ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2550


เวลาพูดถึงการสอบขึ้นมา ใครต่อใครที่ได้ยินถ้าไม่ส่ายหน้า ก็ถอนหายใจ หรือไม่คงเบื่อหน่ายกะทันหัน นักเรียนก็เครียด อาจารย์ก็เบื่อ เมื่อตอนสัปดาห์ก่อนผมไปนำเสนอประเด็นเรื่อง “ทำการสอบให้เป็นคำตอบของความสุข” ในงาน “ความสุขในสังคมสมัยใหม่: จิตวิญญาณ สังคม และวิทยาศาสตร์” ของมูลนิธิพันดาราและคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้แต่พิธีกรดำเนินรายการยังแนะนำทำนองว่าให้รอติดตามฟังเรื่องที่ดูไม่เข้ากันอย่างนี้จะเป็นไปได้อย่างไร ด้วยวิธีการไหน?

หลังจากผมเล่าเรื่องที่เราๆ ท่านๆ รู้กันดีอยู่แล้ว ว่าด้วยความทุกข์ความเบื่ออันมากมายที่มีต่อการสอบไป ผมเสนอด้วยว่าพวกเราไม่ได้สิ้นหวังและอับจนหนทางไปเสียทั้งหมดหรอกครับ การสอบที่จ้องจะวัดความรู้เปรียบเทียบความสามารถการท่องจำของผู้เรียนจนสะสมความเครียดกันมาตั้งแต่ระดับอนุบาลนี้ ยังไม่ได้มาถึงปลายทางที่เลวร้ายจนทำให้เราต้องฝ่าด่านปัญหาออกไปด้วยการลืมมัน พยายามล้มล้างยกเลิกมัน หรือว่าหลับหูหลับตาให้มันผ่านๆ ไป

เพราะการสอบไม่ได้ผิดนะครับ กระบวนทัศน์ในการสอบในปัจจุบันนั่นแหละผิด (แก๊สโซฮอลล์ก็ไม่ผิดครับ)

อย่างที่คุยกันครับว่า กระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์กลไกนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกเรื่อง อย่างการสอบก็เหมือนกัน วิทยาศาสตร์กลไกช่วยพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย แต่ครอบงำการศึกษาของเรามากไป กลายเป็นว่าการสอบคือคำตอบทุกอย่างของชีวิต แทนที่การสอบจะเป็นตัวช่วยให้ครูและนักเรียนได้ปรับปรุงพัฒนากระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน กลับเอาไว้ชี้เป็นชี้ตายว่าเราจะได้เข้าเรียนคณะดังๆ มีงานดีๆ ทำหรือไม่

ปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ใหม่ ทฤษฎีระบบ เผยให้เราเห็นกระบวนทัศน์ใหม่ ทำให้เราได้ย้อนมองเห็นวิธีคิดของพวกเราที่มีต่อการวัด สอบ และประเมินมากขึ้น มาการ์เร็ต วีตเลย์ เธอเปรียบเทียบให้เราเข้าใจในความแตกต่างนี้ โดยเธอเรียกการประเมินแบบที่เราคุ้นเคยพบเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ว่า “การประเมินด้วยมาตรฐาน” ส่วนกระบวนทัศน์ใหม่มองว่าการประเมินเป็นเหมือนการปรับพัฒนาตัวเองของระบบชีวิต เธอจึงเรียกการประเมินแบบนี้ว่า "การประเมินที่มีชีวิตด้วยวงจรป้อนกลับ"

การประเมินด้วยมาตรฐานแบบเดิมนั้น กำหนดวิธีการและคำถามคำตอบมาตรฐานขึ้นมาให้ทุกคนตอบเหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนโรงเรียนไหน กรณีระบบข้อสอบเอ็นทรานซ์ และมาถึงสอบเอ็นที (National Test) คงทำให้เรานึกภาพออก

ขณะที่การประเมินอีกแบบ ซึ่งผมขอเรียกสั้นๆ ว่า “แบบวงจรป้อนกลับ” เป็นการประเมินที่ขึ้นอยู่กับบริบทของเรื่องราว แต่ละสถานการณ์ แต่ละคน ก็มีความเป็นมาและสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันและต้องให้ความสำคัญ ไม่อาจใช้ข้อสอบหรือคำถามแบบเดิมใช้ในทุกโอกาสทุกสถานที่กับทุกคนได้

อย่างเช่นในวิชาหนึ่งที่เปิดเรียนกันอยู่ในปีนี้ นักศึกษาได้ฝึกเขียนข้อเสนอโครงการ (Proposal) เพื่อทำโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษา ตอนแรกหลายคนเลือกทำโครงการที่คิดว่า “ง่าย” เพื่อจะได้ “คะแนนสูงๆ” หลังจากยืนยันนั่งยันและตกลงกันว่าจะไม่ใช้มาตรฐานเดียวในการวัด เป้าหมายการเรียนไม่ใช่เพื่อแข่งขันกันว่าใครเขียนเอกสารได้ดูดีกว่ากัน แต่ให้แต่ละคนได้ไปตามฝันของตนเอง ได้มีโอกาสเลือก โอกาสเรียน โอกาสทำโครงการที่รู้สึกเชื่อมโยงกับใจ รู้สึกมันว่าใช่ และมีความหมายกับตนเองจริงๆ เพราะเอกสารโครงการที่ข้อมูลครบถ้วน มีชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถูกต้อง แต่ไม่มีกึ๋น แข็งทื่อขาดชีวิตจิตวิญญาณ ไม่มีแรงบันดาลใจให้ผู้คนลุกขึ้นมาทำก็ไม่มีความหมายอะไรไปกว่ากระดาษปึกหนึ่ง

ลงท้ายเราจึงได้โครงการที่แต่ละคนเชื่อมั่นกับมันจริงๆ เขียนโครงการราวกับว่าจะได้ทำมันจริงๆ นักศึกษาสาวชาวพื้นเมืองสมุยฝันอยากจัดค่ายเพื่ออนุรักษ์ทะเลที่หมู่บ้านหัวถนนของตนเอง เธอเดินทางกลับไปบ้านสัมภาษณ์คุณพ่อคุณแม่และชาวบ้านถามถึงสถานการณ์ โอกาส และความต้องการจริงๆ ของชุมชน จนคุณแม่ถึงกับดีใจว่าเธอจะมาทำโครงการที่บ้านแล้ว ซึ่งผมว่าเธอจะทำแน่นอนหากมีโอกาส

นักศึกษาชายอีกคนสนใจการเกษตรและเศรษฐกิจพอเพียง ฝันอยากเป็นเกษตรกร ตอนแรกคิดจะทำเรื่องกล่องรับบริจาคขยะรีไซเคิล ก็เปลี่ยนมาเป็นเรื่องของเขาเองจริงๆ หยิบยื่นโอกาสให้ตนเองเดินทางไปค้างแรมกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานส่งเสริมที่นครนายก และกำลังจะต่อด้วยการไปหาบุคคลตัวอย่าง ไปพบชาวเมืองที่ผันตัวไปเป็นชาวบ้าน

ส่วนอีกราย อยากลองทำโครงการผลิตหนังสือด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับแจกฟรี ซึ่งก็ไม่ย่อท้อ แม้จะรู้ว่าการทำหนังสือนั้นยากมากที่จะรอด บนแผงหนังสือแท้จริงคือสุสานของหัวนิตยสารต่างๆ มากมาย

