ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 23 ตุลาคม 2548
“คุณจะเปลี่ยนโลกของเราอย่างไรให้ดีขึ้น และจงลงมือทำ!”
คุณๆ อ่านคำสั่งนี้แล้วคิดอะไรรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ? คิดว่าประโยคนี้มาจากหนังไอ้มดแดงแดนปลาดิบที่ได้รับภารกิจมาจากองค์กรลับปกป้องโลกจากสัตว์ประหลาดแหงๆ หรือไม่ก็สไปเดอร์แมนที่ได้ “พลังยิ่งใหญ่ที่มาพร้อมกับภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่” ให้พิทักษ์โลก หรือคุณบางคนคงคิดว่ามันเป็นแค่ประโยคปลุกใจเอาไว้ติดท้ายรถ
แต่ประโยคข้างต้นนี้คือการบ้านของเด็กๆ วัยมัธยม ๑ ครับ!
อ๊ะ อย่าเพิ่งอ้าปากค้าง หรือสงสัยว่าโรงเรียนประเภทไหนหนอถึงได้สั่งการบ้านอะไรพิเรนทร์อย่างนี้ เพราะผมกำลังจะเฉลยให้คุณฟังว่า ครูผู้จ่ายการบ้านนี้อยู่ในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่องหนึ่งครับ แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับว่าเขาสั่งการบ้านอย่างนี้มาเป็นเวลา ๑๒ ปี ให้แก่เด็กนักเรียน ๑๒ รุ่นแล้ว (ก็เป็นหนังนี่นา)
การบ้านที่น้องๆ หนูๆ เอามาส่งตลอดสิบกว่าปีผ่านมาก็ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมายครับ เก็บขยะ ช่วยแม่ล้างจาน แต่ทว่ามีน้องคนนึงครับที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปจริงๆ และผมกำลังจะชวนคุณๆ ให้เริ่มเปลี่ยนไปพร้อมกัน ไม่ต้องถึงขั้นเปลี่ยนโลกหรอกครับ เปลี่ยนสิ่งรอบๆ ตัวคุณก็พอ และเปลี่ยนได้จริงๆ
พระเอกตัวน้อยของเราชื่อเทรเวอร์ครับ พ่อหนูรับเอาการบ้านมาขยายผลเป็นระบบ MLM (การตลาดแบบมัลติเลเยอร์) น้องเทรเวอร์เขาคิดเป็นเรื่องเป็นราวน่าตื่นตาตื่นใจว่า โลกจะดีขึ้นได้แน่ๆ เพียงเราทำดีช่วยเหลือใครสักคนโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ขอแค่ว่าถ้าอยากทดแทนบุญคุณละก็ จงไปช่วยคนอื่นต่ออีก ๓ คน แล้วบอกต่ออย่างเดียวกันนี้สิ
กฎกติกามารยาทก็ง่ายดายครับ จะช่วยอะไรใคร หนึ่งนั้นต้องเป็นการช่วยเหลือกันอย่างแท้จริง สองคือต้องเป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง และสุดท้ายขอให้เขาช่วยคนอื่นต่อไปอีกสามคน
อย่าได้คิดเชียวว่านี่เป็นเพียงไอเดียบรรเจิดแต่ไม่มีวันเกิดขึ้นนะครับ เพราะผลของมันสะเทือนทั้งเมืองมาแล้ว เช่น รถคุณเกิดเสียเครื่องดับบนทางหลวง โทรศัพท์ก็ไม่มี พลันปรากฏบุคคลนิรนามตรงมาช่วยซ่อมจนรถใช้การได้ แต่แล้วเขาก็จากไปไม่เรียกร้องเงินทอง ขอแค่เมื่อไรที่คุณมีโอกาสที่จะช่วยใครได้ จงช่วยอีก ๓ คน เป็นการตอบแทนความดีที่คุณได้รับครั้งนี้
