ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 19 มีนาคม 2549


นี่เป็นอีกหนึ่งในหลายๆครั้งที่ผมไม่แน่ใจว่าควรเรียกชื่อคอลัมน์นี้ว่า Happiness@Home หรือ Happiness@Work ดี เพราะสิ่งที่ทำให้ “อาจจะ” ทำให้เราไม่แฮปปี้นั้นมันแผ่กระจายไปทั้งที่บ้านและที่ทำงานครับ

ผลสำรวจภาคสนามของเอแบคโพลล์ เรื่อง “ผลกระทบของวิกฤติการณ์การเมืองปัจจุบันต่อความขัดแย้งของคนในครอบครัว” พบว่า เกือบทั้งหมดของกลุ่มตัวอย่าง คือ ร้อยละ ๙๕.๖ ระบุเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วง ๓๐ วันที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยร้อยละ ๕๗.๖ หันมาติดตามข่าวสถานการณ์ทางการเมืองมากขึ้น ที่สำคัญทำให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในบ้านสูงถึงร้อยละ ๒๗.๗ ในขณะที่ผลวิจัยอีกชิ้นจากเอแบคโพลล์บอกว่าร้อยละ ๔๔.๙ ของกลุ่มตัวอย่างรู้สึกเครียดกับสถานการณ์การเมือง

ส่วนผลสำรวจจากโพลล์ของผมเอง (ที่ท่านไม่ควรนำไปอ้างอิงหรือตีความทางสถิติใดๆทั้งสิ้น) ที่ได้ทำมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยการสังเกตแบบมีและไม่มีส่วนร่วม และการสุ่มสัมภาษณ์แบบเจาะลึกจากคนรู้จัก พบว่าเกือบทุกคนให้ความสนใจกับข่าวการบ้านการเมืองอย่างมาก และเกือบทั้งหมดมีเหตุให้ต้องปะทะสังสรรค์ทางความคิดระหว่างผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ถูกสังเกตหรือสัมภาษณ์

เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้หลายรูปแบบและสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นคู่หรือเป็นกลุ่ม ระหว่างคนในครอบครัว ระหว่างพ่อแม่ พี่ป้าน้าอา ญาติๆที่อยู่บ้านเดียวกันแท้ๆ แต่พอเห็นไม่ตรงกัน ก็พูดจากันไม่รู้เรื่อง หรือพาลไม่พูดกันเลย เพื่อนผมบางคนก็ล้มป่วยไม่สบาย สันนิษฐานว่าเกิดจากความเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดในที่ทำงาน ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง หรือระหว่างเพื่อนร่วมงานที่พลอยรู้สึกไม่ดีต่อกัน วันนี้เองก็ได้ยินว่าหมอที่โรงพยาบาลที่สนิทกันมากบอกกับอาจารย์หมอด้วยกันว่า “ขอเข้าห้องผ่าตัดก่อน เดี๋ยวจะออกมาเถียงต่อ”

ผู้ที่ต้องเดินทางสัญจรไปมาด้วยรถแท็กซี่ก็ลำบากใจ บรรยากาศในรถก็ดูอึมครึมไปหมด เพราะทั้งคนขับและผู้โดยสารต่างก็อึดอัด ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ไม่ว่าจะเป็นบนท้องถนนราชดำเนิน ถนนอื่นๆ หรือแม้แต่ information superhighway ก็ใช่ย่อย หากไปตามเว็บไซต์ต่างๆก็จะพบเห็นผู้คนทำร้ายกันด้วยวาจาผ่านกระทู้แรงๆอยู่มาก

แล้วเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานทางการเมืองแบบนี้จะมี Happiness@Home/Work ได้อย่างไร?

แท้ที่จริงตอนนี้บ้านเรารุ่มรวยทางปัญญา มีนักคิดนักเขียนหลายท่านที่น่าสนใจทั้งที่เป็นเพศบรรพชิตและฆราวาส ร่วมกันนำเสนอความคิดที่จะมีส่วนร่วมใน การสร้างสรรค์สังคมโดยใช้หลักคิดทางศาสนา (Socially Engaged Buddhism หรือ Socially Engaged Spirituality) ไม่ว่าจะเป็นหลวงพี่ไพศาล วิสาโล หลวงพี่ ว.วชิรเมธี อาจารย์สุลักษณ์ สิวลักษณ์ หรืองานแปลของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เป็นต้น