เราจะปฏิเสธการเดินทางล่าฝันของเธอและเขาเหล่านั้นได้ละหรือ? คงเป็นการโหดร้ายและไม่ยุติธรรมกับนักเรียน นิสิต นักศึกษาอย่างยิ่ง ถ้าเราใช้กฎเกณฑ์มาตรฐานที่แห้งแล้ง ไร้จิตใจ มากึ่งบังคับกลายๆ ให้เลิกฝัน หยุดจินตนาการ แล้วยอมกายยอมใจให้กับอะไรที่พื้นๆ ที่ทำแล้ว “เสร็จ” แน่ๆ แต่ไร้จิตวิญญาณความเป็นตัวตนจริงๆ ของเธอและเขา

เป้าหมายของการเรียนของเราไม่ใช่เพื่อให้เขาผลิตกระดาษข้อเสนอโครงการที่มีครบถ้วนทุกหัวข้อ (ถ้าทำได้ก็ดี) แต่เขียนเสร็จแล้วก็ไม่ได้คิดจะไปทำจริงๆ ไม่ทำให้เขาเดินทางเข้าใกล้ความฝันของตนเอง ได้เตรียมความพร้อมและพัฒนาตนเองไปเป็นมนุษย์คนที่เขาอยากและภูมิใจที่จะเป็นจริงๆ

สิ่งที่มีความหมายที่สุด คือ ประสบการณ์และสิ่งที่เขาเก็บเกี่ยวได้ระหว่างการเดินทางไปสู่จุดหมายต่างหาก แม้ว่ามันจะล้มลุกคลุกคลานบ้าง ความสำเร็จของคนเราก็มิได้วัดอยู่ที่เกรดวิชาหนึ่งๆ ในระหว่างที่เรียน มากเท่ากับการที่เขาได้ใช้ชีวิตตามที่เขาเชื่อหลังจากจบ ดังนั้นการศึกษาที่มีความหมายคือการเตรียมความพร้อมในการเดินทางให้กับผู้เรียนแต่ละคน

คนที่ฝันอยากเห็นทะเลโทรมที่บ้านกลับมาสวย อุดมด้วยสัตว์น้ำหลากชนิด ปลิงทะเลนานาพันธุ์ก็ควรได้ทำตามฝัน เช่นเดียวกับคนที่อยากเห็นบางลำพูกลับมามีต้นลำพูขึ้นเต็มไปทั้งบางสมชื่อ ใครจะรู้ว่าเพชรในชีวิตที่นักศึกษาผู้มีทักษะการเจียรนัยฝันเหล่านี้เมื่อผลิตขึ้นมาให้โลกเชยชมนั้นจะสวยงามเพียงใด

ทั้งหมดนี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่เปิดใจให้กว้าง ใช้การสอบที่มีแค่มาตรฐานเดียว ไม่เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างกันของแต่ละคน


ถ้าเรามองการสอบเป็นวงจรป้อนกลับ เป็นกระบวนการที่มีไว้เพื่อสะท้อนข้อมูลให้เราเรียนรู้กันได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เปิดให้ผู้เรียนได้มีโอกาสที่จะสร้างและกำหนดความหมายด้วยตนเองด้วย กำหนดว่าอะไรที่เขาคิดว่าสำคัญ คิดว่าเป็นประโยชน์ คิดว่าท้าทายความรู้ความสามารถของตน มิใช่ว่าผู้สอนเป็นคนกำหนดมาทั้งหมด

แค่เอาหัวใจของผู้สอนและผู้เรียนใส่เข้าไปในการสอบ ก็เท่ากับได้สร้างโลกการเรียนใบใหม่ขึ้นมาแล้วล่ะครับ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2550


๑๙ สิงหาคมนี้เป็นวันที่สองและวันสุดท้ายที่กลุ่มสนทนาพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ มูลนิธิพันดารา และศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการเรื่อง “ความสุขในสังคมสมัยใหม่: จิตวิญญาณ สังคม และวิทยาศาสตร์” ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ วิทยากรมีทั้งบรรพชิตและฆราวาส ทั้งนักคิด นักเขียน นักวิชาการ และนักปฏิบัติชั้นแนวหน้ามากมาย อาทิ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี) อาจารย์ ส. ศิวลักษณ์ ศ. นพ. ประสาน ต่างใจ อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม อาจารย์วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ อาจารย์เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ (ยุค ศรีอารยะ) คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ การพูดคุยกันคราวนี้มี รศ.ดร. กฤษดาวรรณ และ รศ.ดร. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ เป็นผู้จัด

ในงานมีการนำเสนอและพูดคุยกันเรื่อง “ความสุขในสังคมสมัยใหม่” จากมุมมองต่างๆ ทั้งจากทางจิตวิญญาณ พุทธศาสนา วิทยาศาสตร์ ปรัชญาจีน ปรัชญาอินเดีย งานเขียน การทำงานเพื่อสังคม รวมไปถึงเรื่องความตายและการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย อีกทั้งยังมีการฉายภาพยนตร์อีกด้วย

ผมเองได้รับการชักชวนให้ไปร่วมแบ่งปัน เรียนรู้กันเรื่องความสุข จึงเสนอผู้จัดไปว่าจะพูดในหัวข้อ “ทำการสอบให้เป็นคำตอบของความสุข” ฟังแค่ชื่อก็ดูท้าทายแล้วใช่ไหมครับ เพราะผมว่าเรื่องการวัดผล การสอบ การประเมินนั้น ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นเรื่องสร้างทุกข์ได้อย่างยอดทีเดียว จะทำให้มันกลายเป็นเรื่องสุขๆ ที่ไม่ใช่สุกๆ ได้อย่างไร

นอกเหนือจากที่ผมต้องเตรียมตัวไปพูดในการประชุมแล้ว ช่วงที่ผ่านมาทางคณะวิจัยจิตตปัญญาศึกษาซึ่งผมเป็นสมาชิกในทีมได้ร่วมกันศึกษาทบทวนอ่านผลงานต่างๆ เพื่อสำรวจพรมแดนความรู้ด้านจิตตปัญญาศึกษา โดยมีหัวข้อเรื่องการประเมินผลด้วย ทำให้ผมได้อ่านงานวิจัยและบทความดีๆ รวมถึงมีโอกาสพูดคุยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ในเรื่องบ้างพอประมาณ เห็นว่าน่าสนใจเลยนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังนะครับ

เรื่องความหนักหนาสาหัสของการสอบหรือจะว่าไปก็การศึกษาในปัจจุบันของพวกเรานั้น ไม่ได้เป็นประเด็นใหม่ที่เพิ่งค้นพบเลย อาจารย์หมอประเวศ วะสี ท่านก็เคยเขียนไว้ใน สานปฏิรูป ว่า “การศึกษาเป็นความทุกข์ของแผ่นดิน” ถึงขนาดว่าต้องหลบหนีกันข้ามประเทศเลย เพราะ “แทบทุก ครอบครัวที่เดือดร้อนเมื่อถึงคราวที่ต้องเอาลูกเข้าโรงเรียน บางคนที่พอมีเงิน ... ก็จะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ ซึ่งผมถือว่าคนเหล่านี้ เป็นผู้ลี้ภัยทางการศึกษา”

ในวงสัมมนาพ่อแม่ผู้ปกครองเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว อาจารย์ท่านได้สรุปทุกข์จากการศึกษาหลักๆ คือ “หนึ่ง ขาดแคลนโรงเรียนดีๆ สอง กระบวนการเรียนรู้ของเรา กระบวนการเรียนรู้ที่เราใช้ ยาก เครียด น่าเบื่อ มีความทุกข์ สุขภาพจิตเสียกันหมดทั้งประเทศ ทั้งตัวนักเรียน ทั้งผู้ปกครอง ครู และ สาม เราผลิตคนที่ด้อยคุณภาพ เพราะเราเน้นการท่องจำ ทำไม่เป็น คิดไม่เป็น ไม่มีทักษะชีวิตต่างๆ ร้อยแปด”