หนังเขาชื่อ Pay It Forward ครับ แต่ชักชวนคุณๆ กันแล้ว ถือว่าบอกบุญกันดีๆ นี่เองครับ ธรรมเนียมไทยๆ ตั้งชื่อกันใหม่ว่าชวนกันมา “Boon (บุญ) It Forward” ครับ การช่วยเหลือกันมากน้อยแค่ไหนพี่ไทยเราก็ถือว่าได้บุญ ทีนี้ผมเสนอให้ตั้งกติกาใหม่เอาแบบ user-friendly ขึ้น ประมาณว่าทำเองเมื่อไรที่ไหนก็ได้ ง่ายจัง
กติกาข้อหนึ่งเสนอเป็นช่วยใครในเรื่องอะไรก็ได้ที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงของเรา ข้อสองเขาอาจจะช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่อันนี้ไม่เป็นไรครับ ดูแค่ว่ามีโอกาสให้เราได้ช่วยเขาไหม ข้อสุดท้าย ถ้าเขารู้สึกขอบคุณอยากตอบแทนเรา ก็ขอแค่ให้เขาได้ทำสิ่งละอันพันละน้อยนี้กับคนอื่นๆ บ้าง
ลองนึกถึงเวลามีใครมาช่วยอะไรคุณ คุณจะนึกถึงอะไรบ้างครับ ส่วนใหญ่ก็ต้องขอบคุณและอยากตอบแทนใช่ไหมละครับ ทีนี้ถ้าบอกขอบคุณไปแล้วมันก็ไม่เกิดประโยชน์โภคผลดอกบุญก็ไม่เบ่งบานเท่าที่ควรสิครับ มันต้องส่งต่อ
สิ่งสำคัญคืออย่าไปติดว่าบุญเป็นเรื่องทำในวัดนะครับ เพราะบุญเป็นเรื่องว่าด้วยความดี กุศล และความสุข เกิดจากการความประพฤติทั้งทางกาย วาจา ใจ ไม่ว่าจะทำที่ไหน ทำแล้วนอกจากจะดียังมีสุขด้วย สำหรับศาสนาพุทธเราถือว่าการช่วยคนอื่นนี้เป็นไวยาวัจจวัย หนึ่งในสิบวิธีทำบุญหรือบุญกริยาวัตถุ๑๐ คือการเสียสละเพื่อส่วนรวม ช่วยเหลือคนอื่นเมื่อมีโอกาสนี่ล่ะครับ
ยกตัวอย่างตรงประเด็นชี้กันชัดๆ ไปเลย ในสถานที่ทำงานของเรานี่เองครับ มองไปรอบๆ จะมีโอกาสมากมายรอคอยฝีมือเราเข้าช่วยอยู่ เห็นใครถือของสองมือจะเรียกลิฟท์เราก็กดให้ เพื่อนไม่อยู่ที่โต๊ะแต่มีสายเข้าเราช่วยรับสายเขียนโน้ตให้ โอ้โห สารพัดโอกาสแสวงบุญรอบออฟฟิศทีเดียวเชียวละครับ
แต่ไม่ต้องรับคำขอบคุณด้วยรอยยิ้มแล้วจบนะครับ บอกเขาไปเลยว่า “Boon It Forward” ได้นะ ประมาณนี้ เริ่มต้นเราอาจจะยังไม่ต้องบอก เราก็ได้บุญแล้วครับ เพราะบุญมีคุณสมบัติพิเศษ ทำขึ้นมาแล้วไม่หายไปไหน อยู่กับตัวคนทำ มีอยู่มากมีอยู่น้อยขึ้นกับความขยันหมั่นทำของใครของมันครับ
ทำให้บ่อยให้มากขึ้น เราก็ชักชวนเพื่อนฝูงที่ทำงานให้ร่วมด้วยช่วยกันทำบ้าง ทำบุญช่วยกันในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่สำคัญคือไม่ต้องเลือกกลุ่มเป้าหมายหรอกครับ ใครก็ได้ในออฟฟิศเรา จะเพื่อน รุ่นน้อง แม่บ้าน หรือพนักงานส่งเอกสาร มันต้องมีอะไรสักอย่างที่เราจะช่วยเขาได้บ้างแน่นอนครับ แค่นี้ก็ทวีความสุขกันถ้วนทั่วทั้งสำนักงานแน่ครับ
แถมอีกนิด ไม่ใช่แค่ที่ทำงานนะครับ Boon It Forward หรือทำที่บ้านด้วยก็ได้ ทำแล้วดี ทวีสุขเหมือนกัน :-)
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2548
ล่วงเข้าวันที่เจ็ดของเทศกาลกินเจแล้วครับ คุณผู้อ่านได้มีส่วนร่วมในเทศกาลนี้บ้างหรือเปล่า?