ต้นสัปดาห์หลวงพี่ ว.วชิรเมธี ได้นำเสนอ “คู่มือการเผชิญความขัดแย้ง (อารยวิวาทะ) อย่างสันติ” โดยเสนอว่าการดำเนินการต่างๆ ควรใช้ “สันติธรรม สันติวิธี สันติวาจา และสันติสุข” และหลักธรรมที่ควรเน้นคือ สันติ ขันติ เมตตา สุทธิ อหิงสา ปัญญา ปิยวาจา มัชฌิมาปฏิปทา และสติ

ส่วนหลวงพี่ไพศาล วิสาโล เครือข่ายพุทธิกา ก็เผยแพร่บทความ “อยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไร ไม่ให้ทุกข์: วิถีแบบพุทธ” (ทั้งสองบทความหาอ่านได้จาก www.SpiritualHub.net) ซึ่งท่านอธิบายวิธีผ่อนคลายความเครียดที่เกิดขึ้นด้วยวิธีที่นำไปปฏิบัติได้จริงและง่ายๆ ๖ วิธี คือ

๑) เปิดใจกว้าง ไม่มองผู้ที่เห็นต่างจากเราเป็นศัตรู คนที่เขาเห็นไม่เหมือนกับเราไม่ใช่ว่าต้องเป็นคนไม่ดี สิ่งที่เขาเห็นเหมือนกับเราอาจมีมากกว่าสิ่งที่เขาเห็นต่างจากเราก็ได้ ผมเองนึกถึงคติธรรมของอาจารย์พุทธทาสที่ขึ้นว่า “จงทำกับเพื่อนมนุษย์ โดยคิดว่า ...” (เช่น เขาเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายของเรา ... เขาก็ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสเหมือนเรา ย่อมพลั้งเผลอเป็น เป็นต้น) ขึ้นมาทันที

๒) มองให้ไกล แล้วช่องว่างจะลดลง อย่าได้มองเห็นความขัดแย้งในเรื่องที่อยู่เบื้องหน้าว่าเป็นทั้งหมดของชีวิต ยิ่งบางคนเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกับเรายังต้องอยู่ร่วมกับคนนั้นอีกนาน ให้คิดถึงความสัมพันธ์อันมีค่าของเราเอาไว้

๓) เอาคู่ตรงข้ามออกจากใจบ้าง ชีวิตเรายังมีเรื่องสำคัญอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว การงาน สุขภาพและอื่นๆ อย่าปล่อยให้เรื่องราว ข่าวสารการเมือง ความบาดหมางบางเรื่อง มาครอบครองพื้นที่สมอง พื้นที่จิตใจของเราจนไม่เป็นอันจะทำอะไร

๔) แผ่เมตตาให้คู่ตรงข้ามบ้าง คนทั่วไปมักลืมว่าเวลาเราโกรธเกลียดใคร คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคนแรกคือเราเอง เพราะความรู้สึกเช่นนั้นจะเป็นผลลบต่อสุขภาพของเราในทุกมิติ วิธีที่ดีและตรงที่สุดคือใช้คุณธรรมที่เป็นคู่ตรงข้ามของโทสะ คือการมีจิตเมตตาให้กับทุกๆคน และที่ช่วยเราได้มากคือการฝึกเช่นนั้นกับคนที่เราไม่ชอบหรือไม่เห็นด้วย

๕) ผ่อนคลายด้วยลมหายใจ ลองฝึกไม่เป็นส่วนเดียวกับความรู้สึกลบๆ เครียดจัด หรืออึดอัด ด้วยการกลับมาอยู่กับตัวเอง วิธีที่ง่ายก็คือน้อมใจมาอยู่กับลมหายใจ นับทุกครั้งที่หายใจออก นับเริ่มจากหนึ่งถึงสิบ โดยจะทำกี่รอบก็ได้ หรือจะร้องเพลงแห่งสติของหมู่บ้านพลัมโดยหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ที่ผมเคยเขียนถึงไปแล้วก็ได้

๖) พักผ่อนให้เต็มที่ สุขภาพกายเป็นพื้นฐานเกื้อหนุนสุขภาพใจ จิตวิญญาณ และสังคมที่ดีครับ

สิ่งสำคัญในข้อเสนอของท่านเหล่านี้ คือ การกระทำการที่เหมาะสม จากการมีโลกทัศน์เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของเราและโลก อันมีฐานจากการเจริญสติ