ผมเห็นว่าเรื่องทุกข์ทั้งสามจากการศึกษาดังว่ามานี้ ช่างเกี่ยวโยงกับการวัดการประเมินอย่างแนบแน่น

การวัดผลและการประเมินในแนวที่เราใช้อยู่ปัจจุบันเป็นมรดกตกทอดมาพร้อมกับแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์กระแสหลัก มีลักษณะวิธีคิดเชิงกลไก และแยกส่วนในการวิเคราะห์ เชื่อว่าเราสามารถสร้างแบบวัดประเมินที่มีค่า “มาตรฐาน” สามารถนำไป “เทียบเคียง” ระหว่างนักเรียนนักศึกษารายคน ระหว่างห้อง ระหว่างชั้นเรียน หรือแม้แต่ข้ามโรงเรียนก็ทำได้

กระบวนวิธีคิดแบบนี้ได้พัฒนาขึ้นมาพร้อมกับความรุ่งเรืองของวิทยาศาสตร์ครับ เรื่องที่ถือว่าเป็นความรู้ตามทัศนะแนวคิดนี้คือ สิ่งที่มนุษย์สามารถรับรู้ได้ทางประสาทสัมผัสเท่านั้นที่เป็นความจริง และการเข้าใจเรื่องราวย่อยหรือส่วนประกอบ จะนำไปสู่การเห็นภาพรวมของปรากฏการณ์ เพราะส่วนย่อยต่างส่งต่อกันเป็นเหตุให้เกิดผลที่เราสังเกตเห็น

การสร้างเครื่องมือ มาตรวัดและวิธีการต่างๆ จึงต้องเป็นสิ่งที่มนุษย์เรารับรู้ได้เหมือนๆ กัน นั่นทำให้เราพยายามตีค่าวัดผลออกมาเป็นตัวเลขหรือหน่วยที่เทียบเคียงกันได้ เมื่อแนวคิดนี้ถูกนำไปใช้กับเรื่องเชิงกายภาพ อย่างระยะทาง น้ำหนัก หรือขนาด จึงมีประโยชน์และช่วยพัฒนาเทคโนโลยีของมนุษย์ไปได้ไกลและไวมาก

แต่กับเรื่องที่สลับซับซ้อนอย่าง “ความสุข” และ “การเรียนรู้” ของมนุษย์อาจจะไม่ตรงไปตรงมาอย่างนั้นหรอกครับ เรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนรู้ๆ กันอยู่อย่างเช่นการวัดผลการเรียนออกมาเป็นคะแนนหรือเกรดก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ทุกวันนี้ทุกคนเข้าใจและยอมรับมาตรฐานเรื่องเกรดกันว่า A คือดีเยี่ยมที่สุดแล้ว ส่วน F คือไม่ผ่าน แต่ถามจริงๆ เถอะครับว่าระหว่าง A ของโรงเรียนสองแห่งนั้นเท่ากันจริงหรือ นี่ยังไม่นับว่ามีเกรด B C และ D อีกนะครับ

ในยุคนี้ที่เราชินชากับสภาวะเงินเฟ้อไปแล้ว เราก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์ “เกรดเฟ้อ” อยู่เช่นกัน ไม่ใช่แค่เมืองไทยแต่ต่างประเทศก็ด้วย เพราะความที่เราต้องนำเอาเกรดเฉลี่ยสะสมของนักเรียนเข้านับเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนเอนทรานซ์ ทำให้โรงเรียนต้อง “ปล่อยเกรด” มากขึ้น แถมภาวะเกรดเฟ้อนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะระดับโรงเรียนนะครับ ระบาดต่อเนื่องมาถึงระดับมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะมีการแจ้งอาจารย์ว่านักศึกษาต้องใช้เกรดในการสมัครเรียนต่อปริญญาโทและเอก ถ้าไม่ปล่อยเกรด นักศึกษาจะไปเรียนต่อยาก และก็ไม่ใช่แค่ในประเทศด้วย แต่เป็นทั้งโลก ดังที่ ดร. โลเวลล์ แบร์ริงตัน บอกว่ามีมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ที่นักศึกษาระดับปริญญาตรีสามในสี่คน จบด้วยเกรดเฉลี่ยสะสม ๔.๐๐ เลยทีเดียว

แต่การปล่อยเกรดก็ยังไม่ใช่ผลในเชิงลบที่รุนแรงที่สุดที่การวัดการประเมินมีต่อเรื่องการศึกษา ดร. โลเวลล์ บอกกว่าการเน้นเรื่องการวัดประเมินแบบนี้ยังทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเผชิญกับสถานการณ์และตัวเลือกที่ไม่อยากเลือก คือ (ก) นั่งเทียนเขียนข้อมูลการเรียนรู้ของนักศึกษา หรือ (ข) สอนเน้นหรือเฉพาะเนื้อหาหลักสูตรที่สามารถวัดประเมินได้ง่าย

ตัวอย่างในมหาวิทยาลัยไทย ถ้าในรายวิชาหนึ่งๆ อาจารย์ต้องสอนนักศึกษาหลายกลุ่ม หรือวิชารหัสเดียวกันแต่มีอาจารย์หลายคนสอน เวลาออกข้อสอบก็ต้องออกเป็นปรนัยหรือหลายตัวเลือก เพราะตรวจง่าย เทียบเคียงง่าย ปัจจุบันใช้เสียบกระดาษคำตอบเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์กันหมดแล้ว บางคณะก็มี “คำสั่ง” หรือ “ขอความร่วมมือ” ให้ออกข้อสอบแบบนี้เท่านั้น

การที่สถาบันการศึกษาต้องปรับการเรียนการสอนถึงระดับรากฐานเพื่อให้มีการวัดประเมินได้ “สะดวกง่ายดาย” อาจจะเป็นทิศทางที่ต้องตั้งคำถามกันอย่างจริงจัง ใช่หรือไม่?

แถมเมื่ออาจารย์มาออกข้อสอบด้วยกันก็มักจะเลือกเฉพาะข้อที่ทุกคนสอน เพราะเกรงว่าหากไม่ได้พูดไปในชั้นเรียน นักศึกษากลุ่มที่ตนเองสอนจะไม่สามารถหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ทำข้อสอบไม่ได้ หาว่าอาจารย์ออกข้อสอบในส่วนที่ไม่ได้สอนในชั้น และได้คะแนนน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งก็มักจะถูกตีความ เหมาเอาว่าอาจารย์ท่านนั้นสอนไม่ดี สอนไม่เก่ง นักศึกษาที่เรียนด้วยจึงได้คะแนนสู้กลุ่มอื่นไม่ได้ สรุปสุดท้ายเราจึงได้ข้อสอบ ก. ข. ค. ง. ที่ง่ายดายที่สุด เป็นข้อสอบและคำตอบที่บอกอะไรๆ ได้จำกัดมาก

ในระบบที่ต้องการหาประสิทธิภาพและประสิทธิผลนี้ ผู้คนหลงใหลคลั่งไคล้ไปกับการวัดการประเมิน นักศึกษาก็มีโอกาสประเมินอาจารย์ด้วย ยิ่งหากนักศึกษาได้คะแนนน้อยกว่ากลุ่มอื่น เวลาเขียนใบประเมินก็อาจนึกแค้นใจอาจารย์ เขียนประเมินเสียๆ หายๆ ซึ่งก็อาจมีผลต่อ “ผลงานและความดีความชอบ” ของอาจารย์ผู้สอน ทำให้อาจารย์เองก็ได้คะแนนประเมินต่ำเหมือนกัน

