนานมาก)

นักฟิสิกส์ทฤษฎีบอกว่าการค้นพบนี้เป็นเสมือนประตูไปสู่บางสิ่งที่พื้นฐานและลึกซึ้งที่เรายังไม่เข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติ

และนี่อาจเป็นหนึ่งในรูปธรรม หลักฐาน หรือคำอธิบายของปรากฏการณ์ “ความพ้องจองซึ่งกันและกัน” (synchronicity) ดังตัวอย่างเหตุการณ์ที่ยกมาข้างต้น ที่อนุภาค (ซึ่งก็คือคลื่นและ/หรือข้อมูลนั่นเอง) สามารถเดินทางในมิติอื่นนอกเหนือจากสี่มิติที่เรารับรู้ตามปรกติ

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปิดใจ ไม่ยึดติดแค่ในระบบคิดแบบเดิม และเปิดศักยภาพของการเรียนรู้ให้พ้นจากกรอบเก่าๆ นี้เสียที