อย่าลืมนะครับว่า การจะมีประสบการณ์กับการว่างเว้นของทุกข์จากการเมือง (ลงไปบ้าง แม้บางขณะก็ยังดี) ไม่ได้เกิดจากการรู้จำ ท่องได้ จำได้ แต่เกิดจากการได้ลงมือปฏิบัติโดยตรง ลองทำกันดูนะครับ

หรือจะเอาไปเผื่อแผ่คนที่เขาไม่เห็นด้วยกับเราก็ยังได้ :-)

มหกรรมความสุข


ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 มีนาคม 2549


งานหลักของกลุ่มจิตวิวัฒน์คือ การร่วมกันทำการบ้าน ร่วมกันสร้างคำตอบต่อโจทย์วิกฤตการณ์ที่ซับซ้อนของสังคมไทยและสังคมโลก ซึ่งเชื่อว่าต้องผ่านการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ ไปสู่การมีจิตสำนึกใหม่ ไม่เห็นตัวเราแยกส่วนจากสังคม จากโลก และจากธรรมชาติ จึงจะนำพาสังคมที่ “อยู่ร้อน นอนทุกข์” ไปสู่สังคมที่ “อยู่เย็น เป็นสุข” ได้

สมาชิกจิตวิวัฒน์หลายท่านไม่เพียงแต่เป็นนักวิชาการ นักคิด หากยังเป็นนักปฏิบัติ หลายท่านได้นำเนื้อหาแนวคิดสิ่งที่แลกเปลี่ยนนำเสนอกันในวงจิตวิวัฒน์ไปปฏิบัติจริงตามความสนใจและความรับผิดชอบของตน ไม่ว่าจะในบริบททางการแพทย์ ศาสนา วิทยาศาสตร์ หรือการศึกษา

แนวคิดและเรื่องที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในจิตวิวัฒน์นั้นก็มักเป็น ปัญญาปฏิบัติ (practical wisdom) ผู้ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนบางท่านสั่งสมประสบการณ์ยาวนาน หรือได้มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิด เรียนรู้โดยตรงจากผู้ที่เป็นปรมาจารย์สำคัญในศาสตร์นั้นๆ ดังเช่น การเจริญสติตามแนวหมู่บ้านพลัม สุนทรียภาพในการจัดดอกไม้ ดนตรีภาวนา สุนทรียสนทนา และอีกหลายครั้งเช่นกันที่เป็นการสนทนาหารือเพื่อสร้างความชัดเจนก่อนนำไปสู่การขับเคลื่อนงาน ดังเช่นเรื่องการตายอย่างสันติ

และด้วยจิตวิวัฒน์เป็นส่วนสำคัญของแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ อันมีภารกิจในการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ จิตวิวัฒน์จึงเป็นเสมือนองค์กรผลิตความคิด (think tank) ให้แก่แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ หลายโครงการได้กำเนิดจากการตกผลึกความคิดของวงจิตวิวัฒน์และมีผลิตผลเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะโครงการต่างๆ ในงานจิตอาสา แผนที่คนดี จิตวิญญาณการแพทย์ สื่อสร้างสรรค์ และการตายอย่างสันติ อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพเป็นภาคปฏิบัติการของจิตวิวัฒน์นั่นเอง

เมื่อครั้งหนึ่งท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ได้นำเสนอเรื่อง ศิลปะแห่งความสุข (The Art of Happiness) จากหนังสือชื่อเดียวกันนี้ของท่านดาไลลามะ โดยกล่าวถึงแผนที่ความสุข หรือ การสร้างสุขภาวะในทุกมิติ ทั้งทางกาย จิต สังคม และปัญญา/จิตวิญญาณ เรื่องราวและสาระคุณค่าในครั้งนั้นได้เป็นต้นธารนำไปสู่แนวคิดของกิจกรรมใหญ่ กิจกรรมที่ภาคีเครือข่ายงานพัฒนาจิตทุกฝ่ายได้ร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันนำเสนอแนวคิดจิตวิวัฒน์ออกสู่รูปธรรม และเปิดโอกาสเชื้อเชิญให้ทุกคนเข้าชิมลอง มีประสบการณ์ตรงกับ “ความสุขที่แท้