ระบบเช่นนี้จึงไม่ให้แรงจูงใจให้อาจารย์สอนเรื่องที่สำคัญจำเป็นต่อกระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริงแก่นักศึกษา เพราะทั้งสอนยากและวัดยาก บางคนบอกเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ เลยกลับกลายไปเป็นเอาชั่วโมงเรียนมาติวข้อสอบไปบ้างเสียเลยก็มีให้ได้ยิน ได้เห็น

อ่านแล้วอย่าเพิ่งรู้สึกหมดหวังนะครับ เพราะว่าปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ใหม่ ชีวิต และทฤษฎีระบบ ได้ก้าวหน้าไปพอสมควร และอาจช่วยให้เราเห็นแนวทางในการพาการวัดการประเมินออกจากอุโมงค์เสียทีครับ แนวคิดของระบบการประเมินที่ได้รับการ “ใส่หัวใจของความเป็นมนุษย์” ระบบที่มีชีวิต ที่ให้ความสำคัญกับการปรับตัว การเรียนรู้ และการเจริญเติบโตไปตามวิวัฒนาการ มากไปกว่าเรื่องความคงที่ มาตรฐาน เสถียรภาพ และการควบคุม อาจจะช่วยเราฝ่ามายาการของการวัดประเมินแบบปัจจุบันสำเร็จก็เป็นได้ ไว้ลองมาดูกันสัปดาห์หน้านะครับ :-)

แจกันจัดใจ (๒)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 12 สิงหาคม 2550


ในกระบวนการ "การจัดดอกไม้อิเคบานา ตามแนวท่านโมกิจิ โอกาดะ" ที่ผมนำมาเล่าสู่กันฟังเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น นอกเหนือจากเราจะรู้จักการดูดอกไม้ตามสภาพจริงแล้ว ยังทำให้เราได้ฝึกทักษะอื่นๆ อีกมากเลยครับ และในบรรดาทักษะต่างๆ นั้น ผมคิดว่าเรื่อง “การสื่อสาร” เป็นเรื่องที่สำคัญและเกิดประโยชน์สำหรับชีวิตประจำวันมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

ผมเรียนรู้จากผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งซึ่งไม่เคยเรียนหรือฝึกจัดดอกไม้มาก่อนเลย แต่เขากลับสามารถจัดอย่างสบายๆ ใช้ดอกไม้น้อยมากทั้งชนิดและปริมาณ แถมไม่ใช้เวลามากอีกด้วย ผลงานออกมาดีมากทุกแจกัน เรียบง่ายแต่ว่างดงามอย่างยิ่ง ทุกคนถึงกับเอ่ยปากชม ผมแอบกระซิบถามจนทราบเคล็ดลับว่า เขาใช้วิธี “คุยกับดอกไม้” ทั้งในการเลือก และในระหว่างที่พิจารณาดอกไม้ เขาพูดในใจกับดอกไม้นั้นว่า “ไหน ... หนูอยากหันด้านไหนออกมา?” หรือไม่ก็ “อยากให้จัดอย่างไรเหรอ?”

พวกเราชาวจิตตปัญญาชนที่ไปฝึกครั้งนี้ด้วยกันคงไม่ค่อยแปลกใจกับการสนทนาระหว่างคนกับดอกไม้สักเท่าไร เพราะเราคุ้นเคยดีกับคำพูดทำนองว่า “ให้เลือกดอกไม้ที่ ‘เรียก’ เรา” หรือถ้าเป็นกิจกรรมอื่น ดังเช่นการเขียนระบายภาพ กระบวนกรก็มักจะขอให้เราเลือกสีที่เรียกเรา คุณผู้อ่านอย่าเพิ่งด่วนหัวเราะขำกลิ้ง หรือคิดว่าคนเหล่านี้ไม่เต็มนะครับ ที่เขา “คุย” กับดอกไม้ได้ เรื่องทำนองนี้ ต้องท้าพิสูจน์ด้วยตนเองครับ

นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือต้องสงสัยเลยสำหรับคนจำนวนไม่น้อยในโลกอันกว้างใหญ่และ (ดูเหมือน) ลี้ลับใบนี้ อย่างเช่น เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว คุณโดโรธี แมคเคลน (Dorothy Maclean) และเพื่อนๆ อีกหลายคนร่วมกันก่อตั้งชุมชนฟินด์ฮอร์น (Findhorn) อยู่ติดกับชายทะเลด้านตะวันออกเฉียงเหนือของสกอตแลนด์ เป็นชุมชนพึ่งตนเองและเกื้อกูลดูแลโลก มีสวนผักและผลไม้เติบโตบนที่ดินที่มีแร่ธาตุอาหารต่ำ แต่เธอและเพื่อนๆ กลับสามารถผลิตพืชผลที่มีขนาดใหญ่ทำลายสถิติได้มากมาย จนเป็นที่โด่งดังรู้จักกันทั้งในและนอกประเทศ เมื่อต้นปีเพิ่งมีรายงานออกมาว่าชุมชนนี้มีรอยเท้าทางนิเวศวิทยา (Ecological footprint) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการใช้ทรัพยากรและผลิตของเสีย ที่น้อยที่สุดในหมู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัจจุบันฟินด์ฮอร์นกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกปีละหลายพันคน พี่ประชา หุตานุวัตรก็ย้ายรกรากไปอยู่ (บางช่วงของปี) และสอนอยู่ที่นั่นด้วย

เมื่อสองปีก่อน คุณยายโดโรธี เธอได้เดินทางมาปาฐกถา เปิดการอบรมให้กับชาวบ้านและชาวเมืองคนไทยมีผู้ให้ความสนใจและสื่อต่างๆ ตีพิมพ์นำเสนอข่าวอยู่ไม่น้อย เธอสอนคนไทยที่นี่ทำสิ่งเดียวกับที่เธอทำที่นั่น ก็คือ “การสื่อสารกับธรรมชาติ” เธอบอกว่า หากเราสื่อสารกับธรรมชาติได้ เราก็สามารถทำอะไรๆ ได้มากมายโดยแทบจะไม่ต้องออกแรงอะไรมากเลย

การสื่อสารกับธรรมชาติ ดอกไม้ และแม้แต่สิ่งของนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเลยเช่นกัน ในสายตาของท่านโมกิจิ โอกาดะ ปรมาจารย์ผู้ให้แนวทางการจัดดอกไม้และเกษตรธรรมชาติ เพราะท่านเชื่อว่ามีสิ่งเชื่อมโยงเราเข้ากับคนอื่นๆ และทุกอย่างรอบตัวเราไว้ นั่นคือ “สายใยวิญญาณ” ท่านกล่าวไว้ว่า “สายใยวิญญาณนั้นไม่ได้เชื่อมโยงเฉพาะมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งอีกด้วย สายใยวิญญาณที่เชื่อมโยงกับบ้านที่อยู่อาศัยของมนุษย์ สิ่งของที่ใช้เป็นประจำและรักมาก โดยเฉพาะของที่รักมากสายใยวิญญาณจะหนาแน่นมาก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องแต่งกาย ก็เช่นเดียวกัน”

ประสบการณ์การจัดดอกไม้ลงแจกันก็บอกพวกเราอย่างนั้นจริงๆ เราพบว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เลือกดอกไม้เพราะคิดคำนวณวางแผนไว้ก่อน หรือเลือกแจกันตามหลักการใช้สีหรือองค์ประกอบศิลป์แล้ว เมื่อนั้นผลงานก็ยังออกมาไม่โดนใจ ดอกไม้หมุนแกว่งไปมาในแจกันไม่ยอมนิ่งอยู่ในจุดที่เรากะเก็ง แจกันก็ไม่เข้ากันกับสถานที่ ไม่กลมกลืนกับดอกไม้ แต่เมื่อได้วางความคิด ความเชื่อ และค่านิยมเดิมๆ เปิดใจติดต่อสื่อสารพูดคุยกับเขา ผลที่ตามมานั้นดูจะแตกต่างออกไป