สัปดาห์ที่ผ่านมา มองไปทางไหนก็เห็นแต่ธงสีเหลืองปักกันไสว เย้ายวนใจให้เข้าร่วมบริโภคบุญกินอาหารเจ ลดละการเบียดเบียนชีวิตสัตว์เพื่อนร่วมโลกของเรา ใครที่อยากจะทำบุญ ทำสิ่งดีๆ ให้กับโลกและตัวเอง ก็ได้ถือเอาโอกาสนี้ ถือเอากระแสเทศกาลกินเจ ละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ไปด้วย เพราะนอกจากจะอิน
เทรนด์แล้ว ยังซื้อหารับประทานได้ง่าย ไม่เหมือนช่วงนอกเทศกาลที่จะหารับประสานก็ยุ่งยากวุ่นวายกว่า
แต่วันนี้ผมไม่ได้มาชักชวนคุณผู้อ่านทั้งหลายมาทานเจกันหรอกครับ อยากเชื้อเชิญให้ทุกท่านได้เสวยสุข บริโภคกันอย่างมีความสุข ตามจริตตามความชอบ และปัจจัยจำกัดของใครของมันกัน ไม่ว่าคุณจะทานเจหรือไม่ก็ตาม
เพราะเราทุกคนล้วนต่างเลือกบริโภคอาหารด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป บ้างเลือกจากประโยชน์ บ้างเลือกจากราคา บ้างก็เลือกเพราะความอร่อย แต่ละคนมีความชอบในรสชาติอาหารแตกต่างกันออกไป ใช่ว่าทุกคนจะอิ่มเอมกับอาหารเจได้เท่าๆ กันใช่ไหมครับ? บ้างก็ชอบทานปลา บ้างก็ชอบทานผัก ฉะนั้น สำหรับคนที่ไม่ชอบผักแต่มักเนื้อ ก็คงจะรู้สึกทุกข์กับอาหารเจไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะถ้าเป็นคนมักเนื้อที่ตั้งใจไว้ว่าเทศกาลงานบุญจะอดทนรับประทานเจเพื่อให้ได้บุญ จึงมีโอกาสสูงมากที่จะกินเจไปเป็นทุกข์ไปด้วยไม่พึงพอใจกับรสชาติที่ไม่คุ้นลิ้น
ในอีกกรณี บางคนตั้งใจกินเจไปจนจบคอร์สเทศกาล แต่เริ่มทานไปได้ 5 วัน ดันมีเหตุให้เผลอทานเบเกอรี่อันมีส่วนประกอบของนมเนย เพียงเท่านั้นก็รู้สึกแย่ แถมพร่ำบ่นกับคนใกล้ตัวที่บ้านว่า “ว้า ไม่น่าเลย” อยู่อย่างนั้นทั้งวัน อย่างนี้ก็เป็นอีกกรณีที่บริโภคแล้วไม่มีสุขครับ ทั้งๆ ที่การเลือกที่จะกินอะไรนั้น ตัวเราเองนี่แหละที่เป็นคนตัดสินใจ จะมีใครมาบังคับก็หาไม่
แปลกไหมละครับ? ประสบการณ์การกินเจเหมือนกัน แต่กลับมีผลต่อคนต่างกัน ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ต่างกันนี้ ล้วนมาจากประสบการณ์การกินเดียวกัน
ประเด็นของเรื่องก็คือ ใจของเราเองครับ คนที่ทานเจหรือไม่ทานเจ แต่ยังบริโภคอย่างมีความสุขได้ นั่นเพราะเขาเอาใจไปจับกับประสบการณ์ในเชิงบวก ความรู้สึกเป็นสุขก็เกิดได้ไม่ยาก
ในทางกลับกัน คนๆ เดิมถ้าเอาใจไปจับกับเรื่องเดิมในทางลบ กินเจแล้วคิดว่าไม่อร่อย รสชาติไม่ดี หรือมัวแต่นึกถึงบะหมี่หมูแดงเข้า อย่างนี้กินเจไปก็ไม่มีความสุขแน่ๆ ครับ เพราะใจมันไปเสียแล้ว ควบคุมใจตัวเองไม่ได้