กลุ่มจิตวิวัฒน์และภาคีแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพได้ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมความสุข” (Truly Happy Fest) โดยนำเสนอกิจกรรม การอบรม เวทีวิชาการหลากหลาย ที่ล้วนเป็นกิจกรรมในแนวจิตวิวัฒน์ คือ อยู่บนพื้นฐานของการเจริญสติ และมีเป้าหมายคือการรู้จักรู้ใจตัวเอง เห็นความสำคัญ ความเชื่อมโยงของชีวิตกับธรรมชาติ

หัวใจของงานมหกรรมความสุขว่าด้วยสุขภาวะองค์รวม มีสุขภาวะทางจิตวิญญาณซึ่งมีลักษณะเป็นองค์รวมบูรณาการทุกมิติเข้าด้วยกันเป็นแกน ตามแนวคิดแผนที่ความสุข งานจึงประกอบไปด้วยโซนต่างๆ ได้แก่ กาย (Happy Body) ใจ (Happy Mind) สังคม (Happy Society) และ จิตวิญญาณ/ปัญญา (Happy Soul)

สาระหัวข้อเรื่องหลายเรื่องที่พูดคุยกันในวงจิตวิวัฒน์ ได้ปรากฏเป็นกิจกรรมในงานมหกรรมความสุข ไม่ว่าจะเป็นจิตอาสา (ที่เป็นหัวเรื่องการประชุมเดือนล่าสุด) ศิลปะและสุนทรียภาพ (เช่น ทำสมุดบันทึกทำมือ เวิร์กชอปละครบำบัด และเสียงหัวเราะกับความสุข) การเจริญสติด้วยการบริหารกายบริหารจิต (เช่น โยคะ ไทเก็ก) หรือการค้นหาความหมายของชีวิตผ่านมรณานุสติในกิจกรรมเขียนพินัยกรรม “ต้นไม้แห่งชีวิต” และเวิร์กชอป “ทดลองตาย”

ในงานมีนิทรรศการ “โยงใยที่ซ่อนเร้น Hidden-Connections” (จากแนวคิดหนังสือเล่มดังของ ฟริตจอฟ คาปร้า และทฤษฎี Six Degrees of Separation ที่คุณหมอวิธานเอ่ยถึงในบทความนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว) จัดแสดงโยงใยของภาพถ่าย “ความสุข” จากกล้องใช้ครั้งเดียว ๑๐๐ ตัวที่ถูกส่งออกไปทั่วโลก แล้วส่งต่อๆกันไป พร้อมนิทรรศการตู้หนังสือคนดัง อาทิ ท่าน ว.วชิรเมธี อาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ศ.สุมน อมรวิวัฒน์

สมาชิกจิตวิวัฒน์หลายท่านก็ได้เป็นวิทยากรร่วมพูดคุยเสวนากันในงานนี้ ไม่ว่าจะเป็นปาฐกถาเรื่อง “อนาคตไม่ได้อยู่บนดาวอังคาร” โดย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา การเสวนาในหัวข้อ “จักรวาลในเมล็ดทราย ถ้อยอธิบายแห่งความสุขอันศักดิ์สิทธิ์” โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ การเสวนาเรื่อง “ชีวิต ความตาย และความสุข” ที่มี นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ร่วมเป็นวิทยากร และการสนทนาเรื่อง “สุขแล้วสวย” โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์

พร้อมรับแจก หนังสือ “แผนที่ความสุข” (จำนวนจำกัด) ที่เป็นฐานคิดในการจัดงาน รวบรวมบทความ บทสัมภาษณ์ของสมาชิกจิตวิวัฒน์ เช่น พระไพศาล วิสาโล ศ.นพ.ประเวศ วะสี ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม และแบบทดสอบความสุขในสี่มิติ ให้ผู้อ่านร่วมเดินทางและตอบคำถาม คุณมีความสุข? คุณต้องการความสุข? ความสุขคืออะไร? และ ความสุขอยู่ที่ไหน?

เชิญร่วมกันมีประสบการณ์ตรงกับความสุขที่แท้จริง ที่ไม่ต้องเสียเงินเสียทองซื้อหา ที่เข้าถึงได้ทุกคน เกิดขึ้นได้เดี๋ยวนี้ และทุกขณะ ในงานมหกรรมความสุข Truly Happy Fest ได้ในวันเสาร์ที่ ๔ และอาทิตย์ที่ ๕ มีนาคมนี้ ที่อุทยานเบญจสิริ ข้างเอ็มโพเรียม ถ.สุขุมวิท (สนใจข้อมูลเพิ่มเติมค้นหาได้จาก www.SpiritualHub.net)