ในชีวิตจริงของเรานอกเหนือจากการสื่อสารกับดอกไม้แล้ว เรายังต้องเรียนรู้เรื่องการสื่อสารกับคนข้างๆ ด้วย ในระหว่างกระบวนการฝึกอบรมจัดดอกไม้ ผมก็พบว่าบุคคลที่ช่วยเตือนใจในเรื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างดี คือวิทยากรที่คอยดูแลให้คำแนะนำอยู่ข้างตัวเราตลอดเวลานี่เอง

หลายครั้งหลายคราวที่เราตั้งใจสูง และทุ่มเทให้กับผลงานแจกันนั้นมาก วิทยากรบางท่านเดินเข้ามาให้ความเห็นว่าการลิดใบ ตัดกิ่ง ปักดอกไม้ของเรานั้นไม่ถูกต้องยังไง บางคนบางหนก็เสนอไอเดียวิธีจัดวางดอกไม้ให้เสียด้วยซ้ำ จะว่าไปเขาก็มีเจตนาดีต้องการเข้ามาช่วยแนะนำเสนอความเห็น แต่การเข้ามาบางที่ บางเวลา หรือใช้บางถ้อยคำทำให้เรารู้สึกไม่รื่นหู ก็อาจทำให้เราอารมณ์ไม่แจ่มใสได้ ตอนนั้นก็ได้เห็นละครับว่าเราสื่อสารแต่เฉพาะดอกไม้กับแจกัน หลงลืมการสื่อสารกับคนรอบข้างไปบ้างหรือเปล่า

เป้าหมายสำคัญที่สุดของการจัดดอกไม้ตามแนวท่านโอกาดะ ที่มูลนิธิเอ็มโอเอจัด ไม่ใช่การสร้างผลงานศิลปะเป็นเลิศของเราหรอกนะครับ แต่ว่าเป็น “การนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างลึกซึ้ง พัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับพลังชีวิตของตนเองให้สูงขึ้นด้วยการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข” ถ้าอย่างนี้แล้ว จัดดอกไม้ลงแจกันไป แต่ใจเราหงุดหงิดรำคาญกับคนรอบข้าง จะเรียกว่าเราบรรลุเป้าหมายแท้จริงของการจัดดอกไม้อิเคบานาได้อย่างไรล่ะครับ

เปิดใจสื่อสารกับคนรอบข้างก็เหมือนสื่อสารกับดอกไม้ แค่ลดการ์ดที่ตั้งไว้ลง วางอัตตาตัวตนของเราลง เมื่อเราได้ฟังดอกไม้แล้ว เราก็ฟังคนอื่น สื่อสารกับเขาได้โดยไม่ทำร้ายทำลายอารมณ์และจิตใจดีๆ ของทุกคน ทั้งนี้ ส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้เรานี้สำเร็จลุล่วงแฮปปี้เอ็นดิ้งทุกฝ่ายได้ นั่นคือ เรานี่แหละที่จำเป็นต้องฟังและสื่อสารกับตัวเราเอง

เวลาเราจัดดอกไม้เราจะเห็นใจของเราชัดเจนมากนะครับ ไม่ว่าจะเป็นตอนมองดูดอกไม้จากสภาพจริง ตอนเลือกดอกไม้ เลือกแจกัน แม้กระทั่งรินน้ำใส่แจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน คือ “กำหนดจุดหมาย-รีบตัด-รีบปัก” ซึ่งเป็นสามขั้นตอนที่สนุก เพลินเพลิน และก็ท้าทายที่สุดด้วย เพราะต้องกำหนดจุดหามุม เลือกด้านของดอกไม้ ใบไม้และกิ่งก้านที่เราและดอกไม้เขาต้องการจะนำเสนอ - ตัด - และปัก โดยไม่ชักช้า แต่ก็ไม่เร่งรีบ เร่งร้อน ต้องทำต่อเนื่องโดยอาศัยร่างกาย อาศัยใจ อาศัยสติ มากกว่าความคิดว่าจะออกมาดีไหม น่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้มากกว่าไหม อุปมาดั่งวิถีของซามูไรที่อยู่ในสนามจริง ไม่สามารถจะยักแย่ยักยัน ถอยเข้าถอยออกได้

ตอนจัดเสร็จแล้วเราอาจรู้สึกเสียใจเวลามีคนติ หรือดีใจเวลามีคนชม แต่เราอาจ “ไม่ทัน” อารมณ์ตรงนี้ครับ เพราะว่ามันฟุ้ง มันเร็ว แล้วเราก็อยู่ในร่องของการคิดเสียมาก ต่างกับระหว่างกระบวนการจัดที่โลกช้าลง บางทีก็ถึงกับหยุดเลย ทั้งจักรวาลมีแต่เรากับดอกไม้ สามารถเห็นตัวของเราชัดมากว่า ณ ขณะหนึ่งๆ เราเป็นอย่างไร ตอนไหนรู้เนื้อรู้ตัว ตอนไหนรู้สึกสนุก รู้สึกสบาย รู้สึกเครียดเหนื่อย หรือตั้งใจมากไป

การจัดดอกไม้คือการพาเราไปอยู่ในพื้นที่ที่เชิญชวนให้เรามีสติสูงมาก (แต่แค่สบายๆ ไม่ต้องออกแรงอะไร) เราจะเห็นสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในใจเราได้อย่างแหลมคม หากใจของเราสั่นไหว ไม่นิ่ง มีเรื่องรบกวนจิตใจ เราจะเห็นสิ่งนั้นชัดมาก ไม่ว่าจะเป็นความอยากจัดให้ได้สวยๆ ความอยากได้รับคำชม ความโกรธที่มีคนมาวิจารณ์ ความหงุดหงิดงุ่นง่านรำคาญใจ ความกังวลละล้าละลังกลัวทำได้ไม่ดี

การเห็นตัวเองชัดอย่างนี้ เป็นโอกาสอันดีมากๆ ที่เราจะได้ "จัดใจ" ของเรา ซึ่งก็อาจใช้หลักเดียวกันกับการ "จัดดอกไม้" ไม่ว่าจะเป็นการมองเขาตามสภาพจริง การสื่อสาร หรือการเห็นและเข้าใจธรรมชาติของเขา ไม่น่าแปลกใจเลยที่สถาบันการศึกษาหรือองค์การที่ส่งเสริมเรื่องกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาจำนวนมากจะมีวิชาการจัดดอกไม้อยู่ด้วย

เราจัดดอกไม้ ดอกไม้จัดเรา ... อืมม์ ก็น่าสนุกดีนะครับ :-)

แจกันจัดใจ (๑)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2550


แปลกดีครับ ผมเพิ่งจะเขียนบทความกล่าวขวัญถึงผู้คนรู้จักรอบข้างจำนวนมาก ว่าล้วนเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่มาก และดูเหมือนหลายคนในจำนวนนี้ร่วมมุมมองเดียวกัน เห็นว่าสารเคมี พืชและสัตว์ทดลองนั้นจัดการได้ง่ายกว่ากับมนุษย์ด้วยกันเอง บ้างก็ชอบทำงานหรือใช้เวลา ใช้ชีวิตกับสิ่งเหล่านี้ที่ไม่ใช่มนุษย์มากกว่า