กุญแจสำคัญของการเสวยสุข คือการควบคุมตัวเองครับ รู้จักรู้ใจตนว่ากำลังทำอะไร และกำหนดใจให้ยินดีกับสิ่งนั้นๆ ได้ ไม่ปล่อยให้ใจลอยล่องไปหาอาหารที่ไม่อยู่ตรงหน้า หรือจมจ่อมใจกับอาหารที่กำลังทานว่าน่าจะอร่อยหรือถูกปากมากกว่านี้ ความสุขจากการบริโภคไม่ได้ขึ้นอยู่กับรสชาติหรือหน้าตาของอาหารเท่านั้น แต่มาจากใจเราที่ไปจับเอาอาหารต่างหากครับ หากสามารถยินดีกับอาหารเจที่อยู่ตรงหน้า คุมใจได้ก็สบายใจไม่เป็นทุกข์
การควบคุมตัวเอง ควบคุมใจ อีกนัยหนึ่งคือการมีสติ รู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไร และที่สำคัญมากคือมีความสุขกับสิ่งนั้นนั่นเองครับ
ฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นช่วง J-season แล้วเราเผลอไผลหรือมีเหตุให้ไปทานซูชิเข้า เราก็ควรรู้ตัวว่ากำลังทานซูชิด้วยสาเหตุใด และอยู่กับปัจจุบันขณะที่มีซูชิตรงหน้า มีความสุขกับการรับประทานซูชิ ดีกว่าทานไปใจก็รู้สึกผิด ตำหนิตัวเองว่าไม่น่าหลุดเจเลย ไม่เป็นผลดีหรอกครับ ใจจับสิ่งนี้เหตุการณ์นี้ในแง่ลบ ตัวเราก็รู้สึกไม่ดี อาหารตรงหน้าก็ไม่อร่อย สู้ยินดีกับอาหารไม่เจที่อยู่ตรงหน้าดีกว่า (โดยตั้งใจว่าคราวหน้าจะมีสติให้มากกว่านี้ ไม่หลุดอีก) หากทานไปกระวนกระวายใจไป จะเป็นการเสวยสุขได้อย่างไรครับ
การควบคุมใจให้เสวยสุขนี้ ยังนำไปประยุกต์ลองใช้กับสถานการณ์ต่างๆ นานาในชีวิตเราได้อีกมากมาย ให้เป็นการเสวยสุขทุกๆ วันได้ง่ายๆ ว่าด้วยการควบคุมใจ ปรับทัศนะ สร้างทัศนคติที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตครับ
ตัวอย่างอันหนึ่ง คือการออกนอกบ้านไปดูหนังช่วงสุดสัปดาห์ ถ้าเรารอนแรมเดินทางไปห้างสรรพสินค้าแล้วกลับพบว่าภาพยนตร์เรื่องดังที่หวังจะชมนั้น หน้าโรงคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนรอซื้อตั๋วเข้าคิวยาวเหยียดร่วมร้อยเมตร เพราะเหตุนี้ถึงทำให้เราต้องเปลี่ยนแผนปรับนโยบายไปทานอาหารแล้วซื้อของใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ตกลับเข้าบ้านแทน เราก็ไม่ควรก่นด่าสภาวการณ์หน้าโรงไว้ในใจให้รกและหนัก หันมาสนุกสนานกับการเลือกซื้อของกินของใช้ตรงหน้า เพราะสถานการณ์ที่เราอยู่ ณ ขณะนี้เป็นการจับจ่ายใช้สอย หาใช่การชมหนังนะครับ จะไปละล้าละลังคิดถึงมันไม่เลิกทำไม นอกจากจะทำให้เราเสียดาย รู้สึกแย่ที่อดดูแล้ว เราก็พลอยช็อปปิ้งไปอย่างแกนๆ อย่างไม่มีความสุขอีกด้วย
ลองดูเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเอาบทเรียนจากการเสวยสุขช่วงเทศกาลกินเจไปประยุกต์ทดลองใช้กับหลายๆ เรื่องดีไหมครับ? แล้วคุณจะพบว่า ความสุขง่ายๆ หาได้ใกล้ๆ ตัว ที่หัวใจคุณเอง :-)