ครั้นมาถึงสัปดาห์นี้ ผมรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่โดนกับตนเองครับ แต่ไม่ถึงขนาดจะไปเป็นเรื่องงานจัดการหรือทำการทดลองกับหนู ปู ปลา ไก่ (ที่มหาวิทยาลัยมีทดลองทั้งหมด) นะครับ แค่รู้สึกว่าบางทีคนก็จัดการยากไม่น้อยเหมือนกัน

คนที่ว่ายากนั้นก็มิใช่ใครที่ไหนหรอกครับ รู้จักกันมาหลายสิบปีแล้ว แต่ถึงจะนานแค่ไหน บางทีเราก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้เอาใจอย่างไรกันดี

เหตุการณ์ที่ชักพาไปให้ผมได้รู้สึกโดนนี้ เกิดขึ้นเมื่อช่วงหยุดยาวเข้าพรรษา-อาสาฬหะ ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดดอกไม้อิเคบานา ตามแนวคิดของท่านโมกิจิ โอกาดะ” ที่มูลนิธิเอ็มโอเอไทย จังหวัดลพบุรี โน่นแน่ะครับ ที่นั่นบรรยากาศน่าประทับใจมาก สะอาดเรียบร้อยกว้างขวาง เป็นระเบียบ รอบตัวอาคารเป็นสวนผักและสวนดอกไม้งดงามตามธรรมชาติ

เพื่อนร่วมเรียนครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์และนักวิชาการในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา เกือบทุกคนบอกว่าไม่เคยรู้มาก่อนว่าการจัดดอกไม้มีขั้นตอนวิธีการและแนวคิดเบื้องหลังน่าสนใจขนาดนี้ จากเดิมที่บางคนอยู่ที่บ้านจัดดอกไม้ด้วยวิธีตัดๆ ปักๆ พอให้เสร็จๆ เราพบว่ากระบวนการจัดดอกไม้อิเคบานา มีถึง 14 ขั้นตอน เป็นการเตรียมการจัดดอกไม้ 2 ขั้น และเป็นการจัดดอกไม้อีก 12 ขั้นตอน ดูเหมือนเยอะ ดูเหมือนยาก แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ง่ายมากครับ อธิบายกันเพียงชั่วครู่เดียว ก็ได้เริ่มลองปฏิบัติจริงแล้ว และก็ผ่านการปฏิบัติจริงนี่เองที่เราได้เรียนรู้และเข้าใจทฤษฎีกันอย่างลึกซึ้ง ช่วงที่ไปฝึกสามวันสองคืน ทุกคนได้จัดสิบกว่าแจกัน ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งสูงทั้งเตี้ย แบบดอกเดียวและหลายดอก ทั้งฝึกหัดและได้จัดในสถานที่จริงด้วย

ผมพบว่าการเลือกดูดอกไม้สำหรับจัดลงแจกันนั้น ไม่ใช่การคิดออกแบบเอาไว้ในใจ หรือนึกเทียบเคียงตามทฤษฎีศิลปะการจัดวาง แต่หลักสำคัญคือ "เพียงแค่ดูดอกไม้ทั้งหมดตามสภาพจริง" เป็นการฝึกให้เรา "ดู" ดอกไม้ให้ดี ซึ่งจะทำให้เรา "เข้าใจ" ดอกไม้ได้อย่างแท้จริงอย่างถูกต้อง โดยที่ไม่นำเอาความคิดของเรามาปรุงแต่งหรือให้ความหมาย

เรื่องนี้ท่านโอกาดะเคยกล่าวไว้ว่าต้องเข้าถึงภาวะที่เรียกว่า "ตัวตนชั่วขณะ หมายความว่า ไม่มีทั้งอดีตและอนาคต ไม่ใช่สิ เป็นตัวของเราเองในปัจจุบันที่มีสติ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ ในกรณีที่มองเรื่องต่างๆ ด้วยสติของเรา อันดับแรกจะต้องเป็นการมองตามสภาพจริงที่ไม่มีอะไรมาขวางกั้น"

เจออย่างนี้เข้า ผมเองก็ออกอาการหนักเลยละครับ แต่ไหนแต่ไรนักวิทยาศาสตร์ถูกฝึกมาเพื่อระบุพันธุ์และประเภทของพืช จัดอยู่กลุ่มไหน มีดอกหรือไม่ ใบเลี้ยงเดี่ยวหรือใบเลี้ยงคู่ ผลเดี่ยว ผลกลุ่มหรือผลรวม นึกไปถึงการจัดเรียงตัวของท่อลำเลียงน้ำและลำเลียงอาหาร เห็นสีเขียวก็นึกถึงชั้นของคลอโรฟิลล์ ในเม็ดคลอโรพลาสต์ที่วิ่งวนๆ ในเซล เห็นสีส้มสีแดงก็นึกถึงโครงสร้างแคโรตินอยด์ เห็นดอกบางดอกแล้วเห็นแผนภูมิ Dichotomous Key ที่ใช้ในการจำแนกชนิดของดอกนั้นๆ ลอยมาเลย มนุษย์จำพวกอย่างผมพอมาอยู่ในกระบวนการจัดดอกไม้แบบไม่คิดก็เลยมีการบ้าน มีสัมภาระที่ผมต้องปลดวางลงมากหน่อย

ถ้าไม่เข้าใจแล้ว ดอกไม้ที่แต่ละดอกมีความสวย มีความงดงามสมบูรณ์โดยตัวของมันเอง อาจถูกมองเป็นของแบนๆ มีไม่กี่มิติ ซื้อทีต้องซื้อเป็นกอบ ใช้ทีต้องใช้เป็นกำ เพราะบางดอกมันไม่ "สวย" คือ มันไม่ตรงกับเสปคที่เรามีอยู่ในใจ ว่าอยากให้ยาวเท่านี้ สีอย่างนี้ ใหญ่เท่านี้ หันไปทางนี้ เอนไปทางนี้ หรืออื่นๆ อีกมาก เวลาจัดจะเอาด้านที่เราอยากจะเห็นออกมา แต่ถ้าดอกไหนไม่เข้าสเปคก็เสียบๆ เอาไว้ในแจกัน ไว้ข้างหลังหน่อย หรือใส่ให้เป็นส่วนที่ให้แจกันดูเต็มๆ บางทีกำหนึ่งมีดอกที่เราอยากจะโชว์ไว้ด้านหน้าแจกันเพียงดอกหรือสองดอกเท่านั้น ซ้ำร้ายบางกำก็ไม่มีเอาเสียเลย

เหมือนกับว่าเราจะเข้าใจใครสักคนได้จริงๆ ต้องละเลิกความคิดความคาดหวังของเราต่อเขา ลืมทฤษฎีความเชื่อดั้งเดิมที่เราเคยมีต่อเขาไป เพื่อจะได้เปิดใจรับรู้รับฟังเขาได้เต็มที่ กระบวนการนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยากนะครับ ถ้ามัวแต่คิดวิเคราะห์ดอกไม้อย่างนักวิทยาศาสตร์เราก็คงไม่ได้เห็นแง่มุมอื่นของเขา

ขั้นตอนต่อมาจากนั้นคือ "การกำหนดจุดหมาย" เป็นการสังเกตและวางดอกไม้ลงในมุมที่เขาได้แสดงความงดงามของตนออกมาได้มากที่สุด หากว่าเราลังเลหรือยังตัดสินใจกำหนดจุดหมายไม่ได้ แปลว่าเรายังไม่เข้าใจดอกไม้พอ ให้ดูดอกไม้นั้นใหม่

แต่ก็นั่นแหละครับ การกำหนดจุดหมายจะทำได้ก็ต้องเข้าใจดอกไม้ได้จริงๆ ด้วยการดูเขาตามสภาพจริงก่อน การดูดอกไม้ตามสภาพจริงนี้เป็นการฝึกที่จะเลิก "พากย์" หรือให้พื้นที่กับชุดความคิด ที่ถูกใส่โปรแกรมมาในหัวเราตั้งแต่เด็ก แล้วดูเขาตามที่ดอกไม้เป็นจริงๆ

ท่านโอกาดะผู้เป็นครูของแนวคิดการจัดดอกไม้ในแนวทางนี้ ได้กล่าวไว้กว่า ๕๐ ปีมาแล้วว่า หากเราเข้าใจดอกไม้ได้อย่างจริงจังแล้ว เราก็จะเข้าใจว่าเขาต้องการอย่างไร แล้วเราจึงจะสามารถ "จัดตามใจดอกไม้" ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น เพราะว่า "ถ้าไม่จัดตามใจดอกไม้ ดอกไม้จะไม่ดีใจ เพราะว่าไม่ดีใจ จึงเหี่ยวเฉาเร็ว"

ได้ยินแล้วนึกๆ ดูก็คงจะจริงว่า ที่ผ่านๆ มาพวกเราหลายคน รวมทั้งผมเองก็คงไม่ได้สื่อสารกับดอกไม้ก่อนจัด อย่าว่าแต่จัด "ดอกไม้" เลย หลายครั้งเราเรียกเป็น จัด "แจกัน" เสียด้วยซ้ำ

หากเราจัดตามใจเรา ไม่จัดตามใจดอกไม้ โอกาสที่การ "จัดดอกไม้" ของเราจะกลายเป็นการ "บังคับดอกไม้" นั้นมีอยู่มากโข เป็นสิ่งที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปที่มนุษย์ไปบังคับดอกไม้ ให้เขาดิ้นไปไหนไม่ได้ด้วยลวดดัดดอกไม้ ด้วยฟองน้ำจัดดอกไม้โอเอซิส หรือไม่ก็ใช้วิธีการยัดให้เขาอยู่อย่างแน่นๆ กับอะไรก็ตามที่เราพยายามยัดเข้าไปให้เต็มแจกัน ให้เขาขยับไปไหนไม่ได้

การเรียนจัดดอกไม้อิเคบานาคราวนี้ พวกเราและโดยเฉพาะตัวผมยังได้บทเรียนสำหรับชีวิตประจำวันไปด้วย เหมือนผมได้หันหน้าเข้าหากระจก มีโอกาสคุยกับคนๆ นั้นที่รู้จักกันมาหลายสิบปี มองเห็นว่าเขาเคยมีมุมมองความเข้าใจโลกมาอย่างไร เมื่อปล่อยวางความคิดเดิมๆ ลง ก็เหมือนกับได้เดินทางไปในทางที่ไม่คุ้นเคย ได้ออกจาก "ร่อง" ของการทำงาน ของความคิดแบบเดิมๆ

จากที่จะไปเรียนจัดดอกไม้ใส่แจกัน กลายเป็นว่าพลอยได้ให้ดอกไม้และแจกันมาจัดใจตัวเองด้วยเลย :-)

ปฏิวัติด้วยความงาม


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 สิงหาคม 2550


หน้าที่ของศิลปะที่แท้จริงคือ การยกระดับสุนทรียภาพของมนุษย์ ส่งเสริมให้ชีวิตมีความพูนสุข และมีความเพลิดเพลิน เวลาที่ชมดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิ ต้นเมเปิลในฤดูใบไม้ร่วง ชมทัศนียภาพแห่งทะเล ภูเขา คนที่มีจิตแห่งศิลป์แล้ว เมื่อได้ชมจะเกิดความเพลิดเพลินอย่างสุดพรรณนา

โมกิจิ โอกาดะ (๕ ก.ย. ๒๔๙๑)


ท่านผู้อ่านเคยมีความรู้สึกว่าเรากลับมาที่เดิม ที่ไม่ใช่ที่เดิม ไหมครับ? เหมือนกับเราเข้าใจอะไรบางอย่างที่เคยได้ยิน รู้เรื่อง หรือเข้าใจมาแล้ว แต่ได้กลับมาเข้าใจมันมากยิ่งขึ้น ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งๆ ที่ดูๆ ไปเราก็เหมือนจะไม่ได้เรียนอะไรใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนได้มีประสบการณ์เรียนรู้แบบเกลียวพลวัต (spiral dynamic) นี้อีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นประเด็นที่เป็นเรื่องหลักของกลุ่มจิตวิวัฒน์เลยก็ว่าได้

ว่ากันว่าในสมัย แอกเซียล เอจ (Axial Age) ราว ๒,๒๐๐-๒,๘๐๐ ปีที่แล้ว คุณค่าที่นำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโลก พามนุษย์ไปสู่ระดับจิต (Stage of Consciousness) ที่สูงขึ้น คือ เรื่องความดี ถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของศาสนา ก่อเกิดเป็นชุดความเชื่อ ลัทธิ และศาสนาหลักๆ ของโลกจวบจนปัจจุบัน ไม่ว่าจะพุทธ คริสต์ อิสลาม ลัทธิขงจื๊อ และอื่นๆ

เมื่อเข้ามาสู่ช่วง ๓๐๐-๔๐๐ ปีที่ผ่านมา โลกอยู่ในยุคของเหตุผลนิยม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้มนุษย์เราเข้าใจโลกและธรรมชาติจากมิติทางกายภาพยิ่งขึ้นอีกมาก ก่อให้เกิดความเจริญทางวัตถุ ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกันทางกายภาพและทางโลกเสมือนดิจิตอลอย่างง่ายดาย ดังที่ โธมัส ฟรีดแมน (Thomas Friedman) คอลัมนิสต์ของนิวยอร์กไทมส์ บอกไว้อย่างชัดเจนในหนังสือ ใครว่าโลกแบน (The World Is Flat)

แต่ดูราวกับว่า ณ เวลานี้ โลกกำลังต้องการพลังขับเคลื่อนทางอารยธรรมและวิวัฒนาการอย่างใหม่ เพราะถึงแม้เส้นทางการพัฒนาการทางจิตวิญญาณผ่านความดีและความจริง อาจจะเหมาะกับกาละและเทศะในอดีต และอาจพาผู้คนข้ามทะเลทุกข์ไปได้บ้าง แต่ในวิถีการดำเนินชีวิตและโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจปัจจุบันอาจไม่ได้เป็นคำตอบที่เพียงพออีกต่อไป บ่อยครั้งที่เราพบว่าองค์กรจัดตั้งและโครงสร้างอำนาจที่ยึดโยงกับคุณค่าเหล่านี้กลับเป็นปัญหามากกว่าเป็นคำตอบ

หรือว่าโลกต้องการองค์ประกอบสำคัญอื่น องค์ประกอบสุดท้าย ซึ่งจะทำให้การก่อประกอบโลกทางจิตวิญญาณที่สมบูรณ์เป็นจริงขึ้นมาได้ แล้วองค์ประกอบที่ว่านั้นคืออะไร?

เป็นไปได้หรือไม่ว่า คำตอบบางส่วนอาจอยู่ในประเด็นที่เป็นสายใยความเชื่อมโยงบางๆ ซึ่งร้อยบทสนทนาของสมาชิกจิตวิวัฒน์ในหลายๆ ครั้ง (หรือทุกๆ ครั้ง?) เข้าด้วยกัน

หนึ่งในบรรดาผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญและนักปฏิบัติภาวนาคนแรกๆ ที่กลุ่มจิตวิวัฒน์ได้มีโอกาสร่วมฟังและเรียนรู้ด้วย คือ อาจารย์กรินทร์ กลิ่นขจร อาจารย์หนุ่มจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งมาถ่ายทอดนำเสนอเรื่อง “วะบิ-ซะบิ” ว่าด้วยความงาม

ต่อเนื่องจากนั้นจนปัจจุบัน กลุ่มก็ยังได้รับเกียรติร่วมเรียนรู้เรื่องราวจากผู้รู้อีกหลายท่าน อาทิ
  • สุนทรียสนทนา โดย สถาบันขวัญเมือง ว่าด้วยความงดงามจากการสื่อสารและรับฟังการอย่างลึกซึ้ง

  • สามัญวิถีแห่งความเบิกบาน โดย กลุ่มภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัม พบกับความง่ายงามในการเจริญสติ

  • การเดินทางสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้ โดย อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ความงามจากการเดินเท้าแสวงหาความหมายของชีวิต

  • ศิลปะแห่งจิตวิญญาณ โดย พระอำนาจ โอภาโส การถ่ายทอดธรรมะและธรรมชาติผ่านภาพวาด

  • ความเงียบกับความงาม โดย สมาคมหรี่เสียงกรุงเทพฯ ในความเงียบไม่ได้เป็นความว่างเปล่า แต่มีความงามเกิดขึ้น


ยิ่งทบทวนย้อนกลับไป ยิ่งเห็นว่าหัวเรื่องสนทนาหลายต่อหลายครั้ง มีประเด็นที่เรียงร้อยทุกครั้งนั้นไว้ คือ ความงาม

โดยความงามเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะร่วมกันหลายอย่าง เช่น เป็นความงามจากการได้เห็นสรรพสิ่งหรือสถานการณ์ตามสภาพจริง โดยปราศจากการปรุงแต่ง ซึ่งเรื่องนี้ตรงกับแนวความคิดที่ท่านโมกิจิ โอกาดะ (๒๔๒๕-๒๔๙๘) ปรมาจารย์ผู้คิดค้นงานสำคัญ อาทิ การชำระล้างแบบโอกาดะ เกษตรธรรมชาติ อาหารธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมซึ่งมีพลังแห่งต้นกำเนิดของธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ท่านโอกาดะได้เคยกล่าวไว้ว่า

“ความนึกคิดเชิงรวม...จะทำให้รับข้อมูลตามสภาพจริงของเรื่องนั้นไม่ได้ ถ้าพูดให้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ เสาเหล็กดังกล่าวเปรียบเสมือนแว่นที่มีสี โดยนัยนี้ การที่จะรับสภาพจริงของเรื่องต่างๆ ได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ต้องตั้งมั่นอยู่ในตนเอง ไม่ให้ตกอยู่ในสภาพที่จะถูกเสาเหล็กอันเป็นความนึกคิดเชิงรวมมารบกวนแม้เพียงเล็กน้อย...สภาพดังกล่าวนั้น ไม่มีทั้งอดีตและอนาคต ไม่ใช่สิ เป็นตัวของตัวเราเองในปัจจุบันที่มีสติ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ ในกรณีที่มองเรื่องต่างๆ ด้วยสติของเรา อันดับแรกจะต้องเป็นการมองตามสภาพจริงที่ไม่มีอะไรมาขวางกั้น ด้วยเหตุผลนี้ ก่อนอื่นในฐานะที่เป็นมนุษย์ การมองสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องนั้นไม่มีวิธีอื่นใดอีกแล้วนอกจากวิธีนี้” (๒๘ ก.ย. ๒๔๘๕)


อาจจะจริงว่า เราคงไม่สามารถออกจากพันธนาการของโครงสร้างบริโภคนิยมได้ ถ้าเราไม่สามารถชื่นชม และเข้าถึงความงามผ่านดอกไม้ธรรมดาเพียงไม่กี่ดอก

“ถ้าเป็นไปได้จะใช้ดอกไม้ให้น้อยที่สุด นี่เป็นแบบฉบับของข้าพเจ้า จริงๆ แล้ว ข้าพเจ้าจะใช้ดอกไม้น้อยมาก ปกติที่ใช้กัน ๑ ส่วน แต่ข้าพเจ้าจะแบ่งใช้ได้ ๓ ส่วน การที่ไม่ใช้ดอกไม้และกิ่งที่ไม่จำเป็นจะได้ผลดีมาก ดังนั้น จึงมีบางคนบอกว่าดอกไม้น้อยเกินไป แต่ก็ไม่เป็นไร การใช้ดอกไม้หลายชนิดผสมกันนั้น ไม่น่าสนใจ ควรที่จะจัดเหมือนกับวาดภาพด้วยดอกไม้” (๑๗ มี.ค. ๒๔๙๗)


อาจจะจริงว่า เราคงไม่สามารถออกจากพันธนาการของโครงสร้างทุนนิยมได้ ถ้าเราไม่สามารถชื่นชม และเข้าถึงความงามผ่านดอกไม้ราคาถูกๆ หาได้ตามฤดูกาลที่ปลูกได้เอง

“ดอกไม้จะแตกต่างกันไปตามฤดูกาลทั้ง ๔ ตามหลักการแล้วการจัดดอกไม้ที่มีมากในตอนนั้นดีที่สุด เป็นธรรมชาติ...ใช้ดอกไม้ในฤดูกาลนั้นดีที่สุด” (๑๖ มี.ค. ๒๔๙๖)


“การซื้อของนอกฤดูด้วยเงินราคาแพงนั้นเป็นเรื่องที่โง่เขลา” (๑๗ มี.ค. ๒๔๙๖)


และอาจจะจริงว่า กุญแจสำคัญอยู่ที่การทำให้ผู้คนที่กำลังวิ่งอย่างบ้าคลั่งในระบบที่หมุนเร็วและเร่งขึ้นทุกวันนั้น ได้เห็นคุณค่าของการได้ลองหยุดและลองช้าลงบ้าง ว่าถ้าเขาหัดและเรียนรู้ที่จะลดความเร่งรีบลง เขาก็อาจจะเข้าถึงความงาม ซึ่งนำไปสู่ความจริงและความดีในที่สุด

“สุดยอดแห่งศิลปะนั้นไม่ใช่การแสดงออกตามธรรมชาติ แต่เป็นการแสดงความจริง ความดีและความงามทางบุคลิกภาพ...ศิลปะเป็นสิ่งที่พึงแสดงออกซึ่งสุดยอดแห่งความงาม ซึ่งก็มีทั้งสูงและต่ำ ศิลปะชั้นสูงสุดนั้นกอปรด้วยทั้งความจริงและความดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสูงส่งของวิญญาณมนุษย์” (๒๐ พ.ค. ๒๔๙๒)


ผู้เขียนและเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาได้มีโอกาสเข้าร่วมเรียนรู้การจัดดอกไม้ "อิเคบานาของโมกิจิ โอกาดะ" กับมูลนิธิเอ็มโอเอไทย (www.MOAthai.com) ที่มีวัตถุประสงค์การนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างลึกซึ้ง พัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับพลังชีวิตของตนเองให้สูงขึ้นด้วยการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทำให้ได้พอเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์กรินทร์ และผู้รู้อีกหลายท่านนำเสนอมากขึ้นบ้าง

อีกทั้งยังได้สัมผัสกับความจริงอย่างยิ่งอีกประการ คือ เส้นทางการปฏิวัติด้วยความงามนั้น ก็เหมือนกับการปฏิวัติทางจิตวิญญาณอื่นๆ คือ ต้องผ่านการเดินทาง ผ่านการมีประสบการณ์ตรงกับความงาม และยินยอมให้ความงามนั้น หรือความจริงอันเปลือยเปล่านั้น เข้ามาเปลี่ยนแปลงเรา ณ จุดที่เป็นรากฐานที่สุดด้วยตัวเราเอง :-)